วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์
ลูกา 24:46-53
พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน และจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป โดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้ บัดนี้ เรากำลังจะส่งพระผู้ที่พระบิดาทรงสัญญาไว้มาเหนือท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้นท่านจงคอยอยู่ในกรุงจนกว่าท่านจะได้รับพระอานุภาพจากเบื้องบนปกคลุมไว้”
พระองค์ทรงนำบรรดาศิษย์ออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นอวยพระพร และขณะที่ทรงอวยพระพรนั้น พระองค์ทรงแยกไปจากเขา และทรงถูกนำขึ้นสู่สวรรค์ บรรดาศิษย์กราบนมัสการพระองค์ แล้วกลับไปกรุงเยรูซาเล็มด้วยความยินดียิ่ง เขาอยู่ในพระวิหารตลอดเวลา ถวายพระพรแด่พระเจ้า
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
การนมัสการ ความยินดี และการถวายพระพร
ผู้นิพนธ์พระวรสารสหทรรศน์บอกเล่าเรื่องราวการเสด็จขึ้นสวรรค์แตกต่างกันเล็กน้อยตามมุมมองของตนเอง มัทธิว เน้นคำสัญญาของพระเยซูเจ้า ว่าพระองค์จะประทับอยู่กับบรรดาศิษย์ตราบจนสิ้นพิภพ สมกับพระนามว่า เอมมานูเอล หรือพระเจ้าสถิตกับเรา ซึ่งเป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ประกาศแก่โยเซฟเรื่องการปฏิสนธิของพระเยซูเจ้าในหน้าแรกของพระวรสารของมัทธิว ส่วนมาระโกเน้นชัยชนะของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ เมื่อเขาบอกว่าพระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้า ในขณะที่บรรดาศิษย์แยกย้ายกันออกไปเทศนาสั่งสอนภายใต้อำนาจของพระองค์ ลูกากล่าวถึงการจากไปของประกาศกเอลียาห์ ผู้ถูกนำตัวขึ้นสู่สวรรค์บนรถม้าเพลิง แต่จิตของเขาลงมาอยู่กับเอลีชา ผู้เป็นศิษย์ของเขา (เทียบ 2 พกษ 2) เขาบรรยายว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกนำขึ้นสวรรค์ และบรรดาศิษย์นมัสการพระองค์ และพระองค์จะทรงส่งผู้ที่พระบิดาทรงสัญญาไว้มาให้พวกเขา
คงไม่มีประโยชน์ที่จะนำรายละเอียดในคำบอกเล่าแต่ละฉบับมาปะติดปะต่อให้เป็นเรื่องเดียวกัน แม้แต่คำบรรยายในพระวรสาร และในหนังสือกิจการอัครสาวก ซึ่งเขียนโดยผู้นิพนธ์คนเดียวกัน คือ ลูกา ก็ยังแตกต่างกัน ผู้ที่พยายามวาดภาพเหตุการณ์คงประสบปัญหาในการชี้ชัดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันใดและในสถานที่ใด ในหนังสือกิจการอัครสาวก ลูกา บอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 40 วันภายหลังวันปัสกา แต่ในพระวรสารดูเหมือนว่าเกิดขึ้นในวันปัสกา พระวรสารของลูกา บอกว่าพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์จากสถานที่แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านเบธานี แต่ในกิจการอัครสาวก เขาบอกว่าเป็นที่ภูเขามะกอกเทศ ในขณะที่มัทธิวบอกว่าเกิดขึ้นบนภูเขาแห่งหนึ่งในแคว้นกาลิลีอันห่างไกล รายละเอียดที่ต่างกันนี้เป็นเพียงเปลือกหุ้มรอบเหตุการณ์อันเร้นลับนี้ สาระของเรื่องราวที่ต่างกันนี้คือความจริงทางเทววิทยา ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารทุกคนมีความเห็นตรงกัน ความจริงข้อแรกที่เราฉลองกันในวันนี้ คือพระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปหาพระบิดาในสวรรค์ ยอห์นเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ (glorification)
เหตุผลข้อที่สองที่เราเฉลิมฉลองกันก็คือ คำสัญญาว่าบรรดาศิษย์จะได้รับพระอานุภาพจากเบื้องบน เพื่อให้สามารถเป็นพยานยืนยันถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก เหตุผลข้อที่สามของการเฉลิมฉลองคือความหวังสุดท้ายของเรา กล่าวคือ เราสามารถรอคอยการเสด็จกลับมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า “พระเยซูเจ้าพระองค์นี้ ที่เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ จะเสด็จกลับมาเช่นเดียวกับที่ท่านทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงจากไปสู่สวรรค์” (กจ 1:11) ลูกาชี้ให้เห็นปฏิกิริยาของศิษย์ทั้งหลาย เขากราบนมัสการพระเยซูเจ้า เขากลับไปกรุงเยรูซาเล็มด้วยความยินดียิ่ง และเขาอยู่ในพระวิหารตลอดเวลา ถวายพระพรแด่พระเจ้า สิ่งที่ยอห์นเรียกว่าความเชื่อ ลูกาบรรยายว่าเป็นการนมัสการ ความยินดี และการถวายพระพร ถ้าตลอดปีพิธีกรรม เรารับฟังคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า รู้สึกพิศวงกับเครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำ เดินทางผ่านวันแห่งการทดลองในเทศกาลมหาพรต และร่วมรับความเจ็บปวดกับพระทรมาน ก็เหมาะสมแล้วที่วันนี้เราจะเฉลิมฉลองชัยชนะของพระเยซูเจ้าด้วยการนมัสการ ความยินดี และสันติสุข เราก้มกราบนมัสการพระองค์เพราะเรายอมรับว่าพระองค์ทรงได้รับการยกขึ้นสู่พระสิริรุ่งโรจน์ เราชื่นชมยินดีเมื่อคิดว่าพระองค์ทรงเปลี่ยนความตายให้กลายเป็นรุ่งอรุณแห่งชีวิตใหม่ และพระเจ้าทรงได้รับการถวายพระพรทุกวันเมื่อเราประกาศเรื่องพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
ข้อรำพึงที่สอง
เปโตร ระลึกถึงเหตุการณ์
นับตั้งแต่เช้าวันที่เราจับปลาได้หนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว ข้าพเจ้าแทบจะจำตนเองไม่ได้ ข้าพเจ้ามีสันติสุขและความเข้มแข็งภายในอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อนบางคนกังวลกับสภาพของข้าพเจ้า บางครั้ง ข้าพเจ้าเห็นเขาจับตามองข้าพเจ้า และสงสัยว่าข้าพเจ้าจะตะโกนสั่งอะไร หรือระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อใด แต่ใจของข้าพเจ้าสงบ และกำลังรอคอย
ความฝันอันยิ่งใหญ่กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ปลาหนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว ... ข้าพเจ้ารอคำสั่งจากพระองค์ว่าควรเหวี่ยงแหไปที่ใดอีก พระองค์ฝากฝังให้ข้าพเจ้าเลี้ยงดูลูกแกะของพระองค์ เลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์ ข้าพเจ้านี่หรือจะเป็นผู้เลี้ยงแกะ พระองค์ช่างรวยอารมณ์ขันจริงๆ ข้าพเจ้าไม่โกรธอีกต่อไปที่พระองค์จากเราไป ฝันร้ายเรื่องคูหาฝังศพ และกองไฟที่มีถ่านลุกแดง ไม่ตามมาหลอกหลอนข้าพเจ้าอีกแล้ว ข้าพเจ้าต้องปล่อยวางความรู้สึกผิดและความละอายใจของข้าพเจ้า สันติสุขที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเบาสบายเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพยายามอธิบายความรู้สึกนี้ให้คนอื่นฟัง และพยายามบอกพวกเขาว่าพระองค์จำเป็นต้องตายและต้องจากเราไป แน่นอน ยอห์นเข้าใจเรื่องทั้งหมดก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้าใจ โทมัสก็เข้าใจในแบบของเขา แต่เพื่อนบางคนยังปะติดปะต่อเรื่องราวได้ช้าเหลือเกิน น่าแปลกที่ข้าพเจ้าเป็นคนที่อธิบายความหมายแก่คนเหล่านี้อย่างอดทน เราต้องเป็นพยานจนถึงสุดปลายแผ่นดิน
ถ้าเป็นซีโมนคนใจร้อนคนเดิม ข้าพเจ้าคงกระโดดลงเรือลำแรกและเดินทางไปที่ใดก็ได้ทันที แต่จะไปได้ไกลสักเท่าไรกัน แต่นี่คือชีวิตใหม่ในฐานะเปโตร ข้าพเจ้ารอคอยและอธิษฐานภาวนา เราเคยขอให้พระองค์สอนเราอธิษฐานภาวนาก่อนหน้านี้ บัดนี้ มันกำลังเกิดขึ้นจริง เรากำลังสวดภาวนา ถ้าใครต้องการข้อพิสูจน์เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ นี่คือหลักฐาน ... เปโตร กำลังรอคอยอย่างอดทน ... และสวดภาวนา ชีวิตใหม่นี้เป็นความจริง
ความทรงจำสองเรื่องช่วยให้พวกเรารวมตัวกันอยู่ได้ มีใครบางคนเอ่ยชื่อเอลียาห์ พวกเราช่วยกันทบทวนเรื่องของเอลียาห์ ที่ถูกยกขึ้นสวรรค์ในรถม้าเพลิง แต่จิตพยากรณ์ของเขาลงมาอยู่กับเอลีชา ศิษย์ของเขา เรื่องนั้นช่วยเราให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ทำให้เรามีความหวัง และความหวังทำให้เราอดทนได้
นอกจากนี้ เรายังมีแม่มารีย์อยู่กับเรา ท่านมาพร้อมกับยอห์น แต่ข้าพเจ้าคิดว่าถึงอย่างไรท่านก็ต้องมาหาเรา เพราะบัดนี้ เรารู้สึกว่าท่านเป็นแม่ของเราทุกคน ไม่จำเป็นต้องมีใครเอ่ยถึงหมู่บ้านคานา แต่เหตุการณ์ในงานแต่งงานที่นั่นผุดขึ้นมาในใจของเราเสมอทุกครั้งที่แม่มารีย์อยู่ใกล้พวกเรา ท่านเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้นเมื่อน้ำถูกเปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่น การมีท่านอยู่กับเราเตือนใจเราว่าเหตุการณ์อย่างนั้นสามารถเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้...สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ ท่านพูดเสมอว่า “สำหรับพระเจ้า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้”
ดังนั้น เราจึงรอคอย ... และอธิษฐานภาวนาตลอดเวลาเก้าวันต่อมา ข้าพเจ้าได้สัมผัสกับความสงบเหมือนทารกในครรภ์ของมารดาที่รักข้าพเจ้า
บทรำพึงที่ 2
บทอ่านที่หนึ่ง : กิจการอัครสาวก 1:1-11
เธโอฟีลัสที่รัก ในหนังสือเล่มแรก ข้าพเจ้าเล่าถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำและทรงสั่งสอน เริ่มตั้งแต่ต้น จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงได้รับการยกขึ้นสวรรค์ หลังจากที่ทรงแนะนำสั่งสอนบรรดาอัครสาวกที่ทรงเลือกสรรโดยทางพระจิตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกเหล่านั้น และทรงพิสูจน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ว่าหลังจากทรงรับทุกข์ทรมานแล้ว พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ตลอดเวลาสี่สิบวันที่พระองค์ทรงแสดงพระองค์แก่เขาทั้งหลาย ทรงกล่าวถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า ขณะที่ทรงร่วมโต๊ะกับเขา พระองค์ทรงกำชับว่า “อย่าออกจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่จงคอยรับพระพรที่พระบิดาทรงสัญญาไว้ ดังที่ท่านได้ยินจากเรา ยอห์นทำพิธีล้างด้วยน้ำ แต่ภายในไม่กี่วัน ท่านจะได้รับพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า”
ผู้ที่มาชุมนุมกับพระเยซูเจ้าทูลถามพระองค์ว่า พระเจ้าข้า พระองค์จะทรงสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลอีกครั้งหนึ่งในเวลานี้หรือ พระองค์ตรัสตอบว่า “ไม่ใช่ธุระของท่านที่จะรู้วันเวลาที่พระบิดาทรงกำหนดไว้โดยอำนาจของพระองค์ แต่พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน และท่านจะรับอานุภาพเพื่อจะเป็นพยานถึงเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย จนถึงสุดปลายแผ่นดิน”
เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ต่อหน้าเขาทั้งหลาย เมฆบังพระองค์จากสายตาของเขา เขายังคงจ้องมองท้องฟ้าขณะที่พระองค์ทรงจากไป ทันใดนั้น มีชายสองคนสวมเสื้อขาวปรากฏกับเขา กล่าวว่า “ชาวกาลิลีเอ๋ย ท่านทั้งหลายยืนแหงนมองท้องฟ้าอยู่ทำไม พระเยซูเจ้าพระองค์นี้ที่เสด็จสู่สวรรค์จะเสด็จกลับมาเช่นเดียวกับที่ท่านทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงจากไปสู่สวรรค์”
คำอธิบาย : นักบุญลูกา เริ่มต้นหนังสือเล่มที่สองของเขา ซึ่งเรียกว่าหนังสือกิจการอัครสาวก ด้วยการบรรยายสั้น ๆ ถึงเหตุการณ์การเสด็จขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า หลังจากทรงสั่งสอนพวกเขาเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เขาระบุสถานที่ของเหตุการณ์ว่าเป็นภูเขามะกอกเทศ ทั้งในหนังสือนี้ และในพระวรสารของเขา (24:50) ในกิจการอัครสาวก ดูเหมือนลูกาจะบอกเป็นนัยว่าพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์หลังจากที่ทรงกลับคืนชีพได้ 40 วัน แต่ข้อเขียนอื่น ๆ ในพันธสัญญาใหม่ทำให้สันนิษฐานว่าการเสด็จขึ้นสวรรค์เกิดขึ้นทันทีหลังจากการกลับคืนชีพ ซึ่งดูเหมือนว่าสมเหตุสมผล และเป็นความเชื่อของพระศาสนจักรระหว่างสามศตวรรษแรก พระศาสนจักรเฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นสวรรค์ร่วมกับการกลับคืนชีพ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 4 จึงเริ่มมีการฉลองการเสด็จขึ้นสวรรค์เป็นพิเศษภายหลังปัสกา 40 วัน (ตามวันที่ลูกาบอก)
การเสด็จขึ้นสวรรค์ในพระกายอันรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ไปประทับเบื้องขวาของพระบิดา เป็นทั้งข้อความเชื่อ และความจริงตามประวัติศาสตร์ และเวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นวันที่พระองค์กลับคืนชีพแล้ว ช่วงเวลา 40 วัน ที่ลูกากล่าวถึงน่าจะเป็นจำนวนถ้วน ๆ ที่ไม่ควรคิดว่าเป็นความจริงตรงตามตัวอักษร สำหรับระยะเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ในรูปกายของมนุษย์แก่ศิษย์ของพระองค์ การแสดงพระองค์เหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้งภายในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ (ดู ยน 20:19, 26; 21:1)
ในหนังสือเล่มแรก ข้าพเจ้าเล่าถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ...จนถึงวันที่ - ในพระวรสารของลูกา เขาบรรยายเหตุการณ์กลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า การแสดงพระองค์แก่ศิษย์สองคนตามทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอูส การแสดงพระองค์แก่ซีโมน (เปโตร) การแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบเอ็ดคน และศิษย์บางคน (ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่พระองค์ทรงกลับคืนชีพ) และท้ายที่สุด การเสด็จขึ้นสวรรค์จากสถานที่หนึ่งใกล้หมู่บ้านเบธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขามะกอกเทศ
พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวก – พระคริสตเจ้าทรงพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงกลับคืนชีพแล้ว ”พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่” โดยทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกหลายครั้งตลอดช่วงเวลาหนึ่ง (ดูคำอธิบายข้างต้นเกี่ยวกับระยะเวลา 40 วัน)
ขณะที่ทรงร่วมโต๊ะกับเขา ทรงกำชับไม่ให้เขาออกจากกรุงเยรูซาเล็ม - ศิษย์ทั้งหลายต้องรออยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับพระจิตเจ้าที่พระองค์ทรงสัญญาว่าพระบิดาจะทรงส่งมาให้เขา เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว (ยน 14:26; 16:6)
ท่านจะได้รับพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า - ยอห์นทำพิธีล้างด้วยน้ำ ซึ่งเป็นเครื่องหมายภายนอกของการเปลี่ยนแปลงจิตใจที่เกิดขึ้นภายใน แต่การเสด็จมาของพระจิตเจ้าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงทั้งในความคิด และจิตใจของอัครสาวก
สถาปนาอาณาจักรอิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง - อัครสาวกยังคาดหวังว่าพระองค์จะทรงสถาปนาอาณาจักรพระเมสสิยาห์ให้ชาวอิสราเอล หรืออาจเป็นอาณาจักรที่ปกครองแบบเทวาธิปไตยบนแผ่นดินนี้ เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์
เป็นพยานถึงเรา...จนสุดปลายแผ่นดิน – คำตอบขององค์พระผู้เป็นเจ้าทำให้คิดว่าพระองค์ทรงเข้าใจว่าศิษย์ทั้งหลายกำลังถามถึงการเสด็จมาเป็นครั้งที่สองของพระองค์ ซึ่งเป็นความลับที่พระเจ้าไม่ทรงเปิดเผยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ส่วนที่สองของคำตอบ ซึ่งกล่าวถึงกิจกรรมแพร่ธรรมของอัครสาวกที่จะเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็มไปจนสุดปลายแผ่นดินนั้น บอกเป็นนัยว่า พระอาณาจักรของพระองค์ไม่ได้สถาปนาขึ้นเพื่อชาวอิสราเอลเท่านั้น และการเสด็จมาครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกล
พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ต่อหน้าเขาทั้งหลาย – แต่ละครั้งที่ทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวก พระองค์ทรงหายไปทุกครั้ง บางทีอาจเป็นเพราะลูกากำลังบรรยายถึงการแสดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย เขาจึงบรรยายว่าพระองค์เสด็จขึ้นเบื้องบน เพราะเป็นความเชื่อว่าสวรรค์ ซึ่งเป็นที่พำนักของพระเจ้านั้น อยู่เหนือท้องฟ้า
ท่านยืนแหงนมองท้องฟ้าอยู่ทำไม – ข้อความนี้อาจเป็นการตำหนิคริสตชนทั้งหลายในยุคที่ลูกาเขียนหนังสือเล่มนี้ ที่ได้แต่รอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้า อย่างเกียจคร้าน และไม่ยอมทำมาหากิน (ดู 2 ธส)
พระเยซูเจ้าที่เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ – พระอาจารย์ ผู้เป็นที่รักของพวกเขา จะเสด็จกลับมา (ในวันหนึ่งข้างหน้า) ในฐานะผู้พิพากษามนุษย์ทุกคน แต่ระหว่างนั้น พวกเขามีงานแพร่ธรรมที่เขาต้องอุทิศชีวิตให้
คำสั่งสอน – การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระคริสตเจ้าในพระกายอันรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นจุดสุดยอด เป็นเครื่องหมาย และตราประทับที่แสดงว่าพันธกิจเพื่อความรอดพ้นของมนุษย์บนโลกนี้ได้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า เป็นพระบุคคลองค์ที่สองในพระตรีเอกภาพ ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ทรงดำเนินชีวิต และสิ้นพระชนม์บนโลกนี้ เพื่อให้เรามนุษย์สามารถอยู่กับพระเจ้าในสวรรค์ตลอดนิรันดรได้ ด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์ทรงทำให้มนุษย์ผู้เป็นคนบาปได้คืนดีกับพระเจ้าผู้สร้างเขาขึ้นมา ความตายอย่างมนุษย์คนหนึ่งของพระองค์ทำให้เรามีสิทธิได้รับชีวิตพระเจ้า การกลับคืนชีพของพระองค์เป็นหลักประกันว่าเราก็จะกลับคืนชีพเช่นเดียวกัน และการเสด็จขึ้นสวรรค์ไปเฝ้าพระบิดาของพระองค์ ก็เป็นการเปิดทางให้เราเข้าสู่พระอาณาจักรนิรันดรของพระเจ้า
พระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเรา เพื่อนสนิทของเรา ผู้ทรงยอมทนรับความทุกข์ยาก ความอัปยศ และท้ายที่สุดทรงยอมรับความตายอันเจ็บปวดและน่าอับอายบนไม้กางเขนเพื่อเราขณะที่พระองค์อยู่บนโลกนี้ บัดนี้ พระองค์ประทับอยู่เบื้องขวาของพระบิดาในสวรรค์ พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นในฐานะผู้แทนของเรา และผู้เสนอวิงวอนเพื่อเรา พระองค์เสด็จไปสวรรค์เพื่อเตรียมที่ไว้ให้เรา พระองค์ทรงบอกอัครสาวกของพระองค์ (และทรงบอกเราทุกคนผ่านอัครสาวก) ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายว่า “ในบ้านพระบิดาของเรามีที่พำนักมากมาย ... เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน และเมื่อเราไป และเตรียมที่ให้ท่านแล้ว เราจะกลับมารับท่านไปอยู่กับเราด้วย เพื่อว่าเราอยู่ที่ใด ท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย” (ยน 14:2-3)
การฉลองพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์นี้สร้างความบรรเทาใจและความยินดีให้แก่ผู้มีความเชื่อแท้ มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาตามธรรมชาติ (และเป็นความปรารถนาเหนือธรรมชาติด้วย เพราะเรามีความปรารถนานี้ฝังอยู่ในตัวเราตั้งแต่การเนรมิตสร้างโลก) ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะความตายเป็นการปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารัก และที่เรามี แต่เรารู้ว่าความตายบนโลกนี้รอเราทุกคนอยู่ข้างหน้า ร่างกายมนุษย์เป็นร่างกายที่รู้จักตาย คงน่าเศร้าใจ และน่ากลัวสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ถ้าหลุมศพคือจุดจบอันเด็ดขาดของเรา
เราคริสตชนรู้ว่าหลุมศพไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น และการฉลองในวันนี้เป็นการเตือนใจเราให้ระลึกถึงความจริงที่บรรเทาใจนี้ เราทุกคนต้องจากโลกนี้ไปสักวันหนึ่งในไม่ช้า แต่สำหรับคริสตชนแท้ ความคิดเช่นนี้ควรเป็นเหตุให้เราชื่นชมยินดีมากกว่าเศร้าใจ เราออกจากหุบเขาแห่งน้ำตานี้เพื่อไปพักผ่อนตลอดนิรันดร พระคริสตเจ้าทรงช่วงชิงมรดกสวรรค์นี้มาให้เรา พระองค์ทรงสัญญาว่าพระองค์กำลังเตรียมที่ไว้ให้เราในบ้านของพระองค์ในสวรรค์ และพระองค์ทรงกำลังช่วยเหลือเราให้เดินทางไปที่นั่น เรามีอะไรให้กลัวความตายในชีวิตนี้หรือ ความตายในชีวิตนี้ไม่ใช่ทางเข้าประตูคุก แต่เป็นประตูเข้าสู่ความสุขนิรันดรของเรา
บทอ่านที่สอง : เอเฟซัส 1:17-23
ขอพระเจ้าแห่งพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระบิดาผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ ประทานพระพรแห่งปรีชาญาณและการเปิดเผยให้แก่ท่านเดชะพระจิตเจ้า เพื่อท่านจะได้รู้ซึ้งถึงพระองค์ดียิ่งขึ้น ขอพระองค์โปรดให้ตาแห่งใจของท่านสว่างขึ้น เพื่อจะรู้ว่าพระองค์ทรงเรียกท่านให้มีความหวังประการใด และความรุ่งเรืองที่บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จะได้รับเป็นมรดกนั้นบริบูรณ์เพียงไร อีกทั้งรู้ด้วยว่า พระอานุภาพยิ่งใหญ่ของพระองค์ในตัวเราผู้มีความเชื่อนั้นล้ำเลิศเพียงใด พระอานุภาพและพละกำลังนี้ พระองค์ทรงแสดงในองค์พระคริสตเจ้า เมื่อทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และให้ประทับเบื้องขวาของพระองค์ในสวรรค์ เหนือเทพนิกรเจ้า เทพนิกรอำนาจ เทพนิกรฤทธิ์ เทพนิกรนาย และเหนือนามทั้งปวงที่อาจเรียกขานได้ทั้งในภพนี้และในภพหน้า พระเจ้าทรงวางทุกสิ่งไว้ใต้พระบาทของพระคริสตเจ้า และทรงแต่งตั้งพระคริสตเจ้าไว้เหนือสรรพสิ่ง ให้ทรงเป็นศีรษะของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์ เป็นความบริบูรณ์ของพระผู้ทรงอยู่ในทุกสิ่ง และทรงกระทำให้ทุกสิ่งบริบูรณ์
คำอธิบาย – นักบุญเปาโล กำลังวิงวอนขอพระเจ้าให้ประทานพรแก่คริสตชนชาวเอเฟซัส ให้พวกเขาเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นในความเมตตาและความรักของพระเจ้าพระบิดา ผู้ทรงบันดาลให้คนเหล่านี้เป็นอวัยวะของพระกายของพระคริสตเจ้าในพระศาสนจักร และทรงเรียกเราให้มารับมรดกสวรรค์ พวกเขาได้เป็นอวัยวะของพระกายทิพย์ ซึ่งมีพระคริสตเจ้าเป็นศีรษะ พระบิดาทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย และให้ประทับในตำแหน่งสูงสุดในสวรรค์ พระศาสนจักรขยายตัวขึ้นทุกวันทั้งในด้านจำนวนสมาชิก และพระหรรษทาน จนกระทั่งทุกสิ่งจะครบบริบูรณ์ ดังความบริบูรณ์ของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงกระทำให้ทุกสิ่งดำเนินไปตามแผนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ให้โลกจักรวาล ด้วยการกลับคืนชีพ และเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์ (ดู 1:10)
พระเจ้าแห่งพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา – เปาโลกำลังอธิษฐานภาวนาต่อพระตรีเอกภาพ ต่อพระเจ้า พระบิดาของพระเยซูเจ้า ผู้ที่เขาเรียกว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” คือเป็นพระเจ้าเช่นเดียวกัน ให้พระองค์ประทานพระจิตแห่งปรีชาญาณให้แก่คริสตชนชาวเอเฟซัส
พระองค์ทรงเรียกท่านให้มีความหวัง – ความหมายแท้ของความเชื่อของคริสตศาสนา ซึ่งพวกเขาได้รับมา
ความรุ่งเรืองที่บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จะได้รับเป็นมรดก – ผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ได้รับเรียกให้เข้าร่วมรับความสุขนิรันดรของพระตรีเอกภาพ
พระอานุภาพของพระองค์ล้ำเลิศเพียงใด – สิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อคนทั้งหลายที่เชื่อในพระคริสตเจ้าคือทรงยกฐานะเขาขึ้นสู่สถานะเหนือธรรมชาติ ให้เขากลายเป็นบุตรของพระเจ้า พระอานุภาพของพระเจ้าเท่านั้นสามารถกระทำเช่นนี้ได้
พระองค์ทรงแสดงพระอานุภาพ และพละกำลังนี้ในองค์พระคริสตเจ้า – การกลับคืนชีพ และการยกพระคริสตเจ้าขึ้นพร้อมทั้งธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ เกิดขึ้นได้เพราะพระอานุภาพของพระเจ้า พระอานุภาพเดียวกันนี้จะยกคริสตชนขึ้น และประทานที่อันทรงเกียรติให้พวกเขาด้วยเช่นกัน
เหนือเทพนิกรเจ้า เทพนิกรอำนาจ เทพนิกรฤทธิ์ เทพนิกรนาย – พระคริสตเจ้าในธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ ทรงมีอำนาจสูงสุดรองจากพระเจ้าในสวรรค์ ทรงมีอำนาจเหนือสิ่งสร้างอื่น ๆ ทั้งปวง
ทรงวางทุกสิ่งไว้ใต้พระบาทของพระคริสตเจ้า – พระบิดาทรงมอบสิ่งสร้างทั้งปวงให้อยู่ภายใต้อำนาจของพระคริสตเจ้าไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงสิ่งสร้างอื่น ๆ ทั้งปวงที่เกิดใหม่พร้อมกับจักรวาลใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
คำสั่งสอน – นักบุญเปาโลเตือนชาวเอเฟซัสเมื่อสิบเก้าศตวรรษก่อน ให้เขาระลึกถึงความใจกว้าง และความดีของพระเจ้า ผู้ทรงเรียกเขามาเป็นคริสตชน และมีสิทธิได้เข้าร่วมในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า ซึ่งก็คือพระสิริรุ่งโรจน์นิรันดรของพระเจ้า ถ้อยคำของนักบุญเปาโลนี้เขียนถึงคริสตชนรุ่นแรก แต่ก็เขียนถึงเราเช่นกัน เพราะเตือนใจเราในยุคปัจจุบัน เหมือนกับที่เตือนใจคริสตชนเมื่อ ค.ศ. 61 เปาโลภาวนาให้พระเจ้าทรงส่องสว่างจิตใจของพวกเขา ให้เขาพยายามเข้าใจ และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเขาผ่านทางการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนชีพ และการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเรา
มีพวกเราคนใดบ้างที่พูดได้ว่าเรารู้ซึ้ง อย่างที่เราควรรู้ซึ้ง ถึงคุณค่าของสิ่งอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา เพราะพระคริสตเจ้าเสด็จมายังโลก เราจึงได้รับอำนาจที่จะไปสวรรค์ เราเป็นเพียงสิ่งสร้าง เราจึงไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิแม้แต่น้อยที่จะได้รับพระพรพิเศษเช่นนั้น เมื่อเราเป็นสิ่งสร้าง เราจึงมีธรรมชาติที่รู้จักตาย ความตายบนโลกนี้ควรเป็นจุดจบอันเด็ดขาดของเรา แต่เพราะพระเจ้าผู้ทรงความดี และใจกว้างอย่างปราศจากขอบเขตพระองค์นี้ ทรงต้องการยกฐานะของเราขึ้นเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ และทรงทำให้เราสามารถมีส่วนร่วมในชีวิต และความสุขนิรันดรของพระองค์ เกินกว่าที่ธรรมชาติที่มีข้อจำกัดของเราสามารถรับได้ พระองค์จึงทรงส่งพระบุตรของพระองค์ลงมายังโลกนี้เพื่อรับธรรมชาติมนุษย์เหมือนเรา
นี่คือธรรมล้ำลึกของการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ธรรมล้ำลึกของความรักของพระเจ้าต่อเรา ความรักที่เราไม่สมควรได้รับเลยแม้แต่น้อย ในวันนี้ เราระลึกถึงกิจการสุดท้ายแห่งความรักของพระเจ้า พระเจ้าพระบุตรทรงกลับไปหาพระบิดา โดยทรงนำธรรมชาติมนุษย์ของเราไปด้วย และเป็นหลักประกันสำหรับเราแต่ละคนว่า เมื่อเราออกจากโลกนี้ เราเองก็จะพบกับชีวิตแท้ ชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด ในบ้านของพระบิดา ร่วมกับพระคริสตเจ้า พี่ชายแท้ของเรา
วันนี้ จงยกสายตาของท่านมองไปที่สวรรค์เถิด ในที่นั้น พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในวันนี้ ห้อมล้อมด้วยเพื่อนมนุษย์นับล้าน ๆ คนของเรา แล้วจงบอกตัวท่านว่า ที่นั่นคือบ้านแท้ของฉัน ที่นั่น ฉันจะอยู่กับพระเจ้า อยู่กับเพื่อนมนุษย์ และอยู่กับตนเองในสันติสุข เพื่อนมนุษย์เป็นล้าน ๆ คนของฉันไปถึงที่นั่นแล้ว ฉันมีความอ่อนแอไม่ต่างจากที่พวกเขาเคยมี ฉันได้รับพละกำลังและความช่วยเหลือเหมือนกับที่พวกเขาเคยได้รับ ทำไมฉันจะไปที่นั่นบ้างไม่ได้ บุคคลเดียวที่สามารถยับยั้งฉันไม่ให้ไปถึงบ้านในสวรรค์ก็คือตัวฉันเอง ฉันจะโง่ถึงเพียงนั้นทีเดียวหรือ ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย!
พระวรสาร : ลูกา 24:46-53
พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน และจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป โดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้ บัดนี้ เรากำลังจะส่งพระผู้ที่พระบิดาทรงสัญญาไว้มาเหนือท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้นท่านจงคอยอยู่ในกรุงจนกว่าท่านจะได้รับพระอานุภาพจากเบื้องบนปกคลุมไว้”
พระองค์ทรงนำบรรดาศิษย์ออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นอวยพระพร และขณะที่ทรงอวยพระพรนั้น พระองค์ทรงแยกไปจากเขา และทรงถูกนำขึ้นสู่สวรรค์ บรรดาศิษย์กราบนมัสการพระองค์ แล้วกลับไปกรุงเยรูซาเล็มด้วยความยินดียิ่ง เขาอยู่ในพระวิหารตลอดเวลา ถวายพระพรแด่พระเจ้า
คำอธิบาย – นักบุญลูกาสรุปพระวรสารของเขาด้วยคำบรรยายการแสดงพระองค์สามครั้งของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ครั้งแรก ทรงแสดงพระองค์แก่ศิษย์สองคนระหว่างทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอูส (24:13-31) ครั้งที่สองแก่ซีโมนเปโตร (24:34) และครั้งที่สามแก่อัครสาวกและศิษย์บางคน (24:36-53) ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายตามคำบอกเล่าในพระวรสารของลูกา การแสดงพระองค์ทั้งสามครั้งดูเหมือนว่าเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ปัสกา แต่นักบุญยอห์น และนักบุญลูกาที่เขียนไว้ในกิจการอัครสาวก บอกไว้ชัดเจนว่าการแสดงพระองค์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ (เวลา 40 วันที่บอกไว้ในกิจการอัครสาวกเป็นจำนวนถ้วน ๆ) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้อความที่ขัดแย้งกัน เพราะนักบุญลูกาปิดท้ายพระวรสารของเขาด้วยการบอกเล่าอย่างรวบรัดเรื่องการแสดงพระองค์ของพระคริสตเจ้า ภายหลังการกลับคืนชีพ
พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน และจะกลับคืนพระชนมชีพ – “มีเขียนไว้” หมายถึงมีบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม เหตุการณ์เหล่านี้ได้ถูกทำนายไว้แล้ว มีคำทำนายเรื่องการทนทรมาน และชัยชนะ (การกลับคืนชีพ) อย่างชัดเจนในอิสยาห์ เกี่ยวกับผู้รับใช้ผู้ทนทรมาน (ดู อสย 53; ยนา 2:1; สดด 15:8; อสย 55:3 ซึ่งเปาโลยกมาอ้างในกิจการอัครสาวก 13:34)
ในวันที่สาม – ข้อความเดียวในพันธสัญญาเดิมที่อ้างถึงการกลับคืนชีพ คือ ยนา 2:1 แต่พระคริสตเจ้าเองทรงทำนายว่าพระองค์จะทรงกลับคืนชีพในวันที่สาม (ดู มก 8:31; 9:30; 10:34 และในพระวรสารฉบับอื่นที่กล่าวถึงคำทำนายนี้ - ดู ยน 2:19ประกอบด้วย)
ประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจ – พระศาสนจักรที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นโดยมีอัครสาวกเป็นฐานรากนี้ จะมีอาณาเขตครอบคลุมทั่วโลก อัครสาวกจะต้องเทศน์สอน “ในพระนามของพระองค์” หมายถึงด้วยพระอานุภาพ และอำนาจของพระองค์ ให้แก่ทุกชนชาติ ให้กลับใจ คือให้มาดำเนินชีวิตใหม่เป็นคริสตชน
ท่านทั้งหลายเป็นพยาน – อัครสาวกเป็นผู้แทนของพระองค์ในพันธกิจระดับโลกนี้
พระบิดาทรงสัญญาไว้ – พระบิดา และพระบุตร จะทรงส่งพระจิตเจ้าลงมาเหนือบรรดาอัครสาวก เพื่อให้สานต่องานช่วยกอบกู้มนุษยชาติ ซึ่งพระคริสตเจ้าได้ทรงเริ่มก่อตั้งขึ้นในพระศาสนจักร และพระจิตเจ้าจะทรงทำงานต่อไปจนถึงสิ้นพิภพ
ท่านจงคอยอยู่ในกรุง – อัครสาวกต้องรออยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม จนกว่าพระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือเขา ให้ทุกคนเห็นในวันเปนเตกอสเต
ออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี – เบธานี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนทางลาดด้านตะวันออกของภูเขามะกอกเทศ
พระองค์ทรงแยกจากเขาไป – พระองค์ทรงหายไปจากสายตาของเขา การลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้ของการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เนื่องจากเป็นความเชื่อของคนทั่วไปว่าที่พำนักของพระเจ้าอยู่เหนือท้องฟ้า
ด้วยความยินดียิ่ง – ข้อความนี้ และประโยคสุดท้าย “อยู่ในพระวิหารตลอดเวลา ถวายพระพรแด่พระเจ้า” หมายถึงช่วงเวลาหลังจากพระจิตเจ้าเสด็จลงมา ตามที่บรรยายไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก บทที่ 2-9
คำสั่งสอน - สำหรับบุคคลที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ความตายของสมาชิกครอบครัว หรือบุคคลที่เขารัก คงเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจที่สุดในชีวิตของเขา เขาเป็นฝ่ายที่เชื่อจริง ๆ ว่าไม่มีพระเจ้า ไม่มีชีวิตหน้า ดังนั้น ญาติ หรือเพื่อนของเขาจึงจะเน่าเปื่อยกลายเป็นดินในหลุมศพ และไม่มีวันได้พบหน้ากันอีก เขาคิดว่าทุกวันที่ผ่านไปนำเขาเข้าไปใกล้มากขึ้นทุกทีกับชะตากรรมอันน่าเศร้าเดียวกันนี้ คือความตาย ซึ่งจะเป็นจุดจบของความทะเยอทะยาน ความรื่นเริงบันเทิงใจทั้งปวงของเขา เป็นจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยเป็น หรือเคยมี ความคิดเช่นนี้คงทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ไม่น้อย
ขอบพระคุณพระเจ้าที่เราโชคดีที่ได้รู้ อีกทั้งเหตุผลและความเชื่อทำให้เราเชื่อในความจริงว่าความตายนั้นไม่ใช่จุดจบของมนุษย์ แท้จริงแล้ว ความตายเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง การเสด็จขึ้นสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราในธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ที่เราฉลองกันในวันนี้ เพื่อขึ้นไปสู่บ้านของพระบิดาของพระองค์ และพระบิดาของเรา เป็นการยืนยัน และหลักประกันข้อความเชื่อข้อนี้ของเรา เราทุกคนจะกลับคืนชีพจากหลุมศพพร้อมกับร่างกายใหม่อันรุ่งโรจน์ และขึ้นสู่สวรรค์เหมือนกับพระคริสตเจ้า และบนสวรรค์นั้น เราจะเริ่มต้นชีวิตแท้ของเราซึ่งมีแต่ความสุขนิรันดร
ในขณะที่เป็นความจริงว่า แม้แต่คริตชนที่มีความเชื่อที่เข้มแข็ง ก็ยังถือว่าความตายของบุคคลที่เขารักเป็นเหตุให้รู้สึกโศกเศร้าและหลั่งน้ำตา นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเรายังเป็นมนุษย์ที่ผูกพันกับโลก แต่ลึก ๆ ในใจ เรายังมั่นใจว่าคนที่เรารักได้เข้าสู่ชีวิตแท้ของเขาแล้ว และเขาจะรอพบเราอยู่ที่นั่นเมื่อเวลาของเรามาถึง ความมั่นใจนี้เองที่บรรเทาใจเรา มนุษย์ทุกคนต้องการอยู่กับคนที่เรารักตลอดไป ความตายทำให้ความต่อเนื่องนี้ขาดลง แต่จะเป็นเช่นนั้นเพียงชั่วคราว การตัดขาดนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ชีวิตใหม่เริ่มต้นขึ้นได้
ความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะอยู่กับบุคคลที่เรารักตลอดไปนี้ จะกลายเป็นความจริงได้เพียงในสวรรค์เท่านั้น และความตายบนโลกนี้ คือ ประตูที่เปิดเข้าสู่ชีวิตนิรันดรนั้น
วันนี้ จงเงยหน้าขึ้นมองสวรรค์ และเห็นพระคริสตเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ไปหาพระบิดาของพระองค์ และพระบิดาของเรา แล้วจงพูดว่า ขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ทรงสร้างข้าพเจ้าขึ้นมา และประทานทั้งโอกาส และความมั่นใจแก่ข้าพเจ้าว่า อาศัยการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ และถ้าข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าบนโลกนี้ เมื่อความตายมาถึง ความตายจะไม่เป็นศัตรู แต่จะเป็นมิตรของข้าพเจ้า มิตรผู้จะนำข้าพเจ้าเร่งรีบไปสู่ชีวิตแท้เหนือธรรมชาติ ซึ่งพระองค์ทรงวางแผน และเตรียมไว้ให้ข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงรักข้าพเจ้า
มีบันทึกไว้ และมีคำทำนายไว้ว่าพระคริสตเจ้าทรงต้องรับทนทรมานก่อนจะทรงไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ได้ ผู้รับใช้ย่อมไม่เหนือนาย ข้าพเจ้าเองก็ต้องรับทนทรมาน ข้าพเจ้าเองก็ต้องยอมรับความทุกข์ยาก และการทดลองต่าง ๆ ในชีวิตนี้ ถ้าข้าพเจ้าต้องการ และข้าพเจ้าก็ต้องการเข้าสู่ชีวิตในสิริรุ่งโรจน์ พระคริสตเจ้าผู้ปราศจากบาป ทรงยอมรับความทุกข์ยากและความเจ็บปวด ความทุกข์ยากส่วนใหญ่ - ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด - ของข้าพเจ้าเกิดขึ้นเพราะบาปของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าควรดีใจที่มีโอกาสชดใช้ความผิดในอดีตของข้าพเจ้า ด้วยการยอมรับกางเขนต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงส่งมาให้ข้าพเจ้า กางเขนเหล่านี้เป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าทรงสนใจในสวัสดิภาพแท้ของข้าพเจ้า อาศัยพระคริสตเจ้า พระองค์กำลังประทานโอกาสให้ข้าพเจ้าเตรียมพร้อมสำหรับวันพิพากษา สำหรับนาทีแห่งความตายซึ่งจะตัดสินอนาคตนิรันดรของข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าสวดภาวนาหนึ่งบทเพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ข้าพเจ้าควรสวดภาวนาสามบทเพื่อให้ประสบความสำเร็จในความตาย ให้ข้าพเจ้าตายโดยปราศจากบาปและเป็นมิตรกับพระเจ้า
บทรำพึงที่ 3
ในประเทศฟิลิปปินส์ เราจัดสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่เจ็ดของเทศกาลมหาพรต และไม่ใช่วันพฤหัสบดีก่อนวันอาทิตย์นั้น บทอ่านที่หนึ่ง และที่สองสำหรับทั้งสามปีพิธีกรรม เป็นบทเดียวกัน แตกต่างเฉพาะบทอ่านพระวรสาร ปีนี้เป็นปี C เราจึงอ่านจากพระวรสารของนักบุญลูกา
พระคริสตเจ้าทรงถูกยกขึ้นสวรรค์ (ในทั้งสามบทอ่าน) พระบิดาทรงโปรดให้พระองค์ประทับเบื้องขวา และให้ทรงมีอำนาจเหนือเทพนิกรทั้งมวล และทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นศีรษะ (ผู้นำ) ของพระศาสนจักร (บทอ่านที่สอง) การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพ (การยกขึ้น) ของพระคริสตเจ้าทำให้การปฏิบัติพันธกิจทั่วไปในโลกเกิดขึ้นได้ (พระวรสาร)
บทอ่านพระวรสาร : ลูกา 24:46-53
บทอ่านของวันนี้มาจากข้อความท้ายสุดของพระวรสารฉบับที่สาม ซึ่งบอกเราเกี่ยวกับคำสั่งสอนสุดท้ายของพระคริสตเจ้าและพระดำรัสอำลาศิษย์ของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย พระคริสตเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่ศิษย์ของพระองค์ในวันอาทิตย์ปัสกาในกรุงเยรูซาเล็ม (ลก 24:36-43) ทรงสั่งสอนเขาให้เข้าใจความหมายของชีวิตของพระองค์ โดยเฉพาะการรับทนทรมาน และการสิ้นพระชนม์ (24:44-49) ทรงนำพวกเขาออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี (กจ 1:12 บอกว่าเป็นภูเขามะกอกเทศ) และทรงถูกนำขึ้นสู่สวรรค์ (24:50-53)
พระวรสารของลูกา ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคำสั่งสอนสั้น ๆ ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงถูกยกขึ้นสู่สวรรค์ในตอนเย็นของวันอาทิตย์ปัสกานั้นเอง แต่ กจ 1:3 ระบุว่าการสั่งสอนเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลา 40 วัน พระเยซูเจ้าทรงบอกศิษย์ของพระองค์ว่าพระองค์ต้องรับทนทรมาน เพราะเป็นพระประสงค์ของพระบิดา และมีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ (ข้อ 46) นอกจากนี้ พระองค์ยังจำเป็นต้องสิ้นพระชนม์ และกลับคืนชีพ เพื่อให้พันธกิจเผยแผ่พระวรสารไปทั่วโลกสามารถเกิดขึ้นได้ บัดนี้ ภายหลังการกลับคืนชีพ (การยกขึ้น) พระวรสารจึงสามารถ และต้องถูกนำไปเทศน์สอนแก่ชนชาติต่าง ๆ ให้กลับใจ และได้รับการอภัยบาป โดยเริ่มต้นจากกรุงเยรูซาเล็ม (ข้อ 47) บรรดาศิษย์เป็นพยานถึงการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพ และการอภัยบาปซึ่งพวกเขาเองได้รับ (เทียบ ลก 22:31 “ซาตานได้ขอทดสอบท่านทั้งหลาย ... แต่เราอธิษฐานอ้อนวอนเพื่อท่าน”, ข้อ 48) ศิษย์ทั้งหลายจะได้รับอำนาจให้เทศน์สอนข่าวดีจากพระจิตเจ้า (ข้อ 49)
พระคริสตเจ้าทรงนำบรรดาศิษย์ออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี หลังจากทรงสั่งเสียกับพวกเขาและทรงอวยพรเขา เหมือนกับสมณะอวยพรหลังจากการถวายเครื่องบูชา (ข้อ 50) (บสร 50:20 บอกว่า “เมื่อสมณะประกอบพิธีกรรมที่พระแท่น โดยถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าแล้ว สมณะจะก้าวลงมา และยกมือขึ้นวางเหนือประชาชนชาวอิสราเอล เขาจะกล่าวคำอวยพรของพระเจ้า”) ขณะที่ทรงอวยพร พระเยซูเจ้าทรงถูกแยกไปจากเขา แต่ในการอวยพรนั้น พระองค์ทรงประสานพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา และพระบิดา เขารู้ว่าพระองค์ประทับอยู่กับพระเจ้า และประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขาในพระพรของพระองค์ (ข้อ 51) บรรดาศิษย์กราบนมัสการ และกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ด้วยความยินดียิ่ง (ข้อ 52) พระวรสารฉบับที่สามเริ่มต้นที่พระวิหาร และจบลงในพระวิหาร บรรดาศิษย์สวดภาวนาในพระวิหารทุกวัน (ข้อ 54) และรอคอยการเสด็จมาของพระจิตเจ้า และเพื่อให้รู้อุดมการณ์ของพันธกิจ
บทเทศน์
พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ – จุดเริ่มต้นของพันธกิจในโลก
การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระคริสตเจ้าเป็นจุดสูงสุดของชีวิตของพระองค์บนโลกนี้ กล่าวคือ หลังจากทรงไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จแล้ว พระองค์ทรงกลับไปหาพระบิดาผู้ทรงส่งพระองค์มายังโลกนี้ ศิษย์ทั้งหลายจึงกลับเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ด้วยความยินดียิ่ง พระคริสตเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว เราก็จะไปถึงสวรรค์ได้เช่นกัน ถ้าเราเดินตามรอยพระบาทของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงขอให้เราฟังพระจิตเจ้า ผู้จะสานต่องานที่พระองค์ทรงทิ้งไว้ แต่การกลับคืนชีพและการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้า ยังเป็นจุดเริ่มต้นของพันธกิจในโลกอีกด้วย ก่อนพันธกิจนี้จะเริ่มขึ้นได้ต้องใช้เวลา
1. ไม่มีพันธกิจของคริสตศาสนาในโลก ระหว่างที่พระคริสตเจ้าทรงมีชีวิตอยู่บนโลกนี้
1. พระเยซูเจ้าทรงตำหนิพันธกิจของชาวยิว – ระหว่างช่วงต้นประวัติศาสตร์ ชาวอิสราเอลไม่มีธรรมทูต กิจกรรมแพร่ธรรมเริ่มต้นขึ้นหลังจากยุคเนรเทศ เมื่อชาวยิวเริ่มแยกย้ายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ภายหลังยุคมัคคาบี จุดสูงสุดของกิจกรรมแพร่ธรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพระเยซูเจ้าและอัครสาวก หลังจากพระวิหารถูกทำลาย (ค.ศ. 70) และการปล้นสะดมกรุงเยรูซาเล็ม เป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 135 กิจกรรมแพร่ธรรมของชาวยิวจึงเริ่มลดลง อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ขัดขวางกิจกรรมแพร่ธรรมของชาวยิวก็คือบทบัญญัติให้ผู้กลับใจต้องเข้าสุหนัต เพื่อเลี่ยงปัญหานี้จึงเกิดมีกลุ่ม “ผู้ยำเกรงพระเจ้า” หรือ “ผู้เลื่อมใสศาสนายิว” ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างหลวม ๆ กับศาลาธรรม คนเหล่านี้ต้องทำเพียงยอมรับว่ามีพระเจ้าหนึ่งเดียว และต้องถือวันสับบาโต และบัญญัติเกี่ยวกับอาหารการกิน แต่ประสบการณ์เผยว่าคนรุ่นต่อมาบ่อยครั้งจะกลับใจนับถือศาสนายิวอย่างเต็มตัวด้วยการยอมเข้าสุหนัต
ข้อความเดียวที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ว่าพระคริสตเจ้าทรงกล่าวถึงกิจกรรมแพร่ธรรมของคนร่วมสมัยของพระองค์เป็นคำตำหนิอย่างรุนแรง “วิบัติจงเกิดแด่ท่าน ธรรมาจารย์ และฟาริสีหน้าซื่อใจคด ท่านเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เพื่อทำให้คนเพียงคนเดียวกลับใจ และเมื่อเขากลับใจแล้ว ท่านก็ทำให้เขาสมควรจะไปนรกมากกว่าท่านสองเท่า” (มธ 23:15) อาจกล่าวได้ว่า พระเยซูเจ้าทรงประณามการกลับใจแต่ภายนอก พระองค์ทรงตำหนิชาวฟาริสี ที่คิดว่าตนเองศรัทธากว่าผู้อื่น และความคลั่งศาสนาของผู้ที่กลับใจมาถือศาสนายิว พระองค์คงไม่วิพากษ์วิจารณ์พันธกิจแพร่ธรรมในหมู่คนต่างชาติ แต่น่าแปลกใจที่พระองค์ทรงตำหนิผู้ที่กลับใจอย่างรุนแรง
2. พระเยซูเจ้าทรงห้ามศิษย์ของพระองค์ไม่ให้เทศน์สอนแก่บุคคลที่ไม่ใช่ชาวยิว ระหว่างที่พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ – “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงของวงศ์วานอิสราเอลก่อน” (มธ 10:5-6) พระคริสตเจ้าทรงบอกศิษย์ของพระองค์เช่นนี้ในคำสั่งสอนอัครสาวก เราอาจสันนิษฐานได้ว่าพระองค์ทรงสั่งเช่นเดียวกันนี้ไม่เพียงสำหรับพันธกิจครั้งแรกเท่านั้น
เป็นความจริงที่มีข้อความต่าง ๆ ในพระวรสารที่ชวนให้คิดว่ามีการแพร่ธรรมให้แก่คนต่างชาติตั้งแต่ก่อนพระเยซูเจ้ากลับคืนชีพ แต่เป็นเพียงการตีความ และการเขียนเพิ่มเติมของผู้นิพนธ์ภายหลังวันปัสกา ดังนั้น เราจึงพบในคำปราศรัยเรื่องอวสานกาล (มก 13) ว่า “แต่ก่อนหน้านั้น ข่าวดีจะต้องได้รับการประกาศให้ชนทุกชาติแล้ว” (มก 13:10) ข้อความนี้อาจพูดถึงวันสิ้นพิภพ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นก่อนที่พระวรสารจะได้รับการประกาศให้แก่ชนทุกชาติแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อใดพระวรสารจึงจะได้รับการประกาศแก่ชนทุกชาติ ข้อความต่าง ๆ เช่น “ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดองแผ่นดิน” (มธ 5:13) “ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก” (มธ 5:14) ในบทเทศน์บนภูเขา หรือ “ท่านจะถูกนำตัวไปต่อหน้าผู้ว่าราชการ และเฉพาะพระพักตร์กษัตริย์เพราะเราเป็นเหตุ เพื่อเป็นพยานยืนยันแก่เขา และแก่บรรดาชนต่างชาติต่างศาสนา” (มธ 10:18) เป็นข้อความที่มัทธิวเรียบเรียงขึ้นหลังจากเข้าใจเหตุการณ์ในวันปัสกานั้นแล้ว เช่นเดียวกับการยกอุปมาเรื่องคนเช่าสวนใน มธ 21:38-46 “พระอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกยกจากท่านทั้งหลายไปมอบให้แก่ชนชาติอื่น ที่จะทำให้บังเกิดผล” (มธ 21:43) ยุคสมัยของมัทธิว และพระศาสนจักรของเขา เป็นช่วงเวลาที่พระอาณาจักรถูกยกไปมอบให้แก่คนต่างชาติ ในอุปมาเรื่องงานวิวาห์มงคล พระเยซูเจ้าคงหมายถึงคนต่างชาติเมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงไปตามทางแยก พบผู้ใดก็ตามจงเชิญมาในงานวิวาห์เถิด” (มธ 22:9) แต่ในกรณีนี้อีกเช่นกันที่ไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด
3. พระเยซูเจ้าทรงจำกัดขอบเขตกิจกรรมของพระองค์ให้อยู่ภายในอิสราเอล – แม้บางครั้งพระองค์ทรงมีข้อยกเว้น แต่ก็เป็นข้อยกเว้นจริง ๆ พระองค์ทรงรักษาโรคให้บุตรสาวของหญิงชาวซีโรฟีนีเชียก็จริง แต่ทรงกระทำหลังจากทรงแสดงความลังเลใจ โดยทรงเรียกคนต่างชาติว่าสุนัข (แม้จะไม่เอ่ยออกมาตรง ๆ แต่ความหมายก็ชัดเจน) พระองค์ทรงให้เหตุผลว่า “เราถูกส่งมาเพื่อแกะที่พลัดหลงของวงศ์วานอิสราเอลเท่านั้น” (มธ 15:24) เป็นพระประสงค์ของพระบิดาที่พระองค์ทรงจำกัดขอบเขตการทำงานอยู่ในแวดวงชาวยิว หลังจากหญิงนี้ยอมรับพระประสงค์ของพระบิดาแล้วเท่านั้นนางจึงได้รับตามที่ขอ
พระเยซูเจ้าทรงรักษาโรคให้บุตรของนายร้อยซึ่งเป็นคนต่างชาติ (มธ 8:5-13) ชาวกาดารา ผู้ถูกปีศาจสิง (มธ 8:28-34) ซึ่งเป็นข้อยกเว้น การกลับใจของหญิงชาวสะมาเรีย และประชาชนจากสะมาเรีย (ยน 4:4-42) อาจเป็นการนำพันธกิจในยุคของอัครสาวกมารวมอยู่ในยุคของพระเยซูเจ้า แต่สองสามกรณีที่เรายกเป็นตัวอย่างนี้ก็ทำให้เราอดถามตนเองไม่ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าพระคริสตเจ้าทรงเทศน์สอนให้แก่คนต่างชาติระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงชีพบนโลกนี้
2. โดยหลักการ พระคริสตเจ้าทรงสนับสนุนให้แพร่ธรรมแก่คนต่างชาติ
1. พระเยซูเจ้าทรงตัดข้อความที่สอนให้แก้แค้นออกไปจากข้อความที่กล่าวถึงการรวบรวมชาวยิว และคนต่างชาติในอวสานกาล เมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นเทศน์สอนที่เมืองนาซาเร็ธ และทรงบอกว่าคำทำนายของ อสย 61:1 ได้กลายเป็นจริงแล้ว พระองค์ทรงตัดข้อความที่บอกว่าพระเจ้าจะทรงแก้แค้นคนต่างชาติ อสย กล่าวว่า “พระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า และวันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา” พระเยซูเจ้าทรงตัดข้อความสุดท้ายออกไปเมื่อทรงอ่านข้อความนี้ที่เมืองนาซาเร็ธ พระองค์ไม่ทรงมีเจตนาจะลงโทษคนต่างชาติอย่างที่ชาวยิวคาดหมาย
2. พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่าคนต่างชาติจะมีส่วนได้รับความรอดพ้น - ชาวยิวเชื่อว่าชาวเมืองโสโดม และโกโมราห์ จะไม่กลับคืนชีพเมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาอย่างรุ่งเรือง เราทราบเช่นนี้จากถ้อยคำที่ชัดเจนของรับบี เอลีเซอร์ เบน ไฮร์คานัส (ประมาณ ค.ศ. 90) แต่พระเยซูเจ้าตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า ชาวเมืองนีนะเวห์ และพระราชินีแห่งเชบา (มธ 12:41) และชาวเมืองไทระ และเมืองไซดอน (มธ 11:22) และชาวเองโสดม และโกโมราห์ (มธ 10:15) จะกลับคืนชีพ พระองค์ถึงกับตรัสว่า ชนชาติเหล่านี้จะได้รับโทษเบากว่าชาวยิว เพราะคนต่างชาติเหล่านี้คงได้กลับใจแล้ว แต่ชาวยิวไม่ยอมรับพระคริสตเจ้า (มธ 11:20-24) พระคริสตเจ้ายังบอกชาวยิวอีกด้วยว่า ”คนจำนวนมากจะมาจากทิศตะวันออก และตะวันตก และจะนั่งร่วมโต๊ะกับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ในอาณาจักรสวรรค์แต่บุตรแห่งอาณาจักร จะถูกขับไล่ออกไปในที่มืดข้างนอก” (มธ 8:11) ทุกชนชาติจะได้พบกับความรอดพ้น
3. พระคริสตเจ้าทรงรวมคนต่างชาติไว้ในกิจการไถ่กู้ และให้พวกเขาอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์
- พระองค์ทรงเรียกพระองค์เองว่า “บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งมาจาก ดนล 7:13, ผู้ทรงเป็นผู้ปกครองทุกชนชาติ
- เมื่อเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม พระคริสตเจ้าไม่ได้ทรงขี่ม้าศึก แต่ทรงขี่ลาที่ต่ำต้อย ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นกษัตริย์แห่งสันติภาพ ผู้จะปกครองทุกชนชาติ ดังที่เศคาริยาห์ ทำนายไว้ (9:9)
- พระเยซูเจ้าทรงเป็นโอรสของกษัตริย์ดาวิด ในฐานะพระเมสสิยาห์ ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นโอรสตามสายโลหิตของดาวิด แต่ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้มีอำนาจเหนือทุกชนชาติด้วย (มก 12:35-37)
- ในฐานะผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ พระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของนานาชาติ (อสย 42:1, 6; 49:6) ผู้ทำให้นานาชาติตกตะลึง (อสย 52:15) และทรงแบกบาปของคนจำนวนมาก (หมายถึงมนุษย์ทุกคน) (อสย 53:12)
3. การเทศน์สอนพระวรสารแก่คนทั่วโลกจะเริ่มต้นได้หลังจากพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์ และกลับคืนชีพแล้วเท่านั้น และหลังจากได้เทศน์สอนให้แก่ชาวยิวก่อน
1. เมื่อชาวกรีกบางคนมาหาพระเยซูเจ้า เขาไปหาฟิลิปก่อน ฟิลิปจึงไปบอกอันดรูว์ จากนั้นทั้งสองจึงมาทูลพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้าตรัสตอบว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว ... ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดิน และตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยน 12:23-24) ซึ่งดูเหมือนเป็นคำตอบที่แปลก แต่หมายความว่า พระคริสตเจ้าต้องสิ้นพระชนม์ก่อน พระวรสารจึงจะถูกเผยแผ่ไปถึงคนต่างชาติได้
วันนี้ เราได้ยินบทอ่านจากพระวรสารว่า “พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน และจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป โดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 24:46-47) ซึ่งเป็นความคิดเดียวกัน คือ การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพ ทำให้พันธกิจเทศน์สอนพระวรสารแก่นานาชาติเกิดขึ้นได้
2. เงื่อนไขข้อที่สองของการประกาศพระวรสารแก่ชาวโลก เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากกว่า เมื่อใดชาวยิวทั้งมวลจึงจะเข้ามารวมอยู่ในพระศาสนจักร ใน ค.ศ. 1986 นี้ พวกเขาก็ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร อัครสาวกควรรอนานเพียงนั้นทีเดียวหรือ ก่อนจะเทศน์สอนพระวรสารให้แก่คนต่างชาติ
ก. เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจำกัดขอบเขตงานอภิบาลของพระองค์ให้อยู่ภายในแวดวงชาวยิว อัครสาวกจึงเริ่มต้นเทศน์สอนให้แก่ชาวยิวก่อนเช่นเดียวกัน พระคริสตเจ้าทรงเป็น “ผู้รับใช้ของชาวยิว” (รม 15:8) “เพราะทรงเห็นแก่ความสัตย์จริงของพระเจ้า เพื่อยืนยันพระสัญญาที่ประทานไว้กับบรรพบุรุษ” (รม 15:7) เปโตร ยากอบ และยอห์น ถือว่าตนเองได้รับมอบหมายให้ประกาศพระวรสารแก่ชาวยิว (กท 2:7) ในขณะที่เปาโลคนเดียวเท่านั้นที่ต้องการแพร่ธรรมในหมู่คนต่างชาติ (กท 2:8)
ข. ถึงกระนั้น เปาโลก็ไปหาชาวยิว หรือบรรดาผู้ยำเกรงพระเจ้าก่อนทุกครั้งที่เขาเดินทางไปแพร่ธรรม เขาถือว่านี่คือพระประสงค์ของพระเจ้า กล่าวคือ จะต้องประกาศพระวรสารแก่ประชากรเลือกสรรก่อน และเมื่อชาวยิวไม่ยอมรับแล้วเท่านั้น เปาโลจึงไปหาคนต่างชาติ เราอ่านพบว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่เมืองอันทิโอกในแคว้นปิลิเดีย (กจ 13:45-49) ในเมืองเธสะโลนิกา (กจ 17:5, 10) และในเมืองโครินธ์ (กจ 18:6)
4. พระจิตเจ้าทรงนำทางอัครสาวกในการปฏิบัติพันธกิจเทศน์สอนแก่นานาชาติ
เราได้เห็นแล้วว่า พระศาสนจักรยุคแรกยังรีรอที่จะเทศน์สอนพระวรสารแก่คนต่างชาติ เวลาผ่านไปนานทีเดียวกว่าพระศาสนจักรจะกลายเป็นพระศาสนจักรคาทอลิก คือเป็นสากล ในหนังสือเล่มที่สองของลูกา ซึ่งเป็นประวัติของพระศาสนจักร เขาบอกเราว่าพระจิตเจ้าทรงสืบสานงานที่พระคริสตเจ้าทรงเริ่มต้นไว้ และทรงนำทางอัครสาวกในการประกาศพระวรสารให้แก่นานาชาติอย่างไร
1. ในไม่ช้า บรรดาอัครสาวก และคริสตชนก็ถูกเบียดเบียนจากชาวยิว เพื่อนร่วมชาติของเขา (กจ 8:1-3) แต่เหตุการณ์นี้กลับกลายเป็นผลดี คริสตชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกรีก จำเป็นต้องหนีออกจากรุงเยรูซาเล็ม และเดินทางไปยังแคว้นสะมาเรีย และไกลถึงอันทิโอก และได้ประกาศพระวรสารในสถานที่เหล่านั้น (กจ 8:4)
2. แต่อัครสาวกยังอาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มต่อไป (กจ 8:1) พระจิตเจ้าทรงเผยแสดงเป็นพิเศษแก่เปโตรว่า เขาควรรับคนต่างชาติเข้าสู่พระศาสนจักรโดยไม่ต้องให้เข้าสุหนัต ไม่นานก่อนที่คนต่างชาติคนแรก คือโครเนลีอัส จะส่งคนไปเชิญเปโตรมาหา เปโตรได้เห็นในนิมิตว่าเขาไม่ควรถือว่าเนื้อหมูเป็นอาหารที่มีมลทิน ซึ่งหมายความว่าคนต่างชาติก็เป็นสมาชิกที่ดีของพระศาสนจักรได้เท่ากับชาวยิว นิมิตนี้ทำให้เปโตรกล้าโปรดศีลล้างบาปให้แก่โครเนลีอัส หลังจากที่พระจิตเจ้าได้ประทานพระพรพิเศษให้แก่โครเนลีอัส และครอบครัวของเขาแล้วตั้งแต่ก่อนที่เขาได้รับศีลล้างบาป (กจ 10:1-48)
3. พระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้ทรงนำทางอัครสาวกระหว่างการประชุมของอัครสาวกในกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับข้อความเชื่อ ว่าคนต่างชาติไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัต และปฏิบัติตามบทบัญญัติของโมเสสก่อนจึงจะรับศีลล้างบาปได้ บัดนี้ พระศาสนจักรเปิดประตูต้อนรับชนทุกชาติแล้ว และทุกชนชาติมีโอกาสเท่าเทียมกัน
4. เปาโล ผู้เป็นอัครสาวกของคนต่างชาติ ได้รับการชี้นำจากพระจิตเจ้ามากที่สุด จนกระทั่งเขาเดินทางไปถึงเมืองหลวงของโลก ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าพระวรสารได้รับการประกาศจนถึงสุดปลายแผ่นดินแล้ว กล่าวคือ พระจิตเจ้าทรงคืนสายตาให้แก่เปาโล หลังจากเขากลับใจก่อนเดินทางถึงเมืองดามัสกัส (กจ 9:17) พระจิตเจ้าทรงบอกคริสตชนในเมืองอันทิโอก ให้แยกบารนาบัส และเปาโล ไว้ปฏิบัติภารกิจในการเดินทางธรรมทูตครั้งที่หนึ่ง (13:2) ดังนั้น ทั้งสองคนนี้จึงถูกส่งไปโดยพระจิตเจ้า (13:4) อัครสาวกทั้งสองเต็มเปี่ยมด้วยความยินดี และพระจิตเจ้า เมื่อเขาถูกเบียดเบียนที่อันทิโอก ในแคว้นปิสิเดีย (13:52) พระจิตเจ้าทรงเปลี่ยนแผนการเดินทางของเปาโลในแคว้นอาเซียถึงสองครั้ง ดังนั้น คณะของเปาโลจึงเดินทางไปถึงทวีปยุโรปในที่สุด (16:6-7) พระจิตเจ้าทรงบอกให้เปาโลไปที่กรุงเยรูซาเล็ม และทรงบอกว่าโซ่ตรวน และความยากลำบากกำลังรอเขาอยู่ (20:22, 23; 21:22)
บทรำพึงที่ 4
สำหรับเรื่องพระทรมาน และการกลับคืนชีพ รวมถึงการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้า เราควรไตร่ตรองคำบอกเล่าต่าง ๆ ในพระวรสารตามเนื้อหาของคำบอกเล่าแต่ละฉบับ โดยไม่พยายามนำมาผสมผสานเพื่อให้มองเห็นเป็นภาพรวมเดียวกัน
ในปีนี้ เราได้ฟังคำบอกเล่าสองฉบับของเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งบอกเล่าโดยบุคคลเดียวกันคือลูกา ... ลูกาไม่พยายามทำให้คำบอกเล่าสองฉบับของเขาสอดคล้องกัน เหตุผลที่เขาไม่ทำเช่นนั้นก็เพราะเขาเห็นว่าความแตกต่างนั้นเองเป็นนัยสำคัญ ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในพระวรสาร ลูกาบอกว่าพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ในเวลาเย็นของวันปัสกา และอาจเป็นเวลากลางคืนของวันต้นสัปดาห์นี้ก็เป็นได้ (ลก 24:1, 13, 36, 50) ถ้าเราจำได้ว่าเวลานั้น “ใกล้ค่ำ” (ลก 24:29) แล้ว เมื่อศิษย์จากเอมมาอุส ลงนั่งที่โต๊ะอาหาร และเขาต้องใช้เวลาอีกสองชั่วโมงเพื่อเดินทางกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็ม (เทียบ ลก 24:13) และพระเยซูเจ้าทรงต้องใช้เวลาอธิบายแก่ศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับ “ธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศก และเพลงสดุดี” (ลก 24:44) ... ก่อนที่พระองค์จะทรงนำพวกเขาออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี ที่ซึ่งพระองค์ทรงถูกนำขึ้นสู่สวรรค์ (ลก 24:50) ... แต่ในหนังสือกิจการอัครสาวก ลูกาคนเดียวกันนี้ บอกเราว่าการเสด็จขึ้นสวรรค์เกิดขึ้นหลังจากเวลาผ่านไปแล้ว “40 วัน” (กจ 1:3)
เราไม่ควรรับฟังคำอธิบายที่เพ้อฝันแบบเด็ก ๆ เพราะเห็นได้ชัดว่าระหว่าง “การแสดงพระองค์” หลายครั้ง พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงซ่อนพระองค์อยู่ในสถานที่ลับตาคนในกรุงเยรูซาเล็ม และรอคอยเวลาที่จะ “เสด็จขึ้น” ไปหาพระบิดาในสวรรค์ ... อันที่จริง การกลับคืนชีพ การเสด็จขึ้นสวรรค์ และเปนเตกอสเต เป็นสามด้านของธรรมล้ำลึกหนึ่งเดียวกัน กล่าวคือ หลังจากทรงกลับคืนชีพ พระเยซูเจ้าทรงเข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาทันที และประทับ “เบื้องขวาของพระบิดา” ซึ่งเป็นศัพท์ในการเขียนแบบวิวรณ์ โดยเฉพาะลูกา ที่เน้นย้ำว่าพระเยซูเจ้าทรง “แยกไปจาก” คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงโปรดให้มองเห็นพระองค์ ... พระองค์ทรงหายไปจากสายตาของพวกเขา (ลก 24:31,51)
ดังนั้น การเสด็จขึ้นสวรรค์ “ในคืนวันปัสกา” จึงปิดฉากชีวิตมนุษย์ของพระเยซูเจ้าด้วยการยกพระองค์สู่สวรรค์ และนี่คือหน้าสุดท้ายของพระวรสาร
และการเสด็จขึ้นสวรรค์ “ในวันที่สี่สิบ” เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ของพระเยซูเจ้าที่อยู่เหนือกฎของพื้นที่และกาลเวลา และนี่คือหน้าแรกของหนังสือกิจการอัครสาวก
“จุดสิ้นสุดของยุคสมัยของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ” เป็น “จุดเริ่มต้นของยุคสมัยของพระศาสนจักร” ...
หลังจากนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า “นี่คือความหมายของถ้อยคำที่เรากล่าวไว้ขณะที่ยังอยู่กับท่าน ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศก และเพลงสดุดีจะต้องเป็นความจริง” แล้วพระองค์ทรงทำให้เขาเกิดปัญญาเข้าใจพระคัมภีร์ ตรัสว่า “มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน และจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจ เพื่อรับอภัยบาป โดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม...”
“ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน” พระเยซูเจ้าทรงเตือนเขาเช่นนี้ นี่เป็นเครื่องหมายบอกเราว่าพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่บนโลกนี้ในลักษณะเดิมอีกต่อไป ... การเสด็จขึ้นสวรรค์ในเวลาต่อมาจะเน้นย้ำเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ผ่านทางการกลับคืนชีพของพระองค์ นั่นคือ นับแต่เวลานั้นเป็นต้นไป พระองค์จะประทับอยู่ในลักษณะที่แตกต่างจากเดิม เพราะพระองค์ทรงเข้าสู่ “โลกของพระเจ้า” แล้ว...
“การเกิดขึ้นจริง ... ความเข้าใจ ... ในพระคัมภีร์” ความเชื่อเป็นหนทางเดียวที่จะเข้าถึง “โลกของพระเจ้า” ซึ่งพระเยซูเจ้ากำลังประทับอยู่ในเวลานี้เมื่อพระองค์ “ไม่อยู่กับเราในลักษณะเดิมอีกต่อไปแล้ว” ... พระเยซูเจ้าทรงตำหนิศิษย์สองคนที่กำลังเดินทางไปยังเอมมาอุส ว่าเขา “เขลา และใจของเจ้าช่างเชื่องช้าที่จะเชื่อ ...” (ลก 24:25)
“ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศก และเพลงสดุดี ...” หลังจากพระองค์ทรงกลับคืนชีพแล้วเท่านั้น พระเยซูเจ้าจึงสามารถอธิบายข้อความในพระคัมภีร์แก่บรรดาศิษย์ได้ “การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพ” ต้องเกิดขึ้นจริงก่อน และเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ซ้ำ เราจึงสามารถเข้าใจข้อความที่ประกาศไว้ในพระคัมภีร์ ... พระเยซูเจ้าเท่านั้นทรงสามารถทำให้เราเข้าใจข้อความต่าง ๆ ในพันธสัญญาเดิมได้
ในชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ และคำพูดที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเรายังเข้าใจได้ไม่ลึกพอ ...
“เพลงสดุดี” พระเยซูเจ้าทรงท่องเพลงสดุดีได้ขึ้นใจ และทรงใช้ข้อความเหล่านี้เป็นบทภาวนาทุกวัน ... ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ได้หรือเปล่า ... ข้าพเจ้าสามารถจำข้อความใดได้สักบรรทัดหนึ่ง และใช้เป็นบทภาวนาได้หรือไม่ โดยเฉพาะข้อความที่ “กล่าวถึงพระเยซูเจ้า”...
ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเรา ... ต้องรับทนทรมาน ... กลับคืนพระชนมชีพ ... รับอภัยบาป ... ให้นานาชาติกลับใจ ... ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้ ...
ลูกาย้ำว่าบรรดาศิษย์เข้าใจ “ทุกสิ่งที่เขียนไว้” ได้ในที่สุดในวันปัสกานั้น ... ในทำนองเดียวกัน เราจะเห็น และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตของเรา ชีวิตของมนุษย์ทุกคน ชีวิตของบุคคลที่เรารู้จักดีที่สุด ... เพียงในวันของพระเจ้าเท่านั้น...
ถูกแล้ว เหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจได้ ... เมื่อก่อนถึงวันสำคัญนั้น! คนทั่วไปอาจมองว่าพระทรมานของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เป็นอุบัติเหตุ เป็นความล้มเหลว และบัดนี้ บรรดาศิษย์ค้นพบว่าพระทรมานของพระองค์ทำให้แผนการอันเร้นลับของพระบิดากลายเป็นจริง “ทุกสิ่งที่เขียนไว้ ... จะต้องเป็นความจริง”...
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ชะตากรรมที่โหดร้าย และไม่อาจบรรเทาได้ แต่เป็นแผนการแห่งความรอดพ้น เป็น “การอภัยบาปสำหรับทุกคน” นี่คือแผนการแห่งความรัก ... แต่จนถึงวันนั้น บรรดาศิษย์ยังไม่ตระหนักเช่นนี้ และบัดนี้ เขาได้กลายเป็น “พยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้” ... วันปัสกานี้เป็นวันที่ยาวนานที่สุด เพราะได้ยืดเวลา “วันต้นสัปดาห์” นี้ให้กลายเป็นนิรันดรกาล จะไม่มี “วัน” อื่นอีกแล้ว...
บัดนี้ เราเข้าใจแล้วว่าเหตุใดลูกาจึงนำเหตุการณ์ทั้งหมดนี้มารวมอยู่ในวันเดียว ซึ่งวันนี้ยังดำเนินต่อไปผ่านการเป็นพยานของพระศาสนจักรมาตลอดหลายศตวรรษ วันนี้เรายังเป็นพยานถึงความรักของพระเจ้าที่ช่วยเราให้รอดพ้นอีกหรือเปล่า ...
พระเยซูเจ้าทรงทำให้ประชาชน “ผู้ปราศจากมลทิน” ทั้งหลายสะดุดใจ เมื่อทรงเข้าข้างชาวสะมาเรีย ซึ่งเป็นคนตามชายขอบของสังคม ทรงเข้าข้างโสเภณี และคนผิดประเวณี ... ทรงเข้าข้างประชาชนที่ไม่มีความรู้ ซึ่งเป็นที่เหยียดหยามของชาวฟารีสี และผู้มีความรู้ ... ทรงเข้าข้างคนเก็บภาษีผู้สมรู้ร่วมคิดกับชาวโรมัน และคนที่คบหาสมาคมกับ “คนต่างชาติ” ... ทรงเข้าข้างคนยากจนที่สังคมรังเกียจ คนอ่อนแอ คนป่วย คนโรคเรื้อน ... แทนที่จะลงโทษตามธรรมบัญญัติ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าจะให้อภัยอย่างไม่มีข้อยกเว้น และทุกคนในโลกนี้จะได้รับความรอดพ้น “เริ่มต้นจากกรุงเยรูซาเล็ม”
ถูกแล้ว พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของคนบาปทั้งหลาย พระองค์ทรงให้อภัยคนบาปทุกคน และมนุษย์ต้องทำเช่นเดียวกัน คือ ต้องให้อภัยมนุษย์ทุกคน แม้แต่ศัตรูของตน เพราะพระองค์ทรงเทศน์สอนเช่นนี้ พระเยซูเจ้าถึงถูกประณาม และตรึงกางเขน เพราะทรงดูหมิ่นพระเจ้า แต่การกลับคืนชีพของพระองค์ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นฝ่ายถูก ... ผู้ถูกตรึงกางเขนคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ ทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอน และทรงกระทำ ยังคงดำเนินต่อไป และได้รับการรับรองจากพระเจ้าเอง “ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องเหล่านี้”...
พระเจ้าข้า พระองค์ทรงขอให้เราพลิกชีวิตของเราจริง ๆ
เราทำตัวห่างไกลมากเพียงใดจากการเป็นพยานให้ชาวโลกรับรู้ถึงความรักที่ช่วยให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอดพ้นนี้
บัดนี้ เรากำลังจะส่งพระผู้ที่พระบิดาทรงสัญญาไว้มาเหนือท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านจงคอยอยู่ในกรุงจนกว่าท่านจะได้รับพระอานุภาพจากเบื้องบนปกคลุมไว้
บรรดาศิษย์จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือนี้มาก เราก็จำเป็นต้องได้รับ “อานุภาพ” ซึ่งไม่ได้อยู่ในตัวเรา แต่มาจากเบื้องบน ... เพราะบรรดาศิษย์จะต้องอยู่ และเทศน์สอนในโลกที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ความชั่ว ความรุนแรง ความเย็นชา ความตาย เจตนาร้าย ลัทธินอกรีต ความเบี่ยงเบน ความโง่เขลา การกดขี่ทุกรูปแบบ ทั้งหมดนี้ยังดำเนินต่อไป
ไม่มีการระบุชื่อในที่นี้ให้แก่ “พระผู้จะประทานความเข้มแข็งนี้“ เพราะเช่นเดียวกับพระบิดา “ผู้ที่ไม่มีใครเคยเห็น” และต่างจากพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าที่มนุษย์มองเห็นได้ – พระจิตเจ้าไม่มีพระพักตร์ ... หรือถ้าจะพูดให้ถูก พระองค์ทรงสวมใส่ใบหน้าของเราเอง ... นักบุญเปาโลจะบอกว่า “ท่านเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า” เมื่อเขาดับเทียนปัสกาในวันฉลองการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้า เปลวไฟที่ส่องสว่างทั่วหัวใจของบรรดาศิษย์เมื่อวันเปนเตกอสเตนั้นได้ถูกจุดขึ้นมาแล้ว ...
พระองค์ทรงนำบรรดาศิษย์ออกไปใกล้หมู่บ้านเบธานี ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นอวยพระพร และขณะที่ทรงอวยพระพรนั้น พระองค์ทรงแยกไปจากเขา และทรงถูกนำขึ้นสู่สวรรค์
นี่คือเวลาของ “การแยกจากกัน” ลูกา เป็นคนเดียวที่ใช้คำนี้
เมื่อเปรียบเทียบกับคำบอกเล่าเหตุการณ์เดียวกันในหนังสือกิจการอัครสาวก ข้อความนี้ให้รายละเอียดน้อยกว่า ไม่เอ่ยถึง “เมฆ” ไม่มี “ชายสวมเสื้อขาว” ... ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะลูกาไม่ยอมใช้ภาษาวิวรณ์ เพราะเขาใช้ภาษาเหล่านี้ในคำบอกเล่าฉบับที่สองของเขา แต่ความเรียบง่ายนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์กับการเผยแสดงเหล่านั้น ...
ทุกสิ่งทุกอย่างสงบ และเคร่งขรึม เราติดตามพระเยซูเจ้า “พระองค์ทรงนำบรรดาศิษย์ออกไป” ... “ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นอวยพระพร” ... “พระองค์ทรงแยกไปจากเขา และทรงถูกนำขึ้นสู่สวรรค์”...
พระเยซูเจ้าไม่เคย “อวยพร” อัครสาวกมาก่อน แต่นี่คือการอำลา ในที่นี้ ลูกาบอกเล่าถึงประเพณีในพระคัมภีร์ บุคคลสำคัญในพระคัมภีร์อวยพรคนรุ่นต่อไปก่อนจะสิ้นใจ เช่น ยาโคบ (ปฐก 49) โมเสส (ฉธบ 33) กษัตริย์ดาวิด (1 พศด 28:29) ... การอวยพรเป็นกิริยาสุดท้ายของพระเยซูเจ้า เป็นกิริยาที่พระองค์ไม่เคยหยุดกระทำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ... และพระสงฆ์ทุกองค์ซึ่งเป็นผู้แทนของพระเยซูเจ้า ก็ทำกิริยาเดียวกันนี้ก่อนจบพิธีมิสซาแต่ละครั้ง โดยยกมือขึ้นอวยพรเราในพระนามของทั้งสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพ...
บรรดาศิษย์กราบนมัสการพระองค์ แล้วกลับไปกรุงเยรูซาเล็มด้วยความยินดียิ่ง เขาอยู่ในพระวิหารตลอดเวลา ถวายพระพรแด่พระเจ้า
บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรง “แยกไปจากเขา” ... และเขาไม่เศร้าใจ แต่กลับยินดี
ชุมชนศิษย์พระคริสต์กลายเป็นกลุ่มคนที่ “นมัสการ” พระเยซูเจ้า และร่วมกันขับร้องสรรเสริญพระเจ้า ... และทำให้คนทั่วไปรู้สึกได้ว่าพระองค์ประทับอยู่ ด้วยการทำงานรับใช้ผู้ขัดสน
พระเยซูเจ้าประทับอยู่ “บนสวรรค์” – ศิษย์ของพระองค์อยู่ “ในพระวิหาร” ... เป็นความสมมาตรเชิงสัญลักษณ์ ... นี่คือการนมัสการแบบใหม่...