แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
(Sacrosanctum Concilium)

อารัมภบท
1. สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์นี้ตั้งใจจะทำให้ชีวิตคริสตชนยิ่งวันยิ่งพัฒนาขึ้น ในหมู่ผู้มีความเชื่อ จะปรับปรุงธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้ให้เข้ากับความจำเป็นในสมัยของเรา ส่งเสริมทุกสิ่งที่อาจช่วยให้บรรดาผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้ามีเอกภาพ และส่งเสริมพลังทุกสิ่งที่มีส่วนช่วยเชิญชวนมนุษย์ทุกคนให้เข้ามาในครอบครัวพระศาสนจักร จึงเห็นว่ามีเหตุผลเป็นพิเศษที่จะต้องเอาใจใส่ปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมพิธีกรรมให้เป็นที่เข้าใจมากยิ่งขึ้น

พิธีกรรมในพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร
2. “งานไถ่กู้มนุษย์สำเร็จลุล่วงไป” อาศัยพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีบูชาขอบพระคุณ พิธีกรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตแสดงพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าและธรรมชาติแท้จริงของพระศาสนจักรแท้ให้ผู้อื่นแลเห็น ลักษณะสำคัญยิ่งของพระศาสนจักรก็คือ มีทั้งลักษณะมนุษย์และลักษณะพระเจ้า ทั้งลักษณะแลเห็นได้และแลเห็นไม่ได้ ทั้งลักษณะทำงานอย่างแข็งขันและเพ่งพินิจบำเพ็ญภาวนา ลักษณะอยู่ในโลกแต่ยังก้าวเดินไปสู่โลกหน้า พระศาสนจักรจึงมีลักษณะเหล่านี้อย่างที่ว่าลักษณะมนุษย์มุ่งไปสู่และขึ้นกับลักษณะพระเจ้า ลักษณะแลเห็นได้มุ่งไปสู่ลักษณะแลเห็นไม่ได้ ลักษณะทำงานมุ่งไปสู่ลักษณะเพ่งพินิจบำเพ็ญภาวนา ลักษณะอยู่ในโลกปัจจุบันมุ่งไปสู่นครอนาคตซึ่งเรากำลังแสวงหาอยู่ ดังนั้น ทุกวันพิธีกรรมจึงเสริมสร้างผู้ที่อยู่ภายในพระศาสนจักรให้เป็นพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า และให้เป็นที่ประทับสำหรับพระเจ้าในพระจิตเจ้า  จนบรรลุถึงความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า ในขณะเดียวกัน พิธีกรรมก็เสริมพลังให้คริสตชนเข้มแข็งเพื่อประกาศพระคริสตเจ้า และดังนี้พิธีกรรมก็แสดงให้ผู้ที่อยู่ภายนอกเห็นว่าพระศาสนจักรของเราเป็นเครื่องหมายที่ตั้งไว้ให้นานาชาติได้แลเห็น ภายใต้เครื่องหมายนี้บรรดาบุตรของพระเจ้าซึ่งกระจัดกระจายอยู่จะได้มารวมกัน จนกว่าจะมีแกะเพียงฝูงเดียวและผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว

พิธีกรรมและจารีตต่างๆ
3. ดังนั้น สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์คิดที่จะส่งเสริมและปรับปรุงแก้ไขพิธีกรรม จึงเห็นว่าจำเป็นต้องเตือนให้ระลึกถึงหลักการและกำหนดกฎปฏิบัติดังจะกล่าวต่อไป
    ในบรรดาหลักการและกฎปฏิบัติเหล่านี้ บางข้อบังคับใช้ทั้งในจารีตโรมันและจารีตอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กฎปฏิบัติต่อไปนี้ต้องเข้าใจว่า เกี่ยวข้องกับจารีตโรมันเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่ปรากฏชัดจากบริบทว่าเกี่ยวข้องกับจารีตอื่นๆด้วย

ศักดิ์ศรีของจารีตที่พระศาสนจักรรับรอง
4. สุดท้ายนี้ สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์นอบน้อมเชื่อฟังธรรมประเพณีอย่างซื่อสัตย์ ประกาศว่า พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ถือว่าจารีตต่างๆ ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องแล้ว มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหมด พระศาสนจักรต้องการจะรักษาและส่งเสริมทุกวิถีทางให้จารีตต่างๆเหล่านั้นคงอยู่ต่อไป  สภาสังคายนายังปรารถนาว่าที่ใดจำเป็นก็ให้พิจารณาทบทวนอย่างละเอียดรอบคอบโดยคำนึงถึงธรรมประเพณีที่ถูกต้อง เพื่อจะทำให้จารีตเหล่านั้นมีพลังใหม่ เหมาะกับสภาพแวดล้อมและความต้องการในปัจจุบัน