สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
ข่าวดี ลูกา 23:35-43
(35)ประชาชนยืนดูอยู่ที่นั่น ส่วนบรรดาผู้นำเยาะเย้ยพระองค์ว่า ‘เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ ก็ให้เขาช่วยตนเองซิ ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร’ (36)แม้แต่บรรดาทหารก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วย เขานำเหล้าองุ่นเปรี้ยวเข้ามาถวาย (37)พลางกล่าวว่า ‘ถ้าท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ก็จงช่วยตนเองให้รอดพ้นซิ’ (38)มีคำเขียนไว้เหนือพระองค์ว่า ‘ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว’
(39)ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน พูดดูหมิ่นพระองค์ว่า ‘แกเป็นพระคริสต์ไม่ใช่หรือจงช่วยตนเองและช่วยเราให้รอดพ้นด้วยซิ’ (40)แต่อีกคนหนึ่งดุเขากล่าวว่า ‘แกไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือที่มารับโทษเดียวกัน (41)สำหรับพวกเราก็ยุติธรรมแล้ว เพราะเรารับโทษสมกับการกระทำของเรา แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดเลย’ (42)แล้วเขาทูลว่า ‘ข้าแต่พระเยซู โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย เมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์’ (43)พระองค์ตรัสตอบเขาว่า ‘เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์’
กางเขนเป็นเครื่องประหารน่ากลัวที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประดิษฐ์ขึ้นมา ประกอบด้วยเสาและคานติดกันเป็นรูปตัว T โดยส่วนบนไม่มีที่พิงศีรษะยื่นออกไป ตรงกลางเสามีไม้ยื่นออกมาเป็น “อาน” รองรับน้ำหนักของนักโทษ
เวลาตรึงกางเขน ผู้คุมจะตอกตะปูที่มือทั้งสองข้างของนักโทษติดกับคาน ส่วนขาใช้เชือกมัดไว้หลวม ๆ ติดกับเสา แล้วนำเสาปักลงดินตั้งไว้
โชคร้ายที่ความทรมานแสนสาหัสนั้นไม่ทำให้นักโทษตายทันที แต่กลับเพิ่มความน่าสะพรึงกลัวสุดขีดเพราะนักโทษจะถูกปล่อยทิ้งไว้บนกางเขนให้อดอาหาร อดน้ำ ต้องเผชิญกับแสงแดดแผดเผาเวลากลางวันและน้ำค้างแข็งเวลากลางคืน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีทั้งมดและแมลงไต่ตอมตามบาดแผลโดยที่นักโทษไม่อาจไล่หรือเกาได้เลย เขาทำได้เพียงเฝ้ามองฝูงแร้งฝูงกาบินวนเวียนรอจิกกินเขา !
นักโทษจำนวนมากถูกแขวนบนกางเขนนานนับสัปดาห์ก่อนจะตายเหมือนคนบ้าคลั่ง !
ป้ายบนกางเขนบ่งบอกความผิดของนักโทษประหาร มีคำเขียนไว้เหนือพระเยซูเจ้าว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว” (ลก 23:38)
ความผิดของพระองค์คือทรงเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” !!
และต่อหน้า “กษัตริย์” ผู้ทรงประทับอยู่บนกางเขนนี้เองที่ผู้คนเริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน
ฝ่ายแรกคือพวกที่เยาะเย้ยพระองค์
บรรดาผู้นำของชาวยิว ทหารที่ควบคุมการประหาร และผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระองค์ ได้เยาะเย้ยและดูหมิ่นพระองค์ (ลก 23:35, 36, 39)
- “เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ ก็ให้เขาช่วยตนเองซิ ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร” (ลก 23:35)
- “ถ้าท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ก็จงช่วยตนเองให้รอดพ้นซิ” (ลก 23:37)
- “แกเป็นพระคริสต์ไม่ใช่หรือ จงช่วยตนเองและช่วยเราให้รอดพ้นด้วยซิ” (ลก 23:39)
พวกเขาช่างสรรหาถ้อยคำมาประชดประชัน เยาะเย้ย และดูหมิ่นพระองค์ได้อย่างเจ็บแสบถึงทรวง แต่พระองค์กลับภาวนาเพื่อพวกเขาว่า “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)
ทั้ง ๆ ที่กำลังทุกข์ทรมานใกล้ตาย มิหนำซ้ำยังถูกคนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมเลยมาพูดจาดูหมิ่นเยาะเย้ย กระนั้นก็ตาม หัวจิตหัวใจของพระองค์ผู้ทรงเป็น “กษัตริย์” คือการ “ให้อภัย”
การ “ให้อภัย” แบบพระองค์คือสิ่งที่น่าพิศวงที่สุด !!!
คริสตชนตั้งแต่เริ่มแรกได้สานต่อจิตตารมณ์ของการให้อภัยตามแบบอย่างของพระองค์สืบต่อเรื่อยมา ขณะถูกหินขว้าง นักบุญสเทเฟนได้ภาวนาก่อนสิ้นใจว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดอย่าทรงลงโทษพวกเขาเพราะบาปนี้เลย” (กจ 7:60)
นักบุญเปาโลซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสักขีพยานการขว้างหินสเทเฟน ได้ย้ำสอนว่า “จงมีใจโอบอ้อมอารี มีเมตตาต่อกัน ให้อภัยกันดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยแก่ท่านในองค์พระคริสตเจ้าเถิด” (อฟ 4:32)
ทั้ง ๆ ที่การ “ให้อภัยแบบคริสตชน” เป็นสิ่งที่งดงามและน่าชื่นชมที่สุด แต่ทุกวันนี้กลับหาได้ยากเย็นเหลือหลาย !
เพราะฉะนั้น เมื่อจิตใจร้อนรุ่มด้วยความโกรธและเกลียด เราจง “ให้อภัย” ดุจเดียวกับพระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ที่เราร่วมใจกันสมโภชในวันนี้เถิด !!
ฝ่ายที่สองคือพวกที่ยอมรับพระองค์
ต่อหน้ากษัตริย์ผู้ทรงถูกตรึงบนกางเขน ประชาชนเริ่มแยกตัวเองออกจากบรรดาผู้นำของพวกเขา
ก่อนหน้านี้ พวกเขาร้องตะโกนว่า “ฆ่าเขาเสีย ปล่อยบารับบัสให้เรา” (ลก 23:18)
เมื่อปิลาตถามว่า “เขาทำผิดอะไร เราไม่พบว่าเขาทำผิดอะไรที่ควรจะมีโทษถึงตาย” (ลก 23:22) พวกเขายิ่งร้องตะโกนเสียงดังขึ้นไปอีกว่า “เอาพระองค์ไปตรึงกางเขน” (ลก 23:23)
แต่บัดนี้ พวกเขายืนดูพระองค์โดยปราศจากเสียงเยาะเย้ยดังที่บรรดาผู้นำและทหารได้กระทำกัน (ลก 23:35)
ยิ่งไปกว่านั้น หลังพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ พวกเขา “ข้อนอก และพากันกลับไป” (ลก 23:48) ซึ่งเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากพวกเขาสำนึกผิด และยอมรับว่าข้อความในป้ายที่พวกเขาตั้งใจเขียนเพื่อประชดพระองค์นั้น กลับกลายเป็นเรื่องจริง
พวกเขายอมรับว่าพระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว”
อีกคนหนึ่งที่โดดเด่นมากคือ ผู้ร้ายที่ยอมรับคำพิพากษาตามกระบวนการยุติธรรมในโลกนี้ว่า “สำหรับพวกเราก็ยุติธรรมแล้ว เพราะเรารับโทษสมกับการกระทำของเรา แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดเลย” (ลก 23:41)
แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมในโลกนี้จะสิ้นสุดลงแล้วสำหรับเขา อย่างไรก็ตาม เขายังไม่สิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมในโลกหน้า ด้วยเหตุนี้เขาจึงกราบทูลพระองค์ว่า “ข้าแต่พระเยซู โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย เมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” (ลก 23:42)
เท่ากับว่าเขายอมรับพระองค์เป็น “กษัตริย์” แห่งพระอาณาจักรของพระเจ้าที่จะพิพากษาเขาเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว
เขาคิดถูก !
เหตุว่าพระองค์ได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าอย่างสมบูรณ์จนกระทั่งยอมรับความตายอย่างอดสูบนไม้กางเขน ด้วยเหตุนี้พระบิดาจึงทรงยกย่องให้เกียรติพระองค์ประทับเบื้องขวา และสถาปนาพระองค์เป็น “กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” !!
พระองค์จึงไม่เป็นเพียงกษัตริย์ของชาวยิว แต่ทรงเป็น “กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” ด้วย
และกับผู้ร้ายที่วอนขอพระเมตตาจากพระองค์ผู้ทรงเป็น “กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” นี้เองที่ทรงตรัสว่า “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43)
คำ Paradise (สวรรค์) มาจากภาษาเปอร์เซียหมายถึง “สวนที่มีกำแพงล้อมรอบ” เมื่อกษัตริย์ปรารถนาให้เกียรติผู้ใด พระองค์จะอนุญาตให้ผู้นั้นเข้ามาเดินในสวนเคียงข้างพระองค์
แปลว่า สิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาจะประทานแก่เขานั้น ไม่ใช่เพียง “ชีวิตที่ไม่รู้จักตาย” แต่ยังรวมถึง “ชีวิตที่ดำเนินไปเคียงข้างพระองค์” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ชีวิตที่เหมือนพระองค์” นั่นเอง (1 ยน 3:2)
ที่สำคัญ คำสัญญานี้มิได้จำกัดเฉพาะผู้ร้ายอย่างเขาเท่านั้น แต่รวมถึงเราทุกคนด้วย เพราะ “กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” ทรงเป็นกษัตริย์ของทุกคน ทุกแห่ง และทุกเวลา
เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต เราอาจพูดได้ว่า “ฉันแก่เกินกว่าจะทำสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น” แต่ “ไม่มีใครแก่เกินกว่าจะหันกลับมาหาพระเยซูเจ้า”
ไม่มีคำว่า “สายเกินไป” สำหรับพระองค์
ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ตราบนั้นเรายังมี “ความหวัง” ดุจเดียวกับผู้ร้ายรายนี้ เพราะพระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” ผู้มีหัวจิตหัวใจที่จะ “ให้อภัย” อยู่เสมอ !!!
ขึ้นกับว่าเราจะเลือกอยู่ฝ่ายพระองค์หรือไม่เท่านั้น ?!?