วันอาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
เอเสเคียล 18:25-28; ฟิลิปปี 2:1-11; มัทธิว 21:28-32
บทรำพึงที่ 1
นักบุญออกัสติน
การกลับใจเป็นกระบวนการต่อเนื่อง เป็นการเดินทางที่จะจบลงเมื่อเราตายเท่านั้น
นักบุญออกัสติน เกิดในทวีปอัฟริกา เมื่อ ค.ศ. 354 ชีวิตในวัยหนุ่มของเขาเป็นชีวิตที่ยุ่งเหยิง ซึ่งรวมถึงการมีบุตรนอกสมรสหนึ่งคนด้วย
เมื่ออยู่ในวัยยี่สิบกว่า ออกัสตินย้ายไปอยู่ที่มิลาน ประเทศอิตาลี ที่ซึ่งเขาทำงานเป็นอาจารย์วิชาวาทศาสตร์ แต่ชีวิตส่วนตัวของเขาก็ยังคงยุ่งเหยิงไร้ทิศทางเช่นเดิม
ขณะที่อยู่ที่มิลาน มีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นกับเขา เหตุการณ์แรกคือเขาไม่พอใจวิถีชีวิตของเขาเองมากขึ้นทุกวัน เหตุการณ์ที่สองคือเขาเริ่มสนใจคริสตศาสนา
ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ วันหนึ่ง เขาจึงนั่งลงและเริ่มต้นพิจารณาชีวิตของตนเอง ในทันใด เขาก็หลั่งน้ำตา และเริ่มร้องถามพระเจ้าว่า “และพระองค์เล่า พระเจ้าข้า พระองค์จะทรงกริ้วข้าพเจ้าไปอีกนานเท่าไร ตลอดไปเลยหรือ ทำไมพระองค์ไม่ยุติชีวิตเลวร้ายของข้าพเจ้าเสียตั้งแต่ชั่วโมงนี้”
ออกัสตินเล่าไว้ในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้ากำลังร่ำร้องเช่นนี้ เมื่อในทันทีทันใด ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเหมือนเสียงเด็กที่ดูเหมือนจะพูดว่า ‘เอาไปอ่านซิ เอาไปอ่านซิ’ ข้าพเจ้าลุกขึ้นยืน เพราะบัดนี้ เสียงนั้นเหมือนเป็นคำบัญชาให้อ่านพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าหยิบพระคัมภีร์มาเปิดดู คำแรกที่ข้าพเจ้าเห็นเป็นข้อความจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม ว่า ‘เราจงละทิ้งกิจการของความมืดมนเสีย แล้วสวมเกราะของความสว่าง เราจงดำเนินชีวิตอย่างมีเกียรติเหมือนกับเวลากลางวัน มิใช่กินเลี้ยงเสพสุราเมามาย ... มิใช่วิวาทริษยา แต่จงดำเนินชีวิตโดยสวมพระเยซูคริสตเจ้าเป็นอาภรณ์ อย่าทำตามความต้องการของเนื้อหนัง’ (รม 13:12-14)
เมื่อออกัสตินอ่านข้อความนี้จบ เขาหยุดอ่าน เพราะไม่มีความจำเป็นต้องอ่านต่อไป เขาเล่าว่า “แสงสว่างท่วมล้นหัวใจข้าพเจ้าในทันใด จนลบความคลางแคลงใจทุกประการของข้าพเจ้า และวิญญาณของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยสันติสุขลึกล้ำ”
เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับใจมาเป็นคริสตชนของนักบุญออกัสติน หลังจากนั้นไม่นาน เขาสมัครเข้าเรียนคริสตธรรมคำสอนในเมืองมิลาน และได้รับศีลล้างบาปในวันปัสกาปีต่อมา
การเปลี่ยนใจอย่างน่าพิศวงที่เกิดขึ้นกับนักบุญออกัสติน เหมือนกับการเปลี่ยนใจที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงในบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ ซึ่งทำให้เราต้องถามตนเองว่าอะไรเป็นสาเหตุให้บุคคลหนึ่งเปลี่ยนใจ หรือกลับใจ
เมื่อหลายปีก่อน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่งได้บรรยายขั้นตอนที่ช่วยให้เกิดการปฏิวัติทางการเมืองในประเทศหนึ่งได้ เขาบอกว่าขั้นแรกคือให้สร้างความรู้สึกไม่พึงพอใจในกลุ่มประชากรของประเทศ เพราะตราบใดที่ประชากรยังพึงพอใจกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของเขา เขาจะไม่แสวงหาความเปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกับบุคคล ตราบใดที่เขายังพึงพอใจกับชีวิตของเขา เขาจะไม่มีวันเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา กรณีของนักบุญออกัสตินช่วยให้เราเห็นความจริงข้อนี้ เขาไม่พอใจกับชีวิตส่วนตัวของเขา จนเขาถึงกับนั่งลงร้องไห้
ดังนั้น ขั้นแรกของกระบวนการกลับใจก็คือความไม่พอใจกับชีวิตส่วนตัวของเรา
ขั้นที่สอง เป็นขั้นที่เราอาจเรียกว่าขั้น “ลั่นไก” อาจเป็นเหตุการณ์บางอย่างที่จุดไฟใต้ตัวเรา หรือ “ลั่นไก” ให้เราเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างกับชีวิตส่วนตัวของเรา ในกรณีของนักบุญออกัสติน ขั้นนี้คือการเปิดพระคัมภีร์ และอ่านข้อความเหล่านี้จากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม
ขั้นที่สามในกระบวนการกลับใจ คือก้าวแรกที่สำคัญที่สุดที่เราเดินไปในทิศทางที่นำเราไปสู่ชีวิตใหม่ หมายถึงการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมของเรา
เราเห็นขั้นตอนนี้ได้ในกรณีของนักบุญออกัสติน หลังจากอ่านข้อความจากจดหมายของเปาโลถึงชาวโรม ที่บอกให้ละทิ้ง “กิจการของความมืดมนเสีย” เขาก็ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเปลี่ยนชีวิตของเขา เขาสมัครเรียนคริสตธรรมคำสอนในเมืองมิลาน
ดังนั้น กระบวนการกลับใจจึงประกอบด้วยสามขั้นตอน คือ หนึ่ง เราเริ่มไม่พึงพอใจกับชีวิตส่วนตัวของเรา สอง บางสิ่งบางอย่างกระตุ้นให้เราทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเปลี่ยนชีวิตของเรา และสาม เราต้องเดินก้าวแรกอย่างเป็นรูปธรรมไปในทิศทางที่นำเราไปสู่ชีวิตใหม่
เราอาจนำบทอ่านประจำวันนี้มาใช้กับชีวิตของเราได้ วิธีหนึ่งก็คือ เราควรถามตัวเราว่าเราพอใจกับชีวิตปัจจุบันของเราหรือไม่ เช่น เรากำลังไม่พอใจกับความสัมพันธ์ระหว่างเราและพระเจ้าหรือเปล่า เราปรารถนาจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับพระเยซูเจ้าหรือไม่ เราอยากรักผู้อื่นให้มากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะคนยากจนที่อยู่รอบตัวเรา
ถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ว่า “ใช่” เมื่อนั้น บทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ก็อาจจุดประกาย หรือ “ลั่นไก” ให้เราทำบางสิ่งบางอย่าง และถ้าเป็นเช่นนั้น ก้าวแรกที่เราควรทำคืออะไร
บางทีก้าวแรกนี้อาจเป็นเพียงการขอรับการเยียวยาเป็นพิเศษด้วยการรับศีลอภัยบาป บางที อาจเป็นการเริ่มต้นใช้เวลาสองสามนาทีสวดภาวนาก่อนเข้านอนในคืนนี้ บางที เราอาจจะนั่งลงและมองดูคนยากจนรอบตัวเรา และถามตนเองว่ามีอะไรบ้างที่ฉันทำได้ เพื่อแสดงให้คนโชคร้ายเหล่านี้รู้ว่าฉันห่วงใยเขาจริง ๆ
สรุปได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่พระวาจาที่พระเจ้าตรัสกับเราในพระคัมภีร์ในวันนี้ สามารถกระตุ้นให้เราเปลี่ยนใจ หรือกลับใจ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับนักบุญออกัสติน
เวลา และพระหรรษทานของพระเจ้าเท่านั้น ที่จะบอกเราได้ว่าจริงหรือไม่ เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา
พระสุรเสียงของพระเยซูเจ้า
โปรดเรียกเรา เมื่อเราหลงทางห่างไกลจากพระองค์
พระหัตถ์ของพระเยซูเจ้า
โปรดเจิมเรา เมื่อเราอ่อนแอ และเหนื่อยล้า
พระกรของพระเยซูเจ้า
โปรดพยุงเราขึ้น เมื่อเราสะดุด และล้มลง
พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
โปรดสอนเราให้รักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 21:28-32
(พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาหัวหน้าสมณะ และผู้อาวุโสของประชาชนว่า) “ท่านทั้งหลายคิดเห็นอย่างไร”
พระเยซูเจ้าตรัสอุปมาเรื่องนี้แก่ผู้นำในยุคของพระองค์ คือ “หัวหน้าสมณะ และผู้อาวุโสของประชาชน” บริบทก็คือการโต้ปัญหาธรรมะ พระเยซูเจ้าทรงเพิ่งจะขับไล่บรรดาพ่อค้าออกจากพระวิหาร (มธ 21:12-17) ... จากนั้น พระองค์ทรงสาปแช่งต้นมะเดื่อเทศที่ไร้ผล (มธ 21:18-22) กลุ่มผู้มีอำนาจในกรุงเยรูซาเล็มขัดเคืองใจมาก และถามพระเยซูเจ้าว่าพระองค์มีสิทธิ์อะไรจึงกระทำการที่ยั่วยุเหล่านี้...
ในพระวรสารของมัทธิว พระเยซูเจ้าทรงตอบคำถามของเขาด้วยอุปมาสามเรื่อง คือ เรื่องบุตรสองคน ... เรื่องคนเช่าสวนที่ชั่วร้าย ... และเรื่องงานวิวาห์มงคล (มธ 21:28-22:14) ... พระทรมานของพระองค์ใกล้เข้ามาแล้ว พระเยซูเจ้าทรงตระหนักดีว่าพระองค์กำลังจะถูกปฏิเสธโดยกลุ่มคนที่ควรยินดีต้อนรับพระองค์ ... แต่เราไม่อาจพอใจเพียงการตีความเชิงประวัติศาสตร์เช่นนี้เท่านั้น
เราไม่ควรคิดว่าอุปมาในพระวรสารวันนี้หมายถึง “ผู้อื่น” แต่เป็นเรื่องที่มีเจตนาจะสอนเราแต่ละคนในวันนี้ ... ดังนั้น คำถามของพระเยซูเจ้าจึงเป็นคำถามที่ทรงถามเรา “ท่าน ... และท่าน ... ท่านคิดเห็นอย่างไร”...
“ชายคนหนึ่งมีบุตรสองคน เขาไปพบบุตรคนแรกพูดว่า ‘ลูกเอ๋ย วันนี้จงไปทำงานในสวนองุ่นเถิด’ บุตรตอบว่า ‘ลูกไม่อยากไป’ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจ และไปทำงาน”
ท่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้...
ในเบื้องต้น เราอาจคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้ไม่มีมารยาท เพราะเขาพูดกับบิดาอย่างปราศจากความเคารพ ... แต่แล้วเราก็พบว่าเขาเป็นคนดี เพราะเขายอมเปลี่ยนจุดยืน และปฏิบัติตามที่บิดาของเขาขอร้อง...
พระเยซูเจ้าไม่ทรงเสนอคำอธิบายทางจิตวิทยาสำหรับเรื่องอุปมานี้ พระองค์ทรงเล่าเรื่องของใครคนหนึ่งที่ “เปลี่ยนใจ” หรือ “กลับใจ” และนี่คือการเปิดเผยที่บรรเทาใจเรา โลกสมัยใหม่ของเรา สื่อมวลชน และกระแสความคิดในปัจจุบัน พยายามหว่านล้อมให้เราเชื่อว่าเราเกิดมาพร้อมกับเงื่อนไข – เราถูกกำหนดโชคชะตาไว้แล้ว ซึ่งทำให้เราไม่มีเสรีภาพ และไม่ต้องรับผิดชอบ ... เมื่อเราล้มเหลว หรือมีข้อบกพร่อง มันง่ายมากที่จะโยนความผิดไปให้สังคม หรือพื้นอารมณ์ของเรา หรือโครงสร้างต่าง ๆ กล่าวคือ โยนความผิดให้ “ผู้อื่น”...
ในทางตรงกันข้าม พระเยซูเจ้าทรงส่งเรากลับไปสู่ความรับผิดชอบของเรา โดยทรงเตือนเราว่าชะตากรรมของเราไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าอดีตของเราเป็นอย่างไร ไม่ว่าเราเคยปฏิเสธพระองค์บ่อยครั้งเพียงไร ... การเปลี่ยนใจย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ พระเยซูเจ้าไม่เคยกักขังใครไว้ภายในอดีตของเขา แต่พระองค์ประทานโอกาสให้ทุกคน แม้แต่คนบาปหนาที่สุด...
ถูกแล้ว พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้ว่า เราไม่ได้ติดกับอยู่ในสภาพเดิมตลอดไป แต่เราลุกขึ้นได้เสมอ ... เมื่อเราอยู่ท่ามกลางความยากลำบากในปัจจุบัน พระองค์ทรงมองเห็น “มนุษย์คนใหม่” ที่สามารถเกิดใหม่จากความยากลำบากเหล่านี้ได้...
ขอบพระคุณพระองค์พระเจ้าข้า สำหรับความหวังที่พระองค์ประทานแก่เรา...
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราไม่ให้ “กักขัง” พี่น้องชายหญิงของเราไว้ในอดีต มิให้เรา “ตีตรา” เขาไปตลอดชีวิต แต่ให้เราให้โอกาสเขาเปลี่ยนชีวิตใหม่ด้วยเถิด...
แต่เรารู้สึกว่าพระเยซูเจ้ายังมีอีกความคิดหนึ่งอยู่ในใจ ... ทำไมพระองค์จึงบรรยายถึง “บุตรคนแรก” ที่ปฏิเสธ แต่แล้วก็เชื่อฟังบิดาของเขา...
“พ่อจึงไปพบบุตรคนที่สอง พูดอย่างเดียวกัน บุตรคนที่สองตอบว่า “ครับพ่อ” แต่แล้วก็ไม่ได้ไป สองคนนี้ใครทำตามใจพ่อ”
พระเยซูเจ้าทรงเน้นที่พฤติกรรมของบุตรคนที่สอง และทรงชี้ให้เห็นความแตกต่างจากบุตรคนแรก ... ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างพระเยซูเจ้าและผู้นำทางศาสนาในกรุงเยรูซาเล็ม บุตรคนที่สองนี้หมายถึงบรรดาหัวหน้าสมณะ และผู้อาวุโสของประชาชน ซึ่งพระองค์ทรงกระชากหน้ากาก และกล่าวโทษ...
แต่พระองค์ทรงถามเราด้วยคำถามนี้ ในวันนี้ด้วยเช่นกัน...
ท่านคิดเห็นอย่างไร บุตรคนใดในสองคนนี้ทำตามใจพ่อ...
พวกเขาตอบว่า “คนแรก”
อันที่จริง พวกเขาไม่สามารถตอบเป็นอื่นได้ และในวันนี้ เราก็ตอบเป็นอื่นไม่ได้เช่นกัน คำพูดสวยหรูยังไม่พอ การกระทำต่างหากที่สำคัญ ... ไม่ใช่เจตนารมณ์...
พระเยซูเจ้าทรงมีความคิดที่ทันสมัยมากในด้านนี้ โลกปัจจุบันต้องการประสิทธิภาพ และคนทั่วไประแวงคนที่พูดด้วยสำนวนโวหาร และทำให้เราหลงลมปากของเขา มนุษย์ไม่สนใจอุดมการณ์ทางทฤษฏีอีกต่อไป แต่ตัดสินจากผลงาน...
แต่เราไม่ควรตัดสินผู้อื่น บ่อยครั้งที่เราเหมือนกับ “บุตรคนที่สอง” คนนี้ ... เมื่อเราบอกว่า “เรามีความเชื่อ แต่ไม่ปฏิบัติศาสนกิจ” เรากำลังตอบรับพระเจ้าด้วยปาก แต่ปฏิเสธพระองค์ด้วยกิจการ...
หรือเราพร้อมจะท่องบทข้าพเจ้าเชื่อในวันอาทิตย์ แต่ก็พร้อมจะทำสิ่งตรงกันข้ามระหว่างสัปดาห์ กี่ครั้งกี่หนที่เราภาวนาต่อพระเจ้าว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง ... พระประสงค์จงสำเร็จไป” – โดยที่พฤติกรรมของเราไม่สอดคล้องกับคำประกาศอันสวยหรูนี้เลย ... แต่บัดนี้ เราได้ยินคำเตือนแล้วว่า “คำพูด” สำคัญน้อยกว่า “การกระทำ” ไม่มีใครหลอกพระเจ้าได้ “คนที่กล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า’ นั้น มิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์” (มธ 7:21) ... และนักบุญยอห์นแปลความหมายว่า “เราอย่ารักกันแต่ปาก เพียงด้วยคำพูดเท่านั้น แต่เราจงรักกันด้วยการกระทำ และด้วยความจริง” (1 ยน 3:18)...
พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า คนเก็บภาษีและหญิงโสเภณีจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าก่อนท่าน”
พระเยซูเจ้าทรงเกริ่นนำบทสรุปของพระองค์อย่างเป็นทางการว่า “เราบอกความจริง (อาแมน) แก่ท่านทั้งหลาย” พระองค์ทรงใช้คำนี้ทุกครั้งที่พระองค์มีข้อความสำคัญจะประกาศ แต่จุดยืนของพระองค์ในกรณีนี้น่าประหลาดใจ และเป็นที่สะดุด พระองค์ทรงยกคนบาปสาธารณะเหล่านี้เป็นตัวอย่างได้อย่างไร ... คนเก็บภาษีทำบาปเรื่องเงินทอง ... ส่วนโสเภณีก็ทำบาปเรื่องเนื้อหนัง...
แต่เราย่อมเข้าใจผิดถ้าเราคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงเข้าข้างบุคคลที่ค้ากำไรเกินควร และผู้กระทำความผิดทางเพศ ในกรณีนี้ เช่นเดียวกับในอุปมาก่อนหน้านี้ พระเยซูเจ้าทรงต้องการเน้นเรื่องการกลับใจ...
บาปที่ร้ายแรงที่สุดคือการคิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร ... ความคิดว่าเราสามารถอยู่ได้โดยไม่มีพระเจ้า และเราไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์ ... เรารู้ว่าในยุคของพระเยซูเจ้า คนทั้งหลายที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรม ไม่รู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องยอมรับความรอดพ้นที่พระเยซูเจ้าทรงกำลังเสนอให้เขา ... ตรงกันข้ามกับคนบาปทั้งหลายที่วิ่งมาหาพระเยซูเจ้า และถือว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ช่วยเขาให้รอดพ้น...
แม้ว่าบาปคือความชั่วร้าย แต่บางครั้งบาปสามารถกลายเป็นโอกาสให้พระหรรษทานซึมแทรกเข้ามาในวิญญาณได้ “เราเคยเห็นพระหรรษทานเข้าสู่วิญญาณหนึ่ง และวิญญาณที่หลงทางก็ได้รับความรอดพ้น ... แต่ไม่มีใครเคยเห็นพระหรรษทานเจาะทะลุสิ่งที่ไม่มีทางเจาะทะลุได้ ... นั่นคือคนดีทั้งหลาย ... หรืออย่างน้อยก็คนทั้งหลายที่เรียกกันว่า ‘คนดี’ – คนเหล่านี้ไม่มีจุดอ่อนที่เกราะของเขาเลย ... เพราะเขาไม่ขาดแคลนสิ่งใดเลย จึงไม่อาจให้สิ่งใดแก่เขาได้...” (Peguy)
ข้าพเจ้ารู้วิธีหรือไม่ที่จะเปลี่ยนบาปของข้าพเจ้าให้กลายเป็นโอกาสแสวงหาพระหรรษทาน ซึ่งช่วยข้าพเจ้าให้หลุดพ้นจากข้อจำกัดของข้าพเจ้า เหมือนกับคนบาปที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงเหล่านี้...
ข้าพเจ้าตัดสินผู้อื่นจากสิ่งที่เห็นได้ภายนอกเหมือนกับคนส่วนใหญ่ แทนที่จะให้โอกาสเขากลับตัวกลับใจอย่างที่พระวรสารแนะนำหรือเปล่า ... “คนบาปสาธารณะจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าก่อนท่าน”...
พระเยซูเจ้าตรัสถึงใคร เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ท่าน” ... ใครบ้างที่เชื่อว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรม และจะต้องอยู่นอกพระอาณาจักรของพระเจ้า ... บางครั้ง ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในคนเหล่านี้หรือเปล่า...
พระเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาเราเถิด...
“เพราะยอห์น (ผู้ทำพิธีล้าง) ได้มาพบท่าน ชี้หนทางแห่งความชอบธรรม ท่านก็ไม่เชื่อยอห์น ส่วนคนเก็บภาษี และหญิงโสเภณีเชื่อ...”
ขณะที่อุปมาเรื่อง “บุตรสองคน” เน้นความแตกต่างระหว่าง “คำพูด” และ “การกระทำ” ระหว่าง “การตอบรับด้วยปาก” และ “การปฏิเสธด้วยกิจการ” ... ข้อสรุปนี้เน้นที่ความแตกต่างระหว่าง “การเชื่อ” และ “การไม่เชื่อ”...
เราพบประโยคนี้ - แต่ในบริบทที่ต่างกัน - ในพระวรสารของนักบุญลูกา (ลก 7:29-30) มัทธิวแทรกข้อความนี้ไว้ที่นี่ เพื่อตอบคำถามที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ก่อนหน้านี้ว่า “พิธีล้างของยอห์นมาจากไหน จากสวรรค์หรือจากมนุษย์” (มธ 21:25)
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเราผ่านคนร่วมสมัยกับพระองค์ ไม่ว่าผู้เทศน์สอนจะเป็นยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง หรือพระเยซูเจ้า ขอให้เราตอบรับด้วย “ความเชื่อที่มีชีวิต” เสมอ เพราะผู้ที่ถามเราก็คือพระเจ้า...
และการตอบรับด้วยความเชื่อเช่นนี้ บ่อยครั้งหมายถึง “การกลับใจ” คือการเปลี่ยนชีวิตอย่างสิ้นเชิง...
“... แต่ท่านทั้งหลายเห็นดังนี้แล้ว ก็ยังคงไม่เปลี่ยนใจมาเชื่อยอห์น”
พระวรสารตอนนี้อธิบายว่าความเชื่อหมายถึงการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งท้าทายเราว่า “วันนี้ จงไปทำงานในสวนองุ่นของเราเถิด” ... และชีวิตของเราจะเป็นการตอบสนองต่อกระแสเรียกของพระเจ้า หรือจะเป็นการปฏิเสธในทางปฏิบัติ...
ในศัพท์ของคริสตศาสนา มีคำสั้น ๆ ที่เขียนด้วยอักษรตัวใหญ่ เป็นคำที่ผู้มีความเชื่อทุกคนรู้จักดี และเราใช้ในพิธีกรรมโดยไม่แปลเป็นภาษาอื่น คำนั้นคือ “อาแมน” ซึ่งหมายความว่า “ขอให้เห็นเช่นนี้” และเป็นคำที่เราใช้ตอบพระเจ้า “อาแมน ... เป็นความจริงเช่นนั้น ข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้น ... นี่คือรากฐานอันหนักแน่นมั่นคง และข้าพเจ้าเชื่อถือ ... ข้าพเจ้าจะรับมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของข้าพเจ้า...
เรากล่าวคำว่า “อาแมน” ด้วยปากของเรากี่ครั้งทุกวันอาทิตย์ ... เรานำคำนี้ไปปฏิบัติกี่ครั้งระหว่างสัปดาห์นั้น...
พระคริสตเยซู พระบุตรของพระเจ้า ... พระองค์ไม่ตรัสทั้ง “จริง” และ “ไม่จริง” พร้อมกัน แต่ตรัสว่า “จริง” เท่านั้น ... เพราะเหตุนี้ เราจึงกล่าวคำว่า “อาแมน” โดยทางพระองค์ เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า (2 คร 1:19)...