แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
บุตรสิรา 27:30-28:9; โรม 14:7-9; มัทธิว 18:21-35

บทรำพึงที่ 1
บุตรผู้รู้จักให้อภัย
การให้อภัยนำความสุขมาสู่ทั้งผู้ให้อภัย และผู้ที่ได้รับการอภัย

    ดอริส ดอนเนลลี เขียนหนังสือที่น่าอ่านมากเล่มหนึ่งชื่อ Putting Forgiveness into Practice (การให้อภัยในทางปฏิบัติ) หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องหนึ่งที่น่าประทับใจมาก

    วันหนึ่ง เด็กชายวัยเจ็ดขวบคนหนึ่งกำลังนั่งบนรถของครอบครัว เขานั่งในที่นั่งตอนหลังระหว่างพี่ชายสองคน มารดาของเขาเป็นผู้ขับรถ ในวันนั้น มารดาของเขากำลังจิตใจว้าวุ่นมาก เพราะบิดาของเขาเพิ่งจะทิ้งเธอไป

    ด้วยอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง เธอหันขวับมาและตบหน้าเด็กชายวัยเจ็ดขวบคนนี้ แล้วเธอก็ตะโกนใส่เขาว่า “แกด้วย! ฉันไม่เคยต้องการจะมีแก เหตุผลเดียวที่ฉันมีแกก็เพราะฉันต้องการเหนี่ยวรั้งพ่อของแกให้อยู่กับฉันต่อไป แต่เขาก็ทิ้งฉันไปอยู่ดี ฉันเกลียดแก”

    เหตุการณ์นั้นฝังอยู่ในจิตใจของเด็กชาย ตลอดหลายปีต่อมา มารดาของเขาย้ำเตือนความรู้สึกที่เธอมีต่อเขาด้วยการจับผิดเขาตลอดเวลา บุตรชายคนนี้บอก ดอริส ดอนเนลลี หลังจากนั้นหลายปีว่า “ผมบอกไม่ได้ว่าผมนึกถึงประสบการณ์นั้นกี่ครั้งระหว่าง 23 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นพัน ๆ ครั้ง” แล้วเขาก็เสริมว่า

    “แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมคิดถึงความรู้สึกของแม่ของผม เธอมีความรู้เพียงระดับมัธยม ไม่มีเงิน ไม่มีงานทำ และมีครอบครัวต้องหาเลี้ยง ผมตระหนักว่าเธอคงต้องรู้สึกโดดเดี่ยว และเป็นทุกข์มากแค่ไหน”

    “ผมคิดว่าจะต้องมีความโกรธ และความเจ็บปวดมากมายเท่าไรในใจของเธอ และผมคิดว่าผมคงเตือนให้เธอคิดถึงความหวังที่พังทลายของเธอ ดังนั้น วันหนึ่งผมจึงไปเยี่ยมเธอ และพูดคุยกับเธอ ผมบอกเธอว่าผมเข้าใจความรู้สึกของเธอ และผมยังรักเธอเหมือนเดิม”

    “เธอร้องไห้ เรากอดกันร้องไห้เป็นเวลานาน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่สำหรับผม สำหรับเธอ – สำหรับเรา”

    เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้อย่างงดงามว่าการให้อภัยมีฤทธิ์ในการเยียวยาจิตใจ การให้อภัยมี “ผลสองชั้น” คือมีผลดีต่อผู้ที่ให้อภัย และผู้ที่ได้รับการอภัย เราจะมาพิจารณาประเด็นนี้กัน

    ชั้นแรก การให้อภัยมีผลดีต่อผู้ให้อภัย ขอให้เราดูชายหนุ่มในเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง เขาบอกว่าเมื่อเขาให้อภัยมารดาของเขา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่สำหรับเขา

    บ่อยครั้งเราได้ยินผู้อื่นพูดในทำนองนี้ หลังจากเขาให้อภัยใครบางคนแล้ว เช่น หญิงสาวคนหนึ่งให้อภัยบิดาของเธอ หลังจากที่ทั้งสองไม่พูดกันมานานถึงเจ็ดปี เธอเล่าประสบการณ์ของเธอว่า “มันเหมือนกับถูกปล่อยตัวออกจากคุก ดิฉันรู้สึกเป็นอิสระ และมีความสุขเป็นครั้งแรกในระยะเวลาเจ็ดปี”

    นักประพันธ์ชื่อ จอห์น ลาวาเตอร์ กล่าวถึงการให้อภัยว่า “ผู้ใดที่ไม่เคยให้อภัยศัตรู ผู้นั้นพลาดประสบการณ์ที่งดงามที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต”

    ดังนั้น ผลชั้นแรกของการให้อภัยก็คือ การให้อภัยจะนำความสุขมาสู่ผู้ให้อภัย

    เราจะพิจารณาผลชั้นที่สอง การให้อภัยมีผลดีต่อผู้ที่ได้รับการอภัย

    เราจะพิจารณาชายหนุ่มในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง การให้อภัยมารดาของเขามีผลดีต่อเธออย่างยิ่ง มันรักษาแผลในจิตใจของเธอ เธอเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นบุคคลที่ขมขื่น จนเธอถึงกับบอกบุตรชายของตนเองว่า “ฉันเกลียดแก และไม่เคยต้องการแก” กลายเป็นบุคคลที่บอกเขาว่า “แม่รักลูก และแม่ต้องการลูกสุดหัวใจ”

    หลายครั้งหลายหนที่เราได้ยินเรื่องของคนที่เปลี่ยนไปเมื่อมีใครให้อภัยเขา ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง คือเรื่องของหญิงคนหนึ่งที่ให้อภัยชายคนหนึ่งที่ฆ่าบุตรสาวของเธอ เจ้าหน้าที่เรือนจำบอกว่าการแสดงออกว่าเธอให้อภัยเขา ทำให้เขาเปลี่ยนไป จนกลายเป็นนักโทษตัวอย่าง

    ดังนั้น ผลชั้นที่สองของการให้อภัยก็คือการให้อภัยนำความสุขมาสู่บุคคลที่ได้รับการอภัย แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่า เราจะทำอย่างไร ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถให้อภัยใครบางคนได้? ทำอย่างไร เราจึงจะกำจัดอุปสรรคทางอารมณ์ ซึ่งบ่อยครั้งขัดขวางไม่ให้เราให้อภัยผู้อื่นได้?

    เราจะพบคำตอบได้จากเรื่องของชายหนุ่มคนนี้อีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่ทำให้เขาสามารถให้อภัยมารดาของเขาได้ก็คือ เขาเริ่มมองมารดาของเขาในแง่มุมอื่น ซึ่งทำให้เขาไม่อาจมองได้อีกต่อไปว่าเธอเป็นหญิงใจร้ายที่ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจเด็กชายเล็ก ๆ คนหนึ่ง

    แต่เขากลับมองเห็นว่าเธอเป็นหญิงที่ได้รับการศึกษาเพียงระดับมัธยม ไม่มีเงิน ไม่มีงานทำ และยังต้องเลี้ยงดูครอบครัวที่มีสมาชิกถึงสี่คน เมื่อเขามองเธอด้วยความเข้าใจใหม่ ๆ เช่นนี้แล้ว เขาจึงเห็นว่าเธอโดดเดี่ยว และเป็นทุกข์มากเพียงไร

    ดังนั้น ความสามารถของชายหนุ่มคนนี้ในการให้อภัยมารดาของเขาจึงเกิดจากการมองเธอด้วยความเข้าใจใหม่ ๆ และมุมมองใหม่นี้เองที่ทำให้เขาเปลี่ยนทัศนคติต่อเธอ

    จึงเห็นได้ชัดเจนว่าถ้าเราจะให้อภัยศัตรูของเรา เราต้องพยายามมองเขาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นเรา กล่าวคือ เขาไม่ใช่คนเลวร้าย แต่เป็นบุตรที่กำลังตื่นตกใจ เจ็บปวด และหลงทางของพระบิดาของเขา

    ดังนั้น บทอ่านประจำวันนี้จึงเชิญชวนเราให้ถามตนเองว่าเรามีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร ถ้าความสัมพันธ์ของเราไม่ดีเท่าที่ควร บทอ่านวันนี้ก็เชิญชวนเราให้เป็นฝ่ายริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์นั้น เหมือนกับที่ชายหนุ่มในเรื่องนี้ได้ทำไป

    การยอมเปิดใจ และเป็นฝ่ายเริ่มเปลี่ยนทัศนคติ จะนำชีวิตใหม่มาให้เรา และบุคคลที่เราให้อภัย

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาของนักบุญฟรังซิส

    พระเจ้าข้า โปรดทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือนำสันติสุขของพระองค์
    ที่ใดมีความเกลียดชัง ขอให้ข้าพเจ้าหว่านความรัก
    ที่ใดมีความอยุติธรรม ขอให้ข้าพเจ้าหว่านการให้อภัย
    ที่ใดมีความสงสัย ขอให้ข้าพเจ้าหว่านความเชื่อ
    ที่ใดมีความสิ้นหวัง ขอให้ข้าพเจ้าหว่านความหวัง
    ที่ใดมีความมืด ขอให้ข้าพเจ้าหว่านแสงสว่าง
    ที่ใดมีความเศร้า ขอให้ข้าพเจ้าหว่านความยินดี

    ขอให้ข้าพเจ้าไม่แสวงหาการปลอบโยน เท่ากับเป็นผู้ปลอบโยน
    ไม่แสวงหาความเข้าใจจากผู้อื่น เท่ากับพยายามเข้าใจเขา
    ไม่แสวงหาความรัก เท่ากับพยายามรักผู้อื่น
    เพราะเมื่อเราให้ เราย่อมได้รับ
    เมื่อเราให้อภัย เราย่อมได้รับการอภัย และ
    ด้วยการตาย เราจะได้รับชีวิตนิรันดร

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 18:21-35

เปโตรเข้ามาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือไม่”

    เมื่อวันอาทิตย์สัปดาห์ก่อน เราได้ยินพระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่าควรปฏิบัติอย่างไรต่อ “พี่น้องที่ทำผิด” ... แต่วันนี้ เปโตร ถามคำถามแบบถึงลูกถึงคนมากกว่า เราไม่พูดถึงคนบาป “ทั่วไป” ที่ทำลายคุณภาพชีวิตของชุมชน ... แต่เรากำลังพูดถึงความผิดที่ตัวเราเองเป็นผู้เสียหาย ... เมื่อใครคนหนึ่งทำผิด “ต่อข้าพเจ้า”...

    เมื่อเราถูกโจมตี ปฏิกิริยาแรกโดยสัญชาตญาณของเราก็คือ ตอบโต้ในระดับเท่าเทียมกัน พระคัมภีร์บอกเราว่าการแก้แค้นเหมือนกับสัตว์ป่าที่ซุ่มตัวอยู่ในเงามืดที่ประตูบ้าน รอตะครุบตัวเราอยู่ (ปฐก 4:7) นี่คือข้อสังเกตที่ลึกล้ำมาก สัตว์ป่าในตัวมนุษย์ไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ลึก ๆ เลย กฎของป่าก็คือต้องป้องกันตัวถ้าต้องการมีชีวิตรอด ... สัญชาตญาณนี้เองที่ทำให้การให้อภัยทำได้ยาก...

    บทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ให้คำตอบสำหรับคำถามหนึ่งที่เราอยากถามมากที่สุด กล่าวคือ มนุษยชาติจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางความรุนแรงที่เพิ่มทวีขึ้นทุกวันอย่างที่เราพบเห็นในปัจจุบัน ... เป็นไปได้หรือที่จะตัดวงจรอุบาทว์แห่งความเกลียดชัง ซึ่งการยั่วยุ การข่มขู่  และการล้างแค้น ดูเหมือนเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นวงจรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

    เราพบเห็นความขัดแย้งทางการเมือง หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ตลอดปีในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจากสื่ออื่น ๆ แต่เราไม่ต้องค้นหาก็จะพบความขัดแย้งได้ในชีวิตประจำวันของเรา และพบเห็นความรุนแรงที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์...

    ด้วยความใจร้อน และโผงผางตามปกติของเปโตร เขาชี้ให้พระเยซูเจ้าทรงเห็นว่ามนุษย์บางคนก็ร้ายเกินกว่าจะทนได้จริง ๆ ... การให้อภัยหนึ่ง สอง หรือแม้แต่สามครั้ง ก็ยังพอทำได้ (รับบีสมัยพระเยซูเจ้าสอนว่า แม้แต่ความผิดสี่ครั้งก็ยังถือว่าให้อภัยกันได้) ... เปโตรคิดว่าตนเองใจกว้างมากแล้ว เมื่อเขาเสนอว่าจะให้อภัยถึงเจ็ดครั้งแก่บุคคลที่คอยทำร้ายเราไม่หยุด...

พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง”

    พระเยซูเจ้าทรงทำลายวิธีคิดคำนวณของเราด้วยพระเดชานุภาพของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และทรงกระตุ้นไม่ให้เรากำหนดขอบเขตสำหรับการให้อภัย พระองค์ทรงสอนเราว่า “ท่านต้องให้อภัยเสมอไป”...

    เพื่อให้เห็นความแปลกใหม่ ซึ่งมนุษย์มองว่าเป็นการปฏิวัติความคิด พระเยซูเจ้าทรงใช้ข้อความตรงกันข้าม ทำให้เรานึกถึงบทเพลงโบราณ ซึ่งมนุษย์ขับร้องมานานหลายศตวรรษ เป็นบทเพลงแสดงความแค้น ซึ่งลาเมคขับร้องให้ภรรยาของเขาฟัง และเป็นเสียงสะท้อนของความเกลียดชังระหว่างชนเผ่าโบราณว่า “อาดาห์ และศิลลาห์เอ๋ย จงฟังเสียงของฉันเถิด ... ฉันฆ่าคนหนึ่งที่ทำให้ฉันบาดเจ็บ ฉันฆ่าเด็กคนหนึ่งเพราะเขาทำให้ฉันเป็นแผล ถ้ากาอินจะถูกแก้แค้นเป็นเจ็ดเท่า ลาเมคจะถูกแก้แค้นเป็นเจ็ดสิบเจ็ดเท่า” (ปฐก 4:23-24)

    ถ้าข้าพเจ้าตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว ความชั่วจะจบลงเมื่อใด...

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเมตตา และการให้อภัยเป็นคุณธรรมดั้งเดิมของขบวนการที่พระเยซูเจ้าทรงก่อตั้งขึ้น ... ทุกศาสนา และแม้แต่ขบวนการทางการเมือง ล้วนต่อสู้กับความชั่ว และแสดงความสงสารต่อผู้เป็นเหยื่อ ... แต่ทุกศาสนาสอนให้อยู่ห่าง ๆ จากผู้ทำความชั่ว ... คุณสมบัติที่ใหม่ และแปลกในตัวพระเยซูเจ้าคือระหว่างทรงรับทรมาน พระองค์ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ทรงถูกเพชฌฆาตกระทำทารุณกรรม แต่ทรงมองดูคนทั้งหลายที่ตรึงกางเขนพระองค์ และทรงให้อภัยเขา ... “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:33)

    เพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านรู้สึกว่าการให้อภัยทำได้ยาก จงมองพระพักตร์นี้ และมองความรักอันอ่อนโยนของพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนนี้เถิด...

“อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงประสงค์จะตรวจบัญชีหนี้สินของผู้รับใช้ ขณะที่ทรงเริ่มตรวจบัญชีนั้น มีผู้นำชายผู้หนึ่งเข้ามา ชายผู้นี้เป็นหนี้อยู่เป็นพันล้านบาท (หนึ่งหมื่นตะลันต์) เขาไม่มีสิ่งใดจะชำระหนี้ได้ กษัตริย์จึงตรัสสั่งให้ขายทั้งตัวเขา บุตรภรรยาและทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อใช้หนี้”

    อุปมานี้เกิดจากจินตนาการอันชาญฉลาดของนักเล่านิทานในโลกตะวันออกทีเดียว จำนวนของหนี้สูงมากจนเหลือเชื่อ นักประวัติศาสตร์ชื่อฟลาวิอัส ทำให้เรามีข้อเปรียบเทียบจำนวนเงินนี้ เมื่อเขาบันทึกว่าในปีที่ 4 ก่อนคริสตกาล แคว้นเปเรอา และแคว้นกาลิลี จ่ายภาษีรวมกันเท่ากับสองร้อยตะลันต์ หรือเท่ากับหนึ่งในห้าสิบของจำนวนที่พระเยซูเจ้าทรงอ้าง...

    ดังนั้น เงินจำนวนนี้จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เราเข้าใจบทเรียนสำคัญ ซึ่งคำบอกเล่าส่วนที่เหลือจะสอนเรา ... ผู้ฟังเรื่องอุปมาคงอยากรู้เรื่องราวต่อไป ... จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ... ใครคือกษัตริย์พระองค์นี้ พระองค์จึงมีลูกหนี้เช่นนี้ ... ชายที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวนี้จะทำอย่างไร...

“ผู้รับใช้กราบพระบาท ทูลอ้อนวอนว่า ‘ขอทรงพระกรุณาผลัดหนี้ไว้ก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะชำระหนี้ให้ทั้งหมด’ กษัตริย์ทรงสงสารจึงทรงปล่อยเขาไป และทรงยกหนี้ให้”

    การยกหนี้ครั้งนี้เป็นการกระทำที่เกินกว่าจะจินตนาการได้ ... หนี้เท่ากับจำนวนค่าจ้างหกสิบล้านวัน ... เกิดอะไรขึ้นระหว่างการตัดสินใจครั้งแรกของกษัตริย์ เมื่อทรงเรียกร้องให้ชำระหนี้ และการตัดสินใจครั้งที่สอง เมื่อทรงยกหนี้ทั้งหมดให้

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า “กษัตริย์ทรงสงสาร จึงทรงยกหนี้ให้” พระวรสารภาษากรีกใช้คำว่า splanchnisteis และผู้นิพนธ์พระวรสารก็ใช้คำนี้บรรยายความสงสารของพระเยซูเจ้าเมื่อทรงเห็นน้ำตาของหญิงม่ายที่เมืองนาอิน (ลก 7:13) เมื่อทรงสงสารคนโรคเรื้อน (มก 1:41) และเมื่อทรงเห็นประชาชนที่เหน็ดเหนื่อย และถูกทอดทิ้งเหมือนแกะที่ปราศจากคนเลี้ยง (มธ 14:14, 15:32)...

    ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงระบุจำนวนมหาศาลของหนี้ พระองค์ทรงต้องการบอกเราว่า พระเจ้าทรงมีความเมตตาไร้ขอบเขต และทรงสามารถให้อภัยได้ทุกสิ่งทุกอย่าง

    ความชั่วที่สะสมอยู่ในโลกนี้มากมายเหลือคณา แต่พระเจ้าทรงสงสาร และทรงยกหนี้ทั้งหมดให้ ... พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นนี้เอง...

“ขณะที่ผู้รับใช้ออกไป ก็พบเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน ซึ่งเป็นหนี้เขาอยู่ไม่กี่พันบาท (หนึ่งร้อยเหรียญ) เขาเข้าไปคว้าคอบีบไว้แน่น พูดว่า ‘เจ้าเป็นหนี้ข้าอยู่เท่าไร จงจ่ายให้หมด’ เพื่อนคนนั้นคุกเข่าลงอ้อนวอนว่า ‘กรุณาผลัดหนี้ไว้ก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะชำระหนี้ให้’ แต่เขาไม่ยอมฟัง นำลูกหนี้ไปขังจนกว่าจะชำระหนี้ให้หมด”

    ชายคนนี้ต่ำช้าจริง ๆ! เขาไม่เข้าใจคุณความดีที่เขาเพิ่งจะได้รับมาจากกษัตริย์เลย ... เขาไม่ฟังคำอ้อนวอนของเพื่อนผู้รับใช้ ซึ่งอ้อนวอนเขาด้วยถ้อยคำเดียวกับที่เขาเองใช้อ้อนวอนกษัตริย์ ... เขาเรียกร้องให้ชดใช้หนี้จำนวนเล็กน้อย คือหนึ่งในหกแสนส่วนของหนี้ที่กษัตริย์ยกให้เขา ... ชายคนนี้โหดร้ายผิดมนุษย์จริง ๆ ... เป็นธรรมดาที่ผู้ฟังเรื่องอุปมานี้ย่อมไม่พอใจกับความอยุติธรรมเช่นนั้น...

“เพื่อนผู้รับใช้อื่น ๆ เห็นดังนั้นต่างสลดใจมาก จึงนำความทั้งหมดไปทูลกษัตริย์ พระองค์จึงทรงเรียกชายผู้นั้นมา ตรัสว่า ‘เจ้าคนสารเลว ข้ายกหนี้สินของเจ้าทั้งหมดเพราะเจ้าขอร้อง เจ้าต้องเมตตาเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน เหมือนกับที่ข้าได้เมตตาเจ้ามิใช่หรือ’ กษัตริย์กริ้วมาก ตรัสสั่งให้นำผู้รับใช้นั้นไปทรมานจนกว่าจะชำระหนี้หมดสิ้น”

    เราไม่ควรสนใจแต่รายละเอียดของคำบอกเล่า แต่ควรสนใจที่สาระของเรื่อง ... กษัตริย์องค์นี้ไม่ใช่กษัตริย์ทั่ว ๆ ไป พระองค์กลายเป็นผู้พิพากษาแห่งกาลอวสานไปในทันทีทันใด – ทรงเป็นกษัตริย์ผู้พิพากษาประชากรของพระองค์โดยตัดสินจากความรักที่เขาแสดงต่อกัน (มธ 25:31-46)...

    เราไม่ได้ลืมคำถามที่เปโตรถามพระเยซูเจ้าก่อนหน้านี้ และเรายังคิดถึงความยากในการให้อภัย ... พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเรียกร้องให้เราปฏิบัติตามหลักเหตุผลทางสังคม หรือหลักจริยธรรมอันสูงส่งใด ๆ แต่ทรงบอกเราว่า เราควรให้อภัยกันและกัน เพราะเราทุกคนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการให้อภัยของพระเจ้า  ดังนั้น ถ้าเราต้องการมีความสามารถคืนดีกันได้ เราต้องปฏิบัติตามแบบฉบับของพระเจ้า เราจะสามารถให้อภัยผู้ที่ทำผิดต่อเราได้ เมื่อเรารู้ตัวว่าเราเองก็เคยได้รับการอภัยมาแล้วกี่ครั้งกี่หน ... ความรักอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระเจ้าต่อเราต้อง “สะท้อนกลับ” ไปหาเพื่อนมนุษย์ของเรา...

    ขอให้เราอย่าด่วนตัดสินนักว่าอุปมาเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรา หรืออย่าหาข้อแก้ตัวที่เราไม่ยอมให้อภัย ... พระวรสารตอนนี้ท้าทายเราแต่ละคน...

    ข้าพเจ้ามีความกล้าหาญพอจะสำรวจชีวิตของข้าพเจ้าเองอย่างจริงใจหรือไม่ ... ข้าพเจ้ากล้าจะใส่ชื่อ และใบหน้าของบุคคลลงในอุปมาเรื่องนี้หรือไม่...

“พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะกระทำต่อท่านทำนองเดียวกัน ถ้าท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจจริง”

    ข้อคิดนี้ต้องสำคัญมาก ... สำคัญจนพระเยซูเจ้าทรงขอให้เราเอ่ยออกมาทุกวันในการภาวนาของเรา “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” (มธ 6:12-14) “ท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าจะทรงใช้ทะนานนั้นตวงให้ท่าน” (มธ 7:2; ลก 6:38)...

    พระเจ้าไม่ทรงลงโทษใคร – มนุษย์ต่างหากที่ลงโทษตนเอง พระเจ้าทรงรักผู้รับใช้ใจร้ายคนนี้ และทรงพร้อมจะให้อภัยเขาอีกครั้งหนึ่ง – แต่เขาเองต่างหากที่ไม่ยอมรับการให้อภัยนั้นด้วยการปฏิเสธที่จะให้อภัยผู้อื่น ... นรกคือสถานที่ซึ่งปราศจากความรัก

    พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราด้วยความเมตตาว่าการไม่มีความรักให้ผู้ใดนั้นน่ากลัวอย่างยิ่ง ... ดังนั้น เราจงให้อภัยเถิด!