แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา
โยชูวา 24:1-2, 15-17, 18; เอเฟซัส 5:21-32; ยอห์น 6:60-69

บทรำพึงที่ 1
การปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา
การปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาหรือข้อผูกพันที่เรามีต่อผู้อื่น อาจส่งผลกระทบในวงกว้างเกินความคาดหมายของเราได้

    ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 1924 ผู้จัดได้รวมกีฬาแข่งเรือแคนูให้เป็นหนึ่งในรายการแข่งขันกีฬาสากลเป็นครั้งแรก ทีมที่ได้รับเสียงชื่นชมในการแข่งเรือประเภทสี่คน เป็นทีมจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสมาชิกคนหนึ่งของทีมนี้เป็นชายหนุ่มชื่อ บิล ฮาเวินส์

    ยิ่งใกล้วันแข่งขัน บิลก็ยิ่งตระหนักว่าภรรยาของเขาอาจให้กำเนิดบุตรคนแรกของเขาในเวลาใกล้เคียงกับวันที่เขาจะต้องเดินทางไปแข่งขันที่ปารีส บิลพบว่าตนเองอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกได้ยาก เขาควรไปปารีส และยอมเสี่ยงที่จะไม่ได้อยู่เคียงข้างภรรยาเมื่อบุตรคนแรกของเขาเกิด หรือเขาควรถอนตัวออกจากทีม และอยู่กับภรรยาของเขา?

    ภรรยาของบิลบอกให้เขาไปปารีส เพราะเขาได้ฝึกอย่างหนักมานานหลายปีเพื่อการแข่งขันครั้งนี้ นี่คือจุดสุดยอดของความฝันตลอดชีวิตของเขา เห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบิล

    ในที่สุด หลังจากได้ใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนแล้ว บิลตัดสินใจถอนตัวออกจากการแข่งขัน เพื่อเขาจะได้อยู่กับภรรยาของเขา เมื่อเธอคลอดบุตรคนแรกของเขา บิลเชื่อว่าการอยู่กับภรรยาเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการไปปารีส เพื่อทำตามความฝันของเขา

    เราสรุปเหตุการณ์สั้น ๆ ได้ว่า ทีมแข่งเรือประเภทสี่คนของสหรัฐอเมริกาชนะได้เหรียญทองในการแข่งกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส และภรรยาของบิลก็คลอดบุตรช้ากว่ากำหนด ช้าจนกระทั่งบิลสามารถเข้าแข่งขันและกลับมาได้ทันวันที่ภรรยาของเขาคลอดบุตร คนทั่วไปต่างก็พูดว่า “น่าเสียดาย”

    แต่บิลบอกว่าเขาไม่รู้สึกเสียใจ เพราะเขาคิดว่าการปฏิบัติตามข้อผูกพันของเขากับภรรยานั้นสำคัญกว่าในเวลานั้น และยังสำคัญกว่าแม้แต่ในปัจจุบัน

    เรื่องของบิล ฮาเวินส์ เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ยอมเสียสละเพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ที่ผูกพันเขากับบุคคลที่เขารัก และเป็นเรื่องที่สมควรเป็นอารัมภบทสำหรับบทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้ เพราะบทอ่านทั้งสามเรื่องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามข้อผูกพัน

    บทอ่านที่หนึ่งกล่าวถึงข้อผูกพันระหว่างชาวอิสราเอลและพระเจ้า และพวกเขารู้สึกว่าการปฏิบัติตามข้อผูกพันนั้นทำได้ยากเพียงไร บทอ่านจากพระวรสารกล่าวถึงบรรดาศิษย์ที่ผูกพันตนเองกับพระเยซูเจ้า แต่แล้วก็รู้สึกว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องยาก ส่วนบทอ่านที่สองกล่าวถึงการยอมรับข้อผูกพันระหว่างสองบุคคลในการสมรส และความยากลำบากที่เขาได้พบในการปฏิบัติตามข้อผูกพันนั้น ดังนั้น เรื่องของบิล ฮาเวินส์ จึงสอดคล้องกับทั้งสามบทอ่านมากที่สุด

    นอกจากเรื่องของบิลเป็นอารัมภบทที่เหมาะสมสำหรับการรำพึงในวันนี้ เรื่องนี้ยังเผยให้เห็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อผูกพันหรือคำมั่นสัญญา

    สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ การประจญที่เราพบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อผูกพัน หรือการรักษาคำมั่นสัญญานั้น ไม่ใช่การประจญให้เราฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม แต่เป็นการประจญให้เราไม่ปฏิบัติอย่างครบถ้วนอย่างที่ควร

    อาจกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า เรารักษาคำมั่นสัญญาของเรา แต่เราปฏิบัติตามเพียง 50 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะปฏิบัติเต็มร้อย

    เรื่องของบิล ฮาเวินส์ เป็นเรื่องของบุคคลหนึ่งที่ปฏิบัติตามข้อผูกพันของเขาเต็มร้อย และเพราะเหตุนี้ เรื่องนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราปฏิบัติตามข้อผูกพันของเราอย่างใจกว้างเหมือนกับที่บิลเคยทำ

    เรื่องของ บิล ฮาเวินส์ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เรื่องนี้ยังมีภาคสอง ซึ่งแสดงให้เห็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของการรักษาคำมั่นสัญญาและข้อผูกพัน กล่าวคือ ความใจกว้างของเราในการปฏิบัติตามข้อผูกพันและคำมั่นสัญญา จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงไม่เพียงต่อบุคคลที่เราให้คำมั่น แต่รวมถึงบุคคลรอบตัวเรา – และบ่อยครั้งรวมถึงบุคคลที่เราไม่รู้จักด้วยซ้ำไป

    บุตรของบิล และภรรยาของเขา เป็นชาย เขาตั้งชื่อให้ว่าแฟรงค์ ยี่สิบแปดปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1952 บิลได้รับโทรเลขจากแฟรงค์ เขาส่งมาจากเมืองเฮลซินกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่แข่งขันกีฬาโอลิมปิก โทรเลขนั้นมีข้อความว่า “พ่อครับ ผมชนะ ผมกำลังนำเหรียญทองกลับมาบ้าน เหรียญที่พ่อพลาดไประหว่างที่พ่อรอผมเกิด”

    แฟรงค์ ฮาเวินส์ เพิ่งได้รับเหรียญทองจากการเป็นตัวแทนประเทศสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันพายเรือแคนู นี่คือเหรียญที่พ่อของเขาใฝ่ฝันว่าจะได้ แต่ไม่เคยได้

    นี่คือตอนจบอย่างงดงามของเรื่องที่น่าประทับใจ การปฏิบัติตามข้อผูกพันของ บิล ฮาเวินส์ เมื่อ 28 ปีก่อน กลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับบุตรชายของเขา การปฏิบัติตามข้อผูกพันของบิลเป็นตัวอย่างให้แฟรงค์ให้คำมั่นกับตนเอง ว่าเขาจะแสดงให้บิดาของเขาเห็นว่าเขารู้สึกซาบซึ้งใจที่บิดาของเขาปฏิบัติตามข้อผูกพันต่อมารดาของเขา และต่อตัวเขา

    และนี่คือจุดสำคัญที่บ่อยครั้งผู้ที่เป็นบิดามารดาคิดไม่ถึง ผู้เป็นบุตรย่อมสังเกตเห็นว่าบิดามารดาของเขายอมเสียสละอย่างใจกว้างเพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่มีต่อกัน และบ่อยครั้งที่บุตรทั้งหลายจะใช้เป็นตัวอย่างในการรักษาคำมั่นในชีวิตของเขา

    ดังนั้น การตัดสินใจของบิลที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันของเขาแบบเต็มร้อย จึงมีผลกระทบอย่างลึกล้ำต่อความสัมพันธ์ระหว่างเขาและภรรยา นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนที่ได้ยินเรื่องของเขาด้วย และทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อเราตัดสินใจยอมรับข้อผูกพันกับพระเจ้า หรือกับบุคคลอื่นอย่างใจกว้าง การตัดสินใจนั้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของบุคคลที่เรารัก รวมถึงชีวิตของบุคคลที่เราไม่รู้จักด้วย

    เราอาจเปรียบเทียบการปฏิบัติตามข้อผูกพันของเราได้กับก้อนหินที่โยนลงไปในทะเลสาบ ก้อนหินนั้นไม่เพียงกระทบกับน้ำในทะเลสาบ แต่มันยังทำให้น้ำกระเพื่อมเป็นวงกว้าง บางครั้งการกระเพื่อมอาจกระจายออกไปจนถึงส่วนที่ห่างไกลในทะเลสาบ พระเจ้าเท่านั้นทรงรู้ผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำของเราต่อผู้อื่น

    ดังนั้น เมื่อเราตาย และไปอยู่เบื้องหน้าพระเจ้าเพื่อรับการพิพากษา เราจะแปลกใจกับผลกระทบอันกว้างไกลจากการกระทำของเรา – เหมือนกับที่ บิล ฮาเวินส์ จะแปลกใจกับผลกระทบอันกว้างไกลจากการปฏิบัติตามข้อผูกพันของเขาต่อภรรยา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนนับแสนที่เขาไม่รู้จัก

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 6:60-69
ปังแห่งชีวิต (4)

พระเยซูเจ้าตรัสในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอรนาอุม ว่า “ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร”
เมื่อศิษย์หลายคนได้ยินพระองค์ตรัสดังนี้ ก็กล่าวว่า “ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้”

    นี่คือตอนจบของคำปราศรัยเกี่ยวกับปังแห่งชีวิต จากปลายปากกาของพยานคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ เราเห็นว่าประชาชนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อพระดำรัสของพระเยซูเจ้า ปฏิกิริยาของผู้ฟังมีสองด้าน

    -    คนส่วนใหญ่สะดุดใจ และไม่ยอมรับสารของพระองค์   
    -    คนส่วนน้อย คือ “อัครสาวกสิบสองคน” แสดงความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ด้วยความมั่นใจ

    หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้นิพนธ์พระวรสารอีกสามฉบับก็กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในงานเทศนาสั่งสอนของประกาศกชาวนาซาเร็ธผู้นี้ วิกฤติการณ์กำลังก่อตัวขึ้นแล้ว ก่อนหน้านี้ ประชาชนไม่เพียงติดตามพระองค์ แต่ถึงกับตามหาพระองค์ ในที่นี้ ยอห์นเรียกประชาชนเหล่านี้ว่า “ศิษย์” แต่ “ศิษย์” เหล่านี้ ซึ่งติดตามพระเยซูเจ้ามาได้ระยะหนึ่งแล้ว บัดนี้ได้ทิ้งพระองค์ไป การเปิดเผยธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับศีลมหาสนิททำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้ ในตอนท้ายของบทนี้ เราสามารถนับจำนวนศิษย์ “ส่วนน้อยที่เหลืออยู่” ของพระเยซูเจ้าได้

    พระวรสารยอมรับว่าพระเยซูเจ้าไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจว่า “ปัง” ของพระองค์ ซึ่งเป็นอาหาร “แท้” คืออะไร และจะมีใครที่พยายามอธิบายแก่เราได้ดีกว่าพระเยซูเจ้าว่าพระองค์ประทานอะไรแก่เรา?
    ยี่สิบศตวรรษต่อมา ชายหญิงจำนวนมาก ทั้งหนุ่มสาวและคนชรา ยังทำให้เราประหลาดใจที่เขาเลิกติดตามประเยซูเจ้า และปฏิเสธที่จะ “รับและกินปังของพระองค์” ไม่ยอมรับและดื่มชีวิตของพระองค์ ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงบอกว่าเป็น “เนื้อและโลหิตของพระองค์” บางครั้งเราถึงกับกล่าวหาว่าเป็นความผิดของพระศาสนจักร เราตำหนิว่าพระศาสนจักรเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป! ... พระศาสนจักรควรแสดงจุดยืนเช่นนี้ หรือเช่นนั้น (หมายความว่า จุดยืน “ของฉัน”) ... อันที่จริง สาเหตุของ “การรั่วไหล” นี้คือการขาดแคลนความเชื่อ – มิใช่เพราะธรรมเนียมปฏิบัติด้านพิธี วัฒนธรรม หรือสังคมแต่ประการใด...

    พระเยซูเจ้าตรัสย้ำกับเราด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนและเด็ดขาดที่สุด

พระเยซูเจ้าทรงทราบด้วยพระองค์ว่าบรรดาศิษย์กำลังบ่นเรื่องนี้

    พระองค์ไม่จำเป็นต้องได้ยินเสียงบ่น พระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่าเขาจะบ่นเรื่องอะไร และไม่ทำให้พระองค์ประหลาดพระทัย เพราะพระองค์ทรงคาดหมายไว้แล้ว

    ความเชื่อเป็นสิ่งที่ยาก! เพราะความเชื่อหมายถึง “การปฏิเสธการเรียนรู้ด้วยวิธีปกติ คือด้วยการสังเกตการณ์และใช้เหตุผล” เพื่อจะ “แสดงความวางใจในกันและกันอย่างเต็มที่” ยอห์นจะกล่าวหลายครั้งว่าความเชื่อหมายถึง “การเชื่อทั้งที่มองไม่เห็น”

... จึงตรัสกับเขาว่า “เรื่องนี้ทำให้ท่านเคลือบแคลงใจเราหรือ”

    ถูกแล้ว พระอาจารย์ เราตกใจ – และพระองค์ก็ทรงรู้ดี

    คำที่ใช้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก คือ scandalizein “เรื่องนี้ทำให้ท่านสะดุดใจหรือ” ... เราเป็นก้อนหินที่ทำให้ท่านสะดุดหรือ...

    เรามักคิดว่าความเชื่อเป็นการสั่งสอนอย่างหนึ่ง “คนหนุ่มสาวทั้งหลายต้องมาร่วมพิธีมิสซาแน่ ถ้ามีการอธิบายให้เขาเข้าใจ ... เขาน่าจะเข้าใจ แต่ทุกวันนี้ เขาไม่รู้อะไรสักอย่าง”

    แต่สำหรับพระเยซูเจ้า ความเชื่อทำให้คนทั้งหลายสะดุด สิ่งที่เราเชื่อไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ชัด แต่ทำให้เราตกใจ ความเชื่อไม่ใช่บทเรียนที่เราท่องจนคล่องปาก แต่ความเชื่อคือ “การปฏิบัติที่มีประสิทธิผล” ความเชื่อเป็นทั้งคำท้าทายและคำมั่น เราต้องตัดสินใจสละสิ่งที่เราเรียกว่า “ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์” และต้อนรับการเผยแสดงจากพระเจ้า – การเผยแสดงที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการของมนุษย์ ท้ายที่สุด “การประกาศยืนยันความเชื่อ” ที่แท้ ไม่ใช่การท่องบทแสดงความเชื่อ ไม่ว่าผู้ประพันธ์ได้คิดถึงข้อความเชื่อมากมายสักเท่าไรเมื่อเขาแต่งบทภาวนานี้

    ความเชื่อคือการกระทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เราทำ และธรรมล้ำลึกที่สำคัญที่สุดของความเชื่อของเรา ก็คือศีลมหาสนิท อย่างไม่มีข้อสงสัย เมื่อเราพูดว่า “คริสตชนคือผู้ที่ไปร่วมพิธีมิสซา” เราไม่ได้ยืนยันอะไรเลย – แต่ถ้าเราเข้าใจมิสซา เราจะอธิบายสาระสำคัญได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำ ความเชื่อคือ “การตัดสินใจ” อย่างหนึ่ง...

    และการตัดสินใจนี้มีสองด้าน

    -    “การกินปังแห่งชีวิต” หมายถึงการรับพระเยซูเจ้าเข้ามาประทับในชีวิตของเรา
    -    “การมีชีวิตอยู่ด้วยชีวิตของพระองค์ ซึ่งเป็นความรักที่มีประสิทธิผล” ... หมายถึงการเดินตามรอยพระบาทของพระองค์

“เรื่องนี้ทำให้ท่านเคลือบแคลงใจเราหรือ แล้วถ้าท่านจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์กลับขึ้นสู่สถานที่ที่เคยอยู่แต่ก่อนเล่า ท่านจะว่าอย่างไร”

    มนุษย์คนนี้จะให้เรากินเนื้อของเขาได้อย่างไร? ...     ได้แน่นอน เพราะเขาไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น!

    แทนที่จะทรงถอนคำพูด หรืออธิบายให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น พระเยซูเจ้ากลับทรงเน้นย้ำถ้อยคำเดิมด้วยการเสนอธรรมล้ำลึกอีกข้อหนึ่ง ซึ่งศีลมหาสนิทเป็นเพียงการแสดงออกของธรรมล้ำลึกข้อนี้ นี่คือหัวใจของธรรมล้ำลึกแห่งการเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า

    นี่คือธรรมล้ำลึกของพระเจ้าโดยแท้ และเนื่องจากไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้า มนุษย์จึงไม่อาจเข้าใจธรรมล้ำลึกนี้ได้ด้วยสติปัญญาของตนเองเพียงอย่างเดียว พระเยซูเจ้าทรงอ้างถึง “ภวันต์พระเจ้า (divine Being)” ของพระองค์เอง พระองค์กำลังตรัสว่า พระองค์กำลังจะเสด็จ “กลับสู่สถานที่ที่พระองค์เคยประทับอยู่แต่ก่อน”

    เราสังเกตเห็นว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงถามให้จบประโยค “ถ้าท่านเห็นบุตรแห่งมนุษย์กลับขึ้นสู่สถานที่ที่พระองค์เคยประทับอยู่มาก่อน ท่านจะทำอย่างไร?...

    แม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงยอมรับสภาพมนุษย์ธรรมดาที่ไม่มีอะไรโดดเด่น และทรงแสดงพระองค์เหมือนกับมนุษย์ทั่วไประหว่างที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพบนโลกนี้ แต่เราต้องพยายามค้นหาพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระตรีเอกภาพของพระองค์ กล่าวคือ พระองค์ทรงประทับเบื้องขวาของพระบิดา ท่ามกลางพลวัตแห่งความรักของพระจิตเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงได้รับจากพระบิดา “พระบิดาผู้ทรงชีวิต ทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น”

    เราไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วชีวิตคืออะไร – เราไม่รู้แม้แต่ชีวิตปกติธรรมดาในอาณาจักรพืชและสัตว์ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดรอบรู้ที่สุดก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าชีวิตคืออะไร

    แล้วเราจะรู้เรื่องของ “ชีวิตของพระเจ้า” ได้อย่างไร? ... ความรู้เท่าที่มนุษย์มีอยู่ ไม่สามารถช่วยให้เข้าใจธรรมล้ำลึกข้อนี้ได้ เราไม่มีทางอธิบายเรื่องของศีลมหาสนิทได้ด้วยความคิดตามหลักเหตุผลของมนุษย์ เพราะธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อนั้นยิ่งใหญ่ และสุดจะหยั่งถึงได้ด้วยสติปัญญามนุษย์!

“พระจิตเจ้าเป็นผู้ประทานชีวิต ลำพังมนุษย์ทำอะไรไม่ได้”

    พระเจ้าข้า โปรดตรัสถ้อยคำเหล่านี้กับข้าพเจ้าอีกครั้งหนึ่งเถิด ขอให้พระวาจาของพระองค์ล้างความคลางแคลงใจให้หมดไปจากใจของข้าพเจ้า รวมทั้งเหตุผลต่าง ๆ ที่ทำให้เราสะดุดใจด้วยเถิด

“วาจาที่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายนั้นให้ชีวิต เพราะมาจากพระจิตเจ้า แต่บางท่านไม่เชื่อ” พระเยซูเจ้าทรงทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าผู้ใดไม่เชื่อ และผู้ใดจะทรยศต่อพระองค์

    ข้อความที่พระเยซูเจ้าตรัสนี้กล่าวถึงงานของพระจิตเจ้าอย่างชัดเจนยิ่งกว่าพระดำรัสอื่นใดของพระองค์ นี่คือหัวใจของพระวรสารฉบับนี้ เมื่อได้ยินเช่นนี้แล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะคิดลดฐานะของพระวรสารให้กลายเป็นเพียงคำสอนศีลธรรม ... พระเยซูเจ้าผู้ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ทั้งมวล พระเยซูเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงเป็นประกาศก ทรงเป็นนักปฏิวัติ ทรงเป็นผู้นำทางสังคม ทรงเป็นผู้ปลดปล่อย ... พระองค์ทรงเป็นทั้งหมดนี้อย่างแท้จริง และไม่ใช่เพียงเท่านี้ พระองค์ยังทรงมีอีกด้านหนึ่ง คือทรงมีพระเทวภาพอยู่ในพระองค์

    ดังนั้น “พระเทวภาพ” เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น และสูงส่งกว่าทุกสิ่ง วิธีเดียวที่เราจะมองเห็นพระเทวภาพของพระองค์ คือ มองด้วย “ตาแห่งความเชื่อ” ซึ่งเราต้องมองหา “ผ่านเนื้อหนัง” แต่เป็นเนื้อหนังในพระจิต และในชีวิตพระเจ้า

พระองค์ตรัสต่อไปว่า “ดังนั้น เราจึงบอกท่านทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดมาหาเราได้ เว้นแต่ผู้ที่พระบิดาประทานให้เขามา”

    นี่คือธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตของพระเจ้า – ชีวิตของสามพระบุคคล ภาพวาดของรูเบลฟ อธิบายธรรมล้ำลึกนี้ได้อย่างน่าพิศวง

    ภาพนั้นแสดงให้เห็นสามพระบุคคลประทับอยู่รอบ “โต๊ะ” ตัวหนึ่ง บนโต๊ะมี “ถ้วย” ใบหนึ่งตั้งอยู่ ภาพนี้ใช้วงกลมเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นหนึ่งเดียวของสามพระบุคคล รูเบลฟวาดเส้นล้อมรอบทั้งสามพระบุคคลเป็นวงกลม มีสามพระบุคคลแต่ประกอบกันเป็นวงกลมหนึ่งเดียว – วงกลมนี้มีชีวิตและพลวัต – พระบิดาประทับนั่งเป็นประธานที่ด้านตรงข้ามของโต๊ะ และทอดพระเนตรด้วยความรักไปที่หัวใจหรือทรวงอกของพระบุตร ในขณะที่พระบุตรทรงมองไปที่พระจิต แต่ถ้าสังเกตพระพักตร์และความเคลื่อนไหวของพระบุคคลองค์ที่สามนี้ จะเห็นว่าทั้งพระพักตร์และพระหัตถ์หันไปทางพื้นดิน วงกลมนี้ “เปิดออกมาหาเรา” ผู้กำลังยืนมองอยู่เบื้องหน้าภาพ

    พระเจ้าทรงกำลังเสนอชีวิตพระตรีเอกภาพให้แก่เรา พระจิตเจ้าผู้ทรงเป็นชีวิต ได้ถูกประทานแก่เรา – หรืออาจพูดให้ถูกว่า พระจิตเจ้าทรงถูกเสนอให้แก่เรา เพราะพระเจ้าทรงเป็นความรัก และทรงรู้ดีว่าพระองค์ไม่สามารถยัดเยียดพระองค์เองให้แก่เราได้

หลังจากนั้น ศิษย์หลายคนเปลี่ยนใจ ไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับอัครสาวกสิบสองคนว่า “ท่านทั้งหลายจะไปด้วยหรือ”

    ดูเหมือนพระเยซูเจ้าทรงกำลังตรัสว่า “เราจะไม่ดึงรั้งท่านไว้ ท่านมีเสรีภาพที่จะอยู่หรือไป”

    ในปัจจุบันเราเห็นความขัดแย้งระหว่างศิษย์ “หลายคน” ที่ “จากไป” และศิษย์ที่ยังติดตามพระองค์ต่อไป – เช่น ความขัดแย้งระหว่างบิดามารดาและบุตรของเขา – ขอให้เราระลึกถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้า เมื่อทรงถามว่า “ท่านจะไปด้วยหรือ?”

ซีโมน เปโตร ทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า พวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร พวกเราเชื่อ และรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”

    คำตอบของเปโตรเต็มไปด้วยความถ่อมตนและนอบน้อม “พวกเราจะไปหาใครเล่า?”

    คำตอบนี้ยังเต็มไปด้วยความรักและความวางใจอีกด้วย เพราะไม่มีใครสามารถเข้ามาแทนที่พระเยซูเจ้าได้สำหรับพวกเขา...

    แต่เราต้องสังเกตด้วยว่า ในคืนก่อนหน้านั้น อัครสาวกสิบสองคนได้มีประสบการณ์ที่ควรให้ความสว่างแก่เขา คือ ระหว่างการทวีขนมปัง และคำปราศรัยเกี่ยวกับปังแห่งชีวิต พวกเขาได้เห็นพระกายนี้ “เดินบนผิวน้ำในทะเลสาบที่กำลังปั่นป่วนเพราะลมแรง” (ยน 6:16-21) พระกายนั้น – เนื้อหนังนั้น – ไม่อยู่ภายใต้กฎแรงดึงดูดของโลกเหมือนร่างกายของเรา ... นี่คือพระกายอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า

    ทำไมเราจึงต้องการจำกัดให้พระเจ้าอยู่ภายในขอบเขตที่เราเข้าใจได้? ... พระองค์ทรงอยู่นอกเหนือขอบเขตที่เรารู้จักและเข้าใจในทุกด้าน เราเห็นเช่นนี้อย่างชัดเจนแล้วไม่ใช่หรือ?...