วันอาทิตย์ที่สิบหก เทศกาลธรรมดา
ลูกา 10:38-42
ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินพร้อมกับบรรดาศิษย์ พระองค์เสด็จเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง สตรีผู้หนึ่งชื่อมารธารับเสด็จพระองค์ที่บ้าน นางมีน้องสาวชื่อมารีย์ ซึ่งนั่งอยู่แทบพระบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้า คอยฟังพระวาจาของพระองค์ มารธากำลังยุ่งอยู่กับการปรนนิบัติรับใช้ จึงเข้ามาทูลว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ไม่สนพระทัยหรือที่น้องสาวปล่อยดิฉันคนเดียวให้ปรนนิบัติรับใช้ ขอพระองค์บอกเขาให้มาช่วยดิฉันบ้าง” แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสตอบว่า “มารธา มารธา เธอเป็นห่วงและวุ่นวายหลายสิ่งนัก สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว มารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุดที่จะไม่มีใครเอาไปจากเขาได้”
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
การฟัง
พระเยซูเจ้าทรงเดินทางด้วยพระทัยแน่วแน่ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และนี่คือห้วงเวลาที่พระองค์ทรงได้พักผ่อนในบ้านของมารธาและมารีย์ ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวสะมาเรียผู้ใจดีได้แสดงตัวอย่างของความรักที่แสดงออกด้วยกิจการ ในวันนี้ การฟังของมารีย์เป็นตัวอย่างของการใส่ใจกับองค์พระผู้เป็นเจ้า หรือการเพิ่มความลุ่มลึกให้แก่ความเชื่อของเราด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาของเรา
นาฬิกาดิจิตอลเป็นตัวอย่างของจิตใจของมนุษย์ยุคปัจจุบัน มันไม่เคยหยุดนิ่ง แต่วิ่งไล่ห้วงเวลาปัจจุบันอย่างเร่งรีบให้ทันทุกหนึ่งในร้อยของวินาที มันเร่งรีบไล่ตามเวลาปัจจุบันที่มันตามไม่เคยทัน จนกระทั่งลืมอดีตและอนาคต ไม่ต่างจากจิตใจมนุษย์ทุกวันนี้ที่คลั่งไคล้กับการแสวงหาประสบการณ์สำเร็จรูป แต่ขาดความอดทนและไม่สนใจบริบท ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิดปัญญา เมื่อเก้าสิบปีก่อนยุคดิจิตอล นักประพันธ์ชื่อโทมัส ฮาร์ดิง เคยรำลึกอย่างเสียดายถึงยุคสมัยที่นาฬิกาที่มีเพียงเข็มเดียวก็ใช้แบ่งวันเวลาของเราได้เพียงพอแล้ว เขาชอบบรรยายถึงถนนเล็ก ๆ ในชนบทที่ไม่ได้สร้างขึ้นให้มนุษย์เดินทางอย่างรีบร้อน และแสดงความเสียดายสิ่งที่ชีวิตสูญเสียไปเพื่อแลกกับความก้าวหน้าของสังคม ซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ดี ในขณะที่ ที. เอส. เอเลียต ก็รำพึงรำพันในทำนองเดียวกันถึงสิ่งที่เราสูญเสียเพื่อแลกกับความก้าวหน้าไว้ดังนี้
ความคิด และการกระทำที่วนเวียนเป็นวงจรไม่รู้จบ
การประดิษฐ์ที่ไม่รู้จบ การทดลองที่ไม่รู้จบ
สอนความรู้เรื่องการเคลื่อนที่ แต่ไม่ใช่ความนิ่ง
ความรู้เรื่องการพูด แต่ไม่ใช่ความเงียบ
สอนความรู้เรื่องวาจา และความไม่รู้เรื่องพระวาจา
(Choruses from the Rock)
การฟังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเสมอ พระผู้สร้างมองการณ์ไกล จึงทรงคาดหมายได้ล่วงหน้าว่าเราจะประสบปัญหานี้ พระองค์จึงทรงออกแบบร่างกายของเราให้มีสองหู และหนึ่งปาก และปากหนึ่งเดียวนี้ต้องทำหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เพื่อไม่ให้มันมีเวลาว่างเกินไปจนต้องพูดเรื่องไร้สาระ ส่วนหู ไม่ต้องทำหน้าที่อื่นใด นอกจากใช้แขวนขาแว่นตา หรือหนีบดินสอเป็นครั้งคราว โลกปัจจุบันที่ไม่เคยหยุดนิ่งกระหน่ำเราด้วยเสียงต่าง ๆ ทั้งจากภายนอกและภายใน โลกภายนอกหมุนผ่านเราไปอย่างรวดเร็ว เสียงถูกขยายจนเกินระดับที่บรรพบุรุษของเราต้องทนฟัง เสียงภายในตัวเรามาจากเสียงอึกทึกของความกดดัน และแรงกระตุ้น จริยธรรมบริโภคนิยมฝึกให้เราเปลี่ยนทุกความปรารถนาให้กลายเป็นแรงผลักดัน เปลี่ยนความต้องการให้กลายเป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้ แต่เสียงของพระอาจารย์บอกเราว่า “สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว”
สำหรับคนจำนวนมาก การภาวนาต้องเริ่มต้นด้วยการปลอบความคิดให้สงบ และหาพื้นที่ว่างสำหรับพระเจ้าในเวลาของเราและในความสนใจของเรา ความคิดและจิตใจของคนสมัยใหม่เหมือนกับสำนักงานไปรษณีย์หลังจากการนัดหยุดงาน เมื่อเราจัดการกับสิ่งที่เรารับเข้ามาในความคิดและจิตใจในวันนี้แล้ว ก็เริ่มมีความทรงจำ แรงกดดันที่ระบุชื่อไม่ได้ หรือแผนการที่ชวนให้สับสน ที่ยังค้างคาอยู่ และเรียกร้องให้เราสนใจ
ดังนั้น เราจึงอาจจำเป็นต้องเรียนรู้ศิลปะแห่งความเงียบ วิธีหนึ่งที่ดีคือเริ่มต้นด้วยการตั้งใจฟังเสียงที่เบากว่า ฟังเสียงที่ดังมาจากระยะไกลที่สุด ฟังเสียงของสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านมองไม่เห็น ฟังเสียงลม ... ฟังว่ามันดังเหมือนเสียงถอนใจ หรือเป็นเสียงซู่ซ่า ... เป็นเสียงครางเบา ๆ หรือพัดแรง หัดเรียนรู้ที่จะยินดีกับเสียงดังเปาะแปะของน้ำฝน ฟังเสียงนกร้องเพลง หรือกู่เรียกกันทุกวัน สังเกตเสียงติ๊กต๊อกของสิ่งต่าง ๆ และเสียงขยายตัว หรือหดตัวของท่อน้ำ
เสียงเบา ๆ เหล่านี้ช่วยให้เราได้ยินเสียงจังหวะชีวิตภายในตัวเรา ช่วยให้เรารับรู้จังหวะของลมหายใจ ... หายใจเข้า ... กลั้นหายใจ ... และหายใจออก จงเงี่ยหูฟังเสียงเต้นของหัวใจของท่าน หัวใจนี้ทำงานตลอดเวลาภายในตัวท่านโดยที่ท่านไม่สังเกต มันทำงานตลอดคืนที่ท่านนอนหลับ ... ตลอดเวลาที่ท่านตื่นขึ้นเมื่อเช้านี้และตลอดทั้งวัน ลมหายใจ และการเต้นของหัวใจของท่านสำคัญมากกว่าเรื่องหงุดหงิดกังวลใจนานัปการที่เรียกร้องให้ท่านสนใจอยู่ทุกวัน
การฝึกทำตัวให้สงบเงียบ และนิ่ง จะปรับสภาพของเราให้พร้อมสำหรับสวดภาวนา เมื่อนั้น เราจะสามารถฟังพระเจ้า ผู้ทรงมีวิธีการต่าง ๆ มากมายที่จะตรัสกับเรา สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “จงสงบนิ่ง” และจากนั้น “จงรู้ว่าเราคือพระเจ้า”
ข้อรำพึงที่สอง
ความสามารถเป็นผู้รับ
มื้ออาหารที่กล่าวถึงในพระคัมภีร์ บางครั้งกลายเป็นโอกาสให้เจ้าภาพค้นพบว่าเขาเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ อับราฮัม และซาราห์ ต้อนรับคนเดินทางอย่างเอื้อเฟื้อที่ต้นโอ๊กแห่งมัมเร แต่ทั้งสองจดจำวันนี้ได้เพราะของขวัญที่แขกของเขานำมามอบให้มากกว่า นั่นคือคำสัญญาจากพระเจ้าว่าเขาจะมีบุตรชายทั้งที่อยู่ในวัยชรา แม่ม่ายที่เมืองศาเรฟัท ผู้แบ่งอาหารกำมือสุดท้ายของตนให้แก่เอลียาห์ ก็ได้รับคำสัญญาว่า
แป้งในหม้อนั้นจะไม่หมด
น้ำมันในไหนั้นจะไม่ขาด (1 พกษ 17:14)
มารธา และมารีย์ ต้อนรับพระเยซูเจ้าในบ้านของตน นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ส่วนที่ดีกว่ากลับเป็นสิ่งที่แขกนำมาให้ มารีย์รับฟังถ้อยคำล้ำค่าที่พระวจนาตถ์ตรัสแก่นาง การปรนนิบัติรับใช้ของมารธามีประโยชน์ และเป็นบทบาทที่จำเป็นที่สุด ตราบใดที่มันไม่กลายเป็นปมจนสร้างปัญหา
คนทั้งหลายที่มี “ปมมารธา” เป็นบุคคลที่ไม่สามารถยอมรับอะไรได้ง่าย นั่นทำให้ชีวิตยากไร้มากขึ้น ถ้าท่านมอบของขวัญแก่เขาอย่างหนึ่ง เขาจะกระวนกระวายใจจนกระทั่งเขาสามารถตอบแทนท่านได้ในระดับที่เท่าเทียมกัน และเขามักตอบแทนให้มากยิ่งกว่าด้วย เขาจะค้นพบบางสิ่งที่จำเป็นสำหรับท่าน ซึ่งท่านเองไม่เคยคิดว่าจำเป็น! เขาพร้อมจะกล่าวคำยกย่องสรรเสริญ แต่ไม่อยากได้ยินคำสรรเสริญจากผู้อื่น แต่ถ้าเขาไม่ได้ยินคำสรรเสริญ เขาจะเสียใจมาก เขาเป็นคนแรกที่จะลงมือทำงาน แต่เขาจะไม่สบายใจเลยถ้าต้องรอคอยอย่างอดทนให้ใครทำอะไรให้ เขาเชื่อมั่นว่าเขาไม่มีอะไรต้องเรียนรู้นอกจากความรู้ที่หามาได้ง่าย ๆ และรวดเร็ว เราทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติที่ยับยั้งตนเองไม่ได้ จะได้รับประโยชน์มากทีเดียว และทำให้ชีวิตมีความสมดุล ถ้าเราจะมีทัศนคติว่า “ปล่อยให้ผู้อื่นทำอะไรเพื่อเราบ้าง”
วันสำหรับพักผ่อน และเวลาที่เราอยู่อย่างเงียบ ๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด แม้ว่าอาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ง่ายเสมอไป การเล่นอาจกลายเป็นการฟื้นฟูตนเองได้อย่างแท้จริง เสนอวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ให้แก่ชีวิต และเพิ่มกำลังวังชาให้แก่เราได้ เราควรให้ผู้อื่นมีโอกาสรับใช้เรา และเป็นผู้ให้แก่เรา เราจะรู้สึกดีถ้าเรา
“... ออกไปเดินบนถนน โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง
เดินผ่านทุ่งหญ้า และหมู่บ้าน
... โดยไม่รู้ว่าจะไปไหน หรือไปทำไม” (John Masefield)
การปล่อยมือจากการควบคุม และยอมหลงทางบ้างเป็นครั้งคราวนั้นมีประโยชน์ เช่นเดียวกับการค้นพบเวลาว่าง และรู้จักทำตัวเป็นคนยากไร้ เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาเยือนชีวิตของเรา สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในห้วงเวลาอันมีค่านั้นก็คือการรู้ว่าเราจะฟัง และรับของขวัญจากพระองค์อย่างไร
บทรำพึงที่ 2
พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินพร้อมกับบรรดาศิษย์ พระองค์เสด็จเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
เราไม่ควรลืมว่า “หนทาง” ที่เรากำลังเดินตามพระเยซูเจ้านั้นมีลักษณะอย่างไร
หนทางนี้ยังเป็น “ทางขึ้น” ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ลูกาให้ความสำคัญมากกับการเดินทางครั้งนี้มาก ซึ่งยาวถึงสิบบท (ลก 9:51-19:28) ... ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สิบสาม เราเห็นพระเยซูเจ้าเริ่มออกเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม (ลูกา 9:51) ไม่นานหลังจากที่ศิษย์ของพระองค์ยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สิบสี่ เราเป็นพยานว่าพระเยซูเจ้าทรงส่งศิษย์ 72 คน ออกไปปฏิบัติพันธกิจ (ลูกา 10:1-20) และในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรากำลังเดินทางไปยังเมืองเยรีโค ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็ม 30 กม. และได้ฟังอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี (ลก 10:25-37) ... วันนี้ เรามาหยุดพักกันที่หมู่บ้านนิรนาม ซึ่งอันที่จริงคือหมู่บ้านเบธานี ที่ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองหลวงสามกิโลเมตร ระหว่างทาง พระเยซูเจ้าตรัสสอนหลายสิ่งหลายอย่างกับเพื่อน ๆ ของพระองค์ เพื่อเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับอนาคต เมื่อพระองค์จะไม่อยู่กับเขาอีกต่อไป และทำให้เราเห็นความสำคัญของเหตุการณ์และถ้อยคำเหล่านี้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ของพระองค์...
วันนี้ เราจะได้เห็นการต้อนรับอันอ่อนโยนด้วยความรัก
ก่อนหน้านั้น ชาวสะมาเรียในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ยินดีต้อนรับพระเยซูเจ้า แต่ในวันนี้พระองค์ทรงพบกับความเอื้อเฟื้อในบ้านหลังหนึ่ง เรายินดีที่รับรู้ว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงถูกปฏิเสธเสมอไป และพระองค์ไม่ต้องเร่ร่อนตลอดเวลาโดยไม่มีที่พักผ่อน และนั่งลงพูดคุยกันอย่างไม่รีบร้อน เวลาที่พระองค์อยู่กับมิตรสหายไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่า
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนยอดเนินข้างถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่น เป็นบ้านที่พระเยซูเจ้าทรงรู้จักดี ใกล้หน้าต่างไม้ระแนง ต้นแอปเปิลกำลังออกดอกส่งกลิ่นหอม (เวลานั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิ เพราะใกล้ถึงเทศกาลปัสกาแล้ว) พระเยซูเจ้าทรงเคาะประตู ประตูเปิดออก “ชาลอม ดีใจจริง ๆ เชิญเข้ามาข้างในเถิด”...
สตรีผู้หนึ่งชื่อมารธา รับเสด็จพระองค์ที่บ้าน นางมีน้องสาวชื่อมารีย์
หญิงสองคนนี้มีพี่ชายชื่อลาซารัส
พระวรสารกล่าวถึงบุคคลในครอบครัวนี้สามครั้ง ในเหตุการณ์ที่บรรยายจนมองเห็นภาพได้ว่าแต่ละคนมีอุปนิสัยอย่างไร ซึ่งเหมือนเดิมในแต่ละเหตุการณ์ กล่าวคือ มารธาเป็นคนที่ไม่เคยอยู่นิ่ง และมารีย์เป็นคนเงียบขรึม นักบุญยอห์น บอกเราสั้น ๆ ว่า “พระเยซูเจ้าทรงรักมารธา กับน้องสาว และลาซารัส” (ยน 11:5) และเมื่อลาซารัสตาย ยอห์นบอกว่าพระเยซูเจ้าทรงร้องไห้ อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่พระเยซูเจ้ากำลังเสวยอาหาร มารีย์ก็นั่งอยู่ “แทบพระบาทของพระเยซูเจ้า” (ยน 12:2-3)
ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีมิตรสหาย และมิตรสหายบางคนเป็นสตรี พระองค์เสด็จกลับมาที่บ้านของเขาทุกเย็นตลอดสัปดาห์สุดท้ายในชีวิตของพระองค์ (มธ 21:7, 22:6; มก 11:11; ยน 11:14-18, 12:1; ลก 19:29) นี่คือสถานที่หนึ่งซึ่งพระองค์ทรงสัมผัสกับมิตรภาพแท้อันงดงาม...
ในหนังสือวิวรณ์ ยอห์น ใช้ภาพลักษณ์นี้บรรยายว่าชีวิตคริสตชนเป็นอย่างไร “ด๔เถิด เรากำลังยืนเคาะประตู ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของเรา และเปิดประตู เราจะเข้าไปกินอาหารร่วมกับเขา เขาจะกินอาหารร่วมกับเรา” (วว 3:20) ...
มารีย์นั่งอยู่แทบพระบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้า คอยฟังพระวาจาของพระองค์ มารธากำลังยุ่งอยู่กับการปรนนิบัติรับใช้...
นี่เป็นภาพที่น่าชมมาก เราควรเพ่งพินิจภาพเหตุการณ์นี้เงียบ ๆ ให้นานเท่าที่เป็นไปได้ ... เช่น ขอให้เราพยายามนึกภาพว่าเราอยู่ในห้องนั้นด้วย และมองดูกิริยา ความเคลื่อนไหว ฟังเสียง ดมกลิ่น สังเกตสีสันต่าง ๆ ความเงียบ ใบหน้า และสัมผัสหัวใจของทุกคน...
พระเยซูเจ้าตรัสกับมารีย์ ผู้นั่งพับเพียบบนพื้นใกล้พระบาทของพระองค์ ... นางกำลังฟัง ... ทั้งสองคนกำลังพูดเรื่องอะไรกัน ... น้ำเสียงของพระเยซูเจ้าเป็นอย่างไร ... พระองค์กำลังเล่าเรื่องชาวสะมาเรียใจดีให้นางฟังหรือเปล่า ... พระองค์กำลังสั่งสอนเรื่องความสุขแท้อีกครั้งหนึ่งหรือเปล่า เพราะนางยังไม่เคยได้ยิน ... พระองค์กำลังตรัสย้ำอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยหรือเปล่าว่าพระองค์ทรงคิดว่าอะไรนำความสุขแท้มาให้เรา ... โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะคิดว่าพระองค์กำลังตรัสเบา ๆ กับมารีย์ เรื่องความลับของการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระองค์...
พระองค์ทรงเดินทางขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อเป้าหมายนี้ไม่ใช่หรือ พระองค์ทรงกำลังครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ หลายครั้งหลายหนที่พระองค์ได้พยายามระบายความกังวลใจกับศิษย์ของพระองค์ แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่เข้าใจ แต่กับมารีย์ มิตรภาพจะไม่ทำให้นางเข้าใจพระองค์ได้ง่ายกว่าหรือ ... เรารู้ได้จากพระวรสารของมาระโก และมัทธิว ว่าหญิงผู้นี้เข้าใจดีกว่าผู้อื่นในธรรมล้ำลึกของความตาย การฝังพระศพ และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า อีกไม่นาน ไม่กี่วันก่อนปัสกา พระเยซูเจ้าจะเสด็จมาที่เบธานีอีกครั้งหนึ่ง มาที่บ้านของมารีย์ และนางจะชโลมพระกายของพระองค์ล่วงหน้าด้วยน้ำมันหอม...
พวกสตรีจะไม่สามารถชโลมพระศพได้ใน “วันต้นสัปดาห์” เมื่อพวกนางไปที่พระคูหาฝังศพ และพบพระคูหาว่างเปล่า แต่ดูเหมือนว่ามารีย์ได้ทำหน้าที่นี้ล่วงหน้าแล้วด้วยความรู้สึกอันละเอียดอ่อน พระเยซูเจ้าทรงยอมรับเองว่า “นางได้ทำสิ่งที่นางทำได้แล้ว นางชโลมกายของเราล่วงหน้าก่อนจะถึงเวลาฝังศพ” (มก 14:8) “ปล่อยให้นางเก็บน้ำมันหอมนี้ไว้สำหรับวันฝังศพของเรา ... เราจะไม่อยู่กับท่านตลอดไป” (ยน 12:8)
มารธาจึงเข้ามาทูลว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ไม่สนพระทัยหรือที่น้องสาวปล่อยดิฉันคนเดียวให้ปรนนิบัติรับใช้ ขอพระองค์บอกเขาให้มาช่วยดิฉันบ้าง”
การเข้ามาแทรกของมารธา ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างสองพี่น้องนี้ ก่อนที่เราจะฟังคำตอบของพระเยซูเจ้า เราต้องชมเชยมารธา โดยไม่ลดคุณค่าของนาง เราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบมารธากับมารีย์ มารธาเป็นคนชอบช่วยเหลือ และการรับใช้ของนางเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ พระเยซูเจ้าทรงได้รับการถวายเกียรติจากทุกกิจการที่กระทำด้วยความรัก ซึ่งนางกระทำเพื่อรับใช้ผู้อื่น “ท่านให้เรากิน ... ท่านให้เราดื่ม ... เชิญมาเถิด ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา” (มธ 25:34)...
พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ายกถวายแด่พระองค์งานบ้านมากมายที่หญิงทั่วทั้งโลกในทุกอารยธรรมทำอยู่ทุกวัน แม้เป็นงานที่ต่ำต้อย แต่ก็กระทำด้วยความรัก...
แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสตอบว่า...
เราอดสังเกตไม่ได้ว่าลูกาเรียกพระเยซูเจ้าเต็มยศถึงสามครั้งว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกพระคริสตเจ้าหลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนั้น คำบอกเล่านี้จึงไม่มีจุดประสงค์ที่จะบรรยายเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะบรรยายไว้อย่างชัดเจนเท่าไรก็ตาม นี่คือการเผยแสดงอีกครั้งหนึ่ง องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริรุ่งโรจน์กำลังจะตรัส พระวาจาของพระองค์เป็นเรื่องสำคัญ และเราต้องรับฟังด้วยความเชื่อ คำบรรยายทั้งหมดในเรื่องนี้ปูทางมาสู่คำสั่งสอนต่อไปนี้
“มารธา มารธา เธอเป็นห่วง และวุ่นวายหลายสิ่งนัก
เราอาจคาดหมายว่าพระเยซูเจ้าจะทรงเตือนมารีย์ให้แสดงน้ำใจต่อพี่สาวของนางบ้าง บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงเตือนมนุษย์ให้รับใช้ และให้รัก แต่เห็นได้ชัดว่าคำตอบของพระองค์ในโอกาสนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่านั้น
พระเยซูเจ้าทรงเห็นว่ามารธากังวล และวุ่นวายมากเกินไป นี่เป็นหัวข้อที่พระองค์มักเทศนาสั่งสอน พระองค์ทรงเคยกล่าวแล้วว่า “ความกังวล” ในชีวิตนี้อาจบีบรัดพระวาจาที่หว่านลงในหัวใจมนุษย์ได้” (ลก 8:14) พระองค์จะทรงขอร้องอัครสาวกของพระองค์มิให้กังวลเรื่องอาหารและเสื้อผ้า (ลก 12:22-26) และธรรมทูตของพระองค์ไม่ควรเตรียมหาคำแก้ตัวเมื่อถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล (ลก 21:14)
เพื่อนเอ๋ย อย่าลืมสิ่งสำคัญ ... พระเยซูเจ้าตรัสไว้เช่นนี้...
พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงตำหนิมารธาที่นางปรนนิบัติรับใช้ หรือทรงปฏิเสธการต้อนรับอย่างอบอุ่นของนาง แต่ทรงตำหนิที่นางตื่นเต้นวุ่นวาย และกังวลมากเกินไป เป็นความจริงที่ความเครียดทำให้เราคิดถึงแต่ตัวเอง...
ขอให้เรารับฟังคำเชิญขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้เราชะลอความเร็วลงสักหน่อยเถิด เราวิ่ง เรารีบร้อน และวุ่นวายกับสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา ... เราต้องมีเวลาผ่อนคลายอย่างจริงจังเพื่อเรียกสติกลับคืนมา เพื่อจะมีชีวิต แทนที่จะเร่งรีบ...
เพื่อนเอ๋ย เรายืนยันคำเดิม จงอย่าลืมสิ่งที่จำเป็น ... พระเยซูเจ้าตรัสไว้เช่นนี้
สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว มารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุดที่จะไม่มีใครเอาไปจากเขาได้”
อะไรคือ “สิ่งจำเป็นหนึ่งเดียว” นี้...
นั่นคือสิ่งที่มารีย์กำลังทำอยู่ในเวลานั้น “นั่งอยู่แทบพระบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้า คอยฟังพระวาจาของพระองค์” ... คำยืนยันว่านี่คือสิ่งเดียวที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ นี่คือการเผยแสดง ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยในเหตุการณ์นี้ พระวาจาของพระเจ้าควรสำคัญสำหรับเรามากกว่าความห่วงใยเรื่องฝ่ายโลก ในโอกาสอื่นเช่นกันที่พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราถึงความจำเป็นเดียวกันนี้ “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น” (ลก 4:4) “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 4:34)...
เพื่อนเอ๋ย อย่าลืมสิ่งที่จำเป็น ... พระเยซูเจ้าตรัสไว้เช่นนี้...
ดังนั้น พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงลดคุณค่างานรับใช้ของมารธา เมื่อนางวุ่นวายกับการปรุงอาหาร และเสริฟอาหาร แต่เราจำเป็นต้องสละแม้แต่คุณค่าอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ เพื่อติดตามพระเยซูเจ้า (ลก 5:11, 18:22, 9:62)...
ดังนั้น หน้าที่แรกของมนุษย์ และของคริสตชน ก็คือรับฟังพระวาจาของพระเจ้า พระเยซูเจ้าถึงกับทรงบอกเราว่านี่คือความจำเป็นหนึ่งเดียวที่สำคัญที่สุด และไม่ใช่ครั้งแรก หรือครั้งสุดท้าย ที่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันเช่นนี้ การไม่ฟังพระวาจาก็เหมือนการสร้างบ้านบนทราย (ลก 6:47-49) ความสุขแท้ของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่การได้รับเลือกให้เป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า แต่เพราะพระนาง “ฟังพระวาจาของพระเจ้า และปฏิบัติตาม” (ลก 11:27-28) ลูกา ต่างจากผู้นิพนธ์พระวรสารคนอื่น ๆ เขาบอกอย่างชัดเจนว่าพระวาจาของพระเยซูเจ้าก็คือพระวาจาของพระเจ้า (ลก 5:1, 8:11, 21, 11:28)...
เราชอบฟังพระวาจามากเพียงใด...
การฟังพระวาจาเป็น “ส่วนที่ดีที่สุด” ในวันของเราหรือเปล่า...
อะไรที่เราถือว่าสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ในชีวิต ... อะไรคือสิ่งจำเป็น...