เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ประวัติเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
Adventus ในภาษาละติน หมายถึงการเสด็จมาเยี่ยมเยียนประจำปีของเทพเจ้าที่วัดของพระองค์ เพื่อทรงเยี่ยมประชากรของพระองค์
ในศตวรรษที่ 3-4 คำนี้ถูกใช้ในความหมายถึง บุตรพระเจ้ากำลังเสด็จมารับเอากายและประทับอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์
ใน Sacramentary โรมันฉบับเก่าแก่เน้นทั้งสองอย่าง คือ 1. การรับเอากายของพระคริสตเจ้า 2. การเสด็จมาครั้งที่ 2 ของพระองค์ โดยให้ความหมายว่า การรับเอากายของพระคริสตเจ้าเป็นการเริ่มความรอดพ้นของเรา และสิ่งนี้สมบูรณ์ในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์
ปลายศตวรรษที่ 4 ในพระศาสนจักรตะวันออก เริ่มมี 3 สัปดาห์เพื่อเตรียม Epiphany
ที่ Gaul และสเปน เน้นเรื่องการพลีกรรม จำศีล ไม่มีพิธีกรรมอะไรเป็นพิเศษ ดูเหมือนเป็นช่วงเตรียมคริสตังสำรองเพื่อรับศีลล้างบาป (ตามธรรมเนียมของจารีตตะวันออกจะมีการโปรดศีลล้างบาปในวันพระคริสต์แสดงองค์)
ศตวรรษที่ 5 ใน Gaul เริ่มเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าหลังวันฉลองนักบุญมาร์ติน (Lent of St. Martin) (56 วัน 8 สัปดาห์ / ตะวันออกอดอาหาร 5 วันต่อสัปดาห์ จึงเท่ากับอดอาหาร 40 วันพอดี)
ในโรมไม่มีธรรมเนียมล้างบาปในวันพระคริสต์แสดงองค์ และไม่มีการเอ่ยถึงธรรมเนียมเตรียมคริสต์มาสจนถึงครึ่งหลังศตวรรษที่ 6
พระสันตะปาปา Gregory the Great (เป็นพระสันตะปาปาระหว่างปี ค.ศ. 590-604) พูดถึงเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าว่ามี 4 สัปดาห์ (ที่โรมเน้นเตรียมการบังเกิดของพระเยซูเจ้า)
ธรรมเนียมการใช้โทษบาปเพื่อเตรียมการเสด็จมาครั้งที่ 2 ของพระเยซูเจ้าเริ่มขึ้นที่ Gaul (โดยได้รับอิทธิพลจากมิชชันนารีชาวไอริช นักบุญ Columbanus ปี 530-615 เน้นการเสด็จมาครั้งที่สอง การตัดสินของพระเจ้า จึงต้องมีการใช้โทษบาป ในพิธีกรรมไม่ร้องกลอรีอา อัลเลลูยา ไม่ขับร้องเตเดอุม และอาภรณ์ของพระสงฆ์เป็นสีม่วง) และมาถึงโรมในศตวรรษที่ 12
เราเห็นได้ชัดในศตวรรษที่ 12 ที่โรม งดขับกลอรีอา และกาซูลาของพระสงฆ์ในมิสซาเป็นสีม่วง แต่อย่างไรก็ดี การใช้โทษบาปในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าไม่ได้เน้นที่การใช้โทษบาปอย่างเข้มข้น แต่มีลักษณะที่ยินดีกว่าเทศกาลมหาพรต คือ ยังมีการขับร้องบทเพลงอัลเลลูยาในพิธีมิสซา (จะเห็นว่าในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าไม่มีวันบังคับให้อดอาหาร)
และการงดขับร้องบทพระสิริรุ่งโรจน์ ไม่ได้เป็นการงดโดยมีเหตุผลเดียวกับการงดขับร้องบทเพลงนี้ในเทศกาลมหาพรต แต่เป็นการงดเพื่อให้การขับร้องบทพระสิริรุ่งโรจน์ในคืนคริสต์มาสเป็นแบบ newness อย่างแท้จริง (คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับปีพิธีกรรม)
ปัจจุบันเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ มี 4 สัปดาห์ แต่ก่อน กษัตริย์ Pepin และ Charlemagne กำหนดให้ในดินแดนของพวกฟรังอาจจะเป็นระยะเวลา 4 5 หรือ 6 สัปดาห์ (ในมิลานยังคงเป็น 6 สัปดาห์)
วันพระเจ้าสัปดาห์แรกในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า อยู่ในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม (ถ้าวันพระคริสตสมภพตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม วันพระเจ้าสัปดาห์แรกในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าจะตรงกับวันที่27พฤศจิกายน)
เทศกาลเตรียมรับเสด็จเริ่มที่วัตรเย็นที่ 1 ของวันพระเจ้าสัปดาห์แรกในเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และจบก่อนวัตรเย็นที่ 1 ของคริสตสมภพ
ต้องทำมิสซาของวันพระเจ้าสัปดาห์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ แม้มันจะตรงกับวันที่ 24 ธันวาคมก็ตาม
พิธีกรรมของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าโดยทั่วไป
คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับปีพิธีกรรม ข้อ 39 บอกว่าเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้ามี 2 ลักษณะ คือ 1. เป็นการเตรียมฉลองคริสตสมภพการเสด็จมาครั้งแรก 2. เป็นการเตรียมใจรับเสด็จพระเยซูเจ้าที่จะเสด็จมาครั้งที่ 2
ดังนั้นเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าจึงเป็น festive commemoration of incarnation และ การรอคอยการเสด็จมาครั้งที่ 2 ของพระองค์ (เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าไม่ได้เน้นเรื่องการใช้โทษบาปมากเท่ากับเทศกาลมหาพรต แต่เพราะเราระลึกถึงการรับเอากายของพระคริสตเจ้า เราจึงทำกิจศรัทธารวมทั้งการใช้โทษบาปเพื่อรอคอยการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี)
พระศาสนจักรเสนอรูปแบบของบุคคลสามคนที่นำเราไปพบปะกับพระคริสตเจ้าในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า คือ 1) ประกาศกอิสยาห์ ประกาศกผู้ประกาศ “ความหวัง” ให้กับอิสราเอล ผู้ปลุกการรอคอยด้วยการประกาศว่า ความรอดพ้นใกล้จะมาถึงแล้ว 2) ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ประกาศกผู้ประกาศ “การกลับใจ” ผู้ปลุกเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การหลุดพ้นจากโลกของตัวเอง เพื่อออกไปพบพระคริสตเจ้าในการเปลี่ยนแปลง ในความใหม่ของชีวิต 3) พระนางมารีอา สตรีผู้เป็นแบบอย่างของ “ความพร้อมสรรพ” ในการตอบรับต่อแผนการของพระเจ้า และตื่นเฝ้าเสมอในการภาวนา ด้วยจิตใจที่ยินดีในการสรรเสริญ ขณะรอคอยการพบปะกับพระมหาไถ่
ด้วยการนำของบุคคลเหล่านี้ เราจะมีท่าทีที่เหมาะสมในการเตรียมรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า ท่าทีเหล่านั้น คือ
1) ท่าทีของ “การตื่นเฝ้า” ด้วยความเชื่อ การภาวนา และความพร้อมที่จะรับรู้ถึง “เครื่องหมาย” ของการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในสถานการณ์จริงของชีวิต
2) ท่าทีของ “การเดิน” ตามหนทางที่พระเจ้าทรงให้ไว้ เป็นหนทางของการ “กลับใจ” เพื่อติดตามพระเยซูสู่อาณาจักรของพระบิดา
3) ท่าทีของ “ความยินดี” ที่นำเราไปหาพระเยซูเจ้า ซึ่งแสดงออกมาในความรักและความเพียรต่อผู้อื่น ท่าทีของการเปิดใจรับการริเริ่มใด ๆ ก็ตามในทางสร้างสรรค์ต่อการเสริมสร้างอาณาจักรของพระเจ้า
4) ท่าทีของ “ความยากจน” ในจิตใจ และการทำใจให้ว่างเหมือนกับโยเซฟ พระนางมารีอา ยอห์น บัปติสต์ และ “คนจนของพระวรสาร” เพื่อจะรู้จักเห็นพระเยซู ผู้เสด็จมาแบบที่เราไม่คาดคิด
พระวาจาของพระเจ้าในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
- ในวันพระเจ้า
บทอ่านที่ 1: เป็นบทอ่านจากหนังสือประกาศก (เป็นต้นจากอิสยาห์)
บทอ่านที่ 2: เป็นบทอ่านจากจดหมายอัครสาวก (จากนักบุญเปาโลเป็นส่วนใหญ่) ซึ่งสาระสำคัญเป็นการสอนและการตักเตือนให้เฝ้าระวังและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม
พระวรสาร : เป็นบทอ่านที่กำหนดหัวข้อของการฉลองในแต่ละอาทิตย์ และมีทางเดินดังนี้
สัปดาห์ที่ 1: เป็นหัวข้อเกี่ยวกับ “วาระสุดท้าย”
สัปดาห์ที่ 2 และ 3 : เกี่ยวกับ “ผู้นำหน้าพระองค์ คือ ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง”
สัปดาห์ที่ 4 : เหตุการณ์ก่อนการประสูติของพระองค์
ปี A : การแจ้งธรรมล้ำลึกเรื่องการบังเกิดแก่โยเซฟ
ปี B : ทูตสวรรค์แจ้งสารแด่พระนางมารีอา
ปี C : แม่พระเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ
- ในวันธรรมดา
สำหรับบทอ่านที่ 1 ใน 11 วันแรกของเทศกาลฯ เป็นบทอ่านจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ (พระวรสารเริ่มกล่าวถึงยอห์นตั้งแต่วันพฤหัสสัปดาห์ที่สอง)
ในวันธรรมดาบทอ่านเหมือนกันทุกปี ตั้งแต่อาทิตย์แรก-16 ธันวาคม เน้นการเสด็จมาครั้งที่ 2 วันที่ 17-24 ธันวาคม เน้นที่การมาครั้งที่ 1 (พระวรสารจาก ลก และ มธ บทที่ 1) บทภาวนาของประธาน พูดถึงทั้งการเสด็จมาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
มีบทนำขอบพระคุณ 2 แบบ แบบที่หนึ่ง สวดในวันที่ 1-16 ธันวาคม แบบที่สอง สวดในวันที่ 17-24 ธันวาคม (มิสซาของปีโอที่ 5 ไม่มีบทนำขอบพระคุณในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า)
ที่มา: เอกสารสอนปีพิธีกรรม (คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช)