แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ยี่สิบห้า เทศกาลธรรมดา

ลูกา 16:1-13
    พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์อีกว่า “เศรษฐีผู้หนึ่งมีผู้จัดการดูแลผลประโยชน์คนหนึ่ง มีผู้มาฟ้องว่าผู้จัดการคนนี้ผลาญทรัพย์สินของนาย เศรษฐีจึงเรียกผู้จัดการมาถามว่า ‘เรื่องที่เราได้ยินเกี่ยวกับเจ้าเป็นอย่างไร จงทำบัญชีรายงานการจัดการของเจ้า เพราะเจ้าจะไม่ได้เป็นผู้จัดการอีกต่อไป’ ผู้จัดการจึงคิดว่า ‘ฉันจะทำอย่างไร นายจะไล่ฉันออกจากหน้าที่ผู้จัดการแล้ว จะไปขุดดินก็ทำไม่ไหว จะไปขอทานก็อายเขา ฉันรู้แล้วว่าจะทำอย่างไร เพื่อว่าเมื่อฉันถูกไล่ออกจากหน้าที่ผู้จัดการแล้วจะมีคนรับฉันไว้ในบ้านของเขา’
    เขาจึงเรียกลูกหนี้ของนายเข้ามาทีละคน ถามคนแรกว่า ‘ท่านเป็นหนี้นายข้าพเจ้าเท่าไร’ ลูกหนี้ตอบว่า ‘เป็นหนี้น้ำมันมะกอกหนึ่งร้อยถัง’ ผู้จัดการจึงบอกว่า ‘นำใบสัญญาของท่านมา นั่งลงเร็ว ๆ เขียนแก้เป็นห้าสิบถัง’ แล้วเขาถามลูกหนี้อีกคนหนึ่งว่า ‘แล้วท่านล่ะ เป็นหนี้อยู่เท่าไร’ เขาตอบว่า ‘เป็นหนี้ข้าวสาลีหนึ่งร้อยกระสอบ’ ผู้จัดการจึงบอกว่า ‘เอาใบสัญญาของท่านมาแล้วเขียนแก้เป็นแปดสิบกระสอบ’
    นายนึกชมผู้จัดการทุจริตคนนั้นว่าเขาทำอย่างเฉลียวฉลาด ทั้งนี้ก็เพราะบุตรของโลกนี้มีความเฉลียวฉลาดในการติดต่อกับคนประเภทเดียวกัน มากกว่าบุตรของความสว่าง
    ดังนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงใช้เงินทองของโลกอธรรมนี้เพื่อสร้างมิตรให้ตนเอง เพื่อว่าเมื่อเงินทองนั้นหมดสิ้นแล้ว ท่านจะได้รับการต้อนรับสู่ที่พำนักนิรันดร ผู้ที่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย ก็จะซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย ก็จะไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเงินทองของโลกอธรรมแล้ว ผู้ใดจะวางใจมอบสมบัติแท้จริงให้ท่านดูแลเล่า ถ้าท่านไม่ซื่อสัตย์ในการดูแลทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ผู้ใดจะให้ทรัพย์สมบัติของท่านแก่ท่าน
    ไม่มีผู้ใดเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาจะชังนายคนหนึ่งและจะรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนหนึ่ง และจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ทาส หรือผู้จัดการ

    เงินเป็นผู้รับใช้ที่ดี และทำประโยชน์ได้มากมาย แต่เงินจะเป็นนายที่โหดร้าย ถ้าเรายอมให้มันควบคุมชีวิตของเรา

    พระเยซูเจ้าไม่เคยแสดงความปรารถนาใด ๆ ที่จะเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน หลังจากทรงสละความอบอุ่นมั่นคงของบ้านที่นาซาเร็ธ พระองค์ไม่มีแม้แต่ที่จะวางพระเศียร พระองค์ทรงต้องพึ่งความใจกว้างของผู้อื่นที่จะแบ่งปันสิ่งที่พระบิดาประทานให้กับพระองค์ พระองค์ไม่ทรงประณามคนรวยเพียงเพราะเขารวย ในบรรดาศิษย์ของพระองค์มีบุคคลฐานะดี เช่นนิโคเดมัส และโยเซฟชาวอริเมเธีย รวมอยู่ด้วย และพระองค์ทรงตอบรับคำเชิญจากบุคคลที่ร่ำรวยพอจะจัดงานเลี้ยง แต่พระองค์ตรัสถึงหน้าที่สำคัญของคนรวยในการใช้ทรัพย์ของตนช่วยเหลือคนจน และพระองค์ทรงเตือนว่าความร่ำรวยอาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความร่ำรวยฝ่ายจิตได้โดยง่าย พระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์จะสูญเสียอิสรภาพ และอุดมการณ์ของตนอย่างรวดเร็วเมื่อเขาเริ่มสะสมทรัพย์สินเงินทอง ดังนั้น พระองค์จึงอธิบายว่าเงินเป็นสิ่ง “อธรรม” เพราะมันสามารถทำลายชีวิตได้

    ธรรมประเพณีบอกว่ามีบาปต้นเจ็ดประการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นนิสัยที่อ่อนแอ และเป็นต้นเหตุของความชั่วภายในตัวเรา บาปต้นข้อที่สองรองจากความจองหอง คือความโลภ ความโลภเป็นความปรารถนาอันเกิดจากแรงกระตุ้นให้ต้องการครอบครองทรัพย์มากขึ้น ยิ่งเราปล่อยให้แรงกระตุ้นนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่ระงับยับยั้ง เรายิ่งตกเป็นทาสมากขึ้น แรงกระตุ้นนี้ไม่รู้จักความหมายของคำว่าพอ มันเหมือนกับสัตว์ประหลาดที่ยิ่งกินก็ยิ่งหิว ผู้ครอบครองจะยิ่งตกเป็นทาสของทรัพย์ที่เขาครอบครอง ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงบอกว่าเงินทองจะทำให้ผู้ครอบครองมันตกเป็นทาสของมัน

    แต่กระนั้น เงินทองก็ยังสามารถทำประโยชน์ได้มากมาย “จงใช้เงินทองของโลกอธรรมนี้เพื่อสร้างมิตรให้ตนเอง เพื่อว่า ... ท่านจะได้รับการต้อนรับสู่ที่พำนักนิรันดร”

    พระเยซูเจ้าทรงมองว่าเราทุกคนเป็นพี่น้องกันในโลกที่มีพระบิดาองค์เดียวกัน เมื่อมองในแง่นี้ การเป็นเจ้าของจึงเป็นการจัดการสิ่งสร้างของพระเจ้าด้วยความรักฉันพี่น้อง และผู้จัดการทรัพย์สินที่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อยจะได้เลื่อนตำแหน่งให้รับผิดชอบสิ่งที่สำคัญกว่า

    ผู้จัดการที่ดูแลทรัพย์ของพระเจ้าจะต้องรายงานต่อพระเจ้าว่าเขาใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ อย่างไร “สิ่งใดที่ท่านกระทำต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยของเรา ...” คนจนกลายเป็นยามเฝ้าประตูสวรรค์สำหรับผู้ที่แบ่งปันทรัพย์ของตนแก่พวกเขา เป็นผู้ต้อนรับเขาเข้าสู่ที่พำนักนิรันดร แต่ “สิ่งที่ท่านละเลยไม่กระทำต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยของเรา...” ในกรณีนี้ คนจนจะยืนขึ้นประณามคนรวยที่ปรนเปรอตนเอง

    ประกาศกอาโมส (บทอ่านที่หนึ่ง) เตือนคนรวยว่าพระเจ้ากำลังจดบันทึก “เราจะไม่ลืมแม้แต่สิ่งเดียวที่ท่านกระทำ”

    เมื่อพระเจ้าทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในที่สุด มีอะไรบ้างที่เราสามารถเรียกได้ว่าทรัพย์สินส่วนตัว เราได้รับความสามารถพิเศษ หรือทรัพย์ทางวัตถุทุกชิ้นที่เราครอบครองอยู่พร้อมกับความรับผิดชอบ กฎหมายปกป้องสิทธิของผู้เป็นเจ้าของอย่างรอบคอบ แต่กลับมองข้ามประเด็นความรับผิดชอบในการแบ่งปันพระพรต่าง ๆ ที่ได้รับจากพระเจ้ากับผู้อื่น ข่าวของความอดอยาก หรือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ ที่เราได้ยินเป็นครั้งคราวอาจทิ่มแทงมโนธรรมของเรา แต่เราพอใจกับตัวเองจนกระทั่งเพียงการแสดงความใจกว้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ดับเสียงมโนธรรมของเราได้แล้ว เราแสดงจิตสำนึกด้านสังคมและการเมืองน้อยมากเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ขอบเขตและผลกระทบของความยากจนในวันนี้เป็นเสียงกล่าวโทษที่เราไม่สนใจคำสั่งสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้า

    ชุมชนคริสตชนยุคต้นเข้าใจดีว่าผู้ที่ร่วมในพิธีบิปัง มีหน้าที่แบ่งปันให้แก่สมาชิกที่ยากจน ด้วยการกระจายความร่ำรวยของตน มีอะไรบ้างที่เราครอบครองอยู่ที่ไม่ได้มาจากพระผู้สร้างผู้ทรงเป็นพระบิดาของทุกคน พระพรทุกอย่างที่ได้รับจากพระผู้สร้างมาพร้อมกับความรับผิดชอบในการใช้ประโยชน์ และแบ่งปันกับผู้อื่น

ข้อรำพึงที่สอง
พระพรต่าง ๆ ที่พบข้างทาง

    พระเจ้าทรงประดับเส้นทางการเดินทางผ่านโลกนี้ด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่ให้ความรื่นรมย์ และสะดวกสบาย ด้วยสิ่งสร้างอันงดงามน่าพิศวงอันหลากหลาย ด้วยของขวัญต่าง ๆ ให้เราลิ้มรส และชื่นชม แต่ย่อมเป็นความผิดพลาดถ้าเราจะชื่นชมกับพระพรเหล่านี้จนไม่เดินทางต่อไปให้ถึงพระเจ้าผู้ประทานสิ่งเหล่านี้แก่เรา ผลอย่างหนึ่งของบาปคือทำให้เราสายตาสั้น เราลืมเป้าหมายของชีวิตที่อยู่ไกลออกไป และเป็นจุดหมายปลายทางของเรา และหันมาจมอยู่กับความรื่นรมย์ข้างทาง แต่ความงามของสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ในไม่ช้าเปลวไฟของมันจะกลายเป็นเถ้าถ่าน และเมื่อเสพมากเกินไป รสชาติของมันจะเปลี่ยนเป็นเปรี้ยว ความเศร้าของฤดูใบไม้ร่วงสามารถเป็นบทเรียนที่ธรรมชาติสอนเรา บัดนี้ สีสันอันสดใสของต้นฤดูใบไม้ผลิกลายเป็นความทรงจำอันเลือนราง แสงสว่างของกลางวันลดความจ้าลง และกลางคืนมาถึงเร็วขึ้น สิ่งที่เหลืออยู่คือต้นไม้ และพุ่มไม้ที่ใบเปลี่ยนสีใกล้ตาย เมื่อชีวิตของเราล่วงเลยเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ร่วง เราจะสัมผัสกับความหงุดหงิดที่สิ่งที่เราคาดหวังไว้ไม่กลายเป็นจริง และต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกว่างเปล่าเพราะไม่มีอะไรเหลือให้คาดหวังอีกต่อไป และความไม่จีรังของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นบทเรียนที่ธรรมชาติสอนเราให้ตั้งวิสัยทัศน์ และความหวังของเราไว้ที่คุณค่าที่ห่างไกลกว่า และยั่งยืนมากกว่า

    ถ้าเราติดใจอยู่กับความพึงพอใจทางวัตถุ และกามารมณ์ เราก็เหมือนกับเด็ก ๆ ที่เก็บลูกเบอรี่ที่ขึ้นอยู่ริมทางมากินมากเกินไปจนป่วย หรือเดินชมดอกไม้ตามทางจนหลงทาง หรือเผลอเล่นจนมืดค่ำ และหาทางกลับบ้านไม่ได้

    ความผิดพลาดของบาปคือการผูกใจอยู่กับพระพรของพระเจ้าจนละเลยพระผู้ประทานสิ่งเหล่านี้ เคล็ดลับของนักบุญคือ เขารู้ว่าควรใช้พระพรเหล่านี้อย่างไร เพื่อพาตนเองกลับไปหาพระเจ้าผู้ประทานพระพรเหล่านี้ ไม่มีใครบรรยายได้เหมาะสมชัดเจนกว่านักบุญออกุสติน “ข้าพเจ้ารักพระองค์สายเกินไป โอ้ ความงามที่เก่าเสมอและใหม่เสมอ ... ข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ภายนอก และในความอัปลักษณ์ของข้าพเจ้า ได้พบกับสิ่งน่ารักทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์อยู่กับข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่กับพระองค์ และสิ่งเหล่านั้นดึงข้าพเจ้าออกห่างจากพระองค์ แต่กระนั้น ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่กับพระองค์ มันก็จะไม่มีตัวตนอยู่เลย” (Confession, Book 10)

    นักบุญฟรังซิส แห่งอัสซิซี เป็นผู้ที่เผยให้เห็นว่าด้วยการไม่ครอบครองสิ่งใดเลย เราจึงสามารถชื่นชมกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ น้อยคนที่พยายามมากเท่ากับฟรังซิส ที่จะไม่ยอมให้สิ่งของครอบครองตัวเขา แต่ก็ไม่มีใครที่มีความสนิทสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับสิ่งสร้างได้ลึกล้ำเท่ากับฟรังซิส ผู้เขียนชีวประวัติของเขาบรรยายว่า ฟรังซิสมอบทุกสิ่งคืนให้พระเจ้า เขาสรรเสริญองค์ศิลปินสำหรับงานศิลปะทุกชิ้น ไม่ว่าเขาพบพานสิ่งใดในสิ่งต่าง ๆ เขาคิดถึงพระผู้สร้างสิ่งนั้น ... เขามองเห็นความงามในสิ่งที่สวยงาม ทุกสิ่งล้วนดีงามสำหรับเขา เขาใช้ทุกสิ่งทำเป็นบันใดที่เขาใช้ปีนขึ้นไปยังบัลลังก์ของพระเจ้า” (2 Celano, 165)
    ผู้ที่มองเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานให้เพื่อประดับเส้นทางของการเดินทางของเราได้มากที่สุด คือ ผู้ที่ไม่ต้องการครอบครองสิ่งเหล่านี้ด้วยความโลภ แต่ส่งสิ่งเหล่านั้นคืนให้พระผู้สร้างด้วยความกตัญญูรู้คุณ และการสรรเสริญ เราจะติดใจอยู่กับพระพรเล็กน้อยไปทำไม เมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงการลิ้มลองล่วงหน้ารสชาติของพระเจ้าผู้ประทานสิ่งเหล่านั้นแก่เรา

บทรำพึงที่ 2

พระเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์อีกว่า ...

    อุปมาเรื่อง “ผู้จัดการทุจริต” เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราพบในพระวรสารที่เป็นที่สะดุด ซึ่งสัตบุรุษฟังแล้วยิ้ม และรอว่าพระสงฆ์จะอธิบายบทเรียนเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ครั้งนี้อย่างไร

    แต่เรื่องนี้เป็นอุปมา กล่าวคือเป็น “ปริศนาธรรม” ... ไม่ใช่ว่าทุกรายละเอียดเป็นบทเรียนสอนใจได้ และคำสั่งสอนก็ไม่ได้ระบุออกมาด้วยถ้อยคำที่มีเหตุมีผล หรือเข้าใจง่าย ... พระเยซูเจ้าทรงทำตัวง่าย ๆ เหมือนกับนักเล่านิทานทั่วไปที่ขยิบตาบอกผู้ฟังให้ฟังด้วยสามัญสำนึก “จงแสดงให้เห็นว่าพวกท่านฉลาดมากน้อยอย่างไร จงทำความเข้าใจกับคำสั่งสอนที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ สิ่งที่เราจะบอกท่านอาจฟังดูน่าตกใจ แต่เราจำเป็นต้องพูด”

เศรษฐีผู้หนึ่งมีผู้จัดการดูแลผลประโยชน์คนหนึ่ง มีผู้มาฟ้องว่าผู้จัดการคนนี้ผลาญทรัพย์สินของนาย

    ผู้จัดการที่ผลาญเงินทอง! อุปมาทั้งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการดูแลผลประโยชน์ ตามกฎหมายโรมัน เช่นเดียวกับความคิดของคนทั่วไป ทรัพย์สินก็คือ “สิทธิของเราที่จะใช้สิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา ไม่ว่าจะใช้มันในทางที่ถูกหรือผิดก็ตาม” ... เมื่อมันเป็นของฉัน ฉันจะทำอย่างไรกับมันก็ย่อมได้ ... แต่คริสตชนต้องไม่มองทรัพย์สินส่วนตัวในแง่นี้ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของแท้ แต่เป็นเพียง “ผู้ดูแลทรัพย์สิน” ดูแลสิ่งที่ยังเป็นของมนุษย์ทุกคนต่อไป คำสั่งสอนนี้มาจากพระเยซูเจ้าโดยตรง (และไม่ได้มาจากลัทธิคอมมิวนิสต์) ซึ่งสภาสังคายนาได้ย้ำอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ “พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้โลกนี้ และทุกสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ ดำรงอยู่เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ทุกคน และทุกชนชาติ” (Church in the Modern World, 69)

เศรษฐีจึงเรียกผู้จัดการมาถามว่า “เรื่องที่เราได้ยินเกี่ยวกับเจ้าเป็นอย่างไร จงทำบัญชีรายงานการจัดการของเจ้า เพราะเจ้าจะไม่ได้เป็นผู้จัดการอีกต่อไป”

    ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้า คุณสมบัติ และสติปัญญาของข้าพเจ้า ความมั่งคั่งด้านศีลธรรม หรือจิตวิญญาณ และสมรรถภาพด้านอารมณ์ของข้าพเจ้า ล้วนถูกมอบหมายให้ข้าพเจ้าดูแลทั้งสิ้น และข้าพเจ้าจะต้องรายงานการใช้สมบัติเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิผลาญพระพรที่พระเจ้าทรงมอบหมายแก่ข้าพเจ้าให้สูญเปล่า เพราะสมบัติเหล่านี้ยังคงเป็นของพระองค์ พระเจ้าไม่พอพระทัยความสูญเปล่า เพราะเป็นการสบประมาทคนทั้งหลายที่ขัดสนสิ่งเหล่านี้...

ผู้จัดการจึงคิดว่า “ฉันจะทำอย่างไร นายจะไล่ฉันออกจากหน้าที่ผู้จัดการแล้วจะไปขุดดินก็ทำไม่ไหว จะไปขอทานก็อายเขา ฉันรู้แล้วว่าจะทำอย่างไร เพื่อว่าเมื่อฉันถูกไล่ออกจากหน้าที่ผู้จัดการแล้วจะมีคนรับฉันไว้ในบ้านของเขา”

    การพูดกับตนเองเช่นนี้แสดงว่าผู้จัดการรู้ตัวว่ากำลังมีปัญหา เขาต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว พรุ่งนี้ก็อาจสายเกินไป เขาอาจถูกไล่ออกภายในหนึ่งหรือสองชั่วโมง เขาต้องทำอะไรบางอย่างโดยเร็ว ... ความเร่งรีบนี้ทำให้คิดถึง “ความเร่งด่วน ของอวสานกาล” ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะไขว่คว้าหาสมบัตินิรันดร ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงพยายามสอนให้คนร่วมสมัยคิดถึง ... ขอให้เราฉวยโอกาสเมื่อยังมีเวลา มิฉะนั้น “เราจะไม่มีเวลาแม้แต่จะหันกลับ” เหมือนกับเรายอมรับว่าเราไม่ได้มุ่งหน้าไปหาเป้าหมายแท้ของเรา เราจำเป็นต้อง “หันกลับ” ต้องกลับใจอย่างเร่งด่วน

เขาจึงเรียกลูกหนี้ของนายเข้ามาทีละคน ถามคนแรกว่า “ท่านเป็นหนี้นายข้าพเจ้าเท่าไร” ลูกหนี้ตอบว่า “เป็นหนี้น้ำมันมะกอกหนึ่งร้อยถัง” ผู้จัดการจึงบอกว่า “นำใบสัญญาของท่านมา นั่งลงเร็ว ๆ เขียนแก้เป็นห้าสิบถัง” แล้วเขาถามลูกหนี้อีกคนหนึ่งว่า “แล้วท่านล่ะ เป็นหนี้อยู่เท่าไร” เขาตอบว่า “เป็นหนี้ข้าวสาลีหนึ่งร้อยกระสอบ” ผู้จัดการจึงบอกว่า “เอาใบสัญญาของท่านมา แล้วเขียนแก้เป็นแปดสิบกระสอบ”

    การฉ้อโกงครั้งนี้ฉลาดเพราะเหตุผลสามประการ ผู้จัดการไม่ต้องเสียอะไรเลย ... เขาไม่ทิ้งร่องรอยให้สืบค้น ... ปลอดภัยจากการค้นพบในภายหลัง ... มนุษย์ไม่เปลี่ยนนิสัยเลยตั้งแต่สมัยของพระเยซูเจ้า…

    หนี้สองประเภทนี้ คือน้ำมันและข้าวสาลี เป็นผลิตผลที่ซื้อขายกันทั่วไปในดินแดนปาเลสไตน์ น้ำมันร้อยถังเทียบเท่ากับน้ำมัน 365 ลิตร ข้าวสาลีหนึ่งร้อยกระสอบเทียบเท่ากับ 364 ควินทัล ... ผู้เชี่ยวชาญบอกเราว่า “ส่วนลด” ในสองกรณีนี้มีค่าเท่ากับค่าแรงเฉลี่ย 500 วัน เราสามารถคำนวณจำนวนเงินที่ผู้จัดการฉ้อโกงเทียบเป็นมูลค่าปัจจุบันได้

    เมื่อได้ฟังถึงตอนนี้ ผู้ฟังคงคาดหมายว่าจะได้ยินคำประณามจากพระเยซูเจ้า แต่ขอให้เราฟังว่าพระองค์ตรัสอะไรต่อไป...

นายนึกชมผู้จัดการทุจริตคนนั้นว่าเขาทำอย่างเฉลียวฉลาด ทั้งนี้ก็เพราะบุตรของโลกนี้มีความเฉลียวฉลาดในการติดต่อกับคนประเภทเดียวกันมากกว่าบุตรของความสว่าง

    เราคงแปลกใจที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงความยินดีกับผู้จัดการทุจริตคนนี้ แต่เราจะเข้าใจเมื่อได้ยินพระองค์อธิบาย

    แต่ก่อนอื่น เราต้องบอกว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงเห็นชอบกับการฉ้อโกงของผู้จัดการทุจริตคนนี้ เพราะพระองค์ทรงคิดว่าชายคนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่ง “ความมืด” ซึ่งมีซาตานเป็น “เจ้านาย” (ยน 12:31) และเป็นโลกที่ “บุตรแห่งความสว่าง” ไม่ควรยุ่งเกี่ยวด้วย (1 ธส 5:4-5)

ดังนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงใช้เงินทองของโลกอธรรมนี้เพื่อสร้างมิตรให้ตนเอง เพื่อว่าเมื่อเงินทองนั้นหมดสิ้นแล้ว ท่านจะได้รับการต้อนรับสู่ที่พำนักนิรันดร

    เพื่อสร้างมิตร ... เพื่อสร้างมิตรภาพ ... นี่คือเหตุผลที่พระองค์ทรงชมเชย...

    ประโยคนี้คือแก่นของเรื่องอุปมา พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยสารที่พระองค์ทรงต้องการสื่อ กล่าวคือ ให้ใช้ความร่ำรวยในทางที่ถูกเพื่อสร้างมิตรภาพ และใส่ความรักในความสัมพันธ์ของเรา นี่เป็นแนวคิดที่ปฏิวัติความคิดเรื่องเงินทอง เราต้องใช้เงินเป็นเครื่องมือในการแบ่งปันและสร้างมิตรภาพ ... เงินทองไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายในตัวเอง เพราะมันนำความยินดีมาให้ผู้อื่นได้ รวมทั้งบุคคลที่ช่วยกระจายความยินดีผ่านทางเงินทองที่เขาให้ พระวรสารของลูกาย้ำมากกว่าพระวรสารฉบับอื่นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเมสสิยาห์ของคนจน” อาณาจักรสวรรค์เป็นของคนยากจนเหล่านี้ และคนรวยจะเข้าสู่สวรรค์ได้โดยอาศัยความคุ้มครอง และการแนะนำของคนจนที่พวกเขาเป็นมิตรด้วย

    ท่านใช้เงินทองของท่านอย่างไร...

    คำถามนี้น่ากลัวหรือ ... เปล่าเลย แต่เป็น “ข่าวดี” สำหรับคนรวย ซึ่งบัดนี้รู้แล้วว่าเขาสามารถได้รับความรอดพ้น และเข้าสู่ “ที่พำนักนิรันดร” ได้เมื่อ “เงินทองนั้นหมดสิ้นแล้ว”

ผู้ที่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อยก็จะซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย ก็จะไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย

    ในบทสรุปของคำบอกเล่านี้ เราพบหลายข้อความที่เผยให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงคิดอย่างไรเรื่องเงินทอง

    ก่อนอื่น พระองค์ทรงถือว่าเงินเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” เมื่อเทียบกับเรื่อง “ใหญ่” ซึ่งหมายถึงอาณาจักรนิรันดร ... ข้าพเจ้ายอมรับความคิดเห็นนี้ด้วยหรือเปล่า...

ถ้าท่านไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเงินทองของโลกอธรรมแล้ว ผู้ใดจะวางใจมอบสมบัติแท้จริงให้ท่านดูแลเล่า

    คำยืนยันข้อที่สอง – พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าเงินทองเป็นของ “โลกอธรรม” มันล่อลวง และเป็นกับดักที่ให้ความรู้สึกมั่นคงจอมปลอม เราไม่ควรตั้งความหวังไว้กับเงินทอง (1 ทธ 6:17) ในพระวรสารหน้านี้ปรากฏคำว่าทุจริต และอธรรม หลายครั้ง ซึ่งแปลมาจากภาษากรีกคำเดียวกัน

    เราแต่ละคนได้รับเชิญให้พิจารณามโนธรรมของตนเอง และถามตนเองว่าเรามีทัศนคติอย่างไรต่อทรัพย์สมบัติ เรามีทัศนคติที่ทุจริต หรืออธรรมหรือเปล่า

    เงินเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก และสามารถใช้เป็นเครื่องมือผูกมิตรกับผู้อื่นได้ แต่ก็อาจเป็นพลังของความชั่วได้เช่นเดียวกัน...

ถ้าท่านไม่ซื่อสัตย์ในการดูแลทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ผู้ใดจะให้ทรัพย์สมบัติของท่านแก่ท่าน

    คำยืนยันข้อที่สามนี้ทันสมัยมาก พระเยซูเจ้าทรงประณามไว้ก่อนหน้าคาร์ล มาร์กซ์ เป็นเวลานาน ว่าเงินทองสร้างความบาดหมางในหมู่มนุษย์ และไม่ใช่ทรัพย์สมบัติแท้ ทรัพย์สมบัติไม่ทำให้มนุษย์เป็นคนดี หรือฉลาด หรือมีความสุข เราพบคุณค่าแท้ได้จากที่อื่น เงินทองทำให้เราเหินห่างจากเพื่อนมนุษย์ ถ้าเรายอมให้มันเป็นเจ้าของตัวเรา...

ไม่มีผู้ใดเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาจะชังคนหนึ่ง และจะรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนหนึ่ง และจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และเงินทองพร้อมกันไม่ได้

    ท่านเป็นนักโทษของเงินทองหรือเปล่า ... “ธุรกิจของท่าน” ล่ามท่าน พันธนาการท่านเป็นนักโทษหรือเปล่า...

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าไม่มีทางประนีประนอมได้เลย เราต้องเลือกพระเจ้า ... หรือเลือกเงินทอง

    ขอให้เรายอมรับเถิดว่าเราอยากรับใช้นายทั้งสองสับเปลี่ยนกัน  เราอยากรับใช้ “พระเจ้าของวันอาทิตย์” เพราะเห็นแก่ความรอดพ้นของวิญญาณของเรา ... และอยากรับใช้ “พระเจ้าแห่งธุรกิจ” พระเจ้าของกระเป๋าเงิน และผลกำไร ระหว่างอีกหกวันของสัปดาห์...

    ในประโยคต่อไป ลูกาบอกเราว่า “ชาวฟาริสีที่รักเงินทองได้ยินถ้อยคำทั้งหมดนี้ จึงหัวเราะเยาะพระองค์ ... เราหัวเราะเยาะด้วยหรือเปล่า...