วันอาทิตย์ที่ 20 เทศกาลธรรมดา
สุภาษิต 9:1-6; เอเฟซัส 5:15-20; ยอห์น 6:51-58
บทรำพึงที่ 1
ปังแห่งชีวิต
สิ่งตอบแทนเล็กน้อยที่สุด ที่เราสามารถถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับของประทานอันยิ่งใหญ่นี้ ก็คือการรับของประทานนี้อย่างเหมาะสม
เมื่อเกือบ 150 ปีที่ผ่านมา คนยากจนครอบครัวหนึ่งตัดสินใจอพยพออกจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ในประเทศยูโกสลาเวีย และเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ครอบครัวนี้ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกชายวัยรุ่นคนหนึ่ง และลูกสาวเล็ก ๆ อีกสี่คน
หนึ่งสัปดาห์ก่อนเรือโดยสารของเขาจะออกเดินทาง ญาติและมิตรสหายของครอบครัวได้จัดงานเลี้ยงส่งให้เขา คนเหล่านี้มอบของขวัญที่เชื่อว่าจะมีประโยชน์สำหรับครอบครัวนี้ คือ ขนมปังแข็ง ๆ จำนวนมาก และเนยแข็งอีกหลายก้อน
หนึ่งสัปดาห์ต่อมาครอบครัวนี้ก็ขึ้นเรือสัญชาติอิตาลี เนื่องจากพวกเขาไม่เคยออกจากหมู่บ้านของตนเลย และมีไม่กี่คนบนเรือที่พูดภาษายูโกสลาฟได้ ครอบครัวนี้จึงงงงันกับทุกสิ่งที่เขาเห็นและได้ยิน วันนั้นเป็นวันที่อากาศเย็นจัดในฤดูหนาว ทั้งครอบครัวรีบหลบเข้าไปอยู่ในห้องพักชั้นสามของเขาใต้ดาดฟ้าเรือ เขาหมกตัวอยู่แต่ในห้อง และกินขนมปังและเนยแข็งอย่างกระเบียดกระเสียร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีอาหารกินตลอดการเดินทางข้ามมหาสมุทร
ในวันสุดท้ายของการเดินทาง อากาศแจ่มใสกว่าเดิม ลูกชายวัยรุ่นของเขารู้สึกเบื่อ จึงขออนุญาตบิดาขึ้นไปเดินสำรวจเรือ หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงและเด็กชายยังไม่กลับมา บิดาของเขาจึงออกตามหา เขาพบลูกชายในห้องอาหารขนาดใหญ่ เขานั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร และกำลังกินอาหารจากจานที่เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก และแม้แต่ขนมหวาน
บิดาหัวใจแทบหยุดเต้น เขานึกเห็นภาพตนเองถูกขังอยู่ในคุกตั้งแต่วันแรกที่มาถึงสหรัฐอเมริกา เพราะเขาไม่มีปัญญาจะจ่ายค่าอาหารที่ลูกชายของเขาสั่งมากินแน่นอน
เมื่อเด็กชายเห็นบิดาของเขาแสดงท่าทางตกใจเช่นนั้น เขาบอกว่า “พ่ออย่าห่วงเลยครับ อาหารนี้เป็นของฟรี ขณะที่เรากินแต่เนยแข็งและขนมปังอย่างอดอยาก ทุกคนบนเรือกำลังกินอาหารอย่างฟุ่มเฟือยอย่างนี้ ราคาอาหารรวมอยู่ในราคาตั๋วเดินทางแล้วครับ”
เจมส์ โคไลอันนี ผู้ระลึกถึงเรื่องนี้ เปรียบเทียบว่าโลกนี้เต็มไปด้วยคนที่เหมือนกับครอบครัวยากจนจากยูโกสลาเวียนั้น เขากำลังเดินทางชีวิต โดยไม่รู้ว่าพระเจ้าทรงจัดงานเลี้ยงแห่งชีวิตเพื่อเขาในแต่ละวัน นั่นคืองานเลี้ยงแห่งศีลมหาสนิท และค่าอาหารก็รวมอยู่ในตั๋วเดินทางแห่งชีวิตแล้ว
พระเยซูเจ้าตรัสถึงงานเลี้ยงอันเหลือเชื่อนี้ในบทอ่านพระวรสารวันนี้ ขอให้เราฟังพระองค์อีกครั้งหนึ่ง “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน6:51)
ปังแห่งชีวิตที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เรานั้นแตกต่างอย่างเทียบไม่ได้เลยกับขนมปังธรรมดา เมื่อเรากินขนมปัง ขนมปังนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา มันเขาสู่ร่างกายของเรา และเปลี่ยนเป็นตัวเรา
แต่เมื่อเรากินปังแห่งชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ตรงกันข้าม ปังนี้ไม่ได้เปลี่ยนเป็นตัวเรา แต่เราเป็นฝ่ายเปลี่ยนเป็นปังนี้ ตัวเราจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นปังนี้ คือ เป็นพระกายของพระคริสตเจ้า
เพราะเหตุนี้ ถ้าเรากินปังนี้ เราจะมีชีวิตนิรันดร ด้วยการกินพระกายของพระคริสตเจ้า เราจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพระคริสตเจ้า ผู้ดำรงอยู่ตลอดนิรันดร
เมื่อเราใคร่ครวญธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่นี้ เราอดพิศวงใจไม่ได้ว่าปังนี้เป็นของประทานที่เหลือเชื่อเพียงใด เป็นเรื่องเศร้าที่เราจะดำเนินชีวิตโดยไม่รู้เรื่องของประทานอันล้ำค่านี้ เป็นเรื่องเศร้าที่เราจะดำเนินชีวิตโดยไม่รู้ว่ามีงานเลี้ยงแห่งชีวิตที่รวมอยู่แล้วในตั๋วเดินทางแห่งชีวิต
แต่ยังมีเรื่องเศร้ายิ่งกว่านี้ นั่นคือการดำเนินชีวิตโดยที่เรารู้เรื่องงานเลี้ยงแห่งชีวิตนี้ แต่กลับไม่เห็นคุณค่า
ใครคนหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อเรามองพระกายของพระคริสตเจ้าก่อนที่เราจะรับพระกายนี้ในศีลมหาสนิท เรามองไม่เห็นพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท แต่เมื่อคนอื่นมองเรา หลังจากเรารับพระกายของพระคริสตเจ้าแล้ว เขายิ่งมองไม่เห็นพระคริสตเจ้าในตัวเรา”
บุคคลนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า หลังจากเรารับศีลมหาสนิทแล้ว บางครั้งเราทำตัวเหมือนกับว่าเราไม่ได้รับ หรืออาจกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า เราคุ้นเคยกับการรับศีลมหาสนิทจนเราไม่เห็นความสำคัญ และไม่เห็นคุณค่า และการไม่เห็นคุณค่าของศีลมหาสนิทสะท้อนออกมาให้เห็นได้ในทัศนคติของเรา หลังจากที่เรารับศีลมหาสนิทแล้ว
เราอาจเปรียบเทียบช่วงเวลาที่เรารับศีลมหาสนิทได้กับเพชรเม็ดหนึ่ง และเปรียบเทียบช่วงเวลาก่อนและภายหลังการรับศีลมหาสนิทได้กับแหวนทองคำเกลี้ยง ๆ เรือนหนึ่ง
เพชรแม้ไม่ขึ้นเรือนก็สวยงามแล้ว แต่จะสวยงามยิ่งขึ้นอีกถ้าเราวางเพชรเม็ดนั้นไว้กลางเรือนแหวนทองคำ และทำให้กลายเป็นแหวนเพชร
เช่นเดียวกับการรับศีลมหาสนิท การรับศีลมหาสนิทเป็นประสบการณ์อันงดงามในตัวเองอยู่แล้ว แต่จะงดงามยิ่งขึ้นอีก ถ้าเราทำให้การรับศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางของการภาวนา และทำให้กลายเป็นประสบการณ์ของการภาวนา
ถ้าการรับศีลมหาสนิทของเราดูเหมือนว่ายังขาดบางสิ่งบางอย่างไป อาจเป็นเพราะเราได้ปล่อยให้การรับศีลของเราแยกตัวออกจากการภาวนา อาจเป็นเพราะเราปล่อยให้การรับศีลมหาสนิทของเราเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งโดด ๆ อาจเป็นเพราะการรับศีลมหาสนิทของเราไม่ใช่ประสบการณ์ของการภาวนา
เราอาจถามตนเองก็ได้ว่า เราสำรวมจิตใจอธิษฐานภาวนาหรือเปล่าทั้งก่อนและหลังจากการรับศีลมหาสนิท? เรากำลังคิดอะไรก่อนและหลังจากการพระกายของพระคริสตเจ้า? เราพูดคุยกับพระเยซูเจ้าเหมือนเราพูดคุยกับเพื่อนคนหนึ่งหรือเปล่า? เราขอบพระคุณพระองค์ ขออภัยพระองค์ และปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ของเรากับพระองค์หรือเปล่า?
ชาวยูโกสลาเวียครอบครัวนั้นเดินทางเกือบตลอดทางไปยังอเมริกาโดยไม่รู้ว่าบริษัทเดินเรือเลี้ยงอาหารทุกมื้อ นั่นเป็นเรื่องน่าเศร้า
แต่เป็นเรื่องน่าเศร้ามากกว่าสำหรับคนทั้งหลายที่เดินทางชีวิตตลอดทางโดยไม่รู้ว่าเขาสามารถเข้าร่วมในงานเลี้ยงแห่งชีวิตได้ และค่าอาหารนั้นก็รวมอยู่ในราคาตั๋วเดินทางชีวิตแล้ว
แต่ยังมีเรื่องน่าเศร้ามากกว่านั้นอีก สำหรับคนทั้งหลายที่เดินทางชีวิตตลอดทาง โดยไม่รู้ว่าเขาได้ทำให้งานเลี้ยงแห่งชีวิตกลายเป็นกิจวัตรที่ไร้ชีวิต เพราะเขาไม่ทำให้งานเลี้ยงนี้กลายเป็นประสบการณ์การภาวนา
นี่คือคำสั่งสอนในพระวรสารวันนี้ นี่คือคำสั่งสอนที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เราใคร่ครวญ และใส่ใจ ขณะที่เราเตรียมตัวมาร่วมงานเลี้ยงแห่งชีวิตที่พระองค์ทรงเตรียมไว้สำหรับเราในวันนี้
บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 6:51-58
ปังแห่งชีวิต (3)
พระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว และพระวาจาของพระองค์ก็เป็นหนึ่งเดียว หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ในการเปล่งวาจาเพียงคำเดียว พระเจ้าทรงคิดทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ใน “พระวาจา” หนึ่งเดียว คือพระวจนาตถ์ของพระองค์ แต่พระวาจาหนึ่งเดียวนี้กระจายตัวออกเป็นความจริงมากมายหลายประการ กลายเป็นคำพูดอันหลายหลายของมนุษย์ เหมือนกับแสงสีขาวที่เป็นหนึ่งเดียว แต่ประกอบด้วยทุกสีของสายรุ้ง และเราจะเห็นสีต่าง ๆ นี้เมื่อแสงส่องผ่านแก้วปริซึม
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราสามารถแปลความหมายธรรมล้ำลึกของปังแห่งชีวิตได้หลายทาง แต่ละทางเป็นการมองความจริงในแง่หนึ่ง เราสามารถเข้าใจบทที่หกของพระวรสารของนักบุญยอห์นได้สี่ทาง
1) นักประพันธ์ยุคโบราณบางคน คิดถึงความหมายฝ่ายจิตล้วน ๆ กล่าวคือ ปังแห่งชีวิตคือพระบุคคลและคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ที่เราซึมซับไว้โดยอาศัยความเชื่อ
2) ตรงกันข้ามกับผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์สมัยใหม่ ที่ยืนยันว่าคำปราศรัยนี้กล่าวถึงศีลมหาสนิทตั้งแต่ต้นจนจบ “ปังแห่งชีวิต” คือศีลมหาสนิท ซึ่งเรา “กิน” จริง ๆ ทางร่างกาย และเป็นอาหารจริง
3) ผู้อธิบายพระคัมภีร์หลายคนเลือกทางสายกลาง กล่าวคือ ส่วนแรกของคำปราศรัย (ตั้งแต่ต้นจนถึงข้อ 50) เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ซึ่งทำให้เราซึมซับพระเยซูเจ้าไว้ในตัวเราผ่านทางความสนิทสัมพันธ์กับความคิดและพระบุคคลของพระองค์ ส่วนที่สองของคำปราศรัย (ตั้งแต่ข้อ 51 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบทอ่านในวันอาทิตย์นี้) เกี่ยวข้องกับศีลมหาสนิท ซึ่งทำให้เราเข้าถึง “พระกายและพระโลหิต” ของพระองค์ ผ่านทางเครื่องหมาย คือศีลศักดิ์สิทธิ์
4) ท้ายที่สุด นักประพันธ์ร่วมสมัยบางคนคิดว่าคำปราศรัยของพระเยซูเจ้า เกี่ยวข้องกับทั้งความเชื่อและศีลมหาสนิท ทั้งนี้เพราะสองหัวข้อนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ ความเชื่อโดยสิ้นเชิงในพระคริสตเจ้าแสดงนัยถึงความเชื่อในการประทับอยู่ของพระองค์ในศีลมหาสนิท เนื่องจากศีลมหาสนิท คือ “ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” ซึ่งเป็นความเชื่อหลักของเรา ระหว่างมิสซา การรำพึงตามพระวาจาและพระบุคคลของพระเยซูเจ้า (วจนพิธีกรรม) และการรับพระกายและพระโลหิต (พิธีรับศีลมหาสนิท) เป็นส่วนที่ต่อเนื่องกัน เราจะพูดได้อย่างไรว่าเราเชื่อในพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ ถ้าเราไม่สมัครใจและไม่พร้อมจะทำสิ่งที่พระองค์ทรงบอกให้เราทำ – คือให้เรา “รับและกิน” พระกายของพระองค์? เหมาะสมแล้วที่พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องความเชื่อ ก่อนจะตรัสถึงศีลมหาสนิท เนื่องจากธรรมล้ำลึกแห่งการประทับอยู่ของพระองค์จะเป็นอาหารบำรุงเลี้ยงเฉพาะผู้ที่มีความเชื่อเท่านั้น
เราจึงเห็นได้ว่าสมควรอย่างยิ่งที่เราจะมาร่วมพิธีมิสซาให้ทันเวลา ความเชื่อต้องเลี้ยงเราด้วยพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวาจาของพระเจ้า ก่อนที่เราจะได้รับอาหารบำรุงเลี้ยงจากพระกายของพระองค์ที่ทรงมอบเพื่อเรา พิธีมิสซาไม่ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน และไม่ใช่ว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมในส่วนแรกหรือไม่ เพราะเราต้องอยู่ “ในความสนิทสัมพันธ์” กับพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวาจาของพระเจ้า ตั้งแต่เริ่มพิธีมิสซาแล้ว
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิต ที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต”
เราเห็นคำใหม่ในข้อที่ 51 คำนี้จะปรากฏให้เห็นอีกสิบเอ็ดครั้งในส่วนที่สองของคำปราศรัยของพระเยซูเจ้า คือ “เนื้อและโลหิต” ... “กินและดื่ม”
ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้เอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร”
ประชาชนเข้าใจความหมายของคำนี้ตามตัวอักษร – เขาจึงตกใจ ถ้าเขาคิดว่าพระองค์ทรงหมายถึงอาหารบำรุงเลี้ยงวิญญาณ เขาคงไม่ตกใจ...
พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง”
แทนที่จะบรรเทาความตกใจของประชาชน พระเยซูเจ้ากลับทรงย้ำว่าพระดำรัสของพระองค์เป็นความจริง นอกจากคำว่า “เนื้อ” พระองค์ทรงเพิ่มคำว่า “โลหิต” ด้วย พระองค์ทรงเชิญทุกคนไม่เพียงให้เขา “กินเนื้อ” ของพระองค์ แต่ให้ “ดื่มโลหิต” ของพระองค์อีกด้วย
ในอดีต เรามีธรรมเนียมโบราณที่เรารับศีลมหาสนิทในรูปของทั้งปังและเหล้าองุ่น พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้เริ่มต้นธรรมเนียมนี้ เราสงสัยว่าทำไมเราจึงยกเลิกธรรมเนียมเดิมนี้ – และเมื่อใดหนอชุมชนคริสตชนจึงจะต้องการให้รื้อฟื้นธรรมเนียมนี้อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพูดถึง “เนื้อและโลหิต” รวมกัน เราเข้าใจความหมายได้หลายทาง
- ตามความคิดของชาวยิว วลีนี้หมายถึงทั้งตัวตนของมนุษย์ ... เนื้อและโลหิตทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นอย่างที่เขาเป็น คือ มีทั้งสมรรถภาพและจุดอ่อน
- ประชาชนในโลกตะวันออกถือว่า “โลหิต” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ “ชีวิต” อันที่จริงเราสามารถกล่าวประโยคนี้ว่า โดยเปลี่ยนเพียงคำเดียวได้ว่า “ถ้าท่านไม่ดื่มชีวิตของบุตรแห่งมนุษย์ ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง”
- ความหมายสุดท้าย (และเป็นความหมายที่สำคัญที่สุด) คือ การแยกเนื้อและโลหิตออกจากกัน ทำให้เราระลึกถึงลักษณะที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ กล่าวคือ การแยกพระโลหิตออกจากพระกายของพระองค์ พระเยซูเจ้าเพิ่งจะตรัสว่า “ปังที่เราจะให้นี้ คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต” นี่คือการอ้างถึงการถวายเครื่องบูชาแห่งไม้กางเขนอย่างแน่นอน ... เราเห็นได้จากข้อความนี้ว่าพระเยซูเจ้าทรงตระหนักถึงความจำเป็นของการถวายเครื่องบูชาของพระองค์ เพื่อให้โลกได้รับความรอดพ้น พระองค์ทรงรู้ดีว่า พระองค์จะต้องสละชีวิตของพระองค์ – เพื่อให้โลกมีชีวิต...
“ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย”
เราไม่ควรลืมว่า ยอห์นเขียนพระวรสารของเขาประมาณ ค.ศ. 90 หรือ 100 หลังจากที่เขาได้ถวายบูชาขอบพระคุณร่วมกับคริสตชนที่มาชุมนุมกันมาแล้วประมาณ 60 ปี เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้อ่านพระวรสารในยุคแรก จะไม่เข้าใจว่าถ้อยคำเหล่านี้หมายถึงศีลมหาสนิทที่เรา “กินและดื่ม” ระหว่างการกินอาหารร่วมกันด้วยความรักฉันพี่น้อง
นอกจากนี้ ถ้าพระเยซูเจ้าไม่เคยตรัสเรื่องนี้เลย อัครสาวกจะเข้าใจความหมายของการกระทำต่าง ๆ ของพระองค์ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายหรือ? การตั้งศีลมหาสนิทในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์คงเป็นสิ่งที่อัครสาวกสิบสองคนไม่อาจเข้าใจได้ ถ้าพระเยซูเจ้าไม่ทรงเตรียมใจเขาไว้ก่อน ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง – แม้ว่าข้อความนี้แสดงให้เห็นว่ายอห์นได้เรียบเรียงพระดำรัสของพระเยซูเจ้าใหม่ก็ตาม หลังจากผ่านประสบการณ์ชีวิตอันยาวนาน เป็นธรรมดาที่ยอห์นย่อมเข้าใจคำสั่งสอนของพระอาจารย์ของเขาได้กระจ่างชัด มากกว่าที่เขาเข้าใจขณะได้ยินพระองค์ตรัสที่เมืองคาเปอรนาอุม หนึ่งปีก่อนพระทรมาน และเขาเขียนคำบอกเล่าของเขาด้วยความเข้าใจที่ได้รับภายหลังเหตุการณ์วันปัสกาที่เขารู้เห็นในเวลาต่อมา...
“เพราะเนื้อของเราเป็นอาหารแท้ และโลหิตของเราเป็นเครื่องดื่มแท้”
นักบุญยอห์นจะไม่เล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า แต่เราเห็นได้ว่าข้อความตอนนี้คล้ายกันมากกับพระวรสารสหทรรศน์ของมัทธิว มาระโก และลูกา นี่คือข่าวดี (พระวรสาร) เรื่องเดียวกันที่บอกเล่าโดยใช้ถ้อยคำที่ต่างกัน
ขอให้เราอย่ามองข้ามคำเล็ก ๆ ที่ยอห์นชอบ และใช้บ่อยครั้ง คือ คำว่า “แท้ (indeed)” เพื่อเน้น “ความจริง” ของคำยืนยันนี้ คำนี้ควรเป็นสัญญาณสำหรับเราให้ตั้งใจฟัง เพราะนี่คืออาหารแท้ – เป็นอาหารที่ต่างจากอาหารอื่นทั้งหมด
พระเจ้าข้า ขอบพระคุณพระองค์ที่ได้ประทานสาระสำคัญที่ชัดเจนเช่นนี้ ซึ่งจะช่วยเราให้มองให้ไกลเกินทัศนคติมนุษย์ของเรา เกินความคิดที่อิงหลักเหตุผลของเรา
จากนั้น พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เราเห็นผลลัพธ์สามประการของศีลมหาสนิท คือ
1) ชีวิตนิรันดร และการกลับคืนพระชนมชีพ
“ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร ... เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย”
ศีลมหาสนิทเป็นช่องทางให้เราอยู่ในความสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงดำรงอยู่ในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระบิดา พระกายที่มีชีวิตนี้ – มีชีวิตอย่างแตกต่างจากชีวิตของเรา มีชีวิตด้วยชีวิตแท้ ... กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ของชีวิตพระเจ้าในตัวเรา ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับบอกเราว่า พระเยซูเจ้าตรัสถึง “งานเลี้ยงสมรสในสวรรค์” ซึ่งพระองค์จะรวบรวมมิตรสหายทุกคนของพระองค์ “เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า” พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการคาดหมายถึงงานเลี้ยงในสวรรค์ เมื่อเราจะกินอาหารที่โต๊ะของพระบิดา ของพระเยซูเจ้า และของพระจิตเจ้า เหมือนกับภาพวาดพระตรีเอกภาพของจิตรกรชื่อ รูเบลฟ
ถูกแล้ว เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่การพบกันอันน่ายินดีนี้ ... ข้าแต่พระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์
2) การดำรงอยู่ในกันและกันของพระคริสตเจ้า และคริสตชน
“ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา ก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา”
“การดำรงอยู่” นักบุญยอห์นชอบใช้คำนี้มาก
ท่านรู้ใช่ไหมว่า การอยู่กับบุคคลที่ท่านรักมาก และเขาก็รักท่านนั้นเป็นประสบการณ์ที่น่ายินดีเพียงไร? และท่านมีความสุขอย่างไรกับเขาคนนั้น?
มนุษย์ชายหญิงทุกคนได้รับเรียก – นี่คือกระแสเรียกของเขา – ให้ “ดำรงอยู่กับพระเจ้า และในพระเจ้า” นี่คือหัวข้อหลักของพันธสัญญา ซึ่งพระคัมภีร์ที่เขียนขึ้นโดยได้รับการดลใจจากพระเจ้า พยายามบอกเรามาโดยตลอดหลายศตวรรษ และโดยใช้ถ้อยคำที่สนิทสนม และชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
“เราจะรับท่านไว้เป็นประชากรของเรา และเราจะเป็นพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (อพย 6:7)
“ดิฉันเป็นของที่รักของดิฉัน และที่รักของดิฉันก็เป็นของดิฉัน” (พซม 6:3)
“ท่านดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในท่าน” (ยน 6:56, 15:4)
3) การถวายตัวแด่พระบิดา
“พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น”
คำบุพบทที่ใช้ในพระคัมภีร์ฉบับแปล คือ “เพราะพระบิดา” (คำภาษากรีก คือ “dia”) มีความหมายที่หลากหลายมาก และไม่สามารถแปลออกมาได้ด้วยคำเพียงคำเดียว หมายความว่า “อาศัย (through), เพราะ (because of) และ เนื่องจาก (thanks to)”
จากข้อความนี้ เราเห็นได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังเปิดเผยทัศนคติระดับลึกสุดของพระองค์ และยอห์น ผู้เป็นศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก ก็เดาความหมายได้ กล่าวคือ พระเยซูเจ้าทรงดำรงอยู่ผ่านทางพระบิดา เนื่องจากพระบิดา และเพื่อพระบิดา – และทรงเชิญชวนเราให้เข้ามาแบ่งปันชีวิตนี้กับพระองค์ด้วย!