วันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
ปฐมกาล 9:8-15; 1 เปโตร 3:18-22; มาระโก 1:12-15
บทรำพึงที่ 1
บุตรของคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า
มหาพรตเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่จะเพิ่มความลุ่มลึกให้แก่การกลับใจ และความเชื่อของเรา
นิตยสาร Time ฉบับเดือนพฤษภาคม 1980 ได้เสนอเรื่องที่น่าสะดุดใจมาก โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “บุตรของคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าได้พบพระเจ้า” เรื่องนี้บรรยายการกลับใจของวิลเลียม เจ. เมอเรย์ ที่ 3
ชื่อของเมอเรย์กลายเป็นชื่อที่ทุกคนรู้จักกันตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก เมื่อปี ค.ศ. 1963 ในเมืองบัลติมอร์ในรัฐเมรี่แลนด์ วิลเลียม และมารดาของเขา คือมาดาลิน เมอเรย์ โอแฮร์ ได้ฟ้องศาลเพื่อร้องคัดค้านธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้สวดภาวนา และอ่านพระคัมภีร์ในโรงเรียนของรัฐ
คดีนี้ดำเนินไปจนถึงศาลอุทธรณ์ และยุติลงโดยศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการสวดภาวนา และอ่านพระคัมภีร์ในโรงเรียนรัฐในสหรัฐอเมริกา
หลายปีต่อมา เมื่อวิลเลียมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาทำสงครามต่อต้านพระเจ้าต่อไปด้วยการพิมพ์นิตยสารอเทวนิยม
แต่แล้ว วิลเลียมก็กลับใจ
ตามคำบอกเล่าของนิตยสาร Time สาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นการกลับใจของเมอเรย์ ก็คือเขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นทุกทีว่าการอยู่รอดได้บนโลกใบนี้อาจขึ้นอยู่กับว่าเราค้นพบ และมีความเชื่อในบางสิ่งที่สูงกว่า และประเสริฐกว่าตัวเรา
ถ้าการกลับใจของเมอเรย์ไปหาพระเจ้า เริ่มต้นจากความห่วงใยโลกของเรา การกลับใจไปหาพระเยซูเจ้าของเขาก็เริ่มต้นจากจุดที่แตกต่างกว่านั้นเล็กน้อย เขาบรรยายเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือของเขาชื่อ My Life without God (ชีวิตที่ปราศจากพระเจ้าของผม)
เมอเรย์ชอบอ่านนิยายของนักประพันธ์ชื่อดังชื่อ เทย์เลอร์ คอล์ดเวล มานานแล้ว ก่อนวันคริสต์มาส ค.ศ. 1979 เมอเรย์ ได้อ่านหนังสือของคอล์ดเวล เรื่อง Dear and Glorious Physician
หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อลูคานัส ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยโรมันโบราณ
ลูคานัสก็เหมือนกับวิลเลียม เขาเติบโตขึ้นมาพร้อมด้วยความโกรธต่อศาสนา แต่ความโกรธนั้นเปลี่ยนเป็นความรัก เมื่อลูกคานัสค้นพบพระเยซูคริสตเจ้า นิยายเดินเรื่องต่อไป และลูคานัสก็เติบโตขึ้นจนกลายเป็นนักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร
คืนหนึ่ง ประมาณหนึ่งเดือนหลังวันคริสต์มาส วิลเลียมนอนหลับ และฝันเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เป็นความฝันที่เจิดจ้า และมีชีวิตชีวามากจนเขาสะดุ้งตื่น
ประสบการณ์นั้นกระทบจิตใจของวิลเลียมมาก ทำให้เขาลุกขึ้นจากเตียง และขับรถไปยังร้านค้าที่ขายสินค้าราคาถูกที่เปิดตลอดคืน ใกล้ท่าเรือ Fisherman ในเมืองซานฟรานซิสโก เขาเขียนว่า
“ภายใต้กองหนังสือโป๊ ... ผมพบพระคัมภีร์เล่มหนึ่ง ผมขับรถกลับมายังห้องพักของผม และอ่าน (พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา) ที่นั่น ผมได้พบพระเยซูคริสตเจ้า”
คืนนั้นเปลี่ยนชีวิตของวิลเลียมไปตลอดกาล
หลังจากกลับใจ วิลเลียมเขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ Baltimore Sun เขาขอโทษชาวเมืองบัลติมอร์ ที่เขามีส่วนทำให้ศาลมีคำสั่งห้ามสวดภาวนา และอ่านพระคัมภีร์ในโรงเรียนอเมริกัน เขากล่าวในจดหมายของเขาว่า
“บัดนี้ เมื่อผมย้อนกลับไปมองชีวิต 33 ปีที่สูญเปล่า เพราะปราศจากความเชื่อในพระเจ้า ผมภาวนาวอนขอเพียงว่าด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ ขอให้ผมสามารถแก้ไขความผิดพลาด และความชั่วร้ายบางอย่างที่ผมเป็นสาเหตุให้เกิดขึ้นเพราะผมขาดความเชื่อ”
เรื่องนี้เป็นคำบรรยายที่มีชีวิตว่าพระเยซูเจ้าทรงหมายถึงอะไรในบทอ่านพระวรสารวันนี้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15) นั่นคือสิ่งที่วิลเลียม เมอเรย์ ได้ทำไป เขาเสียใจกับเวลา 33 ปี ในชีวิตที่เขาไม่เชื่อในพระเจ้า เขากลับมาเชื่อในพระวรสาร และเขายอมให้พระเยซูคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิตของเขา
สิ่งที่วิลเลียมทำไปคือสิ่งที่บทอ่านพระวรสารประจำวันนี้เชิญชวนเราให้กระทำในวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต
พระวรสารไม่ได้เชิญชวนเราให้สำนึกผิดกับชีวิตที่ปฏิเสธพระเจ้า และไม่ได้เชิญชวนเราให้เขียนจดหมายเปิดผนึก ขอโทษประชาชน
แต่พระวรสารวันนี้เชิญชวนเราให้สำนึกผิดกับชีวิตที่ไม่ยอมให้พระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลาง และเชิญชวนเราให้กลับไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา
สรุปได้ว่า พระวรสารวันนี้เชิญชวนเราให้ทำให้เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาที่เราได้รับพระพรพิเศษเป็นส่วนตัว
ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาแห่งพระหรรษทานพิเศษสำหรับคริสตชนเสมอมา โดยเฉพาะพระหรรษทานที่ช่วยให้คริสตชนเปลี่ยนชีวิตของตน
พระเยซูเจ้าทรงเสนอพระหรรษทานพิเศษเช่นเดียวกันนี้ให้แก่เราแต่ละคนระหว่างเทศกาลมหาพรตนี้ แต่เราจะตอบสนองให้เป็นรูปธรรมอย่างไรต่อคำเชิญของพระเยซูเจ้า ขอให้พิจารณาสองวิธีต่อไปนี้
วิธีแรก คือ ทำอย่างที่วิลเลียม เมอเรย์ ได้ทำไป กล่าวคือ หาพระคัมภีร์มาเล่มหนึ่ง และอ่านพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาตั้งแต่ต้นจนจบระหว่างเทศกาลมหาพรตปีนี้ คุณสามารถทำเช่นนี้ได้ด้วยการอ่านคืนละหนึ่งบท
วิธีที่สอง คือ รับศีลอภัยบาปในวันใดวันหนึ่งระหว่างเทศกาลมหาพรต เพราะเมื่อเรารับศีลอภัยบาป เรากำลังทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนให้เราทำในบทอ่านประจำวันนี้ กล่าวคือ เรากำลังแสดงออกถึงการกลับใจของเรา และความเชื่อของเราในพระวรสาร
ด้วยวิธีนี้ เราแสดงความเสียใจเป็นทุกข์ถึงบาปของเรา และเราแสดงออกว่าเราเชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงปรารถนาจะอภัยบาปของเรา และช่วยเราให้เริ่มต้นชีวิตใหม่
นี่คือคำเชิญที่พระวรสารหยิบยื่นให้แก่เราในวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต
นี่คือคำเชิญให้เราทำอย่างที่วิลเลี่ยม เมอเรย์ ได้ทำไป
นี่คือคำเชิญให้เราแสวงหาการให้อภัยสำหรับบาปของเรา และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลาง
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา
พระเจ้าข้า เทศกาลมหาพรตเป็นเทศกาลแห่งการเชื้อเชิญ
เป็นเทศกาลที่พระองค์ทรงเชิญเราให้เปิดใจ
ยอมรับพระหรรษทานพิเศษที่พระองค์ประทานให้ในเวลาเช่นนี้เสมอ
เป็นเทศกาลที่พระองค์ทรงเชิญชวนเราให้ไตร่ตรองชีวิตของเรา
เพื่อให้เห็นว่ามีสิ่งใดที่จำเป็นต้องเปลี่ยน
หรือมีสิ่งใดที่เราต้องปรับปรุง
โปรดประทานความสว่างให้เรามองเห็นตัวเรา อย่างที่พระองค์ทรงมองเห็นเรา
เหนืออื่นใด โปรดประทานความกล้าหาญแก่เรา
เพื่อให้เราเปลี่ยนแปลงตนเอง
อย่างที่พระองค์ทรงต้องการให้เราเปลี่ยนด้วยเทอญ
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 1:12-15
ทันใดนั้น (หลังจากพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง)
เราต้องให้ความสนใจกับความเชื่อมโยง ระหว่างการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้า และการประจญพระองค์ ที่พระวรสารสหทรรศน์กล่าวถึงทั้งสามฉบับ “ทันทีที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นจากน้ำ ก็ทรงเห็นท้องฟ้าถูกแหวกออก พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบ และมีเสียงมาจากท้องฟ้าว่า ‘ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา’ ทันใดนั้น พระจิตเจ้าทรงดลใจพระองค์ ...” (มก 1:10-11)
เมื่อเราพูดกัน เรามักลดความหมายของคำว่า “การประจญ” และใช้กันอย่างไม่จริงจัง เช่น การประจญสำหรับเด็กหมายถึง “ความรู้สึกอยากทำสิ่งที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ทำ เช่นกินขนมหวาน หรือหยิบเงินของพ่อแม่โดยไม่ได้รับอนุญาต ...” สำหรับผู้ใหญ่ การประจญมักหมายถึง “ความรู้สึกอยากทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม หรือสิ่งต้องห้าม” ... แต่ในพระวรสาร การประจญเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่านี้มาก การประจญขั้นมูลฐานคือการประจญต่อความเชื่อ (หรือความไม่เชื่อ) ในพระเจ้า ...
การประจญแท้เชื่อมโยงกับศีลล้างบาป กล่าวคือ เป็นการประจญต่อผู้มีความเชื่อโดยเฉพาะ ต่อพระศาสนจักรโดยเฉพาะ และต่อบุตรทั้งหลายของพระเจ้าโดยเฉพาะ การประจญประเภทนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราเอาชนะด้วยการภาวนาทุกวันว่า “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ” ... ขออย่าให้ความเชื่อของเราถูกทดลอง ...
ชาวยิว ซึ่งเป็นผู้ฟังพระเยซูเจ้าเทศน์สอนเป็นกลุ่มแรก และคริสตชนกลุ่มแรกที่มาระโกเขียนคำบอกเล่าเรื่องการประจญพระเยซูเจ้าให้อ่านนี้ ... รวมถึงพวกเราในปัจจุบัน – เราทุกคนต้องยอมรับว่า “เราผิดหวังกับพระเจ้า” ทำไมพระองค์ไม่แสดงพระองค์ให้ปรากฏบ่อยครั้งกว่านี้ และทำไมพระองค์ไม่แสดงให้เราเห็นว่าพระองค์เป็นใครอย่างแท้จริง ... เราถูกประจญเสมอให้ “ดูแคลนพระบุตรของพระเจ้า” พระองค์นี้ ผู้ไม่แสดงตัวให้เห็นชัด ๆ ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ โดยเฉพาะในเวลาที่พระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน! ... และในที่สุด ผู้มีความเชื่ออย่างเรานี้เองที่กำลังประจญพระเจ้า โดยขอให้พระองค์ไม่เป็นอย่างที่พระองค์ทรงเลือกจะเป็น คือเป็นพระเจ้าผู้ซ่อนเร้น ...
การประจญที่พบเห็นบ่อย ๆ ในพระคัมภีร์ คือ “การร้องขออัศจรรย์และเครื่องหมายจากพระเจ้า” ประชาชนร้องขอให้พระองค์ทรงออกมาจากที่ซ่อน “เหมือนในวันนั้นที่มัสสาห์ในถิ่นทุรกันดาร เมื่อบรรพบุรุษของท่านทดลองเรา เขาทดสอบเรา ... เราเอือมระอาคนรุ่นนั้นเป็นเวลานานสี่สิบปี” (สดด 95:9) ... “กี่ครั้งกี่หนที่เขาเป็นกบฏต่อพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร ... แต่เขาก็ยังทดลองพระเจ้าอยู่ซ้ำซาก ทำให้พระผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสราเอลทรงรำคาญ” (สดด 78:40-41) นี่คือการประจญอันต่อเนื่องจากคนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้าเช่นกัน “ชาวฟาริสีเข้ามาโต้เถียงกับพระองค์ ขอให้ทรงแสดงเครื่องหมายจากฟ้าเพื่อทดสอบ” (มก 8:11) ...
โปรดแสดงให้เราเห็นเถิดว่าพระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า เมื่อพระองค์เพิ่งจะได้รับการประกาศว่าเป็นพระบุตรของพระองค์ผ่าน “รอยแหวก” บนม่านฟ้า และพระจิตเจ้า “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงลงมาจากไม้กางเขนซิ” (มธ 27:40) ... การประจญต่อผู้มีความเชื่อ และการประจญต่อพระศาสนจักร คือ ขอให้พระเยซูเจ้า “ลงมาจากไม้กางเขน” ให้พระองค์ทรงแสดงว่าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงอานุภาพ และ “เห็นได้ชัด” ขอให้พระองค์เป็นพระเจ้าที่ชอบแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น และไม่ซ่อนพระองค์อีกต่อไป ... ขอให้พระองค์ไม่เป็นมนุษย์ และดังนั้น จึงไม่ “อ่อนแอ” อีกต่อไป (1 คร 1:25) ... ให้พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า “ที่มีเหตุผล” ตามหลักเหตุผลของมนุษย์ ... สรุปว่า เราถูกประจญให้ยอมรับ และแสดงให้เห็นพระเจ้า ผู้เป็นเหมือนพระเจ้าของศาสนาอื่น ๆ ทั้งหลาย – แต่ไม่ใช่พระเจ้าที่ถูกตรึงกางเขนพระองค์นี้ ... “ขณะที่ชาวยิวเรียกร้องขอดูอัศจรรย์ และชาวกรีกแสวงหาปรีชาญาณ เรากลับประกาศเรื่องพระคริสตเจ้า ผู้ทรงถูกตรึงกางเขน อันเป็นข้อขัดแย้งมิให้ชาวยิวรับไว้ได้ และเป็นเรื่องโง่เขลาสำหรับชาวกรีก” (1 คร 1:22-23) ...
(ทันทีหลังจากทรงได้รับการประกาศว่าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” หลังจากทรงรับพิธีล้างแล้ว) พระจิตเจ้าทรงดลใจ (พระเยซูเจ้า) ให้เข้าไปในถิ่นทุรกันดาร
คำว่า “ดลใจ (drove)” ที่มาระโกใช้นี้เป็นคำที่แรงมาก เขาใช้คำเดียวกันนี้เมื่อบอกว่าพระเยซูเจ้าทรง “ขับไล่” จิตชั่ว ...
บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์กล่าวถึงพระจิตของพระเจ้าว่าเป็นเหมือนพลังอย่างหนึ่ง ... การประจญต่อพระเยซูเจ้าต้องเป็นเหตุการณ์สำคัญมากในชีวิตของพระองค์ และจำเป็นต้องเกิดขึ้น ถึงกับว่าพระจิตของพระเจ้าต้องนำพระองค์ไปพบกับการประจญนี้ด้วยพลังอันรุนแรงเช่นนี้
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราไม่ให้กลัวการประจญ เพราะการประจญเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังจำเป็น และมีประโยชน์สำหรับมนุษย์ทุกคน การต่อสู้ฝ่ายจิตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้มีความเชื่อ คำพูดของซาตานก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกของเรา เพราะซาตานพร่ำบอกเราให้เราทำให้พระเจ้าเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่พระองค์ ... ให้เราทำให้พระเจ้าเป็นบุคคลอื่น ซึ่งต่างจากที่พระองค์ทรงเผยแสดงให้เห็นในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ... ให้เราคิดว่าพระเจ้าเป็นใครบางคนที่คอยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้เราด้วย “พระอานุภาพ” ของพระองค์ ...
ถ้าพระเยซูเจ้าทรงยอมแพ้การประจญ – ถ้าพระองค์ทรงยอมฟังเรา ... ถ้าพระองค์ทรงยอมฟังซาตาน – พระองค์ก็ย่อมเผยให้เราเห็นแล้วว่าพระองค์เป็นพระเจ้าเท็จเทียม
แต่พระจิตของพระเจ้าเที่ยงแท้ – พระจิตของพระเจ้าหนึ่งเดียว – ทรงดลใจพระเยซู พระบุตรของพระเจ้า ให้ทรงหลบไปให้ไกลจากชื่อเสียง จากฝูงชน และจากความสำเร็จที่ครึกโครม – และให้เข้าไปในถิ่นทุรกันดาร ... พระเจ้าเที่ยงแท้หนึ่งเดียวทรงเป็นพระเจ้า “ผู้ซ่อนพระองค์” ... ผู้เขียนบทสดุดีถามว่า “ข้าแต่พระเจ้า จะทรงซ่อนพระองค์อยู่อีกนานเพียงใด” (สดด 89:46)
ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเจ้าใน “ถิ่นทุรกันดาร” ... พระเยซูเจ้าผู้ประทับอยู่ตามลำพัง ...
พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นสี่สิบวัน
นั่นเป็นเวลาที่ยาวนานมาก
ผู้ที่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ย่อมรู้ว่าคนโบราณในดินแดนตะวันออกกลางชอบตัวเลข ... แต่ตัวเลขนั้นไม่ได้มีความหมายทางคณิตศาสตร์เหมือนกับที่เราเข้าใจตัวเลขในปัจจุบัน ตัวเลขในพระคัมภีร์บ่อยครั้งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เช่นตัวเลข “40” นี้หมายถึง “ช่วงเวลาเท่ากับชีวิตของคนหนึ่งรุ่น” ดังนั้น จึงหมายถึง “ช่วงเวลาที่ค่อนข้างนาน ซึ่งเราไม่รู้จำนวนวันที่แท้จริง” ... ทุกครั้งที่ชาวยิวที่คุ้นเคยกับเรื่องราวในพระคัมภีร์ได้ยินคำว่า “40” เขาจะหวนคิดถึงการอพยพ – การปลดปล่อย และการเร่ร่อนในทะเลทรายที่ยาวนานถึง 40 ปี โมเสสอยู่บนภูเขานาน “40 วัน” (อพย 34:28) ... เอลียาห์เดินเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดารนาน “40 วัน” (1 พกษ 19:8) ...
ระหว่างเทศกาลมหาพรตปีนี้ เราสามารถอดทนได้ถึง 40 วัน หรือเปล่า ...
สี่สิบวัน ... ทรงถูกซาตานประจญ
มาระโกไม่ได้บอกว่าพระเยซูเจ้า “ทรงจำศีลอดอาหาร” เหมือนกับมัทธิว และลูกา เขาไม่ได้บอกด้วยว่าการประจญเกิดขึ้นในช่วงปลายของระยะเวลา 40 วัน ... แต่การประจญนี้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร “สี่สิบวันทรงถูกซาตานประจญ” ... พระองค์ทรงถูกประจญตลอดชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนโลกนี้ – โดยเฉพาะในเวลาที่พระองค์ทรงเริ่มปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “พระบุตรของพระเจ้า” ...
เราต้องไม่ลืมว่าพระเยซูเจ้าทรงอยู่ตามลำพังในถิ่นทุรกันดาร ไม่มีใครรู้เห็นเป็นพยานเรื่องการประจญนี้ – ซึ่งเป็นการประจญให้พระองค์ทรงแสดงพระองค์เป็น “พระบุตรของพระเจ้า” ตามความคิดของชาวโลก ตามความคิดของซาตาน ... ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงต้องบอกเล่าประสบการณ์นี้ให้เพื่อน ๆ ของพระองค์ในวันใดวันหนึ่ง ปิตาจารย์หลายคนของพระศาสนจักรคิดว่าพระองค์ทรงบอกศิษย์ของพระองค์เรื่องนี้ในเวลาที่เปโตร “ประกาศยืนยันความเชื่อ” ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป เมื่อเปโตรยอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า และพระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์จะต้องถูกตรึงกางเขน ... แต่แล้วเปโตรกลับเป็นฝ่ายประจญพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกล่าวซ้ำกับเปโตร ว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง” (มก 8:27-33) ...
เราคงนึกภาพออกว่าในโอกาสนี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกมิตรสหายของพระองค์ว่าพระองค์เองเคยถูกประจญอย่างไร – และบ่อยครั้งที่ทรงถูกประจญให้แสดงเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ให้ทรงละทิ้งบทบาทของพระองค์ที่เป็น “พระบุตรที่เสด็จมารับความอ่อนแอตามธรรมชาติมนุษย์” ... ทรงถูกประจญให้ปล่อยพระองค์ให้ตกอยู่ในกับดักของซาตานที่ไม่ยอมหยุดกระตุ้นพระองค์ (และศิษย์ของพระองค์) ให้ “ขึ้นครองอำนาจ” ให้แสดงพระเทวภาพของพระองค์ให้ปรากฏแก่สายตาประชาชน ให้ตอบสนองต่อความคาดหมายทางการเมืองของประชาชน ...
และนี่ยังคงเป็นการประจญต่อพระศาสนจักรในปัจจุบัน ...
พระองค์ทรงอยู่กับสัตว์ป่า บรรดาทูตสวรรค์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์
ประโยคนี้ก็เป็นภาษาพระคัมภีร์อีกเช่นกัน เป็นรหัสที่เราจำเป็นต้องถอดรหัส
มาระโกต่างจากมัทธิว และลูกา เขาไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าทรงชนะการประจญ ... แต่เขาบอกเช่นนี้โดยใช้สองคำ คือ “สัตว์ป่า” ... “ทูตสวรรค์” ...
นี่คือภาษาที่ใช้กันตามธรรมประเพณีและเป็นสัญลักษณ์ เมื่ออาดัมอยู่กับสัตว์ป่าในสวนเอเดน (ปฐก 2:19) ความหวังในยุคพระเมสสิยาห์หมายถึงการกลับไปอยู่ใน “สันติสุขแห่งสวนสวรรค์” ซึ่ง “สุนัขป่าจะอยู่กับลูกแกะ เสือดาวจะนอนอยู่กับลูกแพะ ... ทารกที่ยังไม่หย่านมจะเล่นอยู่ที่ปากรูงูเห่า เด็กที่หย่านมแล้วจะเอามือวางที่รังของงูพิษ” (อสย 11:1-9)
ในขณะที่อาดัม มนุษย์คนแรก พ่ายแพ้ต่อการประจญให้ “เป็นเหมือนพระเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงชนะการประจญเดียวกันนี้ได้ ดังนั้น การคืนดีอันยิ่งใหญ่จึงสัมฤทธิ์ผล – กล่าวคือมนุษย์ และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
เมื่อมนุษย์ปฏิเสธที่จะใช้อำนาจครอบงำผู้อื่น เมื่อมนุษย์ปฏิเสธภาพลักษณ์ของ “พระเจ้าประเภทหนึ่ง” – เมื่อเขายอมรับสภาพความอ่อนแอของตนเอง และดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อของเขา – เมื่อนั้น เขาจะค้นพบสวนสวรรค์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อนั้น เขาจะเป็นมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า ... และเขาจะพบว่าตนเองมีความสนิทสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยสันติสุขกับพี่น้องของเขา กับจักรวาล กับ “สัตว์ป่า” และ “ทูตสวรรค์” – กับสวรรค์ และแผ่นดิน ... เมื่อนั้น เขาจะเป็น “บุตรของพระเจ้า” ตามความปรารถนาของพระเจ้า ผู้ไม่ทรงใช้อำนาจครอบงำใคร หรือยัดเยียดพระองค์เองให้ใคร ... ผู้ทรงเป็นความรักจนถึงกับยอมสละพระองค์เอง และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเรา ...
หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า ตรัสว่า “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว”
การเนรมิตสร้างครั้งใหม่เกิดขึ้นแล้ว! นี่คือจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมนุษยชาติ ...
ซาตานพ่ายแพ้ พระเยซูเจ้าทรงชนะซาตาน ...
ซาตานไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นจิตที่ชอบครอบงำผู้อื่น เป็นศัตรู และไม่ใช่พระเจ้า ...
พระเจ้าผู้เดียวทรงเป็นพระเจ้า และพระองค์ทรงเป็นความรัก ...
นี่คือพระอาณาจักรหนึ่งเดียวของพระเจ้า ... นี่คือข่าวดี!
“จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด”
พระวรสาร ... ข่าวดี
การต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อนี้ยังไม่จบ
ซาตานยังไม่หยุดเสนอความคิดของมันว่าพระเจ้าควรเป็นอย่างไร ...
และพระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราไม่ให้เห็นด้วยกับความคิดของซาตานเกี่ยวกับพระเจ้า เราต้องไม่ยอมรับภาพลักษณ์จอมปลอมของพระเจ้า เพื่อจะเปิดใจของเราต่อพระเจ้าเที่ยงแท้ โดยอาศัยความเชื่อ ...
ข้าแต่พระบิดา โปรดช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลองด้วยเทอญ ...