ปีพิธีกรรม : เส้นทางเดินความเชื่อของประชากร
พิธีกรรม เป็นยอดสูงสุดที่กิจกรรมของพระศาสนจักรมุ่งไปถึง ในเวลาเดียวกัน พิธีกรรมก็เป็นบ่อเกิดที่ฤทธิ์กำลังทั้งหมดของพระศาสนจักรหลั่งไหลออกมา (SC 10) พระศาสนจักรประกาศ และฉลองธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ากับประวัติศาสตร์แห่งความรอดในพิธีกรรม เพื่อให้ผู้เชื่อในพระคริสตเจ้า สามารถดำเนินชีวิต และให้บังเกิดผลด้วยการเป็นพยานในโลก
- พิธีกรรม จึงมีจุดประสงค์ เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า เพื่อเสริมสร้างความดี ความศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ และเป็นเครื่องมือที่นำพระเจ้าเข้ามาสู่ชีวิตเรา
- พิธีกรรม (Liturgy) ในความหมายทางศาสนา หมายถึง การรับใช้พระเจ้า โดยบุคคลที่มีหน้าที่ทำแทนประชาชน เป็นการพามนุษย์ไปหาพระเจ้า เป็นการรับใช้ด้วยจิตสำนึก ด้วยน้ำใสใจจริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า ซึ่งต่อมามีความหมายแคบเข้า หมายถึงเฉพาะ พิธีบูชาพระเจ้า
1. พิธีกรรม คือการประกอบหน้าที่สงฆ์ของพระคริสตเจ้า เป็นการฉลองธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า ดังนั้น พิธีกรรมจึงเป็นวิธีการสุดยอดที่ช่วยให้สัตบุรุษแสดงออกด้วยชีวิต และให้คนอื่นประจักษ์ด้วยว่า ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าและธรรมชาติแท้จริงของพระศาสนจักรแท้เป็นอย่างไร (SC 2)
2. พิธีกรรมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ นำมนุษย์ไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการระลึกถึง "ประวัติศาสตร์แห่งความรอด" หรือธรรมล้ำลึกปัสกาที่สมบูรณ์แบบในพระเยซูคริสตเจ้า
3. พิธีกรรมล้วนเป็นเครื่องหมายและสัญลักษณ์ เพื่อบ่งบอกเรื่องที่มนุษย์ยังเข้าถึงไม่ได้
4. พิธีกรรมเป็นลักษณะของกลุ่มชนหรือหมู่คณะ ไม่ใช่การกระทำของคริสตชนรายบุคคล แต่เป็นการกระทำของพระศาสนจักร
พิธีกรรมในองค์รวม คือ "ธรรมล้ำลึก การฉลอง และชีวิต" ดังนั้น เส้นทางเดินในปีพิธีกรรมของคริสตชนในแต่ละปี จึงมุ่งไปสู่การระลึกถึงธรรมล้ำลึกแห่งความรอดของพระเยซูคริสตเจ้าทั้งสิ้น
- พระศาสนจักร จึงถือว่า เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องฉลองการที่พระคริสตเจ้าทรงกอบกู้เราให้รอด คือเตือนความศรัทธาให้ระลึกถึงการไถ่กู้ในวันที่กำหนดในระหว่างปีหนึ่งๆ ทุกๆสัปดาห์ในวันที่เรียกว่า "วันพระเจ้า" พระศาสนจักรยังรำลึกถึงการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรยังฉลองอีกปีละครั้งพร้อมกับการรับทรมานของพระองค์ในวันสมโภชปัสกา (SC 102, CC 1163)
- ปีพิธีกรรม จึงไม่ใช่ปีปฏิทินสากล แต่มีศูนย์กลางอยู่ที่เทศกาลปัสกา ซึ่งสังคายนานิเชอา ใน ค.ศ. 325 กลุ่ม คริสตจักรทั้งหลายเห็นพ้องกันให้ปัสกาฉลองในวันอาทิตย์ถัดจากวันเพ็ญแรก (14 นิซาน) หลังจากวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน (Vernal Equinox) และเทศกาลอื่นๆที่เหลือในปีพิธีกรรม จึงได้รับการกำหนดโดยใช้เทศกาลปัสกาเป็นจุดเริ่มต้น
- ปีพิธีกรรม จึงประกอบด้วย เทศกาล 4 เทศกาล เรียงตามลำดับดังนี้คือ เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เทศกาลพระคริสตสมภพ เทศกาลมหาพรต และเทศกาลปัสกา โดยมี เทศกาลธรรมดา แทรก ระหว่างเทศกาลพระคริสตสมภพกับเทศกาลมหาพรต และระหว่างเทศกาลปัสกา กับเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ในปีพิธีกรรมถัดไป
การแบ่งปฏิทินปีพิธีกรรมออกเป็น 3 ปี คือ ปี A ปี B และ ปี C นั้น ใช้การหารปีคริสตศักราชด้วย 3
ถ้าเหลือเศษ 1 เป็นปี A เช่น 2005 หารด้วย 3 จะเหลือเศษ 1 แสดงว่าเป็นปี A
ถ้าเหลือเศษ 2 เป็นปี B เช่น 2006 หารด้วย 3 จะเหลือเศษ 2 แสดงว่าเป็นปี B
ถ้าหารลงตัว เป็นปี C เช่น 2004 หารด้วย 3 จะลงตัว แสดงว่าเป็นปี C
การจัดแบ่งปฏิทินปีพิธีกรรมออกเป็น 3 ปี เช่นนี้ มีผลเกี่ยวข้องกับบทอ่านจากพระวรสารวันอาทิตย์ในเทศกาลธรรมดา โดย
ปี A บทอ่านจะเดินตามพระวรสารนักบุญมัทธิว (ทางเดินของศีลล้างบาป)
ปี B บทอ่านจะเดินตามพระวรสารนักบุญมาระโก และยอห์น (ทางเดินของการอพยพ)
ปี C บทอ่านจะเดินตามพระวรสารนักบุญลูกา (ทางเดินของการเป็นประชากร)
สำหรับบทอ่านในมิสซาวันธรมดา จะแบ่งออกเป็น ปีคู่ และปีคี่
"ปีคู่" คือปีคริสตศักราชที่ลงท้ายด้วย "เลขคู่"
"ปีคี่" คือปีคริสตศักราชที่ลงท้ายด้วย "เลขคู่"