แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต
ปรีชาญาณ 9:13-18; ฟีเลโมน 9-10, ยอห์น 12:20-33

บทรำพึงที่ 1
กางเขน
บ่อยครั้งที่กางเขนกลายเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่

    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดินและตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยน 12:24)

    เอมิลี คิงสลีย์ เป็นมารดาของบุตรพิการคนหนึ่ง เพื่อช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจประสบการณ์ของเธอ เธอจึงเขียนเรื่องเปรียบเทียบที่น่าประทับใจมากเรื่อง “ยินดีต้อนรับสู่ฮอลแลนด์” เรื่องราวเป็นดังนี้

    การวางแผนให้กำเนิดทารกคนหนึ่งก็เหมือนกับการวางแผนเดินทางไปเที่ยวประเทศอิตาลี คุณซื้อหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว วางแผนการเดินทาง และถึงกับหัดพูดภาษาอิตาเลียนได้สองสามประโยค

    ในที่สุด วันที่น่าตื่นเต้นก็มาถึง คุณติดป้ายกระเป๋าเดินทางของคุณ ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าหนังสือเดินทาง และตั๋วเครื่องบินของคุณเรียบร้อยดี แล้วก็ออกจากบ้านไปยังสนามบิน

    เขาประกาศเรียกเที่ยวบินของคุณ คุณกล่าวอำลาเพื่อนฝูง เดินไปขึ้นเครื่องแล้วก็ออกเดินทาง คุณนั่งอย่างสบายใจพร้อมจะมีความสุขกับการเดินทาง

    อีกสองสามชั่วโมงต่อมา เครื่องบินก็ลงจอด พนักงานต้อนรับประกาศอย่างร่าเริงว่า “ยินดีต้อนรับสู่ประเทศฮอลแลนด์”

    “ฮอลแลนด์หรือ” คุณถาม “แต่ฉันจะไปอิตาลี” ฉันวางแผนจะไปเยือนอิตาลีมาตลอดชีวิต แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบอกคุณว่า “เสียใจด้วยค่ะ แต่มีการเปลี่ยนแผน”

    คุณก้าวลงจากเครื่องบินทั้งที่ยังรู้สึกช็อก คุณไปรับกระเป๋าเดินทาง และเดินผ่านด่านศุลกากร ขณะที่คุณออกจากสนามบิน คุณไม่อยากเชื่อว่าได้เกิดอะไรขึ้น

    แต่ในไม่ช้า คุณก็เริ่มสังเกตว่าฮอลแลนด์ไม่ใช่สถานที่เลวร้าย เพียงแต่แตกต่างเท่านั้น คุณไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง คุณซื้อหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และขึ้นรถทัวร์

    คุณสังเกตเห็นว่าฮอลแลนด์ไม่มีอะไรหวือหวาเท่าอิตาลี และการดำเนินชีวิตก็เชื่องช้ากว่า แต่ฮอลแลนด์ก็มีดอกทิวลิบ มีกังหันลมหน้าตาแปลก ๆ และมีแม้แต่ภาพวาดของแรมบรานด์
    ต่อมา คุณก็พบกับบุคคลที่เดินทางไปและกลับจากประเทศอิตาลี ทุกคนกล่าวชมประเทศนี้ไม่หยุดปาก และตลอดชีวิตของคุณ คุณจะพูดว่า “ฉันควรได้ไปที่นั่น นั่นเป็นประเทศที่ฉันฝันมาตลอดว่าฉันจะไป” ความเจ็บปวดจากความฝันที่สลายไปนี้ไม่มีวันหมดไปจากใจคุณ

    แต่ถ้าคุณใช้เวลาตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของคุณไปกับความรู้สึกเสียดายความฝันที่ไม่อาจกลายเป็นจริงของคุณ คุณจะไม่มีวันชื่นชมกับสิ่งสวยงามมากมายที่ฮอลแลนด์เสนอให้คุณได้

    เรื่องเปรียบเทียบนี้สอดคล้องกับพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ “ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดินและตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยน 12:24)

    ถ้าเอมิลี คิงสลีย์ ใช้เวลาตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอไปกับการเสียดายความฝันที่สูญสลายของเธอ เธอจะไม่มีวันได้ชื่นชมกับสิ่งดีงามต่าง ๆ ที่ฮอลแลนด์เสนอให้เธอได้ แต่เธอกลับทำตัวเหมือนกับเมล็ดข้าวที่ตกลงในดิน และตายไป และบังเกิดผลมากมาย เธอยอมให้ความฝันของเธอตกลงบนดินและตายไป ผลที่ได้คือมันบังเกิดผลมากมาย หนึ่งในผลเหล่านั้นก็คือ เธอได้ค้นพบสิ่งดีงามมากมายที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของเธอ

    นอกจากนี้ มันทำให้เธอสามารถเขียนเรื่องเปรียบเทียบที่น่าประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ เป็นจำนวนมากยอมรับความตายของความฝันของเขา และที่สำคัญกว่านั้น ยังช่วยพวกเขาให้มีกำลังใจดำเนินชีวิตต่อไป และค้นพบสิ่งดีงามมากมายที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของเขา

    เราจะนำตัวอย่างนี้มาไตร่ตรองชีวิตของเราแต่ละคน เราทุกคนเคยมีความฝันอันสวยหรูที่ตายไปแล้ว เช่น เราฝันว่าเราจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เราฝันว่าเราจะประสบความสำเร็จ เราฝันว่าเราจะมีชีวิตสมรสที่สมบูรณ์ หรือมีครอบครัวที่สมบูรณ์

    แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นไปดังที่เราฝัน บางทีความฝันของเราอาจกลายเป็นฝันร้ายด้วยซ้ำไป

    นักจิตวิทยาชอบพูดถึงวิกฤติ “วัยกลางคน” หรือ “วิกฤติขีดจำกัด” ผมเข้าใจแนวความคิดนี้ว่าหมายถึงช่วงเวลาในชีวิตที่เรามาถึงจุดที่เรารู้ตัวว่าความฝันของเราไม่อาจเป็นจริงได้อย่างที่เราหวังไว้ เมื่อเวลานั้นมาถึง เราอาจแสดงปฏิกิริยาด้วยการโทษผู้อื่นว่าเป็นสาเหตุทำให้เราฝันสลาย หรือเราอาจโทษสถานการณ์บางอย่างที่เข้ามาขัดขวางไม่ให้ความฝันเหล่านี้กลายเป็นความจริง

    เมื่อเราทำเช่นนี้ เราก็เหมือนกับเมล็ดข้าวที่ไม่ยอมตาย เราปล่อยให้ความเสียดาย หรือความโกรธ หรือความเศร้าเข้ามาควบคุมชีวิตของเรา และส่งผลให้เราไม่เคยค้นพบสิ่งดีงามต่าง ๆ มากมายที่ “ฮอลแลนด์” พร้อมจะเสนอแก่เรา

    หรือจะพูดได้อีกทางหนึ่งว่า เราไม่เต็มใจยก “กางเขน” ของเรา และ “การสูญเสีย” ความฝันของเราขึ้นแบก และติดตามพระเยซูเจ้า ผลก็คือ แทนที่จะยอมให้ความเศร้า และความเสียใจ ดึงเราเข้าไปใกล้พระเยซูเจ้ามากขึ้น เรากลับปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ผลักเราออกห่างจากพระองค์
    เมื่อเราทำเช่นนั้น เรามองข้ามธรรมล้ำลึกข้อหนึ่งของพระวรสาร เมื่อเราไม่ยึดติดกับความเสียดาย แต่ยกกางเขนของเราขึ้นแบก และติดตามพระเยซูเจ้า เราจะค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่คาดคิด นั่นคือ สิ่งที่เรากลัวว่าจะเป็นกางเขนหนัก บ่อยครั้งกลับกลายเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่

    มัลคอล์ม มักเกอร์ลิช ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในวงการโทรทัศน์ของอังกฤษ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ให้ชาวโลกรับรู้งานอภิบาลของคุณแม่เทเรซา ได้กล่าวถึงกางเขน และพระพรของกางเขนดังนี้

    “ผมพูดได้อย่างจริงใจที่สุดว่าทุกสิ่งที่ผมเรียนรู้มาระหว่างช่วงเวลา 75 ปี ที่ผมมีชีวิตในโลกนี้ ทุกสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูน และช่วยให้ผมเข้าใจประสบการณ์ของผม ผมได้เรียนรู้ผ่านความทุกข์ยาก และมิใช่ผ่านความสุข”

    หรืออาจพูดได้ว่า “บ่อยครั้งที่พระเจ้าทรงใช้ปัญหาเพื่อขัดเกลาเราให้กลายเป็นบุคคลที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าเราจะเป็นได้” (นิรนาม)

    หรืออาจพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า “สำหรับทุกเนินเขาที่ฉันต้องปีนป่าย สำหรับทุกหยดเลือด และคราบเหงื่อไคล ... หัวใจของฉันขับร้องขอบพระคุณ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันเข้มแข็ง” (นิรนาม)

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 12:20-33

    เช่นเดียวกับวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยอห์นเชิญชวนเราให้รำพึงเรื่องของไม้กางเขน

ผู้ที่ขึ้นไปนมัสการที่กรุงเยรูซาเล็มในงานฉลอง(ปัสกา)นั้น บางคนเป็นชาวกรีก เขาไปหาฟิลิป ซึ่งมาจากหมู่บ้านเบธไซดา ในแคว้นกาลิลี แล้วถามว่า “ท่านขอรับ พวกเราอยากเห็นพระเยซูเจ้า”

    นี่คือปัสกาครั้งสุดท้ายในชีวิตบนโลกนี้ของพระเยซูเจ้า

    วันนี้ เราประกาศพระวรสารของยอห์น ซึ่งตามหลังคำบอกเล่าเรื่องการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้าโดยมีประชาชนโห่ร้องต้อนรับพระองค์ในวันอาทิตย์ใบลาน เมื่อชาวฟาริสีได้เห็นความชื่นชมที่ประชาชนแสดงต่อพระเยซูเจ้า พวกเขาก็พูดกันว่า “เห็นไหม พวกเราทำอะไรไม่ได้เลย ดูซิโลกทั้งโลกกำลังตามเขาไปแล้ว” ... และคำขอร้องของ “ชาวกรีก” เหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าชาวฟาริสีพูดความจริง เพราะชาวกรีกเหล่านี้เป็นคนต่างชาติ แต่เป็นผู้เห็นอกเห็นใจชนชาติยิว และศาสนาของเขา – และพวกเขา “อยากเห็นพระเยซูเจ้า” ...

    ในขณะที่คนทั้งหลายที่ต้องการประหารพระเยซูเจ้ากำลังรุกคืบเข้ามา และชาวฟาริสีต่อต้านพระองค์มากขึ้น ... ในทันทีทันใด ในต้นสัปดาห์สุดท้ายในชีวิตของพระองค์บนโลกนี้ พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นว่าบทบาทการเป็นพระผู้ไถ่ของพระองค์จะขยายขอบเขตไปทั่วโลก ชาวกรีกเหล่านี้กำลังประกาศว่าคนต่างชาติจะเข้ามาอยู่ร่วมในพระศาสนจักร และการไถ่กู้ของพระองค์จะแผ่ขยายออกไปเกินดินแดนอิสราเอล บัดนี้ พระเยซูเจ้าจะทรงบอกว่าพระองค์ทรงมองเห็นผลอันอุดมที่จะเกิดจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ... ซึ่งจะ “บังเกิดผล” และ “ดึงดูดทุกคน” เข้ามาหาพระองค์ ...

    เราสังเกตว่าคนต่างชาติเหล่านี้มาหาฟิลิป ชื่อของเขาเป็นภาษากรีก และเขามาจากเบธไซดา ซึ่งเป็นเมืองชุมทางที่มีคนต่างชาติจำนวนมากอาศัยอยู่ ... ฟิลิปคงพูดภาษากรีกได้บ้าง ซึ่งช่วยให้เขารู้จักคนต่างชาติ ...

    เราใส่ใจกับคนต่างชาติหรือไม่ ... เราใส่ใจที่จะนำเขาไปหาพระเยซูเจ้าหรือไม่ ...

พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว”

    เราพร้อมจะยอมรับการเผยแสดงนี้หรือยัง “เวลาของพระเยซูเจ้า” คือเวลาแห่งกางเขนของพระองค์ และเป็นเวลาแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ด้วย – หรือเรายังคาดหวังรอคอยอีก “เวลา” หนึ่ง อีกวิธีหนึ่งที่พระเจ้าจะแสดงพระองค์ ...

    เราคงต้องยอมรับว่าเราฝันถึงสิริรุ่งโรจน์อีกประเภทหนึ่ง ทั้งเพื่อพระเจ้า และเพื่อตัวเราเอง แต่พระเยซูเจ้าทรงย้ำกับเราว่า “บัดนี้ ถึงเวลาแล้ว” (ยน 12:23, 27, 31) ... พระเยซูเจ้าตรัสบ่อยครั้งถึง “เวลา” ของพระองค์ในหลายโอกาสก่อนหน้านี้ (ยน 2:4, 4:21-23, 5:25, 7:30, 8:20) บัดนี้ พระองค์ทรงเปิดเผยว่า “เวลา” พิเศษนี้คือเวลาของไม้กางเขน และเป็นเวลาแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของทั้งพระบิดา และพระบุตร (ยน 12:28, 38) ... เป็นเวลาของการพิพากษาโลก และความรอดพ้นของโลก (ยน 12:31, 32)

    หลังจากนี้เพียงไม่กี่วัน พระเยซูเจ้าจะเข้าสู่พระทรมาน ...

    เมื่อมองผ่าน ๆ เราอาจคิดว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ตอบคำร้องขอของชาวกรีก ผู้มาขอให้ได้เห็นพระองค์ แต่อันที่จริง พระองค์ทรงตอบด้วยคำตอบที่ลึกล้ำที่สุด “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว” หมายถึง “เวลาที่จะทำให้มองเห็นเราอย่างที่เราเป็นจริง” เวลาที่ทำให้มนุษย์มองเห็นพระเจ้า ... เราไม่สามารถมองเห็นพระเจ้า หรือพระเยซูเจ้าได้อย่างแท้จริงด้วยแสงสว่างหรือความเข้าใจอื่นใด นอกจากด้วยแสงสว่างหรือความเข้าใจแห่งกางเขน – กางเขนคือ “เวลาแห่งความรักสัมบูรณ์” ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยให้ข้าพเจ้ามองดู และเพ่งพินิจไม้กางเขน เพราะนี่คือเวลาที่เผยแสดงอย่างแจ่มชัดที่สุดว่าพระเจ้าทรงเป็นใคร ... ไม่ว่านักปรัชญาเคยกล่าวไว้อย่างไร ไม่ว่านักบวชทั้งหลายเคยศึกษาค้นคว้ามาแล้วอย่างไร ก็ยังไม่เพียงพอ นี่คือไม้กางเขน ...

    ข้าพเจ้ามองดูภาพของพระเจ้าภาพนี้ ซึ่งคำพูดไม่อาจบรรยาย และเหตุผลไม่อาจอธิบายได้ ...

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดิน และตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย”

    ถูกแล้ว เวลาของพระเยซูเจ้าก็คือเวลาของความตายของพระองค์ – และยังเป็นเวลาที่ชีวิตของพระองค์เพิ่มขยายเป็นทวีคูณ ... พระเยซูเจ้าทรงถูกแขวนอยู่บนไม้กางเขนตามลำพังอย่างเดียวดาย – แต่พระองค์จะถูกห้อมล้อม แม้ว่าตามนุษย์มองไม่เห็น – ด้วยชายหญิงนับพันล้านคนที่ได้รับความรอดพ้นเพราะการถวายพระองค์เป็นเครื่องบูชา ...

    มนุษย์ชายหญิงทุกยุคสมัย และในทุกอารยธรรม ได้ถกเถียงกันเรื่องความตาย และพยายามไขปริศนาของความตาย แต่พระเยซูเจ้าทรงแบ่งปันความเชื่อมั่นของพระองค์กับเราด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ พระองค์ไม่ได้ทรงอ้างเหตุผลยืดยาว พระองค์เพียงแต่บอกว่าพระองค์ทรงมองความตายของพระองค์เองว่าเหมือนกับการหว่านพืช ... ระหว่างฤดูหนาวอันยาวนาน เมล็ดข้าวที่ฝังอยู่ในดินดูเหมือนว่าตายแล้ว แต่เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ มันก็งอกขึ้นมาจากดิน และภายในไม่กี่สัปดาห์ มันจะเต็มไปด้วยรวงข้าวพร้อมสำหรับเก็บเกี่ยว

    พระเยซูเจ้าทรงนึกถึงการเก็บเกี่ยวตั้งแต่เวลานั้นแล้ว ...

ผู้ที่รักชีวิตของตนย่อมจะเสียชีวิตนั้น ส่วนผู้ที่พร้อมจะสละชีวิตของตนในโลกนี้ ก็ย่อมจะรักษาชีวิตนั้นไว้สำหรับชีวิตนิรันดร

    ดังนั้น สำหรับพระเยซูเจ้า ชีวิตแท้คือการตาย!

    พระองค์มิได้ตรัสเช่นนี้เพราะทรงชอบตรัสเป็นปฏิทัศน์ (paradoxes) คือข้อความที่ขัดแย้งกันในตัว แต่พระองค์ตรัสในลักษณะของปริศนา พระองค์ทรงพยายามแย้มความจริงที่ไม่อาจมองเห็นได้เด่นชัด แต่จะเด่นชัดสำหรับทุกหัวใจที่มีความรัก ความจริงนั้นคือ “ความตายแท้” ไม่ใช่ความตายทางกายภาพ แต่เป็นการปฏิเสธที่จะสละตนเอง เป็นการถอยเข้าไปอยู่ในตัวเองโดยไม่ยอมบังเกิดผล ...

    เพื่อเข้าสู่ชีวิตแท้ เราต้องตายก่อน นี่คือสิ่งที่พระเจ้ากำลังทำเพื่อเรา เพราะพระองค์ทรงเป็นความรักสัมบูรณ์ พระเยซูเจ้าทรงยอมสละชีวิตของพระองค์เพื่อเรา ...

    กฎของชีวิตคือความรัก ข้าวเมล็ดเล็ก ๆ นี้เตือนใจเราเช่นนี้ ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเราให้พ้นจากความเห็นแก่ตัวที่ไร้ผล ซึ่งบางครั้งเราเรียกว่า “การใช้ชีวิตของเรา” ...

    โปรดทรงสอนเราให้สละชีวิตของเรา – เหมือนที่พระองค์ทรงเคยทำเถิด ...

ผู้ใดรับใช้เรา ผู้นั้นจงตามเรามา เราอยู่ที่ใด ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ผู้ใดรับใช้เรา พระบิดาจะประทานเกียรติแก่เขา

    การผจญภัยของเมล็ดข้าว – ซึ่งขนาดเล็กมาก แต่สามารถบังเกิดผลมากมายเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว – คือเรื่องผจญภัยของพระอาณาจักของพระเจ้า (มก 4:1-20)
    แต่สำหรับนักบุญยอห์น ธรรมล้ำลึกทั้งหมดของพระอาณาจักรของพระเจ้าเหมือนกับรวมศูนย์อยู่ตัวพระเยซูเจ้า เพราะการผจญภัยของเมล็ดข้าวที่ฝังอยู่ในดินเพื่อจะงอกขึ้นมาใหม่ ก็คือการผจญภัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งความตายของพระองค์จะบังเกิดผลอย่างอุดมบริบูรณ์ ...

    แต่นี่ไม่ใช่เรื่องผจญภัยของพระเยซูเจ้าเพียงผู้เดียว เราก็ได้รับเชิญให้ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องผจญภัยของตัวเราด้วย พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาด้วยการต่อสู้จนชนะ – นี่คือพระสิริรุ่งโรจน์จากความรักที่พร้อมจะรับใช้จนถึงที่สุด – และเราสามารถเข้าร่วมในการผจญภัยนี้ได้ด้วย ชะตากรรมของเมล็ดข้าว สามารถเป็นชะตากรรมของเราได้ด้วย คือตายเพื่อบังเกิดผล ... “ผู้ใดรับใช้เรา พระบิดาจะประทานเกียรติแก่เขา” ...

“บัดนี้ ใจของเราหวั่นไหว เราจะพูดอะไรเล่า จะพูดหรือว่า ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้”

    พระองค์ทรงมั่นใจว่าการถวายพระองค์เป็นเครื่องบูชาจะเป็นการประทานชีวิต แต่ความมั่นใจนี้ไม่ได้ช่วยให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นทุกข์กับความตายที่ใกล้เข้ามา การคิดว่าพระองค์จะประสบชะตากรรมเดียวกันกับเมล็ดข้าว ซึ่งตายเพื่อจะมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งนั้น ทำให้พระเยซูเจ้าหวั่นไหวมาก ...

    ผู้นิพนธ์พระวรสารคนอื่น ๆ บอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเคยถูกประจญในโอกาสอื่น ๆ ให้ทรงใช้พระเทวภาพของพระองค์เพื่อช่วยให้สภาวะมนุษย์ของพระองค์ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน เช่น พระองค์ทรงถูกประจญในถิ่นทุรกันดาร เมื่อทรงเริ่มต้นชีวิตสาธารณะของพระองค์ (มธ 4:11) – และนี่จะเป็นการประจญระหว่างที่ทรงอยู่ในสวนมะกอกเทศด้วย (มก 14:32) ... ทุกครั้ง พระเยซูเจ้าทรงเอาชนะการประจญด้วยความซื่อสัตย์อันไม่สั่นคลอนของพระองค์ต่อพระบิดา ... ด้วยความรักผูกพันในฐานะพระบุตรต่อพระประสงค์ของพระบิดา ...

    เราก็อาจหวั่นไหวเมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดเหมือนกับพระเยซูเจ้า ...

“ไม่ใช่ เพราะข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้ ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระนามของพระองค์เถิด”

    สำหรับเราด้วยเช่นกัน ที่ความนบนอบอันเกิดจากความเชื่อ ต้องประกอบด้วยการยอมรับสภาวะมนุษย์ที่รู้จักตายของเรา และทำให้สภาวะมนุษย์ของเรามีความหมายด้วยความเข้าใจในพระทรมาน และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า กล่าวคือ เราต้องตายเพื่อให้บังเกิดผล ...

    จดหมายถึงชาวฮีบรู (ซึ่งเราอ่านในวันอาทิตย์นี้) ระบุนัยสำคัญของความตายของพระเยซูเจ้า ว่าเกิดจาความนบนอบของพระองค์ “ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระชนม์ชีพบนแผ่นดินนี้ พระองค์ทรงอธิษฐาน ทูลขอ คร่ำครวญ และร่ำไห้ต่อพระเจ้าผู้ทรงช่วยพระองค์ให้พ้นความตายได้ พระเจ้าทรงสดับเพราะความเคารพยำเกรงของพระเยซูเจ้า ถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตร ก็ยังทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังโดยการรับทรมาน และเมื่อทรงกระทำภารกิจของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็ทรงเป็นผู้บันดาลความรอดพ้นนิรันดรแก่ทุกคนที่ยอมนนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์” (ฮบ 5:7-9) ...
    ความตายยังคงเป็นสิ่งชั่วร้าย ... ความทุกข์ทรมานก็ยังคงเป็นสิ่งชั่วร้าย ...

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงสนใจจะตอบคำถามแบบปรัชญาที่ “ปัญหาของความชั่วร้าย” อาจกระตุ้นให้มนุษย์ตั้งคำถาม พระองค์เพียงแต่ทรงยอมรับความตายเสมือนว่าทรงนอบน้อมต่อสภาวะมนุษย์ของพระองค์ ... พระองค์ทรงเปลี่ยนความหมายของความตายได้ด้วยความรัก และด้วยวิธีนี้ ...

แล้วมีเสียงดังจากฟ้าว่า “เราได้ให้พระสิริรุ่งโรจน์แล้ว และจะให้อีก”

    นักบุญยอห์นไม่ได้บอกเล่าเรื่องการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า สำหรับเขา (ดังที่เราได้เห็นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา) เวลาแห่งไม้กางเขนก็คือเวลาแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ ในเวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงถูก “ยกขึ้น” หมายความว่าในเวลาที่ทรงถูก “ตรึงกางเขน” ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ทรงได้รับการ “ยกขึ้น” การตรึงกางเขนเป็นผลงานของมนุษย์ ส่วนการยกขึ้นเป็นผลงานของพระเจ้า ...

“บัดนี้ ถึงเวลาที่จะพิพากษาโลกแล้ว บัดนี้ เจ้านายแห่งโลกนี้กำลังจะถูกขับไล่ออกไป”

    การพิพากษา และความรอดพ้น นี่คือสองหน้าของความเป็นจริงหนึ่งเดียวกัน ...

“และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน  เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ แสดงว่าพระองค์ทรงทราบว่าจะสิ้นพระชนม์อย่างไร

    ความชั่วเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เจ้านายของโลกนี้ถูกขับไล่ออกไป – มนุษย์จึงได้รับความรอดพ้น ...

    ถูกแล้ว กางเขนจะสร้างแรงดึงดูดแบบใหม่สำหรับคนทั่วโลกจริง ๆ ...

    “ทุกคน” ... ถ้อยคำลึกลับ ซึ่งเราต้องยอมรับด้วยความเชื่ออย่างสมบูรณ์ – และเราต้องขอบพระคุณพระเจ้า ...

    นี่คือคำตอบแท้ และคำตอบสุดท้ายที่พระเยซูเจ้าตรัสตอบชาวกรีกเหล่านั้น ผู้ต้องการ “เห็น” พระองค์ ...

    นี่คือหนึ่งในพระดำรัสสุดท้ายที่พระเยซูเจ้าตรัสระหว่างชีวิตสาธารณะของพระองค์ ... และไม่มีใครเข้าใจว่าพระองค์หมายถึงอะไร (ยน 12:34) ...

    หลังจากนั้น ยอห์นบอกเราว่า พระเยซูเจ้า “ทรงหลบซ่อนไม่ให้ประชาชนเห็น” (ยน 12:36) ... เพราะพระองค์ไม่มีสิ่งใดจะตรัสอีกแล้ว ...