วันอาทิตย์ที่ยี่สิบสอง เทศกาลธรรมดา
ลูกา 14:1, 7-14
วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าชาวฟาริสีคนหนึ่ง ผู้ที่อยู่ที่นั่นต่างจ้องมองพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสังเกตเห็นผู้รับเชิญต่างเลือกที่นั่งที่มีเกียรติ จึงตรัสเป็นอุปมากับเขาว่า “เมื่อมีใครเชิญท่านไปในงานมงคลสมรส อย่าไปนั่งในที่ที่มีเกียรติ เพราะถ้ามีคนสำคัญกว่าท่านได้รับเชิญมาด้วย เจ้าภาพที่เชิญท่านและเชิญเขาจะมาบอกท่านว่า ‘จงให้ที่นั่งแก่ผู้นี้เถิด’ แล้วท่านจะต้องอับอาย ไปนั่งที่สุดท้าย แต่เมื่อท่านได้รับเชิญ จงไปนั่งในที่สุดท้ายเถิด เพื่อเจ้าภาพที่เชิญท่านจะมาบอกท่านว่า ‘เพื่อนเอ๋ย จงไปนั่งในที่ที่ดีกว่านี้เถิด’ แล้วท่านจะได้รับเกียรติต่อหน้าผู้ร่วมโต๊ะทั้งหลาย เพราะทุกคนที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”
พระองค์ตรัสกับผู้ที่เชิญพระองค์ว่า “เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้อง หรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี เพราะเขาจะเชิญท่าน และท่านจะได้รับการตอบแทน แต่เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
การสนทนาบนโต๊ะอาหาร
โต๊ะอาหารจะไม่สมบูรณ์ถ้าไม่มีผู้มีความรู้มานั่งร่วมโต๊ะด้วย ร่างกายจะชื่นชมกับรสชาติของอาหารและเหล้าองุ่นได้มากขึ้น ถ้าอาหารมื้อนั้นได้รับการปรุงแต่งด้วยคำสนทนาที่มีรสชาติ พระศาสนจักรได้รักษาธรรมเนียมในการจัดโต๊ะอาหารสองประเภทไว้ในพิธีกรรม หนึ่งคือโต๊ะพระวาจา และอีกหนึ่งคือโต๊ะขนมปัง (ศีลมหาสนิท) อันที่จริงมีคำกล่าวว่าพระสงฆ์ผู้บิปังที่พระแท่น โดยไม่บิปังที่แท่นอ่านพระวาจาถือว่าเป็นพระสงฆ์เพียงครึ่งเดียว
ในพระวรสารของลูกา พระเยซูเจ้าไม่เคยอยู่ห่างโต๊ะอาหาร บ่อยครั้งที่พระองค์ประทานคำสั่งสอนที่โต๊ะอาหาร การสนทนาเรื่องเบา ๆ และมีรสชาติสามารถเข้าถึงผู้ฟังได้ง่ายกว่าการสั่งสอนอย่างเป็นทางการ การสนทนาบนโต๊ะอาหารต่างจากการเทศน์มาก เราคาดหมายได้ว่าจะได้ยินข้อสังเกตที่เฉียบคม คำล้อเลียนด้วยอารมณ์ขัน และการตอบโต้ด้วยไหวพริบ แต่ก็มีสาระสำคัญซ่อนอยู่ ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนผู้ฟังให้มองเห็นตนเองในพระวาจาที่พระองค์ตรัส
พระองค์มีสารที่ทรงต้องการสื่อให้แก่แขกร่วมโต๊ะ พระองค์ทรงเสนอภาพล้อเลียนคนทั้งหลายที่แย่งกันนั่งในตำแหน่งที่มีเกียรติ พระองค์ทรงเชิญเราทุกคนให้มองเห็นในภาพนั้นว่าตนเองเป็นเพียงแขกรับเชิญ เพราะเราเป็นผู้ได้รับพระคุณต่าง ๆ จากพระเจ้า แต่เรามักลืมว่าทุกสิ่งที่เรามีล้วนเป็นสิ่งที่เราได้รับมา และเมื่อเราคิดว่านั่นคือเกียรติของเราเอง เราจะยกให้ความคิดของเราเป็นใหญ่ ทำให้เราชอบระราน ก้าวร้าว และต่อสู้แย่งชิงสิทธิพิเศษ และความนิยมจากผู้อื่น ผู้รับเชิญมาในงานเลี้ยงของพระเมสสิยาห์จะต้องไม่ประพฤติตนเช่นนี้
จากนั้น พระเยซูเจ้าทรงมีสารจะสื่อให้แก่เจ้าภาพด้วย กล่าวคือ ผู้ที่จะจ่ายค่าอาหารและความบันเทิงสำหรับงานเลี้ยงในวันนั้น ซึ่งฟังดูเหมือนกับว่าพระองค์ไม่สุภาพ เมื่ออ่านข้อความตามตัวอักษร “เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้อง หรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี เพราะเขาจะเชิญท่าน และท่านจะได้รับการตอบแทน ...” เราอาจเข้าใจผิด ถ้าอ่านข้อความนี้ตามตัวอักษร เรารู้ว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธที่จะไปร่วมโต๊ะอาหารกับมิตรสหาย และผู้ที่รู้จักมักคุ้น เราจะเห็นด้วยว่าพระองค์ตรัสเกินความจริงเพื่อให้เขากลัวจะได้รับคำเชิญเป็นการตอบแทน น่าสงสารเจ้าภาพที่คงรู้สึกสับสนถ้าเขากำลังรวบรวมรายชื่อบุคคลที่เขาจะเชิญ และต้องตรวจทานอีกครั้งว่าไม่มีชื่อใครที่อาจเชิญเขาเพื่อเป็นการตอบแทน
สาระสำคัญของคำสั่งสอนนี้คือการท้าทายให้นึกถึงคนทั้งหลายที่ไม่มีสิทธิเข้ามานั่งร่วมโต๊ะ ธรรมบัญญัติถึงกับห้ามคนยากจน คนพิการ คนง่อย และคนตาบอด ไม่ให้เข้าร่วมในศาสนกิจ ครูสอนศาสนาจำนวนมากเชื่อว่าคนพิการจะไม่ได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงของพระเมสสิยาห์ แต่พระเยซูเจ้าทรงประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อทรงเริ่มต้นเทศน์สอนว่าบุคคลที่สังคมรังเกียจ คือเป้าหมายแรกของพันธกิจของพระองค์
อารมณ์ขันของพระเยซูเจ้าในการสนทนาบนโต๊ะอาหารควรเตรียมเราให้พร้อมสำหรับอารมณ์ขันของพระเจ้าในงานเลี้ยงครั้งสุดท้าย ที่พำนักมากมายในบ้านของพระองค์จะเต็มไปด้วยบุคคลที่เราคาดไม่ถึง เพราะคนกลุ่มสุดท้ายจะกลายเป็นกลุ่มแรก คนถ่อมตนจะได้รับการยกย่อง คนจนจะได้กินอาหาร และคนพิการจะเต้นรำด้วยความยินดี พระเจ้าผู้ทรงคาดสะเอวเพื่อมารับใช้ที่โต๊ะอาหารจะต้องเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าประหลาดใจ เราคงไม่เอาจริงเอาจังทุกเวลากับพระเจ้า ผู้ทรงขอให้เราหยุด และพักผ่อนหนึ่งวัน หลังจากทำงานมาตลอดสัปดาห์
ข้อรำพึงที่สอง
ความจองหอง และความสุภาพถ่อมตน
บาปต้นเจ็ดประการคือรากที่เป็นพิษของต้นไม้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความประพฤติผิดทั้งปวง และบาปประการแรกคือความจองหอง แน่นอนว่าเราสามารถภาคภูมิใจเมื่อมีผู้ยอมรับพรสวรรค์แท้ของเรา แต่ความจองหองหมายถึงการตั้งตนเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ความจองหองทำให้เราตั้งตัวขึ้นต่อต้านผู้อื่น ด้วยการเปรียบเทียบ ดูหมิ่น และตัดสินผู้อื่น ความจองหองทำให้เราตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าองค์เล็ก ๆ แทนที่พระเจ้าเที่ยงแท้ “ไม่มียารักษาโรคของคนจองหอง เพราะความชั่วได้งอกขึ้นมาในตัวเขาแล้ว” (ปญจ 3:28)
ความชั่วที่งอกงามจากความจองหองเป็นสิ่งที่ลวงตาได้เสมอ ตรงกันข้ามกับความสุภาพถ่อมตน ซึ่งหมายถึงการยอมรับความจริง และมาจากภาษาละตินว่า humus แปลว่าดิน (earth)
ในกลุ่มสามเณรที่กระตือรือร้นตามแบบฉบับของคนหนุ่มที่จะบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ เราได้อภิปรายเรื่องความสภาพถ่อมตน และการเลือกนั่งในตำแหน่งที่ต่ำที่สุด เราคาดการณ์ได้ว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เราจะยังถ่อมตนอยู่ได้อย่างไรถ้าผู้อื่นยอมรับว่าคุณธรรมของเราได้พัฒนาขึ้น เราสามารถจองหองกับความถ่อมตนของเราได้หรือไม่ เราอ่านพบเรื่องของวีรบุรุษในทะเลทรายและนักบุญที่ไม่มีใครรู้จัก ดูเหมือนว่าบุคคลเหล่านั้นใช้เวลาทั้งชีวิตตรึงกางเขนความสามารถพิเศษของตนเอง และมองหาแต่โอกาสที่จะเหยียดหยามตนเอง เรามีคู่มือจริยธรรมที่บอกให้เราพูดถึงแต่ความเลวของตนเองในการสนทนา และบอกให้หลีกทางให้ผู้อื่นเมื่อนั่งโต๊ะอาหารและเมื่อเดินสวนกัน โชคดีที่เรามีสิ่งที่ช่วยชีวิตเราไว้ เมื่อสติแสดงอำนาจเหนือความศักดิ์สิทธิ์สัปดาห์ละครั้งเมื่อเราเชียร์ในสนามกีฬา ที่ซึ่งการแสดงออกอย่างสุจริตใจ และความต้องการชัยชนะผุดขึ้นมาให้เห็นได้อีกครั้งหนึ่ง
คนจองหองที่สุดบางคนที่ข้าพเจ้ารู้จักจะจองที่นั่งบนโต๊ะที่ต่ำต้อยที่สุด และอย่าได้มีใครพยายามให้เขาเปลี่ยนที่นั่งเป็นอันขาด ความถ่อมตนไม่ได้หมายความว่าท่านคิดว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น และไม่ได้หมายความว่าท่านต้องประเมินความสามารถของตนต่ำเกินไป ไม่มีสิ่งใดน่ารำคาญมากไปกว่าความถ่อมตนจอมปลอม แต่ควรระวังความหมกมุ่นกับตนเองที่ซ่อนอยู่อย่างแยบยล และดื้อรั้น ภายใต้แผนที่ยอมให้ผู้อื่นชนะ บ่อยครั้งทีเดียวที่คนทั้งหลายที่ยืนยันเสมอว่าตนเองไม่มีคุณค่า จะโกรธมากถ้าคนอื่นพูดถึงเขาเช่นนั้น
ความถ่อมตนคือการยอมรับความจริง คนถ่อมตนแท้ย่อมมองเห็น และยอมรับความสามารถและข้อดีของตนเอง แต่เขาไม่หยิ่งผยอง เพราะความถ่อมตนจะเห็นว่าพรสวรรค์เหล่านี้มาจากพระเจ้า “ท่านมีอะไรบ้างที่ไม่ได้รับ ถ้าท่านไม่ได้รับแล้ว ท่านจะโอ้อวดประหนึ่งว่าไม่ได้รับทำไม” (1 คร 4-7) แทนที่จะซ่อนความสามารถพิเศษ ความถ่อมตนจะพึงพอใจที่จะพัฒนาความสามารถที่ได้รับมานี้ และใช้มันเพื่อเฉลิมฉลองพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า
ความถ่อมตนไม่กลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าทำอะไร เพราะคนถ่อมตนไม่กังวลเกินไปเกี่ยวกับความสำเร็จส่วนตัว พระเจ้าไม่ทรงเรียกร้องให้เราประสบความสำเร็จ เพียงแต่ให้เราพยายามจนสุดความสามารถของเรา ความถ่อมตนยับยั้งตนเองไม่ให้ตัดสินผู้อื่นให้เสื่อมเสีย เพราะถือว่าตนเองเป็นคนดีกว่า “ฉันเองก็คงเป็นเหมือนเขา ถ้าไม่ได้พระหรรษทานของพระเจ้าช่วยไว้”
ประกาศกมีคาห์สอนให้เรากระทำการอย่างยุติธรรม รักอย่างอ่อนโยน และเดินทางร่วมกับพระเจ้าอย่างถ่อมตน “ทุกคนที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”
บทรำพึงที่ 2
วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าชาวฟาริสี ผู้หนึ่ง...
ลูกา ผู้เป็นศิษย์ของเปาโลซึ่งเคยเป็นฟาริสีคนหนึ่ง เขาละลายภาพลักษณ์ของพระเยซูเจ้าที่ผู้อื่นมักมองว่าทรงต่อต้านชาวฟาริสี พระเยซูเจ้าไม่ทรง “ต่อต้าน” ใคร พระองค์ทรงมีเสรีภาพที่จะคบหามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บภาษี คนบาป (ลก 7:34) รวมทั้งชาวฟาริสี (ลก 7:36, 11:37, 14:1) ในข้อความนี้ เราเห็นว่าพระองค์ทรงได้รับเชิญจากหัวหน้าคนหนึ่งของชาวฟาริสี หนึ่งในบุคคลสำคัญซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำในกลุ่ม “ผู้ชอบธรรม” – กลุ่มคนที่ต่อต้านพระเยซูเจ้าแทบเสมอไป
ลูกาบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันสับบาโต การกินอาหารในวันนั้นมีความสำคัญเป็นพิเศษ เขากินอาหารมื้อเที่ยงทันทีหลังจากเสร็จจากการอธิษฐานภาวนาที่ศาลาธรรม ซึ่งเป็นการภาวนาร่วมกันที่ค่อนข้างยาว อาหารมื้อนี้จึงหรูหรา และรสอร่อยกว่าอาหารมื้ออื่นที่กินกันในวันทำงาน เนื่องจากชาวยิวมีกฎที่เข้มงวดให้พักผ่อนในวันสับบาโต อาหารทุกจานจึงต้องเตรียมไว้ตั้งแต่วันศุกร์ ซึ่งเป็น “วันเตรียม” (มก 15:42) เพื่อให้ทุกคนไม่ต้องกังวลเรื่องวัตถุ และเจ้าภาพสามารถใช้เวลาทั้งหมดต้อนรับญาติมิตร สนทนาและกระชับความสัมพันธ์กับพวกเขา ชาวยิวมักเชิญแขกไปกินอาหารในวันสับบาโต การสนทนาบนโต๊ะอาหารเป็นโอกาสให้หาความเพลิดเพลิน แต่ก็เป็นโอกาสให้ไตร่ตรองด้วย...
วันอาทิตย์ของเราได้สูญเสียคุณสมบัติบางอย่างไปแล้วหรือเปล่า...
พระเยซูเจ้าทรงสังเกตเห็นผู้รับเชิญต่างเลือกที่นั่งที่มีเกียรติ จึงตรัสเป็นอุปมากับเขาว่า “เมื่อมีใครเชิญท่านไปในงานมงคลสมรส อย่าไปนั่งในที่ที่มีเกียรติ เพราะถ้ามีคนสำคัญกว่าท่านได้รับเชิญมาด้วย เจ้าภาพที่เชิญท่าน และเชิญเขา จะมาบอกท่านว่า “จงให้ที่นั่งแก่ผู้นี้เถิด” แล้วท่านจะต้องอับอาย ไปนั่งที่สุดท้าย”
พระเยซูเจ้าทรงสังเกต พระองค์ทรงเห็นคนทั้งหลายใช้เล่ห์เหลี่ยมวางแผนให้ตนเองได้นั่งในที่ที่มีเกียรติมากกว่า ในปัจจุบัน คนทั่วไปพยายามเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีการต่าง ๆ และไม่ใช่เฉพาะบนโต๊ะอาหารเท่านั้น เราเห็นคนในทุกสังคมที่แย่งกันเป็นที่หนึ่ง ... ขอให้สังเกตว่าคนเราแต่งกายอย่างไร หรือเลือกยี่ห้อรถยนต์อย่างไร สังเกตวิธีที่เขาเลือกหัวข้อ และรูปแบบของการสนทนา – มีวิธีการมากมายที่จะโอ้อวดตนเอง...
แต่พระเยซูเจ้าไม่ได้เล่าเรื่องอุปมานี้ เพียงเพื่อแนะนำให้เราเคารพธรรมเนียม และฐานันดรทางสังคมบางอย่าง...
เช่นเคย พระองค์ตรัสกับเราเรื่องพระเจ้า กล่าวคือ อะไรเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อให้เราได้รับการต้อนรับเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า...
แต่เมื่อท่านได้รับเชิญ จงไปนั่งในที่สุดท้ายเถิด เพื่อเจ้าภาพที่เชิญท่านจะมาบอกท่านว่า ‘เพื่อนเอ๋ย จงไปนั่งในที่ที่ดีกว่านี้เถิด’ แล้วท่านจะได้รับเกียรติต่อหน้าผู้ร่วมโต๊ะทั้งหลาย
ถูกแล้ว การได้รับอนุญาตให้เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า มีเงื่อนไขว่าเราต้องยอมรับ และยินดีด้วยความถ่อมตน และยอมรับตำแหน่งต่ำสุด โดยให้ผู้อื่นรับตำแหน่งสูงกว่า เป็นหน้าที่ของ “เจ้าภาพ” ที่จะเป็นฝ่ายเชิญเราให้ “ไปนั่งในที่ที่ดีกว่านี้เถิด” ... คนที่คิดว่าตนเองเป็น “คนสุดท้าย” ย่อมมีความพร้อมมากกว่าคนจองหอง ที่จะยอมรับของขวัญได้เปล่าที่เขาคิดว่าตนเองไม่สมควรได้รับ บาปของเราทำให้เราสำนึกในความต่ำต้อยของเรา คนบาปกลับบ้าน “อย่างผู้ชอบธรรม” ในขณะที่บุคคลที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรมยังเดินกรีดกรายเบื้องหน้าพระเจ้า และพ่นคำพูดเกี่ยวกับ “กิจการดี” ของตน “พระเจ้าข้า เห็นไหมว่าข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพระองค์ ข้าพเจ้าไม่ใช่คนบาป ข้าพเจ้าไม่ใช่ขโมย หรือโจรผู้ร้าย หรือเป็นคนล่วงประเวณี ข้าพเจ้าทำความดีมากมาย ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหาร และข้าพเจ้าให้ทาน” (ลก 18:9-14)...
บาปไม่ใช่อุปสรรคยิ่งใหญ่ที่สุดของความรอดพ้น แต่เป็นความรู้สึกว่า “ตนเองดีกว่าผู้อื่น” “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า คนเก็บภาษีและหญิงโสเภณีจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าก่อนท่าน” (มธ 21:31) นักบุญเปาโลใช้การเผยแสดงข้อนี้ของพระเยซูเจ้าเพื่อสั่งสอนว่า ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าตนเองมีสิทธิได้รับความรอดพ้นนิรันดร เพราะเป็นรางวัลที่เขาสมควรได้รับจากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (รม 3:21-31, กท 2:16-21)
“จงไปนั่งในที่สุดท้าย” วันนี้พระเยซูเจ้าทรงแนะนำเราเช่นนี้ เราต้องยอมรับว่าเรา “อ่อนแอ” “ต่ำต้อย” และเป็น “คนสุดท้าย” เบื้องหน้าพระเจ้า ถ้าเราต้องการพึ่งพาพระองค์โดยสิ้นเชิง และไม่พึ่งพาตนเอง (ลก 17:10, 18:10-14) เราต้อง “ทำตัวเหมือนเด็กเล็ก ๆ” เพื่อจะมีที่พำนักในพระอาณาจักรของพระเจ้า (ลก 9:48)...
จงไปนั่งในที่สุดท้าย และพระอาจารย์จะทรงเชิญท่านไปนั่งในที่ที่ดีกว่า!
ทุกคนที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”
ความจองหองเป็นบาปร้ายแรงที่สุดในสายพระเนตรของพระเจ้า ใครก็ตามที่เชื่อมั่นเต็มที่ว่าเขาสมควรเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าจะไม่สามารถเข้าไปได้ ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอลแสดงให้เห็นการพลิกกลับคุณค่า และแนวทางปฏิบัติของโลกนี้ เพราะพระเจ้าทรงเลือกชาวอิสราเอลที่เป็นชาติเล็กที่สุด และอ่อนแอที่สุดในบรรดาชนชาติทั้งหลายในโลก “พระยาเวห์ พระเจ้าของท่าน ประทานแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์นี้ให้ท่านครอบครอง มิใช่เป็นการตอบแทนคุณงามความดีของท่าน และท่านยังเป็นประชากรที่ดื้อรั้นอีกด้วย” (ฉธบ 9:5-6, 4:37-38; อสค 21:31; สดด 147:6)
การถ่อมตนลงเป็นทัศนคติที่โลกสมัยใหม่ไม่ยอมรับ และบรรยายทัศนคตินี้ด้วยถ้อยคำที่เหยียดหยาม เช่น เป็นการยอมแพ้ ... ล้มเลิก ... คลาน ... หลีกทาง ... ยอมจำนน เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม มนุษย์ยุคนี้นิยมคำพูดที่ยกตนให้สูงขึ้น เช่น การพัฒนา ... ผลิบาน ... ส่งเสริม เป็นต้น...
ถึงกระนั้น การถ่อมตนจะต้องมีคุณค่ายิ่งใหญ่มาก เพราะพระเยซูเจ้าทรงกระตุ้นเตือนให้เรารับเอาทัศนคตินี้มาเป็นของตน พระองค์เองทรงกระทำเช่นนี้ในชีวิตของพระองค์ นี่คือทัศนคติของพระเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเรา ชาลส์ เดอ ฟูโกลด์ กล่าวว่า “พระองค์ประทับในที่สุดท้ายอย่างที่ไม่มีใครสามารถแย่งไปจากพระองค์ได้” นี่คือความหมายแท้ของการเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ “แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา ทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์ ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับยอมรับแม้แต่ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2:6-8) พระเยซูเจ้า “ทรงรับตำแหน่งสุดท้ายเมื่อทรงถูกตรึงกางเขน แต่นั่นไม่ทำให้พระองค์ต่ำทราม หรือด้อยศักดิ์ศรีแต่อย่างใด” ตรงกันข้าม ด้วยการยอมถ่อมพระองค์ พระองค์ทรงแสดงความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระองค์ออกมาอย่างเต็มที่ พระองค์ทรงเป็นความรักอันสมบูรณ์ ทรงเป็นบุคคลที่อยู่เพื่อผู้อื่น เป็นบุคคลที่อยู่เพื่อพระบิดา เมื่อมองในแง่นี้ การกลับคืนชีพอย่างรุ่งเรืองจึงไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับกางเขน การพลีพระองค์เป็นเครื่องบูชานั้นเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์แล้ว ผู้ที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น...
ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าไม่ได้กำลังตรัสเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร เราได้รับเชิญให้ไขว่คว้าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาให้ได้ด้วยการเลียนแบบพระเจ้า ผู้ทรงสุขุม ถ่อมพระองค์ และซ่อนเร้นพระองค์ ... ผู้ทรงทำให้พระองค์เองเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ทุกคน โดยไม่ได้ทรงสละตำแหน่งพระเจ้าของพระองค์เอง นี่คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ในทางกลับกัน ความรู้สึกว่าเรา “จำเป็น” ต้องอ้างสิทธิของเราแม้ว่าอาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ต้องใช้กำลัง หรือการล่อลวงเพื่อครอบงำผู้อื่น ต้องเบียดเสียดเพื่อไปอยู่ในแถวหน้าสุด – ทั้งหมดนี้เป็นสัญชาตญาณของสัตว์ที่ต้องการเป็นผู้แข็งแรงกว่า และเผยให้เห็นความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา “บาปกำเนิด” ของเราคือต้องการเป็น “เหมือนพระเจ้า” - เหมือนกับพระเจ้าเท็จเทียมนี้ ที่เรายกให้เป็นต้นแบบของสัญชาตญาณของเราที่ต้องการปกครองผู้อื่น...
ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย แขกรับเชิญของพระเยซูเจ้ายังไม่เข้าใจทัศนคตินี้ “บรรดาศิษย์ยังโต้เถียงกันว่า ในกลุ่มของตน ผู้ใดควรได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุด พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า ‘กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น ... แต่ท่านทั้งหลายจงอย่าเป็นเช่นนั้น ท่านที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดจงทำตนเป็นผู้น้อยที่สุด ผู้ที่เป็นผู้นำ จงเป็นผู้รับใช้ ... เราอยู่ในหมู่ท่านเหมือนเป็นผู้รับใช้จริง ๆ’ ” (ลก 22:24-27)
พระองค์ตรัสกับผู้ที่เชิญพระองค์ว่า “เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน หรืออาหารค่ำ อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้อง หรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี เพราะเขาจะเชิญท่าน และท่านจะได้รับการตอบแทน”
นี่เป็นอุปมาเรื่องที่สองในหัวข้อเดียวกัน คือเรื่องโต๊ะอาหาร แต่เรื่องนี้เชิญชวนเราไม่ให้คิดถึงแต่ผลประโยชน์ ท่านต้องให้ และรับใช้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน “ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร ... แต่ท่านจงรักศัตรู จงทำดีต่อเขา จงให้ยืมโดยไม่หวังอะไรกลับคืน” (ลก 6:32-35)...
แต่เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้
นี่เป็นข้อคำสอนอีกข้อหนึ่งที่สวนกระแสความคิดของโลก ถ้อยคำเหล่านี้เป็นการปฏิวัติความคิดอย่างแท้จริง เพราะเราต้องระลึกว่าคนประเภทต่าง ๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงเอ่ยถึงนี้ ถือว่าเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ มีข้อห้ามโบราณไม่ให้บุคคลทุพพลภาพเข้าร่วมในพิธีกรรมในพระวิหาร (2 ซมอ 5:8; ลนต 21:18) ในยุคของพระเยซูเจ้า “กฎคุมราน” กำหนดว่า “ห้ามบุคคลที่มีมลทินเข้ามาในที่ชุมนุมของพระเจ้า ทุกคนที่มีข้อบกพร่องทางกายที่มองเห็นได้ - ตาบอด พิการที่มือ หรือเท้า เป็นง่อย หูหนวก หรือเป็นใบ้ - ไม่อาจเข้ามานั่งร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียง” ... แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าคนที่ถูกเหยียดหยาม และพิการเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่จะได้รับพระพรจากพระเจ้า และจะได้รับเชิญให้มาร่วมโต๊ะอาหารของพระองค์ (ลก 14:21)
ไม่ว่าท่านกำลังป่วย กำลังทนทุกข์ทรมาน ฐานะยากจน ถูกดูถูกดูแคลน ... ท่านเป็นที่รักของพระเจ้า!
คนบาป คนที่ละอายใจ คนน่าเวทนา คนชั่วช้า ... ท่านเป็นที่รักของพระเจ้า!
หัวใจของพระเจ้าของเรายิ่งใหญ่กว่าหัวใจของเราจริง ๆ...
แม้แต่ความอ่อนแอของพระคริสตเจ้าก็ยังเข้มแข็งกว่าความเข้มแข็งของเรา...
สิ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระกลับกลายเป็นปรีชาญาณของพระอาณาจักร ... ผู้ที่ถ่อมตนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ครอบครองแผ่นดิน...
ท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้า เมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีพ
การเอ่ยถึงการกลับคืนชีพในวันสุดท้ายแสดงว่า “การสนทนาบนโต๊ะอาหาร” ของพระเยซูเจ้าครั้งนี้ไม่ใช่คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับ “การเชิญแขก” แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำนี้อย่างเป็นรูปธรรม ... อันที่จริง พระวาจาของพระเยซูเจ้ามีจุดมุ่งหมายที่การเลี้ยงอาหารสามประเภท:
- ประเภทแรกคือการเลี้ยงอาหารของมนุษย์ ... เราปฏิบัติอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราหรือเปล่า
- ประเภทที่สองคือการเลี้ยงอาหารในพิธีกรรมศีลมหาสนิท ... เป็นพิธีกรรมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมารับได้อย่างเท่าเทียมกัน
- ประเภทที่สามคืองานเลี้ยงเมื่อถึงอวสานกาล ... พระเจ้าทรงเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าคนบาปจะได้รับรางวัล เมื่อเขาทำตามเงื่อนไขที่มีอยู่เพียงข้อเดียว คือ เขาเองต้องเริ่มต้นรักผู้อื่นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงรัก โดยไม่คาดหมายสิ่งตอบแทน...