วันอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า
ห้าสิบวันหลังจากวันฉลองขนมปังไร้เชื้อ ชาวยิวเฉลิมฉลองเทศกาลขอบคุณพระเจ้าสำหรับการเก็บเกี่ยวข้าว ในปฏิทินพิธีกรรมของศาสนาคริสต์ ในวันที่ห้าสิบนี้ เราฉลองพันธกิจของพระศาสนจักรในการเก็บเกี่ยววิญญาณ วันนี้เราฉลองวันเกิดของพระศาสนจักร เมื่ออำนาจจากเบื้องบนถูกประทานให้แก่บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้า ให้เขาสืบทอดงานของพระเยซูคริสตเจ้าในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น
ยอห์น 20:19-23
ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”
บทรำพึงที่ 1
ข่าวดี
พระเจ้าประทานพระจิต พลังงาน และพระพรต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้าให้แก่ผู้ที่เป็นของพระองค์ในความเชื่อ และในศีลล้างบาป
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ทรรศนะต่าง ๆ เกี่ยวกับวันเปนเตกอสเต
เราไม่อาจจำกัดเหตุการณ์อัศจรรย์ในวันเปนเตกอสเต หรือการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้า ให้เกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน เมื่อบ้านหลังหนึ่งในกรุงเยรูซาเล็ม ที่ถูกแรงลมพัดจนโยก และมีเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้นปรากฏให้เห็นในอากาศ
บทอ่านทั้งสามบทในพิธีบูชามิสซาวันนี้ขยายความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระจิตเจ้า แต่มองจากต่างมุมกัน คำบอกเล่าของลูกาในหนังสือกิจการอัครสาวกเกี่ยวกับวันเปนเตกอสเต เป็นคำบอกเล่าที่เราคุ้นเคยมากที่สุด เพราะปฏิทินพิธีกรรมของเราดำเนินตามลำดับเหตุการณ์ที่เขาบอกเล่า แต่พระวรสารของยอห์นบอกเราว่าการประทานพระจิตเจ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์วันปัสกา ... ซึ่งเป็นเวลาค่ำของวันแรกของยุคใหม่ และในบทอ่านที่สองของวันนี้ นักบุญเปาโลบอกชาวโครินธ์ เรื่องพระพรต่าง ๆ จากพระจิตเจ้าที่ประทานให้แก่ชุมชนเสมือนเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเดียวกัน แต่มีหน้าที่ต่างกัน
พระวรสารกล่าวถึง “การส่งไป” หรือพันธกิจอันยิ่งใหญ่สองครั้ง ครั้งแรก พระเจ้าพระบิดาทรงส่งพระเยซูคริสตเจ้ามา ... “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด” จากนั้น พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพก็ทรงส่งศิษย์ของพระองค์ไป ... “เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” ในลมหายใจของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ พวกเขาได้รับพระจิตเจ้าองค์เดียวกันกับพระจิตผู้ทรงเคยเป็นอำนาจแห่งการกอบกู้ในพันธกิจของพระเยซูเจ้าเอง
การเสด็จมาของพระจิตเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายพันธกิจให้ครอบคลุมทุกชนชาติ ดังนั้น ลูกาจึงจัดให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างเทศกาลเก็บเกี่ยวพืชผลในวันที่ 50 เปนเตกอสเต แปลว่าวันที่ 50
สัญลักษณ์ในคำบอกเล่าของลูกาคือลมที่พัดแรงกล้า และเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น ลมแสดงออกถึงความเคลื่อนไหวของพลังแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้า ทำให้ระลึกถึงลมหายใจของพระเจ้าที่พัดอยู่เหนือความปั่นป่วนวุ่นวายในประวัติการสร้างโลก
ลิ้นเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศคำสั่งสอน ลิ้นนี้เป็นไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรัก และเป็นสิ่งที่ใช้ชำระให้บริสุทธิ์ หรือการพิพากษา สิ่งที่ลูกาต้องการบอกไว้ในองค์ประกอบของเรื่องราวนี้คือการแผ่ขยายพันธกิจของพระเยซูเจ้า ให้กลายเป็นพันธกิจสากลของพระศาสนจักร
ยอห์นมองการได้รับพระจิตเจ้าในบริบทของปัสกา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกยกขึ้นจากแผ่นดินในการสิ้นพระชนม์ และกลับคืนชีพของพระองค์
“และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน
เราจะถึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32)
พระเยซูเจ้าทรงสัญญาหลายสิ่งหลายอย่างกับทุกคนที่จะได้รับการยกขึ้นเนื่องจากพระองค์ทรงกลับคืนชีพ พระองค์ทรงสัญญาว่าผู้มีความเชื่อจะค้นพบลำธารที่ให้ชีวิตภายในวิญญาณของตนเอง ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “ลำธารที่ให้ชีวิตจะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น” และผู้นิพนธ์พระวรสารอธิบายว่าพระเยซูเจ้ากำลังตรัสถึง “พระจิตเจ้า ซึ่งผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับ แต่เวลานั้น พระเจ้ามิได้ประทานพระจิตเจ้าให้ เพราะพระเยซูเจ้ายังมิได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” (ยน 7:38-39)
ต่อมาพระเยซูเจ้าทรงอธิบายว่าการจากไปของพระองค์จะเปิดทางให้พระจิตเจ้าเสด็จมา “ถ้าเราไม่ไป พระผู้ช่วยเหลือก็จะไม่เสด็จมาหาท่าน” (ยน 16:7)
ในขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำรงชีพอยู่ในร่างกายมนุษย์ ลมหายใจของพระเจ้าต้องถูกกักไว้ในพระกายของพระองค์แต่ผู้เดียว แต่เมื่อพระกายนี้แตกสลายไปในความตาย และกลับคืนชีพสู่พระสิริรุ่งโรจน์แล้ว ลมหายใจของพระองค์จึงถูกปลดปล่อยออกมาเพื่อผู้มีความเชื่อทั้งหลาย และดังนั้น ยอห์นจึงบอกเราว่าในเวลาค่ำของวันแรกของยุคใหม่นั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนชีพเสด็จมาหาบรรดาศิษย์ ทรงเป่าลม คือพระจิตของพระองค์ เหนือเขาทั้งหลาย และทรงส่งเขาออกไปปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ให้เสร็จสิ้นในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากบาป
ผลของการเสด็จมาของพระจิตเจ้ามีมากมาย และบทอ่านทั้งสามบทของวันนี้แสดงให้เราเห็นความหลากหลายของผลนี้
หัวข้อที่ยอห์นเน้นย้ำคืออำนาจอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้าผู้ทรงยกบาปของโลก และศิษย์ของพระองค์ได้รับอำนาจให้ยกบาป ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นมนุษย์ออกจากพระเจ้า เป็นลักษณะเฉพาะตัวของยอห์นที่จะกล่าวถึงสองขั้ว คือ การยอมรับ หรือการปฏิเสธสารของพระเยซูเจ้า ผู้ใดยอมรับและเชื่อก็จะได้รับการอภัย ในขณะที่ผู้ปฏิเสธที่จะเชื่อจะต้องถูกกักอยู่ในความบาปของตน
ในกิจการอัครสาวก ลูกาเน้นย้ำถึงอำนาจของพระจิตเจ้าในการประกาศข่าวดี ในลักษณะที่ชนะอุปสรรคทั้งปวงด้านภาษา และความแตกต่างของเชื้อชาติ บัดนี้ แม้ว่ามนุษย์พูดภาษาต่างกัน แต่ก็ได้รับข่าวสารเดียวกันจากพระเจ้า
ในบทอ่านที่สองประจำวันนี้ นักบุญเปาโลสอนชาวโครินธ์ว่า พระพรมีหลายประการ แต่มีพระจิตเจ้าพระองค์เดียวเสมอไป ไม่ว่าจะได้รับพระพรใดก็ควรถือว่าพระพรนั้นเป็นรูปแบบของการรับใช้คนทั้งชุมชน และมิใช่พระคุณเพื่อประโยชน์ส่วนตน
ในวันเปาเตกอสเต เราฉลองวันเกิดของพระศาสนจักร
พร้อมกับยอห์น เราเฉลิมฉลองที่เรามีส่วนร่วมในการยกพระเยซูเจ้าขึ้น โดยอาศัยพระพรของพระจิตเจ้า เพื่อเอาชนะบาป
พร้อมกับลูกา เราเฉลิมฉลองพลวัตของพระจิตเจ้าที่เห็นได้ในการเทศน์สอนข่าวดี และการแผ่ขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้
พร้อมกับเปาโล เราเฉลิมฉลองความหลากหลายของการรับใช้ของคนทั้งชุมชน และผลอันงดงามของพระจิตเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน
นี่คือวันเกิดของพระศาสนจักร ... นี่คือวันเกิดของเรา
ข้อรำพึงที่สอง
ศีลกำลัง
ศีลที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับวันเปนเตกอสเตมากที่สุดคือศีลกำลัง พระคัมภีร์ให้เวลาผ่านไประยะหนึ่งหลังจากการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า และก่อนพระจิตเจ้าเสด็จลงมาฉันใด ตามปกติเราก็ให้เวลาผ่านไประยะหนึ่งหลังจากการรับศีลล้างบาป ก่อนจะรับศีลกำลังฉันนั้น ศีลล้างบาปทำให้เราตาย และกลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้า เราตายต่อบาปในน้ำของศีลล้างบาป และเกิดใหม่ในฐานะบุตรของพระเจ้า และจากศีลกำลัง เราได้รับพระหรรษทานแห่งเปนเตกอสเต ซึ่งทำให้เราได้รับพระพรของพระจิตเจ้า เพื่อให้มีพละกำลังปฏิบัติพันธกิจของพระศาสนจักร
มีความคล้ายระหว่างศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองประการนี้ และการเสด็จมาของพระจิตเจ้าสองครั้ง เพื่อนำทางชีวิต และพันธกิจของพระเยซูเจ้า ในวันที่ทูตสวรรค์แจ้งสารแก่พระนางมารีย์ พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระนาง และพระอานุภาพของพระเจ้าแผ่เงาปกคลุมพระนาง ขณะที่ชีวิตในเนื้อหนังมนุษย์ของพระเยซูเจ้าเริ่มต้นขึ้น อีกสามสิบปีหลังจากนั้น ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นจากแม่น้ำจอร์แดน พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ในรูปของนกพิราบ นี่คือตราประทับรับรองอัตลักษณ์ของพระองค์ว่าทรงเป็นพระบุตรสุดที่รักของพระบิดา และถวายพระองค์เพื่อให้ปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำทาง และชักจูงพระเยซูเจ้า
ในการโปรดศีลกำลัง ผู้ประกอบพิธีจะเจิมน้ำมันที่หน้าผาก และปกมือเหนือศีรษะของผู้รับศีล พร้อมกับกล่าวอัญเชิญพระจิตเจ้า
ผลของศีลศักดิ์สิทธ์ประการนี้มีอยู่มากมาย ศีลนี้ประทับตราผู้รับเพื่อรับรองว่าเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพระศาสนจักร เป็นเครื่องหมายแสดงว่าบุคคลนั้นก้าวเข้าสู่อีกขั้นหนึ่งของการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร และมีผลอย่างเด็ดขาด ซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถรับศีลกำลังซ้ำอีกได้ เหมือนกับที่เรารับศีลล้างบาป และศีลบรรพชาได้เพียงครั้งเดียว
ศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละประการมอบพระหรรษทานพิเศษให้แก่ผู้รับ พระพรพิเศษของศีลกำลังคือพละกำลังของพระจิตเจ้า ที่จะช่วยให้ผู้รับสามารถรับใช้ชุมชนคริสตชนได้ รูปแบบแรกของการรับใช้คือการเป็นพยานด้วยการดำเนินชีวิตให้สมกับที่เราเป็นคริสตชน การแสดงความรัก และความเอื้ออาทรด้วยใจกว้าง และการเป็นแสงสว่างในการสั่งสอน และความกล้าหาญที่จะเพียรพยายาม ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ช่วยเพิ่มพูนคุณธรรมแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรัก
พันธกิจของพระคริสตเจ้า ซึ่งเราได้รับเรียกให้เข้ามามีส่วนร่วมนี้ มีสามด้าน คือ การทำหน้าที่ของสงฆ์ หน้าที่ประกาศพระวาจา และการเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ เรามีส่วนร่วมในงานอภิบาลทั้งสามด้านนี้เมื่อเราได้รับเจิมเมื่อเรารับศีลล้างบาป และพัฒนาขึ้นเมื่อเรารับศีลกำลัง และได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยศีลมหาสนิท (พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2)
ทุกครั้งที่เราสวดภาวนาต่อพระบิดาในนามของพระคริสตเจ้า โดยเฉพาะเมื่อเรารับศีลมหาสนิท เรามีส่วนร่วมในสังฆภาพของพระคริสตเจ้า การร่วมพิธีอย่างกระตือรือร้นในพิธีบูชามิสซาไม่ได้เป็นหน้าที่ของสมณะเท่านั้น “อันที่จริง การเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมเป็นกิจการอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่จำกัดว่าเป็นกิจการของสมณะเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนในที่มาชุมนุมในที่นั้นด้วย ดังนั้น งานซึ่งไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของผู้อภิบาลที่ได้รับศีลบรรพชา จึงควรเป็นงานของฆราวาสด้วยเช่นกัน” (พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2) ระยะหลังนี้ เราพบว่ามีการยอมรับมากขึ้นว่าศีลกำลังได้มอบพระพรพิเศษของสงฆ์ให้แก่ผู้รับ เพราะมีการยอมให้ผู้อภิบาลที่เป็นฆราวาสทำหน้าที่อ่านพระวาจา และแจกศีล
การมีส่วนร่วมของเราในพันธกิจประกาศพระวาจาของพระคริสตเจ้า เรียกร้องให้เราเป็นพยานยืนยันคุณค่าพระวรสารด้วยวิถีชีวิตของเรา เราต้องลุกขึ้นและเป็นพยานถึง “ความหวังที่อยู่ในตัวเรา” และเต็มใจส่งต่อแสงสว่างของพระคริสตเจ้าให้แก่ผู้อื่น
การที่เราร่วมรับการเจิมในฐานะกษัตริย์ของพระคริสตเจ้า ไม่ได้หมายถึงการวางอำนาจกับผู้อื่น แต่เป็นกระแสเรียกให้รับใช้ผู้อื่นตามจิตตารมณ์ของพระวรสาร เราได้รับเรียกให้เป็นตัวแทนของพระคริสตเจ้าด้วยการเอาใจใส่ดูแลความต้องการของผู้อื่น ผ่านทางเมตตากิจทั้งด้านจิตวิญญาณ และร่างกาย
เราได้รับเรียกให้ปฏิบัติงานแนวหน้าที่กว้างกว่า ด้วยการบูรณะ และพิทักษ์รักษาพระราชัยของพระเจ้าในกิจการทั้งปวงของโลก ด้วยการเป็นเกลือและแสงสว่างของพระคริสตเจ้าในบ้านของเรา ในสถานที่ทำงานของเรา ในงานสังคมของเรา ในรัฐสภาและศาลของเรา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก คติพจน์ของเราจะต้องเป็น “ที่นี่ยอมรับการปกครองของพระเจ้า”
ในบางประเทศ ผู้รับศีลกำลังจะมีอายุประมาณ 7 ปี เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเริ่มต้นการเป็นคริสตชนก่อนจะรับศีลมหาสนิท
ในประเทศไอร์แลนด์ มักโปรดศีลกำลังให้เด็กเมื่อเรียนจบชั้นประถม ซึ่งเป็นวัยที่เด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นช่วงชีวิตที่เด็กหมกมุ่นกับตนเองน้อยลง และเริ่มเข้าสังคมมากขึ้น
แต่กิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการรับศีลกำลังในปัจจุบันกำลังกลืนสาระสำคัญของศีลศักดิ์สิทธิ์ คนทั่วไปให้ความสนใจมากเกินไปกับการแต่งตัวให้สวย การเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง และ “เธอได้เงินมากเท่าไร”
สถานการณ์ปัจจุบันทำให้อดไม่ได้ที่จะคิดหาทางเลือกอื่น จะไม่ดีกว่าหรือถ้าจะเลิกวิธีปฏิบัติในปัจจุบันที่วัดให้เด็กๆ เดินเป็นขบวนเข้ามารับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ แต่ให้รับได้เมื่อได้รับการร้องขอ เมื่อใดที่บุคคลหนึ่งปรารถนาจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินชีวิตแบบคริสตชน และรับใช้พระศาสนจักรโดยที่เขาไม่ถูกบังคับ บางทีวัยที่เหมาะสมอาจเป็นช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรือหลังจากนั้น นี่เป็นเพียงข้อเสนอแนะให้พิจารณาเท่านั้น
ศีลกำลังเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระหรรษทานอันงดงามเพื่อการรับใช้พระศาสนจักร แต่ไม่มีใครเห็นคุณค่ามากพอในปัจจุบัน
บทรำพึงที่ 2
พระวรสาร : ยอห์น 20:19-23
ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”
คำอธิบาย - อ่านคำอธิบายทั้ง 5 ข้อความข้างต้นนี้ได้จากพระวรสารของนักบุญยอห์น ที่เป็นบทอ่านเดียวกันสำหรับวันอาทิตย์ที่สองเทศกาลปัสกา ซึ่งเป็นวันสมโภชพระจิตเจ้า เพราะเมื่อพระคริสตเจ้าทรงปรากฏพระองค์เป็นครั้งแรกหลังจากทรงกลับคืนชีพ พระองค์ได้ประทานพระจิตเจ้าให้แก่บรรดาอัครสาวก การฉลองในวันนี้เป็นการระลึกถึงการประทานพระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้ แต่เกิดขึ้นต่อหน้าคนจำนวนมาก
คำสั่งสอน – วงจรพิธีกรรมซึ่งในแต่ละปีแสดงให้เราเห็นความเมตตา และความกรุณาของพระเจ้าต่อเรามนุษย์ จบลงในวันนี้ด้วยวันสมโภชพระจิตเจ้าอย่างยิ่งใหญ่ กล่าวคือ การเสด็จมาอย่างสง่าต่อหน้าสาธารณชนของพระจิตเจ้า พระผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์เหนือพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า ระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จ เราพยายามเตรียมตัวรับการเสด็จมาของพระบุตรของพระเจ้า เพื่อมาพำนักอยู่ท่ามกลางเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง วันพระคริสตสมภพเตือนใจเราให้คิดถึงกิจกรรมแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในครั้งนั้น เทศกาลมหาพรตเตรียมใจเราสำหรับพระทรมานของพระคริสตเจ้าระหว่างสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์เมื่อพระองค์ทรงรับทนทรมานเพื่อเรา เทศกาลปัสกาเป็นวันฉลองชัยชนะของพระคริสตเจ้าเหนือความตาย เป็นหลักประกันว่าเราจะได้รับชัยชนะในที่สุด และจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์นิรันดรของพระองค์ วันสมโภชพระจิตเจ้าเป็นเสมือนมงกุฎของการทำงานของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเรา พระจิตเจ้าเสด็จมาประทับอยู่กับพระศาสนจักรเพื่อนำทาง และช่วยเหลือผู้นำพระศาสนจักรอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พิทักษ์รักษา อธิบาย และเผยแผ่พระวรสารแห่งความหวังและความรัก ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงนำมาประทานแก่โลก พระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้ทรงช่วยเหลือและค้ำจุนสมาชิกแต่ละคนของพระศาสนจักรให้ดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ โดยปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้า และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ทำเช่นเดียวกัน
สรุปได้ว่า วันฉลองประจำปีของพระศาสนจักรที่จัดขึ้นต่อเนื่องกันนี้เตือนให้เราระลึกถึงความรักอันไร้ขอบเขตของพระตรีเอกภาพต่อมนุษย์ผู้มีข้อจำกัดและรู้จักตาย ในเวลาเดียวกัน ก็แสดงให้เราเห็นบทบาทของแต่ละพระบุคคลในพระตรีเอกภาพในแผนการนิรันดร เพื่อให้เรามีส่วนร่วมในสันติสุขอันบริบูรณ์ และความสุขอันไม่มีวันจบสิ้นที่พระองค์ทรงได้รับอยู่ในพระอาณาจักรสวรรค์
พระเจ้าพระบิดาทรงสร้างเราขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ และแผนการ ที่จะยกฐานะเราขึ้นเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ พระเจ้าพระบุตรทรงรับธรรมชาติมนุษย์เพื่อให้เราสามารถร่วมรับพระเทวภาพของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนมนุษย์ทุกคน และทรงแสดงความนบนอบ และความเคารพอย่างสมบูรณ์ต่อพระผู้สร้าง “ถึงกับยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน” เพื่อช่วงชิงฐานะบุตรบุญธรรมมาประทานแก่เรา พระจิตเจ้าผู้ทรงเป็น “ผลของความรักของพระเจ้า” เสด็จมาจากพระบิดา และพระบุตร เพื่อทำให้งานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่เรานั้นสำเร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ทั้งสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต และทรงถ่อมพระองค์ลงมาหาเรามนุษย์ และเปิดทางให้ข้าพเจ้าสามารถเข้าสู่ความสุขนิรันดรได้ในอนาคต ขอเพียงข้าพเจ้ามีสามัญสำนึกพอที่จะเข้าใจคุณค่าของกิจการที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อข้าพเจ้า และมีใจเป็นธรรมที่จะตอบแทนพระองค์ด้วยการทำงานเล็กน้อยที่พระองค์ทรงขอให้ข้าพเจ้าทำ ซึ่งง่ายมากเมื่อเทียบกับงานของพระองค์
วันนี้ ขอให้พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมด้วยความกตัญญูสำหรับทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงได้กระทำไปเพื่อข้าพเจ้าเถิด
บทรำพึงที่ 3
บทอ่านพระวรสาร : ยอห์น 20:19-23
บทอ่านพระวรสารประจำวันนี้ (รวมกับอีกแปดข้อที่เพิ่มเข้ามา) เป็นข้อความเดียวกันกับบทอ่านวันอาทิตย์ปัสกาของปี A และปี B และแบ่งออกเป็นสามส่วนดังนี้
1. พระคริสตเจ้าทรงแสดงพระองค์กับบรรดาศิษย์ (ยน 20:19-20) พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนชีพแล้ว ในด้านหนึ่งพระกายของพระองค์ต่างจากพระกายก่อนที่พระองค์สิ้นพระชนม์ (และกลับคืนชีพ) เพราะพระองค์ทรงเดินผ่านประตูที่ปิดอยู่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระองค์ทรงมีร่างกายจริง ๆ และเป็นร่างกายที่สัมผัสจับต้องได้
2. พันธกิจของอัครสาวก และการประทานพระจิตเจ้า (20:21-22) ตลอดระยะเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอน ยอห์น หลีกเลี่ยงที่จะเรียกศิษย์ของพระองค์ว่าอัครสาวก (ผู้ที่ถูกส่งไป) ไม่มีคำบอกเล่าว่าพระองค์เคยส่งพวกเขาไป (ต่างจาก มก 6:7 และพระวรสารฉบับอื่น) ในบทภาวนาในฐานะสมณะของพระองค์ (ยน 17:18) พระคริสตเจ้าทรงเอ่ยเป็นครั้งแรกว่าพระองค์ทรงส่งพวกเขาไป และบัดนี้ ในวันปัสกา พระองค์ทรงส่งพวกเขาออกไปจริง ๆ เหมือนกับที่พระบิดาทรงส่งพระองค์มา พันธกิจนี้คือการสานต่อพันธกิจของพระบุตร
แต่ก่อนที่พวกเขาจะถูกส่งไป เขาต้องถูกสร้างขึ้นใหม่โดยอาศัยความจริง คืออาศัยพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่เปิดเผยความจริง และอาศัยจิตแห่งความจริง คือพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าจะต้องทำให้เขาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อว่าเมื่อเขาได้รับการเสกให้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงเคยได้รับการเสกมาแล้ว พวกเขาจะสามารถถูกส่งไปเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงถูกส่งมา (ยน 17:14, 17-19)
3. อำนาจเหนือบาป (ยน 20:23) มธ 28:19-20 ระบุสาระสำคัญของพันธกิจของอัครสาวก กล่าวคือ อัครสาวกต้องทำพิธีล้างบาป และทำให้มนุษย์ทุกคนมาเป็นศิษย์ของพระองค์; มก 16:15-16 กล่าวถึงการประกาศข่าวดี และให้ผู้ที่เชื่อรับศีลล้างบาป; ลก 24:47 บอกว่าหมายถึงการเทศน์สอนให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป ในพระวรสารของยอห์น พันธกิจนี้คือการอภัยบาป ข้อความนี้มีสาระตรงกับ มธ 18:18 เราจึงสันนิษฐานได้เหมือนกับบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรในสามศตวรรษแรกว่า ยน 20:23 หมายถึงการอภัยบาปด้วยการโปรดศีลล้างบาป (ถ้าเช่นนั้น “ผูก และแก้” จึงหมายถึงการยอมรับ หรือไม่ยอมรับอำนาจอภัยบาปของศีลล้างบาป) แต่ก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่งอย่างแน่นอนว่า อัครสาวกสามารถอภัย หรือไม่อภัยบาปของมนุษย์ได้ (ในการโปรดศีลอภัยบาป เพราะพระเยซูเจ้าได้ประทานพระจิตเจ้า โดยทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลายแล้ว)
บทเทศน์
พระจิตเจ้าตามคำบอกเล่าในพระวรสารของนักบุญยอห์น
1. พระเยซูเจ้าทรงสัญญากับศิษย์ของพระองค์ว่าจะส่งพระจิตลงมาหลังจากพระองค์จากพวกเขาไปแล้วเท่านั้น พระ องค์จำเป็นต้องสิ้นพระชนม์ก่อนการเสด็จมาของ “พระผู้ช่วยเหลือ” ความกรุณาของพระคริสตเจ้า ซึ่งทรงแสดงออกด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ทำให้เรามีสิทธิได้รับพระจิตเจ้า นี่คือความเข้าใจอันลึกซึ้ง และน่าพิศวงประการแรกที่ยอห์น มอบให้เรา
ก. ยน 7:38 – ในเทศกาลอยู่เพิง ชาวยิวจะภาวนาขอฝนสำหรับการหว่าน และการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับฝน ดังนั้น ตลอดหนึ่งสัปดาห์ สมณะคนหนึ่ง และชาวเลวีซึ่งเป็นผู้ช่วยในพิธีกรรม จะลงไปที่สระสิโลอัม และตักน้ำจากสระใส่เหยือกทองคำ จะมีขบวนแห่นำน้ำกลับมาที่พระวิหารผ่านประตูน้ำ และเป่าแตรสามครั้งเพื่อเตือนให้ระลึกถึงคำสัญญาว่าพระเจ้าจะประทานพระเมสสิยาห์มาให้ “ท่านจะตักน้ำด้วยความยินดีจากน้ำพุแห่งความรอดพ้น” (อสย 12:3) หลังจากนั้น สมณะจะเทน้ำใส่อ่างสองใบที่พระแท่นบูชา พระเยซูเจ้าทรงใช้โอกาสนี้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์ และตรัสว่า
“ผู้ใดกระหาย จงมาหาเราเถิด
ผู้ที่เชื่อในเราจงดื่มเถิด
ตามที่พระคัมภีร์กล่าวว่า ‘ลำธารที่ให้ชีวิตจะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น’ “
ยอห์น อธิบายเพิ่มเติมว่า “พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้หมายถึงพระจิตเจ้า ซึ่งผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับ” (7:39)
ข. ยน 16:7 – พระจิตเจ้าจะเสด็จมาได้หลังจาก และเนื่องจาก การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงบอกอัครสาวกในบทอธิษฐานในฐานะสมณะของพระองค์ด้วยว่า “เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ที่เราไปนั้นก็เป็นประโยชน์กับท่าน เพราะถ้าเราไม่ไป พระผู้ช่วยเหลือก็จะไม่เสด็จมาหาท่าน แต่ถ้าเราไป เราจะส่งพระองค์มาหาท่าน”
ค. ยน 19:33-35 – เราพบว่าคำสัญญานี้สำเร็จเป็นจริงในเหตุการณ์ตรึงกางเขน เพื่อไม่ให้มีศพค้างอยู่บนไม้กางเขนในวันสับบาโต ทหารจึงทุบขาของผู้ที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระเยซูเจ้า แต่เมื่อมาถึงพระเยซูเจ้า เขาพบว่าไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นเพราะพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว แต่เพื่อให้มั่นใจ “ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที” เหตุการณ์นี้ผิดธรรมดามาก จนยอห์นต้องขอให้พระเจ้าเป็นพยาน ปิตาจารย์ส่วนใหญ่ของพระศาสนจักรอธิบายว่า บนไม้กางเขนนั้นเอง พระจิตได้ถูกประทานแก่เรา โดยเฉพาะพระหรรษทานต่าง ๆ จากศีลศักดิ์สิทธิ์ คือศีลล้างบาป (น้ำ) และศีลมหาสนิท (โลหิต)
2. ยอห์นไม่ใช่นักเทววิทยาผู้ตั้งทฤษฏี และกำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่นักเทววิทยารุ่นหลังกำหนดขึ้นมาระหว่างสภาสังคายนาหลายครั้ง ทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล ยอห์นเพียงแต่เสนอเทววิทยาที่บรรยายลักษณะ ดังนั้น เราจึงได้รู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับพระบุคคลของพระจิตเจ้า
ก. พระองค์แตกต่างจากพระบิดา และพระบุตร
- พระบิดาทรงเป็นผู้ส่งพระจิตเจ้าลงมา “พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้า ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้น จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง” (14:26) พระเยซูเจ้าทรงบอกอัครสาวกของพระองค์เช่นนี้ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย
- พระจิตเจ้าทรงแตกต่างจากพระบิดา เพราะพระองค์ทรงเนื่องมาจากพระบิดา พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในคำปราศรัยเดียวกันว่า “เราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่าน” (14:16)
ข. ความสัมพันธ์ระหว่างพระจิตเจ้า และพระคริสตเจ้า คล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่างพระคริสตเจ้า และพระบิดา
- พระจิตเจ้าทรงถูกส่งมาโดยพระบุตร เหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงถูกส่งมาโดยพระบิดา เราจึงอ่านพบว่า “พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้า ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้น จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง” (14:26) “ถ้าเราไป เราจะส่ง (พระผู้ช่วยเหลือ) มาหาท่าน” (16:7) ซึ่งเป็นจริงเหมือนกับอีกประโยคหนึ่ง “พระบิดาผู้ทรงส่งเรามา ยังทรงเป็นพยานถึงเราอีกด้วย” (5:37) “พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามาในโลกฉันใด ข้าพเจ้าก็ส่งเขาเข้าในในโลกฉันนั้น” (17:18)
ค. แต่กระนั้นก็ยังมีความแตกต่าง เพราะพระบุตรทรงพึ่งพาพระบิดา
- ดังนั้นพระจิตเจ้าทรงมาจากพระบิดาดังที่เราได้เห็นแล้วว่า “พระจิตแห่งความจริง ผู้ทรงเนื่องมาจากพระบิดา” (15:26)
- พระบุตรทรงส่งพระจิตเจ้ามาจากพระบิดา “พระจิตแห่งความจริง ... ซึ่งเราจะส่งมาจากพระบิดา” (15:26)
- สิ่งใดที่พระจิตเจ้าทรงได้รับจากพระบุตร พระบุตรก็ทรงได้รับมาจากพระบิดา (16:14) เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าพระบุตร (14:28) ในแง่ที่ว่าพระบิดาทรงเป็นต้นกำเนิดนิรันดรของพระตรีเอกภาพ
3. มีข้อความที่เข้าใจได้ง่ายกว่านี้ ซึ่งกล่าวถึงกิจกรรมของพระจิตเจ้า กล่าวคือ พระจิตเจ้าทรงมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา
ก. พระองค์จะทรงดำรงอยู่กับบรรดาศิษย์ “เราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่าน เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป” (14:16) พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระองค์ทรงหมายถึงการพำนักอยู่ของพระจิตเจ้าในหัวใจมนุษย์ เพราะพระคริสตเจ้าตรัสหลังจากนั้นถึงการพำนักของพระบิดา และพระบุตรในหัวใจคนทั้งหลายว่า “พระบิดาจะเสด็จมาพร้อมกับเรา มาหา (ผู้ที่รักพระองค์) จะทรงพำนักอยู่กับเขา” (14:23) อีกนัยหนึ่งคือ เราเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า (1 คร 6:19)
ข. พระจิตเจ้าทรงเป็นจิตแห่งความจริง หรือจิตแห่งการเผยแสดงของพระเจ้า พระคริสตเจ้าทรงเผยแสดงพระบิดาแก่เราฉันใด พระจิตเจ้าก็จะทรงสืบสานการเผยแสดงของพระคริสตเจ้าต่อไปฉันนั้น พระคริสตเจ้าทรงเป็นอะไรสำหรับศิษย์ของพระองค์ พระจิตเจ้าก็จะทรงเป็นเช่นนั้นสำหรับพระศาสนจักร ดังนั้น ในคำปราศรัยอำลา พระคริสตเจ้าจึงทรงสัญญาจะส่งพระจิตเจ้าลงมา “เราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทาน ... พระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16-17) “เมื่อพระผู้ช่วยเหลือ ซึ่งเราจะส่งมาจากพระบิดาจะเสด็จมา คือพระจิตแห่งความจริง ... พระองค์จะทรงเป็นพยานให้เรา” (15:26) “เมื่อพระจิตแห่งความจริงเสด็จมา พระองค์จะทรงนำท่านไปสู่ความจริงทั้งมวล” (16:13) เราทุกคนรู้ว่าการเข้าใจความจริงทำได้ยากเพียงไร แต่การรักษาความจริงนั้นทำได้ยากยิ่งกว่า บางครั้ง สื่อมวลชนก็ได้รับข้อมูลผิด ๆ พระศาสนจักรเองก็เคยทำสิ่งผิดพลาดในประวัติศาสตร์ และเป็นพระจิตเจ้าเสมอที่ทรงนำทางพระศาสนจักรให้ค้นพบความจริง และรักษาความจริงนั้นไว้ ไม่ว่าต้องเผชิญกับการเบียดเบียน และแรงกดดันรุนแรงเพียงใด ทั้งจากพลังภายในและภายนอกพระศาสนจักร ด้วยเหตุนี้ จึงมีการถกปัญหากันตั้งแต่ในการประชุมของอัครสาวกในกรุงเยรูซาเล็มแล้วว่าคนต่างศาสนาต้องเข้าสุหนัต และต้องปฏิบัติตามกฎของโมเสส ก่อนที่เขาจะรับศีลล้างบาปหรือไม่ พระจิตเจ้าทรงนำทางที่ประชุมไปสู่ความจริง และทำให้ที่ประชุมสามารถกล่าวได้ว่า “พระจิตเจ้า และพวกเรา ตกลงที่จะไม่บังคับให้ท่านแบกภาระอื่นอีก นอกจากสิ่งที่จำเป็น” (กจ 15:28)
ค. พระจิตเจ้าทรงเป็นพระผู้ช่วยเหลือ (Paraclete) ชื่อนี้มาจากภาษากรีก และมีความหมายเหมือนกับศัพท์ภาษาละตินที่ไม่ค่อยใช้กัน คือ ผู้แก้ต่าง (Advocate) (1 ยน 2:1) และแปลว่าผู้ที่ถูกเรียกหา (the one called) เช่น เรียกให้มาช่วยเหลือและบรรเทาใจ มานำทางและให้คำปรึกษา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยุ่งยาก เมื่อเราไม่รู้ว่าเราควรพูดอะไร และทำอะไร แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยเหลือของเรา แต่เราเรียกหาพระองค์จริงหรือ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่เราไม่รู้จัก พระองค์จะต้องตำหนิเราหรือไม่ว่า “ท่านเรียกเราว่าพระผู้ช่วยเหลือ แต่ท่านไม่เคยเรียกหาเรา” คำนี้ปรากฏถึงสี่ครั้งในคำปราศรัยอำลาใน ยน 14:16, 26; 15:26; 16:7
พระเยซูเจ้าตรัสว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่ง “เราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่านเพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16) ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ช่วยเหลือองค์แรก แต่เมื่อพระองค์ต้องจากไป และสิ้นพระชนม์ พระจิตเจ้าจะมาทำหน้าที่แทนพระองค์
ง. พระจิตเจ้าจะทรงสานต่องานที่พระคริสตเจ้าทรงทิ้งไว้ เนื่องจากอัครสาวกยังขาดวุฒิภาวะจนไม่อาจเข้าใจความจริงทั้งหมดได้ พระจิตเจ้าจึงทรงนำทางเขาไปสู่ความจริงทั้งมวล “เรายังมีหลายเรื่องที่จะบอกท่าน แต่บัดนี้ ท่านยังรับไว้ไม่ได้ เมื่อพระจิตแห่งความจริงเสด็จมา พระองค์จะทรงนำท่านไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:12-13) แต่นี่ไม่ใช่คำสั่งสอนใหม่ แต่เป็นเพียงการสั่งสอนที่ต่อเนื่องจากคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้า “พระองค์จะไม่ตรัสโดยพระองค์เอง แต่จะตรัสทุกสิ่งที่ทรงได้ฟังมา ... พระองค์จะทรงให้เราได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ เพราะพระองค์จะทรงแจ้งให้ท่านรู้คำสอนที่ทรงได้รับจากเรา” (16:13-14) พระเยซูเจ้าทรงบอกเพียง “สิ่งเหล่านี้” แต่พระจิตเจ้าจะทรงสอนทุกสิ่งทุกอย่าง “เราบอกสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน แต่พระผู้ช่วยเหลือ คือพระจิตเจ้าที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้น จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง” (14:26) แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่ เพราะพระจิตเจ้า “จะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน” (14:26)
จ. พระจิตเจ้าจะทรงย้ำ และขยายความสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเคยสอน พระองค์ “จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน” (14:26) เมื่อพระคริสตเจ้าทรงได้รับการยกขึ้น ความจริงอันเป็นแก่นแท้ก็ถูกเผยแก่เรา และสิ่งที่ต้องทำในเวลานี้คือการย้ำ และขยายความ และนำความจริงนี้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ในยุคของเรา และพระจิตเจ้าทรงค้ำประกันความถูกต้องของการประยุกต์ใช้เช่นนี้ พระคัมภีร์เป็นพระวาจาของพระเจ้า และของพระคริสตเจ้า เป็นขุมทรัพย์สูงค่าอย่างไร้ขอบเขต และเราจะไม่มีวันอธิบาย และนำไปใช้ในชีวิตได้หมด
ฉ. พระจิตเจ้าจะทรงดูแลให้ขุมทรัพย์แห่งการเผยแสดงนี้ได้รับการพิทักษ์รักษา และรักษาไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลงในแก่นสาร ความคิดนอกรีตเกิดขึ้นได้สองทาง ทางหนึ่งคือพวกนอกรีตเสนอความคิดผิด ๆ อีกทางหนึ่งคือพวกเขาตัดความจริงที่เป็นแก่นสาร พวกเขาทำผิดด้วยการตัดทอนความจริง
ช. พระจิตเจ้าจะทรงเป็นผู้ช่วยเหลือเราในการรับมือกับโลก เมื่อเราเป็นผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า เราต้องกล้าที่จะทำตัวให้แตกต่างจากโลก และความแตกต่างนี้ทำให้โลกเกลียดชังเรา โลกต้องการให้ทุกคนเหมือนกันหมด
(1) เมื่อเผชิญหน้ากับการเบียดเบียนเช่นนี้ พระจิตเจ้าจะทรงช่วยเราให้เป็นพยานให้พระคริสตเจ้า “เมื่อพระผู้ช่วยเหลือ ซึ่งเราจะส่งมาจากพระบิดา จะเสด็จมา ... พระองค์จะทรงเป็นพยานให้เรา ท่านทั้งหลายก็จะเป็นพยานให้เราด้วย เพราะท่านอยู่กับเรามาตั้งแต่แรกแล้ว” (15:27) พระคริสตเจ้าตรัสเช่นนี้เกี่ยวกับความเกลียดชังของโลก
(2) พระจิตเจ้าจะทรงเปิดเผยแก่ทุกคนที่ไม่เชื่อ ว่าความไม่เชื่อของเขาคือบาป พระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระองค์จะทรงแสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป ... บาปของโลกคือเขาไม่ได้เชื่อในเรา” (16:9) ผู้ที่ไม่เชื่อเรียกความไม่เชื่อของตนด้วยชื่อที่ไพเราะ พระจิตเจ้าจะทรงฉีกหน้ากากของบาปดังกล่าวว่าเป็นความไม่เชื่อ
(3) พระจิตเจ้าจะทรงตัดสินลงโทษโลกที่ได้ประหารองค์พระผู้เป็นเจ้า และยังกำลังประหารพระองค์ตราบจนทุกวันนี้ในตัวผู้มีความเชื่อหลาย ๆ คน เมื่อนั้น คนเหล่านั้นจะไม่อาจปฏิเสธความจริงได้อีกต่อไป พวกเขาได้พยายามประหารพระคริสตเจ้า แต่ในความเป็นจริง พระคริสตเจ้าได้เสด็จไปเฝ้าพระบิดา พวกเขาได้พยายามกำจัดศิษย์จำนวนมากของพระเยซูเจ้า แต่ในความเป็นจริง เขาทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นมรณสักขี ในความเป็นจริง “ซาตาน เจ้านายแห่งโลกนี้ ถูกตัดสินลงโทษแล้ว” (16:11)
บทรำพึงที่ 4
ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์...
พระวรสารของนักบุญยอห์นบอกเราว่าอัครสาวกได้รับพระจิตเจ้าตั้งแต่ตอนค่ำของวันปัสกานั้นเอง ทันทีหลังจากการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ... และพระศาสนจักรก็กำเนิดขึ้นจากลมหายใจของพระเยซูเจ้า
ถ้าเราเปรียบเทียบคำบอกเล่านี้กับคำบอกเล่าของนักบุญลูกาในหนังสือกิจการอัครสาวก ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าจะสำคัญมากกว่าพระจิตเจ้า เรารู้ว่าเราต้องค้นหาความคิดเชิงเทววิทยาอันลึกซึ้งจากพระวรสารของยอห์น ซึ่งบอกเล่าโดยใช้ภาษาสัญลักษณ์
“วันต้นสัปดาห์” เป็นวันแรกของโลกใหม่ วันแห่งการสร้างสรรค์ครั้งใหม่ นี่คือปฐมกาลครั้งใหม่ พระเจ้าทรงจับมนุษย์ไว้ในพระหัตถ์อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงปั้นมนุษย์อีกครั้งหนึ่งด้วย “ดินเหนียว” แบบใหม่
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา คริสตชนมาชุมนุมกันไม่ได้ขาดใน “วันต้นสัปดาห์” ... แม้แต่ในวันนี้ พระศาสนจักรก็เกิดใหม่จากการชุมนุมกันเป็นระยะนี้...
ก่อนที่คริสตชนคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้ เขาต้องผ่านวันอาทิตย์หลายครั้ง ตามจังหวะของ “การเสด็จมา” ของพระเยซูเจ้า ... บัดนี้ เราไม่ได้ถูกบังคับอย่างเข้มงวดอีกต่อไปให้ต้องไปฟังมิสซาวันอาทิตย์ แต่การฟังมิสซาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเหมือนกับที่เราจำเป็นต้องหายใจ และการสูดอากาศใหม่ ๆ จำเป็นสำหรับชีวิตเรา และเราต้องทำเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงปีละครั้ง...
ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่ เพราะกลัวชาวยิว...
ความกลัว ... โลกของเราตั้งอยู่บนความกลัวเสมอ...
การยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ทำให้จิตใจมนุษย์เต็มไปด้วยความกลัว ...
ก่อนข้าพเจ้าจะรำพึงต่อไป ข้าพเจ้าต้องมองหาว่าความกลัวในชีวิตของข้าพเจ้าคืออะไร ... เพราะสถานที่ของ “การกลับคืนชีพในวันปัสกา” ก็คือสถานที่ซึ่งบรรดาศิษย์ขังตนเองอยู่ภายใน ... สถานที่แห่งความกลัวของเขา...
และพระจิตของพระเจ้าอาจปรากฏพระองค์ในชีวิตของข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าค้นหาในใจได้ว่าที่ใดมีความอ่อนแอ ความเสี่ยง และความเจ็บปวดอยู่บ้าง...
มีสถานการณ์ใดบ้างที่ข้าพเจ้า “ขังตนเอง” ... สถานการณ์ใด บาปใด ความกังวลใด ที่กักขังข้าพเจ้าอยู่...
นักบุญเปาโลตระหนักในความเป็นจริงข้อนี้ และเปรียบเทียบกับความตายว่า “ดังนั้น ความตายกำลังทำงานอยู่ในเรา ... เราไม่ท้อถอย แม้ว่าร่างกายภายนอกของเรากำลังเสื่อมสลายไป จิตใจของเราที่อยู่ภายในก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในแต่ละวัน ความทุกข์ยากลำบากเล็กน้อยของเราในปัจจุบันนี้กำลังเตรียมเราให้ได้รับสิริรุ่งโรจน์นิรันดรอันยิ่งใหญ่หาที่เปรียบมิได้” (2 คร 4:12, 16-17)
พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง
ยอห์นมีจุดประสงค์ที่เขาเชื่อมโยงเหตุการณ์กลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเข้ากับการประทานพระจิตเจ้า ในบทแสดงความเชื่อ เราประกาศยืนยันว่าพระจิตทรงเป็น “พระเจ้าผู้ประทานชีวิต” บุคคลแรกที่ได้รับพระพรแห่งชีวิตคือพระเยซูเจ้า การช่วงชิงพระเยซูเจ้าจากอำนาจของความตายเป็นผลงานชิ้นเอกของพระจิตของพระเจ้า
ในตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งสร้าง – ไม่ใช่พระเจ้า และมีข้อจำกัด – “จิต” และ “กาย” ของเราถูกผูกพันไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ว่าจะมีอำนาจมากเพียงใด จิตในตัวเราก็ต้องผ่านความล้มเหลวขั้นสูงสุด ซึ่งทำให้จิตไม่สามารถยึดติดกับกายได้ ดังนั้น การเป็นมนุษย์จึงหมายถึงสภาพที่รู้จักตายด้วย ... แต่เมื่อพระคริสตเจ้าทรงเผชิญหน้ากับโลกที่ถูกสร้างขึ้น –ดังนั้นจึงเป็นโลกที่รู้จักตาย - พระองค์ไม่ได้มีแต่ทรัพยากรอันจำกัดของจิตมนุษย์เท่านั้น แต่ทรงมีทรัพยากรอันไร้ขีดจำกัด ซึ่งเป็นทรัพยากรของพระเจ้าเพียงผู้เดียวอีกด้วย ในพระคริสตเจ้ามีพระจิต ซึ่งต่างจากจิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง เพราะจิตมนุษย์ยอมปล่อยให้ตนเองพ่ายแพ้ความตาย แต่พระจิตของพระองค์ คือพระจิตเจ้า ผู้ทรงเป็น “พระเจ้า ผู้ประทานชีวิต” ...
พระเยซูเจ้าทรงทำลายทุกสิ่งที่ขวางกั้น การแสดงพระองค์ในทันทีทันใดท่ามกลางศิษย์ที่ขังตนเองอยู่ภายในห้อง อันเป็นเครื่องหมายว่าไม่มีอุปสรรคใดขัดขวางไม่ให้พระองค์มายืนอยู่ท่ามกลางศิษย์ของพระองค์ ... เมื่อเช้าวันเดียวกันนั้น พระองค์ทรงได้รับ “ลมหายใจที่ให้ชีวิต” ซึ่งทำให้พระองค์ทรงเป็น “ร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (1 คร 15:44) พระเจ้าทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้า “กลับคืนพระชนมชีพ ... ทรงได้รับการเทิดทูนให้ประทับเบื้องขวาของพระเจ้า พระองค์ทรงได้รับพระจิตเจ้าจากพระบิดาตามพระสัญญา” (กจ 2:33) พระเยซูเจ้าทรงประทานพระจิตเจ้าแต่มิตรสหายของพระองค์ทันที...
การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเป็นผลงานของพระจิตเจ้าอย่างแท้จริง
พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์ และด้านข้างพระวรกาย
ท่านกำลังมองหาสถานที่แห่งการกลับคืนชีพในวันปัสกาอยู่หรือ ท่านรู้สึกว่ายากที่จะมองเห็นการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าหรือ
ลองค้นหาในวันนี้เถิด ว่าที่ใดมีแผลเป็น หรือบาดแผล – ในหัวใจของท่าน ในชีวิตของท่าน รวมทั้งในชีวิตของโลก หรือในพระศาสนจักร
“สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ... เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าก็มีความยินดี
ความกลัวกลายเป็นความยินดี – ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาได้รับสันติสุข...
“พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
พวกเขาเคย “ขังตัวอยู่ภายใน” ... บัดนี้ เขา “ถูกส่งไป”
การส่งไปปฏิบัติพันธกิจนี้ไม่ได้มองจากมุมขององค์กร แต่เป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่วางแผนมาเป็นอย่างดี และพระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงคิดถึงเครื่องมือใด ๆ ที่พระศาสนจักรจำเป็นต้องใช้เพื่อเป็น “ธรรมทูต” สิ่งเดียวที่สำคัญสำหรับพระองค์คือจุดเริ่มต้นของพันธกิจนี้ เพราะนี่คือ “ความผูกพันอันใกล้ชิดที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาของพระองค์” ท้ายที่สุดแล้วย่อมมีพันธกิจเพียงหนึ่งเดียว คือพันธกิจของพระบิดา ซึ่งเป็นพันธกิจของพระเยซูเจ้า และกลายเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร...
ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ...
ยอห์น ใช้ศัพท์พระคัมภีร์ ซึ่งกระตุ้นให้คิดถึงสองข้อความโดยเฉพาะ
- การเนรมิตสร้างครั้งแรก “พระเจ้าทรงเป่าลมแห่งชีวิตเข้าในจมูกของเขา” (ปฐก 2:7)
- การเนรมิตสร้างครั้งสุดท้าย “ทรงเป่าลมเหนือผู้ที่ถูกประหารเหล่านี้ เพื่อให้เขามีชีวิต” (อสค 37:9)
มีการเนรมิตสร้าง “ในอดีต” คือ การเกิดครั้งแรกของชีวิต ณ จุดเริ่มต้นของกาลเวลา ... และจะมีการเนรมิตสร้างในอนาคต คือ การกลับคืนชีพครั้งสุดท้ายในวันสุดท้าย ... แต่ก็มีการเนรมิตสร้างที่เกิดขึ้นจริงตลอดเวลาด้วย นั่นคือ “ลมหายใจ” ของพระเจ้ากำลังทำงานอยู่จริง ๆ
ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า ผู้ทรงเป็นพระเจ้าผู้ประทานชีวิต ...
“ลมแห่งชีวิต” ท่านคิดว่าเป็นความฉลาดปราดเปรื่องหรือไม่ ที่พระคัมภีร์บรรยายการประทับอยู่ และการทำงานของพระเจ้าในโลก ด้วยสิ่งที่ธรรมดาที่สุดและจำเป็นที่สุด คือ ลมหายใจ ... สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตั้งแต่จุลินทรีย์ไปจนถึงสัตว์ป่า ล้วนหายใจก๊าซออกซิเจนที่มีไว้เพื่อทุกชีวิตบนดาวเคราะห์ของเรา – และข้าพเจ้าเองก็หายใจเหมือนสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ... เป็นภาพเหมือนของพระเจ้าหนึ่งเดียว ผู้ทรงทำให้เราทุกคนมีชีวิต ... พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพลักษณ์ของ “ลม” เพื่ออธิบายให้ นิโคเดมัส เข้าใจว่า “ลมย่อมพัดไปในที่ลมต้องการ” และให้ชีวิต (ยน 3:6-8)
- จงรับ ...
ข้าพเจ้าใช้คำนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาของข้าพเจ้า
มนุษย์ยุคใหม่ไม่ชอบ “การรับ” คนยุคปัจจุบันไม่ยอมพึ่งพาอาศัยกัน นี่คือบาป เป็นการเสแสร้งว่าตนเอง “เหมือนพระเจ้า” ... แต่อำนาจนี้ไม่ใช่อำนาจที่มนุษย์จะมีได้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น - และต้องพึ่งพาอาศัยโดยสิ้นเชิงด้วยซ้ำไป - เพื่อจะมีชีวิต เราต้องได้รับชีวิต...
ข้าพเจ้าได้รับชีวิตจากบิดามารดา ... ข้าพเจ้าได้รับชีวิตจากอากาศที่ข้าพเจ้าหายใจเข้าไป ... ข้าพเจ้าได้รับชีวิตจากดวงอาทิตย์ซึ่งให้อาหารแก่ข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งต่าง ๆ นับพัน คนนับพัน และสถานการณ์มากมายนับไม่ถ้วน ...
“จงรับไปกิน นี่คือกายของเรา” – แต่เราต้อง “รับ” กายนี้
“จงรับพระจิตเจ้าเถิด” – เราต้อง “รับ” พระจิตเจ้านี้...
พระเจ้าข้า โปรดประทานพระหรรษทานแก่เรา ให้เรายินดี และยอมรับพระพรที่พระองค์ประทานแก่เรา ...
... พระจิตเจ้าเถิด ...
มนุษยชาติต้องยอมรับชุมชนแห่งพระจิตเจ้า (Community of Spirit) ซึ่งดำรงอยู่ระหว่างพระบิดาและพระบุตร พระเจ้ามีหลายพระบุคคล แต่ทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว...
เราค้นพบว่า ในพันธกิจของพระศาสนจักร ไม่ได้มีแต่พระบิดา และพระบุตรที่พระองค์ทรงส่งมา แต่มีธรรมล้ำลึกของสามพระบุคคล...
สังคายนาวาติกันครั้งที่สอง กล่าวว่า พระศาสนจักรคือการมอบความรัก ที่ผูกพันสามพระบุคคลไว้ด้วยกัน ให้แก่มนุษย์…
ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย
บทบาท และพันธกิจของพระศาสนจักร คือ การประกาศเรื่องการให้อภัยบาป และความรอดพ้น ! การพัฒนาความคิดของนักบุญยอห์นในพระคัมภีร์หน้านี้สะดุดใจมาก
- ชุมชนมนุษย์ รับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกลับคืนชีพ...
- ประสบการณ์นี้บังเกิดผล คือ ชุมชนนี้ถูกส่งไปปฏิบัติพันธกิจ...
- พันธกิจนี้เป็นความจริงได้ด้วยการประทานพระจิตเจ้า...
- พันธกิจนี้คือการส่งต่อความรอดพ้น การให้อภัย ความศักดิ์สิทธิ์...
ดังนั้น ภารกิจของพระศาสนจักรจึงเป็น “การปลดปล่อย” เป็นการเสนอความรักอันไร้ขอบเขตของพระเจ้าให้แก่มนุษย์...
ข้อความในเชิงลบ (การไม่อภัยบาปของผู้ใด) ไม่ได้หมายความว่าพระศาสนจักรสามารถใช้อำนาจตัดสินอย่างเผด็จการ
คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า “พระเจ้าจะให้อภัยฉันหรือไม่” – ไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าได้ตอบคำถามข้อนี้แล้ว...
แต่น่าเสียดายที่ยังมีคำถามอีกว่า “ฉันจะ ‘รับ’ การอภัยนี้หรือเปล่า”...