แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พิธีกรรมคืออะไร
    อันตรายของคำว่า “พิธีกรรม” ก็คือการที่คำนี้อาจเข้าใจง่ายๆว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการประกอบจารีตพิธีที่ทำให้คิดถึงการแสดงอย่างหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน เรื่องพิธีกรรมอาจก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างขมขื่นและแม้กระทั่งการแตกแยกกัน
    ก่อนจะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปพิธีกรรมในด้านปฏิบัติ สภาสังคายนาก็สรุปเทววิทยาของพิธีกรรมไว้สั้นๆ แต่ก็ครอบคลุมเนื้อหาสาระทางเทววิทยาทั้งหมด กล่าวถึง “หลักการทั่วไปสำหรับการปฏิรูปและส่งเสริมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ธรรมชาติของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญของพิธีกรรมในชีวิตของพระศาสนจักร” ฯลฯ

    ข้าพเจ้าชอบคำว่า “เทววิทยาของพิธีกรรม” นี่เป็นเรื่องแรกที่ข้าพเจ้าชอบมากเมื่อเริ่มศึกษาพิธีกรรม พิธีกรรมมีมิติด้านเทววิทยาถ้าไม่มีเทววิทยาเช่นนี้ พิธีกรรมก็เสี่ยงที่จะเป็น “จารีตพิธีศักดิ์สิทธิ์” ที่ต้องทำ “อย่างศักดิ์สิทธิ์” เพื่อให้เกิด “ผลศักดิ์สิทธิ์” เช่นเดียวกับในศาสนาอื่นๆ หลายศาสนาที่ประสิทธิผลของคำภาวนาขึ้นอยู่กับการท่องข้อความศักดิ์สิทธิ์ให้ถูกต้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน พิธีกรรมก็คงเป็นเพียงธุระของผู้กำกับพิธีกรรม (master of ceremonies) เทววิทยาของพิธีกรรมอธิบายว่าพิธีกรรมของคริสต์ศาสนาไม่ใช่การเฉลิมฉลอง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” แต่เป็นการเฉลิมฉลอง “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์” คือพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ข้อความนี้ทำให้เข้าใจพิธีกรรมของคริสตศาสนาและประสิทธิภาพของพิธีกรรมในมุมมองแบบใหม่
    น่าสนใจที่จะให้ข้อสังเกตที่ตรงนี้ว่าในประวัติศาสตร์ของเทววิทยาคริสต์ศาสนา เทววิทยาด้านพระสัจธรรมได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม มีเจตนาที่จะส่งเสริม ป้องกันและอธิบายพระสัจธรรมคริสตศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับสัจธรรม เทววิทยาด้านพระสัจธรรมได้มีความสำคัญอย่างมากในชีวิตและคำสอนของพระศาสนจักร ถึงกระนั้น ก่อนนั้นไม่มีเทววิทยาด้านพิธีกรรมที่จะอธิบายว่าทำไมความเชื่อคริสตศาสนาจึงต้องมีพิธีกรรมหรือจารีตพิธีด้วย ทุกคนที่ทำงานในด้านอบรมพิธีกรรมแก่ผู้มีความเชื่อรู้ดีมากๆ ว่ามีหลายคนถามว่า “ทำไมจึงเปลี่ยนจารีตพิธีนี้หรือพิธีนั้น?” ...แต่หลายคน และข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่าส่วนมากด้วย มักถามว่า “ทำไมจึงมีจารีตพิธีกรรมมากมายหลายอย่างเช่นนี้?” เมื่อถึงเวลาเรียกประชุมสภาสังคายนา ขบวนการพิธีกรรมได้พัฒนาเทววิทยาด้านพิธีกรรมไปมากแล้ว และสภาสังคายนาก็ได้ใช้เทววิทยานี้ในเอกสารของตน
    ธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมกล่าวถึงทั้ง “คำถามด้านพิธีกรรม” (ทำไมจึงมีพิธีนี้) และกล่าวถึง “การปฏิรูปพิธีกรรม” (ทำไมจึงต้องปฏิรูปจารีตพิธีที่มีอยู่แล้ว) “คำถามด้านพิธีกรรม” และ “การปฏิรูปพิธีกรรม” จึงเป็นเนื้อหาสองเรื่องที่ต้องพิจารณาแยกกันและปล่อยให้แยกกันอยู่แม้ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน
    ข้อ 7 ของธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมบรรยายถึงพิธีกรรมของคริสต์ศาสนาไว้เป็นอย่างดี โดยพิจารณาจากมุมมองต่างๆ