แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พิธีกรรมเป็นการที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงปฏิบัติหน้าที่สมณะ
    หลังจากกล่าวถึงวิธีการต่างๆ ที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรมแล้ว ธรรมนูญข้อ 7 ก็บรรยายต่อไปถึงพิธีกรรมของคริสต์ศาสนาว่า
    “ดังนั้น พิธีกรรมจึงเรียกได้อย่างถูกต้องว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สมณะของพระเยซูคริสตเจ้า ในพิธีกรรม มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยเครื่องหมายที่ประสาทรับรู้แลเห็นได้ และบังเกิดผลตามความหมายเฉพาะของเครื่องหมายแต่ละประการ ในพิธีกรรมพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า กล่าวคือ พระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะกับบรรดาคริสตชนผู้เป็นประหนึ่งส่วนต่างๆ ของพระวรกายเป็นผู้ประกอบคารวกิจทางการร่วมกันของพระวรกายทั้งหมดดังนั้นการประกอบพิธีกรรมทุกอย่าง ในฐานะที่เป็นกิจการของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสมณะ และเป็นกิจการของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์ จึงเป็นกิจการศักดิ์สิทธิ์อย่างเลอเลิศ ไม่มีกิจการอื่นใดของพระศาสนจักรที่มีประสิทธิภาพเสมอเหมือนได้ ทั้งในความสำคัญและในคุณภาพ” (SC7)

    เมื่อใช้ถ้อยคำเหล่านี้ สภาฯไม่ต้องการจะให้คำนิยามพิธีกรรมในด้านพระสัจธรรม (เพราะสภาฯ ไม่มีเจตนาเช่นนั้น) แต่บรรยายอย่างละเอียดถึงธรรมชาติของพิธีกรรมของคริสต์ศาสนา
    พิธีกรรมเป็นพื้นที่ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงปฏิบัติพันธกิจสมณะของพระองค์ไปสุดปลายแผ่นดินจนสิ้นพิภพ พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรมในฐานะ “สมณะ” บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงเป็น “สมณะ” ผู้ถวายพระองค์เองเป็น “เครื่องบูชา” แด่พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นทั้งสมณะและเครื่องบูชา ในพิธีกรรมพระเยซูเจ้ายังทรงปฏิบัติหน้าที่สมณะของพระองค์ต่อไปและทรงทำให้การถวายบูชาหนึ่งเดียวของพระองค์เป็นปัจจุบันสำหรับเราแต่ละคน เพื่อให้เรามีส่วนร่วมในการถวายบูชานั้น ยอมรับโดยอิสรเสรี ทำให้การถวายบูชานั้นเป็นชีวิตของตน และประกาศให้แก่ผู้อื่นด้วย พระเยซูคริสตเจ้ายังทรงเป็นพระวิหารแห่งเดียวที่พวกเรามารวมกันเพื่ออธิษฐานภาวนาและถวายบูชาพร้อมกับพระองค์ พระองค์ทรงเป็นสมณะแต่องค์เดียว เป็นเครื่องบูชาหนึ่งเดียว และเป็นพระวิหารเพียงแห่งเดียว พระองค์ทรงเป็นสมณะ-คนกลาง เป็นผู้แทนของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติ และเป็นผู้แทนของมนุษยชาติต่อพระเจ้า แต่พระเยซูคริสตเจ้ามิได้อยู่เพียงพระองค์เดียวในพิธีกรรม
    “พระคริสตเจ้าประทับอยู่เสมอในพระศาสนจักร ในการประกอบพระราชกิจใหญ่ยิ่งนี้ ซึ่งถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ พระศาสนจักรเรียกขานพระคริสตเจ้าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของตน และอาศัยพระองค์ถวายคารวกิจแด่พระบิดานิรันดร” (SC7)
    พิธีกรรมเป็นพระราชกิจของพระเยซูคริสตเจ้า ศีรษะของพระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือนพระกายของพระองค์ พระเยซูเจ้า สมณะเพียงพระองค์เดียว ทรงแบ่งปันสมณภาพของพระองค์กับพระวรกายทั้งหมด เมื่อรับศีลล้างบาป พวกเราซึ่งเป็นส่วนต่างๆ ของพระวรกายของพระเยซูเจ้า ได้รับสิทธิและหน้าที่ที่จะถวายบูชาหนึ่งเดียวของพระเยซูเจ้าร่วมกับบูชาของเราเอง เพื่อทำให้การถวายบูชานี้เป็นการถวายบูชามีชีวิตของพระวรกายทั้งหมด (คือพระเยซูเจ้าและประชากรของพระองค์) เพื่อความรอดพ้นของโลก
    “ประชากรคริสตชนมีส่วนร่วมประกอบพิธีกรรมอย่างเต็มที่ในฐานะ ‘เป็นชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า’ (1 ปต 2:9; เทียบ 2:4-5) ก็มีสิทธิและหน้าที่อาศัยศีลล้างบาปที่จะทำเช่นนี้” (SC14)
    สมณภาพสามัญของผู้ได้รับศีลล้างบาปได้กลายเป็น “สิ่งต้องห้าม” (taboo) ในพระศาสนจักรคาทอลิก โดยเฉพาะหลังสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ บรรดาคริสตจักรโปรเตสแตนต์ได้ใช้เรื่องนี้เป็น “ธงสัญญาณ” สำหรับขบวนการของตน และได้เน้นเรื่องนี้จนถึงกับยกเลิกสมณภาพของพระฐานันดรที่ได้รับศีลบวช (พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร) ไปเลย ขบวนการด้านพิธีกรรมได้ชี้เรื่องนี้ขึ้นมาใหม่อย่างแข็งขันหลังจากผ่านมาแล้วถึง 400 ปี สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างมาก และพระศาสนจักรคาทอลิกก็ได้รื้อฟื้นความจริงที่ได้รับการเปิดเผยของคริสต์ศาสนาเรื่องนี้ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และพระศาสนจักรคาทอลิกก็ได้รื้อฟื้นความจริงที่ได้รับการเปิดเผยของคริสต์ศาสนาเรื่องนี้ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อการอบรมฆราวาสคาทอลิกให้เข้มแข็ง
    สภาสังคายนาฯ ได้ยอมรับมุมมองนี้ ได้มีการกล่าวถึงเรื่องสถานภาพสามัญของผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้วในธรรมนูญ SC แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ธรรมนูญ Lumen Gentium เรื่อง พระศาสนจักรดำเนินงานเรื่องนี้ต่อไปและกล่าวอย่างชัดเจนว่า
    “พระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า พระมหาสมณะซึ่งทรงได้รับการคัดเลือกจากมวลมนุษย์ ทรงบันดาลให้ประชากรใหม่เป็น “อาณาจักรและสมณะสำหรับพระเจ้าพระบิดา” บรรดาผู้ได้รับศีลล้างบาป โดยการเกิดใหม่และการเจิมของพระจิตเจ้า ได้รับการมอบถวายแด่พระเจ้าให้เป็นพระวิหารด้านจิตและสมณภาพศักดิ์สิทธิ์... ดังนั้น ศิษย์ทุกคนของพระคริสตเจ้า เมื่อร่วมภาวนาสรรเสริญพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง ย่อมแสดงตนเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต... แม้สมณภาพสามัญและสมณภาพของศาสนบริกรหรือพระฐานันดรจะแตกต่างกันในสาระสำคัญไม่เพียงแต่ในระดับมากน้อยเท่านั้น สมณภาพทั้งสองนี้ก็ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันด้วย สมณภาพแต่ละอย่างก็เป็นการมีส่วนร่วมสมณภาพหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้าตามแบบเฉพาะของตน อาศัยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เขาได้รับมา พระสงฆ์ศาสนบริกรสั่งสอนและปกครองประชากรสมณะ เขาปฏิบัติงานในฐานะเป็นบุคคลของพระคริสตเจ้า ทำให้การถวายบูชาขอบพนระคุณเป็นปัจจุบันและถวายบูชาขอบพระคุณนี้ในนามของประชากรทุกคน แต่บรรดาผู้มีความเชื่อ โดยอำนาจของสมณภาพราชตระกูลที่ตนมีก็ร่วมถวายบูชาขอบพระคุณด้วย เขาเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่สมณะของตนเมื่อรับศีลศักดิ์สิทธิ์ เมื่ออธิษฐานภาวนาและในการเป็นพยานดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์ และโดยการสละตนเองและแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแข็งขัน” (LG10)
    ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราพระสงฆ์น่าจะยินดีและพร้อมที่จะสอนความจริงสำคัญที่ได้รับการเปิดเผยเรื่องสมณภาพของทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปนี้แก่บรรดาฆราวาสเพื่อช่วยพวกเขาให้มีสำนึกว่าทุกครั้งที่เขามีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขัน ผู้มีความเชื่อควรร่วมพิธีกรรมมิใช่เหมือนคนแปลกหน้า หรือผู้ชมอย่างเงียบๆแต่ (สภาสังคายนาฯ) ปรารถนาให้สัตบุรุษเข้าใจจารีตพิธีและบทภาวนาเป็นอย่างดี จะได้ร่วมกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างรู้สำนึก อย่างเลื่อมใสศรัทธาและแข็งขัน ได้รับการอบรมจากพระวาจาของพระเจ้า และเลี้ยงชีวิตด้วยพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอบพระคุณพระเจ้า โดยถวายเครื่องบูชาไร้มลทิน มิใช่ด้วยมือของพระสงฆ์เท่านั้น แต่พร้อมกับพระสงฆ์ด้วย เขาจะได้เรียนรู้ที่จะถวายตนแด่พระเจ้า และอาศัยพระคริสตเจ้าผู้เป็นคนกลาง เขาจะได้ก้าวหน้ายิ่งวันยิ่งมากขึ้นในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและระหว่างกัน เพื่อในที่สุดพระเจ้าจะได้ทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (SC48)
    คำสอนคาทอลิกเรื่องสมณภาพสามัญของผู้รับศีลล้างบาปอธิบายอย่างชัดเจนว่า จุดประสงค์ของสมณภาพของศาสนบริกรก็คือเพื่อรับใช้สมณภาพสามัญของผู้รับศีลล้างบาปแล้วนั่นเอง