หนังสือคำสอนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นเป็นความจำเป็นของท้องถิ่น (ส่วนนี้อ้างถึงหนังสือคำสอนที่เป็นทางการเพียงอย่างเดียวซึ่งเกี่ยวข้องกับพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑล หรือ สภาพระสังฆราช (CIC 775) และในภาคที่ 5 บทที่ 4 จะไม่มีการพิจารณาหนังสือคำสอนที่ไม่เป็นทางการอื่นใด (CIC 827) หรือเครื่องมือช่วยสอนคำสอนอื่นๆ (GCD(1971) 116)
131 หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกมีไว้ให้สัตบุรุษทุกคน และบรรดาผู้ที่ปรารถนาจะรู้ถึงสิ่งที่พระศาสนจักรเชื่อ (FD 4c) ทั้งมี “จุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นและสนับสนุนการเขียนหนังสือคำสอนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ ซึ่งต้องมีการพิจารณาถึงสถานการณ์ต่างๆ และวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ต้องคงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของความเชื่อและข้อคำสอนคาทอลิก” (อ้างถึง FD 4d)
หนังสือคำสอนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นที่ถูกจัดเตรียมหรืออนุมัติโดยพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลหรือสภาพระสังฆราชต่างๆ (อ้างถึง CIC 775) เป็นเครื่องมือที่มีค่าสำหรับการสอนคำสอนซึ่งถูก “เรียกร้องให้นำพลังแห่งพระวรสารเข้าสู่แก่นแท้ของวัฒนธรรมหนึ่งหรือหลายๆ วัฒนธรรม” (CT 53a; อ้างถึง CCC 24) ด้วยเหตุนี้เองที่พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้ให้กำลังใจอย่างมีมิตรไมตรี “แก่สภาพระสังฆราชทั่วโลกเพื่อจะสามารถดำเนินการงานที่ได้พิจารณาแล้วจนสำเร็จลุล่วงด้วยความพากเพียรและความเด็ดเดี่ยว เพื่อจะได้ผลิตหนังสือคำสอนที่มีเนื้อหาถูกต้องตามการเปิดเผยของพระเป็นเจ้า และมีวิธีการที่ทันสมัย เพื่อจะสามารถใช้อบรมคริสตชนทุกรุ่นในอนาคตให้มีความเชื่อที่มั่นคง” (CT 50)
พระศาสนจักรได้ทำให้ “วิธีการสอนของพระเป็นเจ้า” (DV 15) ซึ่งพระเป็นเจ้าเองทรงใช้โดยพระองค์เองในการเปิดเผย (ความจริง) โดยทรงปรับภาษาของพระองค์ให้เข้ากับนิสัยของเราด้วยความเอาใจใส่ (อ้างถึง DV 13) เป็นจริงโดยอาศัยหนังสือคำสอนต่างๆ ในระดับท้องถิ่น และในหนังสือคำสอนเหล่านี้พระศาสนจักรถ่ายทอดพระวรสารในลักษณะที่มนุษย์ธรรมดาสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อสารนี้จะได้เป็น “ข่าวดี” แห่งการช่วยให้รอดอย่างแท้จริง หนังสือคำสอนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นเป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนแห่ง “การถ่อมองค์ลงมา” อย่างน่าพิศวงของพระเป็นเจ้า และแห่งความรักของพระองค์ที่มีต่อโลกมนุษย์ “อย่างสุดพรรณนาได้” (DV 13)