แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรม
    ข้อ 7 เริ่มด้วยการย้ำว่าพระเยซูคริสตเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรมเพื่อทรงต่องานกอบกู้ของพระองค์และทรงปฏิบัติพระภารกิจนี้ผ่านทาง “เครื่องหมาย” เฉพาะเจาะจง
    “เพื่อทำให้งานยิ่งใหญ่นี้สำเร็จ พระคริสตเจ้าประทับอยู่เสมอในพระศาสนจักร โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรม พระองค์ประทับในพิธีบูชามิสซา ทั้งในตัวของผู้ประกอบพิธี เพราะ “เป็นพระองค์ซึ่งแต่ก่อนนั้นทรงถวายพระองค์บนไม้กางเขน บัดนี้ยังทรงถวายพระองค์อาศัยศาสนบริการของพระสงฆ์” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท พระองค์ยังประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยพระอานุภาพ จนกระทั่ง เมื่อผู้ใดประกอบพิธีศีลล้างบาปพระคริสตเจ้าเองก็ทรงประกอบพิธีศีลล้างบาป พระองค์ประทับอยู่ในพระวาจา เพราะเป็นพระองค์ที่ตรัส เมื่ออ่านพระคัมภีร์พระศาสนจักร ในที่สุด พระองค์ยังประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาและขับร้องเพลงสดุดี เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า ‘ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา’ (มธ 18:20)” (SC7)

    พิธีกรรมเป็น “พิธีกรรมแบบคริสต์” เพราะพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพประทับในพิธีกรรมและทรงปฏิบัติงานผ่านทางพิธีกรรม วิธีการที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรมมีหลายวิธีและวิธีการเหล่านี้ก็สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน วิธีการต่างๆ ทั้งหมดที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรมปรากฏให้เห็นอย่างดีที่สุดในพิธีมิสซาพระเยซูเจ้าประทับอยู่เมื่อบรรดาผู้มีความเชื่อมาชุมนุมกันในพระนามของพระองค์และเริ่มขับร้องและสวดภาวนาพร้อมกัน พระเยซูเจ้าประทับอยู่เมื่อตรัสกับบรรดาผู้มีความเชื่อผ่านทางพระคัมภีร์ พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในบุคคลของศาสนบริกรของพระองค์ พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในการถวายบูชาหนึ่งเดียวของพระองค์บนไม้กางเขนที่เป็นปัจจุบันอีกบนพระแท่น พระเยซูเจ้าประทับอยู่โดยวิธีพิเศษในศีลมหาสนิทในรูปปรากฏของขนมปังและเหล้าองุ่น นี่เป็นตัวอย่างพิเศษสุดของการปฏิรูปพิธีกรรมที่สภาสังคายนาคาดหมายไว้ล่วงหน้า
    วิธีการต่างๆ ที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรมนี้เป็นความจริงที่ได้รับตกทอดมาถึงเรา และเกิดขึ้นพร้อมๆกับพิธีกรรมของคริสต์ศาสนาทีเดียว สภาสังคายนานำเรื่องการประทับอยู่ในแบบต่างๆกลับมาใหม่ และอธิบายให้บรรดาผู้มีความเชื่อได้รู้ว่าจะมีส่วนร่วมการประทับอยู่ในแบบต่างๆ นี้ได้อย่างไร เพื่อจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเยซูเจ้าและถวายพะเกียรติแด่พระเจ้า มีเรื่องหนึ่งที่ต้องอธิบายให้แจ่มแจ้งที่นี่ คือการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในรูปแบบต่างๆ นี้ล้วนเป็นการประทับอยู่ “โดยแท้จริง” ทั้งนั้น พิธีกรรมตามแบบของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ เพราะเหตุผลจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสมัยนั้น เน้นอย่างมากถึง “การประทับอยู่โดยแท้จริง” ของพระเยซูเจ้าภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท จนกระทั่งบรรดาผู้มีความเชื่อเห็นไม่ชัดหรือไม่รู้จักวิธีการประทับอยู่ในวิธีอื่นๆ อีกเลย ความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทเติบโตขึ้นโดยแยกเกือบจะเด็ดขาดจากพิธีมิสซา บรรดาสัตบุรุษมารับประทานปังศีลมหาสนิทนานๆครั้ง และไม่เคยดื่ม(พระโลหิต)จากถ้วยกาลิกษ์เลย มีแต่พระสงฆ์เท่านั้นที่ทำเช่นนี้หลายๆครั้ง ผู้ที่รับศีลมหาสนิทก็มักจะรับศีลก่อนหรือภายหลังมิสซา หรือในเวลาอื่น ในพระสมณสาสน์ ‘Mysterium Fidei’ (ค.ศ.1965) สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ตรัสถึงการประทับอยู่โดยแท้จริงของพระเยซูเจ้าภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท และทรงสรุปว่า
    “เราเรียกการประทับอยู่นี้ว่า “แท้จริง” แต่ก็มิได้หมายความว่าเราปฏิเสธว่าการประทับอยู่ในแบบอื่นนั้น “ไม่แท้จริง” ด้วย แต่เพราะว่า การประทับอยู่ “ในศีลมหาสนิท” นี้เป็นการประทับอยู่ในความหมายสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหมายความว่าเป็นการประทับอยู่ “โดยพระธรรมชาติ” (substantial presence) ซึ่งเป็นวิธีการที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ (the God-Man) ประทับอยู่ทั้งองค์โดยสมบูรณ์” (Mysterium Fidei 39)
    การค้นพบอีกถึงวิธีการต่างๆ ของการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในพระศาสนจักรเช่นนี้ยังมีผลกระทบหลายประการในด้านอื่นๆด้วย เมื่อสภาสังคายนาประกาศยืนยันว่า “ด้วยพระอานุภาพ พระองค์ประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จนกระทั่ง เมื่อผู้ใดประกอบพิธีศีลล้างบาป พระคริสตเจ้าเองก็ทรงประกอบพิธีศีลล้างบาป” หรือเมื่อสภาฯกล่าวว่า “พระองค์ประทับอยู่ในพระวาจา เพราะเป็นพระองค์ที่ตรัส เมื่ออ่านพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร” สภาฯ ก็ไม่กำหนดเจาะจงว่าใครเป็นผู้ประกอบพิธีล้างบาปหรืออ่านพระคัมภีร์เป็นพระเยซูเจ้าเองที่ทรงประกอบพิธีล้างบาปหรือตรัสพระวาจา ไม่ว่าใครจะประกอบพิธีล้างบาปหรือใครอ่าน(พระคัมภีร์) จะเป็นพระสังฆราช พระสงฆ์ สังฆานุกรหรือฆราวาสคาทอลิก(ในบางกรณีแม้ผู้ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาปก็ยังประกอบพิธีล้างบาปให้ผู้อื่นได้) แนวคิดทางเทววิทยานี้ของสภาฯ ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพิธีกรรมและทำให้เราแลเห็นความหลากหลายของศาสนบริการด้านพิธีกรรมที่พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติพระภารกิจ ในเวลาเดียวกันก็เป็นการชี้แนะอย่างชัดเจนถึงการที่ศาสนบริกรในด้านนี้ (ด้านพิธีกรรม) ต้องได้รับการเตรียมตัวและชีวิตจิตที่จำเป็น
    ควรจะกล่าวที่นี่ด้วยว่าเรื่องการประทับอยู่แท้จริงของพระเยซูเจ้าในพระวาจาเป็นเรื่องที่บรรดาพระสังฆราชถกเถียงกันนานพอสมควรก่อนจะได้รับความเห็นด้วยเกือบเป็นเอกฉันท์ เมื่อเรื่องเดียวกันนี้ถูกนำขึ้นมาถกเถียงกันอีกเกี่ยวกับกฤษฎีกา Ad Gentes (พันธกิจเป็นมิชชันนารีของพระศาสนจักร) ที่มีขึ้นในปี ค.ศ.1965 สองปีหลังจากการประกาศธรรมนูญ SC บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุม มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการรับรองข้อ 9 ของกฤษฎีกา Ad Gentes ที่กล่าวว่า “โดยการเทศน์สอนพระวาจาและการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ งานมิชชันนารีทำให้พระคริสตเจ้าผู้ประทานความรอดพ้น ให้มาประทับอยู่กับเราด้วย”
    ความเชื่อเรื่องวิธีการต่างๆ ที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพระศาสนจักรยังมีอิทธิพลอย่างมากในด้านคริสตศาสนิกสัมพันธ์อีกด้วย ถ้าเราจำกัด “การประทับอยู่แท้จริง” ของพระเยซูเจ้าว่า หมายถึงการประทับอยู่ในศีลมหาสนิทเพียงอย่างเดียว ความเห็นของเราต่อคริสตจักรอื่นๆ ซึ่งไม่มีศาสนบริกรที่รับศีลบวชก็จะมีลักษณะค่อนข้างไปในด้านลบ ตรงกันข้าม ถ้าเราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่จริงๆ ในชุมชนคริสตชนที่กำลังขับร้องและสวดภาวนาพร้อมกันและฟังพระวาจาของพระเจ้า เวลานั้น แม้ว่าคริสตจักรนั้นยังไม่มีการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าอย่างสมบูรณ์เต็มที่ เขาก็ยังเป็นพระศาสนจักร เพราะพระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่นั่นโดยแท้จริงด้วยเหมือนกัน