บทที่ 1
หลักการทั่วไปเพื่อปรับปรุงแก้ไข
และส่งเสริมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
ตอน 1. ธรรมชาติของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญในชีวิตของพระศาสนจักร
5. พระเจ้า “มีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและรู้ความจริง” ( 1 ทธ 2:4) และ “ในอดีต พระเจ้าตรัสกับบรรพบุรุษของเราโดยทางประกาศก หลายวาระและหลายวิธี” (ฮบ 1:1) เมื่อถึงเวลากำหนด พระองค์ทรงส่งพระบุตร คือพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ และได้รับการเจิมจากพระจิตเจ้า ให้มาประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ปลอบโยนคนที่มีใจชอกช้ำ เป็น “แพทย์รักษากายและใจ” และเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรซึ่งร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระบุคคลของพระวจนาตถ์เป็นเครื่องมือนำความรอดพ้นมาให้เรา ดังนั้น ในพระคริสตเจ้า “เราจึงได้คืนดีกับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และได้รับความสามารถที่จะถวายคารวกิจแด่พระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม”
กิจการไถ่กู้มนุษยชาติและการถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างสมบูรณ์นี้ ได้เริ่มต้นในพระราชกิจน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำในหมู่ประชากรแห่งพันธสัญญาเดิม และสำเร็จไปโดยพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอาศัยธรรมล้ำลึกปัสกา คือการรับทรมาน การกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และการเสด็จสู่สวรรค์อย่างรุ่งโรจน์โดยธรรมล้ำลึกนี้ “พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อทำลายความตายของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อคืนชีวิตแก่เรา” เพราะพระศาสนจักรทั้งหมดซึ่งเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือน่าพิศวงแห่งความรอดพ้นเกิดจากด้านข้างพระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
พิธีกรรมทำให้งานไถ่กู้โดยเฉพาะของพระศาสนจักรเป็นปัจจุบัน
6. พระบิดาทรงส่งพระคริสตเจ้ามาฉันใด พระคริสตเจ้าก็ทรงส่งบรรดาอัครสาวกผู้ได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมไปฉันนั้น ไม่เพียงเพื่อเขาทั้งหลายไปประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน ว่าพระบุตรของพระเจ้าได้สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพเพื่อช่วยให้เราเป็นอิสระพ้นจากอำนาจของปีศาจ และจากความตาย นำเราเข้าสู่พระอาณาจักรของพระบิดาเท่านั้น เขายังต้องทำให้งานไถ่กู้ที่เขาประกาศเป็นจริงโดยอาศัยการถวายบูชาและศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นหัวใจของชีวิตพิธีกรรมทั้งหมด ดังนั้น อาศัยศีลล้างบาป มนุษย์ถูกสอดแทรกลงในพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า เขาตาย ถูกฝังและกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ เขาได้รับจิตการเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งทำให้เขาร้องออกมาว่า “อับบา พ่อจ๋า” (รม 8:15) และดังนี้ เขากลับเป็นผู้นมัสการแท้ที่พระบิดาเจ้าทรงแสวงหา ในทำนองเดียวกัน ทุกครั้งที่เขารับประทานอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า เขาก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ จนกว่าจะเสด็จมา ดังนั้น ในวันเปนเตกอสเต เมื่อพระศาสนจักรปรากฏแก่โลก “ผู้ที่รับถ้อยคำ” ของเปโตร “ได้รับศีลล้างบาป ... เขาประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ ฟังคำสอนของบรรดาอัครสาวก ร่วมพิธีบิขนมปังและอธิษฐานภาวนา เขาร่วมกันสรรเสริญพระเจ้าและได้รับความนิยมจากประชาชนทุกคน” (กจ 2:14-42,47) นับตั้งแต่นั้นมา พระศาสนจักรไม่ได้ละเว้นที่จะมาชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกปัสกา โดยอ่าน “พระคัมภีร์ทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์” (ลก 24:27) ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณที่ทำให้ “การสิ้นพระชนม์ซึ่งเป็นชัยชนะและการฉลองชัยของพระองค์กลับเป็นปัจจุบัน” ในเวลาเดียวกันก็เป็นการขอบพระคุณ “พระเจ้าสำหรับของประทานที่อยู่เหนือคำบรรยายทั้งปวง” (2คร9:15) ในพระคริสตเยซู “เพื่อจะได้สรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” (อฟ1:12) เดชะอานุภาพของพระจิตเจ้า
พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรม
7. เพื่อทำให้งานยิ่งใหญ่นี้สำเร็จ พระคริสตเจ้าประทับอยู่เสมอในพระศาสนจักร โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรม พระองค์ประทับในพิธีบูชามิสซา ทั้งในตัวของผู้ประกอบพิธี เพราะ “เป็นพระองค์เอง ซึ่งแต่ก่อนนั้นทรงถวายพระองค์บนไม้กางเขน บัดนี้ ยังทรงถวายพระองค์อาศัยศาสนบริการของพระสงฆ์” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท พระองค์ยังประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยพระอานุภาพ จนกระทั่ง เมื่อผู้ใดประกอบพิธีศีลล้างบาป พระคริสตเจ้าเองก็ทรงประกอบพิธีศีลล้างบาป พระองค์ประทับอยู่ในพระวาจา เพราะเป็นพระองค์ที่ตรัส เมื่ออ่านพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร ในที่สุดพระองค์ยังประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาและขับร้องเพลงสดุดี เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า “ที่ใดมีสองหรือสามคนประชุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ18:20)
โดยแท้จริงแล้ว พระคริสตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักรเจ้าสาวสุดที่รักของพระองค์ มีส่วนร่วมกับพระองค์เสมอในการประกอบพระราชกิจใหญ่ยิ่งนี้ ซึ่งถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ พระศาสนจักรเรียกขานพระคริสตเจ้าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของตน และอาศัยพระองค์ถวายคารวกิจแด่พระบิดานิรันดร
ดังนั้น พิธีกรรมจึงเรียกได้อย่างถูกต้องว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สมณะของพระเยซูคริสตเจ้า ในพิธีกรรมมนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยเครื่องหมายที่ประสาทรับรู้แลเห็นได้ และบังเกิดผลตามความหมายเฉพาะของเครื่องหมายแต่ละประการ ในพิธีกรรมพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า กล่าวคือ พระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะกับบรรดาคริสตชนผู้เป็นประหนึ่งส่วนต่างๆของพระวรกาย เป็นผู้ประกอบคารวกิจทางการร่วมกันของพระวรกายทั้งหมด
ดังนั้น การประกอบพิธีกรรมทุกอย่าง ในฐานะที่เป็นกิจการของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสมณะ และเป็นกิจการของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์ จึงเป็นกิจการศักดิ์สิทธิ์อย่างเลอเลิศ ไม่มีกิจการอื่นใดของพระศาสนจักรที่มีประสิทธิภาพเสมอเหมือนได้ ทั้งในความสำคัญและในคุณภาพ
พิธีกรรมบนแผ่นดินและพิธีกรรมในสวรรค์
8. ในพิธีกรรมที่ประกอบบนแผ่นดินนี้ เรามีส่วนลิ้มรสล่วงหน้า พิธีกรรมในสวรรค์ซึ่งประกอบอยู่ในนครเยรูซาเล็มศักดิ์สิทธิ์ ที่เรากำลังเดินทางมุ่งหน้าไปหา ในนครเยรูซาเล็มนี้ พระคริสตเจ้าประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้า ทรงเป็นศาสนบริกรในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดและกระโจมแท้จริง เราขับร้องเพลงสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พร้อมกับพลโยธาในกองทัพสวรรค์ เมื่อระลึกถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เราหวังจะมีส่วนร่วมความสุขพร้อมกับท่าน เรากำลังรอคอยพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา จนกว่าพระองค์ผู้ทรงเป็นชีวิตของเราจะทรงสำแดงพระองค์ แล้วเราก็จะปรากฏพร้อมกับพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย
พิธีกรรมไม่ใช่กิจกรรมทั้งหมดของพระศาสนจักร
9. กิจกรรมทั้งหมดของพระศาสนจักรไม่มีแต่เพียงพิธีกรรมเท่านั้น ก่อนที่มนุษย์จะเข้ามาร่วมพิธีกรรมได้ เขาจำเป็นต้องได้รับเรียกให้มีความเชื่อและกลับใจก่อน “พวกเขาจะเรียกขานพระองค์ได้อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่เชื่อ? จะเชื่อได้อย่างไรถ้าไม่เคยได้ยิน? จะได้ยินได้อย่างไรถ้าไม่มีใครประกาศสอน? จะมีผู้ประกาศสอนได้อย่างไรถ้าไม่มีใครส่งไป?” (รม 10:14-15)
ดังนั้น พระศาสนจักร จึงประกาศข่าวดีเรื่องความรอดพ้นแก่บรรดาผู้ยังไม่มีความเชื่อ เพื่อมนุษย์ทุกคนจะได้รู้จักพระเจ้าแท้เพียงพระองค์เดียวและผู้ที่พระองค์ทรงส่งมาคือพระเยซูคริสตเจ้า ดังนี้ เขาจะได้กลับใจเปลี่ยนแปลงความประพฤติของตน พระศาสนจักรยังต้องเทศน์สอนผู้มีความเชื่อแล้วให้เชื่อและกลับใจต่อไปอีก ต้องเตรียมเขาให้พร้อมที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ สอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่พระคริสตเจ้าประทานไว้ เชิญชวนเขาให้ประกอบเมตตากิจ กิจศรัทธา และการแพร่ธรรมทุกอย่าง เพราะกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด แสดงให้เห็นชัดว่า แม้คริสตชนผู้มีความเชื่อไม่เป็นของโลกนี้ เขาต้องเป็นแสงสว่างส่องโลก และถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดาต่อหน้ามวลมนุษย์
แต่เป็นจุดยอดและบ่อเกิดกิจกรรมเหล่านั้น
10. ถึงกระนั้น พิธีกรรมก็เป็นจุดยอดที่กิจกรรมของพระศาสนจักรมุ่งไปหา และในเวลาเดียวกันก็เป็นบ่อเกิดที่พลังทั้งหมดของพระศาสนจักรหลั่งไหลออกมา เพราะงานแพร่ธรรมทุกชนิดมีจุดประสงค์ให้ทุกคนที่มีความเชื่อ รับศีลล้างบาปเข้ามาเป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว จะได้มาชุมนุมกันในพระศาสนจักรเพื่อสรรเสริญพระเจ้า มีส่วนร่วมถวายบูชาและรับประทานอาหารมื้อค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ในทำนองเดียวกัน พิธีกรรมก็ส่งเสริมให้ผู้มีความเชื่อ ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากศีลศักดิ์สิทธิ์ปัสกาแล้วนั้นดำเนินชีวิต “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเลื่อมใสศรัทธา” พิธีกรรมยังวอนขอให้คริสตชน “ดำเนินชีวิตตามความเชื่อที่เขาได้รับมา” การรื้อฟื้นพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ในพิธีบูชาขอบพระคุณย่อมดึงดูดผู้มีความเชื่อให้มารับความรักที่เร่งเร้าของพระคริสตเจ้า และจุดไฟความรักในใจของเขา ดังนั้น พิธีกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีบูชาขอบพระคุณ จึงเป็นบ่อเกิดให้เราได้รับพระหรรษทาน และประสิทธิผลยิ่งใหญ่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ เป็นการถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นจุดหมายที่กิจกรรมอื่นๆ ทั้งปวงของพระศาสนจักรมุ่งไปหา
ความจำเป็นที่แต่ละคนจะต้องเตรียมตนให้พร้อม
11. ผู้มีความเชื่อจำเป็นต้องเตรียมจิตใจอย่างเหมาะสมเมื่อมาร่วมพิธีกรรม เพื่อจะได้รับผลอย่างเต็มประสิทธิภาพ จิตใจของเขาจะต้องสอดคล้องกับคำพูด เขาจะต้องร่วมมือกับพระหรรษทานจากเบื้องบนเพื่อจะไม่รับพระหรรษทานนั้นโดยไม่เกิดผล ดังนั้น ผู้อภิบาลจึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ในการประกอบพิธีกรรม ไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามกฎเพื่อให้พิธีกรรมไม่เป็นโมฆะหรือถูกต้องเท่านั้น แต่ยังต้องเอาใจใส่ให้ผู้มีความเชื่อมีส่วนร่วมพิธีกรรมโดยมีความรู้ ร่วมพิธีอย่างแข็งขัน เพื่อจะได้รับผลจากพิธีกรรมนั้นด้วย
พิธีกรรมและการอธิษฐานภาวนาส่วนตัว
12. อย่างไรก็ตาม ชีวิตจิตไม่จำกัดอยู่เพียงในการร่วมพิธีกรรมเท่านั้น คริสตชนได้รับเชิญให้อธิษฐานภาวนาร่วมกับพี่น้องก็จริง แต่เขายังต้องเข้าไปในห้องของตนเพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเป็นการส่วนตัวอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น นักบุญเปาโลอัครสาวกยังสอนคริสตชนว่าต้องอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ท่านอัครสาวกยังสอนเราอีกว่า เราต้องแบกพระทรมานของพระเยซูเจ้าไว้ในร่างกายของเราอยู่เสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าจะปรากฏในร่างกายที่ตายได้ของเราด้วย เพราะเหตุนี้ ในพิธีบูชามิสซาเราจึงอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ “ทรงรับเครื่องบูชาฝ่ายจิตเป็นของถวาย ทรงบันดาลให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเครื่องบูชานิรันดรสำหรับพระองค์ด้วย”
พิธีกรรมและกิจศรัทธาต่างๆ
13. กิจศรัทธาที่ประชากรคริสตชนนิยมปฏิบัตินั้น ควรได้รับการส่งเสริมอย่างมาก เพียงแต่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดของพระศาสนจักร เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นกิจศรัทธาที่สันตะสำนักกำหนดให้ทำ
กิจศรัทธาต่างๆ ของพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของบรรดาพระสังฆราช ก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีเฉพาะของตนด้วยเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติตามประเพณีหรือหนังสือที่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ถึงกระนั้น ควรจัดกิจศรัทธาเหล่านี้โดยคำนึงถึงเทศกาลทางพิธีกรรม ให้สอดคล้องกับพิธีกรรม ได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรม และนำประชากรเข้าหาพิธีกรรม เพราะพิธีกรรมในตัวเองก็มีความสำคัญเหนือกิจศรัทธาใดๆ อยู่แล้ว