ศาสนาคริสต์ : กางเขน
• เครื่องหมายกางเขน เป็นสัญลักษณ์หลักความเชื่อคริสตชน พระเยซูเจ้าทรงกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พระองค์จะต้องรับทรมาน สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และกลับคืนพระชนมชีพเพื่อไถ่บาปมวลมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้า ทำให้ประตูสวรรค์เปิดอีกครั้งหนึ่ง กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการไถ่บาป เป็นเครื่องหมายแห่งการให้อภัยสิ้น เป็นเครื่องหมายแห่งการชนะบาปและความตาย และเป็นเครื่องหมายแห่งการกลับคืนชีพ
• เครื่องหมายกางเขน เป็นสัญลักษณ์ที่เกิดมาจากการถูกตรึงกางเขนของพระเยซูเจ้าบนเนินเขากัลวารีโอ ซึ่งในสมัยนั้นการตรึงให้ตายบนไม้กางเขน จะใช้กับนักโทษประหารมีคดีร้ายแรง ถ้าในสมัยนี้ก็เหมือนกับถูกยิงเป้า หลายคนไม่เข้าใจความหมายแท้จริงของกางเขน จึงเห็นเป็นเพียงเครื่องประดับเท่านั้น
• สัญลักษณ์กางเขนมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางแบบก็เอาความหมายจากพระคัมภีร์มาออกแบบ แต่ส่วนใหญ่ก็มาจากความนิยมของกลุ่มคริสตชนที่แตกต่างกันทางเชื้อชาติ เขตแคว้นหรือนิกาย เรามีสิทธิ์เลือกใช้ได้ตามใจชอบ แต่จะมีบางแบบที่สงวนไว้เฉพาะ เช่น กางเขนแบบพระสันตะปาปา ซึ่งจะมีแขนเป็นสามชั้นเรียงลำดับสั้นสุดลงมา กางเขนแบบนี้จะใช้ในขบวนเสด็จของพระสันตะปาปาเท่านั้น
ศาสนาพุทธ : ธรรมจักร
ธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนพุทธศาสนา การนำเอาธรรมจักรมาใช้เป็นสัญลักษณ์นั้น เนื่องมาจากแนวความคิดที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรกด้วยการแสดงพระธรรมเทศนาชื่อ “ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร” โปรดปัญจวัคคีย์
- จากความหมายทางชื่อ พระธรรมเทศนาหมายถึง การนำธรรมะให้หมุนเคลื่อนไป เพื่อให้เข้าถึงหมู่สัตว์ ซึ่งเปรียบเหมือนวงล้อของราชรถ ที่นำพระราชาให้เสด็จเคลื่อนไป ทำให้เกิดการนำเอารูปธรรมจักรมาใช้เป็นสัญลักษณ์ โดยแกนของจักร หมายถึง นิพพาน ซี่ทั้งแปด คือ มรรคแปด และขอบที่เชื่อมซี่ทั้งแปด หมายถึง ความสมถะ
ศาสนาอิสลาม : ดาวและจันทร์เสี้ยว
ตามหลักการศาสนาอิสลาม ไม่ปรากฏสัญลักษณ์ประจำศาสนา แต่ในโลกปัจจุบันความคุ้นเคยกับดาวและจันทร์เสี้ยว ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าดาวและจันทร์เสี้ยว คือสัญลักษณ์ของอิสลาม ซึ่งความเป็นจริงที่มาของดาวและจันทร์เสี้ยว พอสรุปได้ดังนี้คือ 1. ในยุครุ่งเรืองของอารยธรรมออโตมาน (ค.ศ. 15-19) ได้คิดค้นสัญลักษณ์ธง เพื่อยกธงบอกถึงชัยชนะการทำสงคราม โดยเขียนพยัญชนะอารบิกตัว “นูน” มีรูปโค้งคล้ายจันทร์เสี้ยว ซึ่งมีคำเต็มว่า “นัซรุน” หมายถึง ชัยชนะ
2. ยุคถัดมา มีบางกลุ่มเข้าใจว่าอักษรตัวนูนนั้นคือ เครื่องหมายจันทร์เสี้ยว จึงมีผู้คนนิยมนำรูปจันทร์เสี้ยวมาใช้
3. อดีตถึงปัจจุบันโลกตะวันออกกลาง ได้นำสัญลักษณ์จันทร์เสี้ยวแดงมาใช้เป็นเครื่องหมายแทนเครื่องหมายกาชาด
4. ตามหลักการอิสลาม อิบาดะห์บางอย่างได้ถูกกำหนดด้วยการดูจันทร์เสี้ยวเป็นจุดเริ่มต้น เช่น การถือศีลอด และดวงจันทร์ยังเป็นตัวกำหนดวันเริ่มเดือนใหม่ของปฏิทินอิสลาม
ข้อสรุป
- ในหลักการศาสนาอิสลามไม่มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย
- อนุญาตให้นำสัญลักษณ์ดาวและจันทร์เสี้ยวมาเป็นสัญลักษณ์ได้
- ห้ามเคารพสักการะสัญลักษณ์ดาวและจันทร์เสี้ยว
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู : โอม
สัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ อักษรเทวนาครี อ่านว่า “โอม” ซึ่งย่อมาจากอักษร อ อุ และ ม หมายถึง เทพยิ่งใหญ่ทั้งสาม อักษร “อ” แทนพระวิษณุ อักษร “อุ” แทนพระวิศวะ และอักษร “ม” แทนพระพรหม สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้บางครั้งเรียกว่า “สวัสดิหรือสวัสดิกะ”
ศาสนาซิกข์ : คันด้า (เครื่องหมายเกียรติยศ)
คันด้า คือ สัญลักษณ์ของชาวซิกข์ ประกอบด้วย กีรปาน (ดาบของชาวซิกข์) สองด้าม คันด้าตรงกลาง 1 อัน (ดาบลักษณะสองคม) และวงจักร (ห่วงกลม) กลมภายใน 1 ห่วง ดาบทั้งสองด้าม แสดงถึงความมีอำนาจอธิปไตยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างสมบูรณ์ วงจักร แสดงถึงความเป็นอมตะหนึ่งเดียวของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างให้กำเนิดสรรพสิ่ง ดาบสองคม แสดงถึงความเป็นผู้ริเริ่ม ฉะนั้นอำนาจอธิปไตย ความเป็นอมตะ (ของพระผู้เป็นเจ้า) และความเป็นผู้ริเริ่ม บุกเบิก คือสัญลักษณ์พื้นฐาน 3 ประการของความเป็นชนชาติซิกข์