วันอาทิตย์ที่สิบห้า เทศกาลธรรมดา
ลูกา 10:25-37
ขณะนั้น นักกฎหมายคนหนึ่งยืนขึ้นทูลถามเพื่อจะจับผิดพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ในธรรมบัญญัติมีเขียนไว้อย่างไร ท่านอ่านว่าอย่างไร” เขาทูลตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน สุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านตอบถูกแล้ว จงทำเช่นนี้ แล้วจะได้ชีวิต”
ชายคนนั้นต้องการแสดงว่าตนถูกต้อง จึงทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “ชายคนหนึ่งกำลังเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยรีโค เขาถูกโจรปล้น พวกโจรปล้นทุกสิ่ง ทุบตีเขาแล้วก็จากไป ทิ้งเขาไว้อาการสาหัสเกือบสิ้นชีวิต สมณะผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้นโดยบังเอิญ เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่ง ชาวเลวีคนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ชาวสะมาเรียผู้หนึ่งเดินทางผ่านมาใกล้ ๆ เห็นเขาก็รู้สึกสงสาร จึงเดินเข้าไปหา เทน้ำมันและเหล้าองุ่นลงบนบาดแผลแล้วพันผ้าให้ นำเขาขึ้นหลังสัตว์ของตน พาไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่งและช่วยดูแลเขา วันรุ่งขึ้น ชาวสะมาเรียผู้นั้นนำเงินสองเหรียญออกมามอบให้เจ้าของโรงแรมไว้ กล่าวว่า ‘ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา’ ท่านคิดว่าในสามคนนี้ ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนที่ถูกโจรปล้น” เขาทูลตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อเขา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด”
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
การแสดงความรักด้วยกิจการ
ระหว่างการเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม พระเยซูเจ้าทรงสอนแนวทางการเป็นศิษย์ของพระองค์ ชีวิตจิตเปรียบเสมือนเก้าอี้ที่มีสามขา ขาข้างหนึ่งคือการอธิษฐานภาวนา ขาข้างที่สองคือการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนา และขาข้างที่สามคือการแสดงความรักด้วยกิจการ พระวรสารวันนี้แสดงให้เห็นความรักที่แสดงออกเป็นกิจการ วันอาทิตย์ในอีกสองสัปดาห์ต่อไปจะกล่าวถึงขาข้างอื่น ๆ ของเก้าอี้สามขานี้
ความรักเป็นคำที่เราใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อและปราศจากความหมายที่ชัดเจน ศาสนามีจุดประสงค์เพื่อนำทางเราไปสู่ความรักอันสมบูรณ์ต่อพระเจ้า และความรักต่อผู้อื่น อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี เป็นตัวอย่างของการกระทำที่เกิดจากความรักแท้ สมณะและชาวเลวี เป็นผู้ที่มีอาชีพปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า แต่ทั้งสองคนเดินผ่านเหยื่อที่ต้องการความช่วยเหลือไปโดยไม่ช่วยเหลือ สันนิษฐานได้ว่าข้ออ้างของเขาก็คือการสัมผัสกับเลือด หรือศพจะทำให้เขามีมลทิน และไม่เหมาะสมจะประกอบพิธีกรรมในพระวิหาร ความเคร่งครัดศรัทธาจอมปลอมเป็นข้ออ้างเพื่อหลบเลี่ยงงานได้เสมอ
การช่วยเหลือของชาวสะมาเรีย แสดงให้เห็นความรักที่แสดงออกมาเป็นกิจการ เขาเห็น เขารู้สึกสงสาร และเขาทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ไขสถานการณ์
ก้าวแรกของความรักอยู่ที่การมองเห็นเพื่อนมนุษย์ อยู่ที่การใส่ใจในตัวเขา เราเปิดหน้าต่างแห่งความเย็นชาของเราเมื่อเรามองเห็นและได้ยินผู้อื่น เราเริ่มใส่ใจเมื่อเราได้ยินเขาเคาะประตู และร้องขอที่จะเข้ามาในชีวิตของเรา เราเชี่ยวชาญในการสกัดกั้นไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในชีวิตของเรา บางคนถูกห้ามเข้าเพราะอคติ หรือการเลือกปฏิบัติ หรือเพราะเราไม่อยากเสียเวลาไปกับธุระของเขา ดังนั้น เราจึงไม่ฟังเสียงเคาะประตูของเขา เราอาจถึงกับใช้กฎเป็นข้ออ้างว่า “นี่ไม่ใช่เวลาจะมาหา ...” หรือเหมือนกับที่โรเบิร์ต ฟรอสท์ กล่าวถึงเพื่อนบ้านในบทกวีของเขา เราอ้างว่ารั้วที่แข็งแรงทำให้เรามีเพื่อนบ้านที่ดี
ก้าวที่สองคือการตอบเสียงเคาะประตู และเปิดให้บุคคลนั้นเข้ามาในบ้าน ชาวสะมาเรียผู้นี้ “รู้สึกสงสาร” คนเดินทางที่บาดเจ็บ ชายสองคนผู้เคร่งครัดศาสนามองเห็นผู้เคราะห์ร้าย แต่ข้ามไปเดินอีกฟากหนึ่ง ความสงสารหมายถึงการยอมรับความเจ็บปวดของอีกฝ่ายหนึ่ง และตอบสนองต่อความเจ็บปวดนั้น เมื่อผู้อื่นเคาะประตูของเรา ความสงสารจะเปิดประตูให้เขาเข้ามาภายใน และพร้อมจะยื่นมือออกไปหาเขา ไม่ว่าเขากำลังขอให้เราร่วมร้องไห้กับความทุกข์ของเขา หรือร่วมยินดีกับเขา หรือช่วงถมความว่างเปล่าในตัวเขา หรือยอมรับสิ่งที่เขามีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
การใส่ใจอย่างลึกซึ้งในตัวผู้อื่นช่วยให้เราเข้าใจไม่เพียงสิ่งที่เขาพูด แต่ยังเข้าใจสิ่งที่เขาอยากพูด แต่พูดออกมาไม่ได้ เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าไม่เพียงได้ยินคำถามว่า “ใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” แต่พระองค์ทรงสัมผัสได้ถึงตัวบุคคลที่อยู่เบื้องหลังคำถามนี้ พระองค์ทรงตอบผู้ถามมากกว่าตอบคำถาม พระองค์ทรงเปิดใจของเขาให้รับฟังคำตอบ ผ่านทางเรื่องอุปมาที่เสนอแนวทางที่เขาสามารถปฏิบัติได้
ก้าวที่สามของการเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีคือการทำสิ่งที่สมควรทำ ความรู้สึกย่อมไร้ประโยชน์เมื่อไม่ส่งผลให้เกิดกิจการ เมื่อความสงสารของชาวสะมาเรีย มาพบกับความทุกข์ยากของเหยื่อที่ถูกปล้น ผลที่เกิดขึ้นคือ เขาแสดงความใจกว้างด้วยการลืมนึกถึงความสะดวกสบายของตนเอง และยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
ข้ออ้างที่ใช้กันบ่อยที่สุดในชีวิต คือ เรากำลังรอคอยจนกว่าจะมีโอกาสที่เหมาะสม นักเขียนการ์ตูนชื่อ โรเบิร์ต ชอร์ต ผู้ให้กำเนิดครอบครัวชาร์ลี บราวน์ ได้เขียนภาพพร้อมกับคำคมว่า “ฉันรักมนุษยชาตินะ ... คนต่างหากที่ฉันทนไม่ได้” ความรักเริ่มต้นจากในบ้าน กับคนที่เราพบทุกวัน
บทอ่านที่หนึ่งของวันนี้เตือนเราว่า “กฎที่ข้าพเจ้าเรียกร้องให้ท่านปฏิบัติวันนี้ไม่เกินกำลังของท่าน หรือไกลเกินเอื้อม พระวาจาอยู่ใกล้ท่านมาก อยู่ในปากของท่าน และในใจของท่านเพื่อให้ท่านยึดถือ บัดนี้ เป็นเวลาเหมาะสมแล้ว วันนี้เป็นวันที่ท่านต้องใส่ใจ ต้องรู้สึก และต้องให้”
ข้อรำพึงที่สอง
การใช้เรื่องอุปมา
อุปมาเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอานุภาพของการเล่าเรื่อง “ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์ ... แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงสามารถตอบคำถามนี้โดยตรงด้วยประโยคสั้น ๆ แต่พระองค์ทรงต้องการตอบบุคคลที่ซ่อนตัวอยู่หลังคำถามนั้นมากกว่า คำถามนี้เผยให้เห็นความคิดคับแคบของผู้ถาม พระองค์สามารถตอบคำถามด้วยการนิยามความหมายของคำว่า “เพื่อนมนุษย์” แต่นั่นไม่ช่วยให้ตัวผู้ถามได้รับคำตอบ ด้วยการเล่าเรื่อง พระเยซูเจ้าทรงสามารถทำให้เขาสะดุ้งจนหลุดพ้นจากความคิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น ก่อนจะทรงเชิญชวนเขาให้หาวิธีใหม่ ๆ ในการปฏิบัติตามหลักศาสนา
ในเรื่องเล่าประเภทนี้ พระเอกมักเป็นตัวละครที่สาม “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสมณะคนหนึ่ง...และชาวเลวีคนหนึ่ง...และ...“ ทุกคนคงคาดหมายว่าตัวละครที่สามจะเป็นฆราวาสชาวยิว แต่เปล่าเลย พวกเขาได้ยินข้อความที่ไม่คาดหมาย พวกเขาคงไม่เพียงสะดุ้ง แต่ถึงกับช็อก เมื่อตระหนักว่าว่าพระเอกในเรื่องนี้เป็นชาวสะมาเรีย คนครึ่งชาติครึ่งศาสนาที่ชาวยิวเหยียดหยาม แม้แต่คนต่างชาติเต็มร้อยยังได้รับความเคารพนับถือมากกว่าชาวสะมาเรีย
พระเยซูเจ้าทรงคาดหมายว่า นักกฎหมายที่ชอบใช้สำนวนโวหารคนนี้คงเริ่มคิดหาเหตุผลมาแก้ตัวให้สมณะ และชาวเลวี ว่าพวกเขารอบคอบแล้วที่หลีกเลี่ยงโอกาสที่อาจสัมผัสกับร่างคนตาย ซึ่งจะทำให้พวกเขามีมลทิน และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาได้ พระองค์ทรงทำลายเกราะป้องกันตนเองของเขาด้วยการถามเกี่ยวกับความเมตตาของเพื่อนมนุษย์ เมื่อนักกฎหมายหลุดพ้นจากความพึงพอใจกับความดีของตนเองแล้ว บัดนี้ พระเยซูเจ้าจึงสามารถเชิญเขาให้คิดในแง่มุมใหม่เกี่ยวกับคำถามนี้
“ท่านคิดว่าในสามคนนี้ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนที่ถูกโจรปล้น” บัดนี้ พระองค์ทรงปรับเปลี่ยนรูปแบบของคำถาม โดยทรงเปลี่ยนจากการระบุข้อจำกัดของความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ไปสู่การปฏิบัติที่แสดงความรัก และนักกฎหมายก็ตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อเขา”
เขายังกลัวที่จะเอ่ยชื่อที่เขารังเกียจ คือ ชาวสะมาเรีย แต่กระนั้น เรื่องอุปมานี้ก็เริ่มชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ เมื่อเขายอมรับว่าคนกึ่งต่างชาตินี้ แสดงความรักออกมาเป็นการกระทำ ดังนั้น เขาจึงปฏิบัติตามหลักศาสนามากกว่าคนที่ถือธรรมเนียมศาสนาอย่างเคร่งครัด
การใช้เรื่องอุปมาช่วยให้พระเยซูเจ้าสามารถเปิดใจของนักกฎหมายให้มีแนวความคิดแบบใหม่ ถ้าจะใช้คำศัพท์ของนักวิจัยสมัยใหม่ พระองค์ทรงกำลังเชิญนักกฎหมายให้เปลี่ยนวิธีคิด จากการใช้สมองด้านซ้ายเปลี่ยนเป็นใช้สมองด้านขวา
การคิดด้วยสมองด้านซ้ายจะพยายามควบคุมสิ่งต่าง ๆ ด้วยการวิเคราะห์และคำจำกัดความ ด้วยการแบ่งแยกเพื่อเอาชนะ นักกฎหมายถึงถูกอบรมมาให้แก้ปัญหาโดยใช้สำนวนโวหารย่อมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ดังนั้น ปฏิกิริยาแรกของเขาจึงเป็นการพยายามหาคำนิยามของคำว่าเพื่อนมนุษย์ แต่คำนิยามจะมีข้อจำกัดเสมอ เพราะเป็นการระบุขอบเขตโดยตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำนั้นออกไป สมองด้านซ้ายพอใจกับความหมายที่มีข้อจำกัดนี้เพราะสามารถควบคุมได้ ส่วนสมองด้านขวาพยายามค้นหาความเป็นไปได้ที่คำนั้นจะเชื่อมโยงกับความเป็นจริงที่กว้างกว่า เมื่อเราเริ่มใช้สมองด้านขวา เราจึงเผชิญกับการสูญเสียอำนาจควบคุม และทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยง
นักกฎหมายได้รับเชิญจากพระเยซูเจ้าให้ออกจากโลกของสำนวนโวหาร และให้ค้นพบโลกของความรัก ซึ่งประกอบด้วยความเป็นไปได้อันน่าตื่นเต้น เคียงคู่กับข้อเรียกร้อง ความเสี่ยง และจุดอ่อน เมื่อจบการสนทนา นักกฎหมายจึงมาถึงจุดยืนที่พระเยซูเจ้าทรงสามารถเชิญชวนเขาว่า “ท่านจงไป และทำเช่นเดียวกันเถิด”
เรื่องเล่าของพระเยซูเจ้าไม่เคยเป็นเพียงเรื่องเล่า ในแต่ละเรื่องมีคำเชิญให้เราเข้าไปอยู่ในเรื่องนั้น ให้เราหาตำแหน่งของตนเองในเรื่องนั้น และค้นพบชีวิตของเราอีกครั้งหนึ่ง บางครั้ง การค้นพบก็ทำให้เราตกใจ แต่จะมีคำพูดที่เสนอความหวังที่เราจะเจริญเติบโตเสมอ
บทรำพึงที่ 2
ขณะนั้น นักกฎหมายคนหนึ่งยืนขึ้นทูลถามเพื่อจะจับผิดพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร”
ในสมัยของพระเยซูเจ้า คำถามนี้ไม่ใช่คำถามง่าย ๆ สำหรับชาวยิว เพราะชาวฟาริสีเชื่อในชีวิตหน้า และการกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย – แต่ชาวสะดูสีไม่เชื่อเช่นนี้...
มนุษย์รอบตัวเราในปัจจุบันยังมีความคิดต่างกันเกี่ยวกับคำถามนี้ ซึ่งไม่ใช่คำถามใหม่ ... ไม่ว่าเราจะตอบรับหรือปฏิเสธ ปัญหาเรื่องชีวิตนิรันดรก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดที่มนุษย์ต้องเผชิญ เป็นคำถามที่มีเดิมพันสูงสุด ... นักคิดชื่อปาสกาล พยายามตอบคำถามนี้ด้วย “การท้าพนัน” ของเขาซึ่งเรารู้จักดีว่า “พระเจ้ามีจริง หรือไม่มีจริง แต่จะเลือกอะไรในสองข้อนี้ ... เราไม่สามารถเลือกตอบ หรือเลือกไม่ตอบคำถามข้อนี้ เพราะนี่คือปัญหาของเรา ถ้าท่านเลือกจะพูดว่า ‘พระเจ้ามีจริง’ แล้วชนะ ท่านจะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถ้าท่านแพ้ ท่านก็ไม่มีอะไรจะเสีย ดังนั้น จงวางเดิมพันของท่านกับการที่พระเจ้ามีจริง โดยไม่ลังเลใจเถิด ... ในการพนันครั้งนี้ ถ้าท่านชนะ ท่านจะได้ชีวิตที่มีความสุขอย่างไร้ขอบเขต และไม่มีวันสิ้นสุด – เป็นโอกาสได้กำไรอย่างไร้ขีดจำกัด เทียบกับโอกาสที่ท่านจะแพ้ซึ่งมีอยู่น้อย ... นี่ทำให้ไม่ต้องลังเลใจเลย” (Pensees, 343)
“ท่านจะได้รับผลร้ายอะไรหรือ ถ้าท่านพนันว่าพระเจ้ามีจริง ท่านจะซื่อสัตย์ สุจริตใจ ถ่อมตน สำนึกในบุญคุณ ท่านจะเป็นเพื่อนแท้ผู้จริงใจ แม้จะเป็นความจริงว่าท่านจะไม่ได้ชื่นชมกับความรื่นรมย์ เกียรติยศชื่อเสียง หรือความสนุกสนานที่มีพิษ แต่ท่านจะไม่ได้ลิ้มรสความยินดีอื่น ๆ หรือ ข้าพเจ้าขอบอกว่า ท่านจะเป็นผู้ชนะในชีวิตนี้ และทุกก้าวที่ท่านเดินบนเส้นทางนี้ ท่านจะค้นพบความมั่นใจว่าท่านจะได้รับชัยชนะ และค้นพบว่าท่านไม่มีอะไรต้องเสี่ยงเลย จนในที่สุด ท่านจะตระหนักว่าท่านได้วางเดิมพันในขุมทรัพย์ที่แน่นอน โดยที่ท่านไม่ต้องจ่ายอะไรเลย”
ในทุกยุคทุกสมัย และทุกอารยธรรม มนุษย์หวังว่าจะมี “ชีวิตอื่น“ พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องนี้บ่อยครั้ง พระองค์ถึงกับตรัสว่า “ชีวิตนิรันดร” นี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ... สำหรับผู้มีความเชื่อ ชีวิตนิรันดรเริ่มขึ้นแล้ว และเขากำลังดำเนินชีวิตนิรันดรนั้นอยู่ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม...
แต่สาระของชีวิตนี้คืออะไร และเราต้องทำอะไรเพื่อบรรลุถึงสาระนี้...
นี่คือคำถามของนักกฎหมายคนนี้ ... และเป็นคำถามสำหรับเราด้วย
พระเยซูเจ้าตรัสถามเขาว่า “ในธรรมบัญญัติเขียนไว้อย่างไร ท่านอ่านว่าอย่างไร” เขาทูลตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน สุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านตอบถูกแล้ว จงทำเช่นนี้แล้วจะได้ชีวิต”
ท่อนแรกที่นักกฎหมายอ้างเป็นข้อความจากบทภาวนาประจำวันของชาวยิว คือ Shema มาจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 6:5 พระเยซูเจ้าก็ทรงสวดบทภาวนานี้ทุกวัน ... แต่นักกฎหมายเพิ่มข้อความจากหนังสือเลวีนิติ 19:8 เข้าไปด้วย
ดังนั้น เพื่อจะมีชีวิตนิรันดร เราต้องรัก ถูกแล้ว ... รัก!
เราพบคำถาม และคำตอบนี้ในพระวรสารสหทรรศน์อีกสองฉบับด้วย (มธ 22:34-40, มก 12:28-31) แต่ลูกาไม่แยกออกเป็น “บทบัญญัติแรก” และ “บทบัญญัติที่สอง” ความรักต่อพระเจ้า และความรักต่อเพื่อนมนุษย์ไม่อาจแยกออกจากกันได้...
นี่เป็นความจริงในชีวิตของข้าพเจ้าด้วยหรือไม่...
ชายคนนั้นต้องการแสดงว่าตนถูกต้องจึงทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า”
จนถึงเวลานั้น คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าไม่ได้ต่างจากธรรมบัญญัติในพันธสัญญาเดิมเลย ... และไม่ต่างจากบทบัญญัติของศาสนาใหญ่ทั้งหลายด้วย คำสั่งสอนของพระองค์เป็นกฎที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์ ความรักคือบัญญัติข้อแรกของมนุษย์...
แต่คำตอบของพระเยซูเจ้าต่อคำถามว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” จะนำเราไปสู่ความแปลกใหม่ของพระวรสารที่ปฏิวัติความคิดเดิม นั่นคือ เราต้องรักมนุษย์ทุกคน แม้แต่ศัตรูของเรา...
พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “ชายคนหนึ่งกำลังเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็ม ไปยังเมืองเยรีโค เขาถูกโจรปล้น พวกโจรปล้นทุกสิ่ง ทุบตีเขา แล้วก็จากไป ทิ้งเขาไว้อาการสาหัสเกือบสิ้นชีวิต สมณะผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้นโดยบังเอิญ เห็นเขา และเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่ง ชาวเลวี คนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเขา และเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่งเช่นเดียวกัน”
“สมณะ” คนหนึ่ง และ “ชาวเลวี” คนหนึ่ง! พระเยซูเจ้าไม่ทรงทำอะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ พระองค์ทรงนำคนสองประเภทเข้ามาในเรื่องเล่านี้ คนสองกลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในพระวิหาร เขาจึงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติและพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด ... พระเยซูเจ้าทรงยกคนสองประเภทนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างเพื่อบอกเราว่า อะไรที่เราไม่ควรทำ ... ชายสองคนผู้อุทิศตนทำงานนมัสการพระเจ้านี้ปฏิบัติตนอย่างน่ารังเกียจ ถ้าจะพูดกันตามประสามนุษย์ ในปัจจุบัน แม้แต่ศาลยุติธรรมของชนชาติที่ไม่ใช่คริสตชนก็ยังประณาม “การไม่ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตราย” ... แต่เมื่อมองจากมุมของคนเหล่านี้ เขาทำถูกต้องแล้ว ตามความคิดและธรรมบัญญัติของชาวยิว พวกเขาคิดว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะไม่ “สัมผัสกับเลือด” เพื่อรักษาตนเองให้ปราศจากมลทินเพื่อจะประกอบพิธีกรรมในพระวิหารได้ ... เช่นเดียวกับในชีวิตของเราเอง ที่บางครั้งเราหาข้อแก้ตัวที่จะไม่ช่วยเหลือบุคคลที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ... โดยยกข้ออ้างต่าง ๆ...
พระเยซูเจ้าทรงเลือกบุคคลสองประเภทนี้เป็นตัวอย่างเพื่อเน้นย้ำความจริงอันเป็นแก่นแท้จากพระคัมภีร์ (ฮชย 6:6) ซึ่งพระองค์ทรงอ้างถึงสองครั้งเพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่าพระองค์ไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ กล่าวคือ บัญญัติว่าด้วยความรักต่อเพื่อนมนุษย์สำคัญกว่า (มธ 9:13, 12:7, 23:23) การตอกย้ำเช่นนี้มีนัยสำคัญ พระเจ้าทรงสนใจว่าเราแสดงความเมตตากรุณาของเราด้วยการรับใช้พี่น้องชายหญิงที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันอย่างไร มากกว่าทรงสนใจ “พิธี” นมัสการพระเจ้า และการสวดภาวนาของเรา ... เราไม่ได้รับใช้พระเจ้าในพระวิหาร เว้นแต่ว่าเรารับใช้พระองค์ตามถนนหนทางก่อน...
ข้าพเจ้าเป็นคริสตชนที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างแท้จริงหรือเปล่า ... ข้าพเจ้าทำให้คำว่า “ปฏิบัติตามบทบัญญัติ” นี้มีความหมายอย่างไร
ข้าพเจ้าปฏิบัติความเมตตากรุณา ใส่ใจผู้อื่น รับใช้ผู้อื่นหรือเปล่า...
แต่ชาวสะมาเรียผู้หนึ่งเดินทางผ่านมาใกล้ ๆ เห็นเขาก็รู้สึกสงสาร จึงเดินเข้าไปหา เทน้ำมันและเหล้าองุ่นลงบนบาดแผล แล้วพันผ้าให้ นำเขาขึ้นหลังสัตว์ของตน พาไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่งและช่วยดูแลเขา วันรุ่งขึ้น ชาวสะมาเรียผู้นั้นนำเงินสองเหรียญออกมามอบให้เจ้าของโรงแรมไว้ กล่าวว่า “ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา”
ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารคนเดียวที่บอกเล่าเรื่องอุปมาอันน่าประทับใจนี้ ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารที่มีใจเมตตากรุณา เป็นผู้เขียนพระวรสารสำหรับคนต่างชาติ ... จงตั้งใจอ่านทวน “กิจการดี” หกประการที่บรรยายไว้ในข้อความนี้เถิด ... นี่คือพระอาณาจักรของพระเจ้า นี่คือการนมัสการแบบใหม่ที่เป็นของจริง นี่คือกำเนิดของมนุษย์พันธุ์ใหม่ผู้จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า...
และชายคนนี้เป็น “ชาวสะมาเรีย” – เป็นชนชาติที่ประพฤติผิดจารีตประเพณี เป็นศัตรูของชาวยิวผู้เคร่งครัดศาสนา เป็นบุคคลที่ต้องรังเกียจ เพราะพวกเขาไม่ “ปฏิบัติตาม” กฎของศาสนาแท้ เป็นคนมีมลทินที่ไม่เคยย่างเท้าเข้าไปในพระวิหาร เป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเชิญไปกินอาหารร่วมกันไม่ได้ เป็นบุคคลที่ต้องหลีกเลี่ยง ... ถูกแล้ว เขาเป็นหนึ่งในชาวสะมาเรียเหล่านั้นที่เมื่อไม่กี่วันก่อน ยากอบ และยอห์น อยากจะเรียกไฟจากสวรรค์ลงมาเผาผลาญเขา (ลก 9:52-55) ... บุคคลประเภทนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงยกให้เป็นตัวอย่างของเรา...
“เขารู้สึกสงสาร” (Esplanchnisthe)…
คำภาษากรีกนี้มาจากคำว่า splanchna ดังนั้น จึงแปลได้ว่า “ติดอยู่ในท้อง (caught in the bowels)” ในภาษาฮีบรู หรือภาษาอาราเมอิกที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ น่าจะเป็นคำว่า rahamim ซึ่งมีความหมายเดียวกันคือ ท้อง ... ครรภ์มารดา ... หัวใจ ... ความอ่อนโยน ... ความดี ... ความเวทนาสงสาร ... ตลอดพันธสัญญาใหม่คำนี้ถูกใช้เพื่อแสดงความรู้สึกของพระเยซูเจ้าโดยเฉพาะ เมื่อพระองค์ทรงเห็นความเดือดร้อนของประชาชน คนป่วย และคนบาปทุกประเภท (มธ 9:36, 14:14, 15:32, 20:34; มก 6:34, 8:2; ลก 7:13, 15:20)...
บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร ผู้คุ้นเคยมากกว่าเรากับกระบวนการทางความคิดของคนสมัยโบราณ เห็นพ้องกันแทบเป็นเอกฉันท์ว่าอุปมาเรื่องนี้หมายถึงพระเยซูคริสตเจ้าเอง พระวรสาร – แม้แต่พระวรสารหน้านี้ – ไม่ใช่ตำราสอนศีลธรรม แต่เป็นการประกาศและเผยแสดงความรักของพระเจ้า ชาวสะมาเรียใจดีผู้นี้คือพระเยซูเจ้า ... คนเดินทางที่บาดเจ็บจนเกือบเสียชีวิตก็คือมนุษยชาติที่ตกต่ำเพราะความชั่ว ... โรงแรมคือพระศาสนจักร ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงนำมนุษย์เข้าไปพักพิงเพื่อช่วยพวกเขาให้รอดพ้น…
พระวรสารตอนนี้บอกเราว่า “พระเจ้าทรงทำอะไรบ้างเพื่อมนุษย์” พระองค์ทรงนำมนุษย์เดินไปข้างหน้าเสมอ ... พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น” ทรงเป็นตัวแทนของความเวทนาสงสารฉันมารดาของพระเจ้า ... และทัศนคติของเราต่อเพื่อนมนุษย์ก็ต้องมีความสงสารที่มาจากพระเจ้า ... พระวรสารไม่ใช่ตำราสอนหลักศีลธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าพระวรสารไม่ระบุกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม และเป็นกฎเกณฑ์ที่ลึกกว่า และแรงกว่า “หลักการ” อื่นทั้งปวง...
ความรัก ... การยืนเคียงข้างเพื่อนมนุษย์ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ... นี่คือการนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริง ...
“ผู้ที่ไม่มีความรักย่อมไม่รู้จักพระเจ้า เพราะพระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4:8)
สมณะ หรือชาวเลวีเอ๋ย จงระวังเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจของท่านเถิด ... พระเจ้าไม่ทรงโปรดพิธีรีตอง พระองค์ทรงรอท่านอยู่ข้างนอกนั้น ทรงกำลังเฝ้าดูเมื่อท่านพบกับเพื่อนมนุษย์ เมื่อท่านฟังมิสซาจบแล้ว...
“ท่านรักหรือเปล่า ... ท่านรักเราหรือไม่” – มิใช่รักด้วยคำพูดเท่านั้น...
“ท่านคิดว่าในสามคนนี้ ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนที่ถูกโจรปล้น” เขาทูลตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อเขา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านจงไป และทำเช่นเดียวกันเถิด”
พระเยซูเจ้าทรงทำให้แนวความคิดเกี่ยวกับ “เพื่อนมนุษย์” เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นักกฎหมายถามว่า “ใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” (เขาหมายถึงผู้อื่น) ตามความหมายนี้ ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า...
พระเยซูเจ้าทรงถามว่า “ท่านแสดงตนเองว่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของใคร” (พระองค์หมายถึงตัวเราเอง) ตามความหมายนี้ เราเป็นเพื่อนมนุษย์ของผู้อื่น...
พระเยซูเจ้าทรงหมายความว่า “เพื่อนมนุษย์นี้คือตัวเราเอง เมื่อเรายื่นมือไปช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความรัก”...
เราไม่จำเป็นต้องถามตนเองอีกต่อไปว่า “ใครคือเพื่อนมนุษย์ของฉัน” แต่ต้องถามว่า “ทำอย่างไรฉันจึงจะแสดงตัวว่าฉันเป็นเพื่อนมนุษย์ของมนุษย์ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกใครเลย”...
นี่คือการเผยแสดงของพระเจ้า!