วันอาทิตย์ที่สิบสาม เทศกาลธรรมดา
ลูกา 9:51-62
เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม และทรงส่งผู้นำสารไปล่วงหน้า คนเหล่านี้ออกเดินทางและเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของชาวสะมาเรียเพื่อเตรียมรับเสด็จพระองค์ แต่ประชาชนที่นั่นไม่ยอมรับเสด็จ เพราะพระองค์กำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อยากอบและยอห์น ศิษย์ของพระองค์ เห็นดังนี้ก็ทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระประสงค์ให้เราเรียกไฟจากฟ้าลงมาเผาผลาญคนเหล่านี้หรือไม่” พระเยซูเจ้าทรงหันไปตำหนิศิษย์ทั้งสองคน แล้วทรงพระดำเนินต่อไปยังหมู่บ้านอื่นพร้อมกับบรรดาศิษย์
ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินตามทางพร้อมกับบรรดาศิษย์ ชายผู้หนึ่งทูลพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าจะติดตามพระองค์ไปทุกแห่งที่พระองค์จะเสด็จ” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ”
พระองค์ตรัสกับอีกคนหนึ่งว่า “จงตามเรามาเถิด” แต่เขาทูลว่า “ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าไปฝังศพบิดาของข้าพเจ้าเสียก่อน” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงปล่อยให้คนตายฝังคนตายของตนเถิด ส่วนท่านจงไปประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า”
อีกคนหนึ่งทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะตามพระองค์ไป แต่ขออนุญาตกลับไปร่ำลาคนที่บ้านก่อน” พระเยซูเจ้าตรัสว่า "ผู้ใดที่จับคันไถแล้วเหลียวดูข้างหลัง ผู้นั้นก็ไม่เหมาะสมกับพระอาณาจักรของพระเจ้า”
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
พระเยซูเจ้า ผู้มีพระทัยแน่วแน่
การเทศน์สอนในแคว้นกาลิลีบรรลุถึงจุดสูงสุด เมื่อเปโตรประกาศยืนยันความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า ในบทอ่านจากพระวรสารสำหรับวันนี้ เราเริ่มต้นคำบอกเล่าของลูกาเกี่ยวกับการเดินทางของพระเยซูเจ้า มุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม
ลูกาถือว่ากรุงเยรูซาเล็มไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางของพระเยซูเจ้าในแผนการของพระเจ้าอีกด้วย ใกล้จะถึงเวลาที่พระองค์ “จะต้องทรงจากโลกนี้ไป” ชาวยิวทุกคนมีความปรารถนาจะเดินทางจาริกแสวงบุญมายังกรุงเยรูซาเล็ม ลูกาใช้คำบอกเล่าเรื่องการเดินทางของพระเยซูไปสู่กรุงเยรูซาเล็ม เป็นกรอบสำหรับสั่งสอนวิถีทางจาริกแสวงบุญของคริสตชน
ลูกากล่าวถึงความตั้งใจแน่วแน่ที่แสดงออกมาทางพระพักตร์ของพระเยซูเจ้า ขณะที่ทรงเดินทางไปยังเมืองที่จะเป็นจุดจบของพระองค์ พระองค์ทรงส่งผู้นำสารไปล่วงหน้า ซึ่งเป็นการทำนายถึงยุคสมัยในอนาคตเมื่อพระจิตเจ้าจะทรงบันดาลให้หัวใจของธรรมทูตลุกเป็นไฟด้วยความปรารถนาจะเป็นพยานของพระองค์ไปจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก บทอ่านส่วนที่เหลือในพระวรสารวันนี้สอนเราว่าผู้นำสารของพระองค์จะต้องมีความตั้งใจแน่วแน่เหมือนพระเยซูเจ้า
พวกเขาถูกต่อต้านในแคว้นสะมาเรีย เหมือนกับที่ธรรมทูตในอนาคตจะเผชิญกับการต่อต้านและเบียดเบียน ยากอบ และยอห์น นึกถึงการกระทำของเอลียาห์ในอดีต และต้องการเรียกไฟจากฟ้าลงมาเผาผลาญคนเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงหันไปตำหนิทั้งสองคนนี้เพราะนั่นเป็นความคิดที่ชั่วร้าย วันหนึ่งจะมีไฟลงมาจากสวรรค์แน่นอน ไม่ใช่ไฟแห่งการล้างแค้นและทำลาย แต่เป็นลิ้นไฟแห่งความรักของพระเจ้า เป็นปฐมฤกษ์สำหรับพันธกิจของคริสตศาสนา
ขณะที่คนกลุ่มนี้เดินทางต่อไป มีบุคคลต่าง ๆ เข้ามาในเรื่องเหมือนตัวละครที่ปรากฏตัวออกมาเพียงช่วงสั้น ๆ บุคคลเหล่านี้มีอยู่สามคน และการพบกับแต่ละคนเป็นบทเรียนที่สอนเราให้เข้าใจเงื่อนไขของการเดินทาง
“สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ” ผู้แสวงบุญในคริสตศาสนาเป็นบุคคลในอนาคตกาลที่ต้องเดินทางไปข้างหน้าไม่มีวันหยุด สิ่งที่เรามีอยู่ในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้ วิญญาณของเรากระหายหาธารน้ำนิรันดร และต้องเดินหน้าต่อไปเสมอ
“จงปล่อยให้คนตายฝังคนตายของตนเถิด ส่วนท่านจงไปประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า” เป็นข้อความที่ตีความให้สมดุลได้ยาก แม้ว่าเราควรปฏิบัติหน้าที่ต่อคนในครอบครัว แต่สำหรับผู้ได้รับเรียกให้ประกาศข่าวเกี่ยวกับพระอาณาจักรของพระเจ้าอาจเป็นงานที่เร่งด่วนมากกว่า หน้าที่ต่อครอบครัวสามารถมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทนได้ เมื่อคนเหล่านั้นไม่ได้รับพลังอันแรงกล้าจากกระแสเรียกของธรรมทูต ธรรมทูตทุกยุคสมัย นับตั้งแต่อับราฮัมจนถึงยุคสมัยของเรา ได้ละทิ้งครอบครัว และบ้านเกิดอย่างกล้าหาญเพราะเห็นแก่ข่าวดี
บุคคลที่สามที่พระเยซูเจ้าทรงพบตามทาง ชี้ให้เห็นว่าธรรมทูตต้องมีจิตใจเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นอยู่กับพันธกิจของตน “ผู้ใดจับคันไถแล้วเหลียวดูข้างหลัง ผู้นั้นก็ไม่เหมาะสมกับพระอาณาจักรของพระเจ้า” ในการทำไร่ไถนาในยุคนั้น ผู้ไถต้องใช้มือหนึ่งคอยควบคุมวัวที่ดื้อรั้น และอีกมือหนึ่งต้องจับคันไถไว้ให้มั่น งานนี้ต้องใช้สมาธิและการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อ และสายตาเพื่อให้รอยไถตรง ชีวิตที่แสวงหาสิ่งบันเทิงใจ และการทำงานแบบลวก ๆ ย่อมไม่เหมาะสมสำหรับพระเจ้า
ข้าพเจ้านึกถึงพระพักตร์ที่แสดงความเด็ดเดี่ยวของพระเยซูเจ้า พระเนตรของพระองค์จับจ้องอยู่ที่เนินเขาลูกแรกทางทิศใต้ มีเนินเขาอีกลูกหนึ่งต่อจากนั้น และอีกลูกหนึ่ง จนกระทั่งเห็นกรุงเยรูซาเล็ม นครบนเนินเขา ได้ในที่สุด “บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คือนครของพระองค์ ซึ่งพระเจ้าทรงถนอมรักษาไว้” (สดด 86)
สีหน้าอันเข้มแข็งของพระเยซูเจ้าท้าทายให้ศิษย์ของพระองค์อุทิศตนทำงานอย่างเต็มที่ เราต้องคิดถึงผลที่จะตามมา และให้ความสำคัญกับพระเจ้ามากกว่า ในกรณีที่เราต้องเลือกอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง
เรื่องของเอลีชาในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเขาละทิ้งวิถีชีวิตของคนไถนา เขาได้ฆ่าโคไถนาของเขา และเอาเนื้อโคนั้นต้มเลี้ยงประชาชน โดยใช้ไม้คันไถเป็นฟืน เขาจะไม่หันหลังกลับไปอีก ผู้แสวงบุญก็ต้องเดินหน้าไปสู่นครอันเป็นจุดหมายปลายทางเช่นนี้
ในยุคกลาง ประชาชนชอบคิดว่าชีวิตคริสตชนก็คือการเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มในสวรรค์ ข้อเขียนของบุญราศีเฮนรี่ ซูโซ กล่าวถึงแนวทางชีวิตภายในที่ประกอบด้วยการแสวงบุญเช่นนี้ ผู้แสวงบุญจะเดินทางระหว่างช่วงเวลาหนึ่ง แล้วหยุดพักและทำงานหาเลี้ยงชีพ จากนั้นก็เก็บข้าวของและออกเดินทางอีกครั้งหนึ่ง สายตาของเขาเพ่งมองอย่างแน่วแน่ที่กรุงเยรูซาเล็ม และหัวใจของเขาทบทวนบทภาวนาของผู้แสวงบุญว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าไม่เป็นสิ่งใด ข้าพเจ้าไม่มีสิ่งใด ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาสิ่งใด นอกจากจะอยู่กับพระองค์ในกรุงเยรูซาเล็ม”
ข้อรำพึงที่สอง
เปโตร ระลึกถึงเหตุการณ์
เราออกเดินทางเยี่ยมเมือง และหมู่บ้านต่าง ๆ ในแคว้นกาลิลี ในเวลานั้นพระเยซูเจ้าทรงคิดถึงแต่กรุงเยรูซาเล็ม การจาริกแสวงบุญไปยังกรุงเยรูซาเล็มเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชนชาติเรา เราทุกคนเคยแสวงบุญไปที่นั่น แต่ดูเหมือนพระเยซูเจ้า จะทรงตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งนี้มาก เราก็พลอยรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย เพราะเรารู้สึกมั่นใจว่าการเดินทางครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการยึดอาณาจักรของเราคืนมา
ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ตรัสทำนายไว้หลายครั้งว่าพระองค์จะถูกปฏิเสธ จะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่เราไม่สนใจฟังเพราะเราคิดว่าเป็นวิธีการที่จะลดความร้อนรนของเรา เราเดินทางมุ่งหน้าไปทางใต้ แต่เมื่อออกเดินทางแล้ว ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่รีบร้อน พระองค์สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้ภายในสัปดาห์เดียวอย่างสบาย ๆ แต่พระองค์กลับใช้เส้นทางที่คดเคี้ยว หยุดพักตามโอกาส หยุดเพื่อเทศน์สอน รักษาโรค และบางครั้งถึงกับทรงส่งพวกเราออกไปเทศน์สอน
พระองค์ทรงรู้ดีพอ ๆ กับเราว่าชาวสะมาเรียจะแสดงความเป็นอริ พระองค์ทรงสามารถหลีกเลี่ยงเมืองของชาวสะมาเรีย ได้เหมือนกับคนอื่น ๆ จำนวนมาก ที่เลี่ยงไปใช้เส้นทางอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน คนในหมู่บ้านหนึ่งขับไล่เราด้วยไม้และก้อนหิน ท่านคงพอจะเดาได้ว่าข้าพเจ้าอารมณ์เสียอย่างไร แต่ครั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่ก่อเรื่อง ยากอบและยอห์น ชิงก่อเรื่องตัดหน้าข้าพเจ้า เด็กหนุ่มสองคนนี้มักไม่ทำอะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ พวกเขาได้รับอิทธิพลจากแม่ของเขา นางเป็นหญิงที่ทะเยอทะยาน หนุ่มสองคนนี้คิดว่าตนเองมีอำนาจเทียบเท่ากับเอลียาห์ในอดีตทีเดียว “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระประสงค์ให้เราเรียกไฟจากฟ้าลงมาเผาผลาญคนเหล่านี้หรือไม่” ข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อหูตนเอง เมื่อข้าพเจ้าโกรธ ข้าพเจ้าคงใช้ก้อนหินต่อสู้กับก้อนหิน และต่อสู้กับไม้ด้วยไม้ แต่หนุ่มสองคนนี้คิดว่าตนเองมีอำนาจและสิทธิที่จะเรียกไฟลงมาจากสวรรค์ พวกเขาไม่ได้ขอให้พระเยซูเจ้าเป็นผู้ทำเช่นนี้ ... แต่เสนอจะทำเพื่อพระองค์! พระเยซูเจ้าทรงแสดงท่าทีที่สงบระหว่างเกิดวิกฤติการณ์ได้อย่างน่าแปลกใจ พระองค์ตรัสห้ามยากอบและยอห์นสั้น ๆ และทรงบอกเราให้สลัดฝุ่นจากเมืองนี้ออกจากเท้าของเรา และเราก็เดินทางไปยังจุดหมายต่อไป
ในวันหนึ่งข้างหน้า เราจะได้เห็นไฟลงมาจากสวรรค์ ไม่ใช่ไฟเพื่อล้างแค้น แต่เป็นลิ้นไฟจากพระจิตเจ้า เป็นไฟแห่งความรัก ความอบอุ่น และแสงสว่าง แต่วันนั้นยังอยู่อีกไกล
บทรำพึงที่ 2
ข้อความนี้มาจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาสำหรับวันอาทิตย์สัปดาห์นี้ และเป็นจุดเริ่มต้นอีกช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของพระเยซูเจ้า ก่อนหน้านั้น พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนเฉพาะในแคว้นกาลิลี สิบบทต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องราวการเดินทางของพระองค์ “ขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม” เป็นการเดินทางฝ่ายจิตมากกว่าการเดินทางตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์จริง ๆ (ลก 9:51, 13:22, 17:11)
เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว...
ข้อความเริ่มต้นบทนี้ขึ้นอย่างเคร่งขรึม พระวรสารภาษากรีกน่าสะดุดใจยิ่งกว่า “เวลาที่พระองค์จะทรงถูกยกขึ้นมาถึงแล้ว...”
ความตายของพระเยซูเจ้าซึ่งใกล้เข้ามาแล้วนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามชะตากรรม แต่เป็น “การบรรลุผล” เป็นการปรับตัว และ “ขัดเกลา” ครั้งสุดท้ายในชีวิตที่สำเร็จสมบูรณ์แล้ว...
นอกจากนี้ ยังเป็นการ “ถูกยกขึ้น” ด้วย ลูกาใช้คำเดียวกันนี้เมื่อเขาพูดถึงการเสด็จขึ้นสวรรค์ พระเยซูเจ้าจะทรง “ได้รับการยกขึ้นสวรรค์” (กจ 1:2, 11, 22) ... เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับประกาศกเอลียาห์ (2 พกษ 2:8-11)...
ดังนั้น เหตุการณ์ที่ “ใกล้เข้ามา” สำหรับพระเยซูเจ้า – และสำหรับเราแต่ละคนที่อยู่กับพระองค์ จะเป็นทั้งเหตุการณ์อันเจ็บปวด และน่ายินดี เพราะนี่คือปัสกาที่มีสองด้าน คือ เป็นทั้งความตาย และการเดินทางไปหาพระบิดา...
พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม
“ตั้งพระทัยแน่วแน่” แสดงออกถึงการกระทำบางอย่างที่ต้องใช้ความกล้าหาญ ... อาจกล่าวได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงกัดฟันเริ่มต้นเดินทางไปยังเมืองที่พระองค์จะต้องไปสิ้นพระชนม์ ... น้อยครั้งที่พระวรสารบรรยายสภาพวิญญาณของพระเยซูเจ้า ดังนั้น จึงเป็นเรื่องแปลกที่เราได้เห็นว่าในวันนั้น ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง พระองค์ทรงต้องเอาชนะความกลัว และรวบรวมความกล้าหาญทั้งหมดของพระองค์อย่างไร...
เราต้องใช้เวลาสักครู่พิจารณาปัญหาที่เราประสบอยู่ในปัจจุบันร่วมกับพระเยซูเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการสอบตก ความว้าเหว่ในหัวใจ ความขัดแย้งในชีวิตสมรส ความไม่มั่นคงของอาชีพ ทางตันที่ดูเหมือนไม่มีทางทะลุผ่านไปได้ การป่วยที่รักษาไม่ได้ หรือเมื่อเราเพิ่งจะสูญเสียคนที่เรารัก เป็นต้น...
แทนที่จะปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความผิดหวัง ทำไมเราจึงไม่ “ตั้งใจแน่วแน่” พร้อมกับพระเยซูเจ้า ว่าเราจะยืนหยัดต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับผู้รับใช้พระเจ้า ผู้กล่าวว่า “พระเจ้าทรงช่วยเหลือข้าพเจ้า ... ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเชิดหน้าเหมือนหินเหล็กไฟ และข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความอับอาย” (อสย 50:7)...
กรุงเยรูซาเล็มเป็นสถานที่ที่ไม่มีที่ใดเหมือนในโลก มีเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของกางเขน ... มีคูหาฝังศพซึ่งความตายต้องพ่ายแพ้ ... สถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงร้องตะโกนว่าพระองค์กระหาย และทรงยินยอมให้น้ำแห่งชีวิตไหลออกจากสีข้างที่ถูกเปิดของพระองค์ ... ชีวิตคริสตชนคือ “การเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม”...
ทรงส่งผู้นำสารไปล่วงหน้า คนเหล่านี้ออกเดินทาง และเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของชาวสะมาเรียเพื่อเตรียมรับเสด็จพระองค์ แต่ประชาชนที่นั่นไม่ยอมรับเสด็จ เพราะพระองค์กำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม
เรามักพยายามลดความรุนแรงของพระวรสาร ราวกับว่าไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ การเมือง ศาสนา หรือสังคมก่อนยุคสมัยของเรา
ชาวยิวผู้เคร่งครัดถือว่าชาวสะมาเรียเป็นพวกที่แยกนิกาย เพราะพวกเขาได้สร้างวิหารหลังหนึ่งขึ้นมาบนภูเขาเกรีซิม ให้เป็นคู่แข่งของพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม ชาวยิวจึงรังเกียจคนเหล่านี้ และชาวสะมาเรียก็ตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกัน และพยายามทำทุกทางที่จะก่อกวนผู้แสวงบุญที่ใช้ทางที่ใกล้ที่สุดจากแคว้นกาลิลีไปยังกรุงเยรูซาเล็ม คือ ตามทางบนยอดเนินของแคว้นสะมาเรีย...
พระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นอริและอันตรายเช่นนี้ พระองค์ไม่ทรงเลี่ยงดินแดนที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและประชาชนต่างก็เหยียดหยามกัน อันที่จริง พระองค์ไม่ทรงยอมคล้อยตามความคิดเห็นของสาธารณชน บ่อยครั้ง ลูกาบอกว่าพระเยซูเจ้าทรงยกย่องการแสดงเมตตากิจของชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10:30) และการรู้จักบุญคุณของคนโรคเรื้อนที่ได้รับการรักษาให้หาย (ลก 17:16)
พระเยซูเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน รวมถึงคนที่เรามักจะอยากสาปแช่ง หรือเหยียดหยาม...
เมื่อยากอบ และยอห์น ศิษย์ของพระองค์ เห็นดังนี้ก็ทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระประสงค์ให้เราเรียกไฟจากฟ้าลงมาเผาผลาญคนเหล่านี้หรือไม่”
นี่คือวิธีที่ประกาศกเอลียาห์ใช้ลงโทษศัตรูของเขา (2 พกษ 1:10) ยากอบและยอห์น ผู้ได้ชื่อว่า “บุตรของฟ้าร้อง” (มก 3:17) ทำตัวสมกับสมญาของเขาจริง ๆ แต่ทั้งสองคนไม่เข้าใจสารและพันธกิจของพระเยซูเจ้า ... ที่ร้ายกว่านั้น เขามีภาพที่บิดเบี้ยวของพระเจ้าอยู่ในใจ เขาคิดว่าเขากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า และมั่นใจว่าเขารู้ความจริง ... เป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพจะทรงยอมให้พระเมสสิยาห์ของพระองค์ต้องเผชิญกับการปฏิเสธ และอารมณ์อันผันแปรของมนุษย์...
แม้แต่ในวันนี้ เราเองก็อยากจะวางแผนเหมือนกับ “บุตรของฟ้าร้อง” เหล่านี้ คือ ขอให้พระเจ้าทรงเข้ามาแทรกแซง และทำลายศัตรูของพระองค์ ... แต่เรารู้ดีว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้เสด็จมาเพื่อลงโทษคนบาป แต่เพื่อช่วยเขาให้รอดพ้น (ลก 19:10) พระเจ้าไม่ทรงลงโทษ พระองค์ทรงให้อภัย (ลก 23:34)
พระเยซูเจ้าทรงหันไปตำหนิศิษย์ทั้งสองคน แล้วทรงพระดำเนินต่อไปยังหมู่บ้านอื่นพร้อมกับบรรดาศิษย์
พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นภาพลักษณ์แท้จริงของพระเจ้า พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพไม่ทรงเข้าแทรกแซงเหมือนทรราชที่บีบคั้นผู้อยู่ใต้บังคับ หรือศัตรูให้ยอมแพ้ แต่ทรงรอคอยอย่างถ่อมตน (ราวกับคนยากไร้คนหนึ่ง) ให้คนบาปกลับใจ ทรงรอคอยเหมือนบิดาหรือมารดาคนหนึ่ง ทรงยอมรับความล่าช้า และรอคอยให้ความจริงค่อย ๆ ปรากฏขึ้นในหัวใจมนุษย์...
และพวกเขาก็เดินทางไปยังหมู่บ้านอื่น ... ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าขณะทรงเดินทางไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง...
และข้าพเจ้าก็ไตร่ตรองความไม่อดทนของตนเองต่อบาปของข้าพเจ้าเอง ต่อบาปและการปฏิเสธของผู้อื่น ต่อความก้าวหน้าอย่างเชื่องช้าของพระศาสนจักร และต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่คอยถ่วงพระศาสนจักร...
ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินตามทางพร้อมกับบรรดาศิษย์ ชายผู้หนึ่งทูลพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าจะติดตามพระองค์ไปทุกแห่งที่พระองค์จะเสด็จ” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ”
ขณะที่พระเยซูเจ้าไม่ได้รับการต้อนรับตามทางที่เสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็ม มีใครคนหนึ่งเสนอตัวรับใช้พระองค์อย่างใจกว้างและปราศจากเงื่อนไข เราคงคาดหมายว่าพระเยซูเจ้าจะยอมรับข้อเสนอของเขาทันที แต่แทนที่จะแสดงความกระตือรือร้นกับกระแสเรียกของบุคคลนี้ พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เขาเห็นความยากลำบากต่าง ๆ พระองค์ทรงกระทำตรงกันข้ามกับนักโฆษณาในยุคของเราที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนจนถึงกับปิดบังข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงพยายามแสวงหาศิษย์ด้วยวิธีการใด ๆ ... ตรงกันข้าม พระองค์ทรงเน้นเรื่องความยากลำบากที่ผู้ติดตามพระองค์จะต้องเผชิญกับการขาดความสะดวกสบาย กับความยากไร้ และขาดความมั่นคง
ข้อความนี้เผยให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังคิดอะไรขณะทรงเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์กำลังเสด็จไปรับชะตากรรมอันน่าเศร้า ผู้ใดติดตามพระองค์ก็ควรคาดหมายว่าจะถูกปฏิเสธเช่นเดียวกัน ... เราอาจรำพึงภาวนากับชีวิตเร่ร่อนไร้ความมั่นคงของพระเยซูเจ้า “คนพเนจร” ที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีอาหารรออยู่ข้างหน้า! ชีวิตมนุษย์จะยากลำบากมากถ้าเขาไม่มีที่พักอาศัย หรือมีที่นอนให้เขานอนหลับพักผ่อน ในบางคืน หลังจากเหนื่อยมาแล้วทั้งวัน สภาพเช่นนี้คงบั่นทอนจิตใจของพระเยซูเจ้ามาก พระองค์ถึงกับตรัสว่าแม้แต่สัตว์ป่ายังมีที่พักพิงที่ทำให้มันรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย...
พระเจ้าข้า โปรดประทานความกล้าหาญแก่ข้าพเจ้าในยามที่ข้าพเจ้าเผชิญกับความเหนื่อยล้าทางกาย หรือทางใจ
“ข้าพเจ้าจะติดตามพระองค์ไปทุกแห่งที่พระองค์จะเสด็จ” ... ชายคนนี้กล่าวถ้อยคำนี้โดยไม่รู้ว่าทางเดินของพระเยซูเจ้ากำลังนำพระองค์ไปยังเนินเขากลโกธา – แต่เรารู้...
เรารู้ด้วยว่า “อาศัยพระทรมาน และไม้กางเขน เราจะไปถึงสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนชีพได้” ... เยรูซาเล็มเป็นแสงสว่างที่ส่องลงมาบนความทุกข์ยากของเรา...
พระองค์ตรัสกับอีกคนหนึ่งว่า “จงตามเรามาเถิด” แต่เขาทูลว่า “ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าไปฝังศพบิดาของข้าพเจ้าเสียก่อน” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงปล่อยให้คนตายฝังคนตายของตนเถิด ส่วนท่านจงไปประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า”
นี่เป็นหนึ่งในข้อความที่ระคายหูที่สุดในพระวรสาร ที่ฟังแล้วน่าตกใจ การฝังศพผู้ที่เรารักถือว่าเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งกำหนดขึ้นตามพระบัญญัติ 10 ประการว่า “จงนับถือบิดามารดา”...
ประโยคที่ดูเหมือนโหดร้ายของพระเยซูเจ้าทำให้เราตัดสินใจได้ยาก ว่า
- พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องมากเกินไป และไม่ทรงตระหนักว่ากำลังขออะไร...
- หรือพระเยซูเจ้า ไม่ทรงตระหนักถึงความเป็นจริงในชีวิตมนุษย์...
อันที่จริง พระเยซูเจ้าทรงถึงกับยืนยันว่าใครก็ตามที่ไม่ค้นพบพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็น “คนตาย” คำว่า “คนตาย” นี้เห็นได้ชัดว่ามีสองความหมายในประโยคเดียว ความหมายแรกเป็นความหมายปกติ หมายถึง “คนที่ตายจากไป” และพระเยซูเจ้าทรงกล้าพูดถึงบุคคลที่ยังไม่เคยพบพระองค์ว่าเป็น “คนตาย” ... พระองค์ทรงมองว่าใครก็ตามที่ไม่สนใจในเรื่องของพระเจ้า บุคคลนั้นไม่มีชีวิต...
ถูกแล้ว คำนี้ฟังยาก ... แต่เผยให้เรารู้ว่าศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะต้องเสียสละอย่างไรบ้าง
นี่คือการเผยแสดงของชีวิตแท้หนึ่งเดียว คือชีวิตของพระเจ้า ... ชีวิตของพระอาณาจักรของพระเจ้า...
อีกคนหนึ่งทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะตามพระองค์ไป แต่ขออนุญาตกลับไปร่ำลาคนที่บ้านก่อน” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดที่จับคันไถแล้วเหลียวดูข้างหลัง ผู้นั้นก็ไม่เหมาะสมกับพระอาณาจักรของพระเจ้า”
พระองค์เป็นใคร พระเจ้าข้า จึงขอให้ศิษย์ของพระองค์ถอนรากของตนเช่นนี้ แต่กระนั้น พระองค์ก็ทรงขอให้เรารักบิดามารดาของเรา และพระองค์ได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างด้วย การแสดงความรักต่อพระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงมอบหมายให้ยอห์น ศิษย์รักของพระองค์ดูแลพระนาง...
แต่การรับใช้พระอาณาจักรของพระเจ้าเรียกร้องให้เสียสละความสุขส่วนตัวในทันทีทันใด “ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าไปฝังศพบิดาของข้าพเจ้าเสียก่อน” ... “ขออนุญาตกลับไปร่ำลาคนที่บ้านก่อน” ... เหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผล คนเหล่านี้เป็นคนจริงจัง และมีเหตุผล เพราะเขาได้วางแผนชีวิตมาแล้วเป็นอย่างดี ... ก่อนอื่น ต้องดูแลเรื่องส่วนตัว จากนั้นจึงทำงานให้พระเจ้า ... ฉันเพิ่งจะจบปีการศึกษานี้ และฉันวางแผนการสำหรับวันหยุดไว้แล้ว เมื่อโรงเรียนเปิด ฉันจะไปพบพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง – ทีหลัง ... ไม่ใช่เวลานี้ ... ทุกวันอาทิตย์ ก่อนอื่น ฉันขอพักผ่อน จากนั้นฉันจะไปฝึกเล่นกีฬา แล้วฉันจะให้เวลาแก่ครอบครัว และเพื่อนฝูง ... หลังจากนั้น ฉันจึงจะไปฟังมิสซา ... ถ้ายังมีเวลาเหลือ...
วันนี้ พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งคำถามกับตารางเวลาของข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าคิดว่าอะไรสำคัญที่สุด ... ผิวพรรณของข้าพเจ้าหรือ ... สุขภาพของข้าพเจ้าหรือ ... หรือว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุด...
นักบุญเปาโลเชิญชวนเราว่า “อย่าเข้าเทียมแอกเป็นทาสอีกเลย” (กท 5:1)...