ความสัมพันธ์ในวงศ์ตระกูล
21. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่ใหญ่กว่า ซึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกทั้งหมดในวงศ์ตระกูล อาทิเช่น ระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ พี่ๆ กับน้องๆ ญาติพี่น้องกับคนอื่นๆ ในตระกูลเดียวกัน
ความสัมพันธ์แบบนี้ฝังรากฐานในสายโลหิตตามธรรมชาติและสามารถงอกงามขึ้นจนบรรลุถึงขั้นสมบูรณ์ที่ควรแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยสร้างและทะนุถนอมความผูกพันธ์ทางจิตใจซึ่งลึกซึ้งและเกิดผลอุดมกว่าความสัมพันธ์ทางสายโลหิตเสียอีก ความรักที่หล่อเลี้ยงสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นสมาชิกตระกูลเดียวกันนั้น ก็ยังเป็นแรงที่สร้างและบำรุงความสัมพันธ์รวมทั้งความเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันในครอบครัวด้วย
อนึ่ง ครอบครัวคริสตชนยังได้รับการเรียกเชิญให้ดำเนินชีวิตตามความสัมพันธ์แบบใหม่ที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ปกติระหว่างมนุษย์นั้นมั่นคงและมีค่ามากขึ้น ที่จริงแล้วพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็น “บุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก” ก็เป็นดังที่นักบุญโทมัส อไควนัส เรียกว่า “พระหรรษทานแห่งภราดรภาพ” ตามภาวะและพลังงานของพระหรรษทานนี้เอง พระจิตเจ้าผู้ทรงถูกหลั่งรินในระหว่างพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทรงเป็นบ่อเกิดทรงชีวิตและทรงเป็นอาหารอันไม่รู้สิ้นสุด ที่บำรุงความสัมพันธ์เหนือธรรมชาติซึ่งหล่อหลอมเอาผู้ที่มีความเชื่อทั้งหมดเข้าด้วยกันให้สนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์และกับผู้มีความเชื่อคนอื่นๆ ในเอกภาพของพระศาสนจักรของพระเจ้า ความสัมพันธ์ภายในพระศาสนจักรปรากฏตัวและเป็นรูปเป็นร่างในครอบครัวคริสตชนอย่างสมลักษณะ เพราะฉะนั้นเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเรียกครอบครัวคริสตชนว่าเป็น “พระศาสนจักรระดับครอบครัว”
สมาชิกทุกคนในครอบครัวซึ่งแต่ละคนตามพรสวรรค์ที่มีอยู่ ได้รับพระหรรษทานและมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้มากยิ่งขึ้นทุกวัน เพื่อให้ครอบครัวกลายเป็น “โรงเรียนสอนความเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น” สิ่งนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อดูแลรักษาและให้ความรักแก่เด็กๆ คนป่วย คนสูงอายุ รวมทั้งเมื่อรับใช้กันและกันเป็นประจำทุกวัน เมื่อแบ่งปันทรัพย์สินต่างๆ ให้กัน และเมื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
การอบรมเลี้ยงดูลูกเป็นโอกาสให้พ่อแม่กับลูกคลุกคลีกันในแบบที่มีทั้งการให้และการรับ การคลุกคลีกันนี้ย่อมเกิดผลเป็นพิเศษในการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว การที่ลูกๆ รัก เคารพนับถือ และเชื่อฟังพ่อแม่นั้น นับเป็นการมีส่วนร่วมที่มีลักษณะโดยเฉพาะของตนและจะหาใครทดแทนมิได้ ในการสร้างครอบครัวที่สมกับเป็นครอบครัวของมนุษย์และของคริสตชนโดยแท้จริง ลูกๆ จะปฏิบัติตามบทบาทของตนได้สะดวกขึ้นถ้าหากว่าพ่อแม่รู้จักใช้อำนาจอันยกเลิกมิได้ ในทำนองที่เป็น “ศาสนบริการ” ที่แท้จริงและที่มีลักษณะเฉพาะ หรือเป็นการรับใช้ที่มุ่งความดีของลูกในฐานะที่เขาเป็นคนและเป็นคริสตชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งให้เขาบรรลุถึงความเป็นอิสระเสรีควบคู่ไปกับจิตสำนึกรับผิดชอบในตัวเอง นอกจากนั้น พ่อแม่ยังจะช่วยลูกได้มาก ถ้าหากว่ามีจิตสำนึกถึง “บุญพิเศษ” ที่ได้รับจากลูกอยู่เสมอ
มีแต่จิตตารมณ์แห่งความเสียสละและความทุ่มเทตัวเองเท่านั้นที่จะพิทักษ์รักษาและบำรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นได้ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเรียกร้องสมาชิกแต่ละคนและทุกคน ให้ยินดีและพร้อมเสมอที่จะเข้าใจกัน อะลุ้มอล่วย ให้อภัย ปรองดองกัน และคืนดีต่อกัน ครอบครัวทุกครอบครัวรู้ดีว่า ความเห็นแก่ตัว การไม่ลงรอยกัน การชิงดีชิงเด่นกัน การขัดสู้กันเหล่านี้ ได้กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวมากจนกระทั่งความสัมพันธ์นี้อาจจะแตกสลายและสูญสิ้นไปเลย สิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกแยกนานาประการในการครองรักครองเรือน แต่ในเวลาเดียวกัน พระเจ้าผู้สร้างสันติ ทรงเรียกทุกครอบครัวให้มีประสลการณ์ที่น่าชื่นชมยินดีในการปรับความเข้าใจคืนดีต่อกัน นี่คือ ความสัมพันธ์ที่สถาปนาขึ้นใหม่และเป็นเอกภาพดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครอบครัวรับศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการกลับคืนดีและร่วมงานเลี้ยงรับพระกายอันเดียวกันของพระคริสต์นั้น ครอบครัวก็ยังรับพระหรรษทานที่เหมาะสมและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อที่จะเอาชนะการแตกแยกต่างๆ พร้อมกับก้าวหน้าไปสู่ความสัมพันธ์อันแท้จริงและสมบูรณ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ดังนั้น ครอบครวจึงจะตอบสนองความปรารถนาอันแรงกล้าของพระคริสตเจ้าผู้ทรงวิงวอนขอ “ให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน”