แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลอัครสาวก



ข่าวดี    มัทธิว 16:13-19
(13)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเขตเมืองซีซารียาแห่งฟิลิปและตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร”  (14)เขาทูลตอบว่า “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง”   (15)พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” (16)ซีโมน เปโตรทูลตอบว่า  “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (17)พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย  (18)เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ (19)เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”



เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปเดิมชื่อเมืองปานีอาส (Panias) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี ห่างออกไปประมาณ 40 กิโลเมตร  อยู่นอกเขตปกครองของกษัตริย์เฮโรด อันติพาส  ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวยิว  พระเยซูเจ้าจึงมีเวลาส่วนตัวให้กับบรรดาอัครสาวกมากขึ้น
ที่เมืองปานีอาส เฮโรดมหาราชได้สร้างวิหารใหญ่โต ทำด้วยหินอ่อนสีขาว เพื่อถวายแด่ซีซาร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโรม  ต่อมาฟิลิปบุตรชายได้ต่อเติมและประดับประดาวิหารนี้ให้สวยตระการตายิ่งขึ้นไปอีก แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองจากปานีอาสมาเป็นซีซารียา ซึ่งแปลว่าเมืองของซีซาร์ และเติมชื่อของตนคือฟิลิปเข้าไปด้วย เพื่อให้แตกต่างจากเมืองซีซารียาอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ณ เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปซึ่งมีวิหารอันยิ่งใหญ่ตระการตาถวายแด่ซีซาร์ผู้เกรียงไกรตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้านี้เอง ที่ช่างไม้ชาวกาลิลีผู้หนึ่งซึ่งไร้บ้าน ไร้เงินทอง แถมยังถูกกล่าวหาว่าสอนความเชื่อผิด ๆ จนต้องนับเวลาถอยหลังสู่ความตาย  กำลังตั้งคำถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร”
ถ้าไม่ใช่พระเจ้าจริง พระองค์คงไม่กล้าตั้งคำถามแบบนี้แน่ !
และคำตอบที่ได้คือ “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง”
ยอห์นคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นจนว่าเฮโรด อันติพาสซึ่งสั่งให้ตัดศีรษะของยอห์น ยังหวาดระแวงว่าพระเยซูเจ้าคือยอห์นที่กลับมาเกิดใหม่หรือไม่
“บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์”
ชาวยิวถือว่าเอลียาห์คือประกาศกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  ท่านจะกลับมาเพื่อเตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ (มลค 4:5)  แม้ทุกวันนี้ ชาวยิวยังเตรียมเก้าอี้ว่างไว้สำหรับเอลียาห์ในระหว่างเทศกาลเฉลิมฉลองปัสกา ด้วยความหวังว่าท่านยิ่งกลับมาเร็วเท่าใด พระเมสสิยาห์ยิ่งใกล้เข้ามามากขึ้นเท่านั้น
“บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์”
ชาวยิวเชื่อกันว่าก่อนบรรพบุรุษของพวกตนจะถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลน เยเรมีย์ได้นำหีบพันธสัญญาและแท่นกำยานออกจากพระวิหารไปซ่อนไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งแถบภูเขาเนโบ  พวกเขายังเชื่ออีกว่าก่อนพระเมสสิยาห์จะเสด็จมา เยเรมีย์จะนำสิ่งเหล่านี้กลับมาประดิษฐานไว้เพื่อให้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้ากลับมาอยู่ท่ามกลางประชากรอีกครั้งหนึ่ง (2 มคบ 2:1-12)
เมื่อประชาชนคิดว่าพระเยซูเจ้าคือยอห์น หรือประกาศกเอลียาห์ หรือประกาศกเยเรมีย์ ย่อมเท่ากับว่า พวกเขากำลังยกพระองค์ไว้ในจุดที่สูงที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีได้ เพราะท่านเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ผู้เป็นบุตรของพระเจ้า
แต่สิ่งที่พระองค์ต้องการจากอัครสาวกและเราแต่ละคนมากกว่าสิ่งที่เราได้ยินคนอื่นพูดเกี่ยวกับพระองค์คือ “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร”
เปโตรทูลตอบว่า  “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”
คำตอบของเปโตรคงช่วยให้พระเยซูเจ้าใจชื้นขึ้นเป็นกอง เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำตลอดชีวิตที่ผ่านมาจะไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์  อย่างน้อยยังมีคนหนึ่งรับรู้ว่าพระองค์เป็นใครและเป็นอะไร
คำว่า “พระคริสตเจ้า” เป็นภาษากรีก  ส่วน “พระเมสสิยาห์” เป็นภาษาฮีบรู  ทั้งสองคำมีความหมายเดียวกันคือ “ผู้ที่ได้รับการเจิม”
เพราะฉะนั้น หากจะถามว่าพระเยซูเจ้าเป็นใคร คำตอบก็คือ “พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”  และถ้าถามว่าพระองค์เป็นอะไร คำตอบก็คือ “ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ให้เป็นกษัตริย์ เพื่อกอบกู้มวลมนุษย์ให้รอดพ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณ”
จากเหตุการณ์ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป เราอาจสรุปแนวทางดำเนินชีวิตได้สองประการ
1.    แม้เราจะยกพระเยซูเจ้าให้อยู่ในระดับสูงสุด เทียบชั้นกับประกาศกเอลียาห์และเยเรมีย์แล้วก็ตาม แต่ยังไม่เพียงพอที่จะใช้อธิบายพระองค์ได้
    เว้นแต่ “พระบิดาเจ้าผู้สถิตในสวรรค์จะทรงเปิดเผย” (ข้อ 17)
    เหมือนที่จักรพรรดินโปเลียนกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ารู้จักมนุษย์มากมายหลายคน แต่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นมากกว่ามนุษย์”
    เราจึงต้องหมั่นวอนขอพระบิดาเจ้า โปรดให้เรารู้จักพระเยซูเจ้ามากขึ้น จะได้รักและดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระองค์มากขึ้น
2.    การรู้จักพระเยซูเจ้าโดยอาศัยคำบอกเล่าของคนอื่นถือว่าไม่เพียงพอ  เราจำเป็นต้องค้นให้พบและรู้จักพระองค์ด้วยตัวของเราเอง เหมือนที่พระองค์ทรงตรัสถามพวกอัครสาวกว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร”  หรือเมื่อปิลาตถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” พระองค์ทรงย้อนถามว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา” (ยน 18:33-34)
    เราอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ ด้านเทวศาสตร์ หรือด้านคำสอน  แต่ตราบใดที่เราไม่อาจค้นพบและรู้จักพระองค์ด้วยตัวเราเอง ความรู้ที่ร่ำเรียนมาย่อมเป็นเพียงความรู้มือสอง ที่ช่วยให้เรา “รู้เกี่ยวกับ” พระเยซูเจ้าเท่านั้น
    แต่ยังไม่ “รู้จัก” พระองค์ !

“ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (ข้อ 18)
พระวาจาอันเป็นพื้นฐานของพระศาสนจักรคาทอลิกของเรานี้ เต็มไปด้วยการเล่นคำ เราจึงควรรู้จักคำศัพท์ที่ใช้เสียก่อน
เปโตร ในภาษากรีกคือ เปตรอส (Petros) ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะ และไม่มีคำแปลอื่น
ศิลา ในภาษากรีกคือ เปตรา (petra)
เปโตร ในภาษาอาราไมอิกคือ เคฟาส (Kephas) ซึ่งแปลว่า ศิลา เหมือน เปตรา
หากแปลพระวาจานี้ให้ตรงตามต้นฉบับภาษากรีก เราจะได้ข้อความว่า “ท่านคือเปโตร (เปตรอส) และบนศิลา (เปตรา) นี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา”
สำหรับชาวยิวแล้ว “ศิลา” คือองค์พระเป็นเจ้าเอง
    - “พระองค์ทรงเป็นศิลา พระราชกิจของพระองค์ก็ดีพร้อม” (ฉธบ 32:4)
    - “บรรดาศัตรูน่าจะเข้าใจว่า พระผู้ปกป้องเขาไม่เหมือนเรา ซึ่งเป็นศิลาแห่งอิสราเอล” (ฉธบ 32:31)
        - “ไม่มีผู้ใดศักดิ์สิทธิ์เหมือนพระยาห์เวห์ ไม่มีศิลาใดเหมือนพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (1 ซมอ 2:2)
         - “ใครเล่าเป็นพระเจ้านอกจากพระยาห์เวห์ ใครเล่าเป็นหลักศิลาถ้าไม่ใช่พระเจ้าของเรา” (สดด 18:2, 31)
    ส่วนในพระธรรมใหม่ “ศิลา” คือองค์พระเยซูเจ้าเอง เช่น
        - “รากฐานที่วางไว้แล้วนี้คือพระเยซูคริสตเจ้าและไม่มีใครวางรากฐานอื่นได้อีก” (1 คร 3:11)
        - “บรรดาอัครสาวกและประกาศกเป็นรากฐาน มีพระคริสตเยซูทรงเป็นศิลาหัวมุม” (อฟ 2:20)
        - “จงเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นศิลาทรงชีวิตซึ่งมนุษย์ละทิ้งไป แต่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้และมีค่าประเสริฐ .... ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “เราเลือกศิลาประเสริฐและวางไว้ในนครศิโยนเป็นศิลาหัวมุม ทุกคนที่มีความเชื่อในศิลานี้จะไม่ต้องอับอายเลย” (1 ปต 2:4,6)
จากพระคัมภีร์ที่ยกมานี้ แสดงว่า พระเยซูคริสตเจ้าคือ “ศิลาหัวมุม” อันเป็นรากฐานที่แท้จริงของพระศาสนจักร  หากปราศจากพระองค์ พระศาสนจักรย่อมไม่อาจตั้งอยู่ได้
แต่ด้วยเจตนาที่ต้องการเล่นคำ “เปโตร” (เปตรอส) จึงถูกแปลหรือนำเสนอตามภาษาอาราไมอิก (เคฟาส) ว่าเป็น “ศิลา” (เปตรา)
ใช่ เปโตรคือ “ศิลา” แต่ไม่ใช่ “ศิลาหัวมุม”
ท่านคือ “ศิลาก้อนแรก” ของพระศาสนาจักรซึ่งพระองค์กำลังจะตั้งขึ้น เพราะว่าท่านเป็น มนุษย์คนแรกที่รู้และเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต
เปโตรจึงเป็นรากฐานของพระศาสนจักรในใจความที่ว่า ท่านคือสมาชิกคนแรกของพระ ศาสนจักร  ท่านเป็นเสมือนเชื้อแป้งที่ทำให้มีสมาชิกคนอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายทุกยุคทุกสมัย
ส่วนผู้ก่อตั้งและเป็น “ศิลาหัวมุม” ของพระศาสนจักรคือองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง !
เพราะฉะนั้น หากเรารักเปโตรมากเท่าใด เรายิ่งต้องรักพระเยซูเจ้ามากขึ้นเท่านั้น

ส่วนคำว่า “ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” เราอาจเข้าใจได้ดังนี้
    “ประตู” มีไว้เพื่อ ปิด ควบคุม กักขัง จำกัดเขต
    “นรก” แปลจากภาษากรีก อาเดส (ades) ภาษาอังกฤษคือ Hades (เฮดีส) ความหมายตามตัวอักษรคือ “สถานที่ที่มองไม่เห็น”  ชาวยิวเดิมเชื่อกันว่าคนตายทุกคนไม่ว่าดีหรือเลวจะไปรวมกันอยู่ในที่ที่มองไม่เห็นนี้ นั่นคือ “เฮดีส” เป็นดินแดนแห่งผู้ตาย  แต่ต่อมาความคิดพัฒนาเป็นสถานที่พักรอการตัดสินของวิญญาณคนบาป และหมายถึงนรกในที่สุด
    เมื่อพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต และเป็นผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรซึ่งประตูแห่งดินแดนผู้ตาย (เฮดีส) ไม่มีวันจะชนะได้
    แปลว่า ในโลกนี้มีคน ๆ หนึ่งที่ความตายไม่อาจกักขังหรือหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ และคน ๆ นั้นคือ พระเยซูคริสตเจ้าบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต
    พระองค์กล่าวถึง “ประตูนรกซึ่งไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” เพื่อทำนายถึงการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระองค์เอง  ดังที่เปโตร กล่าวปราศรัยในวันเปนเตกอสเตว่า “พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพ พ้นจากอำนาจแห่งความตาย เพราะความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” และอีกตอนหนึ่งว่า “เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้า (คือพระเยซูเจ้า - ผู้เรียบเรียง) ไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:24, 27)
หรือเราจะแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ประตูนรกคืออำนาจแห่งความชั่วร้าย ซึ่งไม่มีทางที่จะเอาชนะหรือทำลายพระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้าได้เลย ก็ได้

เพื่อพระศาสนจักรจะมั่นคงบนความเชื่อของคนเช่นเปโตร พระเยซูเจ้ายังมอบสิทธิพิเศษบางประการให้แก่ท่านอีกด้วย กล่าวคือ
1.    “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้” (ข้อ 19)
    ในพระธรรมใหม่ ผู้ที่ถือกุญแจคือพระเยซูเจ้าเอง เช่น “เราเป็นผู้มีชีวิต เราตายไปแล้ว แต่บัดนี้เรามีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร เรามีอำนาจ (ต้นฉบับภาษากรีกคือ kleis ซึ่งแปลว่า กุญแจ - ผู้เรียบเรียง) เหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย” (วว 1:18)
    และ “พระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงสัตย์ ผู้ทรงถือกุญแจของกษัตริย์ดาวิด เมื่อพระองค์ทรงเปิด ไม่มีผู้ใดปิดได้ และเมื่อพระองค์ทรงปิด ก็ไม่มีผู้ใดเปิดได้” (วว 3:7)
    จากสำนวนหลังนี้ ทำให้เรานึกถึงคำของพระเจ้าจอมโยธาที่มีถึงเอลียาคิมผ่านทางประกาศกอิสยาห์ว่า “เราจะวางลูกกุญแจของวังดาวิดไว้บนบ่าของเขา เขาจะเปิดและไม่มีผู้ใดปิด เขาจะปิดและไม่มีผู้ใดเปิด” (อสย 22:22) นั่นคือ พระองค์ทรงตั้งเอลียาคิมให้เป็นผู้จัดการราชสำนักแทนเชบนา และมีอำนาจเต็มในการสั่งเปิดประตูพระราชวังในยามเช้า และปิดในยามเย็น
    หมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ของพระองค์ให้แก่เปโตร เพื่อให้ท่านเป็นผู้ดูแลอาณาจักรสวรรค์ และเปิดประตูต้อนรับคนทุกชาติ ทั้งชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิว
        ดังที่ท่านได้เปิดประตูต้อนรับดวงวิญญาณสามพันดวงในวันเปนเตกอสเต (กจ 2:41) รวมถึงดวงวิญญาณของโครเนลิอัสซึ่งเป็นนายทหารต่างชาติ  อีกทั้งในการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านได้ผลักดันให้ข่าวดีเผยแผ่ไปสู่คนต่างศาสนาด้วยการยืนยันว่า “เพื่อให้มนุษย์อื่น ๆ แสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าพร้อมกับนานาชาติ” (กจ 15:17)
    2.    “ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (ข้อ 19)
    คำว่า “ผูก” และ “แก้” เป็นสำนวนที่ชาวยิวนิยมใช้กับคำตัดสินด้านกฎหมายของอาจารย์หรือรับบีที่มีชื่อเสียง  ผูกหมายถึงไม่อนุญาต และแก้หมายถึงอนุญาต
    เท่ากับว่าพระเยซูเจ้าทรงมอบภาระรับผิดชอบอันหนักหน่วงไว้บนบ่าของเปโตร ท่านต้องตัดสินใจ ให้คำแนะนำ และนำพาพระศาสนจักร ซึ่งการตัดสินใจใด ๆ ของท่านย่อมส่งผลอันใหญ่หลวงต่อวิญญาณของมนุษย์ทั้งในโลกนี้ และชั่วนิรันดร

และนี่คือความยิ่งใหญ่ของเปโตรและเปาโล ที่เราร่วมใจกันเฉลิมฉลองในวันนี้ เพราะท่านคือผู้สืบสานภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้า บุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิต