วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
ปฐมกาล 22:1-2, 9, 10-13, 15-18; โรม 8:31-34; มาระโก 9:2-10
บทรำพึงที่ 1
ห้วงเวลาสุดยอด
การแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าเผยให้เห็นพระเทวภาพของพระองค์
นักจิตวิทยาชื่อ อับราฮัม มาสโลว์ เล่าเรื่องของหญิงสาวผู้เป็นมารดาคนหนึ่ง
เช้าวันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังเตรียมอาหารให้ลูก ๆ ที่ยังเล็ก ห้องครัวสว่างด้วยแสงแดด ลูก ๆ ของเธอกำลังหัวเราะและคุยกัน และสามีของเธอกำลังเล่นกับลูกคนสุดท้อง
ขณะที่เธอกำลังรีบทาแยมบนแผ่นขนมปังและเทน้ำส้ม หัวใจของเธอเปี่ยมล้นด้วยความยินดีและความรักต่อครอบครัวของเธอขึ้นมาในทันใด น้ำตาเอ่อขึ้นมา และเธอรู้สึกเต็มตื้นจนพูดไม่ออก
มาสโลว์เรียกห้วงเวลาเช่นนี้ว่าห้วงเวลาสุดยอด หมายถึงห้วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่เรามองเห็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาในลักษณะที่ไม่ธรรมดา
หมายถึงห้วงเวลาเมื่อดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงส่องแสงผ่านสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา และทำให้เรามองเห็นอีกโลกหนึ่ง
ความคิดเกี่ยวกับห้วงเวลาสุดยอดช่วยให้เราเข้าใจประสบการณ์ของเปโตร ยากอบ และยอห์น ในบทอ่านพระวรสารวันนี้ บุคคลเหล่านี้ได้ลิ้มรสห้วงเวลาสุดยอด พวกเขาได้เห็นพระเยซูเจ้าในลักษณะที่แปลกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เพียงช่วงเวลาไม่กี่นาที
ระหว่างเวลาไม่กี่นาทีอันมีค่านั้น เขาเห็นพระเจ้าฉายแสงทะลุพระกายของพระเยซูเจ้า พวกเขาได้เห็นอีกโลกหนึ่ง พวกเขาได้เห็นจากสภาพภายนอกของพระเยซูเจ้าว่าพระองค์ทรงเป็นอย่างไรภายใน คือทรงเป็นพระบุตรผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ และความงามของพระเจ้า
แต่ทำไมพระศาสนจักรจึงให้เราอ่านเรื่องราวการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าท่ามกลางบทอ่านอื่น ๆ ที่ชวนให้หม่นหมองของเทศกาลมหาพรต ทำไมจึงรวมไว้กับบทอ่านอันน่ายินดีต่าง ๆ ในเทศกาลปัสกา
คำตอบอยู่ที่บริบทของเหตุการณ์นี้ พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ หลังจากทรงบอกศิษย์ของพระองค์ว่าพระองค์ต้องเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับทนทรมาน และสิ้นพระชนม์
เมื่อเปโตรได้ยินพระองค์ตรัสเช่นนี้ เขาทูลทัดทานว่า “ขอเถิด พระเจ้าข้า เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน” พระเยซูเจ้าทรงหันมาตรัสกับเปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์” (มธ 16:22-23)
เปโตร ยากอบ และยอห์น จำเป็นต้องได้รับวัคซีนฝ่ายจิต หลังจากพระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงเหตุการณ์ที่น่าตกใจแก่เขา
บางทีนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พระศาสนจักรเลือกให้การแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าเป็นหนึ่งในบทอ่านระหว่างเทศกาลมหาพรต พระศาสนจักรต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานแก่เรา ก่อนจะนำเราไปพบกับพระทรมานของพระเยซูเจ้าในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
พระศาสนจักรต้องการให้เรามีบางสิ่งบางอย่างที่เรายึดเหนี่ยวได้ ระหว่างช่วงเวลาอันเจ็บปวดของพระทรมานของพระเยซูเจ้า และการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
แต่ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่เรื่องราวการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าถูกนำมารวมอยู่ในบทอ่านระหว่างเทศกาลมหาพรต นั่นคือ การแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์นี้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระทรมานในสวนเกทเสมนี
เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นบนภูเขา เหตุการณ์ในสวนเกทเสมนีเกิดขึ้นบนภูเขามะกอกเทศ ส่วนการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เกิดขึ้นบนภูเขาทาบอร์
เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน คือ เกิดขึ้นในเวลากลางคืน และในทั้งสองเหตุการณ์ อัครสาวกก็นอนหลับ ในขณะที่พระเยซูเจ้าทรงตื่น และอธิษฐานภาวนา
ท้ายที่สุด เหตุการณ์ทั้งสองนี้มีอัครสาวกกลุ่มเดียวกันเป็นพยาน คือ เปโตร ยากอบ และยอห์น
บนภูเขาทาบอร์ อัครสาวกสามคนนี้เห็นพระเยซูเจ้าในปิติศานต์ เมื่อพระเทวภาพของพระองค์ฉายส่องออกมาจากภายในพระองค์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ตรงกันข้ามกับบนภูเขามะกอกเทศ อัครสาวกทั้งสามคนนี้เห็นพระเยซูเจ้าขณะกำลังเจ็บปวดทรมาน เมื่อความเป็นมนุษย์ของพระองค์ฉายส่องออกมาจากภายในพระองค์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ปิติศานต์ของพระเยซูเจ้าบนภูเขาทาบอร์ และความเจ็บปวดทรมานของพระองค์บนภูเขามะกอกเทศ เป็นเหตุการณ์ที่เสริมกันและกัน เป็นเสมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ที่แยกออกจากกันไม่ได้ และแสดงให้เราเห็นพระเยซูเจ้าได้อย่างครบบริบูรณ์ คือ ทั้งในความเป็นมนุษย์ และในพระเทวภาพ
และเหตุการณ์บนภูเขาทั้งสองนี้เองที่มอบสารสำคัญแก่เรา กล่าวคือ เราเองก็มีสองมิติอยู่ในตัวเรา เหมือนกับพระเยซูเจ้า ในตัวเราแต่ละคนมีคุณสมบัติของมนุษย์ และคุณสมบัติของพระเจ้า ในตัวเราแต่ละคนมีประกายของอาดัม และประกายของพระเจ้า
เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าบนภูเขาทาบอร์ เราเองก็ได้รับประสบการณ์ปิติศานต์ เมื่อประกายของพระเจ้าฉายส่องออกมาจากตัวเราอย่างเจิดจ้าจนเราตาพร่า ระหว่างช่วงเวลาเหล่านั้น เรารู้สึกว่าเราแทบจะยื่นมือออกไปสัมผัสพระองค์ได้
และเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าบนภูเขามะกอกเทศ เราเองก็ได้รับประสบการณ์ความเจ็บปวดทรมาน เมื่อประกายของอาดัมแสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน จนประกายของพระเจ้าในตัวเราหรี่ลงจนแทบจะดับ เรารู้สึกว่าเราห่างไกลจากพระเจ้าเหลือเกิน จนเราสงสัยว่าพระเจ้ามีอยู่จริงหรือ
เมื่อใดที่เราประสบกับห้วงเวลาแห่งความสุข และความทุกข์เช่นนี้ เราควรระลึกถึงเหตุการณ์บนภูเขาทั้งสองนี้ คือบนภูเขาทาบอร์ และภูเขามะกอกเทศ เราควรระลึกว่าพระเยซูเจ้าทรงผ่านประสบการณ์สูงสุด และต่ำสุดเช่นเดียวกันในชีวิตของพระองค์
เราควรระลึกถึงบางสิ่งบางอย่างอีกด้วย เราควรระลึกว่าระหว่างทั้งสองเหตุการณ์นี้ – คือห้วงเวลาแห่งความสุข และความทุกข์ของพระองค์นี้ – พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา
ถ้าปฏิกิริยาตอบสนองของพระเยซูเจ้าระหว่างแต่ละเหตุการณ์คือการอธิษฐานภาวนา เราก็ควรตอบสนองด้วยวิธีเดียวกัน
และถ้าเราตอบสนองเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยการภาวนา เราจะได้ยินพระเจ้าตรัสกับเรา เหมือนกับที่พระองค์ตรัสกับพระเยซูเจ้าระหว่างการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา ...”
และเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าระหว่างทรงเจ็บปวดทรมานพระทัยในสวนเกทเสมนี เราก็จะได้รับประสบการณ์อย่างเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับในสวน คือ สัมผัสจากพระหัตถ์ที่มีอำนาจเยียวยารักษาของพระเจ้า
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 9:2-10
ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพา เปโตร ยากอบ และยอห์น ขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพัง
มาระโกไม่ได้บอกว่า “หกวัน” นี้นับจากเหตุการณ์ใด ความคลุมเครือเช่นนี้แสดงให้เราเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าเราไม่ควรอ่านพระวรสารอย่างผิวเผิน สำหรับชาวยิว หรือบุคคลใดที่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ “หกวัน” นี้มีความหมายทางเทววิทยา หกวันเป็นระยะเวลาสำหรับการชำระตนให้บริสุทธิ์ก่อนจะเข้ามาใกล้ชิดพระเจ้า “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าลงมาอยู่เหนือภูเขาซีนาย เมฆปกคลุมภูเขานั้นไว้เป็นเวลาหกวัน ในวันที่เจ็ด พระเจ้าทรงเรียกโมเสสจากกลางเมฆนั้น” (อพย 24:16) ขอให้สังเกตสี่คำจากพระคัมภีร์ “หกวัน ... โมเสส ... เมฆ ... ภูเขา” ... คำบอกเล่าของมาระโกก็ใช้สี่คำนี้ ...
เรายังไตร่ตรองต่อไปได้อีกว่า เป็นความบังเอิญหรือที่ชาวยิวฉลอง “เทศกาลอยู่เพิง” (Yom Sukkot) หกวันหลังจาก “เทศกาลชดเชยบาป” (Yom Kippur) ... ระหว่าง “เทศกาลอยู่เพิง” ชาวยิวเคยสร้างห้องพักด้วยกิ่งไม้ – เป็นที่พักอันบอบบางในสมัยที่เขาเร่ร่อนอยู่กลางถิ่นทุรกันดาร และเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอของมนุษย์ระหว่างการเดินทางไปยังดินแดนพันธสัญญา และบัดนี้ เราจะเห็นว่าเปโตร ต้องการสร้างห้องพัก หรือกระโจมขึ้นที่นั่น...
เปโตร ยากอบ และยอห์น...
ไม่ใช่ศิษย์ทุกคน – แต่เพียงสามคน! รายละเอียดนี้ก็ไม่ใช่ความบังเอิญอีกเช่นกัน แต่การอ่านแบบลวก ๆ อาจทำให้เรามองข้าม ศิษย์สามคนนี้อีกเช่นกันที่เป็นประจักษ์พยานของการกลับคืนชีพของเด็กหญิงวัย 12 ปี (มก 5:37) ... และจะเป็นพยานที่รู้เห็นความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนี (มก 14:33) ...
ศิษย์สามคนนี้เป็นเพื่อนที่มีอภิสิทธิ์ของพระเยซูเจ้าหรือ ... เปล่าเลย เขาทั้งสามคนผ่านประสบการณ์พิเศษสามครั้ง เพื่อให้เขาสามารถค้ำจุนความเชื่อของศิษย์อื่น ๆ ... ทำไมเราจึงต้องการเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่น หรืออิจฉาเขา ... เราแต่ละคนได้รับพระหรรษทานที่พิเศษและไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา แต่มีจุดมุ่งหมายให้เราแบ่งปัน และถ่ายทอดพระหรรษทานนั้น ๆ ให้แก่ผู้อื่นด้วย ...
พระเยซูเจ้าทรงพาศิษย์สามคนนี้ขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพัง
ตามธรรมเนียมในพระคัมภีร์ นี่คือสภาวะที่เหมาะสมแก่การพบพระเจ้า คนยุคใหม่คงค้านว่า “พระเจ้าประทับอยู่ทุกแห่งหน แล้วทำไมต้องใช้ภาพลักษณ์เช่นนี้” เป็นความจริงเช่นนั้น ... แต่เราเป็นมนุษย์ที่มีร่างกาย และเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้สัญลักษณ์บางอย่างได้
โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าภาพลักษณ์นี้งดงามมาก กล่าวคือ เราต้อง “ขึ้นไป” หาพระเจ้า (อพย 24:1, 34:2, 1 พกษ 18:20, 19:8-11) ... การยืนบนยอดเขา! ลองนึกถึงภาพว่าในตัวท่านมีภูเขาลูกหนึ่ง มียอดเขาที่ท่านจะยืนเผชิญหน้ากับพระเจ้า และอยู่ตามลำพังกับพระองค์ได้! ... หัดดื่มด่ำกับภาพของขอบฟ้ากว้าง ท่านไม่มีทางเห็นขอบฟ้านี้ นอกจากท่านจะยอมเดินออกจากหุบเขา เดินไปตามเส้นทางบนสันเขาด้วยความพากเพียร แม้ว่ายากลำบาก ขึ้นไปยืนหายใจหอบบนยอดเขา ที่ซึ่งอากาศเย็น แต่เบาบาง – และไม่มีฝูงชน ...
แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา
เมื่อพูดคำว่า “เปลี่ยน” เราจะคิดถึงสองสิ่งในเวลาเดียวกัน สองความเป็นจริงที่เชื่อมโยงกัน เมื่อมนุษย์พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและโลก ความคิดของเขาจะกระโดดไปมาระหว่างสองแนวคิด
- แนวคิดแง่ลบ กล่าวคือ โลกต้องตายก่อนเพื่อจะเห็นพระเจ้า นี่อาจเรียกได้ว่าแนวคิดของนักบุญออกัสติน ซึ่งลูเธอร์ และชาวโปรเตสแตนท์ ยึดมั่น
- แนวคิดแง่บวก กล่าวคือ โลกนี้คือพระอาณาจักรของพระเจ้า แนวคิดนี้ยกย่องมนุษย์และโลก ในขณะที่ลดความสำคัญของพระเจ้า แนวคิดนี้อาจกลายเป็นการประจญสำหรับชาวคาทอลิก ผู้อยากมองว่าพระอาณาจักรมาถึงแล้วในพระศาสนจักร ...
แต่ยังมีแนวคิดที่สาม กล่าวคือ เนื้อหนังเป็นสิ่งประเสริฐ ... เพราะร่างกายของเราเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้า ... และโลกก็ประเสริฐ แต่ร่างกายของเราเป็นเพียงภาพลักษณ์ และคล้ายคลึงกับพระเจ้าเท่านั้น เพื่อให้ประเสริฐจริง ๆ ร่างกายของเราไม่จำเป็นต้อง “ถูกทำลาย” แต่ต้อง “เปลี่ยนไป”
บนภูเขานี้ พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงสว่างไสวด้วยแสงจากภายนอก แต่พระองค์เองและในพระกายของพระองค์คือแสงสว่าง ดังนั้น ทุกสิ่งที่เป็นเนื้อหนังในตัวเราจำต้องสว่างไสว โปร่งใส เป็นจิต ...
พระศาสนจักรออร์โธด๊อกซ์ ถือว่าการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าเป็นวันฉลองใหญ่ และมีภาพวาดที่เขาเคารพมาก คือ ภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่พระเจ้าทรงแทรกลึกอยู่ในตัว ก่อนจะสำเร็จการศึกษา จิตรกรผู้วาดภาพศักดิ์สิทธิ์ต้องวาดภาพพระเยซูเจ้าแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ เพื่อแสดงว่าเขาสามารถวาดภาพใบหน้าของมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าได้ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดทั้งหมดของชีวิตและสังคมมนุษย์ – และของพระศาสนจักร และของพิธีกรรม – ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เรา “เปลี่ยนไป” และกลายเป็นภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้า ...
ถ้าทรรศนะเช่นนี้ทำให้เรางุนงง นั่นอาจเป็นเพราะเรายังไม่ค้นพบความหมายแท้จริงของศีลล้างบาปของเรา ซึ่ง “จุ่มตัวเรา” ในพระคริสตเจ้า และทำให้เรา “เข้ามามีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4) ... เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคริสตชนของเราก็คือการมีส่วนร่วมในพระคริสตเจ้า และการเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นพระคริสตเจ้า “เราทุกคนไม่มีผ้าคลุมใบหน้า จึงสะท้อนแสงสว่างรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนกระจกเงา เปลี่ยนเป็นภาพลักษณ์เดียวกับพระองค์ ทวีความรุ่งโรจน์ยิ่ง ๆ ขึ้น เดชะองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นพระจิต” (2 คร 3:18)
แต่ขณะที่อยู่ในโลกนี้ ธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่นี้ – คือการเปลี่ยนมนุษย์คนหนึ่งให้เป็นพระเจ้า – เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่กระนั้น การเปลี่ยนสภาพนี้ก็เป็นของเราแล้ว แม้ว่ายังซ่อนตัวอยู่ ก่อนที่จะระเบิดออกมาในวันหนึ่ง “ชีวิตของท่านซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเจ้า เมื่อพระคริสตเจ้าองค์ชีวิตของท่านจะทรงสำแดงพระองค์ เมื่อนั้น ท่านจะปรากฏพร้อมกับพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย” (คส 3:3-4)
ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้า ขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้
ขอให้เราอย่าคิดว่านักบุญเปโตร และนักบุญมาระโก ซึ่งเป็นเลขานุการของเขา เป็นบุคคลที่ไร้เดียงสากว่าเรา เขาทั้งสองเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ติดดิน และไม่ใช่ปัญญาชนเลย เขารู้ตัวว่ากำลังควานหาคำพูด และไม่รู้ว่าจะบรรยายประสบการณ์เหนือธรรมชาติของตนอย่างไร ... ดังนั้น เราไม่ควรมองแต่ในระดับพื้น ๆ มาระโกไม่ได้กำลังพูดถึง “ผงซักฟอกที่ดีที่สุด” หรือ “สีขาวที่สุด” แต่นี่คือภาษาสัญลักษณ์ที่ใช้ในพระคัมภีร์ สีขาวเป็นสีของโลกสวรรค์ – และไม่มีสิ่งใดในโลกสามารถเทียบเคียงได้ สีขาวเป็นสีของทูตสวรรค์ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ (มธ 28:3) และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ (กจ 1:10) ... เป็นสีของชัยชนะ (วว 3:4, 20:11, 2:17, 6:11, 7:13-15) เสื้อสีขาวที่เราสวมเมื่อรับศีลล้างบาป และเมื่อเรารับศีลมหาสนิทครั้งแรก ชุดสีขาวของเจ้าสาว และเสื้ออัลบาของพระสงฆ์ ล้วนเป็นตัวอย่างของสัญลักษณ์นี้ “ท่านทุกคนก็สวมพระคริสตเจ้าไว้” (กท 3:27) ... “ธรราชาติที่ต้องตายนี้จะต้องสวมใส่ความไม่รู้จักตาย” (1 คร 15:53) ... “ปลดเปลื้องวิสัยมนุษย์เก่า ๆ ... สวมใส่วิสัยมนุษย์ใหม่” (คส 3:10)
แล้วประกาศกเอลียาห์ กับโมเสส แสดงตนสนทนาอยู่กับพระเยซูเจ้า
เอลียาห์ และโมเสส เป็นสัญลักษณ์ของความคาดหวังของชาวอิสราเอล ที่บันทึกอยู่ใน “ธรรมบัญญัติ” และในหนังสือ “ประกาศก” ... เราสังเกตได้ว่าบุคคลทั้งสองนี้ไม่ได้เป็นเพียง “ตัวละครประกอบฉาก” และบุคคลทั้งสองที่ตายไปแล้วนานหลายศตวรรษ กลับเป็นคนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้า และมาสนทนากับพระองค์ เขาทั้งสองมีความสัมพันธ์อันมีชีวิตกับพระองค์ ... นี่คือแสงสว่างจากสวรรค์ และเป็นแสงที่ส่องลงบนบุคคลที่เรารักที่ล่วงลับไปแล้วด้วย .. แทนที่ความตายจะเป็น “บั้นปลายสุดท้าย” กลับกลายเป็น “ประตู” ที่นำเราเข้าสู่โลกของพระเจ้า ...
ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม โมเสส และเอลียาห์ เป็นสองบุคคลที่พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ “บนภูเขา” และธรรมประเพณีชาวยิวคาดหมายว่าบุคคลทั้งสองจะกลับมาเมื่อถึงอวสานกาล เพื่อเตรียมการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ (มลค 3:22-24) ... นี่คือคำถามที่บรรดาศิษย์ถามพระเยซูเจ้าทันทีหลังจากเหตุการณ์นี้ (มก 9:11-13) ...
อวสานกาลเริ่มต้นที่พระเยซูเจ้า ...
เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร เพราะศิษย์ทั้งสามคนต่างตกใจกลัว
เปโตรเป็นผู้พูดแทนศิษย์คนอื่นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันก่อน เขาได้ประกาศความเชื่อในนามของกลุ่มศิษย์ (มก 8:27-33) เขายังได้แสดงบทบาทของซาตานผู้ประจญพระเยซูเจ้า เมื่อเขาไม่ยอมรับความคิดเรื่องไม้กางเขน (มก 8:33) แม้แต่วันนี้ เปโตรก็แทบจะไม่เข้าใจอะไรเลย เขาเป็นประจักษ์พยาน และไม่แต่งเรื่องขึ้นมาเอง เหตุการณ์เกิดขึ้นกับเขาโดยที่เขาไม่ได้ทำให้มันเกิดขึ้น และเขาไม่สามารถลืมได้ เปโตรจะบันทึกในภายหลังว่า “เรามิได้พูดตามนิยายงมงายที่สร้างขึ้น แต่เราประจักษ์ด้วยตาตนเองถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ... ขณะที่เราอยู่กับพระองค์บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั้น” (2 ปต 1:16-18) ...
เราควรย้ำกับตนเองอีกครั้งหนึ่งว่า เปโตรไม่ใช่ผู้เข้าถึงฌาน – เขาเป็นชาวประมง! เราไว้ใจความสามารถในการสังเกตการณ์ของเขาได้ เขายอมรับว่าเหตุการณ์นี้อยู่เหนือความเข้าใจของเขา เขาไม่สามารถปฏิเสธว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้น แต่เขาไม่รู้ว่าจะพูดอะไร ...
ครั้นแล้ว เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ มีเสียงหนึ่งออกมาจากเมฆก้อนนั้นว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด”
ในภาษาสัญลักษณ์ เมฆหมายถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า (อพย 16:10, 19:9, 24:15, กดว 14:10) เสียงนั้นเหมือนกับเสียงในวันที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง (มก 1:11) ในเวลานั้น เสียงพูดกับพระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียว แต่วันนี้ เสียงนี้พูดกับบรรดาศิษย์ ...
ถ้าเช่นนั้น พระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร ... เราจะได้รับคำตอบมิใช่ด้วยการคิดตามหลักเหตุผล และมิใช่ด้วยการสืบค้นในพระคัมภีร์ แต่จากการภาวนา “บนภูเขาตามลำพัง” ถ้าเพียงเราจะรู้ว่าต้อง “ฟัง” อย่างไร ...
เราจะรับรู้ว่าพระเยซูเจ้าเป็นใครได้เพียงจาก “การเผยแสดง” ของพระบิดา ... เพราะความรู้นี้มนุษย์เอื้อมไม่ถึง ...
ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระองค์ตรัสสั่งเขามิให้เล่าเหตุการณ์ที่เห็นให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย ศิษย์ทั้งสามคนเก็บเรื่องนี้ไว้ ไม่บอกใคร แต่ยังปรึกษากันว่า “จนกว่าจะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย” นี้หมายความว่าอย่างไร
พวกเขาจำเป็นต้องผ่านไม้กางเขน และปัสกา ก่อนจะค้นพบว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใครอย่างแท้จริง