วันอาทิตย์ที่สิบ เทศกาลธรรมดา
ลูกา 7:11-17
พระเยซูเจ้าเสด็จไปที่เมืองหนึ่งชื่อนาอิน บรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ไป เมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ประตูเมืองก็ทรงเห็นคนหามศพออกมา ผู้ตายเป็นบุตรคนเดียวของมารดาซึ่งเป็นม่าย ชาวเมืองกลุ่มใหญ่มาพร้อมกับนางด้วย เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นนางก็ทรงสงสาร และตรัสกับนางว่า “อย่าร้องไห้ไปเลย” แล้วพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ ทรงแตะแคร่หามศพ คนหามก็หยุด พระองค์จึงตรัสว่า “หนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด” คนตายก็ลุกขึ้นนั่งและเริ่มพูด พระเยซูเจ้าจึงทรงมอบเขาให้แก่มารดา ทุกคนต่างมีความกลัว และถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า กล่าวว่า “ประกาศกยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นในหมู่เรา พระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์” และข่าวเรื่องนี้ก็แพร่ไปทั่วแคว้นยูเดีย และทั่วอาณาบริเวณนั้น
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
จงลุกขึ้นเถิด
พระวรสารเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเศร้าโศก และความหวัง เรื่องของความเศร้าโศกของมนุษย์ ซึ่งได้รับความบรรเทาและเปลี่ยนเป็นความยินดี ด้วยอำนาจของความสงสารของพระเยซูเจ้า ลูกาไม่เคยเบื่อหน่ายที่จะเล่าเรื่องความสงสารมากมายมหาศาลของพระเจ้าที่ทรงมีต่อคนยากจน และผู้ที่กำลังระทมทุกข์
การปลุกบุตรชายของหญิงม่ายให้กลับคืนชีพ แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นนายเหนือชีวิต และความตาย และเตรียมใจผู้อ่านให้พร้อมสำหรับเรื่องราวการกลับคืนชีพของพระองค์
พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าผู้ห่างเหิน แต่ทรงแสดงความผูกพันใกล้ชิดออกมาด้วยความสงสารที่พระองค์มีต่อมารดาผู้กำลังทุกข์ใจ หญิงม่ายคนนี้ไม่เพียงสูญเสียสมาชิกคนเดียวที่เหลืออยู่ในครอบครัวของนาง เพราะเขาเป็นบุตรชายคนเดียวของนาง แต่บัดนี้นางสิ้นเนื้อประดาตัวด้วย เพราะนางได้สูญเสียสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินทั้งหมดของนาง เพราะผู้ชายเท่านั้นมีสิทธิครอบครองได้ แต่พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกสงสารนาง
และเมื่อพระองค์ทรงแตะแคร่หามศพ พระองค์กำลังละเมิดบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้สัมผัสกับศพ แต่ความสงสารเป็นคุณธรรมที่อยู่เหนือข้อห้ามของบทบัญญัติ ดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “หนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด”
คริสตชนยุคต้นจดจำพระดำรัสสำคัญ ๆ ของพระเยซูเจ้าได้จนขึ้นใจ และนำมาไตร่ตรอง และคิดถึงด้วยความรัก พระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็นต้นกำเนิดของชีวิต และแรงบันดาลใจได้เสมอ
ความเศร้าเสียใจเป็นประสบการณ์ที่เราทุกคนต้องเคยประสบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราเศร้าใจหัวใจของเราต้องตายไปด้วย ชาวตะวันออกมีสุภาษิตที่กล่าวว่า เราไม่สามารถห้ามนกแห่งความเศร้าบินข้ามศีรษะเรา แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้มันเข้ามาสร้างรังในผมของเรา
เมื่อเราสูญเสียบุคคลที่เรารัก เราจะถูกดึงเข้าไปหาความเศร้า เพราะเมื่อคนที่เรารักจากเราไป ส่วนหนึ่งของหัวใจของเราก็จากไปด้วย เราเศร้าใจที่เราขาดคนที่เรารักไปชั่วคราว หรือบางครั้งเราเสียใจกับความล้มเหลว จนกลัวที่จะเริ่มต้นใหม่ หรือเมื่อเราเคยถูกทรยศอย่างเจ็บปวด เราจะไว้ใจใครได้อีกหรือ บางครั้ง ความละอายใจหรือความรู้สึกผิดที่ฝังลึกนั่นเองที่ดึงเราให้ลงไปสู่กลางคืนที่ไม่มีวันจบสิ้น เมื่อตัวตนภายในของเรารู้สึกว่าเราถูกส่งลงไปอยู่ในหลุมศพ เมื่อนั้นเราจำเป็นต้องได้ยินเสียงขององค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสั่งอีกครั้งหนึ่งแก่จิตที่ไม่มีวันชราของเราว่า “โอ้ วิญญาณแห่งวัยเยาว์ เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด”
บทสดุดีกล่าวไว้อย่างไพเราะว่า “แม้แต่ความมืดก็ไม่มืดสำหรับพระองค์ และกลางคืนก็สว่างดังกลางวัน” ถ้าอาณาจักรแห่งความตายอันมืดมิดไม่ถูกขับไล่ไปด้วยอำนาจปลุกชีวิตของพระเจ้า เมื่อนั้น ส่วนเล็ก ๆ ที่มืดในชีวิตก็ไม่ถูกขับไล่ไปเช่นกัน พันธกิจของพระเยซูเจ้าคือยกคนที่ล้มให้ลุกขึ้น คืนความกล้าหาญให้แก่หัวใจที่อ่อนกำลัง และเสนอโอกาสฟื้นฟูชีวิต
ในชีวิตนี้ ไม่มีการล้มครั้งใดที่เด็ดขาดจนเกินอำนาจของพระเยซูเจ้าที่จะทำให้ผู้ที่ล้มลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ ไม่มีสภาวะบาปใดที่หนักจนเกินเอื้อมของพระหัตถ์อันบริสุทธิ์ และเมตตาของพระองค์ และไม่มีคำว่า “หมดหวัง” สำหรับผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า
“เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด” เราควรเก็บรักษาพระวาจาของพระเยซูเจ้าไว้ในใจ และให้พระวาจานี้ก้องกังวานในความคิดของเรา
ข้อรำพึงที่สอง
พระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์
สวนดอกไม้เดือนมิถุนายนเต็มไปด้วยชีวิตชีวา หญ้าเขียวชอุ่มงอกขึ้นมาทันทีที่ถูกตัด ต้นอ่อนของพันธุ์ไม้มีค่างอกขึ้นมาท่ามกลางกอวัชพืช และต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดชีวิตจนกระทั่งข้าพเจ้ามีโอกาสช่วยมัน พื้นดินที่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนยังโล่งเตียน บัดนี้ถูกปกคลุมด้วยพรมหรูแห่งชีวิต หัวของพืชที่ซ่อนอยู่ในดินเจริญงอกงาม และต้นพืชที่หลับใหลก็ตื่นขึ้นมา พระผู้สร้างได้เสด็จมาเยือนเราอีกครั้งหนึ่ง และทรงทิ้งรอยพระบาทไว้ในสีเขียว สีแดง สีเหลือง และสีฟ้าในธรรมชาติ การฟื้นตัวในแต่ละปีของธรรมชาติเตือนข้าพเจ้าให้คิดถึงคำสั่งสอนในพระวรสารเรื่องชัยชนะเหนือความตาย
ที่เมืองนาอิน พระคริสตเจ้าทรงแสดงอำนาจของพระองค์เหนือชีวิตและความตายในเหตุการณ์ที่น่ายำเกรง อำนาจเหนือความตายเป็นเครื่องหมายแสดงการประทับอยู่ของพระเจ้า จนลูกาเรียกพระเยซูเจ้าว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่นี่เป็นครั้งแรก ทั้งที่เป็นพระนามที่ใช้เรียกขานพระเจ้าเท่านั้น
เราจินตนาการได้ไม่ยาก ว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร เขาได้เห็นใครคนหนึ่งกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย คนที่ตายแล้วนี้ลุกขึ้นเดินได้ พระเยซูเจ้าทรงมอบเขาให้แก่มารดาของเขา แต่กระนั้น เราก็คิดได้เช่นกันว่า วันนั้นมีญาติใกล้ชิดที่โลภมากบางคนหยุดหลั่งน้ำตาทันทีที่บุตรชายของหญิงม่ายกลับคืนชีพ เพราะเขาได้กลับมาทวงสิทธิในทรัพย์สินของเขากลับคืนไปแล้ว
แต่ปฏิกิริยาของคนทั่วไปคือความกลัว เขามองเห็นการประทับอยู่ของพระเจ้าในเหตุการณ์นี้ได้อย่างชัดเจน จนเขาต้องสรรเสริญพระเจ้าว่า “ประกาศกยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นในหมู่เรา พระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์”
นักเขียนยุคนั้นกล่าวถึงโลกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของปีศาจ “เจ้านายของโลกนี้” แต่เมื่อพระเจ้าเสด็จมาเยี่ยมโลกในองค์พระเยซูคริสตเจ้า อำนาจของพระอาณาจักรของพระเจ้าเริ่มต้นรุกคืบไปทั่วโลก และโจมตีแนวของศัตรูให้ล่าถอยไป
ชีวิตถือได้ว่าเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า ในขณะที่ความตายเป็นเสมือนถิ่นที่อยู่ของปีศาจ แต่พระเยซูเจ้าจะเสด็จเข้าไปในบ้านของความตาย และจะทรงเอาชนะความชั่วในบ้านของมันเอง
เหตุการณ์สามครั้งที่พระองค์ทรงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ เป็นการประกาศถึงอำนาจและเจตนาของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นนายเหนือชีวิตและความตาย ... “เราคือการกลับคืนชีพ และชีวิต”
ทุกเช้า ในบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า พระศาสนจักรเฉลิมฉลองที่พระเจ้าเสด็จมาเยี่ยมโลกในองค์พระเยซูคริสตเจ้า “พระองค์เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์ และทรงไถ่กู้เรา”
บทรำพึงที่ 2
พระเยซูเจ้าเสด็จไปที่เมืองหนึ่งชื่อนาอิน
หมู่บ้านนี้ยังคงอยู่ตราบจนทุกวันนี้ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่เชิงภูเขาทาบอร์ ห่างจากนาซาเร็ธไปหกไมล์ พระเยซูเจ้าทรงเดินทางด้วยเท้า มีฝูงชนทั้งชายหญิงติดตามพระองค์ เพราะอยากฟังพระวาจาของพระองค์ และอยากเห็นพระองค์ทำอัศจรรย์
บรรดาศิษย์ และประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ไป เมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ประตูเมืองก็ทรงเห็นคนหามศพออกมา ผู้ตายเป็นบุตรคนเดียวของมารดาซึ่งเป็นม่าย
ลูกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารของพระนางมารีย์ (และเป็นคนเดียวที่บอกเล่ารายละเอียดมากมายเกี่ยวกับปฐมวัยของพระเยซูเจ้า) เขาอาจได้รับรู้รายละเอียดเหล่านี้มาจากปากของพระนางก็เป็นได้ การปลุกชีวิตที่กระทำในหมู่บ้านข้างเคียงคงแพร่มาถึงหูของพระนางมารีย์ในนาซาเร็ธบ้างแน่นอน ทำให้เราเข้าใจได้ว่าพระนางคงระลึกถึงเหตุการณ์นี้ หลังจากพระบุตรของพระนางเองกลับคืนชีพ และนำสองสถานการณ์นี้มาเปรียบเทียบกัน ทั้งสองสถานการณ์เป็นเรื่องของหญิงม่ายคนหนึ่ง ... บุตรคนเดียวของนางเสียชีวิต ... และกลับคืนชีพ
ลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสารที่ชอบเขียนเรื่องราวของสตรี ไม่เว้นที่จะบอกเล่ารายละเอียดที่ชวนให้สะเทือนใจเหล่านี้ ในพระคัมภีร์ หญิงม่ายคือ “คนยากจน” ที่พระเจ้าทรงพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษ หญิงม่ายคนนี้เป็นตัวแทนของความทุกข์ยากสูงสุดของมนุษย์ นางซวนเซจากเคราะห์กรรมที่เกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของสองบุคคล คนหนึ่งคือสามี อีกคนหนึ่งคือบุตรของนาง และในสมัยนั้น (และแม้แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ของบุคคลเหล่านี้ก็อาจไม่ดีกว่านี้เท่าไรนัก) สตรีที่ไม่มีสามี หรือบุตรชายจะเผชิญกับชะตากรรมร้ายแรงที่สุด มีเพียงสามี หรือบุตรชายเท่านั้นที่สามารถให้ความคุ้มครองตามกฎหมายแก่หญิงคนหนึ่ง และเลี้ยงดูนางได้...
ข้าพเจ้าสนใจกับความทุกข์ยากที่ซ่อนเร้นของเพื่อนมนุษย์หรือเปล่า ... ข้าพเจ้าสนใจความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า...
ชาวเมืองกลุ่มใหญ่มาพร้อมกับนางด้วย
ในบรรดาผู้นิพนธ์พระวรสาร ลูกาเล่าเรื่องได้เก่งที่สุด เขาสามารถขัดเกลาคำบอกเล่าให้สละสลวย เขาบรรยายให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนเหมือนกับภาพเหตุการณ์ในภาพยนตร์ คนสองกลุ่ม ... สองขบวนเดินมาพบกันที่ประตูเมืองนาอิน ขบวนศพกำลังจะออกจากเมือง ... ขบวนศิษย์ของพระเยซูเจ้ากำลังจะเข้าเมือง...
เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นนางก็ทรงสงสาร
ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ลูกาเรียกพระเยซูเจ้าล่วงหน้าว่า “o Kurios” (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ตั้งแต่เวลานั้น เขาต้องการให้เราเห็นแสงสว่างแห่งปัสกาส่องลงบนตัวผู้ตายที่กำลังจะถูกนำไปฝัง คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” นี้เป็นคำที่ใช้เรียกพระยาห์เวห์ ในพระคัมภีร์เซปตัวยินตา (พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมฉบับภาษากรีก ที่แปลไว้ไม่กี่ปีก่อนพระคริสตเจ้าทรงบังเกิด) และพระศาสนจักรยุคแรกจะนำมาใช้เรียกพระเยซูเจ้าผู้ทรงกับคืนชีพแล้ว แต่ลูกาชอบใช้คำนี้ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์วันปัสกา เขาเรียกพระเยซูเจ้าเช่นนี้ถึง 19 ครั้ง ในขณะที่มัทธิว และมาระโก ใช้คำนี้เพียงคนละหนึ่งครั้ง...
ในทำนองเดียวกัน เขาใช้คำว่าว่า “พระองค์ทรงสงสาร” (esplanchnisthe) เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน คำภาษากรีกนี้แปลตามตัวอักษรว่า “ติดอยู่ในท้อง หรือรู้สึกสงสาร” (caught in the bowels) และเป็นวลีที่ใช้กันบ่อยในพระวรสาร เพื่อแสดงให้เห็นความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์ ศาสนาสำคัญส่วนมากพัฒนาขึ้นจากความเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ “ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อน ทรงสรรพานุภาพ แต่ห่างเหิน” อิสราเอลได้รับการเผยแสดงให้รู้จักพระเจ้าผู้ทรงเป็นเหมือนมารดา ผู้มี “ท้อง/ความสงสาร” (ชาวซีไมท์ ถือว่าท้องเป็นที่ตั้งของความรู้สึก) (อสย 49:15, ฮชย 1:6-7, 2:23) ... และบัดนี้ ในองค์พระเยซูเจ้า เราได้เห็นพระเจ้าในลักษณะที่เหมือนมนุษย์มากที่สุด ทรงมีพระทัยอ่อนไหว ทรงใกล้ชิดกับมนุษย์ ทรงรู้สึกสะเทือนใจเมื่อเห็นความเดือดร้อน อาจกล่าวได้ว่าพระเยซูเจ้าคือความสงสารของพระเจ้า...
เราไม่ควรหาเหตุผลมาอธิบายความจริงเหล่านี้ แม้ว่าสภาสังคายนาระหว่างสามศตวรรษแรกยึดถือแนวความคิดของปรัชญากรีกที่ชัดเจนมากกว่า แต่อย่างน้อยก็กล้าหาญพอที่จะไม่ลดคุณค่าของธรรมล้ำลึกที่เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า และได้รับรองโดยไม่กำกวมในบุคลิกภาพของพระองค์ ซึ่งมีสองด้านที่ขัดแย้งกัน ในฐานะพระเจ้าและมนุษย์ ... แต่ลูกากล้าเขียนตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสงสาร”...
พระเจ้าข้า ขอบพระคุณพระองค์ผู้ทรงมีความรู้สึกเหมือนมนุษย์เช่นนั้น ทรงพร้อมจะเข้าใจความขัดสนของมนุษย์เช่นนั้น ... บัดนี้ ข้าพเจ้าอยากเพ่งพินิจความเจ็บปวดในพระทัยของพระองค์ ... พระองค์ทรงรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ต่อมนุษย์ทุกคนที่เสียชีวิตในทุกสถานที่ในโลก...
พระองค์จะทรงทำอะไรใกล้ประตูเมืองในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อนาอินนี้ พระองค์จะประทาน “เครื่องหมาย” อะไรแก่เรา
และตรัสกับนางว่า “อย่าร้องไห้ไปเลย” แล้วพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ ทรงแตะแคร่หามศพ...
ข้าพเจ้าคิดถึงมารดาทั้งหลายผู้ต้องร้องไห้เพราะบุตรของตน ... ซึ่งอาจเสียชีวิต หรืออยู่ห่างไกลกัน หรือดื้อรั้น ก่อปัญหา หรือสูญเสียความเชื่อ ... ธรรมล้ำลึกของน้ำตาของมารดาเหล่านี้สมควรได้รับความเคารพ เพราะเป็นภาระที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของความเป็นมนุษย์ของเรา ... พระเยซูเจ้าทรงนำความบรรเทาใจมามอบให้แก่ทุกคนที่ไว้ใจในพระองค์ ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามความเชื่อของตนจนถึงที่สุด ... พระเยซูเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ มารดาทุกคนที่ร้องไห้ และตรัสเบา ๆ แก่เขาว่า “อย่าร้องไห้ไปเลย”...
พระเจ้าข้า โปรดทรงเพิ่มพูนความเชื่อของข้าพเจ้าด้วยเถิด...
คนหามก็หยุด พระองค์จึงตรัสว่า “หนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด”
คำว่า “ลุกขึ้น (arise)” (เป็นคำสั่ง ที่มาจากคำกริยาว่า egeirein) เป็นคำที่ใช้พูดถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ลก 9:22, 24:6, 34) และการกลับคืนชีพของผู้ได้รับเลือกสรรเมื่อสิ้นพิภพ แต่คำกริยาเดียวกันนี้ยังใช้พูดถึงผลฝ่ายจิตของศีลล้างบาปอีกด้วย “ผู้หลับใหล จงตื่นเถิด จงลุกขึ้นจากบรรดาผู้ตาย และพระคริสตเจ้าจะทรงส่องสว่างเหนือท่าน” (อฟ 5:14) “ท่านทั้งหลายถูกฝังพร้อมกับพระคริสตเจ้า” (คส 2:12) “ถ้าท่านทั้งหลายกลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว ก็จงใฝ่หาแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบนเถิด ณ ที่นั้น พระคริสตเจ้าประทับเบื้องขวาของพระเจ้า” (คส 3:1)...
การอดี (Garaudy) กล่าวไว้ว่า “สำหรับพระคริสตเจ้า และศิษย์ของพระองค์ การกลับคืนชีพเป็นวิถีทางใหม่ของการมีชีวิต ... อัศจรรย์ที่แท้จริง – ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยัน และพิสูจน์ได้โดยไม่มีทางโต้แย้ง และแปลกประหลาดผิดธรรมชาติยิ่งกว่าการฝืนกฎทางชีวภาพ หรือมากกว่าคำบอกเล่าเรื่องคูหาฝังศพที่ว่างเปล่า หรือแผ่นดินไหวที่ตอบสนองต่อเสียงร้องตะโกนด้วยความเจ็บปวดของชายคนหนึ่ง – อัศจรรย์ที่ว่านี้พบได้ไม่เพียงในตัวของพระคริสตเจ้า แต่ในตัวศิษย์ทุกคนของพระองค์ ผู้เคยตื่นตระหนกระหว่างคืนก่อนหน้านั้น แต่กลับเริ่มมีชีวิตใหม่ เป็นชีวิตในพระจิตเจ้า” (Appel aux vivants, หน้า 182)…
ถ้าการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเป็นเพียง “เวทย์มนตร์” ขบวนการปลดปล่อยทั้งหมดของเราก็ไร้ประโยชน์อย่างน่าเวทนา และน่าขัน ... การกลับคืนชีพที่แท้จริงเป็นผลงานของพระเจ้า และอยู่เหนืออำนาจของมนุษย์ ... และดังนั้น เราจึงควรย้ำว่าเราไม่อาจนึกคิดด้วยจินตนาการ และไม่อาจหาเหตุผลมาอธิบายเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจนได้ ... แต่เราก็ไม่อาจพูดได้ว่าเหตุการณ์นี้ผิดธรรมชาติ หรือเป็น “การฝืนกฎทางชีวภาพ” อย่างน้อยก็ในบางด้าน ทั้งนี้เพราะ “ชีวิตหลังความตาย” เป็นความปรารถนาของทุกชีวิตในธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย รวมถึงพืช และสัตว์ มีสัญชาตญาณอันรุนแรง และไม่ยอมแพ้ ที่จะรักษาชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไป เพื่อให้เผ่าพันธุ์ของตนอยู่รอดต่อไปได้ ทุกอารยธรรมและศาสนาก็มีความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ... แม้จะมีบางคนโดยเฉพาะในโลกตะวันตก (และเพียงสมัยหลัง ๆ นี้เท่านั้น) ที่ดูเหมือนได้สูญเสียความเชื่อมั่นในชีวิตหลังความตายนี้ไป แต่คนเหล่านี้ก็เป็นคนส่วนน้อยในโลก...
ความคิดดั้งเดิมของศาสนาคริสต์มีเหตุมีผลในตัวเอง ความเชื่อของคริสตศาสนากล้ายืนยัน - และถือว่าเป็นการเผยแสดงที่ได้รับจากพระเจ้า – ว่า พร้อมกับพระเยซูเจ้าและในพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงเข้ามารับสภาพมนุษย์ (ฟป 2:6-11) เพื่อจะนำเราติดตามพระองค์ไปสู่จุดหมายปลายทางอันไม่รู้จักตายของพระองค์เอง “พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น” (ยน 6:57) “และเราจะให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย” (ยน 6:40) ... ศีลล้างบาปจึงเป็นการคาดหมายถึงชีวิตนิรันดรนี้ “ดังนั้น เราถูกฝังไว้ในความตายพร้อมกับพระองค์อาศัยศีลล้างบาป เพื่อว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:4)...
แต่เรา ... ผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้ว ... ได้ดำเนินชีวิตแบบใหม่จริงหรือ...
คนตายก็ลุกขึ้นนั่ง และเริ่มพูด พระเยซูเจ้าจึงทรงมอบให้แก่มารดา ทุกคนต่างมีความกลัว และถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า กล่าวว่า “ประกาศกยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นในหมู่เรา พระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์” และข่าวเรื่องนี้ก็แพร่ไปทั่วแคว้นยูเดีย และทั่วอาณาบริเวณนั้น
คำว่า “เยี่ยม” มีนัยสำคัญมากที่สุด การเยี่ยมหมายถึงการมาหาเพียงชั่วคราวระหว่างช่วงเวลาสั้น ๆ พระเจ้าไม่ได้ทรงแสดงพระองค์อย่างต่อเนื่องในฐานะผู้พิชิตความตายผู้ทรงอานุภาพ ... ชายหนุ่มคนหนึ่งถูกปลุกให้คืนชีพในวันหนึ่งในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแคว้นกาลิลี แต่ยังมีคนเป็นพันล้านคนที่ได้ตายไป และยังตายต่อไป นับตั้งแต่กำเนิดของโลก...
แต่ในการมาเยี่ยมเราในลักษณะพิเศษในองค์พระเยซูเจ้านี้ พระเจ้าได้ประทาน “เครื่องหมายแห่งอวสานกาล” แก่เรา เป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันสุดท้าย เมื่อนั้น พระเจ้าจะทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกสิ่ง” และ “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดของเขา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป” (วว 21:4)
โลกของเราไม่ใช่สิ่งน่าขันไร้สาระ ... โลกไม่ได้ถูกปิดกั้นด้วยข้อจำกัดของตนเอง ... โลกนี้ไม่ใช่โลกของพระเจ้า ดังนั้น จึงยังไม่สมบูรณ์พร้อมในเวลานี้ แต่ก็ได้รับคำสัญญาว่าจะมีส่วนร่วมใน “พระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4)...
ข้าพเจ้ามีเดิมพันอันยิ่งใหญ่ในการกลับคืนชีพของชายหนุ่มแห่งเมืองนาอินผู้นี้ ...