แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 55:6-9; ฟิลิปปี 1:20-24; มัทธิว 20:1-16

บทรำพึงที่ 1
เจ้าของสวนผู้ใจดี
จงมีความรัก และความเมตตากรุณา เหมือนพระบิดาสวรรค์ของท่านเถิด

    เดือนกันยายนเป็นเดือนเก็บเกี่ยวผลองุ่นของชาวอิสราเอลในอดีต การเก็บเกี่ยวผลองุ่นในเวลานั้นทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะเดือนกันยายนเป็นเดือนที่ย่างเข้าฤดูฝนในอิสราเอล

    ถ้าเกิดฝนตกหนักก่อนเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะเสียหายทั้งหมด ดังนั้น บ่อยครั้งการเก็บผลองุ่นจึงเป็นงานที่ต้องแข่งขันกับเวลา

    เพื่อให้เข้าใจอุปมาเรื่องนี้ได้มากขึ้น เราจะจำลองสถานการณ์ ซึ่งอาจใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงคิดถึงเมื่อทรงเล่าเรื่องอุปมานี้ก็เป็นได้

    ขอให้เรานึกถึงภาพของเจ้าของสวนองุ่นคนหนึ่งที่รอจนถึงนาทีสุดท้ายเพื่อจะเก็บผลองุ่นในสวนของเขา เพราะผลองุ่นที่แก่จัดจะยิ่งมีรสชาติดี เช้าวันหนึ่ง เขาตื่นขึ้นและเห็นว่าท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝน ฝนกำลังจะตกหนัก เจ้าของสวนรีบไปที่ตลาดเพื่อว่าจ้างคนงานมาเก็บผลองุ่น

    แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาเห็นว่าคนงานดูเหมือนจะเก็บผลองุ่นไม่เสร็จก่อนฝนจะตก เขากลับไปจ้างคนงานเพิ่มอีกหลายครั้งเพื่อมาเก็บผลองุ่นให้ทันก่อนฝนตก

    ความพยายามของเจ้าของสวนได้ผล และเขาสามารถเก็บผลองุ่นเสร็จทันเวลา เขายินดีมาก จนเขาตัดสินใจฉลองความสำเร็จด้วยการจ่ายค่าแรงคนงานทุกคนเท่ากับค่าแรงเต็มวัน แม้ว่าคนงานบางคนทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมง

    เมื่ออ่านอุปมาเรื่องนี้ เรารู้สึกได้ว่าคนงานที่จ้างไว้ตั้งแต่เช้าไม่ได้ทำงานเต็มที่อย่างที่ควร เพราะน่าประหลาดใจที่เจ้าของสวนผู้มีประสบการณ์จะคำนวณจำนวนคนงานที่เขาต้องการใช้ผิดพลาดมากเช่นนี้

    แต่เมื่อมองในอีกแง่หนึ่ง เจ้าของสวนตัดสินใจจ่ายค่าแรงเต็มวันให้แก่คนงานที่ทำงานไม่เต็มวัน – และจ่ายค่าแรงให้เขาก่อนคนงานอื่น ๆ ด้วย – ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนงานเหล่านี้ทำงานหนักเป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อคนงานอื่น ๆ พากันบ่น เจ้าของสวนจึงพูดกับเขาว่า “ฉันไม่ได้โกงท่านเลย ท่านไม่ได้ตกลงกับฉันคนละหนึ่งเหรียญหรือ ... ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ”

    ทำไมพระเยซูเจ้าจึงเล่าเรื่องอุปมานี้ พระองค์ทรงต้องการบอกอะไรแก่คนยุคเดียวกับพระองค์ และในยุคนั้นใครคือคนงานที่ทำงานเต็มวัน และคนงานที่ทำงานไม่เต็มวัน
    คนงานที่ทำงานไม่เต็มวันหมายถึงคนบาป และคนนอกสังคมในยุคนั้น คนเหล่านี้รับฟังคำเทศน์สอนของพระเยซูเจ้าและยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน คนเหล่านี้เหมือนกับโจรกลับใจบนไม้กางเขน ผู้สำนึกผิดในนาทีสุดท้าย และได้รับความรอดพ้น คนเหล่านี้เหมือนกับบุตรล้างผลาญผู้สำนึกผิดหลังจากเขาออกจากบ้าน และบิดาของเขายินดีต้อนรับเขากลับบ้าน

    ส่วนคนงานเต็มวันหมายถึงบุคคลอย่างชาวฟาริสี คนเหล่านี้โกรธเมื่อเห็นคนบาปสำนึกผิด และได้เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าในนาทีสุดท้าย คนเหล่านี้เหมือนกับพี่ชายของบุตรล้างผลาญ เขาโกรธเมื่อเห็นน้องชายของเขาสำนึกผิด และบิดาของเขายินดีต้อนรับน้องชายของเขากลับบ้าน

    พระเยซูเจ้ากำลังตรัสแก่คนเหล่านี้ว่า “ดูเถิด พระบิดาในสวรรค์ของท่านทรงเปี่ยมด้วยความรักเพียงไร จงเปรียบเทียบความรักยิ่งใหญ่ของพระองค์กับตัวท่าน ที่ขาดแคลนความรักต่อพี่น้องชายหญิงของท่านเถิด”

    เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าคนงานที่ทำงานเต็มวันขาดแคลนความรักต่อคนงานที่ทำงานไม่เต็มวันอย่างไร ขอให้เราไตร่ตรองอีกประเด็นหนึ่งในเรื่องอุปมาของพระเยซูเจ้า

    คนงานไม่เต็มวันที่ยืนรออยู่ที่ลานสาธารณะในเวลาต่อมานั้นไม่ใช่คนเกียจคร้าน เขามารวมตัวกันที่นั่นเพื่อหางานทำ เขาจะมาที่นั่นตั้งแต่เช้าตรู่ และรอจนถึงบ่าย และหวังว่าจะมีใครมาจ้างเขาไปทำงาน

    ชีวิตของคนงานเหล่านี้เป็นชีวิตที่ยากลำเค็ญ ครอบครัวของเขาหาเช้ากินค่ำ หลายครอบครัวอยู่อย่างอดอยาก ถ้าหัวหน้าครอบครัวหางานทำไม่ได้วันหนึ่ง บ่อยครั้งที่ครอบครัวของเขาจะไม่มีอาหารกินในวันรุ่งขึ้น ถ้าคนงานได้งานทำตั้งแต่เช้า ครอบครัวของเขาจะยินดีไปตลอดวัน รวมทั้งตัวเขาเองด้วย

    เมื่อรู้ภูมิหลังเช่นนี้ เราจะเห็นว่าคนงานเต็มวันขาดแคลนความรักอย่างไร พวกเขาอิจฉาที่เพื่อนมนุษย์ผู้ยากจนของเขาจะมีอาหารกินในวันรุ่งขึ้น

    อุปมาเรื่องคนงานในสวนองุ่นจึงต้องการเปรียบเทียบทัศนคติที่เปี่ยมด้วยความรักของเจ้าของสวน กับทัศนคติที่ปราศจากความรักของคนงานเต็มวัน เราควรนำเรื่องนี้มาพิจารณาเปรียบเทียบกับชีวิตของเราเอง

    อุปมาเรื่องคนงานในสวนองุ่นเชิญชวนเราให้ถามตนเองว่าเรามีทัศนคติอย่างไรต่อพี่น้องชายหญิงผู้กำลังขัดสนของเรา เราเมินเฉยกับชะตากรรมของเขาหรือเปล่า เรามัวแต่คิดถึงความพยายามหาเลี้ยงชีพของเราจนลืมคิดถึงความขัดสนของเขาหรือเปล่า

    เราเมินเฉยกับชะตากรรมของเขา จนบ่อยครั้งเราอิจฉาที่บางครั้งเขาได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลที่เหมือนกับเจ้าของสวนองุ่นหรือเปล่า ทั้งที่พระบิดาสวรรค์ทรงแสดงความเมตตากรุณาต่อเราเสมอ

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง

    นักประพันธ์ชื่อ เจราลดีน มาร์แชล เล่าว่าหนึ่งในความทรงจำในวัยเด็กที่จับใจเธอมากที่สุดคือวันเกิดครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่วันเกิดของเธอ แต่เป็นวันเกิดของบิดาของเธอ

    วันนั้น บิดาของเธอให้ตุ๊กตาเสือยัดนุ่นตัวหนึ่งแก่เธอ เจราลดีนดีใจมาก ในที่สุดเมื่อเธอหายตื่นเต้น เจราลดีนถามบิดาของเธอว่า “คุณพ่อคะ วันนี้เป็นวันเกิดของคุณพ่อ ไม่ใช่วันเกิดของหนู หนูควรเป็นฝ่ายให้ของขวัญคุณพ่อ แต่ทำไมคุณพ่อจึงให้ของขวัญหนูเล่า”

    บิดาของเธอกอดเธอไว้ และพูดว่า “ลูกรัก ลูกได้ให้ของขวัญวันเกิดแก่พ่อแล้ว – เป็นของขวัญที่งดงามที่สุดที่ลูกสาวคนหนึ่งสามารถให้แก่พ่อของเธอได้ นั่นคือ พ่อได้เห็นความสุขของลูก เมื่อลูกได้รับของขวัญจากพ่อ”

    เจราลดีนยังเก็บตุ๊กตาเสือยัดนุ่นตัวนั้นไว้จนถึงทุกวันนี้ แต่เธอบอกว่า ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่บิดาของเธอมอบให้เธอในวันนั้นไม่ใช่ตุ๊กตาเสือยัดนุ่น แต่เป็นความเข้าใจลึก ๆ เกี่ยวกับความยินดีที่เกิดจากการให้

    วินสตัน เชอชิลล์ นายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอังกฤษพูดถูก เมื่อเขากล่าวว่า
    “เราเลี้ยงชีวิตด้วยสิ่งที่เราได้รับ
    แต่เราให้กำเนิดชีวิตด้วยสิ่งที่เราให้”

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 20:1-16

    อุปมาเรื่อง “คนงานในสวนองุ่น” เป็นเรื่องที่เรารู้จักกันดี บางครั้งมีคนวิพากษ์วิจารณ์อุปมาเรื่องนี้ เพราะเขามองในแง่ของความยุติธรรมในสังคมหรือเศรษฐกิจ เมื่อมองในแง่นี้ ทัศนคติของเจ้าของสวนย่อมดูแปลกและผิดปกติแน่นอน ... “นายจ้าง” จะบอกเราทันทีว่าการเลียนแบบเจ้าของสวนย่อมหมายถึงความหายนะของกิจการ ... “คนงาน” จะบอกเราว่าการไม่จ่ายค่าจ้าง “ตามปริมาณงานที่ทำ” เป็นวิธีการที่ไม่ยุติธรรม ... และนายจ้างที่จ่ายค่าจ้างโดยพลการเช่นนั้นเป็นนายจ้างที่ไม่ยุติธรรม...

    แต่การตีความเช่นนี้เป็นการตีความตามเปลือกนอก พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเทศน์สอนเรื่องความอยุติธรรมทางสังคม ... เราจำเป็นต้องอ่านอุปมาที่โด่งดังเรื่องนี้ในอีกแง่หนึ่ง การอ่านเช่นนั้นจะทำให้เราได้ยิน “ข่าวดี” อย่างแท้จริง...

    เราต้องระลึกว่า “เรื่องอุปมา (parable)” เป็นรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรม ซึ่งไม่สามารถตีความอย่างไรก็ได้ เรื่องอุปมาต่างจาก “เรื่องเปรียบเทียบ (allegory)” เพราะเราไม่อาจคิดว่ามีคำสั่งสอนซ่อนอยู่ในทุกรายละเอียด แต่เราต้องค้นหาว่าอะไรคือหัวใจของคำบอกเล่า ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อช่วยให้คำบอกเล่าลื่นไหล บางครั้งก็เติมอารมณ์ขันเพื่อให้ผู้ฟังสนใจ...

“อาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนพ่อบ้านผู้หนึ่ง ซึ่งออกไปตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อจ้างคนงานมาทำงานในสวนองุ่น”

    คำบอกเล่าเริ่มต้นเหมือนเป็นเรื่องจริง ... เรากำลังอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ เวลานั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ คนงานทั้งหลายมายืนที่ลานสาธารณะ รอให้มีคนมาจ้างไปทำงาน ... เป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า ... เราสังเกตว่านี่เป็นสถานการณ์ที่น่าเศร้า คนเหล่านี้ไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่าเขาจะมีงานทำ – สถานการณ์เช่นนี้ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบันในหลายภูมิภาคของโลกสำหรับคนจำนวนมากที่เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว...

    แม้ว่าคำบรรยายจุดเริ่มต้นนี้ตรงกับความเป็นจริง แต่เราก็รับรู้ว่าข้อความต่อไปไม่ใช่บทเรียนเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคม แต่เป็นการเปิดเผยเรื่องของ “อาณาจักรสวรรค์”...

    ดังนั้น เราจึงต้องตั้งใจฟัง...

“ครั้นได้ตกลงค่าจ้างวันละหนึ่งเหรียญกับคนงานแล้ว ก็ส่งไปทำงานในสวนองุ่น ประมาณสามโมงเช้า พ่อบ้านออกมา ก็เห็นคนอื่น ๆ ยืนอยู่ที่ลานสาธารณะโดยไม่ทำงาน จึงพูดกับคนเหล่านั้นว่า ‘จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด ฉันจะให้ค่าจ้างตามสมควร’ คนเหล่านั้นก็ไป พ่อบ้านออกไปอีกประมาณเที่ยงวันและบ่ายสามโมง กระทำเช่นเดียวกัน ประมาณห้าโมงเย็น พ่อบ้านออกไปอีก พบคนอื่น ๆ ยืนอยู่ จึงถามเขาว่า ‘ทำไมท่านยืนอยู่ที่นี่ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร’ เขาตอบว่า ‘เพราะไม่มีใครมาจ้าง’ พ่อบ้านจึงพูดว่า ‘จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด’”

    เราย่อมเห็นแล้วว่าเขาไม่ใช่พ่อบ้านธรรมดา ปกติคนเราจะไม่จ้างคนงานเพียงหนึ่งชั่วโมงก่อนเวลาเลิกงาน! นี่คือนายจ้างที่ห่วงใยอย่างยิ่งในสภาพความเป็นอยู่ของชายที่ไม่มีงานทำเหล่านี้ “ทำไมท่านยืนอยู่ที่นี่ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร” คำบอกเล่าของพระเยซูเจ้าเตือนใจเราว่า การว่างงานไม่ใช่ปัญหาของคนยุคใหม่เท่านั้น ... และถ้าเราไม่มีความคิดอคติ เราจะเห็นได้ตั้งแต่ต้นเรื่องอุปมานี้แล้วว่าชายที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนี้เป็นคนใจดีมาก เขาไม่เบื่อหน่ายที่จะออกไปจ้างคนงานถึงห้าครั้งในวันเดียว เขาห่วงใยคนจนเหล่านี้มากพอจะให้งานทำ จ่ายค่าแรง และทำให้พวกเขามีศักดิ์ศรี ... เพื่อลดความทุกข์ยากของเขา และให้เขามีเงินพอเลี้ยงชีพไปอีกหนึ่งวัน ...

    นอกจากนี้ เราต้องไม่มองข้ามข้อความที่ย้ำบ่อยครั้งว่า “ไปทำงานในสวนองุ่นเถิด” ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม “สวนองุ่น” เป็นสัญลักษณ์ของ “ประชากรของพระเจ้า” (อสย 5:1-7; ยรม 2:21; อสค 17:6; ฮชย 10:1; สดด 78:9-16) ... เมื่อมองในแง่นี้ สวนองุ่นจึงเป็นสถานที่ที่มีแต่ความสุข ... เป็นสถานที่แห่งพันธสัญญากับพระเจ้า ... “อาณาจักรสวรรค์” เป็นสถานที่แห่งความดีของพระเจ้า ซึ่งพ่อบ้านผู้นี้เชิญชวนเราไม่หยุดปากให้เรา “ไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด ... จงไปร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด” (เทียบ มธ 25:21-23)...

“ครั้นถึงเวลาค่ำ เจ้าของสวนบอกผู้จัดการว่า ‘ไปเรียกคนงานมา จ่ายค่าจ้างให้เขาโดยเริ่มตั้งแต่คนสุดท้ายจนถึงคนแรก’ ”

    ถ้าพูดตามประสามนุษย์ เหตุการณ์ในคำบอกเล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ... นี่คือสัญญาณบอกเราว่าเราเข้าใกล้ “จุดสูงสุด” ของเรื่องอุปมาแล้ว เห็นได้ชัดว่า “เจ้าของสวน” ที่แปลกประหลาดคนนี้ต้องการให้คนงานทุกคนที่ได้รับประโยชน์จากสวนองุ่น ได้เห็นกับตาตนเองว่าเขาจะทำอะไรบ้างเพื่อคนกลุ่มสุดท้าย พวกเขาจะได้เห็นการจ่ายค่าแรงให้คนงานอื่น ๆ ... ทำไมเจ้าของสวนจึงทำเช่นนี้ ... จะไม่ง่ายกว่าหรือถ้าจะจ่ายค่าจ้างให้เขาก่อน และปล่อยพวกเขาไป...

“เมื่อพวกที่เริ่มงานเวลาห้าโมงเย็นมาถึง เขาได้รับคนละหนึ่งเหรียญ เมื่อคนงานพวกแรกมาถึง เขาคิดว่าตนจะได้รับมากกว่านั้น แต่ก็ได้รับคนละหนึ่งเหรียญเช่นกัน ขณะรับค่าจ้าง เขาก็บ่นกับเจ้าของสวนว่า ‘พวกที่มาสุดท้ายนี้ทำงานเพียงชั่วโมงเดียว ท่านก็ให้ค่าจ้างแก่เขาเท่ากับเรา ซึ่งต้องตรากตรำอยู่กลางแดดตลอดวัน’”

    “เขาบ่น” ... คำนี้หมายถึง “เสียงบ่น” ของชาวอิสราเอล ในถิ่นทุรกันดาร (อพย 16:9; สดด 106:25) และแสดงออกถึงทัศนคติของเรา ที่บ่อยครั้งเราไม่ยอมเข้าใจการทดลองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ... เมื่อเรา “ต้องตรากตรำอยู่กลางแดดตลอดวัน” และกล่าวโทษพระเจ้า...

    เราเห็นได้ว่าคนที่ “บ่น” ในอุปมาเรื่องนี้หมายถึงใครในยุคของพระเยซูเจ้า พวกเขาก็คือชาวฟาริสี และธรรมาจารย์ ที่บ่นเสมอว่าพระเยซูเจ้าทรง “ต้อนรับคนเก็บภาษี คนบาป และโสเภณี” ... ในยุคของมัทธิว “คนงานกลุ่มสุดท้าย” ที่มีฐานะเท่าเทียมกับ “คนงานกลุ่มแรก” หมายถึงชนต่างชาติ ประชาชนที่ไม่ใช่ชาวยิวที่เข้ามาเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร โดยมีฐานะเท่าเทียมกับประชาชนที่เคยถือศาสนายิว...

    วันนี้ เราได้ยินพระเยซูเจ้าทรงย้ำกับเราอีกครั้งหนึ่งว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง” คนงานกลุ่มสุดท้ายได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนงานกลุ่มแรกที่ได้รับประโยชน์จากสวนองุ่นของพระเจ้า พระวรสารย้ำหลายครั้งว่าพระเยซูเจ้าทรงให้โอกาสคนยากจน บุคคลที่สังคมรังเกียจ “คนต่ำต้อยที่สุด” คนบาป! และเมื่อผู้อื่นไม่พอใจและบ่น พระเยซูเจ้าทรงพร้อมเสมอที่จะบอกว่านี่คือทัศนคติของพระเจ้า ผู้ทรง “เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา” และนี่คือหัวข้อหนึ่งของสมณสาสน์ฉบับหนึ่งของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2...

“เจ้าของสวนจึงพูดกับคนหนึ่งในพวกนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ฉันไม่ได้โกงท่านเลย ท่านไม่ได้ตกลงกับฉันคนละหนึ่งเหรียญหรือ จงเอาค่าจ้างของท่านไปเถิด ฉันอยากจะให้คนที่มาสุดท้ายนี้เท่ากับให้ท่าน ฉันไม่มีสิทธิใช้เงินของฉันตามที่ฉันพอใจหรือ ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ’ ”

    อุปมาเรื่องนี้ไม่ได้เป็นพื้นฐานให้เรากำหนดหลักการความยุติธรรมทางสังคม แต่เรากำลังฟังการเปิดเผยวิธีการทำงานของพระเจ้า ... พระเยซูเจ้ากำลังวาดภาพอันน่าพิศวงของพระบิดาของพระองค์ให้เราเห็น :

-    พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าผู้รักมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ถูกทอดทิ้ง และทรงต้องการนำพวกเขาเข้ามาใน “สวนองุ่น” ของพระองค์...
-    พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าผู้หลั่งพระพรของพระองค์ลงมายังเราอย่างอุดมบริบูรณ์ พระองค์ทรงเชิญชวน และเรียกมนุษย์ทุกวัยในทุกเวลา และทุกสถานการณ์...
-    พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าผู้พระทัยดี พระองค์ประทานพระพรแก่เรา ไม่เพียงเท่าที่เราสมควรได้รับ แต่ประทานให้มากกว่าที่เราสมควรได้รับจากน้ำพักน้ำแรงของเรา...
-    พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงผลักไสทุกคนที่กล้าเรียกร้องสิทธิพิเศษ และสิทธิต่าง ๆ ในขณะที่กีดกันไม่ให้ผู้อื่นได้รับสิทธิเหล่านั้น...

    พระวรสารประจำวันนี้ประกาศสัจธรรมพื้นฐานข้อหนึ่งของความเชื่อของเรา ซึ่งนักบุญเปาโลจะอธิบายในจดหมายถึงชาวโรม และชาวกาลาเทียว่า “สำหรับทุกคนที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ไม่มีความแตกต่างใด ๆ อีก ทุกคนกระทำบาป และขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า (แต่)แล้วทุกคนก็ได้รับความชอบธรรมเป็นของประทานโดยทางพระหรรษทาน ... ดังนั้น คำโอ้อวดของเราอยู่ที่ไหนเล่า ไม่มีที่สำหรับจะโอ้อวดอะไรอีกแล้ว ... เนื่องจากเราถือว่ามนุษย์ได้รับความชอบธรรมโดยความเชื่อ ไม่ใช่โดยปฏิบัติตามสิ่งที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้” (รม 3:22-31)...

    “ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ”...

    อุปมาเรื่องนี้ควรคืนความหวังให้แก่บิดามารดาที่เห็นบุตรของตนเมินเฉยต่อความเชื่อมากขึ้นทุกวัน สำหรับพระเจ้าไม่มีสิ่งใดจะสูญหายตลอดไป ... พระองค์ทรงจ้างคนงานจนถึงนาทีสุดท้าย ... นอกจากนี้ เราควรระลึกว่า พระเยซูเจ้าไม่ทรงพอพระทัยเพียงแต่จะ “บอกเล่า” เรื่องนี้เท่านั้น – แต่พระองค์ปฏิบัติเช่นนี้ด้วย เมื่อพระองค์ประทานอาณาจักรสวรรค์ให้แก่ผู้ร้ายที่ถูกตรึงกางเขนข้างพระองค์ในวินาทีสุดท้ายของชีวิตของเขา...

“ดังนี้แหละ คนกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มแรก และคนกลุ่มแรกจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มสุดท้าย”

    แทนที่จะรู้สึกประหลาดใจกับความอยุติธรรมอย่างชัดเจนนี้ เราควรยอมรับคำเชิญให้ชื่นชมยินดีที่พระบิดาของเราทรงแสดงความเมตตากรุณาต่อเราทุกคน ... “จงเมตตากรุณาเหมือนกับที่พระบิดาของท่านทรงเมตตากรุณาเถิด”...

    ระหว่างสองทศวรรษที่ผ่านมา การเรียกร้องความยุติธรรมได้ทำให้โลกก้าวหน้าไปมาก และเห็นได้ชัดว่าเราไม่ควรย้อนกลับไปสู่จุดเดิม แต่ไม่จำเป็นหรือที่ความรักก็ควรก้าวหน้าเช่นกัน ไม่ควรหรือที่มนุษย์จะใจกว้างมากขึ้น ... พระสันตะปาปาทรงแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ในสมณสาสน์ของพระองค์ดังนี้

    “ในโลกสมัยใหม่ ได้มีการปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับความยุติธรรมในวงกว้าง ... พระศาสนจักร และประชาชนในยุคของเรา มีความปรารถนาอันลึกล้ำและแรงกล้าในวิถีชีวิตที่ยุติธรรมในทุกด้าน ... แต่เราก็สังเกตเห็นได้ไม่ยากว่าบ่อยครั้งโครงการที่เริ่มต้นจากความคิดส่งเสริมความยุติธรรม ... แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการบิดเบือน ... เจตนาร้าย ความเกลียดชัง และแม้แต่ความโหดร้าย ... ประสบการณ์ในอดีต และในยุคของเรา แสดงให้เห็นว่าความยุติธรรมเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ และความยุติธรรมนั้นอาจนำไปสู่การปฏิเสธและการทำลายตนเอง ถ้าเราไม่ยอมให้พลังที่ลึกล้ำยิ่งกว่า คือความรัก ช่วยปรับแต่งชีวิตมนุษย์ในมิติต่าง ๆ”...

    ดังนั้น เราจึงได้รับการตักเตือนให้เพ่งพินิจความเมตตาของพระเจ้า “ความเมตตาเป็นพลังพิเศษของความรัก ซึ่งแข็งแกร่งกว่าบาปและความอสัตย์ ... อาจกล่าวได้ว่าความเมตตาเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความยุติธรรมของพระเจ้า และเผยตัวให้เห็นในหลายกรณีว่ามีพลังมากกว่า และเป็นพลังที่สำคัญยิ่งกว่า” (ยอห์น ปอล ที่ 2)...