การสอนคำสอนและการสอนศาสนาในโรงเรียน
ลักษณะเฉพาะของการสอนศาสนาในโรงเรียน
73 ภายในศาสนบริการด้านพระวาจา ลักษณะเฉพาะของการสอนศาสนาในโรงเรียนต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างการสอนศาสนาในโรงเรียนกับการสอนคำสอนเด็กๆ และเยาวชน ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ความสัมพันธ์ระหว่างการสอนศาสนาในโรงเรียนต่างๆ กับการสอนคำสอน เป็นความสัมพันธ์ของความแตกต่างกันและการเกื้อกูลกัน กล่าวได้ว่า “เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกแยะอย่างชัดแจ้งให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการสอนศาสนากับการสอนคำสอน” (สมณะกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิก , “มิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก” 7 เม.ย. 1988, ข้อ 68)
สิ่งที่ให้ลักษณะการประกาศพระวรสารแบบเฉพาะแก่การสอนศาสนาในโรงเรียนต่างๆ ก็คือ ความจริงที่ว่า การสอนศาสนาต้องหยั่งรู้เนื้อหาของวัฒนธรรมที่มีลักษณะพิเศษ และต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาความรู้ด้านอื่นๆ ในฐานะที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมรูปแบบหนึ่งของศาสนบริการด้านพระวาจา การสอนศาสนาในโรงเรียนทำให้พระวรสารยังคงมีอยู่ในกระบวนการผสมผสานทางวัฒนธรรมของ นักเรียนแต่ละคนที่มีการวิเคราะห์และเป็นระบบ (สมณกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิก, เอกสารเรื่องโรงเรียนคาทอลิก 19 มี.ค. 1977 ข้อ 26)
การสอนศาสนาในโรงเรียนทั้งหลายได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารที่มีพลังไว้ในบรรดาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ที่ถูกซึมทราบโดยนักเรียนทั้งหลาย และที่ถูกกำหนดโดยความรู้และคุณค่าต่างๆ ซึ่งถูกนำเสนอในหลากหลายรายวิชาที่โรงเรียนกำหนดไว้ และการสอนศาสนานี้หาทางที่จะ “สัมผัสกับอีกหลายองค์ประกอบของความรู้และการศึกษาของนักเรียน เพื่อให้จิตใจของบรรดานักเรียนได้ซึมซาบพระวรสารในขอบเขตการเรียนรู้ของพวกเขา และความกลมกลืนแห่งวัฒนธรรมของพวกเขาก็จะเกิดขึ้นเมื่อได้พิจารณาถึงความเชื่อ” (CT 69)
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้การสอนศาสนาในโรงเรียนต่างๆ ปรากฏเป็นรายวิชาหนึ่งที่มีความต้องการการเป็นระบบและมีความแข็งขันเช่นเดียวกับวิชาอื่นๆ ทั้งยังต้องเสนอสารของคริสตชนและเหตุการณ์ทางคริสตศาสนาอย่างจริงจัง และลึกซึ้งเช่นเดียวกับที่วิชาอื่นๆ เสนอความรู้ของตน การสอนศาสนาไม่ควรเป็นเพียงส่วนเสริมของวิชาอื่นๆ แต่ควรมีส่วนร่วมในการสนทนาระหว่างรายวิชาต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นประการหนึ่ง การสนทนาเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรจัดให้มีขึ้นเพื่อให้ทุกวิชาได้สร้างบุคลิกลักษณะของนักเรียน ในแนวทางเช่นนี้การนำเสนอสารของคริสตชนจะส่งผลให้เข้าใจต้นกำเนิดของโลก ความหมายของประวัติศาสตร์ พื้นฐานของคุณค่าต่างๆ เชิงจริยธรรม บทบาทของศาสนาในวัฒนธรรม ชะตากรรมของมนุษย์และความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยทางการสนทนาร่วมกันกับวิทยาการต่างๆ นี้ การสอนศาสนาในโรงเรียนจะช่วยเสริม กระตุ้น พัฒนา และทำให้กิจกรรมการศึกษาของโรงเรียนครบถ้วนสมบูรณ์ (อ้างถึง เอกสารสมณกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิก เรื่องมิติด้านศาสนาของการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก, l.c. 70)
ขอบข่ายงานโรงเรียนและบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการสอนศาสนาในโรงเรียน
74 การสอนศาสนาในโรงเรียนทั้งหลายถูกพัฒนาขึ้นในสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีความสำคัญต่างๆ กัน สิ่งที่มีความสำคัญเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสิทธิตามกฎหมายและสภาพการจัดระบบทฤษฎีการศึกษา มุมมองส่วนตัวของครูและนักเรียนแต่ละคน เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างการสอนศาสนาในโรงเรียนทั้งหลายและครอบครัว หรือการสอนคำสอนตามวัด
มันเป็นไปไม่ได้ที่จะลดรูปแบบของการสอนศาสนาในโรงเรียนที่มีอยู่หลากหลายให้น้อยลง เพราะรูปแบบต่างๆ ที่ได้พัฒนามานี้เป็นผลของข้อตกลงระหว่างรัฐและสภาพระสังฆราชในที่นั้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีความพยายามที่จะทำให้การสอนศาสนาในโรงเรียนบรรลุวัตถุประสงค์และลักษณะเฉพาะของการสอนศาสนา ( ดูอ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ )
นักเรียนทั้งหลาย “มีสิทธิ์ที่จะได้เรียนรู้ความจริงและได้รับความชัดเจนในศาสนาที่เขามีส่วนร่วม สิทธิที่จะรู้จักองค์พระคริสต์ และสารเรื่องการช่วยให้รอดพ้น ซึ่งพระองค์ได้ประกาศ อันเป็นสิ่งที่เราไม่อาจละเลยได้ ลักษณะการเป็นพยานของการสอนศาสนาในโรงเรียนทั้งหลายที่มีจุดเน้นต่างๆ กัน ซึ่งขึ้นกับพระศาสนจักรในแต่ละประเทศ เป็นเครื่องประกันที่จำเป็นอย่างยิ่งประการหนึ่งที่มอบให้แก่บรรดาครอบครัวและนักเรียนทั้งหลายที่เลือกรับการศึกษาเช่นนั้น” ( ดูอ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ )
เมื่อพิจารณาในสภาพการณ์ของโรงเรียนคาทอลิก การสอน ศาสนาเป็นส่วนของศาสนบริการด้านพระวาจาที่มีหลายรูปแบบและสมบูรณ์ได้เพราะศาสนบริการด้านพระวาจาเหล่านั้น ( การสอน คำสอน การเทศน์ จารีตพิธีกรรม ฯลฯ ) การสอนศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นต่อบทบาทการสอนของศาสนบริการด้านพระวาจา และเป็นพื้นฐานให้ศาสนบริการด้านพระวาจาคงอยู่ด้วย (อ้างถึง CT 69)
ในขอบข่ายของโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนที่ไม่สังกัดองค์กรศาสนาใดๆ ที่ซึ่งอำนาจการปกครองหรือภาวะแวดล้อมอื่นๆ กำหนดให้การสอนศาสนาเป็นการสอนแบบร่วมกัน ทั้งคาทอลิกและไม่ใช่คาทอลิก (อ้างถึง CT 33) อันจะนำให้เกิดลักษณะสัมพันธ์ระหว่างคริสตศาสนานิกายต่างๆ และความตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาต่างๆ มากขึ้น
ในสภาพการณ์อื่นๆ การสอนศาสนาจะมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่กว้างขวาง และสอนความรู้ของศาสนาต่างๆ รวมทั้งศาสนาคาทอลิกด้วย แม้จะเป็นกรณีนี้ โดยเฉพาะถ้ามีครูสอนที่มีความเคารพในคริสตศาสนาด้วยความจริงใจแล้ว การสอนศาสนาก็ยังคงรักษาความสำคัญอันแท้จริงของ “การเตรียมประกาศพระวรสาร” ไว้ได้ (อ้างถึง CT 34)
75 ชีวิตและความเชื่อของนักเรียนซึ่งได้รับการสอนศาสนาใน โรงเรียน จะมีลักษณะที่ถูกปั้นแต่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง การสอนศาสนาควรตระหนักในความจริงนี้ เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดการสอนศาสนาในโรงเรียน ในกรณีของนักเรียนซึ่งมีความเชื่อ การสอนศาสนาช่วยให้พวกเขาเข้าใจสารของคริสตชนได้ดีขึ้น โดยการเชื่อมโยงสารนั้นกับเรื่องสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งคล้ายๆ กันในทุกศาสนา กับมนุษย์ทุกๆ คน กับ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับชีวิตที่มีอยู่หลากหลายโดยเฉพาะที่ปรากฏเด่นชัดอยู่ในวัฒนธรรม กับคำถามเกี่ยวกับศีลธรรมที่สำคัญซึ่งเผชิญหน้ากับมนุษยชาติในปัจจุบันนี้
สำหรับนักเรียนทั้งหลายที่กำลังแสวงหา หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสนา ในการสอนศาสนานี้พวกเขายังมีโอกาสที่จะค้นพบได้ว่าความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์อย่างแท้จริงเป็นเช่นไร พระศาสนจักรตอบปัญหาของพวกเขาอย่างไร และให้โอกาสพวกเขาพิจารณาการเลือกของเขาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ในกรณีของนักเรียนที่ยังไม่มีความเชื่อ การสอนศาสนาต้องมีลักษณะของการประกาศเผยแผ่พระวรสารอย่างธรรมทูต และมุ่งไปที่การตัดสินใจยอมรับความเชื่อ ซึ่งการสอนคำสอนจะหล่อเลี้ยงและช่วยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อต่อไป