แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สิบเอ็ด เทศกาลธรรมดา

ลูกา 7:36-8:3
    ชาวฟาริสีคนหนึ่งทูลเชิญพระเยซูเจ้าไปเสวยพระกระยาหารกับเขา พระองค์เสด็จเข้าไปในบ้านของชาวฟาริสีนั้น และประทับที่โต๊ะ ในเมืองนั้นมีหญิงคนหนึ่งเป็นคนบาป เมื่อนางรู้ว่าพระเยซูเจ้ากำลังประทับร่วมโต๊ะอยู่ในบ้านของชาวฟาริสีผู้นั้น จึงถือขวดหินขาวบรรจุน้ำมันหอมเข้ามาด้วย นางมาอยู่ด้านหลังของพระองค์ใกล้ ๆ พระบาท ร้องไห้จนน้ำตาหยดลงเปียกพระบาท นางใช้ผมเช็ดพระบาท จูบพระบาท และใช้น้ำมันหอมชโลมพระบาทนั้น
    ชาวฟาริสีที่ทูลเชิญพระองค์มาเห็นดังนี้ก็คิดในใจว่า “ถ้าผู้นี้เป็นประกาศก เขาคงจะรู้ว่าหญิงที่กำลังแตะต้องเขาอยู่นี้เป็นใคร และเป็นคนประเภทไหน นางเป็นคนบาป” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ซีโมน เรามีเรื่องจะพูดกับท่าน” เขาตอบว่า "เชิญพูดมาเถิด อาจารย์” พระองค์จึงตรัสว่า “เจ้าหนี้คนหนึ่งมีลูกหนี้อยู่สองคน คนหนึ่งเป็นหนี้อยู่ห้าร้อยเหรียญ อีกคนหนึ่งเป็นหนี้อยู่ห้าสิบเหรียญ ทั้งสองคนไม่มีอะไรจะใช้หนี้ เจ้าหนี้จึงยกหนี้ให้ทั้งหมด ในสองคนนี้ คนไหนจะรักเจ้าหนี้มากกว่ากัน” ซีโมนตอบว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นคนที่ได้รับการยกหนี้ให้มากกว่า” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านตัดสินถูกต้องแล้ว”
    พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาทางหญิงผู้นั้น ตรัสกับซีโมนว่า “ท่านเห็นหญิงผู้นี้ใช่ไหม เราเข้ามาในบ้านของท่าน ท่านไม่ได้เอาน้ำมาล้างเท้าให้เรา แต่นางได้หลั่งน้ำตารดเท้าของเรา และใช้ผมเช็ดให้ ท่านไม่ได้จูบคำนับเรา แต่นางจูบเท้าของเราตลอดเวลาตั้งแต่เราเข้ามา ท่านไม่ได้ใช้น้ำมันเจิมศีรษะให้เรา แต่นางใช้น้ำมันหอมชโลมเท้าของเรา เพราะเหตุนี้ เราบอกท่านว่าบาปมากมายของนางได้รับการอภัยแล้ว เพราะนางมีความรักมาก ผู้ที่ได้รับการอภัยน้อยก็ย่อมมีความรักน้อย” แล้วพระองค์ตรัสกับนางว่า “บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” บรรดาผู้ร่วมโต๊ะจึงเริ่มพูดกันว่า “คนนี้เป็นใครจึงทำได้แม้แต่การอภัยบาป” พระองค์ตรัสกับหญิงนั้นว่า “ความเชื่อของเจ้าช่วยเจ้าให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุขเถิด”
    หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปตามเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ทรงเทศน์สอน และประกาศข่าวดีถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า อัครสาวกสิบสองคนอยู่กับพระองค์ รวมทั้งสตรีบางคนที่พระองค์ทรงรักษาให้พ้นจากปีศาจร้ายและหายจากโรคภัย เช่น มารีย์ ที่เรียกว่าชาวมักดาลา ซึ่งปีศาจเจ็ดตนได้ออกไปจากนาง โยอันนา ภรรยาของคูซา ข้าราชบริพารของกษัตริย์เฮโรด นางสุสันนา และคนอื่นอีกหลายคน หญิงเหล่านี้สละทรัพย์ของตนมาช่วยเหลือพระองค์ และบรรดาอัครสาวก

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
หญิงผู้กลับใจ

    ถ้าจะมีประเด็นใดที่น่าเสียดายเกี่ยวกับพันธสัญญาใหม่ ประเด็นนั้นก็คือไม่มีผู้นิพนธ์พระวรสารคนใดเป็นสตรี ทำให้เราขาดความเข้าใจในเรื่องของพระเยซูคริสตเจ้าจากมุมมองของสตรี ลูกาเป็นผู้นิพนธ์คนเดียวที่บอกเล่าเรื่องราวในลักษณะที่ใกล้เคียงความรู้สึกของสตรีมากที่สุด หลังจากบอกเล่าเรื่องนี้จบลง เขาก็เล่าถึงบทบาทของสตรีหลายคนที่ช่วยเหลืองานเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า

    บางครั้ง ลูกาบอกเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งโดยจับคู่กับเรื่องราวคล้ายกันของหญิงคนหนึ่ง และมักแสดงให้เห็นว่าหญิงนั้นเปิดใจยอมรับความเชื่อมากกว่าชาย เช่น เศคาริยาห์ และพระนางมารีย์ ทั้งสองคนได้รับแจ้งสารจากทูตสวรรค์เหมือนกัน แต่เศคาริยาห์คลางแคลงใจ ตรงกันข้ามกับความเชื่อและความนบนอบของพระนางมารีย์

    เหตุการณ์สำคัญหลายครั้งในพระวรสารของลูกาเกิดขึ้นที่โต๊ะอาหาร ในเรื่องนี้ เราได้พบชายที่เป็นเจ้าของบ้าน เขาเป็นชาวฟาริสี เป็นคนที่ห่วงเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และมักเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากการเปื้อนมลทิน ... หรืออันตรายจากโอกาสบาป

    อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นตัวแทนอำนาจในโลกของผู้ชาย เขามีความคิดริเริ่ม มีความสามารถจัดการ และมีเงินทองมากพอจะเชิญแขกมาร่วมกินเลี้ยงได้ ถือเป็นธรรมเนียมที่จะเชิญแขกพิเศษบางคนมาแบ่งปันความรู้ของเขาให้แก่ผู้ร่วมโต๊ะ ชายคนนี้ชื่อซีโมน น่าสนใจที่พระวรสารบอกชื่อของเขา แต่ไม่บอกชื่อของหญิงในเรื่องนี้ ซีโมนมีอิทธิพลมากพอจะเชิญพระเยซูมาเป็นแขกพิเศษของเขาได้ ซีโมนเป็นคนเคร่งศาสนาที่มีทั้งอำนาจและอิทธิพล แต่เรื่องนี้จะเปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนของเขาในภายหลัง

    หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามา นางเป็นหนึ่งในบุคคลนิรนามผู้ต่ำต้อยของลูกา ซึ่งพระเจ้าทรงรักมาก ที่แย่ยิ่งกว่าการเป็นบุคคลนิรนามก็คือ นางเป็นคนชื่อเสียประจำเมืองนี้ การมีชื่อเสียไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ต้องมีคนกระจายข่าว ลิ้นของใครที่ทำหน้าที่กระจายข่าว ... ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นลิ้นของ “คนดีทั้งหลาย” นั่นเอง

    หญิงคนบาปนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนชีวิตของนางเสียใหม่ ... นางจำเป็นต้องพบกับการคืนดีภายในตนเอง ด้วยพระหรรษทานของพระเจ้า นางจึงพบกับต้นกำเนิดของการคืนดี ... ในองค์พระเยซูเจ้า ผู้เสด็จมากอบกู้คนบาป

    เราได้เห็นหญิงคนนี้ไปสารภาพบาป ภาษาของนางประกอบด้วยน้ำตาและการสัมผัส การกระทำของนางคือการจูบ และการเจิมด้วยน้ำมันหอม พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสถามนางว่า “เธอทำบาปกี่ครั้ง” หรือ “เธอยินดีกับการทำบาปนั้นหรือเปล่า”

    นางโชคดีที่ไม่ได้มาขอสารภาพบาปหลังจากนั้นหลายศตวรรษ ตะแกรงไม้ในที่สารภาพบาปคงไม่เข้าใจน้ำตาของนาง และคงไม่ตอบสนองความต้องการลึก ๆ ในใจของนางที่อยากให้ใครบางคนสัมผัสตัวนาง พระสงฆ์ทุกคนที่ฟังสารภาพบาปควรมีกระดาษเช็ดหน้าสำรองให้คนบาปใช้ซับน้ำตาบ้าง!

    เรื่องย้อนกลับมาที่ฝ่ายชาย “เขาคิดในใจ” ... การพูดกับตนเองในใจเป็นอาการที่แสดงว่าบุคคลนั้นกำลังมีเรื่องโต้แย้งกับตนเองในใจ เป็นการโต้แย้งกับส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราพยายามเก็บกดไว้ เมื่อเราพยายามปฏิเสธส่วนหนึ่งของความเป็นจริงในชีวิตของเรา กลไกอย่างหนึ่งที่เราใช้ปกป้องตนเองก็คือใช้กฎบางอย่างเป็นที่กำบัง เพราะกฎนั้นปกป้องความรู้สึกของเราว่าเราเป็นผู้ชอบธรรม

    บทบัญญัติกำหนดไว้ว่า ผู้เป็นรับบีควรอยู่ห่าง ๆ ผู้หญิงในที่สาธารณะ แต่ที่นี่มีหญิงคนหนึ่งที่ชื่อเสียงไม่ดี และชายที่ชื่อเยซูนี้กำลังยอมให้คนบาปคนนี้สัมผัสตัวเขา ดังนั้น ซีโมนจึงกำลังตัดสินและประเมินความหนักหนาของความผิดนี้ บัดนี้ สมองของเขากลายเป็นกับดักที่ขังเขาไว้ภายใน เพราะเขาไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ด้วยความเข้าใจสตรีได้

    เขาจะตีฝ่าออกมาจากฉากที่เขาใช้ป้องกันตนเองนี้ได้อย่างไร พระเยซูเจ้าทรงใช้เรื่องของลูกหนี้สองคนเพื่อเปิดประตูคุกให้เขา พระองค์ทรงเชิญซีโมนให้ก้าวออกมาจากข้างหลังฉากป้องกันตนเอง โดยให้เขาตอบคำถามข้อหนึ่ง ไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับหนี้ หรือความถูกต้องของพฤติกรรม แต่เกี่ยวกับความรัก “ในสองคนนี้ คนไหนจะรักเจ้าหนี้มากกว่ากัน” พระเยซูเจ้าทรงมองว่าการพบกันครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของบาป หรือการติดมลทินจากคนชั่ว แต่ทรงมองว่าเป็นวันที่ความรักถูกปลดปล่อยออกมาจากภายใต้ความรู้ผิดและหนี้ที่กองทับอยู่ หญิงคนนี้คงได้รับการปลดปล่อยจากภาระที่หนักอึ้งเมื่อนางแสดงความรักอย่างฟุ่มเฟือยเช่นนี้ “นางได้รับการอภัยบาปมากมายของนางแล้ว มิฉะนั้น นางคงไม่แสดงความรักมากเช่นนี้”

    ซีโมน ฟาริสีผู้ระวังตัว ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสดงความรักของเขาต่อพระเจ้า แต่หัวใจของสตรีนิรนามผู้นี้ค้นพบว่า ศาสนาเริ่มต้นด้วยการยอมให้พระเจ้ารักเรา

    ในฐานะชายคนหนึ่งที่ได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ในพระศาสนจักร ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจเลยที่คิดว่าตนเองคล้ายกับซีโมนชาวฟาริสี สิ่งที่ท้าทายข้าพเจ้า คือ พวกเราหลายคนที่ร่วมโต๊ะอาหารบ่อยครั้ง - และอาจถึงกับทุกวัน - กับพระเยซูเจ้า อาจห่างเหินจากพระทัยของพระองค์เพราะเราตัดสินผู้อื่นอย่างเย็นชา และการยึดถือหลักการอย่างไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น พระเยซูเจ้าอาจประทับอยู่ใกล้ชิดหัวใจของบางคนมากกว่า ทั้งที่เขาเหล่านั้นถูกห้ามไม่ให้มารับพระองค์ที่พระแท่น เช่นเดียวกับหญิงนิรนามคนนี้ คนเหล่านั้นอาจไม่ได้นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับพระองค์ แต่เขารู้จักพระเมตตาของพระองค์ และเขาเข้ามาหาพระองค์ทางด้านหลัง เพื่อสัมผัสพระองค์ในคำภาวนา

    บางทีการรักอย่างฟุ่มเฟือย แม้ว่าไม่ได้กระทำอย่างถูกต้องเหมาะสมเสมอไป อาจดีกว่าการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ปราศจากความรัก แต่ที่ดีที่สุดก็คือการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสมควบคู่กับการรักอย่างฟุ่มเฟือย

ข้อรำพึงที่สอง
แสงแดดหลังฝน

    บนภูเขามะกอกเทศ ณ จุดที่มองข้ามหมู่บ้านเคดรอนลงไปยังบริเวณพระวิหารของกรุงเยรูซาเล็มได้ มีวัดน้อยเล็ก ๆ หลังหนึ่งชื่อว่า Dominus Flevit เพื่อระลึกถึงน้ำพระเนตรที่พระเยซูเจ้าทรงหลั่งให้แก่กรุงเยรูซาเล็ม วัดน้อยหลังนี้ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายหยดน้ำตา ที่มุมทั้งสี่ของหลังคามีโถหินตั้งอยู่มุมละหนึ่งใบ เพื่อระลึกถึงธรรมเนียมที่สตรีคนหนึ่งจะใช้โถเก็บรักษาน้ำตาของนางไว้เป็นเครื่องหมายอันมีค่าสูงสุดของความรักที่นางมีต่อผู้เป็นที่รัก

    หญิงคนบาปที่เข้ามาในบ้านของซีโมน ถือขวดหินขาวบรรจุน้ำมันหอมมาด้วย แต่ของขวัญที่มีค่ามากกว่าที่นางถวายแด่พระเยซูเจ้าก็คือน้ำตาของนาง นางหลั่งน้ำตาลงบนพระบาทของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงรับรู้ว่าน้ำตาของนางเป็นวิธีแสดงความศรัทธาและความรักของนางได้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุด หญิงคนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นทุกข์ถึงบาป ซึ่งนำไปสู่การเยียวยา

    ความรู้สึกผิดกับบาปของเราทำให้เราเสียใจ แต่ความเสียใจเป็นได้ทั้งกระบวนการเยียวยา และอารมณ์ที่ทำลายล้าง

    นักบุญเปาโลชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างสองวิธีที่เราแสดงปฏิกิริยาต่อความเจ็บปวดจากคำตักเตือน “ความทุกข์ใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าทำให้กลับใจ ทำให้รอดพ้น จึงไม่มีผู้ใดเสียใจ ส่วนความทุกข์ใจของโลกนำไปสู่ความตาย” (2 คร 7:10)

    ความเสียใจที่ทำลายล้างอาจเรียกได้ว่าความระทมใจ (remorse) ซึ่งมาจากภาษาละติน ที่แปลว่าการกัดบางสิ่งบางอย่าง ความระทมใจกัดกินชีวิตของวิญญาณ บั่นทอนความหวัง ทำลายความมั่นใจ และทำให้คำภาวนาขาดชีวิตชีวา เพราะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกเบื้องหน้าพระเจ้า เมื่อเรากัดกร่อนตัวเรามากขึ้น ความรู้สึกผิดจะยิ่งเพิ่มขึ้น และความกลัวว่าจะผิดพลั้งอีกครั้งหนึ่งทำให้เราไม่มีความหวังที่จะปรับปรุงตนเอง เหมือนกับนักกีฬาที่เดินเข้าสู่สนามโดยคิดว่าตนเองต้องแพ้ทั้งที่ยังไม่เริ่มแข่งขัน ยูดาสเป็นตัวอย่างของความระทมใจอย่างรุนแรง ซึ่งกัดกินตัวตนของเขาจนกลายเป็นการทำลายตนเอง

    ความเสียใจที่นำไปสู่การเยียวยา และการกลับใจ ไม่ทำให้เราค้นหาเหตุผลมาแก้ตัว แต่เข้าพึ่งพระเมตตาของพระเจ้า ความเสียใจเช่นนี้จะได้พบกับสายพระเนตรอันเปี่ยมด้วยความรักของพระคริสตเจ้า

    เหมือนกับที่เปโตรได้พบหลังจากที่เขาปฏิเสธพระองค์ ความเสียใจเช่นนี้เรียนรู้ที่จะปลื้มปิติในพระเมตตาอันไร้ขอบเขตของพระเจ้าเหมือนกับที่เปาโลเคยรู้จัก “ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า” (รม 5:20)

    การกลับใจคือความเสียใจต่อพระเจ้า เพราะเรากำลังใช้แม้แต่บาปของเราในทางที่สร้างสรรค์ ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของการเล่นยูโด คือ ใช้แรงจากการโจมตีของคู่ต่อสู้เพื่อล้มเขาเอง เมื่อนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิตจิต หมายความว่าเราต้องใช้ความเป็นคนบาปของเราเพื่อส่งเสริมให้ชีวิตจิตของเราเจริญเติบโต ลองคิดดูซิว่าปีศาจจะหัวเสียเพียงใดที่เห็นชัยชนะของมันถูกแย่งชิงไปจากมือของมัน

    การรับรู้ถึงบาป และความอ่อนแอของเรา เป็นประสบการณ์ที่สามารถทำลายความจองหองของเราได้มาก และกลายเป็นรากฐานอันแน่นหนาของความสุภาพถ่อมตน ถ้าเราไม่พบกับความอัปยศบ้าง พวกเราส่วนใหญ่คงจองหองจนสุดจะทนได้ ความเจ็บปวดจากความล้มเหลวของเราทำให้เราไม่ค่อยอยากจะขว้างก้อนหินใส่ผู้อื่น ดอกไม้แห่งความสงสารเจริญงอกงามได้ดีที่สุดจากกองปุ๋ยแห่งโอกาสที่เสียไป จดหมายถึงชาวฮีบรูบอกว่า สมณะทุกคนที่เป็นผู้แทนของมนุษย์ในการติดต่อกับพระเจ้าจะต้องมีความเห็นใจ “เขาเห็นใจผู้ที่ไม่รู้ และหลงผิด เพราะเขาก็ถูกความอ่อนแอครอบงำอยู่เช่นกัน” (5:2) ความอ่อนแอของเราอาจทำให้เราภาวนามากขึ้น ในขณะที่ความระทมใจทำให้คำภาวนาขาดชีวิต และทำให้เราซ่อนตัวจากพระเจ้า การกลับใจจะทำให้เราพึ่งพาอาศัยพระเจ้ามากขึ้น และชักนำให้เราภาวนามากขึ้น

    เหนืออื่นใด การยอมรับว่าเราเป็นคนบาปจะทำให้เรารู้จักคุณค่าของความรักเมตตาของพระเจ้ามากขึ้น หญิงคนบาปนี้รักมากเพราะนางได้รับการอภัยมาก บุตรล้างผลาญเริ่มรู้ว่าบิดารักเขามากมายเพียงไรก็เมื่อเขาต้องลิ้มรสความอับอายจากประสบการณ์ของเขา ผู้มีความเชื่อที่มีวุฒิภาวะจะใช้ศีลอภัยบาปเป็นโอกาสแสดงความเสียใจ และสรรเสริญความเมตตาของพระเจ้า เหมือนกับแสงแดดหลังฝน เมื่อหยดน้ำตาจากฟ้าเผยให้เราเห็นสายรุ้งแห่งการให้อภัยของพระเจ้า ที่ส่องสว่างจนทำให้ตาพร่า พระเยซูเจ้าทรงเห็นได้ว่าหญิงที่เข้ามาในงานเลี้ยงนี้มีความรักมาก เพราะนางได้รับการอภัยมาก ... นางได้รับการอภัยมากจนนางหลั่งน้ำตาลงชโลมพระบาท เป็นพระบาทที่งดงาม เพราะนำข่าวดีแห่งสันติสุขมาให้

บทรำพึงที่ 2

ชาวฟาริสี คนหนึ่งทูลเชิญพระเยซูเจ้าไปเสวยพระกระยาหารกับเขา พระองค์เสด็จเข้าไปในบ้านของชาวฟาริสีนั้น และประทับที่โต๊ะ

    ลูกา เล่าว่ามีชาวฟาริสีเชิญพระเยซูเจ้าไปเสวยพระกระยาหารถึงสามครั้ง (ลก 7:36, 11:37, 14:1) ส่วนมัทธิว และมาระโก เสนอภาพว่าชาวฟาริสีเป็นศัตรูของพระเยซูเจ้า คำบอกเล่าของลูกาน่าจะตรงกับความจริงทางประวัติศาสตร์มากกว่า พระเยซูเจ้าไม่ทรงตั้งข้อรังเกียจใคร และเมื่อใดที่พระองค์ทรงขัดแย้งกับบางคน ก็มิใช่เพราะทรงดูถูกเขา แต่เพราะเขาไม่ยอมรับทัศนคติของพระองค์ต่อคนบาป

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ประพฤติตนเหมือนพระองค์ โดยไม่ยอมเป็นนักโทษของคนตระกูลใด หรือแนวความคิดของสำนักใด แต่ให้ใจของเราเปิดกว้างเสมอ แม้แต่กับบุคคลที่คิดไม่เหมือนเรา หรือมักต่อต้านเรา...

    เป็นความจริงที่การกระทำ และพระวาจาของพระเยซูเจ้า ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ พระองค์ไม่ได้เป็นอย่างที่คนทั่วไปคาดหมายให้พระองค์เป็น ... แม้แต่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ในข้อความก่อนหน้านี้ (ลก 7:18-35) ก็ยังสงสัยว่า “ท่านคือผู้ที่จะต้องมา หรือเราต้องรอคอยผู้อื่นอีก” ... ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นประกาศกของพระเจ้า เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลตัวเมือง เขาไม่กินอาหารหรือดื่มเหล้า เขาเป็นผู้บำเพ็ญพรตแท้ (ลก 7:33) ... แต่ชายที่ชื่อเยซูนี้อยู่ร่วมกับชาวโลกทั่วไป ตอบรับคำเชิญไปกินอาหาร จนถึงกับถูกเรียกว่า “นักกินและนักดื่ม” (ลก 7:34) ... ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ประกาศว่าพระเจ้าจะทรงพิพากษาคนบาป – แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “เพื่อนกับคนเก็บภาษี และคนบาป” (ลก 7:34)

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าระหว่างงานเลี้ยง ขณะประทับที่โต๊ะอาหาร เสวย และทรงดื่มเหมือนคนอื่น ๆ

    พระเจ้าไม่ทรงต่อต้านชีวิตมนุษย์ พระองค์ประทานชีวิตแก่เรา ... ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจึงไม่ควรเป็นบุคคลที่ทำลายความสุขของผู้อื่น ... พระเยซูเจ้าทรงตอบรับคำเชิญ คำที่ใช้ในพระวรสารภาษากรีก คือ “พระองค์ทรงเอนพระกายที่โต๊ะอาหาร” ดังนั้นอาหารมื้อนี้จึงเป็นงานเลี้ยง ซึ่งตามปกติแขกจะเอนกายบนเก้าอี้ยาวตามธรรมเนียม ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นคนจน แต่ทรงดำเนินชีวิตท่ามกลางคนรวยโดยไม่ทรงเหยียดหยามผู้ใด...

ในเมืองนั้นมีหญิงคนหนึ่งเป็นคนบาป เมื่อนางรู้ว่าพระเยซูเจ้ากำลังประทับร่วมโต๊ะอยู่ในบ้านของชาวฟาริสีผู้นั้น จึงถือขวดหินขาวบรรจุน้ำมันหอมเข้ามาด้วย นางมาอยู่ด้านหลังของพระองค์ใกล้พระบาท ร้องไห้จนน้ำตาหยดลงเปียกพระบาท นางใช้ผมเช็ดพระบาท จูบพระบาท และใช้น้ำมันหอมชโลมพระบาทนั้น

    ในดินแดนตะวันออกกลาง เมื่อบ้านใดจัดงานเลี้ยง ทุกคนสามารถเข้าไปในบ้านหลังนั้นได้ คนในถิ่นที่อากาศอบอุ่นมักใช้น้ำมันหอมกันอย่างฟุ่มเฟือย การมอบน้ำหอมถือว่าเป็นการแสดงความเอื้อเฟื้อของเจ้าภาพตามปกติ

    หญิงคนนี้เป็นคนที่ชาวเมืองรู้จักดี ดูเหมือนว่าทุกคนในเมืองล่วงรู้พฤติกรรมของนางว่าเป็น “คนบาป” ซึ่งอาจหมายความว่าเป็นโสเภณี นางเคยทำบาปไว้มากมาย แต่บัดนี้ นางรู้สึกเสียใจ และนางร้องไห้ต่อหน้าคนทั้งหลาย นางชิงชังตนเอง ... พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสตอบเยาวชน เมื่อพวกเขาถามเกี่ยวกับกามารมณ์ว่า “ความหย่อนยานทางศีลธรรมไม่ทำให้ใครมีความสุขได้”...

    หญิงคนบาปนี้หมอบอยู่กับพื้นใกล้พระบาทของพระเยซูเจ้า นางร้องไห้สะอึกสะอื้น นางจูบพระบาทของพระเยซูเจ้า และชโลมน้ำมันหอมบนพระบาทจนกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วห้อง ... ผู้นิพนธ์พระวรสารเล่าเหตุการณ์ที่มองได้หลายแง่เช่นนี้ทำไม ... เพราะในโอกาสนี้ พระเยซูเจ้าทรงมีคำสั่งสอนสำคัญจะประทานให้...

    ข้าพเจ้าคิดถึงบาปของตนเอง ... และคิดถึงบาปของคนทั้งโลก ที่กำลังเพิ่มทวีเหมือนน้ำขึ้น ... พระเจ้าข้า พระองค์คงเคยชินกับการเห็นบาปของมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีน้ำใจอิสระ ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์บนโลกนี้...

ชาวฟาริสีที่ทูลเชิญพระองค์มา เห็นดังนี้ก็คิดในใจว่า “ถ้าผู้นี้เป็นประกาศก เขาคงจะรู้ว่าหญิงที่กำลังแตะต้องเขาอยู่นี้เป็นใคร และเป็นคนประเภทไหน นางเป็นคนบาป”

    ธรรมบัญญัติของอิสราเอลกำหนดว่าบุคคลหนึ่งจะทำให้ตนเองมีมลทิน ถ้าเขาสัมผัสหญิงคนบาป ศพ หรือหมู ฟาริสีผู้นี้ตัดสินทันทีว่าพระเยซูเจ้าไม่ใช่คนของพระเจ้า พระองค์ไม่ใช่ประกาศก เพราะพระองค์ทรงยอมให้หญิงคนหนึ่งสยายผมออกเช็ดพระบาท การปล่อยผมของสตรีเป็นการกระทำที่น่าละอายและไม่สมควร ในโลกของชาวยิว และโลกมุสลิมแม้ในปัจจุบัน เมื่อสตรีต้องซ่อนผมไว้ใต้ผ้าคลุม...

พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ซีโมน เรามีเรื่องจะพูดกับท่าน” เขาตอบว่า “เชิญพูดมาเถิด อาจารย์” พระองค์จึงตรัสว่า “เจ้าหนี้คนหนึ่งมีลูกหนี้อยู่สองคน คนหนึ่งเป็นหนี้อยู่ห้าร้อยเหรียญ อีกคนหนึ่งเป็นหนี้อยู่ห้าสิบเหรียญ ทั้งสองคนไม่มีอะไรจะใช้หนี้ เจ้าหนี้จึงยกหนี้ให้ทั้งหมด ในสองคนนี้ คนไหนจะรักเจ้าหนี้มากกว่ากัน” ซีโมน ตอบว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นคนที่ได้รับการยกหนี้ให้มากกว่า” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านตัดสินถูกแล้ว”

    เจ้าหนี้มนุษย์มักไม่ทำเช่นนี้ ... แต่พระเจ้าทรงเป็นเช่นนี้ ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นประกาศกอย่างแท้จริง เพราะพระองค์แสดงให้มนุษย์เห็นความรักของพระบิดา ความรักของพระเจ้า...

    เมื่อใดหนอ เราจึงจะเข้าใจเสียทีว่าพระเจ้าไม่ใช่ผู้ที่พิพากษา แต่ทรงเป็นผู้ที่ยกหนี้ของเรา ทรงเป็นผู้ให้อภัยบาป ... และพระองค์ทรงเรียกร้องให้เรามีทัศนคติเช่นนี้ด้วย “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”...

พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาทางหญิงผู้นั้น ตรัสกับซีโมน ว่า “ท่านเห็นหญิงผู้นี้ใช่ไหม เราเข้ามาในบ้านของท่าน ท่านไม่ได้เอาน้ำมาล้างเท้าให้เรา แต่นางได้หลั่งน้ำตารดเท้าของเรา และใช้ผมเช็ดให้ ท่านไม่ได้จูบคำนับเรา แต่นางจูบเท้าของเราตลอดเวลาตั้งแต่เราเข้ามา ท่านไม่ได้ใช้น้ำมันเจิมศีรษะให้เรา แต่นางใช้น้ำมันหอมชโลมเท้าของเรา”

    พระเยซูเจ้าตรัสถึงหญิงคนนี้ด้วยความเคารพ พระองค์ทรงยกย่องคุณค่าของนาง และบรรยายการกระทำดี ๆ ของนาง นางเคยผ่านความทุกข์ทรมานมามากแล้ว...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้มองดูคนบาป และมองดูตนเองด้วยสายพระเนตรของพระองค์ ซึ่งเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาเถิด ... โปรดประทานอำนาจให้แก่คริสตชนในการฟื้นฟูจิตใจคนบาปให้เขาเห็นคุณค่าของตนเองอีกครั้งหนึ่ง ... ขอให้คำพูด และทัศนคติของพระศาสนจักรของพระองค์แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงคุณความดีอย่างไร ... พระเจ้าข้า ขอให้พระสงฆ์ทุกคนของพระองค์เต็มเปี่ยมด้วยคุณความดีของพระองค์ ... ขอให้เขาเหมือนพระองค์ ขอให้เขาเป็นผู้รับใช้แท้ของศีลอภัยบาปที่เสนอการให้อภัยของพระองค์แก่คนบาปทุกคน...

เพราะเหตุนี้ เราบอกท่านว่า บาปมากมายของนางได้รับการอภัยแล้ว เพราะนางมีความรักมาก ผู้ที่ได้รับการอภัยน้อย ก็ย่อมมีความรักน้อย

    อุปมาเรื่องลูกหนี้สองคน สอนบทเรียนที่ชัดเจน หญิงคนนี้ได้รับการอภัยมาก เพราะนางแสดงให้เห็นว่านางรักมาก

    อันที่จริง พระคัมภีร์ย้ำเสมอว่ามนุษย์ที่ทำบาปไม่สมควรได้รับการอภัยจากพระเจ้า แต่ด้วยความรักต่อมนุษย์ทุกคน พระเจ้าจึงประทานอภัยให้แก่เราโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน...
    -    ความรักเป็นสาเหตุของการให้อภัย เพราะ “บาปของนางได้รับการอภัยแล้ว เพราะนางมีความรักมาก”...
    -    ความรักอาจเป็นผลของการได้รับอภัยด้วยก็ได้ เพราะ “ผู้ได้รับการอภัยมากย่อมรักมาก”

    ความรักนำไปสู่การให้อภัย – นี่คือความจริง...

    การให้อภัยนำไปสู่ความรัก – นี่คือความจริงยิ่งกว่า...

    ข้อความตอนนี้ซึ่งเรื่องความเมตตา เป็นหนึ่งในไข่มุกเม็ดงามของพระวรสาร ฟาริสีผู้นี้คลางแคลงใจที่หญิงคนนี้แตะต้องพระเยซูเจ้า และไม่เชื่อว่าพระองค์มีอำนาจของประกาศกที่จะล่วงรู้ความลับในมโนธรรมของผู้อื่น แต่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรารู้แน่นอนว่านางเป็นใคร และเพราะเรารู้เช่นนี้ เราจึงยอมให้นางสัมผัสตัวเรา เพราะเรามาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ และไม่ได้มาเรียกคนชอบธรรม” (ลก 5:31-32)...

    พระเจ้าข้า ขอบพระคุณพระองค์สำหรับการเผยแสดงนี้ ... เพราะเหตุนี้กระมัง พระองค์จึงทรงยอมให้เรามีเสรีภาพที่จะทำบาปได้ ... เพื่อว่าวันหนึ่งบาปของเราจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ เมื่อเราเข้าใจและยินดีที่ได้รับการอภัยจากพระองค์...

    นี่เป็นธรรมล้ำลึกข้อหนึ่ง บาปของข้าพเจ้าสามารถกลายเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้ารักพระเจ้ามากขึ้น เมื่อใดที่ข้าพเจ้ารับรู้ถึงความเมตตาของพระเจ้า เมื่อข้าพเจ้าหยั่งรู้ว่าพระเจ้าทรงรักข้าพเจ้ามากเพียงใด ... การให้อภัยคือการแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จึงไม่ควรหรือที่จะยกย่องให้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ... พระศาสนจักรยุคปัจจุบันเรียกศีลศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างเหมาะสมแล้วว่า “ศีลแห่งการคืนดี” ที่จะเรียกว่าศีลแห่งการสำนึกผิด...

    ข้าพเจ้าชอบเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้หรือเปล่า...

    นักบุญออกุสตินเคยเขียนไว้ว่า “การสารภาพบาปจะเป็นคำสารภาพบาปอย่างคริสตชน เพียงเมื่อสลักไว้ภายในคำสารภาพด้วยการสรรเสริญ”

    การสารภาพบาปของเรา คือ “การสารภาพด้วยความเชื่อ” ในความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา...

แล้วพระองค์ตรัสกับนางว่า “บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” บรรดาผู้ร่วมโต๊ะจึงเริ่มพูดกันว่า “คนนี้เป็นใครจึงทำได้แม้แต่การอภัยบาป” พระองค์ตรัสกับหญิงนั้นว่า “ความเชื่อของเจ้าช่วยเจ้าให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุขเถิด”

    พระเยซูเจ้าทรงแสดงท่าทีเหมือนกับผู้ที่รู้ตัวดีว่าได้รับมอบอำนาจอภัยบาปจากพระเจ้า ... กิริยาและพระวาจาเช่นนี้เองที่ทำให้แม้แต่ศิษย์ของพระองค์ก็ยังสงสัยว่า “คนนี้เป็นใครกัน” ... คริสตชนกลุ่มแรกกล้าตอบคำถามนี้แล้วว่า “พระเยซู คริสตเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า”...

หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปตามเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ทรงเทศน์สอน และประกาศข่าวดีถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า อัครสาวกสิบสองคนอยู่กับพระองค์ รวมทั้งสตรีบางคนที่พระองค์ทรงรักษาให้พ้นจากปีศาจร้ายและหายจากโรคภัย เช่นมารีย์ ที่เรียกว่าชาวมักดาลา ซึ่งปีศาจเจ็ดตนได้ออกไปจากนาง โยอันนา ภรรยาของคูซา ข้าราชบริพารของกษัตริย์เฮโรด หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปตามเมือง และหมู่บ้านต่าง ๆ ทรงเทศน์สอน และประกาศข่าวดีถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า อัครสาวกสิบสองคนอยู่กับพระองค์ รวมทั้งสตรีบางคนที่พระองค์ทรงรักษาให้พ้นจากปีศาจร้ายและหายจากโรคภัย นางสุสันนา และคนอื่นอีกหลายคน หญิงเหล่านี้สละทรัพย์ของตนมาช่วยเหลือพระองค์ และบรรดาอัครสาวก

    ลูกามักให้ความสำคัญแก่สตรีเสมอ ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวทางปฏิบัติในสังคมและศาสนาในยุคสมัยของเขา รับบี สมัยนั้นไม่ยอมรับสตรีเป็นศิษย์

    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นการปฏิวัติที่แท้จริง – และการปฏิวัตินี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์...