แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
ความหมายของอิริยาบถสำคัญบางประการที่ใช้ในพิธีกรรม


การยืน
dsc__026.jpgการยืนเป็นอิริยาบถที่เหมาะอย่างหนึ่งสำหรับศาสนบริกรที่พระแท่นบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นประธาน  และเป็นอิริยาบถเบื้องต้นของพิธีกรรมสำหรับสัตบุรุษด้วย   ในลักษณะการเช่นนี้
♦ เป็นเครื่องหมายบ่งบอกความเคารพ  เราจะลุกขึ้นยืนให้เกียรติแก่บุคคลที่เราประสงค์จะให้เกียรติแก่เขา      ดังนั้น ในพิธีกรรมเราจึงยืนใน : 
-  ภาคเริ่มพิธี  และในภาคปิดพิธี 
-  เมื่อขบวนประธานและศาสนบริกรเดินเข้ามา และออกไป 
-  เมื่อรับการทักทายจากประธาน
-  ขณะอ่านพระวรสาร  ดังที่ชาวอิสราเอลยืนขณะพระเยซูเจ้าตรัสกับพวกเขา
♦ เป็นอิริยาบถของการสวดภาวนา  (เป็นอิริยาบถทั่วไปของชาวอิสราเอลขณะสวดภาวนา) 
♦ เป็นอิริยาบถแสดงถึงการมีส่วนในการกลับคืนชีพอย่างรุ่งเรือง  หรือปัสกาของพระคริสตเจ้า  และยังเป็นอิริยาบถที่เหมาะสมกับผู้ที่กำลังรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้า (Parousia) เฉพาะพระพักตร์พระบุตรแห่งพระเจ้า พวกเขาคงยืนอยู่ เพราะไม่หวั่นกลัวการตัดสิน ที่เต็มไปด้วยพระยุติธรรมของพระองค์ (มลค. 3:2)
dsc__028.jpg♦ ความหมายสุดท้ายของการยืน  คือ  ผู้ได้รับเลือกสรรจากพระเจ้าบนสวรรค์ต่างยืนขอบพระคุณพระเป็นเจ้า (วว 7:9;15:2)  ความหมายที่คริสตชนกระหายที่จะพบพระเจ้าในอาณาจักรสวรรค์อย่างสมบูรณ์แบบนี้  จึงทำให้เขามีธรรมเนียมยืนขณะภาวนาในวันอาทิตย์ปัสกา “เพราะว่าเราเห็นว่าวันนี้  เราเห็นภาพของโลกที่จะมาถึง”

 

การคุกเข่า
การคุกเข่าก็มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณแล้ว เพราะก่อนจะมีการคืนชีพอย่างรุ่งเรืองหรือปัสกา มีการใช้โทษบาปโดยการคุกเข่าภาวนาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการกลับใจ เป็นระยะเวลาของการจำศีล  ไว้ทุกข์  ถ่อมตน  ใช้โทษบาป     
การคุกเข่าภาวนายังเป็นอิริยาบถของการภาวนาส่วนตัว แบบฤๅษี  หรือนักพรตอียิปต์โบราณคุกเข่าอ่านหนังสือเพื่อรำพึงภาวนา  นักบุญเปาโลยังบอกว่า “ข้าพเจ้าคุกเข่าเฉพาะพระบิดา” (อฟ 3:14)
ในสมัยหนึ่งการคุกเข่า เป็นอิริยาบถของทางยุโรป เพื่อนมัสการศีลมหาสนิท และรับศีลมหาสนิท ซึ่งบ่งบอกถึงความเคารพสูงสุดที่มนุษย์พึงมีต่อพระเจ้า

การนั่ง
dsc__043.jpgเป็นอิริยาบถของอาจารย์สอนศิษย์  และประธาน หรือหัวหน้าในที่ประชุม ด้วยเหตุนี้พระสังฆราชจึงมีเก้าอี้ประจำตำแหน่ง หรืออาสน์ (Cathedra) ที่ท่านนั่งขณะเป็นประธานปราศรัย โดยมีพระสงฆ์นั่งรอบ ๆ ท่านบนม้านั่ง
สัตบุรุษเองได้รับการเชื้อเชิญให้นั่งลงหลายครั้งในพิธีกรรม
♦ การนั่งขณะรับฟังพระวาจาของพระเจ้า  เป็นการแสดงออกถึงการรับฟังอย่างตั้งใจ เป็นเหมือนกับพวกศิษย์ของพระเยซูเจ้าที่นั่งรอบพระองค์เพื่อฟังพระองค์ตรัสสั่งสอน
ฉะนั้น โดยปกติสัตบุรุษจึงนั่งขณะมีการอ่านพระวาจา (ยกเว้นพระวรสาร) ขณะขับร้องบทคั่น และขณะฟังเทศนา สัตบุรุษยังนั่งนิ่งเงียบรำพึงหลังรับศีลมหาสนิทด้วย

การก้มศีรษะ

dsc__029.jpgมีการเชื้อเชิญให้สัตบุรุษก้มศีรษะ  ก่อนจะรับพรแบบสง่าจากประธานในพิธี “โปรดก้มศีรษะรับพร” ในมิสซาสมัยโบราณ วันธรรมดาในเทศกาลมหาพรต มีบทภาวนาที่เรียกว่า Super Populum (คำภาวนาให้แก่สัตบุรุษ)  ซึ่งสังฆานุกรจะประกาศว่า “Humiliate capita vestra Deo (จงก้มศีรษะเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า)  อย่างไรก็ตาม อิริยาบถนี้มักจะแทนที่ด้วยการคุกเข่าขณะพระสงฆ์อวยพร  การภาวนาของพวกนักพรตก็มีบางช่วงที่พวกท่านก้มศีรษะอย่างลึก  ในบทประจำมิสซาก็มีบอกให้พระสงฆ์ก้มศีรษะ  พร้อมกล่าวคำภาวนาส่วนตัว  การคำนับพระแท่น  และคำนับพระสังฆราชก็ใช้อิริยาบถนี้