แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ใบลาน
สำหรับการแห่ใบลาน : ยอห์น 12:12-16
สำหรับมิสซา : อิสยาห์ 50:4-7; ฟิลิปปี 2:6-11; มาระโก 14:1-15:47

บทรำพึงที่ 1
ชายที่โพกผ้าแดง
เราได้รับเรียกให้ท้าทายฝูงชน มิใช่เดินตามเขา

    ผู้แสดงละครเวทีคณะหนึ่งได้รับว่าจ้างให้จัดการแสดงละครเวทีเรื่องพระทรมานของพระเยซูเจ้า โดยเริ่มต้นจากวันอาทิตย์ใบลาน และจบลงที่วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้นักแสดงอาชีพสวมบทตัวละครหลัก เช่น พระเยซูเจ้า ปิลาต และเปโตร ส่วนตัวประกอบอื่น ๆ เช่น ประชาชนที่ปรากฏตัวในฉาก จะใช้ประชาชนในท้องถิ่นนั้น

    หนึ่งในตัวประกอบที่ถูกเลือกให้เล่นในฉากที่มีฝูงชน เป็นเด็กชายคนหนึ่งชื่อดรูว์ เขาตื่นเต้นมากที่ได้รับเลือก

    ในคืนที่จะแสดงละคร ผู้กำกับเวทีได้เรียกตัวประกอบทุกคนมาประชุม เขาแนะนำให้ชาวบ้านเหล่านี้รู้จักชายกลุ่มหนึ่งที่มี 12 คน ทุกคนสวมผ้าโพกศีรษะสีแดง

    ผู้กำกับกล่าวว่า “คนพวกนี้จะเป็นผู้นำของพวกคุณ เมื่อคุณอยู่บนเวที ให้จับตามองเขาให้ดี และทำทุกสิ่งทุกอย่างตามพวกเขา เขาร้องตะโกนอะไร คุณก็ตะโกนตาม”

    ผู้กำกับเน้นย้ำว่ามีสองฉากที่สำคัญมาก ฉากแรกคือฉากวันอาทิตย์ใบลาน ฉากที่สองคือวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกตัดสินประหารชีวิต

    เด็กชาย ดรูว์ แทบอดใจรอให้ฉากวันอาทิตย์ใบลานเริ่มต้นไม่ไหว ในที่สุด ม่านก็เปิด กลุ่มชายที่สวมผ้าโพกศีรษะสีแดงร้องตะโกนว่า “โฮซานนา ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามของพระเจ้า”

    ฝูงชนก็ร้องตะโกนตามว่า “โฮซานนา ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามของพระเจ้า” ดรูว์ ลืมตัว และคล้อยตามไปกับเสียงร้องตะโกน เขาลืมคนดู และการแสดงละคร นี่คือวันอาทิตย์ใบลานจริง ๆ และเขากำลังสรรเสริญพระเยซูเจ้า

    ก่อนที่ ดรูว์ จะรู้ตัว ฉากนั้นก็จบ กลุ่มชายโพกผ้าสีแดงเดินนำหน้าฝูงชนออกไปจากเวที ที่นั่น ดรูว์ รอคอยอย่างตื่นเต้นให้ถึงฉากสำคัญที่สอง คือฉากตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

    ก่อนเปิดม่าน กลุ่มชายที่โพกผ้าสีแดงเตือนฝูงชนว่า “คอยดูพวกเราให้ดี ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ตะโกนเหมือนกับที่เราตะโกน”

    ม่านเปิด และเผยให้เห็นระเบียง บนระเบียงมีสองคนยืนอยู่ ปิลาตในเสื้อคลุมสีทอง และพระเยซูเจ้าในเสื้อคลุมสีม่วง ปิลาตถามฝูงชนว่า “ท่านต้องการให้เราปล่อยตัวใคร เยซู หรือบารับบัส” ชายโพกผ้าสีแดงตะโกนว่า “บารับบัส” ฝูงชนก็ตะโกนตามว่า “บารับบัส”

    เมื่อเสียงตะโกนสงบลง ปิลาตพูดกับฝูงชนว่า “แล้วท่านจะให้เราทำอะไรกับเยซู”

    ชายโพกผ้าสีแดงตะโกนว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน” ฝูงชนก็ตะโกนตามว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน”

    ดรูว์ลืมตัวอีกครั้งหนึ่ง เขาคล้อยตามไปกับเสียงร้องตะโกน จนลืมคนดู และการแสดงละคร ในทันใด เขาก็ได้ยินเสียงตนเองตะโกนว่า “อย่า! อย่า! อย่าตรึงกางเขนเขา!”

    หลายปีต่อมา ดรูว์ระลึกถึงประสบการณ์ของเขาในการแสดงละครเรื่องพระทรมาน เขาบอกว่าประสบการณ์นั้นสอนบทเรียนหนึ่งแก่เขา ซึ่งเขาไม่เคยคิดถึงมาก่อน

    ประชาชนที่ร้องตะโกนว่า “โฮซานนา” ในวันอาทิตย์ใบลาน เป็นประชาชนกลุ่มเดียวกับที่ร้องตะโกนว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน” ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

    และที่พวกเขาทำเช่นนี้ก็เพราะกลุ่มชายที่โพกศีรษะด้วยผ้าสีแดงบอกให้เขาทำ

    คนจำนวนมากในโลกปัจจุบันก็เหมือนกับนักแสดงชายหญิงที่แสดงเป็นฝูงชนในละครนั้น เขาแสดงตามบทของตน เขาไม่ได้คิดด้วยตนเอง เขาไม่ได้พูดด้วยตนเอง เขาเพียงแต่เลียนแบบชายที่โพกผ้าสีแดง

    ประชาชนเหล่านี้ไม่ต่อต้านสิ่งชั่วร้ายในโลกของเรา เขาเพียงแต่เดินตามผู้นำ และทำตัวให้เหมือนกับฝูงชน เช่น เขาไม่ต่อต้านการทำร้ายชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าเป็นชีวิตของทารกในครรภ์ หรือบนเตียงในโรงพยาบาล

    เขาไม่ต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าชนกลุ่มน้อยนี้จะเป็นคาทอลิก ยิว คนผิวดำ หรือคนเชื้อสายละตินอเมริกัน

    เขาไม่ต่อต้านความเสื่อมทางศีลธรรมในกิจกรรมเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ ในสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ หรือในโรงภาพยนตร์ใกล้บ้าน

    สรุปว่า เขาไม่ยืนหยัดสนับสนุนพระคริสตเจ้า และคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้าในโลกของเรา

    ดังนั้น พระคริสตเจ้าจึงต้องรับทรมาน และสิ้นพระชนม์อีกครั้งหนึ่ง

    แต่เราทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ได้รับเรียกให้ปฏิบัติตัวแตกต่างจากคนเหล่านี้ และการที่ท่านทั้งหลายมาร่วมพิธีมิสซาในวัดวันนี้ ก็แสดงว่าท่านต้องการแสดงออกถึงความแตกต่างนั้น

    เราได้รับเรียกให้ท้าทายความถูกต้องของชายที่โพกผ้าสีแดง เราได้รับเรียกให้ท้าทายความคิดของฝูงชน เราได้รับเรียกให้ยืนหยัดเพื่อพระคริสตเจ้า และเพื่อคำสั่งสอนของพระองค์ในโลกปัจจุบัน

    และเราได้รับเรียกให้ปฏิบัติตนเช่นนี้ แม้ว่าเราต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างมาก แต่เราทำเช่นนี้เพื่อพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเสียสละมากมายมาแล้วเพื่อเรา

    ประสบการณ์ของดรูว์ในการแสดงละครเรื่องพระทรมาน ทำให้เราต้องย้อนกลับมาถามตนเองว่าเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิมหรือไม่ เพื่อเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้า และคำสั่งสอนของพระองค์  ทำให้เราต้องถามตนเองว่าเราจะพยายามให้มากขึ้นได้อย่างไร เพื่อขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ และทำให้เราต้องถามตนเองว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำงานให้มากขึ้น ภาวนาให้มากขึ้น และเสียสละให้มากขึ้นเพื่อพระคริสตเจ้า ผู้ทรงกระทำ ทรงอธิษฐานภาวนา และทรงเสียสละมากมายเช่นนี้เพื่อเรา

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่าประชาชนที่ร้องตะโกนว่า “โฮซานนา” ในวันอาทิตย์ใบลานนั้นเป็นคนกลุ่มเดียวกับประชาชนที่ต้องตะโกนว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน” ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

    โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในละคร แต่เกิดขึ้นในชีวิตจริงอีกด้วย

    โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในชีวิตจริง พระคริสตเจ้าต้องทนทรมานและสิ้นพระชนม์อีกครั้งหนึ่ง

    โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่าเมื่อเราเป็นคริสตชน เราได้รับเรียกให้ปฏิบัติตนให้แตกต่างจากผู้อื่น เราต้องเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้า และคำสั่งสอนของพระองค์ในโลกของเรา และเราต้องไม่คล้อยตามความคิดของฝูงชน

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 14:1-15:47

    คำอธิบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยคริสตชนทุกคนที่ปรารถนาจะทำให้สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้ “ศักดิ์สิทธิ์” จริง ๆ ... พิธีกรรมในมิสซาในสัปดาห์นี้เป็นพิธีกรรมที่งดงามที่สุดและสำคัญที่สุดของปี แต่เราจะระลึกถึงเหตุการณ์นี้อย่างเหมาะสมได้เพียงเมื่อเรารำพึงไตร่ตรองเป็นส่วนตัวตามเหตุการณ์ที่บอกเล่าในมิสซาระหว่างสัปดาห์นี้ – ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่พลิกผันกระแสของประวัติศาสตร์ และเปลี่ยนโฉมหน้าโลกของเรา
    การอ่านเรื่องพระทรมานแบบลวก ๆ เพียงครั้งเดียวย่อมไม่พอ เราต้องอ่านซ้ำ และยอมให้จิตใจ และความคิดของเราซึมซับข้อความเหล่านี้ เรายังไม่ตระหนักว่าพระทรมานเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างไรใน “ข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า” ทั้งหมด ... ในคำบอกเล่าของมาระโก เรื่องพระทรมานมีความยาวเท่ากับหนึ่งในห้าของพระวรสารทั้งฉบับ เราจะคิดอย่างไรถ้าส่วนสำคัญที่สุดของชีวประวัติของใครคนหนึ่งจะเป็นคำบอกเล่าเรื่องการตายของบุคคลนั้น

    และที่น่าแปลกใจมากขึ้นไปอีก เพราะคำบอกเล่าเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นภายหลังพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว และผู้เขียนก็ดำเนินชีวิตท่ามกลางแสงแห่งชัยชนะของปัสกานั้น แต่พวกเขากลับไม่พูดถึงชัยชนะนี้เพียงอย่างเดียว ในพระวรสารฉบับภาษากรีกของมาระโก คำบอกเล่าเรื่องพระทรมานยาวเท่ากับ 160 บรรทัด ในขณะที่คำบอกเล่าเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพใช้เนื้อที่เพียง 46 บรรทัด

    ความตายของพระเยซูเจ้าจะต้องสำคัญอย่างยิ่ง และเราต้องค้นพบความลับนี้ให้ได้ ...

ท่านจะไม่มีเราอยู่กับท่านเสมอไป ... (หญิงคนนี้) ชโลมกายของเราล่วงหน้าก่อนจะถึงเวลาฝังศพ ... (มก 14:8)

    ส่วนแรกของเรื่องพระทรมาน (14:1-42) บอกเล่าแผนการกำจัดพระเยซูเจ้า การเจิมที่เบธานี การทรยศของยูดาส การตั้งศีลมหาสนิท และเหตุการณ์ในสวนเกทเสมนี รายละเอียดทั้งหมดนี้ต้องการบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นพระทรมาน ซึ่งเกิดขึ้นภายในพระทัย ก่อนจะกลายเป็นพระทรมานทางกายภาพ ขอให้อ่านทั้ง 42 ข้อความของบทที่ 14 ในพระวรสารของมาระโกอีกครั้งหนึ่ง และพยายามเข้าใจความคิด และความรู้สึกของพระเยซูเจ้า ...

    ตั้งแต่ก่อนถูกจับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพระทรมานทางกายภาพ พระเยซูเจ้าทรงรับรู้ทุกเหตุการณ์มาก่อนแล้ว ... ในจิตสำนึกของพระองค์ ในการมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ในการสมัครใจถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา เพราะพระองค์ทรงเห็นพระองค์เอง “ถูกฝัง” (14:8) “ถูกทรยศ” (14:10, 14:17) “หลั่งโลหิต” (14:24) “ถูกทุกคนทอดทิ้ง และเปโตรจะปฏิเสธพระองค์” (14:27, 30) และจะ “สิ้นพระชนม์” (14:34, 36) ...

    แต่การรับรู้ถึงพระทรมานนี้เริ่มต้นขึ้นก่อนหน้านั้นนานแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสถึงความตายที่ใกล้เข้ามาตั้งแต่เมื่อ เปโตรประกาศความเชื่อที่เมืองซีอารียา (มก 8:31) นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระเยซูเจ้าตรัสสามครั้งกับมิตรสหายของพระองค์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์อย่างทารุณ (มก 8:31, 9:30, 10:33) แต่เรายังต้องย้อนกลับไปนานกว่านั้นอีก ถ้าเราอ่านข้อ 14 ในบทแรกของพระวรสารของนักบุญมาระโก เราจะพบว่า พระเยซูเจ้าทรงรับงานต่อจากยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง โดยที่ทรงรู้ดีว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประกาศกทั้งหลายจะเกิดขึ้นกับพระองค์เช่นเดียวกัน ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของพระองค์คำนึงถึงความตายของพระองค์ ...

    ส่วนเราเล่า เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่คิดถึงความตายของเราหรือเปล่า ... แต่ความตายก็เป็นกิจการสำคัญที่สุดของชีวิตเราไม่ใช่หรือ ... เป็นกิจการที่ควรเป็นตัวกำหนดทิศทางให้แก่ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราไม่ใช่หรือ ...

งานเลี้ยงปัสกา ... (มก 14:12, 13, 14, 16)
    มาระโก ย้ำคำว่า “ปัสกา” ถึงสี่ครั้งในย่อหน้านี้ ปัสกาของชาวยิวเป็นการระลึกถึงการปลดปล่อยของชนชาติของเขา ชนชาติที่ถูกกดขี่นี้ได้รับการปลดปล่อยด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ...

    เมื่อเราต้องทนทรมานบนโลกนี้ – ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ อันตรายที่คุกคามเรา รวมถึงความตายทางกายภาพของเรา – ด้วยความเชื่อ เราสามารถขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าผู้ทรงซ่อนพระองค์ แต่ทรงประทับอยู่กับเราอย่างแน่นอน และพระองค์จะทรงใช้ความทุกข์ทรมานของเรานำเรา “ข้ามผ่าน” (นี่คือความหมายของปัสกา) เข้าสู่ความสุขอันบริบูรณ์ ...

    พระเยซูเจ้าทรงยอมรับความตายเหมือนกับเป็น “ปัสกา” แทนที่จะพยายามหนีให้พ้นความเป็นจริงอันเจ็บปวด และอัปยศ อันเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะมนุษย์ของพระองค์ พระองค์กลับทรงยอมรับความตาย โดยยึดมั่นในพระเจ้าด้วยความรัก ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงผ่านประสบการณ์ความตาย พระองค์จึงทรงเปลี่ยนความหมายของความตาย “ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2:8) ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ยอมรับข้อจำกัดต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์ของเรา ทั้งความทุกข์ทรมาน การทดลอง ความเจ็บป่วย วัยชรา ความล้มเหลว ความวิเวก บาป ... เหมือนกับเป็น “ปัสกา” – คือ เป็นการข้ามผ่านไปหาพระองค์ ...

“นี่เป็นกายของเรา ... นี่เป็นโลหิตของเรา” พระองค์ตรัสเช่นนี้หลังจากถวายพระพรแด่พระเจ้าแล้ว (มก 14:22-24)

    ขอให้เราสังเกตรายละเอียดที่น่าแปลกใจ คือ ในพระวรสารของนักบุญมาระโก พระเยซูเจ้า “ทรงเสกเหล้าองุ่น” หลังจากที่บรรดาศิษย์ดื่มเหล้าองุ่นนั้นแล้ว “ทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น” (ข้อ 23) ... แล้วจึงตรัสว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา” ในข้อ 24 เราจะต้องถกเถียงเรื่องพิธีกรรม และพิธีต่าง ๆ ไปทำไม ราวกับว่าการเอ่ยถ้อยคำเป็นภาษาละติน หรือภาษาอังกฤษ หรือภาษาอินเดีย เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ... หรือถกเถียงกันว่าเราควรรับพระกายพระคริสตเจ้าด้วยมือ หรือด้วยลิ้น ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเราจากปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญของเรา แต่โปรดทรงช่วยเราให้เข้าสู่ธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงถวายพระองค์เองล่วงหน้า และด้วยจิตที่ยินดี และ “ขอบพระคุณ” (ข้อ 22) ... “ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น” (มก 10:45, ยน 10:18) ...

    สำหรับเรา ... ไม่ควรหรือที่เราจะใช้โอกาสที่เรารำพึงไตร่ตรองพระทรมานของพระเยซูเจ้า เพื่อ “ถวายตั้งแต่บัดนี้ และโดยสมัครใจ” ความตายของเราเอง ร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ... ซึ่งเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมที่ทำให้เราไม่กลัวความตาย แต่ให้มองความตายที่กำลังมาถึงด้วยจิตใจที่สงบ – เหมือนพระเยซูเจ้า ร่วมกับพระเยซูเจ้า ...

“เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า” (มก 14:25)

    ความยินดี ความสงบ สันติสุข ...
    การรอคอย “วันนั้น” อย่างสงบ – รอคอยวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า วันที่พระเจ้าจะทรงครองราชย์ในที่สุด ... วันที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นแต่ชีวิต ความรัก ความสุข งานเลี้ยงใหม่ เหล้าองุ่นใหม่ – เมื่อ “จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป” (วว 21:4) และจะมีแต่งานเลี้ยงวิวาห์ของลูกแกะ ... “วันสุดท้าย” หรืออวสานกาล วันที่งานของพระเจ้าสำเร็จตามพระประสงค์ ... วันที่เราทุกคนกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปหา ...

    ขอบพระคุณพระองค์ พระเจ้าข้า

    ขอให้พิธีบูชาขอบพระคุณทุกครั้งเป็นอีกก้าวหนึ่งบนเส้นทางที่นำเราไปสู่ “งานเลี้ยงฉลองเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระบิดาของพระองค์” งานเลี้ยงฉลองความรัก ...

มุ่งหน้าสู่ความวิเวกแท้จริง

    ขอให้เราติดตามพระเยซูเจ้าไป พระองค์ทรงประกาศว่า “ทุกคน” จะทอดทิ้งพระองค์ และเปโตร ซึ่งเป็นผู้นำ จะปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระองค์ (มก 14:27, 30) พระองค์ทรงเลือก “ศิษย์สามคน” ให้อยู่กับพระองค์ในยามที่พระองค์ทรงเป็นทุกข์แสนสาหัส และพระองค์เสด็จกลับมาสามครั้งเพื่อขอให้เขาให้กำลังใจพระองค์ แต่พวกเขากลับ “นอนหลับ” (มก 14:33, 37, 40, 41) ... หลังจากนั้น “ศิษย์ทุกคนทิ้งพระองค์ แล้วหนีไป” (มก 14:50) ... ขณะที่ตรึงอยู่บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกว่าแม้แต่พระเจ้าก็ยังทอดทิ้งพระองค์ (มก 15:34) ... นี่คือความวิเวกโดยแท้ ... มนุษย์ทุกคนต้องตายตามลำพัง และพระเยซูเจ้าก็ไม่ทรงหลบเลี่ยงกฎข้อนี้ พระองค์ทรงยอมรับ “เงื่อนไขของการเป็นมนุษย์”

“จงนั่งอยู่ที่นี่ ขณะที่เราไปอธิษฐานภาวนา” (มก 14:32)

“อับบา พระบิดาเจ้าข้า พระองค์ทรงทำทุกสิ่งได้ โปรดทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (มก 14:36)

ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มก 15:34)

    เราเห็นได้ว่าระหว่างพระทรมาน พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาเสมอ มาระโกบอกเราว่าทั้งในสวนเกทเสมนี และบนเนินกลโกธา พระเยซูเจ้าทรงภาวนาเป็นภาษาอาราเมอิก ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระองค์ เป็นภาษาที่พระองค์ทรงใช้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อพระนางมารีย์ทรงสอนพระองค์อธิษฐานภาวนาว่า “อับบา” แปลว่า “พ่อจ๋า” ... “อิโลอี” แปลว่า  “พระเจ้า”...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้มีความกล้าที่จะภาวนาขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเจ็บปวดทรมาน ให้ข้าพเจ้ามีความกล้าหาญที่จะพูดเหมือนพระองค์ว่า

    1)    “โปรดทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด”
    2)    “แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” ...
    ถ้าข้าพเจ้ามีหนังสือพระคัมภีร์ (เป็นไปได้หรือที่ครอบครัวคริสตชนใดในวันนี้ ยังไม่มีพระคัมภีร์สักเล่มในบ้าน) ข้าพเจ้าจะอ่านบทสดุดีที่ 22 (หรือบทที่ 21 ในพระคัมภีร์บางฉบับ) ตลอดทั้งบทอีกครั้งหนึ่ง นี่คือบทสดุดีที่พระเยซูเจ้าทรงภาวนาบนไม้กางเขน ... ซึ่งเริ่มต้นด้วยความรู้สึกอ้างว้างเพราะถูกทอดทิ้ง และจบลงด้วยความยินดีที่ดูเหมือนว่าค้านกันในตัวเอง ... บทสดุดีนี้เป็นกุญแจดอกหนึ่งที่เราสามารถใช้ไขความลับที่เรากำลังค้นหาในคำบอกเล่าเรื่องพระทรมานนี้ ...

สองเหตุผลที่จะประกาศแก่ชาวโลกว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” ... และ “กษัตริย์”

    ในพระวรสารของนักบุญมาระโก พระเยซูเจ้าทรงถูกพิพากษาคดีสองครั้ง คือการพิจารณาคดี “ทางศาสนา” (มก 14:53-65) ต่อหน้าสภาซันเฮดริน ... ต่อหน้า “บรรดาหัวหน้าสมณะ” ... และการพิจารณาคดี “ทางบ้านเมือง” (มก 15:1-20) ต่อหน้าปิลาต ซึ่งเป็นผู้แทนของจักรวรรดิโรมัน ... เพื่อประกาศให้คนทั้งโลกรู้ “ความลับ” ว่าบุรุษชาวนาซาเร็ธที่ชื่อเยซู  ที่ถูกประหารชีวิตนี้ เป็นใคร

“ท่านเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้ควรรับการถวายพระพรหรือ” –
“เราเป็น และท่านทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์ประทับ ณ เบื้องขวาของพระผู้ทรงอานุภาพ และจะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆบนท้องฟ้า”
“ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” – “ท่านพูดเองนะ”

    “ความลับ” นี้ถูกเปิดเผยแล้ว พระเยซูเจ้าทรงประกาศในที่สุดว่าพระองค์เป็นใคร ...

    ตลอดชีวิตสาธารณะของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงกำชับทุกคนที่เดาความลับนี้ได้ไม่ให้บอกใคร เพราะมนุษย์สามารถ “เข้าใจ” พระเจ้าได้ด้วยการมองที่ไม้กางเขนเท่านั้น พระองค์ทรงเป็น “พระบุตร” แต่ไม่ใช่อย่างที่มนุษย์คิดในจินตนาการ .. พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์” แต่ไม่ใช่กษัตริย์ประเภทที่มนุษย์คาดหมาย ... เพราะพระบุตรพระองค์นี้คือความรักอันสมบูรณ์ โดยปราศจากความเห็นแก่ตัว ทรงพร้อมเสมอที่จะสละชีวิตเพื่อผู้อื่น ... กษัตริย์พระองค์นี้คือความรักอันสมบูรณ์ โดยปราศจากความปรารถนาจะใช้อำนาจครอบงำผู้อื่น แต่พระองค์ทรงเป็น “ผู้รับใช้” ผู้สละชีวิตเพื่อผู้อื่น ...

    นี่เป็นเรื่องที่แปลกใหม่ จนไม่มีใครเข้าใจ ผู้คนที่ผ่านไปมา “สั่นศีรษะ” เบื้องหน้ากษัตริย์ของชาวยิว (มก 15:29-30) ... ศัตรูของพระเยซูเจ้ายังคงกล่าวหาว่าพระองค์จะทรงทำลายพระวิหาร (14:58) ... หัวหน้าสมณะยังคิดว่าพระเจ้าควรลงมาจากไม้กางเขน (15:31-32) ... โจรสองคนที่ถูกตรึงกางเขนทางด้านขวาและซ้ายของพระองค์ “เยาะเย้ย” พระองค์ (15:32) ... ส่วนบรรดาอัครสาวกนั้นหรือ ไม่มีใครอยู่ที่นั่นเลย ...

... นายร้อยที่ยืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ ... พูดว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว”

    ขอให้เราสังเกตว่าการแสดงความเชื่อนี้เกิดจาก “ลักษณะที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์” และมิใช่จากการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ...

    ถูกแล้ว ก่อนจะรำพึงไตร่ตรองเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เราต้องรำพึงถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เพราะการสิ้นพระชนม์นี้พูดกับเรา ...

    พระเจ้าข้า พระองค์กำลังบอกอะไรแก่ข้าพเจ้า ผ่านการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ...

    ข้าพเจ้าจะอ่านคำบอกเล่านี้อีกครั้งหนึ่ง ... และรับฟังความลับนี้