วันอาทิตย์ที่เก้า เทศกาลธรรมดา
ลูกา 7:1-10
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสพระวาจาทั้งหมดนี้ให้ประชาชนฟังจบแล้ว พระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองคาเปอรนาอุม ผู้รับใช้ของนายร้อยคนหนึ่งกำลังป่วยใกล้จะตาย นายรักเขามาก เมื่อนายร้อยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า จึงส่งผู้อาวุโสบางคนของชาวยิวมาอ้อนวอนพระองค์ให้เสด็จไปช่วยชีวิตของผู้รับใช้ คนเหล่านั้นมาเฝ้าพระเยซูเจ้า อ้อนวอนรบเร้าพระองค์ว่า “นายร้อยผู้นี้สมควรที่ท่านจะช่วยเหลือ เพราะเขารักชนชาติของเรา และได้สร้างศาลาธรรมให้เรา” พระเยซูเจ้าจึงเสด็จไปกับคนเหล่านั้น เมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้จะถึงบ้าน นายร้อยใช้เพื่อนบางคนไปทูลพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าข้า อย่าลำบากไปเลย ข้าพเจ้าไม่สมควรให้พระองค์เสด็จเข้ามาในบ้านของข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อาจเอื้อมที่จะออกมาพบกับพระองค์ แต่ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียว ผู้รับใช้ของข้าพเจ้าก็จะหายจากโรค ข้าพเจ้าเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่ยังมีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาด้วย ข้าพเจ้าบอกคนหนึ่งว่า ‘ไป’ เขาก็ไป บอกอีกคนหนึ่งว่า ‘มา’ เขาก็มา ข้าพเจ้าบอกผู้รับใช้ว่า ‘ทำสิ่งนี้’ เขาก็ทำ” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ทรงประหลาดพระทัย ทรงหันพระพักตร์ไปยังประชาชนที่ติดตามพระองค์ ตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า เรายังไม่เคยพบใครมีความเชื่อมากเช่นนี้ในอิสราเอลเลย” เมื่อเพื่อนที่ถูกใช้มากลับไปถึงบ้าน ก็พบว่าผู้รับใช้ผู้นั้นหายเป็นปกติแล้ว
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ความเชื่ออย่างน่าประหลาดใจ
พระวรสารของลูกาบอกเล่ามากกว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูเจ้า วิธีบอกเล่าของเขามีลักษณะของการประกาศข่าวดี เป็นการประกาศกิจการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ดังนั้น เขาจึงกล่าวบ่อยครั้งถึงความประหลาดใจ และความรู้สึกทึ่งของผู้ที่ได้เห็นพระอานุภาพของพระเจ้าในสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัส หรือกระทำ เรื่องของนายร้อยชาวโรมันนี้เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่ลูกาบอกว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นฝ่ายประหลาดใจ
พระเยซูเจ้าทรงเรียกสิ่งที่ทำให้พระองค์ประหลาดใจว่าความเชื่อ “เรายังไม่เคยพบใครมีความเชื่อมากเช่นนี้ในอิสราเอลเลย” คำว่าความเชื่อเพียงคำเดียวครอบคลุมทัศนคติทั้งหมดของนายร้อยคนนี้ต่อพระเจ้า และต่อเพื่อนมนุษย์ และยังเผยด้วยว่าเขามองตนเองอย่างไร
เขาแสดงความมั่นใจเต็มเปี่ยมเบื้องหน้าพระเจ้า เขายกเอาอำนาจปกครองในกองทัพ ซึ่งเป็นโลกที่เขาคุ้นเคย มาเปรียบเทียบกับพระอานุภาพสูงสุดของพระเจ้า ผู้ที่พระวาจาของพระองค์บันดาลให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้
สำหรับเพื่อนมนุษย์ เขาแสดงความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึก
เขาห่วงใยผู้รับใช้ของเขามาก แม้ว่าเขาเป็นทหารในกองทัพที่ยึดครองดินแดน แต่เห็นได้ชัดว่าเขาเคารพวิถีชีวิตของชาวยิว เพราะเขาได้สร้างศาลาธรรมให้ และเขายังแสดงความเข้าใจอันละเอียดอ่อน โดยไม่ทำให้พระเยซูเจ้าต้องลำบากใจที่จะต้องเข้าไปภายในบ้านของคนต่างชาติซึ่งชาวยิวถือว่ามีมลทิน ทัศนคติอันประเสริฐทั้งต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เช่นนี้จะพบได้ในตัวของบุคคลที่มองตนเองอย่างถ่อมตนเท่านั้น ถ้อยคำยอมรับความไม่สมควรของตนเองนี้ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากพระศาสนจักร จนถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมขณะที่ผู้ร่วมพิธีมิสซาเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท เราคงไม่สามารถหาบทภาวนาใดที่เหมาะสมไปกว่าบทภาวนาว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควร ...” เราไม่ได้ต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะเราได้กระทำความดีจนสมควรได้รับรางวัล ใครบ้างจะมีบุญจนถึงกับได้รับเอกสิทธิ์อันยิ่งใหญ่ในศีลมหาสนิทได้
เราเดินเข้าไปหาโต๊ะอาหารศักดิ์สิทธิ์นี้ในสภาพของคนที่อ่อนแอ เหนื่อยล้า และล้มลุกคลุกคลานระหว่างการเดินทางในชีวิต เพราะความรัก องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงปรารถนาจะเป็นเพื่อนเดินทางของเรา และเพื่อนเดินทางก็หมายถึงบุคคลที่แบ่งปันอาหารของเขาให้เรากิน
เพราะความขัดสนของเรา เราจึงมาขอรับอาหารและพละกำลัง ความรู้สึกว่าเราไม่สมควรต้อนรับพระองค์ไม่ได้ทำให้เราต้องการอยู่ห่างพระองค์ เพราะเรามีความมั่นใจในพระวาจาของพระเยซูเจ้า “โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจของข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์” พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการเฉลิมฉลองพระวาจาของพระเจ้าที่เสด็จลงมาอยู่ในชีวิตของเราเพื่อยกชีวิตของเราให้สูงขึ้น ด้วยการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ใครสามารถได้รับพระวาจาที่ชุบชู และรักษาเยียวยาวิญญาณเช่นนี้ได้ ... มีแต่คนที่เหมือนกับนายร้อยโรมันคนนี้เท่านั้น ... คนที่มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม ประกอบกับความเอื้ออาทรอันละเอียดอ่อน และสำนึกอันลึกล้ำถึงความไม่สมควรของตนเอง คุณสมบัติทั้งหมดนี้รวมกัน ... นั่นคือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกว่าความเชื่อ ... และความเชื่อนี้ทำให้พระองค์ประหลาดใจ
ข้อรำพึงที่สอง
คนกลาง
นายร้อยคนนี้ใช้ผู้อาวุโสชาวยิวบางคนเป็นคนกลางไปขอร้องกับพระเยซูเจ้า เพราะเขารู้สึกว่าไม่สมควรไปหาพระองค์ด้วยตนเอง และเพราะเขาเข้าใจดีเรื่องขนบธรรมเนียมของชาวยิวในการติดต่อกับคนต่างชาติ ในเวลาต่อมา เมื่อพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพทรงส่งศิษย์ของพระองค์ออกไปปฏิบัติพันธกิจแห่งการคืนดี นั่นเท่ากับพระองค์ทรงกำลังแต่งตั้งศิษย์เหล่านี้ให้เป็นคนกลางระหว่างพระเจ้าและมนุษยชาติ หนังสือกิจการอัครสาวกยืนยันว่าพระอานุภาพของพระเจ้าทำงานผ่านตัวอัครสาวก ประชาชนมาขอให้พวกเขารักษาโรค เหมือนกับที่เคยมาหาพระเยซูเจ้า
นับแต่ยุคแรกของพระศาสนจักรคริสต์ เราเคารพนับถือนักบุญทั้งหลายผู้เป็นพยานยืนยันความเชื่อ และเราเชื่อในอำนาจของคำภาวนาของนักบุญเหล่านี้ผู้ภาวนาเพื่อเรา แต่เราต้องเข้าใจเรื่องการเสนอวิงวอนของนักบุญทั้งหลายให้ถูกต้องด้วย การเสนอวิงวอนหมายถึงการยืนอยู่ตรงกลางระหว่างพระเจ้า และบุคคลที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ และไม่ได้หมายความว่าเราขอให้มีตัวแทนมาสวดภาวนาแทนเรา ไม่มีใครสามารถแทนที่เราในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าเมื่อเราสวดภาวนา อีกทั้งไม่ได้ลดความสำคัญของพระเยซูคริสตเจ้าในฐานะคนกลางระหว่างเราและพระบิดา “และพระเจ้ากับมนุษย์ก็มีคนกลางแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คือพระคริสตเยซู ผู้ทรงมอบพระองค์เป็นค่าไถ่สำหรับมนุษย์ทุกคน” (1 ทธ 2:6)
กรณีที่นายร้อยผู้นี้ใช้ผู้อาวุโสชาวยิวเป็นผู้เสนอคำวิงวอนของเขาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ได้แสดงว่าเขาไม่เชื่อมั่นในพระเยซูเจ้า ตรงกันข้าม นายร้อยคนนี้เป็นผู้นี้มีความมั่นใจมากที่สุด แต่เขาใช้คนอื่นเป็นคนกลาง เพราะเขาเข้าใจดีถึงความบกพร่องของตนเอง ทั้งความบกพร่องส่วนตัวและเชื้อชาติ
เมื่อเราร้องขอให้พระนางมารีย์ หรือนักบุญทั้งหลายเสนอวิงวอนเพื่อเรา เราไม่ได้กำลังแสดงว่าเราไม่มั่นใจในพระเจ้า หรือเรากำลังพูดว่าเราไม่สามารถเข้าไปหาพระเจ้าโดยตรงได้ แต่เช่นเดียวกับนายร้อยผู้นี้ การใช้คนกลางสะท้อนให้เห็นความขาดตกบกพร่องของตัวเราเอง
เราตระหนักในพระอานุภาพและความรักของพระเจ้า แต่เราก็มองเห็นความไม่สมควรในตัวเราที่จะไปอยู่ต่อหน้าพระองค์ด้วย ทั้งนี้ เราไม่ได้คิดว่า วันหนึ่งเราจะสมควรได้รับความช่วยเหลือด้วยความรักจากพระเจ้า การใช้คนกลางเป็นเพียงการแสดงออกอีกอย่างหนึ่งว่า เรารู้ตัวว่าเราไม่มีค่าคู่ควร
งานของคนกลางคือนำพระเจ้ามาให้เรา และช่วยเราไปหาพระเจ้า นักบุญทั้งหลายนำพระเจ้ามาให้เราโดยใช้คำสั่งสอนและแรงบันดาลใจในชีวิตของพวกเขา เขาเหล่านี้ช่วยเราไปหาพระเจ้า เพราะเขาเป็นพี่น้องของเราในสหพันธ์นักบุญ และเขารักและห่วงใยเรา และยังภาวนาต่อไปเพื่อเรา การดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญทั้งหลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเรา นักบุญทั้งหลายสอนเราด้วยคำสั่งสอน และมอบความคุ้มครองของพระเจ้าแก่เรา ซึ่งเขาได้รับตามคำอธิษฐานภาวนาของเขา
บทรำพึงที่ 2
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสพระวาจาทั้งหมดนี้ให้ประชาชนฟังจบแล้ว พระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองคาเปอรนาอุม ผู้รับใช้ของนายร้อยคนหนึ่งกำลังป่วยใกล้จะตาย นายรักเขามาก
ผู้นิพนธ์พระวรสารสามคน คือ มัทธิว มาระโก และลูกา บอกเล่าเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาโรคให้ผู้รับใช้ของนายร้อยในเมืองคาเปอรนาอุม แต่ละคนมีวิธี “อ่าน” เหตุการณ์นี้ในแบบของตนเอง และเน้นประเด็นที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคริสตชนที่จะเป็นผู้อ่านพระวรสารฉบับนั้น ๆ ในขณะที่เราถือว่าเรื่องที่เราได้ยินนี้เป็นเหตุการณ์จริงที่บอกเล่าสืบต่อกันมา แต่เราควรตีความและประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของเรา เราเองก็อยู่ในโลกที่ไม่ต่างจากยุคสมัยของพระเยซูเจ้าหรือของลูกา ผู้มีความเชื่อ และคนนอกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดในโลกของเรา
เมืองคาเปอรนาอุมเป็นเมืองท่า ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบทีเบเรียส เป็นเมืองชายแดนและเป็นจุดข้ามแดนของกองคาราวาน คาเปอรนาอุม ที่ซึ่งซีโมนเปโตรจอดเรือหาปลาของเขานี้ พระเยซูเจ้าทรงเลือกใช้เป็นฐานปฏิบัติการในการเทศน์สอนของพระองค์ (มธ 4:13, 17) เมืองนี้มีด่านภาษี (มก 2:13) และมีกองทหารเล็ก ๆ ของกองกำลังที่ยึดครองดินแดน และทหารในกองน่าจะเป็น “ทหารรับจ้าง” (เหมือนกองทัพโรมันทั่วไป) ที่มาจากทั่วอาณาจักร คือชาวกอล เยอรมัน ซีเธียน ซีเรียน เป็นต้น...
ลูกา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของนักบุญเปาโล ได้เห็นแล้วว่าพันธกิจนี้แผ่ขยายเข้าไปในดินแดนของคนต่างชาติ เขาเน้นด้วยความยินดีว่าพระเยซูเจ้าทรงมีจิตใจและความคิดที่เปิดกว้าง ตรงกันข้ามกับทัศนคติของชาวยิวร่วมสมัยทั่วไป ซึ่งใจแคบมาก ... ในการเทศนาสั่งสอนของพระองค์ที่นาซาเร็ธ พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึง “การเปิดใจ” เช่นนี้เมื่อพระองค์ทรงเอ่ยถึงอัศจรรย์ที่ประกาศกเอลียาห์ และเอลีชา ได้กระทำเพื่อช่วยเหลือหญิงม่ายชาวเมืองศาเรฟัท และนาอามาน ชาวซีเรีย (ลก 4:24-38)...
ข้าพเจ้าพอใจกับทัศนคติที่ใจกว้างของพระศาสนจักรในปัจจุบันหรือเปล่า...
เมื่อนายร้อยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า จึงส่งผู้อาวุโสบางคนของชาวยิวมาอ้อนวอนพระองค์ให้เสด็จไปช่วยชีวิตของผู้รับใช้
ความเจ็บป่วยเป็นจุดอ่อนของมนุษย์ ... เป็นเครื่องหมายของสภาวะมนุษย์ ความเจ็บป่วยเป็นสภาพที่เจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อเรารู้ว่าไม่มีทางรักษาให้หายได้ ผู้รับใช้คนนี้ “ป่วยใกล้จะตาย” ทุกอารยธรรมถือว่า “สุขภาพ” เป็นทรัพย์อันมีค่าสูงสุด ตรงกันข้ามกับความเจ็บป่วยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ แต่ก็เป็นความจริงที่ “จุดอ่อน” นี้ยังเป็นสถานการณ์พิเศษที่ทำให้เราได้เห็นความสงสาร และความช่วยเหลือฉันพี่น้อง...
พระวรสารตอนนี้บอกเราว่าผู้มีความเชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ดีกว่าผู้อื่น นายทหาร “ต่างศาสนา” คนนี้ให้บทเรียนที่ดีแก่เราเรื่องความเมตตากรุณา เขารักผู้รับใช้ของเขาและต้องการช่วยให้เขารอดตาย นอกจากนี้ ชายคนนี้ยังเคารพความเชื่อของผู้อื่นด้วย เพราะเขาไม่ต้องการให้พระเยซูเจ้าฝ่าฝืนธรรมเนียมของชาวยิว เขาจึงขอร้องพระองค์ผ่านผู้แทนที่เป็นชาวยิวสองกลุ่ม
ธรรมบัญญัติห้ามชาวยิวไม่ให้เข้าไปในบ้านของคนต่างชาติ หรือติดต่อพูดคุยกันโดยตรง เพราะจะถือว่ามีมลทิน เปโตร จะถูกตำหนิเช่นกันหลายปีหลังจากนั้น (กจ 11:3)
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยให้เราไม่เพียงอดทนอดกลั้นต่อบุคคลที่คิดไม่เหมือนเรา แต่ให้เราเคารพเขาด้วย โปรดทรงช่วยเราให้ยอมรับคุณค่ามนุษย์ของเขา และให้เราเห็นใจเขาเหมือนนายร้อยคนนี้...
คนเหล่านั้นมาเฝ้าพระเยซูเจ้า อ้อนวอนรบเร้าพระองค์ว่า “นายร้อยผู้นี้สมควรที่ท่านจะช่วยเหลือ เพราะเขารักชนชาติของเรา และได้สร้างศาลาธรรมให้เรา”
นายร้อยผู้นี้อาจเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ผู้ยำเกรงพระเจ้า” คือเป็นคนที่นิยมชมชอบศาสนายิว โดยไม่เข้าเป็นยิว ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่ระบุว่าชายต่างชาติคนนี้ได้สร้างศาลาธรรม
ในกลุ่มผู้ไม่มีความเชื่อรอบตัวข้าพเจ้า มีใครบ้างที่มีจิตใจอยากรู้อยากเห็น และอยากรู้จักคำสั่งสอนในพระวรสารหรือไม่ ... ข้าพเจ้าช่วยให้การแสวงหาของเขาง่ายขึ้นหรือเปล่า ... หรือข้าพเจ้าทำให้เขาเบื่อหน่าย...
พระเยซูเจ้าจึงเสด็จไปกับคนเหล่านั้น เมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้จะถึงบ้าน นายร้อยใช้เพื่อนบางคนไปทูลพระองค์ว่า...
เราสังเกตได้จากคำบอกเล่าของนักบุญลูกา ว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงลังเลใจเลย แต่เสด็จไปพร้อมกับกลุ่มผู้อาวุโส ไปยังบ้าน “ที่มีมลทิน” ของคนต่างชาติคนนี้ ... ตรงกันข้ามกับคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น ที่พระเยซูเจ้าดูเหมือนทรงตำหนิข้าราชการ (ผู้มาอ้อนวอนพระองค์ด้วยตนเอง) ที่เขาต้องขอเครื่องหมายอัศจรรย์ก่อนจึงจะเชื่อ (ยน 4:48)
“พระเจ้าข้า อย่าลำบากไปเลย ข้าพเจ้าไม่สมควรให้พระองค์เสด็จเข้ามาในบ้านของข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อาจเอื้อมที่จะออกมาพบกับพระองค์
ต่อหน้าพระเยซูเจ้า นายทหารผู้นี้รู้สึกยำเกรงเหมือนกับผู้ชอบธรรมทุกคนรู้สึกได้เมื่ออยู่เบื้องหน้าพระเจ้า เปโตรก็รู้สึกยำเกรงเช่นนี้มาก่อน (ลก 5:8) และน่าสะดุดใจที่พระศาสนจักรไม่พยายามค้นหาคำพูดที่ดีกว่านี้ให้เราสวดภาวนาก่อนที่เราจะเข้าไปรับศีลมหาสนิท “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควร...”
แต่ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียว ผู้รับใช้ของข้าพเจ้าก็จะหายจากโรค ข้าพเจ้าเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่ยังมีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาด้วย ข้าพเจ้าบอกคนหนึ่งว่า “ไป” เขาก็ไป บอกอีกคนหนึ่งว่า “มา” เขาก็มา ข้าพเจ้าบอกผู้รับใช้ว่า “ทำสิ่งนี้” เขาก็ทำ
“ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียว” จากความคุ้นเคยกับระเบียบวินัยของทหาร นายทหารผู้นี้เข้าใจดีว่า “คำเดียว” ก็มีอานุภาพสามารถทำให้เหตุการณ์เป็นไปตามที่คำเดียวนั้นบัญชาได้ เขาเล็งเห็นคำเช่นนี้อยู่ในตัวพระเยซูเจ้า ซึ่งสามารถทำให้สิ่งที่คำนั้นบัญชาสำเร็จไปได้ เมื่อระลึกถึงพระคัมภีร์ เราจะคิดถึงพระวาจาในการเนรมิตสร้างของพระเจ้าในหนังสือปฐมกาล “พระเจ้าตรัสว่า ‘จงมีความสว่าง’ และความสว่างก็อุบัติขึ้น”
เมื่อคนต่างชาตินี้ขอร้องพระเยซูเจ้าว่าไม่ต้องเสด็จมาถึงบ้านของเขานั้น เขาเน้นย้ำมากยิ่งขึ้นถึงอำนาจของพระเยซูเจ้าที่เหนือกว่าอำนาจของผู้รักษาโรคคนอื่น ๆ ซึ่งต้องแสดงกิริยาบางอย่างในการรักษา ดังนั้น คนเหล่านี้จึงต้องมาอยู่กับผู้ที่เขาจะรักษา พระเยซูเจ้าเท่านั้นทรงทำอัศจรรย์ในระยะไกลได้เพียงด้วยพระวาจาของพระองค์เท่านั้น ... ประสบการณ์ของเรากับศีลศักดิ์สิทธิ์ก็เตือนใจเราว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ห่างไกลสายตาของเราเช่นกัน แต่พระองค์ทรงแสดงพระอานุภาพผ่านพระวาจาของพระองค์ได้...
เราเชื่อในพระวาจาในรูปของศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยเราให้รอดพ้นหรือไม่...
เมื่อพระองค์ทรงได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ทรงประหลาดพระทัย...
ข้าพเจ้าพยายามนึกถึงภาพพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าในเวลานั้น เช่น รอยยิ้มของพระองค์ ... น้ำเสียงของพระองค์ ภาพของชายคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกอัศจรรย์ใจ กำลังมีความสุข ชายคนหนึ่งที่รู้สึกชื่นชม...
พระวรสารบอกเราเพียงสองครั้งว่าพระเยซูเจ้าทรง “ประหลาดพระทัย” ในทั้งสองกรณี พระองค์ทรงประหลาดพระทัยกับ “คนต่างชาติ” คนที่ไม่อยู่ในกลุ่มประชากรเลือกสรร ... คนหนึ่งเป็นหญิงชาวคานาอันซึ่งเป็นคนต่างชาติที่มาจากเมืองไทระและไซดอน (มธ 15:28) ... และนายทหารโรมันคนนี้ในเมืองคาเปอรนาอุม (ลก 7:9)...
พระเยซูเจ้าทรงยกเลิกเส้นแบ่งเขตแดนทั้งปวง สำหรับพระองค์ ไม่มีใครเป็น “คนต่างด้าว” อีกต่อไป นักบุญเปาโล จะระบุอุดมคติใหม่นี้ด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนว่า “ดังนั้น การเป็นชาวกรีกหรือชาวยิว การเข้าสุหนัตหรือไม่เข้าสุหนัต การเป็นอนารยชนหรือชาวสิเธีย การเป็นทาสหรือเป็นคนอิสระ ไม่สำคัญอีกต่อไป ที่สำคัญก็คือ พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (คส 3:11, กท 3:28, 1 คร 12:13) ... ในโลกยุคปัจจุบัน การสื่อสารระหว่างประเทศที่ห่างไกลกันสามารถทำได้รวดเร็วมาก มนุษย์ได้รับโอกาสใหม่ ๆ ให้พบกัน สร้างความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกัน ... แต่การติดต่อระหว่างอารยธรรมและวัฒนธรรมต่าง ๆ ยังไม่ดีพอ เพราะบ่อยครั้งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชาตินิยม หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ
การเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าหมายถึงการขยายหัวใจของเราให้กว้างขึ้น...
พระเจ้าข้า พระองค์ยังต้องทำงานอีกมากในโลกนี้ ... และในตัวเรา...
ทรงหันพระพักตร์ไปยังประชาชนที่ติดตามพระองค์ตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า เรายังไม่เคยพบใครมีความเชื่อมากเช่นนี้ในอิสราเอลเลย” เมื่อเพื่อนที่ถูกใช้มา กลับไปถึงบ้าน ก็พบว่าผู้รับใช้ผู้นั้นหายเป็นปกติแล้ว
ดูเหมือนว่าคำบอกเล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องการทำอัศจรรย์เท่านั้น (และได้กล่าวถึงอัศจรรย์ครั้งนี้เพียงสั้น ๆ) แต่จุดประสงค์แรกคือเพื่อย้ำให้เห็นความเชื่อของคนต่างชาติคนนั้น ... พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่านายทหาร “ต่างชาติ” คนนี้มีความเชื่อมากกว่าชาวยิว ผู้ปิดกั้นตนเองอยู่ในความมั่นใจของตน จมอยู่ในธรรมเนียมของตน และต้องการแต่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติตามตัวอักษร ... ในทางกลับกัน คนต่างชาตินี้เป็นอิสระ ... เขาเต็มใจ และพร้อมจะต้อนรับ “ความแปลกใหม่” ของพระเยซูเจ้า...
ส่วนเราเล่า ... เรายังเต็มใจ และพร้อมที่จะเติบโตในความเชื่อหรือเปล่า ... เราพร้อมจะก้าวหน้าหรือเปล่า ... หรือเรามีบางสิ่งที่ปิดกั้นเราอยู่ เหมือนกับชาวยิวผู้ศรัทธาหลายคนที่ปิดกั้นตนเองไม่ให้ติดตามพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง...
พระเจ้าข้า เราเชื่อ ... แต่โปรดทรงทำให้ความเชื่อของเราเพิ่มพูนขึ้นด้วยเทอญ...