แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

กระบวนการสืบทอดการสอนคำสอนของบรรดาปิตาจารย์และหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก
129    กระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกของพระศาสนจักรพร้อมกับพระคัมภีร์ได้รับการบรรจุไว้ใน “คลังแห่งความเชื่อ”      “วาทะของบรรดาปิตาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเป็นพยานยืนยันว่า มีกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกที่ให้ชีวิตเช่นนี้จริงๆ  กระบวนการนี้ได้แสดงความมั่งคั่ง (ทางจิตใจ) ออกมาทางการปฏิบัติและชีวิตของพระศาสนจักรในความเชื่อและในคำภาวนาของพระศาสนจักร” (DV 8c)  และด้วยการพิจารณาถึงความมั่งคั่งทางด้านข้อความเชื่อและด้านการอภิบาลนี้เอง ทำให้เราควรสนใจบางเรื่องเป็นพิเศษ ได้แก่

    - ความสำคัญที่เด่นชัดซึ่งบรรดาปิตาจารย์ให้แก่ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปในสถานการณ์ที่ต้องมีการจัดการเรียนการสอนด้วยความรอบคอบโดยพระศาสนจักรเฉพาะถิ่นทั้งหลาย
    - กระบวนการในการวางแผนการฝึกอบรมคริสตชนของพระศาสนจักรนั้นมีการรับเอาความคิดและวิธีการใหม่ๆและค่อยเป็นไปในช่วงเวลาหนึ่ง (เมื่อสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูเรื่องระยะเวลาเรียนคำสอนของผู้ใหญ่เพื่อเข้าเป็นคริสตชน  โดยเน้นถึงลักษณะค่อยเป็นค่อยไปซึ่งเป็นสิ่งสำคัญคือ “ระยะเวลาเรียนคำสอนของผู้ใหญ่ที่ถูกจัดไว้เป็นขั้นตอนนั้นจะต้องถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่” (SC 64) )  นั่นคือ บรรดาปิตาจารย์ได้สร้างแบบแผนในระยะเตรียมตัวเป็นคริสตชนตามวิธีการสอนของพระเป็นเจ้า  โดยให้ผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนในกระบวนการสอนคำสอนนี้เป็นเหมือนกับประชาชนชาวอิสราเอลที่เดินทางเพื่อมุ่งไปสู่แผ่นดินพระสัญญาซึ่งก็คือ ความมีใจเหมือนพระคริสตเจ้าโดยผ่านทางศีลล้างบาป (คำให้การเป็นพยานของ Origen ที่มีความหมายยิ่งนัก  ได้แก่  “เมื่อคุณละทิ้งความมืดมนของพระเท็จเทียม และเมื่อคุณต้องการบรรลุถึงการเข้าใจกฎบัญญัติของพระเป็นเจ้า ในเวลานั้นคุณได้เริ่มเดินทางออกจากประเทศอียิปต์    เมื่อคุณถูกนำเข้าในหมู่ชนผู้เตรียมเป็นคริสตชน เมื่อคุณเริ่มเชื่อฟังพระบัญญัติของพระศาสนจักร นั่นคือคุณได้ข้ามผ่านทะเลแดงแล้ว และการพักแรมในทะเลทรายทุกๆวันก็คือ เวลาที่คุณบอกตัวเองให้ฟังกฎของพระเป็นเจ้าและใคร่ครวญถึงลักษณะที่ปรากฏแก่ประชาชนของโมเสสผู้เปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อคุณ  แต่เมื่อคุณมาถึงอ่างล้างบาปนั้นเปรียบเสมือนคุณได้ข้ามแม่น้ำจอร์แดนแล้ว  จากนั้นคุณก็จะเข้าสู่แผ่นดินพระสัญญา” (Homili in Jusu Nare IV,1:SCh 71,149)
    - การจัดเนื้อหาที่เกี่ยวกับการสอนคำสอนให้สอดคล้องกับขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการดังกล่าวนั้นมีดังนี้คือ ในการสอนคำสอนแบบปิตาจารย์นั้น  บทบาทที่สำคัญที่สุดก็คือ  การบรรยายถึงประวัติศาสตร์แห่งความรอด  เมื่อเทศกาลมหาพรตมาถึงก็จะมีการมอบ “บทข้าพเจ้าเชื่อและบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ให้แก่บรรดาผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน  พร้อมทั้งอธิบายความหมายและบอกแนวปฏิบัติด้านศีลธรรมของบทภาวนาทั้งสอง  หลังจากการฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนแล้วก็จะมีการสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาปที่จะช่วยให้ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วซาบซึ้งในศีลศักดิ์สิทธิ์ ต่างๆ  และได้สัมผัสความรู้สึกในประสบการณ์ของการเป็นภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้า  และการเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

130     ในฐานะที่หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้มีส่วน นำ “กระบวนการสืบทอดที่ยิ่งใหญ่ของหนังสือคำสอน” เข้ามาในการสอนคำสอน  และความมั่งคั่งแห่งกระบวนการสืบทอดนี้เองที่ทำให้เราควรสนใจหลักเกณฑ์ต่างๆ ต่อไปนี้
    - ระดับความจริงหรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเชื่อ  หมายความว่า สิ่งนี้มิได้เป็นเพียงการผูกพันอยู่กับพระเป็นเจ้าอย่างมีชีวิตชีวาเท่านั้น  แต่จะต้องเป็นการยอมรับด้วยสติปัญญาและเจตนาด้วย  หนังสือคำสอนต่างๆ ได้เตือนพระศาสนจักรเสมอถึงเรื่องความจำเป็นที่สัตบุรุษจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับความเชื่อในลักษณะที่เป็นองค์รวมโดยเฉพาะในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจ
    - การให้ความรู้ในเรื่องความเชื่อที่ยึดติดกับแหล่งกำเนิดทั้งหมดของมันเป็นอย่างดีนั้น รวบรวมเอาทุกลักษณะของการประกาศยืนยันความเชื่อ  การเฉลิมฉลอง  การดำเนินชีวิต  และการอธิษฐานภาวนาไว้ด้วย
    ความมั่งคั่งแห่งกระบวนการสืบทอดการสอนคำสอนของปิตาจารย์  และกระบวนการสืบทอดความเชื่อของหนังสือคำสอนทั้งหลายปรากฏขึ้นพร้อมกันในการสอนคำสอนที่แท้จริงของพระศาสนจักร  ทำให้พระศาสนจักรมีความแตกฉานในความคิดเรื่องการสอนคำสอนและเนื้อหาสาระที่ควรจะสอน  กระบวนการสืบทอดเหล่านี้นำมาซึ่งองค์ประกอบพื้นฐาน  7 ประการ อันเป็นแบบฉบับของการสอนคำสอน ได้แก่ 3 ขั้นตอนในการบรรยายถึงประวัติศาสตร์แห่งความรอด (การบรรยายเกี่ยวกับพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม  ชีวิตพระเยซูคริสต์  และประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร)  และ 4 ส่วนสำคัญที่จะต้องมีการอธิบายในการสอนคำสอน (ข้อความเชื่อ  ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ พระบัญญัติ 10 ประการ บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย)       ดังนั้น ทั้งสองแบบของการสอนคำสอนเพื่อการนำเข้าสู่ชีวิตคริสตชนและของการพัฒนาคริสตชนอย่างต่อเนื่องอาจจะมีการออกแบบไปได้หลายแผนและหลายแบบที่สอดคล้องกับสภาพวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของบรรดาผู้ที่จะเรียนคำสอน