แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ยี่สิบสี่ เทศกาลธรรมดา

ลูกา 15:1-32
    บรรดาคนเก็บภาษีและคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อฟังพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ต่างบ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินอาหารร่วมกับเขา” พระองค์จึงตรัสเรื่องอุปมานี้ให้เขาฟัง
    “ท่านใดที่มีแกะหนึ่งร้อยตัว ตัวหนึ่งพลัดหลง จะไม่ละแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้ในถิ่นทุรกันดาร ออกไปตามหาแกะที่พลัดหลงจนพบหรือ เมื่อพบแล้ว เขาจะยกมันใส่บ่าด้วยความยินดี กลับบ้าน เรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมาพูดว่า ‘จงร่วมยินดีกับฉันเถิด ฉันพบแกะตัวที่พลัดหลงนั้นแล้ว’ เราบอกท่านทั้งหลายว่าในสวรรค์จะมีความยินดีเช่นนี้เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ มากกว่าความยินดีเพราะคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจใหม่”
    “หญิงคนใดที่มีเงินสิบเหรียญแล้วทำหายไปหนึ่งเหรียญ จะไม่จุดตะเกียง กวาดบ้าน ค้นหาอย่างถี่ถ้วนจนกว่าจะพบหรือ เมื่อพบแล้ว นางจะเรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมา พูดว่า ‘จงร่วมยินดีกับฉันเถิด ฉันพบเงินเหรียญที่หายไปแล้ว’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ทูตสวรรค์ของพระเจ้าจะมีความยินดีเช่นเดียวกัน เมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับใจ”
    “พระองค์ยังตรัสอีกว่า ‘ชายผู้หนึ่งมีบุตรสองคน บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า ‘พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด’ บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มี แล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพล ผลาญเงินทองจนหมดสิ้น
    เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถบนั้น และเขาเริ่มขัดสนจึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา
    เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า ‘คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด’’ เขาก็กลับไปหาบิดา
    ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขา รู้สึกสงสาร จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา บุตรจึงพูดกับบิดาว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก’ แต่บิดาพูดกับผู้รับใช้ว่า ‘เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก’ แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น
    ส่วนบุตรคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ จึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ผู้รับใช้บอกเขาว่า ‘น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย’ บุตรคนโตรู้สึกโกรธ ไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป แต่เขาตอบบิดาว่า ‘ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อน ๆ แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย’
    บิดาพูดว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก’”
   

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
พระองค์ทรงต้อนรับคนบาป

    เมื่อสัปดาห์ก่อน เราระบุกฎข้อแรกของการศึกษาพระคัมภีร์ว่า ต้องอ่านข้อความหนึ่ง โดยเปรียบเทียบกับข้อความอื่น ๆ ทั้งหมดของพระคัมภีร์ ในสัปดาห์นี้ เราจะกล่าวถึงกฎข้อที่สอง คือ เพื่อจะเข้าใจข้อความใดอย่างถ่องแท้ เราต้องพิจารณาสถานการณ์ และสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสั่งสอนเป็นส่วนประกอบด้วย ชาวยิวเป็นประชากรเลือกสรรของพระเจ้าตั้งแต่ก่อนจะมีใครบันทึกพันธสัญญาเดิมแม้แต่คำเดียวฉันใด พระศาสนจักรก็เกิดขึ้นก่อนที่จะมีใครเขียนพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่แม้แต่คำเดียวฉันนั้น พระคัมภีร์เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร พันธสัญญาใหม่ถูกเขียนขึ้นโดยสมาชิกของพระศาสนจักร ผู้ได้รับอิทธิพลจาก และเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ของงานอภิบาลในยุคสมัยของเขา

    ลูกาประสบปัญหาในงานอภิบาล ซึ่งเกิดจากการยอมรับการกลับใจของคริสตชนผู้เคยหลงผิด และต้องการกลับมาร่วมในกลุ่มคริสตชน แน่นอนว่าต้องมีคนที่ไม่ยินดีต้อนรับผู้หลงผิดเหล่านี้ให้กลับมาร่วมโต๊ะอาหาร แม้ว่าการบิปังเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงเอกภาพของสมาชิก ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูคงไม่ยินดีต้อนรับผู้หลงผิดเหล่านี้กลับมาเป็นแน่ “ผู้ที่เคยได้รับแสงสว่าง ได้ลิ้มรสพระพรจากสวรรค์ ได้รับพระจิตเจ้า ได้สัมผัสความดีงามแห่งพระวาจาของพระเจ้า และอานุภาพของโลกหน้าครั้งหนึ่งแล้ว หากยังคงกระทำผิดอีก ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นทุกข์กลับใจใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะเขาเหล่านั้นกำลังตรึงพระบุตรของพระเจ้าบนไม้กางเขน และประจานพระองค์อีกครั้งหนึ่ง” (ฮบ 6:4-6)

    เพื่อตอบคำถามของบุคคลที่ไม่ยอมรับคนบาปกลับใจ ลูกาจึงเล่าเหตุการณ์ที่คนบาปแสวงหาพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงต้อนรับพวกเขาให้มาร่วมโต๊ะอาหาร แต่ผู้ชอบธรรมทั้งหลายกลับบ่นว่าพระองค์ ในเหตุการณ์นี้ ลูกาจับอุปมาสามเรื่องของพระเยซูเจ้ามารวมกลุ่มกัน แต่ละเรื่องกล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างที่สูญหายไป แล้วจึงหาพบ และการพบนั้นเป็นโอกาสให้เฉลิมฉลอง

    เราสังเกตเห็นจิตใจอันละเอียดอ่อนของลูกา เมื่อเขาเสริมเรื่องราวจากโลกของคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นโลกของผู้ชาย ด้วยเรื่องอุปมาเกี่ยวกับหญิงคนหนึ่ง เรื่องที่สามมักใช้ชื่อเรื่องว่าลูกล้างผลาญ หรือบางครั้งก็เรียกว่าเรื่องของบิดาผู้ใจดี  แต่อันที่จริงน่าจะเรียกว่าเรื่องของพี่ชายที่ไม่รู้จักให้อภัยมากกว่า เนื่องจากบริบทของเรื่องคือคำตอบของพระเยซูเจ้าสำหรับคนที่บ่นว่าพระองค์ทรงต้อนรับคนบาป

    ขอให้สังเกตนิสัยด้านลบของตัวละครนี้ เขาย้ำแต่คำว่า “ไม่เคย” เขาโกรธ เขาพูดกับบิดาอย่างห้วน ๆ เมื่อพูดถึงน้องชาย เขาไม่เรียกว่า “น้อง” แต่เรียกอย่างเหยียดหยามว่า “ลูกคนนี้ของพ่อ” ข้าพเจ้าเชื่อว่าลูกากำลังสะท้อนทัศนคติไม่ประนีประนอม และความโกรธเคือง ที่เขาพบเห็นในการชุมนุมของกลุ่มคริสตชน

    พลังด้านลบนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกิริยาของผู้เลี้ยงแกะที่ออกตามหาแกะที่พลัดหลง กิริยาของหญิงผู้ค้นหาเหรียญที่หายไปทุกซอกทุกมุม และกิริยาของบิดาที่วิ่งไปหาบุตรที่กลับมา และสวมกอดบุตรไว้ในอ้อมแขน ทั้งสามคนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นคนที่มีความรักที่พร้อมจะแสดงออกอย่างฟุ่มเฟือย ในโลกของความเป็นจริง คนเลี้ยงแกะจะไม่ละทิ้งแกะ 99 ตัวไว้ในพื้นที่อันตรายเพื่อออกตามหาแกะเพียงตัวเดียว และเมื่อหญิงคนนี้ได้เลี้ยงฉลองกับเพื่อนบ้านที่นางเรียกมาแล้ว นางคงใช้จ่ายเงินไปมากกว่ามูลค่าของเหรียญนั้น และบิดาของบุตรเกเรคงจะต้อนรับบุตรอย่างเงียบ ๆ โดยให้เขาเข้าบ้านทางประตูหลัง แต่หัวใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตาของเขาอยากประกาศให้ทุกคนรู้และเลี้ยงฉลอง เพราะเรามองเห็นภาพนี้ได้ในใจ เราจึงบอกว่า แม้ว่าการสารภาพผิดเงียบ ๆ กับพระเจ้าเป็นเรื่องดีมาก แต่พระศาสนจักรสะท้อนให้เห็นความคิดของพระคริสตเจ้าในการเรียกเราให้เฉลิมฉลองการสารภาพผิดนี้ในศีลศักดิ์สิทธิ์

    ลูกาตอบคำถามอภิบาลเกี่ยวกับการยอมรับคนบาปกลับใจให้มาร่วมโต๊ะอาหาร โดยบอกเราอย่างชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าจะทรงทำอย่างไรในกรณีเช่นนี้ พระองค์ “ต้อนรับคนบาป และกินอาหารร่วมกับเขา” เหมือนกับที่เปาโลเขียนบอกทิโมธี ในบทอ่านที่สองของวันนี้ว่า “ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำที่น่าเชื่อถือ และน่าที่ทุกคนจะยอมรับ คือ พระคริสตเจ้าเสด็จมาในโลก เพื่อช่วยคนบาปให้รอดพ้น”

    ความท้าทายสำหรับเรา คือ เราต้องต้อนรับบุคคลที่เคยทำร้ายเรา หรือทำผิดต่อเรา กลับมาสู่โต๊ะอาหารแห่งความรักของเรา ข้าพเจ้าพร้อมหรือไม่ที่จะเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างที่จะออกตามหาคนหลงทาง ที่จะค้นหาอย่างถี่ถ้วนเพื่อคืนดี ข้าพเจ้าปล่อยให้หัวใจของข้าพเจ้าแข็งกระด้างเพราะความแค้นหรือเปล่า ข้าพเจ้าจมปลักอยู่กับถ้อยคำปฏิเสธหรือเปล่า ถ้อยคำเช่น ฉันไม่ให้โอกาสอีกแล้ว ... ฉันไม่มีวันยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในบ้านของฉัน ... ข้ามศพฉันไปก่อนเถิด ... ข้าพเจ้ายอมรับคำขอโทษหรือเปล่า ข้าพเจ้าทำให้ผู้อื่นกล่าวคำขอโทษได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า พระเยซูเจ้าจะทรงทำอย่างไรในสถานการณ์เดียวกัน แบบฉบับของพระองค์เป็นสิ่งที่เราต้องเลียนแบบ น่าเสียดายที่ในพระศาสนจักรของเรามีคนมากเกินไปที่ชอบพูดคำว่า “ไม่มีวัน”

ข้อรำพึงที่สอง
คนเดียวก็สำคัญ

    แม้แต่หนึ่งคนก็สำคัญสำหรับพระเจ้า พระเจ้าทรงรักมนุษย์แต่ละคนอย่างเข้มข้น คนเลี้ยงแกะที่มีแกะหนึ่งร้อยตัวรู้สึกกังวลเมื่อแกะหนึ่งตัวหายไป หญิงคนหนึ่งที่มีเหรียญอยู่ 10 เหรียญ ค้นหาอย่างถี่ถ้วนเมื่อเหรียญหนึ่งหายไป ชายคนหนึ่งที่มีบุตรสองคนสูญเสียบุตรคนหนึ่งให้แก่ความคึกคะนองของคนวัยหนุ่ม เขาป้องตาสำรวจเส้นขอบฟ้ามองหาใบหน้าหนึ่งเดียวนั้น คนเดินทางหลายคนผ่านไปและแวะทักทายพูดคุยกับเขา แต่หัวใจของเขากำลังรอคอยคนเพียงคนเดียว

    คนเดียวก็สำคัญสำหรับพระเจ้า “เราได้สลักชื่อเจ้าบนฝ่ามือของเรา” ชื่อหนึ่งก็มีค่าสำหรับพระเจ้า “เราได้เรียกเจ้าด้วยชื่อ เจ้าเป็นของเรา”

    ช่างแตกต่างจากกฎของป่าในสังคมยุคปัจจุบัน รัฐบาลวางแผนสำหรับคนเป็นล้าน แต่พร้อมจะเหยียบย่ำคนหนึ่งคน บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จัดการคนเป็นพัน ๆ โดยไม่มองว่าคนเหล่านั้นเป็นปัจเจกบุคคล ในโลกของการแข่งขันอันโหดร้าย ความสงสารถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอ และประโยชน์เพียงอย่างเดียวของความสงสารคือใช้ปกปิดความผิด กฎของพระเยซูเจ้าชี้ให้มองคนตัวเล็ก ๆ “ท่านทำอย่างไรต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยของเรา ท่านก็ทำเช่นนั้นต่อเรา” การพิพากษาจะขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราต่อผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด พระเยซูเจ้าทรงสัญญาจะประทานพระอาณาจักรที่พระองค์ทรงช่วงชิงมาได้บนเนินเขากัลวารีโอ ให้แก่คนต่ำต้อยหนึ่งคนเช่นนี้ และเขาคนนั้นเป็นโจร ในบทสนทนาแบบตัวต่อตัวที่เกิดขึ้นที่นั่น ผู้ร้ายกลับใจคนนี้เป็นบุคคลแรกในพระวรสารที่เรียกองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยพระนามของพระองค์ คือ พระเยซู

    บทเรียนแรกที่ได้รับจากบทอ่านนี้ คือ ข้าพเจ้าเป็นบุคคลสำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงห่วงใยคนบาปแม้แต่หนึ่งคน ถึงกับว่าการกลับคืนมาของคนบาปหนึ่งคนนี้เป็นโอกาสให้เลี้ยงฉลองกันในสวรรค์ทีเดียว ถ้าข้าพเจ้าเป็นคนบาปเพียงคนเดียวในโลก พระเยซูเจ้าคงทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงทำได้เพื่อคนบาปหนึ่งคนนั้น ... เพื่อข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าสำคัญถึงเพียงนี้สำหรับพระเจ้า แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่อยากสนิทสนมกับพระเจ้า และต้องการแสดงความเคารพพระองค์อยู่ห่าง ๆ

    แต่พระองค์ทรงรักข้าพเจ้า พระองค์ทรงต้องการได้ยินเสียงภาวนาของข้าพเจ้า เสียงเต้นของหัวใจข้าพเจ้า ลองคิดดูซิ พระเจ้าทรงต้องการข้าพเจ้า!

    บทเรียนที่สอง คือ สิ่งใดที่ข้าพเจ้าได้รับมาจากพระเจ้า ข้าพเจ้าต้องส่งต่อให้ผู้อื่น ความรักเมตตาเริ่มต้นจากในบ้าน การพูดถึงปัญหาในประเทศอื่น และประชาชนในประเทศห่างไกล เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างปลอดภัยและไม่เหนื่อยแรง แต่ข้าพเจ้าทำอย่างไรกับผู้ที่ข้าพเจ้าควรขอโทษ ... คนที่ข้าพเจ้าเคยวิพากษ์วิจารณ์ – คนที่ข้าพเจ้าผลักไสให้พ้นจากความรักของข้าพเจ้า บุคคลนั้นมีค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า ถ้าข้าพเจ้าอ้างว่าข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าอย่างจริงจัง ข้าพเจ้าต้องพยายามมีส่วนร่วมในความรักพิเศษที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษย์แต่ละคนด้วย

    พี่น้องทั้งหลาย ท่านทุกคนเป็นบุคคลสำคัญสำหรับพระเจ้า

บทรำพึงที่ 2

    วันนี้เราได้ยินบทอ่าน “ฉบับยาว” ของพระวรสาร ซึ่งลูกาได้นำอุปมาสามเรื่องที่เรารู้จักดี มารวมไว้ในบทที่ 15 คือเรื่องแกะที่พลัดหลง เงินเหรียญที่หายไป และบุตรชายที่หายไปและกลับคืนมา...

    อุปมาทั้งสามเรื่องนี้สรุปลงที่เรื่องที่สาม ธรรมประเพณีเรียกเรื่องนี้ว่า “บุตรล้างผลาญ” แต่เนื่องจากเราได้นำมารำพึงแล้วตั้งแต่วันอาทิตย์ที่สี่ของเทศกาลมหาพรต เราจึงจะไตร่ตรองเฉพาะอุปมาสองเรื่องแรกในที่นี้

บรรดาคนเก็บภาษี และคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อฟังพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ต่างบ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาป และกินอาหารร่วมกับเขา”

    นี่เป็นหนึ่งในคำนิยามบุคลิกภาพของพระเยซูเจ้า “คนที่ต้อนรับคนบาป” ... และยังเผยให้เราเห็นด้วยว่าพระเจ้าเป็นใคร เพราะ “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:9)

    ธรรมาจารย์ และฟาริสี เป็นคนดีมาก และน่ายกย่อง พวกเขาสะดุดใจจริง ๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงคบหาสมาคมกับคนทุกประเภท ... แต่เราเองก็อาจพลาดข่าวดี ถ้าเราไม่ตระหนักว่าพระองค์ทรงประกาศพระวรสารแก่เราด้วยเช่นกัน ... เราสมองทึบเกินไปจนกล้าพูดหรือว่า “ฉันไม่เคยทำอะไรผิด ฉันเป็นคนดี ฉันไม่มีบาป”...

    ในบทอ่านที่สองของวันอาทิตย์นี้ นักบุญเปาโลบอกเราอีกครั้งหนึ่งว่า “พระคริสตเยซูเสด็จมาในโลกเพื่อช่วยคนบาปให้รอดพ้น และข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทธ 1:15) มิสซาวันอาทิตย์ของเราเต็มเปี่ยมด้วยความเป็นจริงของ “การรอดพ้น” และ “บาปที่ได้รับการอภัย” ... เราเข้าใจความหมายของถ้อยคำเหล่านี้จริงหรือ ... เราเป็น “ฟาริสียุคใหม่” ที่มองเห็นแต่บาปในตัวผู้อื่นหรือเปล่า ... ก่อนจะรำพึงต่อไป ข้าพเจ้าต้องจารึกในมโนธรรมของข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าเป็นคนบาปคนหนึ่ง และระลึกถึงความผิดพลาดมากมายที่ข้าพเจ้ากระทำไปในแต่ละวัน...

พระองค์จึงตรัสเรื่องอุปมานี้ให้เขาฟัง “ท่านใดที่มีแกะหนึ่งร้อยตัว ตัวหนึ่งพลัดหลง จะไม่ละแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้ในถิ่นทุรกันดาร ออกไปตามหาแกะที่พลัดหลงจนพบหรือ”

    พระเยซูเจ้าทรงตั้งคำถาม พระองค์ทรงขอให้ผู้ฟังขบคิดจากประสบการณ์ของเขา “ท่านทั้งหลายคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ถ้าเป็นท่าน ท่านจะทำอย่างไร” ... ในความเป็นจริง ไม่มีคนเลี้ยงแกะคนใดยอมเสียแกะของตนไปแม้แต่ตัวเดียว แต่จะพยายามตามหามันจนกว่าจะพบ...

    นักปรัชญาคิดว่าพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าที่ “ถาวร” ทรงเป็นจุดเริ่มต้นที่คงที่และไม่เปลี่ยนแปลง ... แต่พระเยซูเจ้าทรงเสนอภาพของพระเจ้าผู้ทรงตระเวนไปทั่วแถบชนบทเพื่อตามหาสิ่งที่พระองค์สูญเสียไป ... พระองค์ทรงเชิญชวนเราให้นึกถึงภาพของคนเลี้ยงแกะบนเนินเขาในแคว้นกาลิลี ที่วิ่งเท้าเปล่าอย่างรวดเร็วบนพื้นที่เต็มไปด้วยก้อนหิน เพื่อตามหาแกะที่เร่ร่อนออกไปไกลจากฝูง เราคงเดาได้ว่าเด็กหนุ่มเหล่านี้มีความมุ่งมั่นไม่ท้อถอยอย่างไร เมื่อเขา “ออกไปตามหาแกะที่พลัดหลงจนพบ”

    พระเจ้าก็ทรงทำเช่นเดียวกันนี้...

    ไม่มีมนุษย์คนใดที่พระเจ้าทรงทอดทิ้ง ไม่มีมนุษย์คนใดที่ “หลงทาง” อย่างถาวร เพราะมีใครบางคนที่รักเขากำลังตามหาเขาไม่หยุด ... พระเจ้าไม่พอพระทัยเพียงจะรอคอยให้คนบาปกลับมาหาพระองค์ แต่พระองค์จะออกตามหาเขา...

    เราต้องเพ่งพินิจอย่างเนิ่นนานกับภาพของพระเจ้าที่พระเยซูเจ้าทรงเผยแก่เรานี้ คนที่มีความรักย่อมมีวิธีคำนวณที่แตกต่างจากผู้อื่น สำหรับเขา “หนึ่ง” อาจมีค่าเท่ากับ “เก้าสิบเก้า” ... สำหรับพระเจ้า ชายหรือหญิงแต่ละคนมีคุณค่าไม่เหมือนใครอื่น คุณค่าของแต่ละคนสูงเกินกว่าจะประมาณได้ ... แกะตัวที่พลัดหลงนี้เป็นสิ่งเดียวที่คนเลี้ยงแกะคิดถึง เป็นเรื่องเดียวที่เขาห่วงใย ... และพระเจ้าก็ทรงเป็นเช่นนั้น พระองค์ยังรักผู้ที่ทอดทิ้งพระองค์ ... พระองค์ยังรักคนที่ไม่รักพระองค์ ... พระองค์ทรงเป็นทุกข์เป็นร้อนเพราะแกะหนึ่งตัวของพระองค์กำลังตกอยู่ในอันตราย...

    บางครั้ง ข้าพเจ้าก็เป็นแกะที่ “พลัดหลง” ตัวนี้ไม่ใช่หรือ ... และบางทีรอบตัวข้าพเจ้าก็มีชายคนนี้  หรือหญิงคนนั้น ที่เป็นแกะพลัดหลง ... แต่ไม่มีใครถูกทอดทิ้ง พระเจ้าทรงกำลังออกตามหาเขาคนนั้น ... ทรงตามหาแต่ละคน...

เมื่อพบแล้ว เขาจะยกมันใส่บ่าด้วยความยินดี...

    นี่คือภาพลักษณ์อันน่ายินดี เป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอต่อเราตั้งแต่ศตวรรษต้น ๆ ... ภาพลักษณ์ของคนเลี้ยงแกะผู้มีความสุข ใบหน้ายิ้มแย้ม และแบกลูกแกะไว้บนบ่า ... เราควรใช้ทั้งจินตนาการ และหัวใจเพ่งพินิจ “ภาพ” นี้ของพระเจ้า...

    รายละเอียดของ “แกะบนบ่า” เป็นคำบรรยายอันละเอียดอ่อน และเต็มไปด้วยความหมายของพระเยซูเจ้า เมื่อสัตว์ตัวหนึ่งพลัดหลงจากฝูงเป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือหลายวัน มันจะหมอบอยู่กับพื้นเพราะหมดแรง และจำเป็นต้องมีคนอุ้ม – แกะตัวหนักไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเมื่อคนเลี้ยงแกะเองก็วิ่งตากแดดตามหามันบนเนินเขาที่เต็มไปด้วยหินมานานหลายชั่วโมง ... เขาเองก็ต้องเหนื่อยเหมือนกัน ... แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าเขาเต็มไปด้วยความยินดี ลืมความเหนื่อยล้าของตนเอง และยกแกะตัวนั้นขึ้นแบกบนบ่า...

    นี่คือภาพของพระเจ้าที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยายให้เราเห็น...

    อันที่จริง นี่ไม่ใช่ภาพลักษณ์ใหม่ พระคัมภีร์เสนอภาพของพระเจ้าว่าเป็น “ผู้เลี้ยงแกะ” มาโดยตลอด (อสย 40:11, 49:10 เป็นต้น) คริสตชนทุกคนควรท่องบทสดุดี 23 บ่อย ๆ ว่า “พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสนสิ่งใด”...

เขากลับมาบ้าน เรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมา พูดว่า “จงร่วมยินดีกับฉันเถิด ฉันพบแกะตัวที่พลัดหลงนั้นแล้ว”

    คนเลี้ยงแกะยินดีจนไม่อาจเก็บความยินดีนั้นไว้เงียบ ๆ คนเดียว ... พระเจ้าตรัสว่า “จงร่วมยินดีกับฉันเถิด” ... บัดนี้ พระเจ้าทรงเป็นบุคคลที่กำลังตื่นเต้นยินดีนี้ ... ต่างจากธรรมาจารย์ และชาวฟาริสีที่เอาแต่บ่นจริง ๆ...

เราบอกท่านทั้งหลายว่า ในสวรรค์จะมีความยินดีเช่นนี้เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจมากกว่าความยินดีเพราะคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจใหม่”

    พระเจ้าทรงยินดีเมื่อพระองค์ให้อภัยคนบาป พระเจ้าทรงมีความสุขเมื่อทรงช่วยเราให้รอดพ้น เพราะพระเจ้าไม่สามารถลงโทษใครได้ ... ในสวรรค์มีแต่ความยินดีทุกครั้งที่คนบาปคนหนึ่งกลับใจ ... ทุกครั้งที่ความชั่วถอยห่างออกไปจากโลกแม้เพียงเล็กน้อย...

หญิงคนใดที่มีเงินสิบเหรียญแล้วทำหายไปหนึ่งเหรียญ จะไม่จุดตะเกียง กวาดบ้าน ค้นหาอย่างถี่ถ้วนจนกว่าจะพบหรือ

    ลูกาผู้ใส่ใจกับสตรีเสมอ เป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่บอกเล่าอุปมาที่มีสตรีเป็นตัวละคนเอกนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สอนบทเรียนเดียวกัน แต่ใช้ภาพลักษณ์ต่างกัน นี่ไม่ได้เป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา แต่พระเยซูเจ้าทรงย้ำเตือน ราวกับจะบอกเราว่าสิ่งที่พระองค์เพิ่งจะเผยแสดงนี้ไม่ได้เกินความจริง ไม่ใช่ความผิดพลาดโดยเจตนา พระองค์ทรงยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงความรักอันน่าตื่นตะลึงของพระเจ้า...

เมื่อพบแล้ว นางจะเรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมา พูดว่า “จงร่วมยินดีกับฉันเถิด ฉันพบเงินเหรียญที่หายไปแล้ว”

    นี่เป็นความยินดีแบบซื่อ ๆ ในหมู่คนที่ต่ำต้อย และเป็นข้อสังเกตที่เป็นรูปธรรม หญิงคนนี้เป็นคนจน นางไม่ได้เป็นเจ้าของ “แกะหนึ่งร้อยตัว” นางมีเพียง “เงินสิบเหรียญ” แต่ละเหรียญมีค่าเท่ากับค่าแรงหนึ่งวันของคนงานในสวน (มธ 20:2) แม้ว่าเหรียญที่นางหาพบมีค่าน้อยมาก แต่นางก็ต้องการให้ผู้อื่นร่วมยินดีกับนางด้วย...

    พระเจ้าทรงเป็นเช่นนี้ ... เราอาจยังไม่เข้าใจดีพอว่าความยินดีนี้หลั่งไหลออกมาจากพระหทัยของพระเจ้าอย่างไร ความยินดีนี้กระจายอยู่ทั่วไปในพระวรสารเหมือนเป็น “ข่าวดี” และไหลท่วม “มนุษยชาติผู้ได้รับความรอดพ้น” ทุกคน...

เราบอกท่านทั้งหลายว่า ทูตสวรรค์ของพระเจ้าจะมีความยินดีเช่นเดียวกัน เมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับใจ

    ภาพลักษณ์นี้งดงามมาก เราไม่ควรใช้จินตนาการมากเกินไป จนทำให้มองเห็นแต่ภาพทางวัตถุเท่านั้น

    สวรรค์กำลังอยู่ในอารมณ์ชื่นชมยินดี ความยินดีของพระเจ้ามากมายจนกลายเป็นความยินดีของทูตสวรรค์ ... ความยินดี และการเฉลิมฉลองทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะการกลับใจของคนบาปเพียงคนเดียว!

    ความคิดอย่างคริสตชน ซึ่งเป็นเงาสะท้อนของความคิดของพระเยซูเจ้า ต้องแยกแยะรายละเอียดอันซับซ้อน เรารู้ดีว่าประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรประนีประนอมกับ “บาป” พระเยซูเจ้าไม่เคยตรัสว่าบาปไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ตรงกันข้าม พระองค์ทรงประณามความชั่วด้วยถ้อยคำรุนแรงเช่นเดียวกับประกาศกทุกคนเคยประณาม พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้มนุษย์กลับใจและใช้โทษบาป (มก 1:15) แม้แต่เรื่องอุปมาที่เราเพิ่งจะได้ยิน นอกจากเป็นคำสั่งสอนเรื่องความรักของพระเจ้าแล้ว ยังเป็นคำสั่งสอนเรื่องความจำเป็นที่คนบาปต้องกลับใจด้วย...

    แต่สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงแก่เรา คือพระเจ้าทรงเป็นฝ่ายเริ่มต้นตามหาผู้ที่หลงทาง “ความรักอยู่ที่ว่าพระเจ้าทรงรักเรา ... พระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยน 4:10, 19)

    เราจะยอมให้พระองค์รักเราหรือไม่ ... เราจะทำให้พระองค์ยินดีหรือเปล่า ... เพื่อว่าเราจะเข้าร่วมในความยินดีของพระองค์...

    หลังจากนี้ ขอให้อ่านคำอธิบายอุปมาเรื่อง “บุตรล้างผลาญ” อีกครั้งหนึ่ง