แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

เทศกาลพระคริสตสมภพ (เทศกาลแห่งการเผยแสดงพระองค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า)


บทนำ
The-Christmas-Story-01จากประวัติศาสตร์จะพบว่าคริสตชนใน 3 ศตวรรษแรก ฉลองวันพระเจ้า และปัสกาประจำปีเท่านั้น จนต้นศตวรรษที่ 4 เริ่มฉลองธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าในแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ตรีวารปัสกา และสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนการสมโภชปัสกา และ พระคริสตเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ และวันสมโภชพระจิตเจ้าหลังจากวันสมโภชปัสกา
เทศกาลในวงพระคริสตสมภพประกอบด้วย เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (4 สัปดาห์) เทศกาลพระคริสตสมภพ (วันฉลองสำคัญคือสมโภชพระคริสตสมภพ และสมโภชพระคริสต์แสดงองค์) เทศกาลพระคริสตสมภพเริ่มเมื่อวัตรเย็นที่ 1 ของวันคริสตสมภพ และจบลงที่วันฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
เนื่องจากการนับวันคริสตสมภพ เป็นการนับตามปฏิทินสุริยคติ วันฉลองนี้จึงเป็นไปตามเดิมทุกปี

ประวัติวันสมโภชพระคริสตสมภพ
เอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่พูดถึงการฉลองคริสตสมภพ ในวันที่ 25 ธันวาคม มีต้นกำเนิดมาจากพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก คือ Chronograph ในปี ค.ศ. 354 ซึ่งแสดงวันสิ้นชีวิตของพระสังฆราชแห่งโรมและมรณสักขีชาวโรมัน ทำให้ทราบว่าอย่างเร็วที่สุดในปี ค.ศ. 336 ที่โรมมีการฉลองคริสตสมภพแล้ว
ทำไมที่โรมจึงฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าในวันที่ 25 ธันวาคม     
(Incarnation = Manifestation in the Flesh) มีสมมุติฐานดังนี้ คือ
1.    ธรรมประเพณีโบราณในศตวรรษที่ 2-3 ที่เชื่อว่า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิและสิ้นพระชนม์ในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันที่   25 มีนาคม  (วันที่ 14 เดือนนิสาน – วันสิ้นพระชนม์และวันปฏิสนธิ)
2.    วันฉลองของชาวโรมันซึ่งฉลองในวันที่ 25 ธันวาคม คือ Natale (Solis) Invicti (ที่จักรพรรดิ เอาเลเรียนตั้งในปี 274) คริสตชนฉลองพระเยซูเจ้าทรงเป็น Sun of  Justice “แต่ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรมซึ่งมีปีกรักษาโรคภัยได้   จะขึ้นมาสำหรับคนเหล่านั้นที่ยำเกรงนามของเรา   เจ้าจะกระโดดโลดเต้นออกไปเหมือนลูกวัวออกไปจากคอก” (มาลาคี 4:2)
 “เดชะพระเมตตากรุณา ของพระเจ้าของเรา พระองค์จะเสด็จมาเยี่ยมเราจากเบื้องบน ดังแสงอรุโณทัย” (ลก 1:78) และพระเยซูเจ้าทรงเป็นแสงสว่างส่องโลก (ยน 8:12)
วันฉลองพระคริสตสมภพเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วทั้งทางตะวันตกและตะวันออก ในศตวรรษที่ 4 อาจจะเป็นเพราะธรรมล้ำลึกที่ฉลองเป็นคำตอบต่อพวกเฮเรติก Arianism ที่บอกว่าพระบุตรไม่เท่ากับพระบิดา ดังนั้นการฉลองในพิธีกรรมคริสตสมภพจึงเน้นธรรมชาติพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ God+Man ของพระเยซูเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนของสังคายนาที่นิเชอา (ค.ศ. 325) ซึ่งประนามลัทธิแอเรียน

พิธีกรรมสมโภชคริสตสมภพ
วันสมโภชพระคริสตสมภพ จะมีมิสซา 3 มิสซา (ไม่นับมิสซาเย็นก่อนวันฉลอง) บทอ่านของทั้งสามมิสซา จะเป็นคำยืนยันของพยานและผู้นิพนธ์พระวรสารเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกแห่งการรับเอากายของพระบุตรพระเจ้า
ตาม Roman tradition มีร่องรอยใน ศต 7 อนุญาตให้พระสงฆ์ทำ 3 มิสซา (บทเทศน์พระคริสตสมภพของพระสันตะปาปาเกรโกรี่ มหาสมณะ 604 A.D.)
ปัจจุบันเช่นเดียวกัน มี Missa in nocte, Missa in aurora, Missa in die
(พวก mystic ในสมัยกลางกล่าวว่าพระบุตรทรงบังเกิด 3 ครั้ง จากพระบิดา พระนางมารีย์ และในวิญญาณของผู้ชอบธรรม จึงเหมาะที่จะถวายมิสซา 3 ครั้ง)
ในศตวรรษที่ 4 มีมิสซาเดียวที่มหาวิหารนักบุญเปโตร (เวลาประมาณ 9.00 น.)
ในศตวรรษที่ 5 มีมิสซาเที่ยงคืนที่มหาวิหาร St. Marry Major (สร้างขึ้นหลังสังคายนาที่เอเฟซัส ในปี 431 ซึ่งประกาศว่า พระนางมารีย์คือพระมารดาของพระเจ้า วัดนี้มีพระธาตุถ้ำเลี้ยงสัตว์)
ธรรมเนียมการถวายมิสซาเที่ยงคืนน่าจะมีมาจากธรรมเนียมของคริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม คืนก่อน Epiphany คริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็มจะร่วมมิสซาในวัดที่จักรพรรดิคอนสแตนตินสร้างบนถ้ำที่พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดที่เบธเลแฮม หลังจากนั้นจะตั้งขบวนแห่ไปที่เยรูซาแลมและถวายมิสซาเช้าที่นั่น
ประมาณกลางศตวรรษที่ 6 เพิ่มมิสซารุ่งอรุณที่วัด St. Anastasia of Sirmium นักบุญองค์นี้เป็นมรณสักขีที่นับถือของคริสตชนตะวันออก ฉลอง 25 ธันวาคม โดยใช้บทอ่านจากพระคัมภีร์เรื่องการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทนบทอ่านระลึกถึงนักบุญท่านนี้ (พระสันตะปาปาจะแวะมาฉลองที่นี่ก่อน จึงจะไปถวายมิสซาที่มหาวิหารนักบุญเปโตร)
การถวาย 3 มิสซา เข้ามาที่หนังสือ Gregorian Sacramentary ของพระสันตะปาปาและแพร่หลายต่อไปทั่วยุโรป
สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้เพิ่มมิสซา vigil mass ของวันสมโภชพระคริสตสมภพ

มิสซาเย็นก่อนวันฉลอง
พระวาจาของวันนี้เป็นการเน้นที่ธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับการมีเชื้อสายดาวิดของพระเยซูเจ้า และความสำเร็จของพระสัญญาที่พระเจ้าเคยให้ไว้ หัวข้อสำคัญนี้ได้มีการประกาศแล้วตั้งแต่วันอาทิตย์หลัง ๆ ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
มธ 1:1-25 พระเจ้าทรงรักษาพระสัญญา แผนการแห่งความรอดพ้นสำเร็จโดยอาศัยการบังเกิดของพระเยซูเจ้า และการบังเกิดของพระองค์เป็นผลงานของพระจิตเจ้า เพราะนักบุญโยเซฟไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระนางมารีย์ในฐานะสามีภรรยา
     บทอ่านที่ 1 อสย 62:1-5 ประกาศว่า พระเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งประชากร แต่กำลังจะทำให้พระสัญญาแห่งความรอดกลับเป็นความจริง ไม่เพียงแต่เท่านั้น แต่ประชากรนี้จะได้มีชื่อว่า “ความพึงพอใจของท่าน” คำพูดเดียวกันนี้ที่ทูตสวรรค์ใช้กับพระนางมารีอาเมื่อมาแจ้งสารการบังเกิดของพระเยซูเจ้า (ลก 2:14)
บทอ่านที่ 2 กจ 13:16-17,22-25 เป็นคำให้การของเปาโลเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า บทอ่านบทนี้มีสาระใกล้เคียงกับพระวรสารในเรื่องเกี่ยวกับการที่พระเยซูเจ้าเป็นคนเชื้อสายของดาวิด และการบังเกิดของพระองค์เป็นความสำเร็จจริงของพระสัญญาของพระธรรมเดิม
มิสซากลางคืน
พิธีขอบพระคุณนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศของการสำแดง “พระสิริโรจนา” ของพระเจ้าในพระคุณของพระผู้ไถ่ที่ประทานแก่มนุษย์ และบรรยากาศของ “ความยินดี” ของมนุษย์ผู้ต้อนรับพระองค์ “วันนี้ พระผู้ไถ่ คือองค์พระคริสต์ ได้ประสูติเพื่อเราแล้ว”
ลก 2:1-14 การบังเกิดของพระเยซูเจ้าที่เบธเลแฮม จบที่ทูตสวรรค์ร้องเพลง Gloria (เพลงพิเศษของวันสมโภชนี้) จะเห็นได้ว่าการอวยพรให้มี “สันติสุข” จากปากของทูตสวรรค์ใน ลก 2:14 ก็จะเป็นคำเดียวกันกับที่พระเยซูเจ้าตรัสกับพวกอัครสาวกหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับคืนชีพแล้วเช่นกัน (ลก 24:36)
อิสยาห์ 9: 2-4, 6-7 ความหวังเรื่องพระเมสสิยาห์สำเร็จในวันนี้ “ชนชาติที่ดำเนินในความมืด จะได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่ บรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งความตาย แสงสว่างจะได้ส่องมายังเขา... เหตุว่ามีกุมารผู้หนึ่งเกิดมาเพื่อเรา มีบุตรชายคนหนึ่งประทานมาให้เรา และการปกครองจะอยู่บนบ่าของพระองค์ และเขาจะขนานนามว่า “ที่ปรึกษามหัศจรรย์ พระเจ้าผู้ทรงอำนาจ พระบิดานิรันดร เจ้าแห่งสันติ”
ทิตัส 2:11-14 ความรอดของพระเจ้าปรากฎมาแล้ว (First Grace) ขอให้เราเจริญชีวิตอย่างรู้ประมาณ ยุติธรรม และชอบธรรมในโลกนี้
สัญญลักษณ์แสงสว่าง พบในบทภาวนาของประธาน และบทนำขอบพระคุณที่ 1 เทศกาลพระคริสตสมภพด้วย
ความเคารพพิเศษแสดงออกเมื่อสวดบท credo ถึงตอน “มาบังเกิดเป็นมนุษย์” ทุกคนคุกเข่า (เฉพาะวันสมโภชพระคริสตสมภพและวันสมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์)
มิสซารุ่งอรุณ
หัวข้อสำคัญของพิธีขอบพระคุณนี้คือความเชื่อ ในที่นี้ ความเชื่อถูกมองเป็นทั้งเส้นทางเดินของชีวิต และในเวลาเดียวกัน เป็นพระคุณที่พระเจ้าประทานให้ (บทอ่านที่ 1 และ 2)
ลก 2:15-20 ชุมพาบาลพบพระกุมารบนรางหญ้า พระวรสารตอนนี้เป็นตอนที่ต่อจากบทของพิธีตอนกลางคืน ซึ่งจบตอนที่ทูตสวรรค์แจ้งการบังเกิดของพระเยซูให้พวกคนเลี้ยงแกะทราบ บทอ่านตอนนี้เป็นปฏิกิริยาของพวกเขา ซึ่งเราสามารถเห็นวิธีการบรรยายของเส้นทางเดินของความเชื่อ ได้แก่ “การประกาศข่าวเกี่ยวกับความรอด จากนั้นมีการตอบสนองของความเชื่อ ซึ่งแสดงออกมาด้วยการฟัง การไปโดยไม่รอช้า การเห็นและจบลงด้วยการสรรเสริญพระเจ้าและการเป็นพยานให้คนอื่นทราบ”
สัญญลักษณ์ของแสงสว่างชัดเจนมากกว่ามิสซากลางคืน ในเพลงเริ่มพิธี บทภาวนาของประธาน สดุดี 97 (การประกาศสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงเป็นกษัตริย์ และเป็นความสว่างส่องเหนือผู้ชอบธรรม)
นอกจากนั้นยังพูดถึง ความเชื่อและความยินดี (บทภาวนาหลังรับศีล)
มิสซากลางวัน
มิสซากลางวันเสนอธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระธรรมชาติของพระเยซู ผู้ทรงบังเกิดมาและเป็นพระมหาไถ่ของอิสราเอลและของประชาชาติว่า พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงเสมอเทียบเท่าพระบิดา ได้ถูกส่งมาท่ามกลางมนุษย์และเพื่อมนุษย์ทุกคน ในพิธีกรรมเน้นพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรพระเจ้า
ยน 1:1-18 พระวจนาถต์ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ และมาประทับท่ามกลางเรา พระองค์ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์เพื่อทำให้มนุษย์ได้เกิดใหม่เป็นบุตรของพระเจ้า “มีบางคนที่ยอมรับและเชื่อถือพระองค์ พระเจ้าทรงให้คนเหล่านี้มีสิทธิเป็นบุตรของพระองค์” ที่สุด ประโยคสุดท้ายนับเป็นการยืนยันถึงความหมายของ “เอ็มมานูเอล” ได้อย่างดี คือ “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรเพียงพระองค์เดียว ผู้สถิตอยู่ในพระอุระของพระบิดานั้นได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18)
อสย 52:7-10 ความรอด สันติสุข ข่าวดี “พระเจ้าทรงเตรียมพระกรอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ เพื่อช่วยเหลือประชาชาติทั้งปวง และที่สุดปลายแผ่นดินทั้งสิ้น จะเห็นความรอดของพระเจ้าของเรา”
ฮบ 1:1-6 พระเจ้าตรัสกับเราผ่านทางพระบุตร พระบุตรสะท้อนสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า รูปแบบสมบูรณ์แห่งธรรมชาติของพระเจ้า ผดุงจักรวาล ประทับเบื้องขวาพระบิดา
สรุป
การสมโภชพระคริสตสมภพมีจุดเน้นที่สำคัญอยู่ 4 ประการ คือ
1. เน้นที่การมารับสภาพเป็นมนุษย์ของพระเยซู
2. การแลกเปลี่ยนสภาวะธรรมชาติระหว่างพระกับมนุษย์
3. คริสตสมภพยังเป็นการฉลองการไถ่บาป (ธรรมล้ำลึกปัสกา) จากจดหมายถึงทิตัส มิสซารุ่งอรุณ 2:14 “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงมอบพระองค์เพื่อเรา เพื่อไถ่เราจากความชั่วร้ายทั้งมวล และชำระให้บริสุทธิ์ ให้เป็นประชากรของพระองค์ เป็นผู้กระตือรือร้นในการทำความดี”
4. แม่พระมีส่วนในธรรมล้ำลึกการรับเอากายของพระคริสตเจ้า อาทิตย์ที่ 4 เตรียมรับเสด็จฯ 17-24 ธันวาคม และวันสุดท้ายของอัฐมวารคริสตสมภพ เราสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า   

อัฐมวารพระคริสตสมภพ
คริสตสมภพเป็นเทศกาลที่มีอัฐมวาร และอยู่ในช่วงปีใหม่ซึ่งคนต่างศาสนาฉลองเทพเจ้า Janus ซึ่งคริสตชนมีมิสซาเพื่อป้องกันการนับถือรูปเคารพ “Ad prohibendum ab idolis”
นักบุญออกัสตินเคยเทศน์ว่า “ให้พวกเขาให้ของขวัญปีใหม่แต่ท่านจงให้ทาน ให้พวกเขาร้องเพลงเอะอะแต่ท่านจงเปิดใจรับพระวาจาของพระเจ้า ให้เขาไปที่โรงละคร แต่ท่านควรจะไปที่วัด ให้พวกเขาดื่มเหล้าแต่พวกท่านควรจะอดอาหาร”
สังคายนาครั้งที่ 2 ที่ Tours (567) ให้มีการใช้โทษบาป 3 วันแรกของปีใหม่ สังคายนาครั้งที่ 4 ที่ Toledo ก็พูดถึงเรื่องการใช้โทษบาปเช่นเดียวกัน
พระศาสนจักรที่กรุงโรมสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีของพระเจ้า โดยได้รับอิทธิพลจากคอนสแตนติโนเปิล
เมื่อวันสมโภชการประกาศเรื่องพระวจนาถทรงรับเอากาย และวันสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์เข้ามาที่กรุงโรม ดูเหมือนว่าวันที่ 1 มกราคมที่โรมกลายเป็นวันสุดท้ายในอัฐมวารพระคริสตสมภพเหมือนเดิม
ในศตวรรษที่ 6 วันฉลองพระเยซูเจ้ารับศีลตัด ในวันที่ 1 มกราคม มีการฉลองที่สเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โกล
ใน ศตวรรษที่ 13-14     เราพบชื่อวันฉลององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรับศีลตัดและอัฐมวารคริสตสมภพที่โรม
หลังสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จึงกลับมาสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีของพระเจ้า เหมือนเดิม
การฉลองพระนามพระเยซู (3 มกราคม ในปัจจุบัน) เริ่มฉลองในศตวรรษที่ 15 โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่วันฉลองนี้ คือ ยอห์น แห่งคาปริสตาโน และนักบุญเบเนดินชาวซีอานา

ที่มา: เอกสารสอนปีพิธีกรรม (คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช)