แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ยี่สิบสาม เทศกาลธรรมดา

ลูกา 14:25-33
    ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินไปกับพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้ ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้เช่นเดียวกัน”
    “ท่านที่ต้องการสร้างหอคอย จะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างให้เสร็จหรือไม่ มิฉะนั้นเมื่อวางรากฐานไปแล้ว แต่สร้างไม่เสร็จ ทุกคนที่เห็นจะหัวเราะเยาะเขา พูดว่า ‘คนนี้เริ่มก่อสร้าง แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้’ หรือกษัตริย์ที่ทรงยกทัพไปทำสงครามกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง จะไม่ทรงคำนวณก่อนหรือว่า ถ้าใช้กำลังพลหนึ่งหมื่นคน จะเผชิญกับศัตรูที่มีกำลังพลสองหมื่นคนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยังอยู่ห่างไกล พระองค์จะได้ทรงส่งทูตไปเจรจาขอสันติภาพ ดังนั้นทุกท่านที่ไม่ยอมสละทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
การตอบสนองแบบไม่เต็มใจย่อมไม่เพียงพอ

    ลูกาเสนอภาพว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้มีความเมตตา ทรงเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และอ่อนโยน แต่เมื่อพูดถึงทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าเป็นสมบัติทางอารมณ์ หรือวัตถุ พระองค์ทรงเข้มงวดมาก พระองค์ทรงยืนยันให้เราเลือกพระคริสตเจ้าก่อนความผูกพันอื่นใด

    บางส่วนของพระวรสารประจำวันนี้อาจทำให้เรามีปัญหาในการตีความ การไม่รักครอบครัวของเราเองหมายความว่าอะไร ศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องสละเงินทองจนเหรียญสุดท้ายหรือ เราต้องปฏิบัติตามคำตักเตือนเหล่านี้ตามตัวอักษรเลยหรือ หรือว่าเราควรเข้าใจว่านี่คือศิลปะการเทศน์สอนที่เสนอทางเลือกง่าย ๆ ให้แก่ผู้ฟัง โดยผู้เทศน์สอนไม่ลังเลที่ใช้วิธีพูดเกินความจริง

    กฎข้อแรกในการตีความพระคัมภีร์ คือ ให้เปรียบเทียบข้อความนั้นกับส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ มีหลายข้อความที่พระคัมภีร์สอนเราให้รักผู้อื่น แม้แต่รักศัตรู จนเราไม่อาจตีความข้อความนี้ว่าให้เราเกลียดครอบครัวของเรา แต่หมายความว่าเราต้องเลือกกระแสเรียกของพระคริสตเจ้าเป็นอันดับแรกก่อนความรักต่อครอบครัว หากว่าความรักต่อครอบครัวขัดขวางไม่ให้เราปฏิบัติตามหลักการของคริสตศาสนา

    สำหรับประเด็นที่ให้สละทุกสิ่งทุกอย่าง และสมัครใจถือความยากจน พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องเช่นนี้จากบุคคลหนึ่งคือเศรษฐีหนุ่ม แต่เราก็เห็นด้วยว่าพระเยซูเจ้าทรงยอมรับความเอื้อเฟื้อจากมิตรสหาย และเจ้าของบ้านที่ร่ำรวยบางคน โดยที่ไม่ทรงเรียกร้องให้เขาขายทรัพย์สินทั้งหมดที่เขามี พระองค์ถึงกับปกป้องการกระทำอันฟุ่มเฟือยของมารีย์แห่งเบธานี เมื่อนางใช้น้ำมันหอมเจิมพระบาทของพระองค์

    ประเด็นที่พระเยซูเจ้ากำลังบอกเราก็คือ การติดตามพระองค์อาจยากลำบากและต้องเสียสละ ศิษย์พระคริสต์ต้องยกให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ศิษย์พระคริสต์ต้องพร้อมจะสละทรัพย์สมบัติใด ๆ ความผูกพันกับครอบครัว ความสัมพันธ์ส่วนตัว ความทะเยอทะยาน หรืออาชีพ ถ้าสิ่งเหล่านี้สวนทางกับวิถีทางของพระคริสตเจ้า

    บทสดุดีบอกว่า “ข้าพเจ้าไม่รักคนที่ไม่ให้จนหมดหัวใจ ความรักของข้าพเจ้าอุทิศให้บทบัญญัติของพระองค์”

    คนจำนวนมากพากันมาหาพระเยซูเจ้า พวกเขามาเพราะอยากรู้อยากเห็น มาขอความช่วยเหลือ มาเพราะต้องการใช้พระองค์เป็นเครื่องมือทางการเมือง และด้วยเหตุผลอื่น ๆ อีกมาก ถึงเวลาแล้วที่พระองค์ต้องบอกเขาตามตรงว่า การติดตามพระองค์นั้นยากลำบาก และต้องเสียสละ จะต้องไม่มีการสละแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เหมือนหอคอยที่สร้างไม่เสร็จ หรือการทำสงครามด้วยกำลังพลเพียงครึ่งกองทัพ เหมือนเรื่องตลกสมัยก่อนเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เปิดประตูข้ามทางรถไฟเพียงหนึ่งบาน เพราะเขามีความคาดหวังเพียงครึ่งเดียวว่ารถไฟจะมา

    ข้อเรียกร้องที่ยาก ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของศาสนาคริสต์นี้ สวนกระแสวัฒนธรรมที่ผ่อนปรนของยุคปัจจุบันที่เรียกร้องให้มนุษย์ตอบสนองความปรารถนา หรือความรู้สึกทุกอย่างของตน จิตวิทยาสมัยใหม่สอนให้มนุษย์ถือว่าการตอบสนองความปรารถนาของตนเองเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และสอนให้ระแวงว่าการปฏิเสธตนเองโดยสมัครใจเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่ง มนุษย์สมัยใหม่ไม่ค่อยเข้าใจผู้ที่เลือกชีวิตฝ่ายจิตก่อนเลือกชีวิตฝ่ายกาย เราไม่ยอมรับคำสั่งของผู้มีอำนาจหน้าที่เพราะถือว่าเป็นความพยายามรุกรานสิทธิส่วนตัวของเรา เพราะเหตุนี้ เราจึงละเลยกฎเกณฑ์ และหลักการกันง่าย ๆ ในวันที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนบทรำพึงอยู่นี้ ข้าพเจ้าได้ยินข่าวทางวิทยุเกี่ยวกับพระสงฆ์คนหนึ่งที่เพิ่งจะแต่งงาน และต้องการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณให้สัตบุรุษ เสียงของประชาชนที่ผู้สื่อข่าวรายงานเสนอประโยคฉลาด ๆ เช่น “เขาเป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ เขาควรได้รับอนุญาตให้ทำอย่างที่เขาต้องการทำ”

    ความคิดของคนยุคนี้มักคล้อยตามเสียงคนหมู่มาก เขาพยายามบอกเราว่าจำนวนมากเป็นเครื่องหมายของความยิ่งใหญ่ เราตัดสินว่าดนตรีดีหรือไม่จากความนิยม และบอกว่าหนังสือที่ติดอันดับหนังสือขายดีต้องเป็นวรรณกรรมชั้นยอด เราควรระลึกว่าพระวรสารบอกเล่าถึงการตัดสินใจครั้งหนึ่งที่กระทำตามจำนวนผู้ออกเสียง นั่นคือวันที่บารับบาสได้รับการปล่อยตัว และพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขน กล่องคะแนนเสียงในวันนี้มีอิทธิพลมากกว่าหลักศีลธรรมที่ปราศจากอคติ แต่เรื่องของความจริง หรือหลักศีลธรรมนั้นสำคัญเกินกว่าจะตัดสินโดยการสำรวจความคิดเห็น

    พระเยซูเจ้าทรงเตือนผู้ที่ต้องการติดตามพระองค์ว่า ก่อนที่เขาจะเรียกตนเองว่าศิษย์พระคริสต์ เขาควรนั่งลง และคำนวณความยากลำบากในการปฏิบัติตามหลักการของคริสตศาสนา บางครั้ง ความนบนอบ และความซื่อสัตย์ก็ทำร้ายความรู้สึกส่วนตัว ความสัมพันธ์ หรืออาชีพการงาน ศิษย์แท้ของพระคริสตเจ้าต้องเลือกพระประสงค์ของพระเจ้า หรือหลักการของคริสตศาสนาก่อนเสมอ
    ในหนังสือวิวรณ์ มีข้อความที่ประณามคนที่พยายามเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ว่า “เรารู้จักกิจการของท่าน รู้ว่าท่านไม่เย็นไม่ร้อน ท่านจะเย็น หรือร้อนไปเลยก็จะดีกว่า แต่ท่านมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะท่านอุ่น ๆ ไม่เย็นไม่ร้อน เรากำลังจะคายท่านออกจากปากของเรา” (วว 3:15-16)

ข้อรำพึงที่สอง
การสละ
“ฉันอยากติดตามพระเยซูเจ้า ฉันจะต้องสละอะไรมากไหม”

    ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินทางตามพระเยซูเจ้า พวกเขามาจากทุ่งนาและหมู่บ้าน มาหาพระองค์เพราะเหตุจูงใจต่าง ๆ กัน พวกเขาอยากเห็นด้วยตาตนเองบุคคลที่ผู้อื่นกล่าวขวัญถึง พวกเขาตื่นเต้นกับเครื่องหมายอัศจรรย์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเวลานั้นดึงดูดพวกเขามาหาพระองค์ บางคนมาแสวงหาปรีชาญาณและทางออกสำหรับปัญหา บางคนหวังว่าจะได้รับการรักษาโรค และบางคนมาพร้อมกับความฝันทางการเมือง แต่พระเยซูเจ้าผู้ทรงอ่านใจเขาได้ไม่ทรงหลงไปกับขนาดของฝูงชน พระองค์ตรัสกับเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าการเดินตามทางของพระองค์นั้นยากลำบากอย่างไร

    คนจำนวนมากในปัจจุบันแสดงความนิยมชมชอบในตัวพระเยซูเจ้าที่พระองค์ทรงมีความสงสาร และทรงพร้อมจะช่วยเหลือประชาชน ทรงความยุติธรรม และซื่อสัตย์สุจริต แต่หลายคนดูเหมือนไม่สังเกตว่าพระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นโดยไม่ประนีประนอม และพระองค์ทรงเรียกร้องการเสียสละจากคนที่เชื่อฟังพระองค์

    แม้แต่สิ่งดี ๆ ในชีวิตก็ต้องยอมสละถ้าสิ่งดีเหล่านั้นขัดขวางสิ่งที่ดียิ่งกว่า ชัยชนะในการสอบ ในการแข่งขันกีฬา และความสำเร็จ ทุกอย่างได้มาด้วยการเสียสละบางสิ่งบางอย่าง เราต้องสมัครใจตัดความสัมพันธ์อันมีค่ากับคนในครอบครัว ถ้าความสัมพันธ์เหล่านี้ขัดขวางการเดินทางแสวงบุญของเรา ชีวิตของนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซิซี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าบิดาหรือมารดาสามารถเป็นอุปสรรคไม่ให้คนเราติดตามกระแสเรียกของพระคริสตเจ้าได้ บิดาของเขาบีบบังคับจนฟรังซิส ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากประกาศอิสรภาพจากสิทธิใด ๆ ที่บิดาสามารถอ้างสิทธิในตัวเขาได้ “ตราบจนเวลานี้ข้าพเจ้าเรียกปีเตอร์ เบอร์นาโดเน ว่าบิดาของข้าพเจ้า แต่บัดนี้ ข้าพเจ้าสามารถเรียกได้เต็มปากว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของเราในสวรรค์’ ”

    การเป็นศิษย์พระคริสต์นั้นยากเย็นจนพระศาสนจักรยุคต้นเริ่มเรียกวิถีทางนี้ว่าเป็นการแบกกางเขนเพื่อติดตามพระเยซูเจ้า และเขารู้ดีว่ากางเขนหมายถึงอะไร เขาต้องมีความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นซึ่งเกิดจากความวางใจอย่างตาบอดในพระเจ้า

    เราไม่สามารถไว้ใจความเข้าใจ และความรู้สึกของเรา เพราะด้วยความอ่อนแอ เราจึงอาจหลงผิดได้ หนังสือปรีชาญาณบอกเรา (ในบทอ่านที่หนึ่งประจำวันนี้) ว่า “การคิดด้วยเหตุผลของมนุษย์ที่รู้จักตายหาความแน่นอนไม่ได้ และเจตนาของเราก็ไม่มั่นคง เพราะร่างกายที่รู้จักเน่าเปื่อยนี้กดขี่วิญญาณ และกระโจมดินเหนียวนี้ถ่วงจิตใจที่สับสน” จิตใจเต็มไปด้วยความคิดหมกมุ่นมากมายจนเราต้องตัดใจ เพื่อให้จิตใจเรามีที่ว่างสำหรับพระเจ้า
    เราต้องตัดใจจากการครอบครองทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ สมบัติทางอารมณ์ หรือแม้แต่สมบัติฝ่ายจิต ซึ่งจะลดความสามารถของเราที่จะพูดว่า “พระเจ้าทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของข้าพเจ้า ในพระองค์เท่านั้นหัวใจของข้าพเจ้าจึงได้พักผ่อน”

    บางคนที่เดินไปกับพระเยซูเจ้าตลอดเส้นทางได้บันทึกประสบการณ์ของเขาไว้อย่างลึกซึ้ง เขาสรุปว่าทางนี้เป็นทางที่ต้องสละ ... “ไม่น้อยกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง” (ที.เอส.เอเลียต: Little Gidding)

บทรำพึงที่ 2

ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินไปกับพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาตรัสกับเขาทั้งหลายว่า

    เรายังอยู่ระหว่างการเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ลูกานำรายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มารวมไว้ภายใต้หัวข้อเดียวกัน

    ข้อความตอนนี้ไม่ใช่รายงานข่าวเหมือนกับที่เราอ่านจากหนังสือพิมพ์ แต่เป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของพระเยซู คริสตเจ้าสำหรับคนทุกยุคสมัย ประชาชนจำนวนมากที่เดินตามพระเยซูเจ้าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชาวปาเลสไตน์สองสามร้อยคนในยุคนั้นเท่านั้น แต่หมายถึงชายหญิงจำนวนมหาศาลผู้เริ่มต้นการเดินทางของตนเองไปพร้อมกับพระเยซูเจ้าตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงหันพระพักตร์มาตรัสกับเราในวันนี้ และทรงถามเราสองสามข้อ ... “ท่านประกาศตัวเป็นศิษย์ของเรา แต่ท่านรู้จริงหรือว่าการเป็นศิษย์ของเราหมายถึงอะไร ... ท่านรู้หรือไม่ว่าการติดตามเราจะนำท่านไปที่ใด”...

“ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้”

    ข้อเรียกร้องแรกของพระเยซูเจ้าน่าตกใจ และเป็นข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรายังต้องการข้อพิสูจน์ ว่าเยซูชาวนาซาเร็ธผู้นี้ รู้ตัวดีว่าตนเองเป็นบุคคลพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ... คำที่ใช้ในภาษาฮีบรูคือ “เกลียด” ซึ่งแปลว่า “รักน้อยกว่า” แต่พระเยซูเจ้าเป็นใครกัน (ถ้าพระองค์ไม่ใช่คนเสียสติ) จึงกล้าขอให้มนุษย์ทุกคนตัดใจจากความรักต่าง ๆ และหันมารักพระองค์ผู้เดียว ... เพลงภาษาฝรั่งเศสบทหนึ่งกล่าวว่า...
    ใครบ้างเข้าใจภาษาของดวงดาว
    ใครบ้างคาดเดาเสียงดนตรีของวิญญาณ
    ใครจะมีหัวใจที่หลุดพ้นมากพอ
    จนอยากเลือกพระอาจารย์มากกว่าผู้อื่น และย่ำเท้าตามหลังพระองค์
    ผู้ทรงเป็นพระวาจาแห่งชีวิต...

    หัวใจที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งเท่านั้นสามารถเข้าใจพระเยซูเจ้า...
    พระเยซูเจ้าทรงเป็นประกาศกผู้เทศน์สอนให้รัก และมิใช่ให้เกลียดอย่างแน่นอน พระวาจาของพระองค์ไม่ได้หมายความว่าเราต้องตัดความสัมพันธ์กับครอบครัวของเรา พระองค์ไม่ได้เสนอเหตุผลให้เราเห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม พระองค์ทรงเรียกเราให้ตัดใจจากตนเอง ประเด็นสำคัญคือเราเลือกพระเยซูเจ้าแทนที่จะเลือกชีวิตของเราหรือเปล่า ... ดังนั้น พระองค์จึงไม่ได้เชิญชวนเราให้ตัดความสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของมนุษย์อย่างเห็นแก่ตัว (ความรักของบุตรต่อบิดามารดา ความรักระหว่างสามีภรรยา และความรักต่อพี่น้อง) แต่ทรงเชิญชวนเราแต่ละคนให้ยินยอมให้ความรักอันสมบูรณ์ของพระเจ้าแทรกเข้ามาในความรักฉันมนุษย์เหล่านี้ และทำให้ความรักเหล่านี้มีชีวิต แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้อง “ละทิ้งบ้านเรือน ภรรยา พี่น้อง บิดามารดา หรือบุตร เพราะเห็นแก่พระอาณาจักรของพระเจ้า” (ลก 18:29) พระเยซูเจ้าเองทรงตัดใจจากครอบครัวของพระองค์ก่อนจะทรงเรียกร้องให้เราทำเช่นเดียวกัน เมื่อพระองค์ทรงอุทิศเวลาเดินทางเทศน์สอนข่าวดี (ลก 8:19-21, 11:27-28)

ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตน และติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้เช่นเดียวกัน

    คำว่า “แบกกางเขน” และ “ติดตามเรา” จึงไม่ได้หมายถึงการละทิ้ง แต่หมายถึงความรัก...

    ผู้ใดพบพระเยซูเจ้าแล้ว ย่อมค้นพบคุณค่าที่ทำให้เขามีความสุขได้ในทุกสถานการณ์ ความเจ็บปวดทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตสามารถกลายเป็นความสนิทสัมพันธ์ที่เกิดจากความรัก ทุกคนที่กำลังแบกกางเขน กำลังเดินตามพระเยซูเจ้า ผู้ทรงแบกกางเขนมาก่อนใคร ... ขณะที่เราล้มลุกคลุกคลานภายใต้การทดลองต่าง ๆ ของเรา ขอเพียงให้เราคิดว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราอย่างใกล้ชิด ทรงเดิน และล้มลุกคลุกคลานไปพร้อมกับเราตามทางแห่งกางเขน ไปสู่ความยินดีอันยิ่งใหญ่แห่งการกลับคืนชีพ! ... ซีโมนชาวไซรีน ผู้แบกกางเขน “ตามหลังพระเยซูเจ้า” คือภาพลักษณ์ของศิษย์แท้ของพระองค์ นี่คือเคล็ดลับของความสุขที่ไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายได้...

    พระเจ้าข้า เป็นบุญของมนุษย์ผู้มองไกลกว่าสิ่งที่ตามองเห็นได้ เพื่อจะเห็นพระพักตร์ของพระองค์...

ท่านที่ต้องการสร้างหอคอยจะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างให้เสร็จหรือไม่ มิฉะนั้น เมื่อวางรากฐานไปแล้ว แต่สร้างไม่สำเร็จ ทุกคนที่เห็นจะหัวเราะเยาะเขา พูดว่า “คนนี้เริ่มก่อสร้าง แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้”

    อุปมาเรื่องหน้าที่ในการ “คำนวณค่าใช้จ่าย” นี้พบได้ในพระวรสารของลูกาเท่านั้น และเน้นย้ำความยากลำบากที่เราต้องสัญญาว่าจะยอมรับเมื่อเราตัดสินใจติดตามพระเยซูเจ้า นี่คือการผจญภัยอันยาวนานและน่าตื่นเต้น – และเราต้องไปจนถึงจุดหมายให้ได้

    พระเยซูเจ้าไม่เคยพยายามโฆษณาพระองค์เองหรืออุดมการณ์ของพระองค์ ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ติดตามพระองค์คิดถึงแต่ความสำเร็จ แทนที่จะปิดบังอันตรายในการผจญภัยนี้ พระองค์กลับเน้นย้ำถึงอันตรายเหล่านี้ราวกับว่าทรงต้องการดับความกระตือรือร้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ... เพราะการเลิกล้มกลางคันจะร้ายแรงกว่าการไม่เคยเริ่มต้นเลย
    ข้อความนี้ควรกระตุ้นเตือนเราให้ไตร่ตรองอย่างจริงจังว่าการละทิ้งความเชื่อนั้นเป็นเรื่องใหญ่เพียงไร การหยุดติดตามพระเยซูเจ้าหลังจากได้เริ่มต้นติดตามพระองค์แล้ว เป็นความผิดที่หนักกว่าการไม่เคยรู้จักพระองค์เลย ... การประกาศยืนยันความเชื่อของเราเป็นความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ ดังนั้น ก่อนจะตกปากรับคำ เราควรนั่งลงและใช้เวลาไตร่ตรอง

หรือกษัตริย์ที่ทรงยกทัพไปทำสงครามกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง จะไม่ทรงคำนวณก่อนหรือว่าถ้าใช้กำลังพลหนึ่งหมื่นคน จะเผชิญกับศัตรูที่มีกำลังพลสองหมื่นคนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยังอยู่ห่างไกล พระองค์จะได้ทรงส่งทูตไปเจรจาขอสันติภาพ

    อุปมาสองเรื่องคือ “การสร้างหอคอย” และ “การทำสงคราม” เป็นข้อความที่พระเยซูเจ้าตรัสระหว่างการเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งลูกานำมารวมกันโดยมีจุดประสงค์ในใจ คำบอกเล่าสองเรื่องนี้มีความหมายเหมือนกัน วิธีบอกเล่า และการย้ำซ้ำสองครั้งทำให้จดจำได้ง่าย พระเยซูเจ้าทรงสอนบทเรียนหนึ่งซ้ำสองครั้ง ด้วยเกรงว่าเราจะลืมว่าชีวิตคริสตชนคือ “การสร้าง” และ “การต่อสู้” เป็นสองกิจการที่มีความเสี่ยง และต้องไตร่ตรองและพากเพียร

    บางครั้ง ข้าพเจ้าปฏิบัติตามข้อเรียกร้องข้อนี้ของพระเยซูเจ้าได้หรือไม่ ข้าพเจ้าสละเวลาไตร่ตรองชีวิตและคำมั่นสัญญาของข้าพเจ้าหรือเปล่า ... เรารู้ว่าจะจัดทำงบดุลอย่างไร จะคิดคำนวณ และวางแผนกิจการทางโลกของเราอย่างไร แต่เราเคยหยุดพักเป็นครั้งคราว ไม่ว่าตามลำพังหรือร่วมกับผู้อื่น และพิเคราะห์แยกแยะว่าโครงการฝ่ายโลกของเราสอดคล้องกับจิตตารมณ์ของพระวรสารของพระคริสตเจ้าหรือไม่ ... นี่คือจุดมุ่งหมายของ “การทบทวนชีวิต” กล่าวคือ เพื่อให้มองเห็น วินิจฉัย ดำเนินการ และภาวนา ... หลังจากได้ศึกษาพระวรสารแล้ว

    ถ้าไม่เช่นนั้น เราจะดำรงชีวิตอย่างฉาบฉวย และทุกสิ่งทุกอย่างก็ฉาบฉวยไปหมด สมาธิภาวนาเป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้ชีวิตของเรามีความลุ่มลึก และประสิทธิผลอย่างแท้จริง...

    พระเจ้าข้า บุคคลที่พระจิตของพระองค์พำนักอยู่ในใจของเขา ย่อมยินดีที่ได้รู้เคล็ดลับของพระบิดา...

    ระหว่างเวลาไม่ถึงสามปีที่พระเยซูเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน พระองค์ทรงทำงานมากกว่า “นักปฏิบัติ” ทุกคนในโลกนี้

    วันหนึ่ง คุณแม่ยังสาวที่ต้องทำงานหนักคนหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า “ในวันที่ดิฉันมีงานต้องทำมากที่สุด ดิฉันรู้สึกมากยิ่งขึ้นว่าจำเป็นต้องหยุด และนั่งลงสัก 10 นาที เพื่อทำสมาธิภาวนา – และดิฉันก็ได้เวลาเพิ่มขึ้น”

ดังนั้น ทุกท่านที่ไม่ยอมสละทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้

    ภายในข้อความไม่กี่บรรทัด พระเยซูเจ้าตรัสหัวข้อเดิมอีกเป็นครั้งที่สาม “... เป็นศิษย์ของเราไม่ได้”

    สำหรับลูกา ประโยคนี้เป็นบทสรุปของอุปมาสองเรื่องนั้น เพราะเหตุนี้ เราจึงต้อง “นั่งลง” เราไม่สามารถติดตามพระเยซูเจ้าด้วยการเลือกทางออกที่ง่าย ถ้าท่านไม่พร้อมจะเดินทางไปจนถึงปลายทาง ก็อย่าเริ่มต้นเลยจะดีกว่า เราต้องปฏิเสธความต้องการของตนเองในความสัมพันธ์กับผู้อื่น เราต้องปฏิเสธความอยากต่าง ๆ ในชีวิตของเรา ... สมบัติของเรา – เพราะเห็นแก่ความรัก ... เพื่อเราจะเลือกวิถีทางของพระเยซูเจ้ามากกว่าวิถีทางอื่น ๆ...

    คำเชิญชวนให้ตัดใจแบบถึงแก่นเช่นนี้ไม่ใช่ “คำแนะนำ” ที่พระองค์ประทานแก่คริสตชนชั้นหัวกะทิ หรือนักพรต หรือภคินี (อย่างที่เคยมีคนเข้าใจ) เพราะพระเยซูเจ้าตรัสว่านี่คือเงื่อนไขสำหรับคริสตชนแท้ ... เราต้องทำเช่นนี้เพื่อจะเป็นศิษย์พระคริสต์ “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (ลก 16:13)

    แทนที่จะคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องมากเกินไป เราควรสละเวลาและไตร่ตรองว่าพระวาจานี้ช่วยปลดปล่อย และทำให้เรามีความสุข และรู้สึกอิ่มอย่างไร “องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราแม้ทรงร่ำรวย พระองค์ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจน เพราะเห็นแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์” (2 คร 8:9) แต่เพื่อจะเข้าใจได้ หัวใจของเราต้องเต็มเปี่ยมด้วยพระเจ้าก่อน...

    เราจะพยายามสะสมทรัพย์สมบัติต่อไปหรือเปล่า หรือว่าเราจะค้นหาและคิดค้นอีกวิธีหนึ่งที่จะดำรงชีพอย่างมีความสุข คืออยู่กับมิตรภาพ การแบ่งปัน และความเรียบง่าย...

    ระหว่างทรงเดินทางไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ครั้งหนึ่ง พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสแก่เยาวชนว่า “สังคมบริโภคนิยมไม่สามารถนำความสุขมาให้มนุษย์ได้” เยาวชนเห็นด้วยและปรบมือ ... แต่พวกเขานำข้อสรุปนี้ไปปฏิบัติอย่างไรเมื่อเขาเดินซื้อของ ในการดำเนินชีวิต ในการใช้เงินของเขา – เพื่อจะเป็นอิสระมากขึ้น และเพื่อจะ “ติดตามพระเยซูเจ้า” ... เพื่อจะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเป็นคนยากจน แต่ในพระองค์ เราพบพระสิริรุ่งโรจน์นิรันดรของพระเจ้า...