ส่วนที่ 1 : คำชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาของพระสมณสาร
หัวข้อที่ 1 : แนวความคิดที่สำคัญ
เราอยากจะให้ผู้อ่านได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับความคิดพื้นฐานที่สำคัญๆ ที่ข้อเขียนทั้งหมดกล่าวถึงโดยส่วนรวม
1.1 แนวความคิดเกี่ยวกับ “บุคคล”
หลักคำสอนเดิม
ถ้าเราสรุปผลและทำการวิเคราะห์องค์ประกอบทางหลักธรรมที่เกี่ยวกับความรัก การสมรสและครอบครัว เราก็อาจจะพูดได้ว่า ไม่มีอะไรใหม่เลย อันที่จริง หลักคำสอนตามแบบเดิมของพระศาสนจักรก็ดูจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และหลายครั้งหลายหนยังตั้งใจที่จะยืนยันว่า คำสอนเก่ายังคงมีค่าอยู่เสมอ เช่น ข้อความที่ว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างคู่สมรส พระเจ้าทรงเปี่ยมไปด้วยความรักสำหรับประชากรของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อพระศาสนจักรเจ้าสาวของพระองค์ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและสภาพที่ยกเลิกไม่ได้ของศีลสมรส การปฏิเสธการคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์และการทำแท้ง หน้าที่ของพ่อแม่ในการอบรมลูก ฯลฯ (เช่น ข้อ 2, 3, 29, 30)
หลักคำสอนในรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ดี ภาษาที่ใช้จะรู้สึกว่าใหม่ เพราะเป็นภาษาที่เข้าได้กับความคิดในสมัยปัจจุบันและเชื่อมโยงโดยตลอดถึงประสบการณ์ในชีวิตจริงของมนุษย์ที่เวียนว่ายอยู่ในปัญหาต่างๆ ของสมัยนี้ (ข้อ 1, 4, 31) สังเกตได้ว่า พระสมณสารนี้มิใช่เป็นเอกสารที่เขียนขึ้นลอยๆ โดยไม่ได้บ่งถึงผู้ใดหรือเวลาใด แต่เป็นเสียงอันอบอุ่น เป็นความศรัทธาที่แรงกล้า เป็นความมานะพยายามที่ไม่เสื่อมคลายของ “บิดา” และ “ผู้อภิบาล” คนหนึ่ง ผู้ตระหนักในความรับผิดชอบของตน ผู้เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์จากชีวิตมนุษย์ที่มีความหลากหลายและยึดมั่นในหน้าที่ อนึ่ง ยังทรงเป็นผู้ที่มีความเห็นสอดคล้องกับเนื้อหาที่ได้ทรงเคยกล่าวมาแล้ว เพราะในสมณสารฉบับนี้ยังมีแนวคิดพื้นฐานที่พระองค์ทรงเคยกล่าวในพระสมณสารว่าด้วย “พระผู้ไถ่มนุษย์” และในบทแถลงของพระองค์ต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนมิถุนายน 1980
อะไรคือความเป็นคน
เราได้สังเกตการใช้คำ “บุคคล” “คน” “ความเป็นคน” ว่าปรากฏอยู่บ่อยครั้งและมีอยู่ในแทบทุกย่อหน้า ในที่นี้กรุณาอย่ามองเพียงแค่รูปแบบภายนอกที่เป็นการพูดถึงแต่ละคนซึ่งอยู่ในที่เดียวกัน (เช่น ในประโยคที่ว่า “มีคน 30 คน ในที่ประชุมนี้”) เมื่อพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ใช้คำนี้ทรงหมายถึง ภาวะภายในของความเป็นชายหรือหญิงในทุกๆ แง่ เช่น เมื่อทรงพูดว่า “ความรักฉันสามีภรรยาเป็นการอุทิศตัวที่บุคคล 2 บุคคลมอบให้แก่กันและกัน” นั้น (ข้อ 20) คงจะเป็นการไม่เพียงพอถ้าจะคิดถึงแต่เพียงความสัมพันธ์ภายนอกของชายและหญิง หรือแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือทางความคิดที่ทั้งสองให้แก่กัน หรือคิดถึงแค่ความสัมพันธ์ทางกายเพื่อการเจริญพันธุ์มีลูกมีหลานสืบไปหรือการร่วมมือกันเพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยกัน ฯลฯ แต่ต้องคิดไปไกลกว่าลักษณะภายนอกจนเข้าไปถึงใจกลางที่มองไม่เห็นของความเป็นบุคคลซึ่งทุกคนตั้งใจจะหมายถึง เวลาใช้คำว่า “ฉัน” แม้จะไม่รู้ตัวอย่างชัดเจนก็ตาม
ความเป็นบุคคลอยู่ที่ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
แนวโน้มที่อยู่ลึกในใจของมนุษย์ก็คือ การแสดง “ความเป็นบุคคล” ให้เป็นศูนย์กลางที่เป็นจุดรวมของทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น เมื่อเราพูดถึงผลประโยชน์ส่วนตัว ความคิดส่วนตัว สมบัติส่วนตัว เราอยู่ไม่ไกลความหมายของ “ความเห็นแก่ตัว” หรือ “การมองเห็นแต่ตัวเอง” นัก แต่เพื่อให้สามารถเข้าใจข้อความในพระสมณสาร และยิ่งกว่านั้นเพื่อเข้าใจตำแหน่งของตนในแวดวงมนุษย์และในจักรวาล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องจัดคำว่า “บุคคล” ไว้ในอีกระดับหนึ่ง นั่นคือระดับของ “ความสัมพันธ์” ของ “การสมาคมติดต่อ” “ฉัน” มีชีวิตอยู่ มิใช่เพียงในรูปกายแต่ในความสัมพันธ์ที่ฉันมีกับสรรพสิ่งในจักรวาลและกับคนอื่นๆ ร่างกายของฉัน ซึ่งอาศัยอยู่ใน “เวลาและสถานที่” มีส่วนร่วมในความสัมพันธ์นี้ด้วยเพราะร่างกายเป็นตัวแทนของความเป็นคนที่ผู้อื่นสังเกตเห็นได้ กายนั้นสามารถพูดได้ กระทำได้ มองได้ เดินไปหาคนอื่นหรือเดินจากไปได้ กายแม้จะเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากในการสมาคมติดต่อแต่ก็มิได้เป็นทุกอย่างในความเป็นบุคคลทั้งหมด สติปัญญา ความทรงจำ เจตนา ต่างก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ “บุคคล” ด้วย ดังนั้นความเป็นบุคคลของฉันก็คือ ตัวฉันในรูปของร่างกาย ความนึกคิด เจตนา อุทิศตัวให้แก่ผู้อื่น และในเวลาเดียวกันก็รับการติดต่อสมาคมที่คนอื่นพยายามยื่นให้แก่ฉัน เราจะเห็นได้ว่า ยิ่งฉันมีความสัมพันธ์กับคนอื่นมากแค่ไหน ฉันก็ยิ่งมีชีวิตมากขึ้นแค่นั้น และยิ่งเก็บตัวมากแค่ไหน ก็ยิ่งมีความเป็นบุคคลและมีความเป็นมนุษย์น้อยลงแค่นั้น
บุคคล - ผู้อื่น - องค์ผู้ทรงแตกต่างจากมนุษย์อย่างที่สุด
มนุษย์จึงมิใช่เป็นเพียงอัตตบุคคลที่อยู่ในหมู่บุคคลอื่นๆ มิใช่เป็นเพียงเมล็ดข้าวเม็ดหนึ่งในกองข้าวทั้งกอง แต่เป็นบุคคลผู้ทรงพลัง เปี่ยมด้วยเกียรติและความรับผิดชอบที่ไม่เหมือนใคร มีความสำนึกในการอุทิศตัวให้แก่ผู้อื่น และยังเป็นอิสระที่จะรับการอุทิศตัวจากผู้อื่นหรืออาจจะอยู่เฉยๆ อย่างไม่ยินดียินร้ายก็ได้ ผู้อื่นในที่นี้ก็หมายถึง “บุคคลอื่นๆ” ที่เป็นชายหรือหญิง แต่ยิ่งไปกว่านั้นยังรวมถึง “องค์ผู้ทรงแตกต่างจากมนุษย์อย่างที่สุด” ด้วย คือ องค์พระเจ้านั่นเอง พระองค์ทรงเป็นบ่อเกิดที่เป็นผู้สร้างของ “บุคคล” แต่ละคน ทรงอุทิศพระองค์เพื่อ “บุคคล” และทรงเรียกให้ “บุคคล” อุทิศตัวให้พระองค์เช่นกัน และด้วยการแลกเปลี่ยนเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดความรอดของ “บุคคล” หรือเกิดความสำเร็จอย่างสมบูรณ์และอย่างสูงสุด
พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาด้วยความรักและทรงสร้างเพื่อความรัก
โดยการยึดถือความคิดนี้เป็นหลัก พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเรียกร้องอย่างแข็งขันให้เราปรับปรุงความนึกคิดที่มีต่อความรักและการแต่งงาน พระเจ้ามิใช่องค์ผู้บัญญัติกฎเกณฑ์เพื่อใช้บังคับสิ่งสร้างซึ่งก็ต้องการความเป็นอิสระ แต่ทรงเป็นผู้ที่ “ได้ทรงเรียกมนุษย์มาให้เกิดมีชีวิตด้วยความรัก และยังคงเรียกให้เขาเข้าถึงความรักด้วย” (ข้อ 11) หมายถึง ให้มีความสัมพันธ์ติดต่อกับพระองค์ และกับ “ผู้อื่น” พระศาสนจักรมิใช่คณะลูกขุนที่ประกอบด้วยชายโสดผู้มีใจหิน ผู้ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน และออกกฎข้อบังคับที่แสนหนักและเคร่งครัดแก่มวลมนุษย์ แต่พระศาสนจักรเป็นเสมือนเจ้าสาวที่อุทิศตัวแก่เจ้าบ่าวผู้ศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการไถ่กู้ให้เข้าถึงความสมบูรณ์โดยอาศัยพระคุณจากพระโลหิตของเจ้าบ่าว พระศาสนจักรเป็น “มารดา” ผู้นำบุคคลแต่ละคนที่เป็นองค์ประกอบของพระศาสนจักรให้ไปสู่ความสมบูรณ์โดยชี้แนะแนวทางในการรับเอาพระคุณจาก “องค์ผู้ทรงแตกต่างจากมนุษย์อย่างที่สุด” และในการน้อมรับ “บุคคลอื่นๆ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นสามีหรือภรรยาของตน “มารดา” ผู้นี้ให้การสนับสนุนความปรารถนาของแต่ละบุคคลในการอุทิศตนเองอย่างเป็นอิสระแก่บุคคลอื่นและแก่ “องค์ผู้ทรงแตกต่างจากมนุษย์อย่างที่สุด” เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติอันแท้จริงของเขา และบรรลุถึงความดีอันจริงแท้ที่สุด
ข้อเรียกร้องของการเป็น “บุคคล”
เมื่อใคร่ครวญตามแสงสว่างนี้ จะพบว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสภาพที่ยกเลิกไม่ได้ของการแต่งงานซึ่งรวมถึงการที่จะไม่เห็นด้วยกับการหย่าร้าง กับการทดลองใช้ชีวิตร่วมกันก่อนแต่งงาน กับการคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์กับการทำแท้ง และยังรวมไปถึงการเคารพสิทธิสตรี เด็ก คนแก่ และคนพิการนั้น จึงมิใช่เป็นกฎจากภายนอกที่จะต้องรักษา แต่ในทางตรงกันข้ามเป็นข้อเรียกร้องที่มาจากภายในของการเป็น “บุคคล” เพื่อเปิดทางให้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่จนกระทั่งบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์อันแท้จริง
ความเป็นบุคคลในกระแสประวัติศาสตร์
พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ส่วนประกอบของความเป็นบุคคลอย่างหนึ่งซึ่งขาดมิได้ นั่นคือ ประวัติศาสตร์ อันหมายถึงทั้งสภาพที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต สภาพปัจจุบัน และศักยภาพในอนาคตของบุคคลนั้น พระสันตะปาปาทรงเตือนว่า ตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นของเราหรือของคนอื่นก็ดี จะมีการพัฒนาบุคลิกของตนทีละเล็กทีละน้อยโดยอาศัยประสบการณ์และการตัดสินใจของตนในเรื่องต่างๆ อีกทั้งบุคคลต้องการใช้เวลานานในการพัฒนาตัวรวมถึงการที่บุคคลสามารถเจริญก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์ที่ไม่มีขอบเขต ไม่ว่าสภาพปัจจุบันของบุคคลนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม
ความเอาใจใส่ต่อบุคคล
ให้เราสังเกตความเอาใจใส่อันเปี่ยมล้นด้วยความเมตตาของพระสันตะปาปาที่มีต่อบุคคลและต่อปัญหาต่างๆ ของบุคคล เช่น ความยากลำบากในเรื่องต่างๆ ของคู่สมรส เสรีภาพของปัจเจกบุคคลซึ่งสื่อมวลชนและผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจพยายามจะรุกราน ความว้าเหว่ของผู้สูงอายุ คู่สมรสที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งทอดทิ้ง พ่อหม้ายแม่ม่าย ผู้อพยพ และบุคคลต่างๆ ที่ต้องอยู่เป็นโสดโดยไม่มีทางเลือก พระสันตะปาปาทรงมีพระวาจาที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจ ดังเช่น ต่อผู้ที่แต่งงานใหม่หลังการหย่าร้างด้วยความตั้งใจที่จะให้การอบรมที่ดีแก่บุตร นอกจากนั้นยังทรงกระตุ้นให้ผู้อภิบาลมิให้ปิดขังตัวเองอยู่ในกรอบของกฎเกณฑ์หรือแฟชั่นของการทำตามกฎเกณฑ์ แต่ขอให้จับตามองแต่สิ่งที่อยู่ลึกที่สุดใจใจของแต่ละคน ในถานการณ์แต่ละอย่าง
1.2 ความหมายของความรัก
เราอยากจะเน้นถึงความหมายของความรักของสมัชชาพระสังฆราชและของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ตามที่เราเข้าใจ แม้จะเป็นเพียงสั้นๆ ก็ตาม
การอุทิศตนเอง
ความรักคือการอุทิศตนเอง พระสันตะปาปาทรงใช้คำ “ความรัก - การอุทิศตนเอง” บ่อยครั้ง ดังนั้นความหมายในเชิงอื่นๆ เช่น ความเพลิดเพลินทางกาย ความคิดเพ้อฝัน ความมั่นคง การกระตุ้นความรู้สึก ความใคร่ การเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นความหมายที่ผิดเพี้ยนไปและไม่เพียงพอที่จะกล่าวถึงคำว่า “ความรัก” จึงไม่นับรวมในที่นี้ มีหลายครั้งที่พระสันตะปาปา ทรงเพิ่มคำ “อย่างสิ้นเชิง” เช่นการอุทิศตนเองอย่างสิ้นเชิง (ข้อ 11) โดยเน้นว่า การอุทิศตนเองที่ฝืนไว้แม้แต่นิดเดียว ความเห็นแก่ตัวที่เจือปนอยู่จะทำให้การพัฒนาของความรักนั้นเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับเมล็ดทรายที่ทำให้เฟืองของเครื่องจักรหยุดทำงานได้
พระคุณพิเศษของพระผู้เป็นเจ้า
ความรักคือ พระคุณพิเศษที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์ เป็นการร่วมชีวิตอย่างแท้จริงกับพระองค์ ความรักของมนุษย์ก็เป็นภาพลักษณ์ของชีวิตพระเจ้าแม้จะเป็นฉายาที่ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็มีความหมายของความจริงที่ศักดิ์สิทธิ์และลึกล้ำที่เราไม่อาจจะเข้าใจได้โดยตรง ความรักจึงเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในหัวใจของชายและหญิง
สัญลักษณ์
ความรักระหว่างชายและหญิงเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าเสมอ เมื่อเป็นความรักอันซื่อสัตย์ก็เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์อย่างสม่ำเสมอและที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ เมื่อเป็นความรักที่ปนความพิรุธ การหลงผิดก็เป็นสัญลักษณ์ของความไม่แน่นอนของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า แต่ไม่อาจหยุดความซื่อสัตย์ของพระเจ้าลงได้แม้แต่ชั่วขณะหนึ่ง
สัญลักษณ์เชิงประกาศก
ความรักเป็นสัญลักษณ์เชิงประกาศก หมายความว่า
1. เป็นความจริงที่มองเห็นได้และเต็มไปด้วยความหมายสำหรับบุคคล 2 คน ที่อุทิศตัวให้แก่กัน เพื่อประโยชน์ของกันและกัน
2. การอุทิศตนเองนี้ ประกาศถึงการอุทิศตัวอีกอย่างหนึ่งที่ประเสริฐอันเป็นแบบฉบับสำหรับมนุษย์ แม้ในทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว อันได้แก่ ยัญบูชาของพระคริสตเจ้า พระเจ้าผู้ทรงรับเอากายมนุษย์สำหรับเจ้าสาวของพระองค์ซึ่งเป็นพระศาสนจักร
3. สัญลักษณ์นี้จะแสดงความหมายทั้งหมดออกมาในเหตุการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่สัญลักษณ์นี้ประกาศแสดงเท่านั้น ในการเสียสละพระชนม์ชีพบนไม้กางเขน พระเจ้าทรงอุทิศพระองค์แก่มนุษยชาติอย่างสมบูรณ์ที่สุดและลึกซึ้งที่สุดจนมนุษยชาติที่ได้รับการไถ่กู้นั้น กลายเป็นพระกายของพระคริสต์ ความรักที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงในความเป็นจริงอันใหม่ของคู่สมรส จนกระทั่งเป็นเนื้อเดียวกัน (หมายความว่า เป็นบุคคลเดียวกัน) นั้น ประกาศแสดงถึงการยกมนุษยชาติให้สูงขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับพระเจ้า
พระจิตเจ้า
ความรักคือสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ สัญลักษณ์เชิงประกาศกนี้ มิใช่เป็น “สิ่งหนึ่ง” หรือ “ความรู้สึกหนึ่ง” แต่ความรักเป็น “พระบุคคล” พระสันตะปาปาทรงใช้สำนวนที่ว่า “พระจิตเจ้าทรงหลั่งรินแก่คู่สมรสระหว่างพิธีสมรส” (ข้อ 13, 19, 63) อันเป็นสำนวนที่งดงามและทรงใช้หลายครั้งด้วยกัน สำนวนนี้เป็นการเน้นอย่างหนึ่งว่า ความรักของคู่สมรสมิได้เป็นอย่างอื่น นอกจากพระจิตเจ้าอันเป็นสายใยแห่งความรักและการอุทิศพระองค์ระหว่างพระบิดาและพระบุตรซึ่งสถิตอยู่ในใจของคู่สมรส และด้วยเหตุนี้เองก็ทำให้สามีภรรยาสามารถได้เข้าถึงแก่นแห่งชีวิตของพระเจ้าได้ นอกจากนั้น เหมือนดังที่ศีลกำลังแต่งตั้งผู้รับศีลล้างบาปให้เป็นประจักษ์พยานของพระวรสาร ในทำนองเดียวกัน ศีลสมรสก็ได้แต่งตั้งสามีภรรยาให้เป็น “ธรรมทูตแห่งความรักและชีวิต” (ข้อ 54) ด้วยฤทธานุภาพของพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน
1.3 การแพร่ธรรมของฆราวาส
การเปลี่ยนแปลงในด้านความหมายของคำ
แนวความคิดหลักอันที่สามซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในพระสมณสารนี้ก็คือ บทบาทของฆราวาสในภารกิจต่างๆ ของพระศาสนจักร ดังนั้น เราจึงควรมาสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านความหมายของคำๆ นี้ในเทววิทยาที่เกี่ยวกับฆราวาส พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 10 ได้ทรงพูดถึงบรรดาฆราวาสว่าเป็นฝูงแกะที่อ่อนน้อมต่อการนำของคนเลี้ยงแกะ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 ได้ก่อตั้งกิจการคาทอลิกและทรงกระตุ้นให้ฆราวาสมีส่วนร่วมในภารกิจแพร่ธรรมของศาสนจักร แต่ในฐานะที่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราช พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 และพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ก็ได้ขยายความภารกิจเฉพาะของฆราวาสในโลกว่าบทบาทนี้มิใช่เพียงหน้าที่ผู้รับผิดชอบทางศาสนากำหนดให้เท่านั้น แต่เป็นผลโดยตรงมาจากศีลล้างบาป ในพระสมณสารนี้ความคิดของพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 และของสังคายนาวาติกันที่ 2 ไม่เพียงแต่ปรากฏซ้ำเท่านั้น แต่ได้รับการขยายความอย่างกว้างขวางอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นลักษณะที่เด่นชัดของพระสมณสารก็คือ การเน้นถึงลักษณะภารกิจของครอบครัวคริสตชนว่าเป็น “ศาสนบริการ” โดยตรง ซึ่งครอบครัวได้รับมอบหมายมาทางศีลสมรส
ภารกิจของฆราวาสในโลก
พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงพอพระทัยที่จะนำความคิดจากสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 มากล่าวซ้ำตามข้อความที่ว่า ชีวิตของสังคมโลก ก็คือ ชีวิตของครอบครัวนั่นเอง ครอบครัวนี้เองที่เป็นองค์ประกอบทางกายภาพของสังคม และที่ให้การประกันว่าสังคมจะมีสมาชิกสืบทอดต่อไปเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวนั้นเป็นหัวใจของสังคม กล่าวคือ ถ้าครอบครัวดี คนดี สังคมก็จะดีด้วย (ข้อ 5) มีการบรรยายความคิดอันยอดเยี่ยมของพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 เกี่ยวกับงานเผยแผ่พระวรสารที่ครอบครัวได้รับการถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น โดยการรับฟังพระวรสารและดำเนินชีวิตตามพระวรสารในความจริงแท้ของความรักและในความสัมพันธ์ของครอบครัว พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงเน้นถึงงานแพร่ธรรมของครอบครัว ซึ่งมิได้เพียงกล่าวถึงบทบาทนี้ว่าสำคัญเป็นอันดับแรกเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติและตามวิธีการที่หาอะไรทดแทนมิได้เลย งานแพร่ธรรมนี้ต้องดำเนินไปตามสภาพความเป็นไปต่างๆ ของครอบครัว (ข้อ 50) อันได้แก่งานในด้านการรับใช้ความรักและชีวิตรวมถึงการสนับสนุนความสัมพันธ์ในสังคม งานในด้านการอบรมบุตร งานในด้านความสัมพันธ์กับพระเจ้า เรามิควรละเว้นที่จะอ่านข้อความสองข้อที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นใจและความเรียบง่ายของเนื้อหาที่เกี่ยวกับการสวดภาวนาในครอบครัว อันได้แก่ ข้อ 59 ย่อหน้าสุดท้าย และข้อ 60 ย่อหน้าที่สอง ซึ่งมีการอ้างถึงคำกล่าวของพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6
ชีวิตครอบครัวคริสตชนเป็นศาสนบริการ
สิ่งที่เป็นหัวข้อสำคัญในสมัชชาพระสังฆราช ปี 1980 และในสมณสารนี้ก็คือ ความคิดที่มีการเน้นหลายครั้งว่า ภารกิจของครอบครัวเป็น “ศาสนบริการ” อย่างหนึ่ง อาจพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่าชีวิตแห่งความรักของคู่สมรสและบทบาททุกประการของครอบครัวนั้น เป็นภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของคู่สมรสและครอบครัว ซึ่งเป็น “ศาสนบริการ” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคู่สมรสและครอบครัวเท่านั้น เป็นงานที่ประกอบด้วยลักษณะต่างๆ (ลักษณะของประกาศก สงฆ์ และกษัตริย์) และประกอบด้วยประสิทธิผลแห่งการไถ่กู้ของภารกิจแพร่ธรรม ซึ่งพระคริสตเจ้ามอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระศาสนจักร อันได้แก่ภารกิจการพิทักษ์รักษา การประกาศและการเผยแผ่ความรัก (ข้อที่ 17) ภารกิจในการแสดงความซื่อสัตย์ (ข้อ 20) ภารกิจแห่งความสัมพันธ์ (ข้อ 21) ภารกิจการอุทิศตัวรับใช้ชีวิต “การเผยแผ่ภาพลักษณ์ของพระเจ้าจากคนหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง” (ข้อ 28) ภารกิจการอบรมดูแลบุตร (ข้อ 36, 38, 53) ภารกิจที่ “เป็นเครื่องเตือนใจพระศาสนจักรให้ระลึกถึงเหตุกาณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่ไม้กางเขนอยู่เสมอ” (ข้อ 13) “ศาสนบริการ” นี้ มีความเป็นจริงมากจนกระทั่งพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ยกคำพูดของนักบุญโทมัส อไควนัส ซึ่งมักจะถูกลืมบ่อยๆ ในเรื่องการเปรียบเทียบศาสนบริการของคู่สมรสกับศาสนบริการของสงฆ์ที่ว่า “งานเผยแผ่และอนุรักษ์ชีวิตจิตวิญญาณนั้น บางคนก็ทำสำเร็จโดยศาสนบริการทางวิญญาณ ซึ่งเป็นงานเฉพาะของผู้ที่รับศีลบวชเป็นสงฆ์ บางคนก็ทำโดยทางศาสนบริการทางร่างกายและวิญญาณพร้อมกันไป ซึ่งเป็นผลของศีลสมรส” (Summa Contra Gentiles ภาค 4 บทที่ 58 : อ้างอิงในข้อ 32)
พระศาสนจักรระดับครอบครัว
การที่มีการกล่าวถึง “พระศาสนจักรระดับครอบครัว” หลายต่อหลายครั้ง ก็เป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญอยู่ในตัวแล้ว แต่คำนี้ยังมีความสำคัญเด่นชัดเป็นพิเศษ ถ้าเราได้มาคิดถึงประวัติความเป็นมาของคำนี้ ในสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้เริ่มพูดในนัยนี้เป็นครั้งแรก (“ในครอบครัวอันเป็นหน่วยที่คล้ายกับพระศาสนจักร”, Lumen Gentium) แต่คำนี้กลับถูกลบล้างไปในเวลาต่อมาว่า เป็นคำที่ไม่เหมาะสม ที่สุด สมัชชาพระสังฆราช ปี 1980 และพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ให้ความสำคัญแก่คำนี้ใหม่ และไม่ได้ใช้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบอีกต่อไป แต่ใช้เป็นคำไวพจน์ “ครอบครัวคริสตชน” เลยทีเดียว ดังนั้นจึงเป็นการรับรองอย่างเป็นทางการว่า งานแพร่ธรรมของครอบครัวซึ่งเป็นงานของฆราวาสโดยเฉพาะนั้น ก็เป็นงานของพระศาสนจักรโดยตรง
การรับใช้ครอบครัว
ก่อนที่จะจบหัวข้อนี้ ขอให้เราสังเกตคำว่า “งานของพระศาสนจักร” ซึ่งเป็นคำที่พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ให้แก่งานของบรรดานายแพทย์ นักการศึกษา นักกฎหมาย หรือคู่สมรสที่อุทิศตนเพื่อความผาสุกของครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้แก่ความพยายามของทุกๆ คนที่มีความตั้งใจที่จะแนะนำคู่สมรสให้ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบสังเกตจังหวะตามธรรมชาติ (ข้อ 35, 43, 47, 71, 75)
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะพบการใช้สำนวน 3 สำนวน ขนานกันไป เพื่อเน้นความสำคัญของศาสนบริการนี้ อันได้แก่ “อนาคตของการเผยแผ่พระวรสารขึ้นอยู่กับพระศาสนจักรระดับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่” (ข้อ 52) “อนาคตของสังคมโลก และของพระศาสนจักรขึ้นอยู่กับครอบครัว” (ข้อ 75) และ “อนาคตของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับครอบครัว” (ข้อ 86)
หัวข้อที่ 2 : ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน
ครอบครัวนั้นเป็นแก่นของชีวิตในโลกนี้ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ครอบครัวจะได้รับผลกระทบในด้านดีหรือด้านเลวจากกระแสต่างๆ ที่ส่งผลกระเทือนอยู่ในโลก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้จำนวนมากได้รับการกล่าวถึงในพระสมณสารนี้ พระสันตะปาปาก็แสดงความเห็นหรือแนวความคิดที่เรามิอาจมองข้ามไปได้เลยหลายครั้งหลายหนด้วยกัน ในที่นี้จะขอยกมากล่าวถึงสัก 4 - 5 ข้อ
2.1 วิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องแสดงถึงภูมิปัญญาและเกียรติของมนุษย์ และจะต้องมีหน้าที่รับใช้มนุษย์และตัวบุคคลไม่ใช่กลายเป็นรูปบูชาหรือนายของมนุษย์อีกทีหนึ่ง วิทยาศาสตร์นี้บางครั้งมีบทบาทมากเกินไป เช่น ในกรณีที่ความก้าวหน้าทางวิชาการเปิดโอกาสให้สามารถฆ่าทารกแฝดคนใดคนหนึ่งได้ ถ้าผู้เป็นแม่ไม่ประสงค์จะมีลูก 2 คน ในเวลาเดียวกัน หรือในกรณีที่มีการตรวจครรภ์ก่อนคลอดเพื่อทำแท้งถ้าปรากฏว่ามีทารกที่ผิดปกติ ในเรื่องอื่นๆ ยังมีตัวอย่างของการที่วิทยาศาสตร์ก้าวก่ายความเป็นบุคคลอีกมาก ฉะนั้นควร “จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับปัญญา” (ข้อ 8)
2.2 ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี
ขบวนการนี้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมที่ชัดเจนและถูกต้องเพื่อสตรีจะได้มีเกียรติเสมอภาคเท่าเทียมชาย และเพื่อที่จะเปิดทางให้สตรีมีบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ตามจริงแล้ว ภาวะที่แสดงถึงความเป็นสตรีอย่างแท้จริงเรียกร้องว่า
• ความเป็นหญิงควรได้รับการยอมรับ และสามารถแสดงออกได้ด้วยบทบาทที่เหมาะสม แต่จะต้องไม่ทำให้ถูกปฏิเสธหรือทำลายโดยพยายามทำตนให้เหมือนเป็นชาย
• บทบาทของภรรยาและโดยเฉพาะในฐานะที่เป็นแม่ของลูกไม่ควรเป็นบทบาทแห่งความอัปยศอดสูสำหรับหญิง แต่ควรได้รับการยกย่องว่า เป็นหน้าที่ทางสังคมที่แท้จริง ซึ่งอยู่เหนือกว่าทุกๆ สิ่งที่สตรีจะสามารถอุทิศให้สังคมโดยการทำงานนอกบ้าน
3.2 การคุมกำเนิด
พระสมณสารฉบับนี้ได้ให้รายละเอียดที่แน่นอนและลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหานี้ โดยเปรียบเทียบทัศนคติของผู้ที่ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์และทัศนคติของผู้ที่ใช้การสังเกตจังหวะตามธรรมชาติเป็นหลักใหญ่
ถ้าพูดโดยสรุปแล้วผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์นั้น
• แบ่งแยกความหมาย 2 ประการ ของคำว่า เพศสัมพันธ์อันหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการเจริญพันธุ์ที่พระผู้สร้างได้เชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองลักษณะนี้ไว้อย่างแน่นแฟ้น
• ทำตัวเป็น “ผู้บงการ” แผนการของพระผู้เป็นเจ้า
• ทำให้คุณค่าของเพศมนุษย์เสื่อมทรามลง ทั้งในแง่ของตนเองและของคู่ของตนด้วย
• บิดเบือนความจริงของความรักของคู่สมรส ซึ่งควรต้องเป็นการอุทิศตนอย่างสิ้นเชิง
แต่ก่อนหน้านี้ พระสันตะปาปาได้ขจัดแนวความคิดต่างๆ เป็นอันมากที่มหาชนกำลังให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวาง เช่น ความกลัวในเรื่องการใช้กำลังรุนแรง ความกลัวเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากร ความกลัวในสภาพข้าวยากหมากแพง หรือแม้แต่เพียงความกลัวที่จะมีความสบายน้อยลง ความกลัวในเรื่องการผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เพื่อคัดค้านแนวความคิดเหล่านี้ พระสันตะปาปาทรงตั้งข้อสังเกตว่า ความรักของพระเจ้ามีพลังเหนือกว่าความกลัวใดๆ ในโลก อันตรายของการที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องที่ขยายความกันเกินกว่าเหตุ (และเราสันนิษฐานว่า พระสันตะปาปาได้ทรงศึกษารายงานทางเศรษฐศาสตร์ และสถิติเป็นอย่างดีแล้ว) นอกจากนี้ยังได้ทรงตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คุณค่าของขีวิตอยู่ที่มนุษย์สามารถคงความเป็นบุคคลเอาไว้ได้ ไม่ใช่อยู่ที่สภาพของความทุกข์หรือความสุขในความเป็นอยู่ ดูเหมือนว่าเป็นครั้งแรกในเอกสารของพระสันตะปาปาที่พระองค์ทรงประณามเรื่องอื้อฉาวที่ประเทศร่ำรวยและองค์การระหว่างประเทศให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศในโลกที่สามที่ออกกฎหมายอย่างมีผล เพื่อสนับสนุนการคุมกำเนิดและการทำแท้ง (ข้อ 30) เรื่องอื้อฉาวที่ถูกนำมาตีแผ่ในสิ่งพิมพ์ต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ เรายังได้สังเกตเห็นความก้าวหน้าทางความคิดของพระสันตะปาปาตามที่ได้ทรงแสดงในปาฐกถาแก่พระสงฆ์อิตาเลียนที่คาสเตล คอนโดลโฟ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1983 พระองค์ได้ทรงกล่าวไว้ว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างความเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งบรรดาพ่อแม่ต่างก็เป็นผู้ร่วมมือกับพระผู้สร้าง แต่โดยการใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์ ชายและหญิงได้ปฏิเสธมิให้พระเจ้าเป็นพระเจ้า
2.4 ครอบครัวและสังคม
ผู้อ่านคงจะได้อ่านพระสมณสารทุกตอนที่กล่าวถึงบทบาทที่ดีของครอบครัวที่มีต่อสังคม และคงเข้าใจได้ไม่ยากนัก บทบาทนี้ไม่เพียงแต่อยู่ในระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติเท่านั้น แต่ในระดับโลกด้วย (ข้อ 43, 44, 47, 48)
อย่างไรก็ตาม ในโลกที่มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญแก่สังคมเป็นอย่างมากเช่นนี้ คนจะได้รับความคิดที่ว่า รัฐอยู่เหนือมนุษย์ และดังนั้นก็ยังอยู่เหนือครอบครัวด้วย รัฐต้องครอบคลุมทุกอย่าง เช่น การศึกษา การงาน การประกันสังคม การจัดที่อยู่อาศัย ความยุติธรรม ฯลฯ พลเมืองธรรมดาๆ มักมีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจใดๆ เมื่ออยู่ต่อหน้าระบบราชการที่เต็มไปด้วยกำลังอันมหาศาล และอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวง บ่อยครั้ง คนเหล่านี้ยังนึกไปอีกว่ารัฐผิดพลาดไม่ได้เลย และทำอะไรก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว ฝ่ายรัฐเองก็มีแนวโน้มที่จะบังคับให้คนทำตามโครงการของรัฐด้วยอำนาจระบบราชการ และด้วยการควบคุมสื่อมวลชนเพื่อสร้างประสิทธิผลและเพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ สิ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในประเทศเผด็จการ จากประสบการณ์ส่วนตัวของพระสันตะปาปา ภายใต้การยึดครองของทหารเยอรมันและรัสเซีย และภายใต้การปกครองของระบบคอมมิวนิสต์นั้น เป็นเครื่องยืนยันอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า พระองค์ทรงทราบดีว่า ได้กล่าวถึงอะไรอยู่ ในประเทศทุนนิยมหรือที่เรียกว่า “ประเทศโลกเสรี” นั้น แนวโน้มนี้ก็มิได้อ่อนลงเลย แม้ว่าจะมิได้ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนก็ตาม เช่น ระบบการจัดจำแนกงานที่ไม่ยุติธรรม ระบบการจัดการศึกษาที่ไม่เหมาะสม และการกำจัดเสรีภาพที่แท้จริงของพ่อแม่ในการกำหนดจำนวนบุตรที่ตนอยากจะมี ฯลฯ นี่แหละที่เรียกว่า “ประเทศโลกเสรี”
ควรจะคิดถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะสามารถเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ที่ว่า “ครอบครัวเป็นสังคมที่ควรได้รับบุริมสิทธิ์” หมายถึง สิทธิ์ที่มาก่อนสิทธิ์ของรัฐ รัฐเพียงแต่ช่วยให้ครอบครัวได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้บรรลุผลเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาขัดขวางครอบครัวในหน้าที่ที่ครอบครัวสามารถทำได้เอง (ข้อ 45) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของบุตร (ข้อ 36, 40)
2.5 งานอภิบาลครอบครัว
ข้อสังเกตข้อหลัง ๆ นี้ คงจะเป็นที่สนใจของบรรดาพระสงฆ์
ตำแหน่งงานอภิบาลครอบครัว
สมัชชาพระสังฆราชและพระสันตะปาปาเรียกร้องให้งานนี้ได้รับ “ความสำคัญเป็นอันดับแรก” ในบรรดางานทั้งหลายของพระศาสนจักร ทั้งในระดับสากล ระดับสังฆมณฑล และระดับวัด (ข้อ 65, 70, 73, 74) ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวสมรส (ข้อ 66, 67) กับการอภิบาลช่วยเหลือคู่สมรส (ข้อ 69 - 72) และกับการฝึกอบรมผู้อภิบาล (ข้อ 73 - 76) ควรจะได้รับการศึกษาอย่างละเอียดและดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยไม่ปล่อยทิ้งไว้หรือมีข้ออ้างใดๆ
งานอภิบาลเกี่ยวกับกรณีพิเศษที่เป็นปัญหา
ในที่นี้ เราใคร่จะขอนำตัวอย่าง สักสองกรณี คือ
ก. คริสตชนที่ละเว้นไม่ปฏิบัติศาสนา ที่ประสงค์จะขอรับศีลสมรส (ข้อ 68) พระสันตะปาปาทรงให้ข้อสังเกตถึงอันตรายของการวิจารณ์ระดับของความเชื่อว่ามีมากน้อยเพียงใดอย่างไร อันตรายนี้อาจเลยไปถึงความสงสัยในคุณค่าของการแต่งงานที่เกิดขึ้นไปแล้ว ในเมื่อคู่สมรสมีความรักต่อกันและยึดถือคำมั่นสัญญาเฉพาะคู่ของตนที่ยกเลิกไม่ได้นั้นเอาไว้ เราก็อาจถือได้ว่า ด้วยวิธีนี้เขาได้แสดง “ความนอบน้อมต่อแผนการพระเจ้า” และสะท้อนให้เห็นทัศนะที่มีความศรัทธาอย่างแท้จริง แม้ว่าจะไม่สำนึกมากนักก็ตาม
ข. ผู้ที่แต่งงานใหม่หลังการหย่าร้าง (ข้อ 84) พระสันตะปาปาทรงให้ทัศนะเกี่ยวกับคู่หย่าร้างเหล่านี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจและด้วยความหนักแน่นในเวลาเดียวกัน โดยยึดหลักซึ่งพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ทรงตั้งไว้ในบริบทอื่นที่ว่า “การไม่ลดความสำคัญของคำสั่งสอนแห่งความรอดของพระคริสตเจ้า ทำให้เกิดรูปแบบพิเศษของความรักต่อวิญญาณทั้งหลาย” (ชีวิตมนุษย์ ข้อ 29) ดังนั้น ผู้อภิบาลทั้งหลาย
• ควรพยายามช่วยผู้ที่แต่งงานใหม่หลังการหย่าร้างให้มีส่วนร่วมในชีวิตและกิจกรรมของพระศาสนจักร
• ไม่อนุญาตให้เขาเหล่านี้รับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท
• ไม่ประกอบพิธีศาสนาใดๆ ในโอกาสที่ผู้หย่าร้างแล้วไปจดทะเบียนแต่งงานใหม่
กรณีพิเศษที่เป็นปัญหาเหล่านี้ มิได้เป็นเรื่องที่สมมุติขึ้น และเราก็ยืนยันได้ว่า กรณีเหล่านี้สร้างข้อข้องใจให้แก่คริสตชนหลายคน พระสงฆ์ควรศึกษาและแสวงหาการปฏิบัติตามแนวทางที่ทรงแนะไว้ในพระสมณสารนี้ เราเข้าใจดีว่า พระสงฆ์บางองค์ได้ปฏิบัติตามด้วยความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ แต่การปฏิบัติเช่นนี้จะสอดคล้องกับหลักธรรมแห่งศีลสมรสหรือไม่
หัวข้อที่ 3 : การอธิบายความหมายของคำพิเศษบางคำ
3.1 กฎเกณฑ์แห่งการก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (law of gradualness) (ข้อ 9 และข้อ 34)
คำนี้เป็นคำใหม่ พระสังฆราชกลุ่มหนึ่งได้เสนอคำนี้ในระหว่างการประชุมสมัชชาพระสังฆราช และพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เอง ก็ได้ทรงใช้คำนี้ในบทแถลงของพระองค์ในพิธีปิดการประชุมสมัชชา ข้าพเจ้าใคร่ขอคำอธิบายคำนี้ เพราะบางครั้งคนที่ตีความหมายของคำนี้ต่างก็มีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป
คำนี้ หมายถึง พัฒนาการในแง่ดีของชีวิตสมรส เราทุกคนพอจะทราบแล้วว่า คู่สมรสไม่มีโอกาสเตรียมตัวก่อนจะเข้าการสมรสได้เท่ากันทุกคู่ทั้งในด้านความรู้ทั่วไป คำสอนที่ต่างคนต่างได้รับ นิสัยใจคอของแต่ละคน สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ประสบการณ์ และโอกาสที่จะได้พบผู้คน เหตุผลนานัปการนี้ได้หล่อหลอมจิตสำนึกของแต่ละคู่ตามวิธีหรือขั้นตอนที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับความรักและชีวิตครอบครัว บางคู่ก็โชคดีได้รับการศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่องและอย่างเฉลียวฉลาด ก่อนจะถึงเวลาที่จะสมทำให้เขามีทัศนะที่สูงส่งเกี่ยวกับเรื่องศักดิ์ศรีของคนหรือความสัมพันธ์ระหว่างคน เขามีจิตใจที่บรรลุถึงวุฒิภาวะและสามารถอุทิศตัวให้แก่คนอื่น ตลอดจนควบคุมจิตใจของตนได้พอสมควร แต่บางคนเติบโตขึ้นมาโดยไม่เคยได้รับความอบอุ่นเลย มีแต่ได้รับความยุ่งยากลำบากต่างๆ นานา บางครั้งก็ต้องมีชีวิตท่ามกลางบรรยากาศที่มืดมน ฉะนั้น เขาจึงมองเรื่องการสมรสเป็นเพียงโอกาสที่จะตอบสนองความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ในระหว่างพวกแรกกับพวกที่สองที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีคู่สมรสจำนวนมากซึ่งอยู่ในสภาพการณ์ที่ซับซ้อนด้วยเหตุว่าเรื่องความรักและการสมรสเป็นการมาพบกันของคนสองคนซึ่งแต่ละคนต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าสภาพความเป็นจริงของคู่สมรสต่างๆ ในเวลาที่จะแต่งงานจะเป็นอย่างไรก็ตาม คู่สมรสทุกคู่ต่างก็จะได้รับการเรียกร้องให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างเท่าเทียมกันหมด การแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคู่สมรสทุกคู่เหมือนกับอากาศซึ่งจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ไม่มี “ขั้นตอนของกฎเกณฑ์” (gradualness of the law) เหมือนอย่างเช่นว่า อาจมีอุดมคติเกี่ยวกับความรักและการสมรสอย่างหนึ่ง สำหรับคู่สมรสที่พร้อมแล้วทุกอย่าง และมีอุดมคติอีกอย่างหนึ่งในระดับที่ต่ำลงไปซึ่งน่าจะพอสำหรับคู่สมรสที่เคราะห์ร้ายในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว แต่ความจริงแล้ว คู่สมรสทุกคู่ได้รับการเรียกร้องให้กลายเป็น “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้าองค์เดียวกัน ทุกคู่มีพระบิดาองค์เดียวกันผู้ทรงรักเขา ทุกคู่ได้รับความช่วยเหลือและการไถ่กู้จากไม้กางเขนของพระคริสตเยซูองค์เดียวกัน และทุกคู่ได้รับพลังแห่งความรักจากพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน
แต่ก็เป็นสิ่งที่แน่นอนเหมือนกันว่า ไม่มีคู่สมรสคู่ใดเลยที่จะสามารถบรรลุอุดมคติของตนในทันทีที่สำเร็จพิธีสมรสในวัด แต่ละคู่ยังจะต้องก้าวไปสู่อุดมคติที่พระเจ้าทรงเสนอให้และที่พระศาสนจักรจะช่วยให้บรรลุถึงให้ได้ตลอดชีวิตสมรสร่วมกัน ในภาษาลาติน คำว่า gradus นั้นแปลว่า “การก้าวไปข้างหน้า” ในระหว่างการก้าวไปข้างหน้านี้ คู่สมรสแต่ละคู่จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ไม่ใช่เพื่อหาที่พักผ่อน แต่เป็นการกำหนดว่าต้องก้าวไปข้างหน้าอีกต่อไป โดยอาศัยเจตนาที่จริงจังมากขึ้นอีก แต่ละคู่จะต้องเดินไปตามจังหวะก้าวและวิถีทางที่จริงจังมากขึ้นอีก แต่ละคู่จะต้องเดินไปตามจังหวะก้าวและวิถีทางของตนเอง จะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่เป็นสถานการณ์เฉพาะของตนและได้รับชัยชนะที่เป็นเฉพาะของตนเช่นกัน “กฎเกณฑ์แห่งการก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” นี้อาจสรุปได้ว่า เป็นความจำเป็นที่คู่สมรสทุกคู่จะต้องก้าวไปข้างหน้าสู่ความรักที่สมบูรณ์แบบด้วยพละกำลังของตนและตามวิถีทางของตน “โดยที่พระกระแสเรียกของพระเจ้าและพระหรรษทานแห่งการไถ่กู้มนุษย์จะเป็นพลังให้แก่เขาอยู่เสมอ”
บทบาทของพระศาสนจักร ซึ่งหมายถึง คริสตชนทั้งหลาย ก็คือ
1. ต้องชี้แนะจุดหมายปลายทางหรือทิศทางอย่างชัดเจนให้แก่คู่สมรสทั้งหลาย
2. ต้องเสนอแนะวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์พิเศษของแต่ละคู่ แต่วิธีการต่างๆ นั้นก็มารวมกันที่ “มรรคา” แห่งไม้กางเขนที่นำไปสู่ความรอด
3. ต้องส่งเสริมกำลังใจแต่ละคนโดยมิหยุดหย่อน โดยอาศัยจิตเมตตาและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นต้น
ขอยกตัวอย่างที่แสดงถึงท่าทีของคู่สมรสเกี่ยวกับการคุมกำเนิดสักตัวอย่างหนึ่ง เช่นว่าคู่ใดที่เคยใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำตลอดเวลา หลายเดือนหรือหลายปีมาแล้วและเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดนานๆ ครั้ง คู่นั้นก็เรียกได้ว่ามีความก้าวหน้าอย่างแน่นอนทั้งในด้านการควบคุมกิจกรรมทางเพศและในด้านคุณภาพของความรักที่มีต่อกัน นี่เป็น “ขั้นตอน” หนึ่ง แต่คู่นั้นจะอยู่กับที่นานเกินไปไม่ได้เพราะต้องก้าวไปข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถใช้วิธีสังเกตจังหวะตามธรรมชาติได้ เมื่อเขาจะได้มาถึง “ขั้นตอน” นี้แล้ว คู่สมรสดังกล่าวจะสังเกตเห็นว่ายังมีวิธีอีกมายมายที่ช่วยความรักของเขาให้ลึกซึ้งไปอีก และช่วยเขาให้เจริญก้าวหน้าไปถึงความศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยความรักนี้เอง เขาจะสามารถบรรลุเป้าหมายอันแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อความรักฉันสามีภรรยาในโลกนี้ก็ได้ผ่านพ้นความตาย และกลับไปสู่บ่อเกิดของตน ซึ่งก็คือพระเจ้านั่นเอง
3.2 กฎเกณฑ์แห่งการทดแทน (Principle of subsidiarity) (ข้อ 45)
กฎเกณฑ์แห่งการทดแทน หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งหรือสถาบันหนึ่งซึ่งมีหน้าที่รับภาระของอีกบุคคลหนึ่ง หรืออีกสถาบันหนึ่งซึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นของตนโดยตรงแต่ดั้งเดินได้ ตัวอย่างเช่น ครอบครัวนั้นมีสิทธิและหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูลูก การเลือกแบบดำเนินชีวิต การหางานทำ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ของครอบครัวโดยเฉพาะ และตามปกติแล้วคนอื่นก็ไม่น่าจะแทรกแซง แต่ในกรณีที่ครอบครัวไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ เพราะขัดสน ป่วย หรือมีเหตุสุดวิสัยอื่นๆ สังคมจึงจะมีหน้าที่ที่จะต้องรับภาระต่อ แต่ถ้าเขาซึ่งอาจจะเป็นพ่อแม่ ครอบครัว หรือประเทศต่างๆ ก็ดี สามารถปฏิบัติหน้าที่ของเขาได้แล้ว ผู้อื่นไม่มีสิทธิกำหนดแบบดำเนินชีวิตให้เขาไม่ว่าผู้อื่นจะเป็นโรงเรียน รัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศก็ตาม