แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

สมโภชนักบุญยอห์น บัปติสต์ บังเกิด



ข่าวดี    ลูกา 1:57-66,80
(57)เมื่อครบกำหนดคลอด นางเอลีซาเบธให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง  (58)เพื่อนบ้านและบรรดาญาติรู้ว่าพระเจ้าทรงแสดงพระกรุณายิ่งใหญ่ต่อนาง จึงมาร่วมยินดีกับนาง
(59)เมื่อเด็กเกิดได้แปดวัน เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องมาทำพิธีสุหนัตให้  เขาต้องการเรียกเด็กว่าเศคาริยาห์ตามชื่อบิดา  (60)แต่มารดาของเด็กค้านว่า “ไม่ได้ เขาจะต้องชื่อยอห์น”  (61)คนเหล่านั้นจึงพูดกับนางว่า “ท่านไม่มีญาติคนใดมีชื่อนี้”  (62)เขาเหล่านั้นจึงส่งสัญญาณถามบิดาของเด็กว่าต้องการให้บุตรชื่ออะไร  (63)เศคาริยาห์ขอกระดานแผ่นหนึ่งแล้วเขียนว่า “เขาชื่อยอห์น” ทุกคนต่างประหลาดใจ  (64)ทันใดนั้น  เศคาริยาห์ก็กลับพูดได้อีก เขาจึงกล่าวถวายพระพรพระเจ้า  (65)เพื่อนบ้านทุกคนต่างรู้สึกกลัว และเรื่องทั้งหมดนี้ได้เล่าลือกันไปทั่วแถบภูเขาของแคว้นยูเดีย  (66)ทุกคนที่ได้ยินเรื่องนี้ต่างก็แปลกใจและถามกันว่า “แล้วเด็กคนนี้จะเป็นอะไร” เพราะพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่กับเขา
(80)เด็กนั้นเจริญเติบโตขึ้น จิตใจของเขาเข้มแข็งขึ้นด้วย เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารจนถึงวันที่เขาแสดงตนแก่ประชากรอิสราเอล



ในแผ่นดินอิสราเอล การให้กำเนิดบุตรชายถือเป็นความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง  เมื่อใกล้กำหนดคลอด เพื่อนบ้านและนักดนตรีจะมาชุมนุมกันที่บ้านของว่าที่คุณพ่อและคุณแม่  หากทารกที่เกิดมาเป็นเพศชาย เพื่อนบ้านจะร่วมกันแสดงความยินดีและนักดนตรีจะร้องรำทำเพลงด้วยความร่าเริงอย่างสุดเหวี่ยง
ตรงกันข้าม หากทารกที่เกิดมาเป็นเพศหญิง บรรยากาศจะสร้อยเศร้า  เพื่อนบ้านและนักดนตรีจะค่อย ๆ ทยอยกลับไปอย่างเงียบ ๆ
คำกล่าวที่ว่า “การให้กำเนิดบุตรชายทำให้โลกชื่นชมยินดี  แต่การให้กำเนิดบุตรหญิงทำให้โลกเสียใจ” คงบ่งบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของชาวยิวได้เป็นอย่างดี
วันนี้ ในบ้านของนางเอลีซาเบธจึงมีความชื่นชมยินดีเป็นสองเท่า เพราะนอกจากนางจะได้ลูกคนแรกแล้ว ลูกของนางยังเป็นชายอีกด้วย !
เมื่อเกิดได้แปดวัน เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องจะทำพิธีสุหนัตและตั้งชื่อให้แก่เด็กชาย ส่วนเด็กหญิงจะตั้งชื่อเมื่อใดก็ได้ภายใน 30 วันหลังจากเกิด
“ชื่อ” สำหรับชาวยิวนั้นบ่งบอกหลายสิ่ง
บางชื่ออธิบายลักษณะการเกิด ตัวอย่างเช่นพระคัมภีร์กล่าวว่า “คนแรกที่ออกมามีผิวแดง มีขนปกคลุมอยู่ทั้งตัว จึงได้ชื่อว่าเอซาว (มาจาก se’ar – เซอะอาร แปลว่า “ขน”)   หลังจากนั้น น้องชายของเขาก็ออกมา มือของเขาจับส้นเท้าของเอซาวไว้แน่น จึงได้ชื่อว่ายาโคบ (มาจาก ‘aqeb – หะเคบ แปลว่า “ส้นเท้า”)” (ปฐก 25:25-26)
บางชื่ออธิบายลักษณะของเด็ก เช่น ลาบัน (ขาว)
บางครั้ง ชื่อแสดงถึงความยินดีและความเชื่อของพ่อแม่ เช่น ซาอูล และซามูแอล ซึ่งมาจากคำว่า “ทูลขอ” หรือ เอลียาห์ ซึ่งหมายถึง “พระยะโฮวาห์คือพระเจ้าของข้าพเจ้า”
และมีไม่น้อยที่นิยมตั้งชื่อตามบิดามารดา
เมื่อนางเอลีซาเบธยืนกรานว่า “เขาจะต้องชื่อยอห์น” (ลก 1:60) และเศคาริยาห์ก็ยืนยันเหมือนกันว่า “เขาชื่อยอห์น” (ลก 1:63) จึงทำให้เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องพากันแปลกใจ กล่าวว่า “ท่านไม่มีญาติคนใดมีชื่อนี้” (ลก 1:61)
ชื่อ “ยอห์น” (John) เป็นรูปย่อของ Jehohanan (เยโฮฮานัน) หมายถึง “ของประทานจากพระยะโฮวาห์” หรือ “พระเจ้าทรงพระกรุณา”  เป็นนามพระราชทานจากพระเจ้าตามที่ทูตสวรรค์กล่าวกับเศคาริยาห์ว่า “ท่านจะตั้งชื่อเขาว่ายอห์น” (ลก 1:13)
เมื่อน้อมรับนามพระราชทาน ย่อมเท่ากับว่าท่านทั้งสองเชื่อและมีความกตัญญูต่อพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณาประทานบุตรชาย อันนำมาซึ่งความปีติยินดีชนิดไม่คาดฝันเพราะ “นางเอลีซาเบธเป็นหมัน และทั้งสองคนชรามากแล้ว” (ลก 1:7)
และทันทีที่ตั้งชื่อบุตรชายว่า “ยอห์น” เศคาริยาห์ก็กลับพูดได้อีก  เรื่องทั้งหมดนี้ได้เล่าลือกันไปทั่วแถบภูเขาของแคว้นยูเดีย  ทุกคนที่ได้ยินเรื่องนี้ต่างก็แปลกใจและถามกันว่า “แล้วเด็กคนนี้จะเป็นอะไร” ? (ลก 1:64-66)
คำถามนี้แฝงความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ นั่นคือ เด็กแต่ละคนเกิดมาพร้อมกับ “ความเป็นไปได้” มากมาย !!!
ครูใหญ่วัยชราท่านหนึ่ง เมื่อเข้าไปในห้องเรียน ท่านจะโค้งคำนับนักเรียนทุกคนด้วยความอ่อนน้อมก่อนเริ่มสอน  เมื่อมีคนถามว่า “ทำไม?”  ท่านตอบว่า “เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเด็กเหล่านี้โตขึ้นแล้วจะเป็นอะไรน่ะสิ” !
เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง  ย่อมต้องมีสองสิ่งต่อไปนี้ควบคู่ไปด้วยกันเสมอ นั่นคือ
1.    พระพร  และเป็นพระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วย ที่สามีภรรยาคู่หนึ่งสามารถให้กำเนิด “ชีวิต” ได้
     มีแต่การ “ขอบพระคุณพระเจ้า” เท่านั้นที่คู่ควรกับพระพรอันยิ่งใหญ่นี้ !
2.    ความรับผิดชอบ  เมื่อได้รับพระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จึงต้องมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตามมาด้วยเช่นกัน เหตุว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับความสามารถที่จะเป็นอะไรต่าง ๆ ได้มากมาย  ขึ้นอยู่กับว่าบิดามารดาและครูบาอาจารย์จะรับผิดชอบทำให้ “ความเป็นไปได้” เหล่านี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ !?!
------------------------
ชาวยิวใจศรัทธาทุกคนล้วนตั้งหน้าตั้งตาเฝ้าคอยพระเมสสิยาห์  พวกเขาเชื่อว่าก่อนพระองค์เสด็จมา จะมีผู้หนึ่งนำหน้าเพื่อเตรียมทางไว้ต้อนรับพระองค์  หนึ่งในผู้ที่ชาวยิวคาดว่าจะเป็นผู้เตรียมทางให้พระองค์คือเอลียาห์ ดังที่ประกาศกมาลาคีทำนายไว้ว่า “ดูเถิด เราจะส่งเอลียาห์ผู้เผยพระวจนะมายังเจ้าก่อนวันแห่งพระเจ้า” (มลค 4:5)
แต่เศคาริยาห์ผู้มีวิสัยทัศน์อันยาวไกลกลับมองว่า ประกาศกที่จะเตรียมทางสำหรับพระเมสสิยาห์คือ “ยอห์น” บุตรของท่านเอง
ขณะกล่าวถวายพระพรพระเจ้า (ลก 1:67-79) ท่านจึงพยากรณ์ถึงยอห์นไว้ว่า “ส่วนเจ้า ทารกเอ๋ย เจ้าจะได้ชื่อว่าเป็นประกาศกของพระผู้สูงสุด  เจ้าจะนำหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อเตรียมทางสำหรับพระองค์” (ลก 1:76)
จากคำพยากรณ์ถึงชีวิตและภารกิจของยอห์น ทำให้เรามองเห็นขั้นตอนต่าง ๆ ของการเป็นคริสตชนได้ดังนี้
1.    การตระเตรียม  ยอห์นเป็นผู้เตรียมชาวยิวให้พร้อมสำหรับพระเยซูเจ้าฉันใด  ชีวิตของเราต้องเป็นการเตรียมตัวเราให้พร้อมสำหรับพระเยซูเจ้าฉันนั้น
    เมื่อเซอร์ วอลเตอร์ สกอตต์ยังเป็นเด็ก ท่านใฝ่ฝันจะเป็นทหาร แต่อุบัติเหตุทำให้ขาของท่านเสียและความฝันจำต้องพังทลายลง  ท่านจึงหันไปอ่านนวนิยายและประวัติศาสตร์ของสกอตแลนต์ จนกลายเป็นนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา
    แม้ฝันแรกจะไม่เป็นจริง แต่พระเจ้าทรงเตรียมชีวิตของเด็กชายวอลเตอร์ให้พร้อมสำหรับเป็นกระบอกเสียงของพระเยซูเจ้า โดยอาศัยบทประพันธ์ของท่าน !
    ปัญหาประจำวันของเราคือ เราไม่ยอมให้พระเจ้าเตรียมชีวิตของเรา หรือไม่ก็ไม่ยอมรับรู้ว่าพระองค์กำลังทำงานอยู่ในตัวเรา
    2.    ความรู้  เศคาริยาห์กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเตรียมทางของยอห์นไว้ว่า “เพื่อให้ประชากรของพระองค์ ‘รู้’ ว่าเขาจะรอดพ้น” (ลก 1:77)
        ก่อนพระเยซูเจ้าเสด็จมา มนุษย์ไม่รู้จักพระเจ้า !
        ชาวกรีกคิดว่าพระเจ้าไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึก ไม่ยินดียินร้าย  ทรงทอดพระเนตรมนุษย์ด้วยความเย็นเฉย ปราศจากความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น
        ส่วนชาวยิวคิดว่าพระเจ้าชอบเรียกร้อง ชอบออกกฎ ชอบพิพากษา  และน่าสะพรึงกลัวสุด ๆ
        แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า “พระเจ้าคือความรัก” !!
        คริสตชนจึงต้องแสวงหาความรู้ “ด้วยตัวเอง” ให้ได้ว่าพระเจ้าคือความรัก  และเมื่อได้สัมผัสกับพระเจ้าแล้ว สิ่งเดียวที่จะอุทานออกมาได้คือ “เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพระเจ้าทรงเป็นอย่างนี้ !”
    3.    การอภัยบาป  ภารกิจอีกประการหนึ่งของยอห์นคือ ทำให้ประชากรของพระเจ้ารู้ว่าเขาจะรอดพ้น “เพราะบาปของเขาได้รับการอภัย” (ลก 1:77)
        เราต้องทำความเข้าใจก่อนอื่นใดหมดว่า การอภัยบาปมิได้หมายถึง “การยกโทษทัณฑ์” เพราะไม่มีสิ่งใดสามารถช่วยเราให้รอดพ้นจากผลกรรมของความชั่วที่เรากระทำได้ แม้แต่พระเจ้าก็จะไม่ช่วยฆาตกรให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมายเป็นแน่
        แต่การอภัยบาปหมายถึงการทำให้ “ความบาดหมาง” ระหว่างเรากับพระเจ้าเปลี่ยนเป็น “มิตรภาพ”
        พระเจ้าผู้อยู่ห่างไกล กลายเป็นพระเจ้าผู้อยู่ใกล้ชิดกับเรา !
        พระเจ้าที่เราเกรงกลัว กลายเป็นพระเจ้าผู้ทรงรักเรา !
        “การอภัยบาป” จึงเป็นสิ่งที่เราต้องไขว่คว้าหามาให้ได้ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม !
    4.    เดินตามทางแห่งสันติสุข  ผลจากการเตรียมทางของยอห์นคือ “พระองค์จะเสด็จมาเยี่ยมเราจากเบื้องบน....เพื่อจะนำเท้าของเราให้ดำเนินไปตามทางแห่งสันติสุข” (ลก 1:78-79)
        สันติสุขมิได้หมายถึงการรอดพ้นจากปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต  แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ช่วยให้เราบรรลุความดีสูงสุด
        ซึ่งมีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่สามารถช่วยเราให้เดินตามหนทางแห่งสันติสุขนี้ได้ !!
    
    โอกาส “สมโภชนักบุญยอห์น บัปติสต์ บังเกิด”  ขอท่านนักบุญโปรดเตรียมชีวิตของเราให้พร้อมเสมอสำหรับพระเยซูเจ้า  เพื่อเราจะได้รู้จักพระเจ้าผ่านทางพระองค์มากขึ้น  รักพระองค์มากขึ้น  และได้รับการอภัยบาป...
    เพื่อที่สุด เราจะได้เดินตามหนทางแห่งสันติสุขของพระองค์ !!