วันอาทิตย์ที่สิบสี่ เทศกาลธรรมดา
ลูกา 10:1-12, 17-20
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งศิษย์อีกเจ็ดสิบสองคน และทรงส่งเขาล่วงหน้าพระองค์เป็นคู่ ๆ ไปทุกตำบลทุกเมืองที่พระองค์จะเสด็จ พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ข้าวที่จะเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด จงไปเถิด เราส่งท่านทั้งหลายไปดุจลูกแกะในฝูงสุนัขป่า อย่านำถุงเงิน ย่าม หรือรองเท้าไปด้วย อย่าเสียเวลาทักทายผู้ใดตามทาง เมื่อท่านเข้าบ้านใด จงกล่าวก่อนว่า ‘สันติสุขจงมีแก่บ้านนี้เถิด’ ถ้ามีผู้สมควรจะรับสันติสุขอยู่ที่นั่น สันติสุขของท่านจะอยู่กับเขา มิฉะนั้น สันติสุขของท่านจะกลับมาอยู่กับท่านอีก จงพักอาศัยในบ้านนั้น กิน และดื่มของที่เขาจะนำมาให้ เพราะว่าคนงานสมควรที่จะได้รับค่าจ้างของตน อย่าเข้าบ้านนี้ออกบ้านโน้น เมื่อท่านเข้าไปในเมืองใดและเขาต้อนรับท่าน จงกินของที่เขาจะนำมาตั้งให้ จงรักษาผู้เจ็บป่วยในเมืองนั้นและบอกเขาว่า ‘พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว’ แต่ถ้าท่านเข้าไปในเมืองใด และเขาไม่ต้อนรับ ก็จงออกไปกลางลานสาธารณะและกล่าวว่า ‘แม้แต่ฝุ่นจากเมืองของท่านที่ติดเท้าของเรา เราจะสลัดทิ้งไว้ปรักปรำท่าน จงรู้เถิดว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ในวันพิพากษา ชาวเมืองโสดมจะรับโทษเบากว่าชาวเมืองนั้น”
ศิษย์ทั้งเจ็ดสิบสองคนกลับมาด้วยความชื่นชมยินดี ทูลว่า “พระเจ้าข้า แม้แต่ปีศาจก็ยังอ่อนน้อมต่อเรา เดชะพระนามของพระองค์” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราเห็นซาตานตกจากฟ้าเหมือนฟ้าแลบ จงฟังเถิด เราให้อำนาจแก่ท่านที่จะเหยียบงูและแมงป่อง มีอำนาจเหนือกำลังทุกอย่างของศัตรู ไม่มีอะไรจะทำร้ายท่านได้ อย่าชื่นชมยินดีที่ปีศาจอ่อนน้อมต่อท่าน แต่จงชื่นชมยินดีมากกว่าที่ชื่อของท่านจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว”
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
วิถีชีวิตของธรรมทูต
คำสั่งสอนที่พระเยซูเจ้าประทานแก่ศิษย์ 72 คนนี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมากกว่าสาระที่พวกเขาต้องเทศน์สอน คริสตชนต้องนำคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้ามาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตก่อนจะนำไปเทศน์สอน ผู้อื่นจะเห็นคำสั่งสอนของคริสตศาสนาได้จากวิถีชีวิตของคริสตชน
พวกศิษย์ถูกส่งออกไปเป็นคู่ ๆ เพื่อว่าการแบ่งปันและเกื้อกูลกันระหว่างพวกเขา จะเป็นพยานยืนยันถึงความรักเมตตาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเทศน์สอนเรื่องความรักเมตตา พวกเขาต้องไปพร้อมกับความอ่อนโยนและไร้เดียงสาของลูกแกะ มากกว่าทำตัวลับ ๆ ล่อ ๆ และใช้ความรุนแรงเหมือนสุนัขป่า คำทักทายของเขาจะต้องเป็นคำอวยพรให้เกิดสันติสุข ปริมาณข้าวที่จะต้องเก็บเกี่ยวมีมากจนพันธกิจนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วน และทำให้พวกเขาไม่สามารถเสียเวลาทักทายผู้ใดตามทาง และเขาไม่ควรรีรอเมื่อประชาชนในที่ใดไม่ยอมรับเขา เขาควรรีบออกจากที่นั่นและเดินทางไปยังสถานที่อื่นต่อไป
เขาต้องแสดงความวางใจในพระเจ้าก่อนจะกล่าวถึงพระองค์ ดังนั้น เขาต้องเดินทางโดยไม่มีถุงเงิน หรือย่าม หรือรองเท้า และวางใจอย่างสิ้นเชิงว่าพระเจ้า และคนน้ำใจดีทั้งหลาย จะมอบปัจจัยที่จำเป็นแก่ชีวิตให้เขา ชีวิตในทุกระดับของเขาควรประกาศถึงพระเจ้า ผู้ทรงตอบสนองความต้องการของเราได้อย่างเพียงพอ ผู้ที่เราสามารถไว้วางใจให้จัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับเรา และผู้ที่มีความรักอันแท้จริงและเร่งด่วนต่อเรา
บรรดาศิษย์ต้องเป็นตัวแทนนำอำนาจในการเยียวยารักษา และการคืนดีของพระเจ้าไปมอบแก่ประชาชน อาศัยการอภิบาลของเขา อำนาจแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้าจะอยู่ใกล้ประชาชนมาก และบรรดาศิษย์ก็ได้รับประสบการณ์เช่นนี้จริง ทำให้พวกเขาเดินทางกลับมาด้วยความชื่นชมยินดีที่ได้เห็นด้วยตาตนเองว่าปีศาจพ่ายแพ้อำนาจของเขา แต่พระเยซูเจ้าทรงเตือนว่าเขาทำเช่นนี้ได้ไม่ใช่ด้วยอำนาจของตนเอง แต่ด้วยอำนาจของพระองค์ผู้ทรงเลือกเขา และส่งเขาออกไป
พันธกิจของคริสตชนต้องแสดงออกด้วยการดำเนินชีวิต ก่อนจะนำไปพูด ต้องอยู่ที่การกระทำก่อนจะนำไปเทศน์สอน พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ทรงเขียนไว้ว่า “สำหรับพระศาสนจักร วิธีแรกของการประกาศพระวรสารก็คือการเป็นพยานด้วยการดำเนินชีวิตคริสตชนแท้ ชีวิตที่อุทิศให้พระเจ้าในความสนิทสัมพันธ์ที่ไม่มีสิ่งใดทำลายได้ และในเวลาเดียวกันก็อุทิศตนให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยความกระตือรือร้นอย่างไร้ขอบเขต” พระองค์ยังตรัสถึงความระแวงของประชาชนในปัจจุบันต่อคำพูดที่ว่างเปล่าว่า “คนในยุคปัจจุบันสมัครใจรับฟังพยานมากกว่ารับฟังครูอาจารย์ และถ้าเขาฟังครูอาจารย์ ก็เป็นเพราะคนเหล่านั้นเป็นพยาน”
เราต้องนำคำสั่งสอนมาปฏิบัติในชีวิตจริงก่อนจะนำไปสั่งสอน “สิ่งที่ท่านเป็น ย่อมส่งเสียงดังจนฉันไม่ได้ยินสิ่งที่ท่านพูด”
ข้อรำพึงที่สอง
ดุจลูกแกะในฝูงสุนัขป่า
ความกล้าหาญที่จะออกไปอยู่กลางฝูงสุนัขป่าเหมือนลูกแกะ จะเกิดขึ้นจากความเชื่อว่าอำนาจของพระเจ้าอยู่ใกล้เรามากเท่านั้น เมื่อศิษย์ 72 คนถูกส่งออกไปประกาศสันติสุข พวกเขาได้รับคำยืนยันจากพระเยซูเจ้าว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว”
วีรบุรุษผู้สร้างสันติ เช่น ฟรังซิสแห่งอัสซิซี, คานธี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ได้รับแรงบันดาลใจ และการค้ำจุนจากความเชื่อของตน ว่าอำนาจของความดีจะชนะเล่ห์กลทั้งหลายของความชั่ว ฟรังซิสไม่คำนึงถึงอันตรายเลย เมื่อเขาข้ามเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างกองทัพครูเซด และกองทัพของสุลต่าน เขาเชื่อว่าหนทางที่นำไปสู่ความยุติธรรมไม่มีทางได้มาด้วยการใช้กำลังที่เหนือกว่า แต่ด้วยการประกาศเรื่องความดี และภราดรภาพ ในช่วงหลังของชีวิต เมื่อเมืองอัสซิซีกำลังแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายเพราะข้อพิพาทระหว่างผู้ว่าราชการและพระสังฆราช ฟรังซิสไม่เสียเวลาคิดว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด เขากำลังนอนป่วย แต่เขาก็ส่งภราดาของเขาออกไปขับร้องถึงความสุขแท้ของบุคคลที่เอาชนะความผิดที่ผู้อื่นกระทำแก่ตนด้วยการให้อภัย
คานธีได้รับพละกำลัง และวิสัยทัศน์จากบทเทศน์บนภูเขา และโดยเฉพาะจากคำสอนเรื่องความสุขแท้ เขายังรักษาความเชื่อในพระวรสารข้อนี้อย่างไม่สั่นคลอน แม้เมื่อความชั่วร้ายยังคงแสดงพลังอันรุนแรงของมันออกมา ทุกคนที่เลือกเดินตามทางแห่งคุณความดีตามพระวรสาร สามารถคาดหมายได้ว่าเขาจะต้องเผชิญกับปฏิกิริยาจากความชั่วร้าย
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็เผชิญกับการเลือกปฏิบัติ การแสวงหาประโยชน์ และความทรงจำอันขมขื่น ความทุกข์ทรมานของเขาเป็นกระบวนการชำระตนเอง และทำให้เขาใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น เพราะพระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของวิสัยทัศน์ และความเข้มแข็งของเขา ในบั้นปลายชีวิตดูเหมือนว่าเขาอยู่ในดินแดนแห่งสันติภาพในวิสัยทัศน์ของเขา มากกว่าอยู่ในสังคมที่น่าเกลียดรอบตัวเขา
สันติภาพสามารถสร้างขึ้นได้โดยมีความยุติธรรมเป็นฐานรากเท่านั้น ความอยุติธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกปฏิบัติ การแสวงหาประโยชน์ และการลิดรอนสิทธิ จะต้องถูกกำจัดให้หมดไปก่อนที่สันติภาพจะเจริญงอกงามได้
หลังจากนั้น การเติบโตของสันติภาพจะต้องพึ่งพาบรรยากาศของการให้อภัย และการคืนดี ดังที่ฟรังซิสรู้ด้วยสัญชาตญาณที่อัสซิซี เราเห็นความสุขแท้ของผู้ที่ประกาศสันติภาพในพระนามของพระคริสตเจ้าได้จากอำนาจในการเยียวยารักษาของเขา
เราไม่มีทางคืนดีกับผู้อื่นได้จนกว่าแผลเป็นในความทรงจำจะเลือนหายไปก่อน ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงได้ประทานอำนาจรักษาผู้ป่วยให้แก่ศิษย์ทั้ง 72 คน คำพูดเกรี้ยวกราด และการกระทำซึ่งทำลายล้าง ย่อมทิ้งบาดแผลลึกไว้ในใจ โรคภัยไข้เจ็บมากมายในชีวิตก็เกิดจากความเครียดและความกังวลใจที่เกิดจากบาดแผลภายในเหล่านี้ สิ่งที่มนุษย์ต้องการคือการรักษาที่ลงลึกจนถึงจิตวิญญาณของเขา การรักษาโรคภายในนี้เป็นงานของพระจิตเจ้า ผู้ทรงเป็นพละกำลังของพระอาณาจักร พระเยซูเจ้าทรงบอกศิษย์ทั้ง 72 คน ว่าชัยชนะเหนือความชั่วที่เขาได้เห็นกับตานั้นเกิดจากอำนาจสวรรค์ทั้งสิ้น “อย่าชื่นชมยินดีที่ปีศาจอ่อนน้อมต่อท่าน แต่จงชื่นชมยินดีมากกว่าที่ชื่อของท่านจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว” ความแพร่หลายของความชั่ว และการเสนอแต่ข่าวที่ชวนให้หดหู่ใจ ทำให้คนจำนวนมากหมดหวังที่จะได้เห็นสันติภาพ แต่มีข่าวดีก็คือ อำนาจของพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว “พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว”
บทรำพึงที่ 2
ต่อจากนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งศิษย์เจ็ดสิบสองคน และทรงส่งเขาล่วงหน้าพระองค์เป็นคู่ ๆ ไปทุกตำบลทุกเมืองที่พระองค์จะเสด็จ
ลูกาเป็นเพื่อนร่วมงานของเปาโล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวกของคนต่างชาติ และเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่บอกเล่าเหตุการณ์นี้ ขณะที่ลูกาเขียนพระวรสารนี้ ได้มีกลุ่มคริสตชนเกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ ของชนต่างชาติ และผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ใช่อัครสาวกที่ได้รับมอบหมายอำนาจอย่างเป็นทางการ แต่เป็นชายหญิงที่ประกาศเรื่องราวของพระเยซูเจ้าให้แก่ประชาชนขณะที่พวกเขาเดินทางค้าขาย (รม 16)
ลูกาเน้นว่าการแพร่ธรรมของบรรดาศิษย์ครั้งนี้เกิดขึ้นตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้าเอง พระองค์ไม่ได้ส่งแต่อัครสาวกสิบสองคนเท่านั้น (ลก 9:1-6) เขาเล่าโดยใช้ถ้อยคำแทบจะเหมือนกัน ว่าศิษย์เจ็ดสิบสอง (บางฉบับบอกว่าเจ็ดสิบ) ได้ถูกส่งออกไปปฏิบัติพันธกิจเดียวกัน และให้รายละเอียดมากกว่าคำบรรยายพันธกิจของอัครสาวกสิบสองคน
เราจำเป็นต้องย้ำเสมอว่า พระศาสนจักรไม่ได้หมายถึงแต่พระสันตะปาปาและพระสังฆราช แต่รวมถึง “ประชากรของพระเจ้า” คือคริสตชนแต่ละคนด้วย ... เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าเชื่อหรือยังว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังส่ง “ข้าพเจ้า” ออกไปปฏิบัติพันธกิจ ... เชื่อหรือยังว่าข้าพเจ้าถูกพระองค์ส่งออกไป และดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นทูตที่พระองค์ทรงส่งไปหาคนนั้น หรือคนนี้...
ในบรรดาอัครสาวกที่พระองค์ทรงส่งไป อาจมีสตรีบางคนรวมอยู่ด้วยก็ได้ (ลก 8:1-3)...
- ส่งเขาไป “เป็นคู่ ๆ” ... ธรรมบัญญัติกำหนดให้ต้องมีพยานสองคนจึงจะถือว่าชอบด้วยกฎหมาย (ฉธบ 19:15) ... ธรรมทูตคริสตชนยุคแรกไม่เคยทำงานตามลำพัง เราเห็นเปาโลทำงานกับบาร์นาบัส ... บารนาบัสทำงานกับมาระโก ... เปาโลทำงานกับสิลาส ... ในชีวิตสมัยใหม่ เรามีโครงการวิทยาศาสตร์ การศึกษา หรือวัฒนธรรม ที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม ... ข้าพเจ้าเป็นคนชอบทำงานตามลำพังหรือเปล่า ... ข้าพเจ้าร่วมมือกับผู้อื่นได้หรือไม่...
ส่งเขาล่วงหน้าพระองค์ ... ไปทุกตำบลทุกเมืองที่พระองค์จะเสด็จ...
งานแพร่ธรรมของเราต้องเป็นงานที่ถ่อมตนมาก เราเพียงแต่เตรียมการ ... ส่วนงานแท้จริงนั้น พระเยซูเจ้าจะทรงทำเมื่อพระองค์เสด็จมา ... เราเป็นเพียง “ผู้เบิกทาง”...
พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ข้าวที่จะเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด”
เห็นได้จากพระดำรัสนี้ว่าพระเยซูเจ้าทรงคิดว่าธรรมทูตกลุ่มแรกเจ็ดสิบสองคน (ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยสำหรับจุดเริ่มต้น) จะไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องหาคนงานใหม่ ๆ อยู่เสมอ พระเยซูเจ้าทรงมองการณ์ไกล ... “การเก็บเกี่ยว” เป็นภาพลักษณ์ที่ใช้ในพระคัมภีร์เพื่อกล่าวถึง “กาลอวสาน” คือการเข้าแทรกแซงช่วยเหลืออย่างเด็ดขาดเป็นครั้งสุดท้ายของพระเจ้า (ยอล 3:13, มธ 13:39, วว 14:15-16) “ยุคสุดท้าย” นี้เริ่มขึ้นแล้วในองค์พระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของ “นาข้าวของพระเจ้า” ซึ่งพระเจ้ายังคงเป็น “เจ้าของนา”...
ข้าพเจ้าคาดการณ์ได้หรือไม่ว่าจะมีชายหญิงจำนวนมากที่สมัครใจติดตามพระวรสาร
... แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า “มีคนงานไม่มากพอ” และเมื่อยังมีความต้องการเช่นนี้ (ดังนั้นจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของเรา) พระเยซูเจ้าทรงเสนอว่ามีวิธีแก้ไขทางเดียวคือการภาวนา เห็นได้ชัดว่า พระองค์ทรงมั่นใจว่างานแพร่ธรรมไม่ใช่กิจกรรมของมนุษย์ เหมือนกับการโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นงานของพระเจ้า ... เป็นพระหรรษทาน...
ข้าพเจ้าภาวนาขอให้มีคนงานเกี่ยวข้าวมากขึ้นหรือเปล่า – ไม่ใช่เพียงผู้เก็บเกี่ยวที่เป็นฆราวาส แต่ขอให้มีพระสงฆ์ และนักบวชมากขึ้นด้วย...
ส่วนข้าพเจ้าเองเล่า ... ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำงานเก็บเกี่ยวหรือเปล่า...
จงไปเถิด เราส่งท่านทั้งหลายไปดุจลูกแกะในฝูงสุนัขป่า
จงไป ... นี่คือคำสั่ง ... เรากำลังส่งท่านไป...
พระเยซูเจ้าไม่ทรงปิดบังว่างานนี้เป็นงานที่ยาก แต่กระนั้น เราก็ยังแปลกใจที่เห็นหลายคนละทิ้งพันธกิจของตน และถึงกับละทิ้งความเชื่อ เมื่อเขาล้มเหลวในการเผยแผ่คำสั่งสอนในพระวรสาร ... แต่เราได้รับคำเตือนมาแล้ว ผู้มีความเชื่อต้องปฏิบัติตนเหมือนลูกแกะต่อหน้าสุนัขป่า ... ขอให้เราอย่ามองความหมายของภาพลักษณ์นี้ผิดเพี้ยนไป มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคริสตชนหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นบุตรที่รักของพระเจ้า แต่ “แกะฝูงน้อยนี้” ต้องการมีผู้เลี้ยงแกะคอยพิทักษ์คุ้มครอง (ยน 15:18, 10:1-16)...
พระเยซูเจ้าทรงเตือนพระศาสนจักรของพระองค์ล่วงหน้าแล้ว ว่าจะอยู่ท่ามกลางอันตรายเสมอ ... เราควรรู้สึกแปลกใจเมื่อใดที่พระศาสนจักรอยู่ท่ามกลางสันติภาพ และความมั่นคง ... ดังนั้น จงวางใจในพระองค์เถิด!...
อย่านำถุงเงิน ย่าม หรือรองเท้าไปด้วย...
น่าแปลกใจที่พระเยซูเจ้าไม่ทรงสั่งเกี่ยวกับ “ข้อความเชื่อ” พระองค์ไม่ได้บอกเขาว่าให้เทศน์สอนอะไรเรื่องความเชื่อ แต่ทรงกำชับเกี่ยวกับการประพฤติตนของผู้เทศน์สอน เช่น การแต่งกาย สัมภาระที่นำติดตัวไป วิธีติดต่อสื่อสารกับประชาชน ธรรมทูตประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ดีที่สุดด้วยวิถีชีวิตของเขาเอง...
ประการแรก พระเยซูเจ้าตรัสถึงความจำเป็นต้องถือความยากจน เราต้องไม่พึ่งพาอาศัยเครื่องมือของมนุษย์เป็นสิ่งแรก พระเยซูเจ้าไม่ทรงใช้อำนาจ เงินทอง หรือพิธีการภายนอก ... “แม้ว่าพระองค์ทรงร่ำรวย แต่ทรงยอมรับสภาพคนจน” ... กฎข้อแรกสำหรับพระศาสนจักร คือ ให้เลียนแบบพระอาจารย์ของตน ... ต้องถือความยากจน...
อย่าเสียเวลาทักทายผู้ใดตามทาง...
คำสั่งนี้ไม่ได้ต้องการให้ศิษย์ของพระองค์หยาบคาย แต่ให้หลีกเลี่ยงการเสียเวลา ... ไม่มีเวลาสำหรับทักทายอย่างเยิ่นเย้อ และการซุบซิบนินทา ในพระวรสารของลูกา ผู้นำพระวรสารไปประกาศทุกคนต้องวิ่ง หรือเร่งรีบ เช่น พระนางมารีย์ รีบไปเยี่ยมนางเอลีซาเบธ คนเลี้ยงแกะรีบไปตามหาพระกุมาร ฟิลิปวิ่งตามรถม้าของข้าราชการชาวอียิปต์ (กจ 8:30)...
ข้าพเจ้าเร่งรีบด้วยหรือเปล่า...
เมื่อท่านเข้าบ้านใดจงกล่าวก่อนว่า “สันติสุขจงมีแก่บ้านนี้เถิด” ถ้ามีผู้สมควรจะรับสันติสุขอยู่ที่นั่น สันติสุขของท่านจะอยู่กับเขา มิฉะนั้น สันติสุขของท่านจะกลับมาอยู่กับท่านอีก
จากนั้น พระเยซูเจ้าทรงแนะนำวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง คือ สันติสุขและความยินดีอันสงบ การถ่ายทอดสันติสุข และความยินดีให้แก่กัน ... การสัมผัสกับสันติสุขเพื่อจะส่งต่อไปให้คนรอบข้าง “สันติสุขของท่านจะอยู่กับเขา” ... พระวรสารหมายถึงการส่งกระแสแห่งความสามัคคีปรองดองระหว่างบุคคลอีกด้วย...
จงพักอาศัยในบ้านนั้น กินและดื่มของที่เขาจะนำมาให้ เพราะว่าคนงานสมควรที่จะได้รับค่าจ้างของตน อย่าเข้าบ้านนี้ออกบ้านโน้น เมื่อท่านเข้าไปในเมืองใด และเขาต้อนรับท่าน จงกินของที่เขาจะนำมาตั้งให้
ปัญหาเรื่องอาหารการกินนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อเรารู้ว่าชาวยิวมีกฎเคร่งครัดอย่างไรเกี่ยวกับอาหาร พระวาจาของพระเยซูเจ้าฟังดูเหมือนเป็นเสียงเรียกร้องให้ปลดปล่อยตนเอง จงกินอาหารโดยไม่กังวลว่าอาหารนี้บริสุทธิ์ หรือมีมลทิน...
พระเยซูเจ้าทรงล้ำสมัยมากในแง่นี้ ท้ายที่สุด พระองค์ทรงขอร้องให้เปิดใจยอมรับธรรมเนียมของผู้อื่น ให้ยอมรับวัฒนธรรมของประชาชนที่ท่านต้องการประกาศพระวาสารแก่เขา ... คำสั่งสอนนี้จะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก...
จงรักษาผู้เจ็บป่วยในเมืองนั้น และบอกเขาว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว”
พระวรสารนี้สั่งสอนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ นี่คือ “ข่าวดี” ในทางปฏิบัติ กล่าวคือ จงทำความดี จงต่อสู้ความชั่ว จงบรรเทาใจ จงรักษาโรค...
พระอาณาจักรของพระเจ้า ... แผนการของพระเจ้า ... โครงการของพระเจ้า ... เราคาดหมายว่าสิ่งเหล่านี้จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อสิ้นพิภพ แต่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระอาณาจักรอยู่ที่นี่ ... อยู่ใกล้ท่านแล้ว”...
ถูกแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้ตัวท่าน อยู่ในชีวิตประจำวันของท่าน แต่ท่านก็ยังไม่ตระหนักว่าอยู่ใกล้ท่านเพียงไร...
พระอาณาจักรของพระเจ้าคืออะไร ... คือพระเยซูเจ้า ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นเมล็ดพันธุ์อันเร้นลับที่พระเจ้าทรงปลูกไว้ในหัวใจของมนุษย์ ... เมื่อพระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่ใด พระเจ้าก็ทรงครองราชย์และประทับอยู่ที่นั้นด้วย – ตั้งแต่บัดนี้แล้ว -ในองค์พระเยซูเจ้า ... ข่าวดีมีเนื้อหาสาระที่เรียบง่ายมาก กล่าวคือ จุดมุ่งหมายของพระเจ้าจะได้รับชัยชนะ นี่คืออนาคตอันสมบูรณ์ของมนุษย์ ที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว...
โลกนี้จะไม่ดำรงอยู่ตลอดไป ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจะต้องมาถึงจุดจบ แต่จุดจบนี้ไม่ใช่การสูญสลายไปสู่ความว่างเปล่า แต่จุดจบนี้คือพระเจ้า เมื่อเราเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า นั่นหมายความว่าเรากำลังคาดหวังว่าเราจะบรรลุถึงความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของเรา และความสำเร็จนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพราะทั้งปฐมเหตุ และจุดหมายปลายทางของมนุษย์ก็คือพระเจ้า...
พระอาณาจักรของพระเจ้าก็คือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ “พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จไป” ... พระประสงค์ของพระเจ้า คือ พระองค์ทรงต้องการให้มนุษย์ได้รับแต่สิ่งดี การรักษาโรคภัยไข้เจ็บเป็นเครื่องหมายของพระประสงค์นี้ “จงรักษาผู้เจ็บป่วย” ... จงรักษาโรคให้มนุษย์ ... พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้ท่านทั้งหลายแล้ว...
แต่ถ้าท่านเข้าไปในเมืองใดและเขาไม่ต้อนรับ ก็จงออกไปกลางลานสาธารณะ และกล่าวว่า “แม้แต่ฝุ่นจากเมืองของท่านที่ติดเท้าของเรา เราจะสลัดทิ้งไว้ปรักปรำท่าน จงรู้เถิดว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว” เราบอกท่านทั้งหลายว่า ในวันพิพากษา ชาวเมืองโสดมจะรับโทษเบากว่าชาวเมืองนั้น”
พระเยซูเจ้าทรงคาดหมายว่าศิษย์ของพระองค์จะต้องพบกับความล้มเหลวบ้าง และพบประชาชนที่ไม่ยอมเชื่อ ... แต่ก็ยังจำเป็นต้องประกาศถึงความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของพระเจ้า (ซึ่งเป็นความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของมนุษย์ด้วย) กล่าวคือไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ พระเจ้าก็จะต้องขึ้นครองราชย์สักวันหนึ่งแน่นอน คือในวันแห่งการพิพากษา ... แต่ท่านที่ไม่ยอมรับสารนี้เพราะความดื้อรั้น ท่านจะอยู่ภายนอกความสำเร็จนี้ ซึ่งสามารถเป็นของท่านได้...
ศิษย์ทั้งเจ็ดสิบสองคนกลับมาด้วยความชื่นชมยินดี ทูลว่า “พระเจ้าข้า แม้แต่ปีศาจก็ยังอ่อนน้อมต่อเรา เดชะพระนามของพระองค์” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราเห็นซาตานตกจากฟ้าเหมือนฟ้าแลบ จงฟังเถิด เราให้อำนาจแก่ท่านที่จะเหยียบงูและแมงป่อง มีอำนาจเหนือกำลังทุกอย่างของศัตรู ไม่มีอะไรจะทำร้ายท่านได้ อย่าชื่นชมยินดีที่ปีศาจอ่อนน้อมต่อท่าน แต่จงชื่นชมยินดีมากกว่าที่ชื่อของท่านจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว”
ศิษย์เจ็ดสิบสองคนแรกไม่ได้พบกับความล้มเหลวไปเสียทุกคน งานแพร่ธรรมของเขาประสบผลสำเร็จ อำนาจของความชั่วถูกขับไล่ออกไป ... ช่างน่ายินดีอะไรเช่นนี้...
พระเยซูเจ้าทรงลดความกระตือรือร้นในชัยชนะของเขา ... ถูกแล้ว พวกท่านได้ทำสิ่งที่น่าพิศวง ... แต่สิ่งสำคัญคือท่านควรขอบพระคุณพระเจ้าในใจของท่าน เพราะสิ่งสำคัญคือการได้อยู่ในอาณาจักรสวรรค์ ... ตั้งแต่ท่านอยู่บนโลกนี้แล้ว...