แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
เฉลยธรรมบัญญัติ 4:1-2, 6-8; ยากอบ 1:17-18, 21-22, 27; มาระโก 7:1-8, 14-15, 21-23

บทรำพึงที่ 1
บทเทศน์บทที่ 32
ศาสนาไม่ใช่การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม แต่เป็นการช่วยเหลือคนไร้บ้าน และคนที่สิ้นหวัง

    พระสงฆ์วัย 70 ปีคนหนึ่งไปเข้าเงียบ ระหว่างนั้นเขาสะดุดใจกับสามสิ่งที่เขารู้มาโดยตลอด แต่ไม่ได้สนใจอย่างจริงจัง

    ข้อแรก มีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่กำลังหิวและไร้ที่อยู่อาศัย ข้อที่สอง เขาใช้เวลาตลอดชีวิตสงฆ์ของเขาอาศัยอยู่ในบ้านพักพระสงฆ์ที่สะดวกสบาย เขาเทศน์บทเทศน์ที่ฟังแล้วสบายใจ ให้แก่สัตบุรุษที่รักความสุขสบาย ข้อที่สาม เขาพยายามไม่ทำสิ่งที่จะรบกวนจิตใจ หรือทำให้สัตบุรุษรำคาญใจ

    พระสงฆ์ผู้นี้หวนคิดถึงเรื่องของพระสงฆ์ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสในวัดแห่งหนึ่งในรัฐเคนตักกี้ ที่อยู่ไม่ไกลจากเชอร์ชิลดาวน์ ซึ่งเป็นสนามแข่งม้าที่มีชื่อเสียง

    ในวันอาทิตย์แรก เจ้าอาวาสผู้นี้เทศน์เรื่องความชั่วร้ายของการพนัน และเตือนว่านิสัยเลวนี้ได้สร้างความเจ็บปวดและเป็นสาเหตุของความทุกข์ให้แก่หลาย ๆ ครอบครัวอย่างไร

    หลังการเทศน์ ประธานของสภาวัดโทรศัพท์มาหาเขา และเตือนเขาว่าสัตบุรุษหลายคนในเขตวัดที่บริจาคเงินสนับสนุนวัดอย่างใจกว้าง เป็นคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยกิจการที่เกี่ยวข้องกับการแข่งม้าและการพนัน

    ในวันอาทิตย์ที่สอง เจ้าอาวาสเทศน์เรื่องความชั่วร้ายของการสูบบุหรี่ และเตือนว่านิสัยเลวนี้ได้สร้างความเจ็บปวด และเป็นสาเหตุของความทุกข์มากมายอย่างไร จากโรคมะเร็งปอด และความตายก่อนวัยอันควร

    ประธานของสภาวัดโทรศัพท์มาหาเขาอีกครั้งหนึ่ง และเตือนเขาว่าสัตบุรุษหลายคนในเขตวัดที่บริจาคเงินสนับสนุนวัดอย่างใจกว้าง เป็นคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกใบยาสูบ ซึ่งทำให้รัฐเคนตักกี้มีชื่อเสียง

    ในวันอาทิตย์ที่สาม เจ้าอาวาสเทศน์เรื่องความชั่วร้ายของสุรา และเตือนว่านิสัยเลวนี้ได้สร้างความเจ็บปวดและเป็นสาเหตุของความทุกข์มากมายอย่างไร จากการเมาแล้วขับรถยนต์ และปัญหาบ้านแตก

    ประธานของสภาวัดโทรศัพท์มาหาเขาอีกครั้งหนึ่ง และเตือนเขาว่าสัตบุรุษหลายคนในเขตวัดที่บริจาคเงินสนับสนุนวัดอย่างใจกว้าง เป็นคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในโรงกลั่นสุรา ซึ่งทำให้รัฐเคนตักกี้มีชื่อเสียง

    เจ้าอาวาสคนใหม่ถามอย่างจนปัญญาว่า “แล้วพ่อจะเทศน์เรื่องอะไรได้เล่า?”ประธานสภาวัดตอบว่า “ก็เทศน์เรื่องคนที่สนับสนุนให้ทำสงคราม และนักการเมืองที่ฉ้อโกงซิ เราไม่มีคนประเภทนี้ในเขตวัดของเรา”

    พระสงฆ์วัย 70 ปีคนนี้พบว่าตนเองอยู่ในสภาพไม่ต่างจากบทของ แจ็ค เลมมอน ในภาพยนตร์เรื่อง Mass Appeal เขาเทศน์สอนเฉพาะเรื่องที่จะไม่รบกวนจิตใจของสัตบุรุษในเขตวัดของเขา และเรื่องที่ทำให้สัตบุรุษพึงพอใจ

    บัดนี้ พระสงฆ์คนนี้ตระหนักเหมือนกับพระสงฆ์ในภาพยนตร์เรื่อง Mass Appeal ว่าเขาต้องการเอาใจสัตบุรุษมากกว่าเทศน์สอนพระวรสาร เขากังวลกับการสร้างแรงกระเพื่อมในชุมชน มากกว่าอยากท้าทายสัตบุรุษของเขาให้สำรวจจิตใจตนเองว่าพวกเขาพึงพอใจกับสิ่งที่เขาพบเห็นในใจของเขาแล้วหรือยัง

    สัปดาห์ต่อมาหลังจากการเข้าเงียบที่ช่วยให้เขาตาสว่าง พระสงฆ์ชราเปิดดูบทอ่านพระคัมภีร์ เพื่อเตรียมเทศน์ในวันอาทิตย์ บทอ่านนั้นเป็นบทอ่านเดียวกันกับบทอ่านในวันนี้

    ขณะที่เขาอ่านพระวรสาร พระวาจาของพระเยซูเจ้ากระโดดออกมาจากหน้าพระคัมภีร์ว่า “ประชาชนเหล่านี้ให้เกียรติเราแต่ปาก แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา” (มก 7:6) พระสงฆ์ชราตัดสินใจตั้งแต่เวลานั้นว่าเขาจะแบ่งปันผลจากการสำรวจจิตใจของเขาให้แก่สัตบุรุษในเขตวัด ดังนั้นเขาจึงเริ่มต้นบทเทศน์ว่า

    “บทเทศน์ของพ่อสำหรับเช้าวันนี้จะใช้เวลาเพียง 30 วินาที และจะเป็นบทเทศน์ที่สั้นที่สุดเท่าที่พ่อเคยเทศน์มาตลอดชีวิต แต่เป็นบทเทศน์ที่สำคัญที่สุดที่พ่อเคยเทศน์มาด้วย”

    เมื่อเห็นว่าอารัมภบทนี้เรียกความสนใจจากสัตบุรุษได้แล้ว พระสงฆ์ชราก็เริ่มต้นบทเทศน์ความยาว 30 วินาทีของเขาว่า “พ่อต้องการพูดเพียงสามประเด็น ประเด็นแรก มีคนหลายล้านคนในโลกที่กำลังหิวและไร้บ้าน ประเด็นที่สอง คนส่วนใหญ่ในโลกคิดว่า ‘ช่างหัวมัน’ ประเด็นที่สาม พวกท่านหลายคนกำลังไม่สบายใจที่พ่อเพิ่งจะพูดคำว่า ‘ช่างหัวมัน’ บนธรรมาสน์ มากกว่าไม่สบายใจที่พ่อพูดว่ามีคนหลายล้านคนในโลกนี้ที่กำลังหิว และไร้บ้าน”

    แล้วพระสงฆ์ชราก็ทำเครื่องหมายกางเขนและนั่งลง

    บทเทศน์นั้นทำให้เกิดผลสามอย่างที่บทเทศน์ส่วนใหญ่ทำไม่ได้

    ข้อแรก ทำให้สัตบุรุษสนใจทันที ข้อที่สอง แสดงให้เห็นจิตตารมณ์ของพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ และข้อที่สาม ทำให้สัตบุรุษสำรวจจิตใจตนเอง

    เรื่องของพระสงฆ์ชราและบทอ่านจากพระวรสารในวันนี้ต้องการสอนสิ่งเดียวกัน กล่าวคือ ศาสนาไม่ใช่กิจกรรมที่เราทำกันในวันอาทิตย์ ไม่ใช่การปฏิบัติตามธรรมบัญญัติบางข้อ การสวดภาวนาบางบท หรือเข้าร่วมในจารีตพิธีกรรมบางอย่าง
    ประชาชนจำนวนมากในยุคของพระเยซูเจ้าได้ทำให้ศาสนากลายเป็นเพียงสิ่งเหล่านี้เท่านั้น  เขาปฏิบัติตามจารีตและพิธีกรรมเหล่านี้เพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย เพราะเขาเชื่อว่าการไม่ปฏิบัติเช่นนั้นถือว่าเป็นบาป สรุปว่า เขาเชื่อว่าการปฏิบัติตามจารีตและพิธีกรรมทำให้เขาเป็นบุคคลที่เคร่งครัดศรัทธาต่อศาสนา

    เพื่อชี้ให้เห็นว่าการยึดถือแต่จารีตและพิธีกรรมเป็นความหน้าไหว้หลังหลอก วิลเลียม บาร์เคลย์ จึงเล่าเรื่องต่อไปนี้  - ซึ่งเป็นเรื่องนอกสารบบพระคัมภีร์ – เกี่ยวกับมุสลิมคนหนึ่งที่ตามฆ่าศัตรู เขาได้ยินเสียงเรียกให้ทำละหมาด ชาวมุสลิมคนนี้รีบลงจากหลังม้าทันที เขาปูเสื่อสำหรับภาวนา คุกเข่าลง และรีบสวดภาวนาตามธรรมเนียมอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เขาสามารถทำได้ จากนั้น เขาก็กระโดดขึ้นหลังม้า เพื่อไล่ล่าและฆ่าศัตรูของเขาต่อไป

    การยึดถือบทบัญญัติอย่างเคร่งครัดประเภทนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงต่อต้านอย่างแข็งกร้าวในยุคสมัยของพระองค์

    พระเยซูเจ้าทรงประกาศชัดว่า ศาสนาไม่ใช่กิจกรรมที่เรากระทำในเวลาหนึ่งในวันหนึ่ง ไม่ใช่การสวดบทภาวนาบางบท หรือการปฏิบัติศาสนกิจบางอย่าง แต่ศาสนาเป็นเรื่องของหัวใจที่เรียกว่าความรัก – ความรักต่อพระเจ้า และความรักต่อเพื่อนมนุษย์

    บทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้เชิญชวนเราให้สำรวจจิตใจของเรา และถามตนเองว่า พระวาจาของพระเยซูเจ้าในบทอ่านพระวรสารวันนี้เกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร “ประชาชนเหล่านี้ให้เกียรติเราแต่ปาก แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา”

    บทอ่านนี้เชิญชวนเราให้สำรวจจิตใจของเรา และถามตนเองว่า ถ้อยคำของยากอบในบทอ่านที่สองในวันนี้เกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร “จงปฏิบัติตามพระวาจา มิใช่เพียงแต่ฟัง ซึ่งเท่ากับหลอกตนเอง” (ยก 1:22)

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยการอ่านซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ข้อความจากจดหมายฉบับที่หนึ่งถึงชาวโครินธ์ ที่นักบุญเปาโล กล่าวถึงความรักว่า

    “แม้ข้าพเจ้าพูดภาษาของมนุษย์และของทูตสวรรค์ได้ ถ้าไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็เป็นแต่เพียงฉาบหรือฉิ่งที่ส่งเสียงอึกทึก ... แม้ข้าพเจ้ามีความเชื่อพอจะเคลื่อนภูเขาได้ แต่ถ้าไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด แม้ข้าพเจ้าจะแจกจ่ายทรัพย์สินทั้งปวงให้แก่คนยากจน ... ถ้าไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็มิได้รับประโยชน์ใด ... จงแสวงหาความรักเถิด” (1 คร13:1-3, 14:1)

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 7:1, 9-13, 15-21, 23

ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์บางคนจากกรุงเยรูซาเล็ม มาเฝ้าพระองค์พร้อมกัน...

    ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก แม้แต่สถานที่ก็มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ กรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลางของการต่อต้านพระเยซูเจ้า ในสิบเอ็ดบทแรกของพระวรสาร ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเทศนาสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ทุกครั้งที่เอ่ยถึงกรุงเยรูซาเล็ม นั่นหมายถึงความเป็นปฏิปักษ์ การโจมตีด้วยเจตนาร้ายทั้งปวงมาจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นเมืองหลวงทั้งด้านการปกครองและศาสนา ... ในเวลาต่อมา ผู้นำของชาติจะมาพบกันที่นั่น และตัดสินให้ประหารชีวิตพระเยซูเจ้า และมอบพระองค์ไว้ในมือของคนต่างศาสนา

    ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า นี่คือธรรมล้ำลึกแห่งการปฏิเสธพระองค์ของมนุษย์ นี่คือธรรมล้ำลึกของกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งในที่นี้เป็นสัญลักษณ์แทนคนทั้งโลก...

เขามาเฝ้าพระองค์พร้อมกัน เขาสังเกตว่าศิษย์บางคนของพระองค์กินอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาด คือไม่ได้ล้างมือก่อน เพราะชาวฟาริสีและชาวยิวโดยทั่วไปย่อมถือขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ เขาไม่กินอาหารโดยมิได้ล้างมือตามพิธีก่อน เมื่อกลับจากตลาด เขาจะไม่กินอาหาร เว้นแต่จะได้ทำพิธีชำระตัวก่อน เขายังถือขนบธรรมเนียมอื่น ๆ อีกมาก เช่น การล้างถ้วย จานชาม และภาชนะทองเหลือง

    นี่คือปัญหาที่แท้จริง การพูดคุยครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับหลักอนามัย แต่เกี่ยวกับธรรมเนียมทางศาสนา เกี่ยวกับ “สิ่งที่ไม่มีมลทิน และสิ่งที่มีมลทิน” – ทุกสิ่งที่ประมวลไว้เป็นธรรมบัญญัติของโมเสสในหนังสือเลวีนิติ 11 ซึ่งขนบธรรมเนียมได้กำหนดข้อบังคับปลีกย่อยเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

    ชาวฟาริสีเป็นชนกลุ่มหนึ่งทางศาสนา เราย่อมคิดผิดถ้าเราคิดว่าฟาริสีทุกคนเป็นคนหน้าซื่อใจคด ตรงกันข้าม คนเหล่านี้เป็นผู้ที่เคารพศรัทธาต่อธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษของเขามาก จนเขาปฏิบัติตามทุกข้อปลีกย่อยที่สืบเนื่องมาจากขนบธรรมเนียม เขามีข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามประมาณ 600 ข้อ! คนเหล่านี้กระหายหาความศักดิ์สิทธิ์ แต่เต็มไปด้วยความรักอันละเอียดอ่อนต่อพระเจ้า เขาจึงคิดถึงพระเจ้าตลอดวัน ขณะที่เขาปฏิบัติงานในอาชีพของเขา

“ทำไมศิษย์ของท่านไม่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ”

    เราสามารถอธิบายทัศนคตินี้ได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น

    1)    ศิษย์ของพระเยซูเจ้า รวมทั้งพระองค์เอง เป็นชาวกาลิลี ประชาชนจากแคว้นนี้เป็นผู้มีความเชื่อและจิตใจร้อนรนศรัทธา แต่เขาคงยึดถือขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ซึ่ง “คนเคร่งศาสนา” ในกรุงเยรูซาเล็มถือว่าหย่อนยาน เรารู้ว่าบ่อยครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงปกป้องบุคคลตามชายขอบของสังคม บุคคลที่ชื่อเสียงไม่ดี เช่น คนบาป คนเก็บภาษี โสเภณี พระเยซูเจ้าทรงมีพระทัยเมตตา และผ่อนปรนต่อบุคคลที่ต่ำต้อย ยากไร้ – ดังนั้น พระองค์จึงทรงคัดค้านวิธีตัดสินผู้อื่นอย่างเข้มงวดของชาวเยรูซาเล็มที่เคร่งครัดเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติ ... ทัศนคติของเราเป็นอย่างไร?...

    2)    อีกเหตุผลหนึ่งที่ดูเหมือนสำคัญกว่า คือ พระเยซูเจ้าทรงตระหนักดีว่า พันธกิจของพระองค์เป็นพันธกิจสากล พระองค์ทรงค่อย ๆ อบรมสั่งสอนศิษย์ของพระองค์ ให้พร้อมจะปฏิบัติพันธกิจนี้ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีวัฒนธรรมต่างจากวัฒนธรรมของชาวยิว ให้เขาทำลายกรอบแคบ ๆ ที่จำเพาะเจาะจงของศาสนายิว เพื่อให้เหลืออยู่แต่แก่นของศาสนาเท่านั้น เมื่อนั้น คนต่างศาสนาที่มีเจตนาบริสุทธิ์ และไม่เคยต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับอาหารการกิน ย่อมจะสามารถยอมรับคำสอนเรื่องความเชื่อได้
    พระเจ้าข้า โปรดทรงสอนเราให้มีทัศนคติที่เป็นสากลด้วยเถิด โปรดทรงช่วยเราให้แยกแยะได้ว่าอะไรคือแก่นสารของคำสอนของพระองค์ และอะไรคือขนบธรรมเนียมในศตวรรษก่อน ๆ ซึ่งจะทำให้คนในยุคของเราเบื่อหน่าย ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างมากมายนี้ โปรดทรงช่วยเราให้พิเคราะห์แยกแยะได้ว่าสิ่งใดไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และสิ่งใดจำเป็นต้องเปลี่ยน ขอให้เราอย่าได้ขัดขวางชนรุ่นต่อไปไม่ให้เข้ามาหาความเชื่อ เพียงเพราะเราเชื่อมโยงความเชื่อนี้เข้ากับ “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” มากเกินไป

    3)    พระเยซูเจ้าเองทรงบอกเหตุผลข้อที่สามที่พระองค์ทรงเรียกร้องให้เรามีทัศนคติใหม่ว่า ขนบธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ได้มาจากพระเจ้า แต่ ‘มนุษย์’ เป็นผู้กำหนดขึ้น ขนบธรรมเนียมนี้มาจากคนในยุคอดีต ดังนั้นจึงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัยได้

พระองค์ตรัสตอบว่า “ประกาศกอิสยาห์ได้พูดอย่างถูกต้องถึงท่าน คนหน้าซื่อใจคด ดังที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘ประชาชนเหล่านี้ให้เกียรติเราแต่ปาก แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา เขานมัสการเราอย่างไร้ความหมาย เขาสั่งสอนบัญญัติของมนุษย์เหมือนกับเป็นสัจธรรม’ ”

    พระเยซูเจ้าทรงตอบโต้อย่างรุนแรง โดยทรงยกข้อความจากพระคัมภีร์มาตอบโต้บุคคลที่กล่าวหาศิษย์ของพระองค์(อสย 29:13)

    บ่อยครั้งที่ประกาศกทั้งหลายประณามการยึดมั่นประเพณีทางศาสนา สิ่งสำคัญสำหรับพระเจ้าไม่ใช่กิริยาภายนอก แต่อยู่ที่หัวใจ การนมัสการพระเจ้าเพียงเพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติย่อมไม่มีคุณค่า แต่การนมัสการต้องเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อลึก ๆ ในใจ...   

พระองค์ทรงเรียกประชาชนเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ตรัสว่า “ทุกคนจงฟัง และเข้าใจเถิด”

    พระเยซูเจ้าทรงขอให้เขาตัดสินด้วยสติปัญญาและความเข้าใจ ... เราไม่ควรเลียนแบบพฤติกรรม หรือขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เพียงเพราะว่าเป็น “สิ่งที่เคยปฏิบัติกันมาก่อน” เป็นเวลานานแล้ว...

“ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้ แต่สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน”

    ในศาสนายิวมีข้อบังคับมากมายเกี่ยวกับการกินอาหารและพิธีชำระตัว (เรียกว่าบัญญัติ Kosher) และมีข้อห้ามบริโภคเนื้อสัตว์บางชนิด (เนื้อสุกรเป็นสิ่งมีมลทินตามเลวีนิติ 11) ... และห้ามบริโภคสัตว์ที่ยังมีเลือดสด ๆ ติดอยู่ในตัว (ลนต 17:10-14)

    ข้อบังคับนี้ทำให้ชาวยิวไม่สามารถกินอาหารร่วมกับคนต่างศาสนาได้ เว้นแต่ว่าคนต่างศาสนานั้นจะกินอาหารแบบชาวยิว ข้อบังคับนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันชาวอิสราเอลไม่ให้ติดต่อกับโลกของคนต่างศาสนา

    แต่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่า “อาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน” (มก 7:19)

    ทัศนคติเช่นนี้ต้องฟังดูแปลก อาจหาญ และใจกว้างมากที่สุด – เป็นการปฏิวัติขนบธรรมเนียมโดยแท้

    เรารู้ว่าชุมชนคริสตชนยุคแรกต้องเผชิญกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน (กจ 10-15)

“จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้น เป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย...”

    สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีมลทินไม่ใช่สิ่งที่เขากิน แต่เป็นสิ่งที่เขาคิด มลทินไม่ได้อยู่ที่ลักษณะภายนอกของการกระทำ แต่อยู่ที่จิตใจของเราเมื่อเรากระทำการนั้น ๆ

    ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงแนะนำหลักการสำคัญของจริยธรรม แต่คนโบราณยังไม่เคารพหลักการนี้สักเท่าไร เรายังยึดติดกับข้อห้ามมากมาย ซึ่งขัดแย้งกับจิตตารมณ์ของพระวรสาร แม้แต่ในปัจจุบัน เรายังพบร่องรอยของคำสอนนอกรีต ที่เหยียดหยามร่างกายและวัตถุ

    “ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างเป็นสิ่งที่ดี และเราไม่ควรตัดสิ่งใดออกไป แต่ต้องรับไว้ด้วยความสำนึกในพระคุณ” (1 ทธ4:4) เราต้องสังเกตว่าพระเยซูเจ้ามิได้ทรงอ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนความคิดแบบอัตวิสัย เราย่อมเข้าใจความคิดของพระองค์ผิดไป ถ้าเราคิดว่าพระวาจานี้เป็นคำแก้ต่าง ให้เราทำสิ่งใดก็ได้ตามใจชอบ...

    พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงบอกปัดแนวความคิดเกี่ยวกับ “ความชั่ว” แต่พระองค์ทรงบอกว่า แท้จริงแล้ว ความชั่วอยู่ภายในใจมนุษย์ อยู่ในที่ใดที่ขาดความรัก ... นี่คือหลักการเบื้องต้นของทุกหลักจริยธรรมของมนุษย์ที่เจริญแล้ว ซึ่งหมายความว่า การทำบาปไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากสิ่งที่เราทำ ความชั่วไม่ได้อยู่ที่ “สิ่งของ” แต่อยู่ที่ตัวเราเอง

    หัวใจของเราเป็นเสมือนน้ำพุ ที่มีน้ำที่เปื้อนมลพิษแห่งความเห็นแก่ตัว และน้ำสะอาดแห่งความรักของเรา ไหลออกมา เราจึงไม่สามารถตัดสินพี่น้องของเราได้ด้วยการดูจากภายนอก เพราะเราไม่สามารถมองเห็นจิตสำนึกของเขา ไม่อาจมองทะลุถึงหัวใจของเขาได้...

“จากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย
- การประพฤติผิดทางเพศ การลักขโมย การฆ่าคน...
- การมีชู้ ความโลภ การทำร้าย...
- การฉ้อโกง การสำส่อน ความอิจฉา...
- การใส่ร้าย ความหยิ่งยโส ความโง่เขลา...”

    นี่คือ “รายชื่อบาป” ที่เราได้รับทราบจากพระคริสตเจ้าผ่านทางชุมชนคริสตชนยุคแรก บาปเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความรัก และกับเพื่อนมนุษย์ พระเยซูเจ้าตรัสถึงกิเลสสี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสามประการ พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกระบุกิเลสหกประการแรกในรูปพหูพจน์ และหกประการหลังในรูปเอกพจน์ ซึ่งทำให้เป็นคำพูดที่จำได้ง่าย บาปมีอยู่ 12 ประการ – ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย เราจะถูกพิพากษาโดยพิจารณาจากความรัก และหัวใจของเรา (มธ 25)...

    มนุษย์สมัยใหม่ไม่ชอบให้ระบุรายชื่อบาปเช่นนั้น คนยุคปัจจุบันไม่มีจิตสำนึกที่ชัดเจนเหมือนกับมนุษย์ในอดีต เกี่ยวกับความงามของคุณธรรม และความน่าชังของกิเลส

    เราต้องสังเกตว่าหลักจริยธรรมที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอนี้มีความเป็นสากล พระองค์ทรงรู้ดีที่สุดว่าอะไรอยู่ในหัวใจของมนุษย์ พระองค์ทรงเน้นเรื่องคุณค่าของหลักศีลธรรมที่อยู่ในใจมนุษย์โดยธรรมชาติ นอกเหนือจาก “ขนบธรรมเนียมเฉพาะตัว” ของอารยธรรมหนึ่งใด ไม่มีประเพณี หรือขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษของชนชาติใด ที่ขัดแย้งกับกฎที่มนุษย์ทุกคนยอมรับในส่วนลึกของหัวใจของเขาได้...

    พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย อย่าอ่านรายชื่อบาปเหล่านี้แบบลวก ๆ ราวกับว่าไม่เกี่ยวข้องกับท่าน แต่จงถามตนเองว่าท่านแสดงความอิจฉา ความมุ่งร้าย การฉ้อโกง ความจองหอง ความเขลา ออกมาในชีวิตของท่านอย่างไร...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงชำระจิตใจข้าพเจ้าด้วยเถิด! โปรดช่วยให้เราเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น ให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นด้วยเถิด!...