แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ดนตรีศักดิ์สิทธิ์
    บทที่ 6 ของธรรมนูญ SC เกี่ยวกับดนตรีศักดิ์สิทธิ์ได้รับการลงคะแนนเสียงรับรองเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1963 จากพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯจำนวน 2,096 องค์ ผลการลงคะแนนเป็นดังนี้ 2,080 คะแนนเสียงเห็นด้วย 6 คะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 9 คะแนนเสียงเห็นด้วยโดยมีเงื่อนไข และ 1 คะแนนเป็นโมฆะ การพิจารณาถกเถียงก่อนลงคะแนนดำเนินไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ถึงกระนั้น ความเห็นก็แบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างเห็นได้ชัดตลอดบทที่ 6 นี้ มีกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเก็บรักษา “ประเพณีการใช้ดนตรีของพระศาสนจักรสากล ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าสุดจะประมาณได้” (SC112) และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มที่จะคงยึดมั่นกับลักษณะด้านการอภิบาลและหลักการด้านพิธีกรรมของสภาฯ ตัวอย่างของแนวคิดทั้งสองนี้ปรากฏชัดในข้อ 114

    “ต้องเก็บรักษาและส่งเสริมมรดกทางดนตรีศักดิ์สิทธิ์ไว้ด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง ควรเอาใจใส่ส่งเสริมคณะนักขับร้อง โดยเฉพาะคณะนักขับร้องประจำอาสนวิหาร บรรดาพระสังฆราชและผู้อภิบาลสัตบุรุษต้องเอาใจใส่อย่างจริงจัง ให้ทุกครั้งที่ประกอบพิธีกรรมที่มีการขับร้อง สัตบุรุษทุกคนซึ่งมาชุมนุมกันต้องมีส่วนร่วมด้วยอย่างแข็งขันตามกฎในข้อ 28 และ 30” (SC114)
    ข้อ 112 ชี้ให้เห็นแนวความคิดแบบใหม่เกี่ยวกับดนตรีศักดิ์สิทธิ์ บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมมีความเห็นสอดคล้องกับธรรมประเพณีด้านดนตรีของพระศาสนจักร จึงย้ำถึงคุณค่าของดนตรีศักดิ์สิทธิ์ว่า “ประเพณีการใช้ดนตรีในพระศาสนจักรสากลเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าสุดจะประมาณได้ ประเสริฐกว่าศิลปะแบบอื่นใด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การขับร้องบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประสานเป็นหนึ่งเดียวกับถ้อยคำ เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นของพิธีกรรมอย่างสง่า” (SC112)
    คำพูดเป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม ถ้อยคำและบทเพลงก็เป็นเช่นเดียวกัน เราจึงกล่าวได้ว่าดนตรีศักดิ์สิทธิ์มิได้มีจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากเพื่อจุดประสงค์ของพิธีกรรม จุดประสงค์ของดนตรีศักดิ์สิทธิ์ คือ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้มีความเชื่อ (SC112) บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมจึงกล่าวถึง “บทบาทสำคัญเพื่อรับใช้ที่ดนตรีศักดิ์สิทธิ์มีในคารวกิจต่อพระเจ้า” (SC112) บทบาทของดนตรีศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับประชาชน
    “ดังนั้น ยิ่งดนตรีศาสนามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการประกอบพิธีกรรมมากเพียงใด ก็ยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเพียงนั้น เพราะทำให้การอธิษฐานภาวนามีความไพเราะมากขึ้น ส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และช่วยให้จารีตพิธีสง่างามยิ่งขึ้น พระศาสนจักรรับรองศิลปะแท้ทุกรูปแบบที่มีลักษณะเหมาะสม และยอมนำมาใช้ในคารวกิจต่อพระเจ้า” (SC112)
    บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯ กล่าวซ้ำที่นี่ถึงหลักการทางเทววิทยาที่ท่านเคยใช้นิยามคุณสมบัติของศิลปะศักดิ์สิทธิ์ว่า “ศิลปะเหล่านี้ (ศิลปะศาสนาและศิลปะศักดิ์สิทธิ์) บรรลุจุดประสงค์ของตนที่จะส่งเสริมการสรรเสริญและถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าตามส่วนที่ถูกใช้โดยเฉพาะเพื่อจุดประสงค์เพียงประการเดียว คือเพื่อนำจิตใจของประชาชนให้หันหาพระเจ้าได้อย่างเลื่อมใสศรัทธา” (SC122)
    ดนตรีศักดิ์สิทธิ์และศิลปะศักดิ์สิทธิ์ถูกจัดอยู่ในลำดับของการเป็นสิ่ง “ศักดิ์สิทธิ์” ได้ก็เพราะนำจิตใจของประชาชนไปหาพระเจ้า จุดประสงค์ของดนตรีศักดิ์สิทธิ์คือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในพิธีกรรม โดยเพิ่มความไพเราะแก่คำภาวนา หล่อเลี้ยงจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันและช่วยให้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มีความสง่างามมากยิ่งขึ้น “การประกอบพิธีกรรมมีลักษณะสูงส่งชวนศรัทธายิ่งขึ้น เมื่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ประกอบอย่างสง่าโดยมีการขับร้อง มีศาสนบริกรศักดิ์สิทธิ์คอยช่วยเหลือ และมีประชาชนมาร่วมด้วยอย่างแข็งขัน” (SC113)
    ในพิธีกรรมของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ บทเพลงเกรโกเรียนเป็นดนตรีศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียวในทางปฏิบัติของจารีตโรมัน บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯกล่าวไว้ในข้อ 116 ว่า “พระศาสนจักรยอมรับว่า บทเพลงเกรโกเรียนเป็นบทเพลงเฉพาะของพิธีกรรมจารีตโรมัน ดังนั้น ในการประกอบพิธีกรรม ต้องถือว่าบทเพลงเกรโกเรียนเป็นเอก ถ้าสถานการณ์ไม่เรียกร้องให้เป็นอย่างอื่น
    แต่ดนตรีศักดิ์สิทธิ์ประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทเพลงประสานเสียง ก็ไม่ถูกกีดกันให้ใช้ในพิธีกรรม ขอแต่ให้ดนตรีประเภทนั้นเข้ากับเจตนารมณ์ของการประกอบพิธีกรรมตามกฎที่ให้ไว้ในข้อ 30” ซึ่งกล่าวถึงการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชาชนว่า “เพื่อส่งเสริมการมีร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขัน ควรเอาใจใส่ให้สัตบุรุษมีส่วนโดยการขับร้องถวายเกียรติ การตอบรับ การขับร้องเพลงสดุดี บทสร้อย บทเพลงสรรเสริญต่างๆ รวมทั้งกิจการ อากัปกิริยาและอิริยาบถของร่างกาย และควรให้ทุกคนเงียบสงบด้วยความเคารพในเวลาที่เหมาะสมด้วย” (SC30)
    มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องได้รับคำอธิบายให้ชัดเจนที่นี่ เมื่อสภาสังคายนาฯ กล่าวถึงการใช้บทเพลงเกรโกเรียนหรือภาษาละตินในพิธีกรรมของจารีตโรมัน เรื่องนี้หมายถึงพิธีกรรมที่ปฏิรูปแล้วเสมอ ดังนั้น จึงมีคำสั่ง “ให้จัดพิมพ์หนังสือบทเพลงเกรโกเรียนฉบับมาตรฐานให้เสร็จ” (SC117) นอกจากนั้น ยังควรจัดพิมพ์หนังสือที่มีทำนองง่ายๆสำหรับใช้ตามวัดเล็กๆด้วย” (SC117) ถ้าประชาชนชอบมิสซาภาษาละตินและบทเพลงเกรโกเรียน เขาก็อาจทำเช่นนั้นได้โดยประกอบพิธีตามจารีตใหม่ของมิสซาเป็นภาษาละตินและขับร้องบทเพลงเกรโกเรียนตามความเหมาะสม
    ธรรมนูญข้อ 115 กล่าวถึงความสำคัญของการสอนและฝึกหัดดนตรีในสามเณราลัย ในนวกสถานและบ้านอบรมศึกษาของคณะนักบวชทั้งชายและหญิง รวมทั้งในสถาบันและสถาบันศึกษาคาทอลิกต่างๆด้วย สภาสังคายนาฯ ยังสนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันดนตรีศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูงยิ่งขึ้นเมื่อทำได้ แต่แล้วธรรมนูญข้อนี้กลับจบลงห้วนๆด้วยข้อความที่ทำให้เรารู้สึกสับสนนิดหน่อยว่า “นักแต่งเพลงและนักขับร้อง โดยเฉพาะเด็กชาย ต้องได้รับการฝึกฝนด้านพิธีกรรมที่แท้จริงด้วย” วลี “โดยเฉพาะเด็กชาย” อาจมีความหมายเป็นการเปิดกว้าง ถ้าหมายความว่า “ไม่เฉพาะแต่เด็กชายเท่านั้น” แต่วลีนี้รู้สึกว่าออกจะแปร่งๆสักหน่อย ถึงกระนั้น  จิตตารมณ์การเปิดกว้างของวาติกันที่ 2 ก็ปรากฏชัดในธรรมนูญข้อต่อๆไปว่า
    นักดนตรีที่ดื่มด่ำด้วยจิตตารมณ์คริสตชน จะต้องเข้าใจว่า ตนได้รับเรียกมาให้มีหน้าที่ส่งเสริมดนตรีศักดิ์สิทธิ์และเพิ่มขุมทรัพย์ทางดนตรี นักดนตรีควรแต่งทำนองเพลงที่มีลักษณะแท้จริงของดนตรีศักดิ์สิทธิ์ เป็นทำนองที่ไม่เพียงนักขับร้องคณะใหญ่ขับร้องได้เท่านั้น แต่ให้นักขับร้องคณะเล็กๆ ขับร้องได้ด้วย และเป็นทำนองที่ช่วยให้สัตบุรุษทุกคนที่มาชุมนุมกัน ก็มีส่วนร่วมขับร้องได้อย่างแข็งขันด้วย”  (SC121)
    เกี่ยวกับการใช้เครื่องดนตรีต่างๆ ธรรมนูญ SC กล่าวว่า
    “ในพระศาสนจักรละติน ควรให้เกียรติเป็นพิเศษแก่ออร์แกนลม (pipe organ) เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เคยใช้มาแต่โบราณ มีเสียงไพเราะ ทำให้จารีตพิธีของพระศาสนจักรมีความสง่างามเพิ่มขึ้นอย่างน่าพิศวง อีกทั้งยังช่วยยกจิตใจขึ้นไปหาพระเจ้าและสวรรค์ได้ดีขึ้น ส่วนการจะอนุญาตใช้เครื่องดนตรีอื่นๆ ในพิธีกรรม ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจปกครองท้องถิ่นตามกฎในข้อ 22 (2), 37 และ 40 ในการอนุญาตนี้ควรพิจารณาว่าเครื่องดนตรีนั้นเหมาะสมกับการใช้ในคารวกิจหรืออาจดัดแปลงให้เหมาะสม สอดคล้องกับศักดิ์ศรีของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธาให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขันได้จริงหรือไม่” (SC120)
    เกี่ยวกับบทเพลงศักดิ์สิทธิ์แบบชาวบ้าน ธรรมนูญ SC กล่าวว่า
    “ควรเอาใจใส่ส่งเสริมบทเพลงศักดิ์สิทธิ์แบบชาวบ้าน เพื่อช่วยให้สัตบุรุษร่วมขับร้องได้ทั้งในกิจศรัทธาทั่วไปและเมื่อประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ตามกฎเกณฑ์และข้อบังคับของจารีตพิธี” (SC118)
    จิตตารมณ์ของสภาสังคายนาฯ เรื่องการปรับพิธีกรรมของคริสตชนให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างๆนั้น ปรากฏชัดในธรรมนูญ ข้อ 119
    “ในบางท้องที่ โดยเฉพาะในดินแดนมิสซัง ชนบางชาติมีประเพณีด้านดนตรีของตน ซึ่งมีความสำคัญมากในชีวิตทางศาสนาและสังคม เราจึงต้องยอมรับและให้ความสำคัญแก่ดนตรีดังกล่าวตามความเหมาะสม ทั้งโดยปลูกฝังมิติทางศาสนาในชนชาติเหล่านั้น และปรับพิธีกรรมให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของเขา ตามกฎในข้อ 39 และ 40 ดังนั้น ในการอบรมธรรมทูตให้มีความรู้ทางด้านดนตรี จึงต้องเอาใจใส่จัดการเท่าที่ทำได้ ให้เขามีสมรรถนะที่จะส่งเสริมดนตรีซึ่งเป็นประเพณีของชนชาติเหล่านี้ ทั้งในโรงเรียนและในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์” (SC119)
    แล้ววันนี้ที่นี่ในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ควรจะเรียนรู้อะไรจากบทที่ 6 ของธรรมนูญ SC ในเรื่องดนตรีศาสนา ข้าพเจ้าคิดว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำคือศึกษาเรียนรู้ถึงบริบททางสังคมที่แตกต่างกันอย่างมากที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ด้วยวันนี้ เมื่อ 40 ปีก่อนฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ ดนตรีตะวันตกเป็นที่นิยมอย่างมาก เด็กหลายๆคนเรียนเล่นเปียโน ดนตรีจีนก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน อุปรากรจีน (งิ้ว) ก็เป็นที่นิยม แต่วัฒนธรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปทางตะวันตกอย่างมาก ดนตรีป๊อปสำหรับเยาวชนได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา  ดนตรีป๊อปของจีนกำลังเริ่มปรากฏตัวออกมา ทีแรกส่วนใหญ่มักจะเป็นเพลงภาษาจีนกลาง แต่ดนตรีป็อปภาษากวางตุ้งก็เริ่มเกิดขึ้นด้วย การนำท่วงทำนองเพลงภาษกวางตุ้งมาปรับเข้ากับดนตรีป๊อปของตะวันตกเป็นงานที่ยาก
    อย่างไรก็ตาม ศิลปินชาวกวางตุ้งที่สำคัญหลายคนได้รับการสนับสนุนจากสื่อและผู้ส่งเสริมที่ชาญฉลาด ก็ได้สร้างอุตสาหกรรม ดนตรีกวางตุ้งที่กลายเป็นแนวดนตรีร่วมสมัยที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
    ชาวคาทอลิกก็หวังว่าในพิธีกรรมคาทอลิก เพลงภาษากวางตุ้งคงจะมีคุณภาพแบบเดียวกัน ในปีแรกๆที่มีการทดลองใช้ดนตรีกวางตุ้งในพิธีกรรมเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก ทุกสิ่งเป็นผลงานของผู้อาสามัคร ซึ่งในตนเองก็เป็นพระพรจากสวรรค์ เวลานั้นไม่มีผู้ที่ได้รับการฝึกฝนแบบมืออาชีพมาควบคุมและส่งเสริมดนตรีศักดิ์สิทธิ์ภาษากวางตุ้ง เหนือสิ่งอื่นใด มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไปอย่างน่าเสียดาย คือ การสนับสนุนที่ชัดเจนอย่างเห็นได้ชัดจากผู้มีอำนาจปกครอง ไม่เพียงแต่การสนับสนุนผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรม แต่โดยเฉพาะการสนับสนุนบรรดาผู้มีความเชื่อ เพื่อให้กำลังใจเขาให้หันมาใช้ดนตรีศักดิ์สิทธิ์ภาษากวางตุ้ง โดยให้การแนะแนวที่ชัดเจนและการตัดสินใจที่จะนำดนตรีเข้าสู่วัฒนธรรม บางครั้ง อย่างมากที่สุด ผู้มีอำนาจปกครองอาจให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการนำการปฏิรูปพิธีกรรมมาปฏิบัติมีโอกาสจัดการอยู่บ้าง แต่ผู้มีอำนาจปกครองเองไม่ได้อุทิศตนเพื่องานนำพิธีกรรมเข้าสู่วัฒนธรรมซึ่งเป็นงานที่ยากลำบาก ถึงกระนั้น เราก็ต้องขอบพระคุณพระเจ้าที่ประทานนักแต่งเพลงท้องถิ่นผู้น่าชมหลายคนในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ในช่วงเวลาที่สั้นมากๆ (30หรือ40ปีนับว่าเป็นช่วงเวลาสั้นมากเพื่อจะสร้างดนตรีใหม่ๆสำหรับพิธีกรรม) พระเจ้าประทานบุคคลเหล่านี้แก่เราเป็นเสมือน “คลังขุมทรัพย์” ซึ่งจะต้องเจริญเติบโตขึ้นต่อไป เราไม่อาจพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนี้ได้ นักแต่งเพลงต้องได้รับกำลังใจให้สร้างสรรค์ดนตรีที่ช่วยให้บรรดาผู้มีความเชื่อร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขันได้ ในที่สุด บรรดาผู้มีความเชื่อเหล่านี้ก็จะแยกแยะได้ว่าเพลงบทใดช่วยพวกเขาให้ยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าได้ และเพลงบทใดไม่เป็นเช่นนั้น
    ขอให้ข้าพเจ้ายกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อข้าพเจ้าอยู่ที่เวียดนามเมื่อสงครามจบ ข้าพเจ้าได้ไปถวายมิสซาสำหรับชุมชนที่พูดภาษากวางตุ้งที่นั่นบ่อยๆ เมื่อเราขับร้องบท “ข้าแต่พระบิดา” พร้อมกันเป็นภาษากวางตุ้ง (ที่แต่งทำนองที่นี่ในฮ่องกง แต่ก็ได้เผยแผ่ไปถึงชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลหลายแห่ง) ความรู้สึกสะเทือนใจและความไว้ใจในพระเจ้า ที่บทเพลงได้ปลุกขึ้นในผู้ร่วมพิธีนั้นท่วมท้นขึ้นภายในจิตใจของทุกคน ไม่มีบท “ข้าแต่พระบิดา” ใดๆ อาจทำให้จิตของทุกคนหันไปหาพระเจ้าเช่นนั้นได้ การขับร้องเป็นภาษาแม่ของตนคงได้ดังก้องอยู่ในส่วนลึกที่สุดของจิตใจของพวกเขา เวลาได้ผ่านมาแล้วหลายปี แต่ละครั้งที่ข้าพเจ้าขับร้องบท “ข้าแต่พระบิดา”  พร้อมกับประชาชนเป็นภาษากวางตุ้ง ข้าพเจ้าก็รู้สึกลึกๆถึงความหมายลึกซึ้งที่ทุกคนมีร่วมกันว่า กำลังอธิษฐานภาวนาพร้อมกับพระเยซูเจ้าแด่พระบิดาในพระจิตเจ้า บท “ข้าแต่พระบิดา”  ได้กลายเป็นธรรมประเพณีของดนตรีศักดิ์สิทธิ์ในภาษากวางตุ้ง เรื่องนี้ชวนให้คิดถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ เราจำเป็นต้องสร้างขุมทรัพย์ด้านดนตรีในพิธีกรรมเป็นภาษากวางตุ้ง เรายังต้องสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ๆ เพราะการคัดเลือกที่สัตบุรุษได้ทำจะคัดเพลงหลายบทออกไป แต่เราต้องเก็บรักษาบทเพลงที่เคยใช้กันมา โดยเฉพาะบทเพลงสำหรับวันฉลองใหญ่ๆและเทศกาลต่างๆ เสียงเพลงและทำนองไพเราะจะปลุกวันฉลองและเทศกาลขึ้นในใจของบรรดาผู้มีความเชื่อเป็นประจำทุกปี