พระคัมภีร์ หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก และการสอนคำสอน
127 สังฆธรรมนูญของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เรื่อง การเปิดเผย (ความจริง) ของพระเป็นเจ้า เน้นถึงความสำคัญพื้นฐานของพระคัมภีร์ในชีวิตของพระศาสนจักร พระคัมภีร์พร้อมกับกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกนี้ได้เป็น “กฎเกณฑ์สูงสุดแห่งความเชื่อ” เพราะถ่ายทอด “พระวาจาแท้ๆ ของพระเป็นเจ้า” และช่วย “สะท้อนเสียงของพระจิตเจ้า” (DV 21) ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสนจักรจึงปรารถนาให้พระคัมภีร์มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในงานศาสนบริการด้านพระวาจา ในความสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรม การสอนคำสอนควรจะเป็น “การนำเข้าสู่การรำพึงภาวนาอาศัยพระคัมภีร์ (Lectio Divina) อย่างถูกต้อง
นั่นคือ เพื่อที่จะอ่านพระคัมภีร์ตามการดลใจของพระจิตเจ้าผู้ประทับในพระศาสนจักร” (MPD 9c) “ในความหมายที่ว่า กระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกและพระคัมภีร์เป็นดังแหล่งที่มาของการสอนคำสอน หมายถึง การสอนคำสอนจะต้องนำเอาความคิด จิตใจ และทัศนคติตามแนวทางของพระคัมภีร์และที่มีความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสารมาแต่งเติมและรักษาไว้ในทุกๆส่วนของการสอนคำสอนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังหมายความว่าการสอน คำสอนจะมีค่าและมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีการอ่านพระคัมภีร์ทั้งหลายด้วยความคิดและจิตใจแบบเดียวกับพระศาสนจักร” (CT 27) หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกมีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการอ่านพระคัมภีร์ทั้งหลายตามแนวทางของพระศาสนจักรนี้ ที่เป็นการกระทำโดยการพิจารณาตามกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิก
128 พระคัมภีร์และหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้รับการเสนอเป็นดังแหล่งกำเนิดการผลักดันอันเป็นพื้นฐานสองแหล่งที่ก่อให้เกิดกิจกรรมการสอนคำสอนทั้งหมดในยุคปัจจุบัน
- พระคัมภีร์ในฐานะที่เป็น “พระวาจาของพระเป็นเจ้าที่ถูกเขียนขึ้นมาภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า” (DV 9) และหนังสือ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกในฐานะที่เป็นการแสดงออกถึงกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกที่มีชีวิตอันมีความหมายในปัจจุบัน และเป็นรูปแบบที่แน่ชัดสำหรับสอนเรื่องความเชื่อ ทั้งสองสิ่งนี้ถูกร้องเรียกตามวิถีทางและอำนาจเฉพาะของแต่ละสิ่งให้มาสนับสนุนการสอนคำสอนในพระศาสนจักรทุกวันนี้
- การสอนคำสอนถ่ายทอดความคิดแห่งพระวาจาของพระเป็นเจ้าในสองรูปแบบซึ่งเป็นแบบที่พระศาสนจักรมีอยู่ ซาบซึ้งในวิธีการและใช้ทำงาน คือการบรรยายประวัติศาสตร์แห่งการช่วยให้รอดพ้นและการอธิบายข้อความเชื่อ ทั้งพระคัมภีร์และหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการสอนคำสอนแบบอิงพระคัมภีร์เช่นเดียวกับการสอนคำสอนเรื่องข้อความเชื่อ เพื่อทั้งสองสิ่งนี้จะกลายเป็นเครื่องมือลำเลียงความคิดแห่งพระวาจาของพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง
- ในพัฒนาการแบบปกติของการสอนคำสอน ความเชื่อมั่นในพระคัมภีร์และหนังสือคำสอนระดับท้องถิ่นของบรรดาผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนและผู้ที่จะต้องเรียนคำสอนเป็นสิ่งสำคัญ โดยคำนิยามแล้วการสอนคำสอนก็มิได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าการถ่ายทอด “เอกสารทั้งหลายที่เกี่ยวกับความเชื่อ” อย่างมีชีวิตชีวาและมีความหมายแก่ชีวิต (อ้างถึง MPD 9)