การสอนคำสอนในงานเพื่อการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน
65 ความเชื่อ อันเป็นสิ่งที่มนุษย์ตอบสนองต่อการประกาศพระวรสาร (ข่าวดี) เรียกร้องการรับศีลล้างบาป ความเกี่ยวโยงอันใกล้ชิดระหว่างความจริงทั้งสองประการนี้มีความสืบเนื่องมาจากพระประสงค์ขององค์พระคริสต์เอง พระองค์ทรงสั่งให้บรรดาอัครสาวกประกาศพระวรสารแก่ชนทุกชาติ ทุกภาษา เพื่อให้พวกเขามาเป็นศิษย์ของพระองค์ และทำพิธีล้างบาปให้พวกเขา “ภารกิจการล้างบาปจึงเป็นภารกิจทางศีลศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายรวมอยู่ในภารกิจการประกาศพระวรสาร” (CCC 1122)
บรรดาผู้ที่กลับใจมาเชื่อในพระเยซูคริสต์ และผู้ที่ได้รับการอบรมเรื่องความเชื่อโดยวิถีทางของการสอนคำสอน ด้วยการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แห่งการเริ่มชีวิตคริสตชน (ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท) “พวกเขารอดพ้นจากอำนาจแห่งความมืดโดยผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน เขาได้ตาย ถูกฝังและกลับคืนชีพพร้อมกับองค์พระคริสต์ พวกเขาได้รับพระจิตเจ้าแห่งการยอมรับเป็นบุตร และประกอบพิธีรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า พร้อมกับประชากรทั้งหมดของพระเป็นเจ้า” (AG 14 อ้างถึง CCC 1212, 1229)
66 ดังนั้น การสอนคำสอนจึงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานประการหนึ่งของการเริ่มเข้าสู่ชีวิตคริสตชน และเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แห่งการเริ่มเข้าสู่ชีวิตคริสตชน โดยเฉพาะศีลล้างบาป อันเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ” (CCC 1253) การที่การสอนคำสอนและศีลล้างบาปได้มามีส่วนร่วมกันนั้นเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความเชื่อของบุคคลนั้น และในขณะนั้นเองการแสดงออกเช่นนี้ก็เป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติประการหนี่งของศีลล้างบาปและเป็นเป้าหมายของการสอนคำสอนด้วย จุดประสงค์ของกิจกรรมการสอนคำสอนนั้นแท้จริงมาจากเป้าหมายที่จะส่งเสริมการแสดงออกถึงความเชื่ออย่างมีชีวิตชีวาชัดเจน และให้ผลดี (อ้างถึง CCC 1229; CD 14) เพี่อที่จะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายนี้ พระศาสนจักรจึงถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตแห่งพระวรสารและความเชื่อของตนให้กับผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปและผู้ที่จะต้องเรียนคำสอน เพื่อว่าพวกคนเหล่านั้นจะได้เตรียมตัวถือตามความเชื่อและประกาศยืนยันความเชื่อนั้น ดังนั้น “การสอนคำสอนที่แท้จริงจึงเป็นการนำเข้าสู่ชีวิตคริสตชนอย่างมีลำดับและเป็นระบบ จนเข้าถึงการเปิดเผยที่ว่าพระเป็นเจ้าได้ทรงประทานพระองค์เองแก่มนุษย์ผ่านทางพระเยซูคริสต์ การเปิดเผยนี้ได้ถูกเก็บไว้ในส่วนลึกแห่งความทรงจำของพระศาสนจักร และในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งยังคงถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยอาศัย “กระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิก” (traditio) อันมีชีวิต (CT 22 อ้างถึง CT 21b, 18d)