แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
อพยพ 20:1-17, 1 โครินธ์ 1:22-25, ยอห์น 2:13-25

บทรำพึงที่ 1
มิสซาวันอาทิตย์
เราไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ทำไม

    จงระลึกถึงวันสับบาโตว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ... พระยาห์เวห์ทรงอวยพรวันสับบาโต และทรงทำให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ (อพย 20:8, 11)

    นักเรียนกลุ่มหนึ่งกำลังคุยกันเรื่องมิสซาวันอาทิตย์ในห้องเรียนคำสอน เด็กชายคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อเขาไปร่วมมิสซาวันอาทิตย์ครั้งหนึ่ง ทางวัดขอให้ผู้ใหญ่ในเขตวัดของเขาตอบแบบสอบถาม

    เมื่อบิดาของเขาพบคำถามว่า “ทำไมคุณจึงไปร่วมพิธีมิสซา” เขาเขียนคำตอบว่า “เพื่อแสดงตัวอย่างที่ดีให้ลูก ๆ ของผม” เด็กชายคนนั้นกล่าวว่า “ผมว่านั่นเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยจะเข้าท่า”

    คงน่าสนใจถ้าสัตบุรุษแต่ละคนจะเขียนเหตุผลข้อหลักที่ทำให้เราไปร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์ เช่น ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นหน้าที่ เราจะไปฟังมิสซาทุกวันอาทิตย์หรือไม่

    มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่คุณอาจเคยได้ยินมาก่อน ทูตสวรรค์องค์หนึ่งเดินมาตามถนน มือข้างหนึ่งถือถังใส่น้ำ อีกข้างหนึ่งถือคบไฟ มีคนถามทูตสวรรค์นั้นว่า “ท่านจะใช้ของสองอย่างนี้ทำอะไร”

    ทูตสวรรค์ตอบว่า “ด้วยน้ำในถังนี้ ฉันจะดับไฟในนรก และด้วยคบไฟนี้ ฉันจะเผาที่พำนักต่าง ๆ ในสวรรค์ แล้วเราจะได้เห็นกันว่าใครบ้างที่รักพระเจ้าจริง ๆ” ประเด็นที่ทูตสวรรค์ต้องการบอกเราก็คือ คนจำนวนมากไปร่วมพิธีมิสซาไม่ใช่เพราะเขารักพระเจ้า แต่เพราะเขากลัวตกนรก หรือกลัวจะไม่ได้เข้าสวรรค์

    เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มวิจัยบาร์นา ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ หนึ่งในคำถามที่เขาถามก็คือ “ทำไมคุณจึงไปวัดทุกวันอาทิตย์” คำตอบที่มีผู้เลือกมากที่สุดคือ “เพื่อติดต่อกับพระเจ้า” เมื่อถูกถามต่อไปว่าเขารู้สึกว่าตนเองติดต่อกับพระเจ้าได้หรือไม่ สามในสี่คนตอบว่า “ไม่ได้”

    แต่รายงานบอกว่าสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือคนเหล่านี้ยังกลับไปวัดสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า แม้ว่าเขาไม่อาจทำสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของเขาในการมาวัด รายงานนี้สรุปว่า “ในที่สุด คนเหล่านี้ก็หยุดคาดหวังว่าเขาจะติดต่อกับพระเจ้าได้ และเขามาวัดเพียงเพื่อให้มีความรู้สึกเบิกบานใจเท่านั้น”

    เราจะมาพิจารณาเหตุผลหลักสามข้อที่ทำให้คาทอลิกจำนวนมากไปร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า
    บ่ายวันหนึ่ง ออสบอร์น เยรา เข้าไปในวัดเพื่อหาอะไรบางอย่าง ขณะที่ก้าวเข้าไปในวัด เขาได้ยินเสียงใครบางคนกำลังร้องเพลงดังสุดเสียง เสียงนั้นดังมาจากระเบียงสำหรับนักขับร้อง

    เขาย่องขึ้นบันใดไปดูว่าเป็นใคร และพบชายคนหนึ่งยืนอยู่ที่นั่น เขาสวมเสื้อโอเวอร์โค๊ทเก่า ๆ มีหมวกขาด ๆ ใบหนึ่งอยู่ในมือ และเขากำลังร้องเพลงอย่างสุดหัวใจ

    เมื่อเขาเห็นเยรา เขาหยุดร้องและพูดว่า “ผมแค่รู้สึกอยากร้องเพลงให้พระเจ้าฟัง วันนี้มีแต่เรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้น จนผมคิดว่าการร้องเพลงสักหน่อยจะทำให้พระองค์เบิกบานใจขึ้น” แล้วเขาก็แบมือที่ว่างเปล่าให้ดู พูดว่า “ผมไม่ได้แตะต้องอะไรเลยนะ”

    เยราคิดว่า “เขาคิดผิดมากที่บอกว่า ‘ผมไม่ได้แตะต้องอะไรเลย’ สิ่งแรกที่เขาทำคือเขาแตะต้องหัวใจของเยรา เขาทำให้เยราซาบซึ้งใจมาก

    ชายคนนี้มาที่วัดเพราะเหตุผลข้อเดียว ไม่ใช่เพราะเขาทำตามหน้าที่ เขาไม่ได้มาวอนขออะไรจากพระเจ้า เขาไม่ได้มาเพื่อบ่นเรื่องอะไรกับพระเจ้า แต่เขามาเพื่อสรรเสริญและถวายเกียรติแด่พระเจ้าของเขาเท่านั้น

    ต่อไป เราจะพิจารณาเรื่องที่สอง และเหตุผลข้อที่สองที่ทำให้เราคาทอลิก ไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ครั้งแล้วครั้งเล่า

    เจมส์ โคน เขียนในหนังสือของเขาชื่อ God of the Oppressed (พระเจ้าของผู้ถูกกดขี่) ว่า “เมื่อถึงเช้าวันอาทิตย์ หลังจากได้ต่อสู้มาตลอดหกวัน เพื่อพยายามทำให้ชีวิตของเขามีความหมาย ประชาชนของเมืองแบร์เดนจะไปวัด เพราะเขารู้ว่าพระเยซูเจ้าจะอยู่ที่นั่น ... อาศัยบทเพลง คำภาวนา และบทเทศน์ ชุมชนนี้ยืนยันถึงการประทับอยู่ของพระองค์ และความพร้อมของพวกเขาที่จะฟันฝ่าสถานการณ์ยากลำเค็ญของเขาไปให้ได้ ... พวกเขารู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเขาบอกเขาว่าเขาไร้ความสำคัญ ... นั่นเป็นเพราะ เขารู้ว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่นั่นกับเขา และการประทับอยู่ของพระองค์ยังรวมไว้ด้วยคำสัญญาว่าพระองค์จะเสด็จกลับมา และนำพวกเขาไปสู่ ‘นครเยรูซาเล็มใหม่’ ”

    ดังนั้น เหตุผลข้อที่สองที่ทำให้เราไปวัดร่วมพิธีมิสซาสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าก็คือพระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่นั่น

    และพระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่นั่นเป็นพิเศษได้อย่างไร คำตอบแรกคือ พระองค์ประทับอยู่ในชุมชนผู้มีความเชื่อ “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:20)

    คำตอบที่สองคือ พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในวจนพิธีกรรม พระองค์ทรงสัญญากับศาสนบริกรของพระองค์ว่า “ผู้ใดฟังท่าน ผู้นั้นฟังเรา” (ลก 10:16)

    คำตอบสุดท้าย คือ พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในพิธีบูชาขอบพระคุณ ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย หลังจากได้ประทานพระกาย และพระโลหิตของพระองค์ให้แก่บรรดาศิษย์แล้ว พระองค์ตรัสว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเรา” (ลก 22:19)

    ดังนั้น วิธีที่สองที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ ก็คือในชุมชนผู้มีความเชื่อ ในการอ่าน และอธิบายพระคัมภีร์ ในการบิปัง คือศีลมหาสนิท

    และก็มาถึงเหตุผลสำคัญข้อที่สามที่ทำให้เราไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า

    นักเขียนบทภาพยนตร์ชื่อ แดน เวกฟิลด์ บอกเราว่าทำไมเขาจึงกลับไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์หลังจากทิ้งวัดไปนานหลายปี เขากล่าวไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง Returning: A Spiritual Journey (การกลับมา: เรื่องของการเดินทางฝ่ายจิต)

    “การไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์เป็นประจำ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ดูเหมือนเป็นกิจศรัทธาที่ “เยอะเกินไป” บัดนี้ดูเหมือนว่ายังไม่มากพอ สิ่งใดก็ตามที่ผมได้รับจากวัด นั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการและจำเป็นสำหรับผม ... สิ่งที่ผมรู้สึกนั้นเหมือนกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งหลายที่เริ่มต้นการเดินทางประเภทนี้ คือ เป็นความรู้สึกที่เรียกได้อย่างเหมาะสมที่สุดว่า “ความกระหายหาพระเจ้า”

    เหตุผลข้อที่สามที่ทำให้เราคาทอลิก กลับไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าก็คือ ลึก ๆ ในใจเรา เรารู้สึกกระหายหาพระเจ้า ดังที่ผู้เขียนบทสดุดีกล่าวว่า “กวางย่อมกระหายหาธารน้ำไหลฉันใด ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าก็ย่อมกระหายหาพระองค์ฉันนั้น” (สดด 42:1-2)

    เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ ความกระหายหา “บ้านของพระบิดาของเรา” และธรรมล้ำลึกเรื่องความรักของพระเจ้า ชักนำเราให้กลับไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า

    ดังนั้น จึงสรุปได้ว่ามีเหตุผลสามข้อที่ทำให้ชาวคาทอลิกกลับไปยัง “บ้านของพระบิดาของเรา” ทุกวันอาทิตย์ คือ

    ข้อแรก เพื่อสรรเสริญ และถวายเกียรติแด่พระเจ้า

    ข้อที่สอง เพื่อพบพระเยซูเจ้าในชุมชนผู้มีความเชื่อ ในบทอ่านพระคัมภีร์ และในการร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำของพระผู้เป็นเจ้า

    ข้อที่สาม เพราะในตัวเรามีความหิว และความกระหายฝ่ายจิตที่พระเจ้าเท่านั้นทรงทำให้อิ่มได้


บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 2:13-25

เทศกาลปัสกาของชาวยิวใกล้จะมาถึง พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม

    พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติศาสนกิจของชาวยิวอย่างสม่ำเสมอ นักบุญยอห์นบอกไว้ในพระวรสารของเขาว่าพระเยซูเจ้าเสด็จไปร่วมในเทศกาลใหญ่ถึงแปดครั้ง (ยน 2:13, 5:1, 6:4, 7:2, 10:22, 11:55, 12:1, 13:1) โดยเฉพาะเทศกาลปัสกาในฤดูใบไม้ผลิ และเทศกาลอยู่เพิงในฤดูใบไม้ร่วง ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่กำลังอธิษฐานภาวนา และขับร้อง ... ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระองค์ขณะเดินทางจาริกแสวงบุญ แล้วจึงเสด็จเข้าไปในลานพระวิหาร

    แม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงปรับเปลี่ยนวิธีนมัสการพระเจ้าของชาวยิวมากทีเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีเหตุผลที่จะต่อต้านชาวยิว เรารู้ซึ้งถึงความทุกข์ยากของชนชาตินี้ และพระเยซูเจ้าก็เป็นประชากรคนหนึ่งของชนชาตินี้ ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็มีชะตากรรมที่เร้นลับไม่เหมือนชนชาติอื่น บทอ่านจากพระวรสารของยอห์นตอนนี้เริ่มต้นด้วย “เทศกาลปัสกาของชาวยิว” (ข้อ 13) และจบลงด้วย “ปัสกาของพระเยซูเจ้า” (ข้อ 22) ข้อความนี้กล่าวด้วยว่าศิษย์กลุ่มแรกของพระเยซูเจ้าล้วนเป็นชาวยิว และเขา “เชื่อในพระองค์ระหว่างเทศกาลปัสกา” (ข้อ 23) เริ่มจากปัสกาของชาวยิว จนถึงปัสกาของคริสตชน มีธรรมล้ำลึกเดียวกันได้เกิดขึ้น นั่นคือธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับความตาย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของชีวิต ... ธรรมล้ำลึกของการทำลายพระวิหารหลังหนึ่ง และจากซากของพระวิหารนั้น พระวิหารอีกหลังหนึ่งได้เกิดขึ้นมา ...

ในบริเวณพระวิหาร พระองค์ทรงพบพ่อค้าขายโค พ่อค้าขายแกะ พ่อค้าขายนกพิราบ และคนแลกเงินนั่งอยู่ที่โต๊ะ พระองค์ทรงใช้เชือกเป็นแส้ ทรงขับไล่ทุกคน รวมทั้งแกะและโค ออกจากพระวิหาร ทรงปัดเงินกระจายเกลื่อนกลาด และทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน แล้วตรัสแก่คนขายนกพิราบว่า “จงนำของเหล่านี้ออกไป”

    จิตกรคริสตชนจำนวนมากได้วาดภาพที่ชุลมุนวุ่นวายนี้ โดยแสดงให้เห็นพระเยซูผู้กำลังกริ้ว พระหัตถ์ถือแส้ “ขับไล่พ่อค้าในพระวิหาร” ... แต่เราต้องมองให้ไกลกว่าเหตุการณ์เพื่อเข้าถึงความหมายลึก ๆ ทางเทววิทยาของคำบอกเล่านี้

    เราสังเกตได้จากประโยคนี้ว่าพระเยซูเจ้าทรงจัดการกับ “พ่อค้าขายนกพิราบ” ต่างจากผู้อื่น ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงใช้ความนุ่มนวลกับเขามากกว่ากับพ่อค้ารายอื่น ๆ นกพิราบเป็น “เครื่องบูชาของคนจน” เป็นเครื่องบูชาของบุคคลที่เหมือนกับพระนางมารีย์เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งไม่มีเงินพอซื้อสัตว์ใหญ่กว่านี้มาถวาย ในเหตุการณ์นี้ พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเห็นใจคนยากจนเสมอ ...

“อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด”

    พ่อค้า และคนรับแลกเงิน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเลวเสมอไป อันที่จริง คนเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้แสวงบุญที่เดินทางมาจากแดนไกลได้มากทีเดียว เพราะผู้แสวงบุญจำเป็นต้องซื้อหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับ “ถวายบูชา” เมื่อพระนางมารีย์ และโยเซฟ มาที่พระวิหารเพื่อถวายพระกุมาร ท่านทั้งสองคงดีใจที่พบพ่อค้าที่ท่านจะซื้อนกพิราบสองตัวจากเขาได้ (ลก 2:24) ... ดังนั้น เราจึงไม่ควรอ่านข้อความนี้อย่างฉาบฉวย และคิดประณามผู้อื่น ... มันง่ายมากที่เราจะประณามเกี่ยวกับเงินทอง และ “เสียงของเงิน” รอบ ๆ พระแท่น หรือประณามสังคมบริโภคนิยม และการให้ความสำคัญกับผลกำไรในสังคมของเรา ...

    แต่ก็เป็นความจริงที่พระเยซูเจ้าทรงเป็นคนยากจน – และพระองค์ไม่พอพระทัยที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับเงินทองมากเกินไปในการบริหารจัดการพระวิหาร ดังนั้น ขอให้เรากลับใจในจุดนี้ ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงรักษาจิตใจของเราให้หลุดพ้นจากความผูกพันกับเงินทองด้วยเทอญ!

    แต่กระนั้น สาระสำคัญของพระวรสารตอนนี้กลับไม่ใช่ประเด็นนี้ ... ขอให้เราฟังอีกครั้งหนึ่ง และไตร่ตรองวลีที่น่าแปลกใจที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เมื่อตรัสถึงพระวิหาร “บ้านของพระบิดาของเรา” เราอาจคุ้นเคยกับวลีนี้จนไม่ตระหนักว่าวลีนี้ชี้ให้เราเห็นว่าเยซูชาวนานาเร็ธคนนี้เป็นใคร และมีความลับและธรรมล้ำลึกใดซ่อนอยู่ในตัวพระองค์ และพระองค์ทรงมีความรักอันสนิทสนมกับพระเจ้าอย่างไร ... เมื่อพระองค์อยู่ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าสูงสุด พระองค์ทรงรู้สึกว่านี่คือบ้านของพระองค์ ... สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง ซึ่งมหาสมณะเท่านั้นสามารถเข้าไปภายในได้ และเขาจะเข้าไปได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น (ฮบ 9:7) ... สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งนี้ถูกกั้นไว้แยกจากส่วนอื่น ๆ ของพระวิหาร และไม่มีใครสามารถแตะต้อง หรือแม้แต่เข้าไปภายในได้โดยไม่ตาย ... อาคารนี้เองที่พระเยซูเจ้าตรัสว่าเป็น “บ้านของพระบิดาของพระองค์ และเป็นบ้านของพระองค์ในฐานะพระบุตร” ... พระองค์เคยตรัสเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์อายุ 12 ปี – แต่ไม่มีใครเข้าใจ แม้แต่พระมารดาของพระองค์เอง “พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” (ลก 2:49) ...

    ถูกแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการนมัสการพระเจ้าไม่ใช่กิจศรัทธาใด ๆ ที่เราแสดงออกภายนอก (เช่น การถวายโคหรือนกพิราบ) แต่เราต้องนมัสการพระองค์ด้วยหัวใจของบุตรขณะที่เราปฏิบัติกิจศรัทธานั้น ๆ ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้หลุดพ้นจากความกังวลแต่กับพิธีการ และรูปแบบภายนอกด้วยเทอญ

บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ “ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า”

    “ความรักต่อพระบิดา” เผาผลาญพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง เหมือนกับไฟเผาผลาญกิ่งไม้ การถวายบูชาของพระองค์จะไม่ใช่ “พิธี” ที่เป็นกิจศรัทธาภายนอก แต่พระองค์จะทรงถวายพระองค์เอง ทรงถวายทั้งชีวิต ทั้งตัวตนของพระองค์ เป็นเครื่องบูชา ...

    ส่วนข้าพเจ้าเล่า ข้าพเจ้านมัสการพระเจ้าอย่างไร ข้าพเจ้าเพียงแต่ “ไปฟัง” มิสซา หรือข้าพเจ้า “เข้าร่วมในพิธีมิสซา” ... ความรักของข้าพเจ้าเผาผลาญข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าหลงใหลพระเจ้า เหมือนกับพระเยซูเจ้าหรือเปล่า ...

    ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าปรารถนาให้ความรักต่อบ้านของพระองค์เผาผลาญข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้ไป ...

    พระเยซูเจ้าแสดงปฏิกิริยารุนแรงเช่นนี้ก็เพราะการค้าขายนี้กำลังทำลายพระเกียรติของพระบิดาของพระองค์
“จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” ชาวยิวพูดว่า “วิหารหลังนี้ต้องใช้เวลาสร้างถึงสี่สิบหกปี แล้วท่านจะสร้างขึ้นใหม่ในสามวันหรือ”

    ในข้อความนี้พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกไม่ได้ใช้คำว่า “พระวิหาร (ieron)” แต่ใช้คำว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (naos)” ซึ่งไม่ใช่เหตุบังเอิญ เพราะก่อนหน้านี้ ยอห์นใช้คำว่า ieron ... ในบริเวณ “พระวิหาร” พระองค์ทรงพบพ่อค้า ... ทรงขับไล่ทุกคน ... ออกจาก ‘พระวิหาร’ ” ในข้อความนี้ พระวิหารหมายถึงอาคารทั้งหมด รวมถึงลานและบริเวณโดยรอบ แต่บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงหมายความลึกกว่านั้นเมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงทำลาย ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ (naos)’ ” น่าเสียดายที่ผู้แปลพระคัมภีร์ไม่เคารพต่อตัวบทดั้งเดิม ทั้งนี้เพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นอาคารขนาดเล็กมาก และมีค่ามากกว่าอาคารอื่น ๆ ทั้งปวง และเป็นหัวใจของทั้งพระวิหาร เพราะนี่คือสถานที่ประทับ (Shekinah) ของพระเจ้า

    เราต้องระลึกว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกตัดสินประหารชีวิตก็เพราะข้อกล่าวหาเท็จว่าพระองค์ตรัสว่า “ฉันมีอำนาจจะทำลายพระวิหารของพระเจ้า และสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในสามวัน” (มธ 26:61) ... นี่คือการพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า เพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เพิ่งสร้างเสร็จ โดยเฮโรดเป็นผู้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 50 ปีก่อน นี่คือสถานที่แห่งความภาคภูมิใจของชาวยิว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับอธิษฐานภาวนา และการแสวงบุญ ซึ่งประชาชนนับล้านคนเดินทางมาเยือนทุกปี และเป็นสถานที่นมัสการพระเจ้าเพียงแห่งเดียวของประชาชนชาวยิว ...

    ชายคนนี้ช่างอวดดีจริง ๆ ... เหมือนกับมีใครสักคนในปัจจุบันพูดว่า “จงทำลายมหาวิหารนักบุญเปโตรในกรุงโรม ... หรือที่ลูร์ด ... หรือ ...” แต่พระเยซูเจ้าไม่ใช่พวกก่อกวนความสงบสุข

    แต่พระองค์กำลังตรัสถึงพระวิหาร ซึ่งหมายถึงพระกายของพระองค์

    ข้อความนี้ใช้คำภาษากรีกว่า naos อีกครั้งหนึ่ง เห็นได้ชัดว่านี่คือจุดสูงสุดของพระวรสารฉบับนี้ ดังนั้น ขอให้เราพยายามเข้าถึงจิตสำนึกของพระเยซูเจ้า ว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวตนของพระองค์เอง ... พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์เป็นใคร ... พระองค์ตรัสว่าพระองค์ทรงเป็น “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” พระองค์ทรงบอกเราว่าพระองค์คือ “ที่พำนักของการประทับอยู่ของพระเจ้า”...พระกายของพระองค์คือ “พระวิหารหลังใหม่” – เป็นสถานที่สำหรับ “การนมัสการแบบใหม่”

    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เคยเรียกพระองค์ว่า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ... ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงถูกถวายเป็นเครื่องบูชาบนเนินเขาที่ประตูเมือง ในเวลาที่ลูกแกะปัสกาจำนวนมากกำลังถูกถวายเป็นเครื่องบูชาในพระวิหารแห่งนี้ในวันเตรียม “วันสับบาโตฉลองปัสกาอันยิ่งใหญ่” (ยน 19:31) ... ด้วยพระกายที่ถูกถวายเป็นเครื่องบูชา พระองค์จึงเข้าแทนที่เครื่องบูชาทั้งปวง และทรงทำให้พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มหมดประโยชน์ อันเห็นได้จากผ้าม่านที่ฉีกขาดออกเป็นสองส่วน (มธ 27:51) หลังจากนั้น “ธารน้ำทรงชีวิต” (ยน 19:33) จึงไหลออกมาจากพระกายนี้ – เป็นน้ำ และโลหิตที่ประกาศกเอเสเคียลเคยประกาศไว้ ว่าจะไหลออกมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (อสค 41:1-12) ...

ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ว่าพระองค์ตรัสไว้ดังนี้

    ดังนั้น ปัสกาของพระเยซูเจ้า และของคริสตชน จึงเสริมปัสกาของชาวยิวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ นี่คือการปลดปล่อยอย่างสมบูรณ์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งการปลดปล่อยจากความเป็นทาสในอียิปต์เป็นเพียงการประกาศและสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยนี้ ... นี่คือพระวิหารหลังใหม่ ซึ่งทำให้สถานที่นมัสการอื่น ๆ ล้าสมัย ...

    ต่อจากนี้ไป สถานที่ประทับของพระเจ้าจะไม่ใช่อาคารหลังหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นใครคนหนึ่ง คือพระกายของพระคริสตเจ้า ... พิธีกรรมของคริสตศาสนาพัฒนาขึ้นรอบ ๆ พระกายนี้เท่านั้น แต่เราควรตระหนักว่าธรรมล้ำลึกนี้กว้าง และลึกเพียงไร นักบุญเปาโลเขียนถึงคริสตชน ซึ่งเป็นคนงานท่าเรือที่เมืองโครินธ์ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า” (1 คร 12:27) นี่คือรากฐานของศักดิ์ศรีมนุษย์ “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่าท่านเป็นพระวิหารของพระเจ้า และพระจิตของพระเจ้าทรงพำนักอยู่ในท่าน” (1 คร 3:16-17) ...

    ถูกแล้ว พระวิหารใหม่นี้ไม่ได้หมายถึง “พระกายที่กลับคืนพระชนมชีพ” ของพระเยซูเจ้าเท่านั้น แต่หมายถึงร่างกายของมนุษย์ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วด้วย “ท่านไม่รู้หรือว่าร่างกายของท่านเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าผู้สถิตอยู่ในท่าน ... ดังนั้น จงใช้ร่างกายของท่านถวายเกียรติแด่พระเจ้าเถิด” (1 คร 6:19-20) นักบุญออกัสตินบอกสัตบุรุษของท่านว่า “เมื่อพระสงฆ์บอกท่านว่า ‘พระกายของพระคริสตเจ้า’ ท่านตอบว่า ‘อาเมน’ ยอมรับสิ่งที่ท่านเป็นในองค์พระคริสต์” ...

    ขอให้เราเป็นพระกายที่ยินดีขอบพระคุณพระเจ้าเถิด ... ขอให้เราเป็นพระกายที่ได้รับมอบหมายพันธกิจให้สรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า ... ขอให้เราเป็นพระกายที่ได้รับมอบหมายพันธสัญญาเถิด ...

    เรามักอยากจะลงโทษพระเยซูเจ้าด้วยการ “กักบริเวณพระองค์” ด้วยการสร้าง “คุกทองคำ” ให้พระองค์ ซึ่งจะแยกพระองค์ออกจากโลกของเรา และชีวิตของเรา แต่ไม่มีวัดใด วิหารใด สามารถกักขังพระกายของพระคริสตเจ้าได้

    ท่านคือพระกายของพระคริสตเจ้า ... ข้าพเจ้าคือพระกายของพระคริสตเจ้า ... เมื่อข้าพเจ้ารับพระกายของพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าก็กลายเป็นพระกายของพระองค์ ผู้ทรงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ...

ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม ในเทศกาลปัสกา คนจำนวนมากเชื่อในพระนามของพระองค์