แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
2 พศด 36:14-16, 19-23; เอเฟซัส 2:4-10; ยอห์น 3:14-21

บทรำพึงที่ 1
ชีวิตนิรันดร
เราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

    บุตรแห่งมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้น เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระองค์จะมีชีวิตนิรันดร (ยน 3:15)

    ในคืนวันจันทร์คืนหนึ่ง Lehrer Report สรุปรายงานข่าวด้วยการกล่าวยกย่องกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวเม็กซิกัน ที่เพิ่งเสียชีวิต กวีผู้นั้นชื่อ อ็อกทาวีโอ ปาส (Octavio Paz)

    คำสรรเสริญนี้อ้างถึงหนังสือเล่มหนึ่งของเขาชื่อ The Labyrinth of Solitude (เขาวงกตแห่งความวิเวก) ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือภาษาสเปนระดับคลาสสิกเล่มหนึ่ง ข้อความตอนหนึ่งของหนังสือนี้บอกว่า

    “ชาวนิวยอร์ก ชาวปารีส และชาวลอนดอน ไม่เคยใช้คำว่า ‘ความตาย’ เพราะคำนี้ร้อนปากสำหรับพวกเขา”

    หนังสือกล่าวต่อไปว่า คนเหล่านี้ใช้คำว่า “ล่วงลับ” แทน

    แต่ชาวเม็กซิกันกลับไล่ตามความตาย เขากอดความตาย เยาะเย้ยมัน ล้อเล่นกับมัน และนอนกับมัน ความตายเป็นหนึ่งในของเล่นชิ้นโปรด และเป็นสิ่งที่เขารักที่สุดตลอดไป ชาวเม็กซิกันเชื่ออย่างลึกซึ้งในพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ว่า “ทุกคนที่เชื่อในเราจะไม่ตาย แต่จะมีชีวิตนิรันดร”

    สำหรับชาวเม็กซิกัน ความตายไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งในชีวิต

    เมื่อหลายปีก่อน ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ เขียนหนังสือขายดีเล่มหนึ่งชื่อ A Rumor of Angels (เรื่องเล่าลือของทูตสวรรค์) ในหนังสือเล่มนี้ เขาพูดถึงสัญญาณของอุตรภาพ (signals of transcendence) ซึ่งหมายถึงบางสิ่งบางอย่างในชีวิตนี้ที่ชี้ให้เรามองไปที่ชีวิตหน้า

    หนึ่งในสัญญาณของอุตรภาพคือความหิวในหัวใจมนุษย์ต่อบางสิ่งที่โลกนี้ไม่สามารถตอบสนองได้ เช่น เราทุกคนสัมผัสกับความรักได้ แต่ความรักที่เกิดขึ้นกับเรา แม้ว่าเป็นสิ่งงดงาม แต่ไม่สามารถทำให้เราอิ่มได้ แต่กลับทำให้เราหิวกระหายบางสิ่งบางอย่างมากกว่านั้น ความรักของเราไม่สามารถดับความหิวกระหายความรักอันไร้ขอบเขตที่เรารู้สึกได้ในหัวใจ

    ลองพิจารณาอีกตัวอย่างหนึ่ง เราทุกคนเคยสัมผัสกับความสุขในโลกนี้ แต่ความสุขนี้ แม้ว่าเป็นสิ่งที่งดงาม แต่ไม่สามารถทำให้เราอิ่มได้เช่นกัน แต่กลับทำให้เราหิวกระหายความสุขอันไร้ขอบเขตที่อยู่ในหัวใจของเรา
    ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ กล่าวว่า “ความปรารถนาความรัก และความสุขอันไร้ขอบเขตนี้คือ “สัญญาณหนึ่งของอุตรภาพ” เป็นบางสิ่งบางอย่างในโลกนี้ที่ชี้ไปยังบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เหนือโลกนี้

    ซี. เอส. เลวิส นักเทววิทยาชาวบริติช กล่าวว่า “ถ้าผมพบว่าในตัวผมมีความปรารถนาอย่างหนึ่งที่ไม่มีประสบการณ์ใดในโลกนี้สามารถตอบสนองให้สมความปรารถนาได้ คำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ผมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีชีวิตในอีกโลกหนึ่ง”

    นี่ไม่ใช่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของอ็อกทาวีโอ ปาส และปีเตอร์ เบอร์เกอร์ และซี. เอส. เลวิส

    เมื่อเวอร์เนอร์ วอน บราวน์ เสียชีวิต นิตยสาร Time ขนานนานเขาว่า “โคลัมบัสแห่งศตวรรษที่ 20” วอน บราวน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ควรได้รับยกย่องมากกว่านักวิทยาศาสตร์คนใดในโลก ว่าเป็นผู้นำมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์

    ไม่นานก่อนเสียชีวิต วอน บราวน์ เขียนไว้ว่า “คนจำนวนมากดูเหมือนจะคิดว่าวิทยาศาสตร์ได้ทำให้ “ความคิดทางศาสนา” กลายเป็นเรื่องล้าสมัย แต่ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์มีคำตอบที่น่าประหลาดใจสำหรับคนที่ไม่เชื่อ เช่น วิทยาศาสตร์บอกเราว่าไม่มีสิ่งใดในธรรมชาติ แม้แต่อนุภาคขนาดเล็กที่สุด ที่สามารถสูญสลายไปโดยไม่เหลือร่องรอย ธรรมชาติไม่รู้จักสูญพันธุ์ สิ่งที่ธรรมชาติรู้คือการเปลี่ยนสภาพ และถ้าพระเจ้าทรงใช้หลักการมูลฐานนี้กับอนุภาคขนาดเล็กที่สุด และสำคัญน้อยที่สุดในเอกภพของพระองค์แล้ว เราไม่มีเหตุผลที่จะสันนิษฐานหรือว่าพระองค์จะทรงใช้หลักการเดียวกันนี้กับวิญญาณมนุษย์ ผมคิดว่าเป็นเช่นนั้นจริง และทุกสิ่งทุกอย่างที่วิทยาศาสตร์เคยสอนผม และยังสอนผมต่อไป ทำให้ผมเชื่อมากขึ้นว่าจิตของเราจะดำรงอยู่ต่อไปภายหลังความตาย”

    ดังนั้น สิ่งที่หัวใจของเราสอนเราเสมอ และสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็กำลังสอนเราอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ เราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อชีวิตนิรันดร ซึ่งทำให้เกิดคำถามสำคัญที่สุดข้อหนึ่งว่า ถ้าพระเจ้าทรงวางแผนให้เรามีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร ความเป็นจริงของชีวิตนิรันดรควรส่งแรงกระทบอย่างไรต่อชีวิตของเราในปัจจุบัน

    นักบุญเปาโลตอบคำถามข้อนี้ในจดหมายถึงชาวโคโลสี อย่างตรงไปตรงมาว่า “ท่านทั้งหลายจงปราบโลกีย์วิสัยในตัวท่าน คือการผิดประเวณี ความลามก กิเลสตัณหา ความปรารถนาในทางชั่วร้าย และความโลภ ... ครั้งหนึ่งท่านก็เคยเป็นเช่นนี้ เคยดำเนินชีวิตในกิเลสตัณหาเหล่านี้ แต่บัดนี้ ท่านจงขจัดทุกอย่าง คือ ความโกรธ ความโมโหร้าย การปองร้าย การสาปแช่ง และการพูดหยาบคาย อย่าพูดเท็จต่อกัน ท่านทั้งหลายได้ปลดเปลื้องวิสัยมนุษย์เก่า ๆ และการกระทำตามวิสัยมนุษย์เก่า ๆ นั้น แล้วสวมใส่วิสัยมนุษย์ใหม่ ... ท่านจะพูดเรื่องใด หรือทำกิจการใด ก็จงพูดจงทำในพระนามของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นการขอบพระคุณพระเจ้า พระบิดาโดยทางพระองค์เถิด” (คส 3:5, 7-10, 17)

    ความเป็นจริงของความรัก ชีวิต และความสุข ควรส่งแรงกระทบต่อชีวิตในปัจจุบันของเราเช่นนี้

    เราควรพยายามดำเนินชีวิตอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเคยดำเนินชีวิต รักอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเคยรัก อธิษฐานภาวนาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเคยทำ และให้อภัยอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเคยให้อภัย เพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดรที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาแก่ทุกคนที่มีความเชื่อ

    นี่คือข่าวดีในบทอ่านพระวรสารวันนี้ นี่คือข่าวดีที่เราเฉลิมฉลองในพิธีกรรมวันนี้ ข่าวดีนั้นคือ ด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนประตูมืดแห่งความตาย ให้กลายเป็นประตูอันสว่างไสวแห่งอมตภาพ

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 3:14-21

โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด ...

    พระวรสารวันนี้เริ่มต้นด้วยคำเชิญชวนให้เราเงยหน้าขึ้นมองเครื่องหมายหนึ่ง

    นักบุญยอห์นอ้างเหตุการณ์หนึ่งในพระคัมภีร์ ระหว่าง 40 ปี ที่เร่ร่อนในถิ่นทุรกันดาร ชาวฮีบรูถูกงูพิษกัดตายเป็นจำนวนมาก (กดว 21:6-9) โมเสสจึงทำงูทองสัมฤทธิ์ขึ้นติดไว้ที่เสา ซึ่งมีอำนาจรักษาพิษงูได้ ภาพลักษณ์ในตำนานนี้ได้กลายเป็นเครื่องหมายที่แพทย์ใช้บ่งบอกอาชีพจนถึงทุกวันนี้

    “ผู้ที่หันไปหา (เครื่องหมาย) นี้ก็รอดชีวิต มิใช่รอดเพราะสิ่งที่เขาเห็น แต่เพราะพระองค์ผู้ทรงช่วยทุกคนให้รอดพ้น” (ปชญ 16:7) การตีความของผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณบอกเราว่านี่ไม่ใช่กิริยาที่มีอำนาจรักษาโรคได้โดยอัตโนมัติเหมือนเวทย์มนตร์คาถา การมองที่งูไม่ได้ช่วยให้รอดชีวิต ราวกับว่างูนั้นเป็นเครื่องรางของขลัง แต่นี่เป็นเครื่องหมายของความเชื่อ นี่คือกิริยาที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมว่ามนุษย์หันไปหาพระเจ้า ...

บุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์จะมีชีวิตนิรันดร

    นักบุญยอห์นเชิญชวนเราให้เงยหน้าขึ้นมองไม้กางเขน

    เราต้องกล้าแหงนมองพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขน บุรุษผู้ “ถูกยกขึ้น” ต่อหน้าต่อตาเรา

    ยอห์นเลือกใช้คำว่า “ยกขึ้น” (uposthenai ในภาษากรีก) เพื่อแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกยกขึ้นตรึงบนไม้กางเขน จากนั้นก็ทรงถูกยกขึ้นสู่เบื้องขวาพระบิดาด้วยการกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์ (ยน 3:14, 8:28,12:32-34) ...

    ยอห์นไม่มีวันลืมวันนั้น หรือเหตุการณ์นั้น ซึ่งเราคุ้นเคยมากเกินไป ในบรรดาอัครสาวก 12 คน ยอห์นเป็นคนเดียวที่ยืนอยู่ที่เชิงกางเขนในตอนบ่ายวันศุกร์นั้น ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเป็นเวลา 70 ปี เขาได้รำพึงไตร่ตรอง “ภาพ” นี้ ... และบัดนี้ เขากำลังแบ่งปันแก่เราผลจากการรำพึงอันยาวนาน และล้ำลึกของเขา

    สำหรับยอห์น ไม้กางเขน และปัสกา เป็นธรรมล้ำลึกเดียวกัน ซึ่งเขาแสดงออกด้วยข้อความนี้ และหมายความได้สองทาง ... “พระเยซูเจ้าทรงถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน” หมายความได้ทั้งการตรึงกางเขน และการเสด็จขึ้นสวรรค์ ...

    เรายังรอคอยให้พระเจ้าแสดง “พระสิริรุ่งโรจน์” ของพระองค์ ด้วยเครื่องหมายแห่งชัยชนะอันน่าตื่นเต้น แต่สำหรับยอห์น ผู้เป็นประจักษ์พยานบนเนินเขากัลวาลีโอ กางเขนนั่นเองคือพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ทันทีที่ยูดาสเดินออกจากห้องเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “บัดนี้ บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” (ยน 13:31) สี่วันก่อนหน้านั้น ในเย็นวันที่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้ชนะ พระเยซูเจ้าตรัสตั้งแต่เวลานั้นแล้วว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว ... ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดินและตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย ... เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:23-32)

    ดังนั้น เราจึงต้องหันสายตาไปมองพระองค์ผู้ทรงถูกยกขึ้นระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน – และภาวนา ความตายที่พระองค์สมัครใจยอมรับนี้จะกลายเป็นจุดสุดยอดของความรักตลอดไป นี่คือจุดสุดยอดของความรักของพระบุตรต่อพระบิดา เป็นจุดสุดยอดของความรักของพระองค์ต่อพี่น้องที่ตกในบาปของพระองค์ ไม้กางเขนซึ่งตรึงร่างของชายคนหนึ่งที่ถูกทรมาน คือ “จุดสุดยอดของความเจ็บปวดและความตาย” และยังเป็นจุดสุดยอดของการเผยแสดงของพระเจ้าอีกด้วย ...

    เราต้องมองภาพนี้ด้วยดวงตาที่เบิกกว้าง แต่เราต้องปิดตาของเราด้วย เพื่อให้ “มองเห็น” สิ่งที่ตามองไม่เห็น ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเครื่องหมาย – นั่นคือ เพื่อให้เห็นความรักอันไร้ของเขตที่ลุกร้อนอยู่ในหัวใจของชายที่ชื่อเยซูนี้ ... “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) ... แต่ความรักอันไร้ขอบเขตที่เผาผลาญชายที่ชื่อเยซูนี้ยังเป็นเครื่องหมายของอีกหนึ่งความรักอันไร้ขอบเขตด้วย คือความรักของพระบิดา “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์” (ยน 3:16)

    ด้วยเหตุนี้ บ่อยครั้งที่จิตรกรทั้งหลายตัดสินใจวาดภาพพระเยซูเจ้าขณะถูกตรึงกางเขนท่ามกลางรัศมีอันรุ่งโรจน์ แทนที่จะเป็นภาพของร่างที่เกร็งเพราะความเจ็บปวดจากการถูกทรมาน แขนและร่างกายของพระองค์กลับอ่อนและผ่อนคลาย แขนของพระองค์ยกขึ้นในลักษณะของบุคคลที่กำลังภาวนา เหมือนของพระสงฆ์ผู้ถวายเครื่องบูชาบนพระแท่น ขณะที่เราขับร้อง “บทข้าแต่พระบิดา” ...

พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์

    ในปัจจุบัน บางคนมองโลกในแง่ร้ายว่า “โลกนี้เสื่อมทราม ... จนไม่มีความหวังเหลืออยู่อีกแล้ว” มีเหตุผลมากมายให้เราคิดในแง่ร้าย เช่น ความรุนแรง การลักพาตัว ความเห็นแก่ตัว ทั้งระดับส่วนรวมและส่วนตัว ความเสื่อมทางศีลธรรม การขาดจิตสำนึกในวิชาชีพ การเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ การใช้ความเท็จในการโฆษณาชวนเชื่อ การชักจูงความคิดของสาธารณชน ความรู้สึกหมดศรัทธา ...
    พระเจ้าก็ทรงมองเห็นทุกสิ่งเหล่านี้ แต่กระนั้น พระองค์ก็ยังรักโลกนี้ ... พระองค์ไม่ทรงถอดใจต่อความชั่วที่พระองค์ทรงเห็นในโลกนี้ – แต่ทรงสวนกระแสในขณะที่เราปล่อยตัวตามกระแส เพราะพระเจ้าทรงรักโลกนี้ ซึ่งดูเหมือนน่าเกลียด และวิปริตในสายตาของเรา ... พระเจ้าทรงรักสิ่งสร้างของพระองค์ทั้งที่สิ่งสร้างนี้ยังไม่สมบูรณ์ แต่บัดนี้ พระองค์ทรงกำลังนำสิ่งสร้างนี้ไปสู่ความสมบูรณ์ ...

    โลกนี้ไม่ได้ไร้สาระ ถ้าเรามองโลกนี้ด้วยสายตาของพระเจ้า ด้วยทัศนคติที่เปี่ยมด้วยความรักของพระองค์ ... เมื่อนั้น แทนที่เราจะคร่ำครวญต่อไป เราเองก็จะมอบชีวิตของเราเพื่อพี่น้องชายหญิงของเรา ...

พระองค์จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์

    คำกริยาที่แสดงทัศนคติของพระเจ้าคือ “รัก” และ “ให้” ข้าพเจ้าจะใช้สองคำนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการภาวนาของข้าพเจ้า ...

    ข้าพเจ้าสังเกตข้อความขยายที่ใช้กับพระเยซูเจ้า คือ “เพียงพระองค์เดียว” (monogenes ในภาษากรีก) ซึ่งนักบุญยอห์นเป็นคนเดียวที่ใช้คำนี้ ... แต่เราใช้อีกครั้งหนึ่งในบทข้าพเจ้าเชื่อ “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระองค์เดียว” ...

    คำนี้ทำให้เรามองไกลเกินรูปลักษณ์ทางโลก พระเยซูเจ้าทรงเป็นผลของความสัมพันธ์อันพิเศษของพระเจ้า ... คำนี้ยังทำให้คิดถึงอีกเรื่องหนึ่งในพระคัมภีร์ที่ชาวอิสราเอลจดจำได้เสมอ คือเรื่องของ “บุตรคนเดียว” อีกคนหนึ่งที่บิดารักมาก และบิดาผู้รักบุตรของเขามากนี้ยอมมอบบุตรของเขาเป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระเจ้า นั่นคือเรื่องของอับราฮัม และอิสอัค บุตรชายของเขา (ปฐก 22:2-16) ซึ่งยังตรึงอยู่ในความทรงจำของนักบุญยอห์น

    ยอห์นอธิบายความรักของพระเจ้าต่อโลก ซึ่งเป็นความรักที่บีบบังคับพระองค์ให้ประทานพระบุตรพระองค์เดียวของพระองค์ โดยใช้ห้าข้อความ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดคิดเป็นอื่น
-    พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้มนุษย์พินาศ ... พระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้มีชีวิต (ปชญ 1:13)
-    พระเจ้าทรงต้องการให้มนุษย์มีชีวิตนิรันดร ... ชีวิตที่มนุษย์จะได้รับ “จากเบื้องบน” (ยน 3:7)
-    พระเจ้าไม่ทรงต้องการลงโทษโลก ... ซึ่งหมายถึงมนุษยชาติ
-    พระเจ้าทรงต้องการช่วยโลกให้รอดพ้น ... พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนรอดพ้น (1 ทธ 2:4)
-    ผลงานของมนุษย์คือ “ผลงานของพระเจ้า”

... เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร

    พระเจ้าคือผู้ทรงชีวิต

    ชีวิตคือสิ่งประเสริฐที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถมีได้

    พระเจ้าทรงตัดสินพระทัยแล้วว่าจะทรงถ่ายทอดชีวิตของพระองค์เองให้แก่มนุษย์ – คือ ชีวิตพระเจ้า ชีวิตนิรันดร ...

    แผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับความรอดนิรันดรนี้ชัดเจน คือเพื่อให้ความรอดพ้นนี้มีประสิทธิผล มนุษย์ต้องยอมรับของประทานนี้ ... เป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์คนหนึ่งจะถูกบังคับให้อยู่กับพระเจ้าที่เขาปฏิเสธอย่างดื้อรั้น เพราะสภาพเช่นนั้นย่อมเป็น “นรก” โดยแท้

    และพระเจ้าทรงเคารพเสรีภาพของมนุษย์ ใครก็ตามที่ปฏิเสธชีวิตที่พระเจ้าเสนอให้แก่มนุษย์ทุกคน บุคคลนั้นยังคงจมอยู่ในความตาย ... มีมนุษย์คนใดบ้างที่ยังสามารถปฏิเสธอย่างดื้อรั้นเช่นนี้ได้ ... นี่คือความลับที่น่ากลัวของความตาย นี่คือนาทีที่มนุษย์ ผู้หลุดพ้นจากความคลุมเครือและความมืดบนโลกนี้ พบว่าตนเองเผชิญหน้ากับพระเจ้า ...

เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้ มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลก แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้ว เพราะเขามิได้มีความเชื่อในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า ประเด็นของการตัดสินลงโทษก็คือ ความสว่างเข้ามาในโลกนี้แล้ว แต่มนุษย์รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง เพราะการกระทำของเขานั้นชั่วร้าย

    ข้อความนี้นำเราขึ้นสู่ที่สูง หรือลงสู่ที่ลึก และยืนยันความจริงสองประการ คือ
    1)    พระเจ้าไม่ทรงลงโทษใครเลย พระเจ้าทรงต้องการช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น เพราะพระองค์ทรงรักทุกคน
    2)    แต่มนุษย์ตัดสินลงโทษตนเอง เมื่อเขาปฏิเสธพระเจ้าอย่างดื้อรั้น ...

    ดังนั้น การตัดสินลงโทษจึงไม่ใช่การกระทำภายนอกตัวมนุษย์ แต่เป็นทัศนคติของมนุษย์เองที่ปฏิเสธความรักของพระเจ้า ที่ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนด้วยการ “ประทานพระบุตรพระองค์เดียวของพระองค์ และแสดงออกอย่างเด่นชัดที่สุดบนไม้กางเขน” พระเจ้าทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างในส่วนของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงใช้พระอานุภาพและความรักทั้งหมดของพระองค์ เพื่อช่วยมนุษย์ ...

    “การตัดสินลงโทษ” ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลกของพระเจ้า แต่นี่คือความเป็นจริงภายนอกอาณาจักรสวรรค์ กล่าวคือบุคคลใดที่ปฏิเสธแสงสว่างของพระเจ้าก็ตัดสินลงโทษตนเองให้อยู่ในโลก “ภายนอก” พระเจ้า – โลกที่ไม่มีชีวิตนิรันดร ... โลกที่ตายแล้ว ...

    เราสังเกตจากข้อความนี้แล้วว่า “ความไม่เชื่อ” ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่เท่านั้น เพราะนี่คือหัวใจของคำบอกเล่าในพระวรสาร ... ถ้าเราต้องการสานต่อพันธกิจของพระเยซูเจ้า เราก็ต้องยับยั้งใจตนเองไม่ให้ตัดสินลงโทษใคร ... เราควรต้องการช่วยพี่น้องชายหญิงทุกคนของเราให้รอดพ้น – และพยายามสุดความสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขา

    ผู้ใดตัดสินพี่น้องของเขา ผู้นั้นกระทำการขัดแย้งกับพระเจ้า ... เขาทำให้ตนเองอยู่ “ภายนอก” โลกของพระเจ้า ผู้ “ไม่ได้เสด็จมาเพื่อตัดสินลงโทษ” ...

แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามความจริงย่อมเข้าใกล้ความสว่าง เพื่อให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เขาทำ ได้ทำโดยพึ่งพระเจ้า
    ความยินดีของผู้มีความเชื่อ คือ ความคาดหวังในความยินดีนิรันดรจากการพบพระเจ้าแบบตัวต่อตัว ชีวิตนิรันดรเริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับเขา เพราะเขารู้แล้วว่าพระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน และความรักนั้นเป็นอย่างไร เขาดำเนินชีวิตทุกวันในความรักนี้ และเขาขอบพระคุณพระไม่หยุดหย่อนสำหรับความรักนี้ ...

    และ “ชีวิตนิรันดร” ที่เริ่มขึ้นแล้วนี้ เป็นชีวิตที่มีพลวัตมากที่สุด บ่อยครั้ง และนานเกินไปแล้ว ที่คริสตชนพูดถึงชีวิตนิรันดรโดยใช้คำพูด และภาพลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับนิพพานของศาสนาพุทธ มากกว่าใกล้เคียงกับแนวคิดของนักบุญยอห์น คือ เรียกว่า “การพักผ่อนนิรันดร” ... สำหรับพระวรสารฉบับที่สี่ “ชีวิต” นิรันดรนี้เป็นชีวิตที่เปี่ยมล้นด้วยกิจการ และความยินดี – และไม่ใช่การนอนหลับพักผ่อนโดยไม่ทำอะไร ... นักบุญยอห์นกล่าวถึง “ผู้ที่ปฏิบัติตามความจริง” ดังนั้น การมีชีวิตจึงหมายถึง “การทำ” ... หมายถึงการกระทำ การทำงาน และกิจการ ... และน่าพิศวงอย่างยิ่งที่การกระทำของมนุษย์นั้นถือว่าเป็น “การกระทำของพระเจ้า”

    ชีวิต ... ตลอดกาล ...