วันอาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา
เอเสเคียล 33:7-9; โรม 13:8-10; มัทธิว 18:15-20
บทรำพึงที่ 1
ความกล้าพูด
มีบางครั้งในชีวิตของเราที่เราต้องกล้าพูดต่อต้านความชั่ว แม้ว่าอาจเป็นเหตุให้เราต้องลำบากก็ตาม
ดร. คาร์ล เมนนิงเกอร์ เป็นจิตแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในอเมริกา อันที่จริง เขาได้รับสมญาว่าคณบดีของจิตเวชแห่งอเมริกา
เมื่อหลายปีก่อน ดร. เมนนิงเกอร์ ทำให้เพื่อนร่วมอาชีพประหลาดใจเมื่อเขาเขียนหนังสือชื่อ Whatever Became of Sin (เกิดอะไรขึ้นกับบาป) จิตแพทย์ไม่น่าเป็นบุคคลที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับบาป แต่ ดร. เมนนิงเกอร์ไม่เหมือนกับจิตแพทย์ทั่วไป
ในหนังสือของเขา เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ยากจะลืม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างบ่ายวันศุกร์ในเดือนพฤษภาคม 1915 เขาเป็นนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมื่อเขาได้ยินข่าวว่าทหารเยอรมันได้ยิงตอร์ปิโดใส่เรือลูซิตาเนีย ซึ่งควรเป็นเรือบรรทุกผู้โดยสารของสหรัฐอเมริกา
เมนนิงเกอร์กล่าวต่อไปว่า การโจมตีเรือลำนั้นด้วยตอร์ปิโด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1
สามสิบปีต่อมา ความจริงก็ถูกเปิดเผย เรือลูซิตาเนียกำลังบรรทุกยุทโธปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาก็รู้เรื่องนี้ แต่เขาปิดบังความจริงข้อนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกต่อต้านประเทศเยอรมนี และนำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม
ท่ามกลางเรื่องอัปยศนี้ มีบุคคลหนึ่งที่แสดงความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษ เขาคือวุฒิสมาชิก ลา โฟเลท ของวิสคอนซิน เขาประกาศต่อสาธารณชนว่า เรือลูซิตาเนียกำลังขนอาวุธยุทโธปกรณ์ และประธานาธิบดีก็รู้เรื่องนี้
วุฒิสภาขู่ว่าจะปลด ลา โฟเลท ที่ได้แถลงการณ์เช่นนั้น ลา โฟเลท ต่อสู้ด้วยการขอให้เปิดเผยรายการสินค้าที่บรรทุกอยู่บนเรือลูซิตาเนีย และคำร้องขอของเขาถูกปฏิเสธ
ดัดลี ฟิลด์ มาโลน ผู้เป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในนครนิวยอร์ก เสนอว่าจะเป็นพยานให้ ลา โฟเลท และเปิดเผยรายการสินค้าบนเรือลูซิตาเนีย เมื่อวุฒิสภาได้ยินเช่นนี้ เขาก็ถอนข้อกล่าวหาต่อ ลา โฟเลท
วุฒิสมาชิก ลา โฟเลท เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐไม่กี่คนที่ไม่ยอมสนับสนุนความเท็จอันร้ายแรงนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวอเมริกันนับล้านคนเสียชีวิต และพิการระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1
เรื่องนี้ช่วยอธิบายคำสั่งสอนทั้งสามข้อจากบทอ่านประจำวันนี้คือ
มีบางเวลาที่เราต้องกล้าพูดต่อต้านความชั่วอย่างสุดกำลัง มีบางเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่มีส่วนร่วมกระทำความผิด มีบางเวลาที่เราไม่สามารถสงบปากสงบคำเมื่อเผชิญหน้ากับความชั่ว
นอกจากนี้ เราต้องกล้าพูดต่อต้าน แม้ว่าเราอาจกลายเป็นบุคคลที่ผู้อื่นรังเกียจ นี่คือส่วนหนึ่งของราคาที่เราต้องจ่ายในการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้า
รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของบริเตน ชื่อ เอ็ดมันด์ เบิร์ก เคยกล่าวว่า “สิ่งเดียวที่ทำให้ความชั่วแพร่กระจายก็คือคนดีไม่กล้าพูด” นี่คือประเด็นที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนในพระวรสารวันนี้
เรื่องของ ดร. เมนนิงเกอร์ กล่าวถึงบุคคลสามคนที่ไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อเผชิญกับความชั่ว
ดร. เมนนิงเกอร์ กล้าพูดเกี่ยวกับบาป ซึ่งเป็นหัวข้อที่เพื่อนร่วมอาชีพไม่เห็นด้วย วุฒิสมาชิก ลา โฟเลท กล้าเปิดโปงความเท็จ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เขาเกือบจะสูญเสียตำแหน่งวุฒิสมาชิก ดัดลี ฟิลด์ มาโลน กล้าพูดปกป้อง ลา โฟเลท เมื่อดูเหมือนว่าท่านวุฒิสมาชิกกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว มีความจริงสามข้อที่เราต้องคำนึงถึง เมื่อเราพูดต่อต้านความชั่ว ไม่ว่าในที่สาธารณะ หรือเป็นส่วนตัว
ข้อแรกคือ เราต้องพูดด้วยปฏิภาณและความละเอียดอ่อน อย่างที่เคยมีบทเพลงกล่าวว่า “ทำอะไร ไม่สำคัญเท่ากับทำอย่างไร”
เช่น มารดาคนหนึ่งจะจับมือหรือกอดลูกของเธอเสมอ เมื่อเธอตำหนิหรือสั่งสอนลูก และมารดาอีกคนหนึ่งไม่อยากเผชิญหน้ากับบุตรชายวัยรุ่นเกี่ยวกับปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้น เธอจึงใช้วิธีเขียนจดหมายถึงเขา เมื่อใดที่เกิดปัญหาทำนองนี้ วิธีนี้ทำให้เธอสงบสติอารมณ์ และเลือกคำพูดอย่างระมัดระวัง และตักเตือนเขาด้วยความรัก
และมีบิดาคนหนึ่งที่พาบุตรวัยรุ่นของเขาออกไปทานอาหารค่ำนอกบ้าน เมื่อเขามีเรื่องสำคัญจะพูดกับบุตร
ดังนั้น ความจริงข้อแรกเกี่ยวกับการพูดต่อต้านก็คือเราต้องพูดด้วยความรักและปฏิภาณ
ความจริงข้อที่สอง คือ บ่อยครั้งที่การเผชิญหน้าทำให้เกิดผลดีตามมา ดังที่เราจะเห็นได้จากเรื่องต่อไปนี้
เมื่อหลายปีก่อน หนังสือพิมพ์ดัลลัส มอร์นิ่งนิวส์ ได้ตีพิมพ์เรื่องของนักกีฬาว่ายน้ำชื่อ เจฟฟ์ คอสตอฟ ผู้หวังว่าจะเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
คู่มือกีฬาว่ายน้ำของสแตนฟอร์ดระบุสถิติ และเหรียญรางวัลมากมายของเจฟฟ์ยาวเต็มหนึ่งหน้ากระดาษ แต่สิ่งที่ไม่ระบุอยู่ในรายการนี้คือบทบาทของเพื่อนสนิทของเจฟฟ์ในโรงเรียนมัธยม ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในกีฬาว่ายน้ำของเขา เจฟฟ์พูดถึงเพื่อนของเขาว่า “เขาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเหมือนกัน แต่เขาไม่ค่อยเก่งนัก เขาเห็นว่าผมมีความสามารถ และหว่านล้อมให้ผมเลิกใช้ชีวิตเสเพล และหันมาทุ่มเทให้กีฬาว่ายน้ำอย่างจริงจัง”
เจฟฟ์เพิ่งจะรู้ในเวลานี้ว่าเพื่อนของเขาช่วยเขาอย่างไรด้วยการพูดกับเขาตรง ๆ และในเวลานี้เองที่เพื่อนของเจฟฟ์ ได้รับรางวัลที่เขากล้าพูดอย่างตรงไปตรงมากับเจฟฟ์
ดังนั้น ความจริงข้อที่สองเกี่ยวกับความกล้าพูดก็คือรางวัลของความกล้าพูด ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการเผชิญหน้า
ความจริงข้อที่สามก็คือ ถ้าเรากล้าประณามความชั่วในเวลานี้ พระเยซูเจ้าจะทรงปกป้องเราในภายหลัง พระเยซูเจ้าตรัสแก่ศิษย์ของพระองค์ว่า “ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 10:32) เมื่อเราประณามความชั่ว หมายความว่าเรายอมรับพระเยซูเจ้าต่อหน้าผู้อื่น เพราะเราประกาศว่าเราเป็นศิษย์ของพระองค์
หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อเรากล้าประณามความชั่ว หมายความว่าเรายืนหยัดเคียงข้างพระเยซูเจ้าในชีวิตนี้ และได้รับคำสัญญาจากพระองค์ว่าพระองค์จะทรงยืนหยัดเคียงข้างเราในชีวิตหน้า
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาที่ย่อความทั้งหมดข้างต้นนี้
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้กล้าประณามความชั่ว
โปรดประทานปรีชาญาณให้เราพูดแต่สิ่งที่ถูกต้อง
และพูดอย่างถูกต้อง
โปรดประทานความกล้าหาญให้เราตระหนักว่าสิ่งที่เราพูด
อาจไม่บังเกิดผล จนเวลาผ่านไปนานหลายปีหลังจากเราพูด
พระเจ้าข้า ท้ายที่สุด เมื่อเราถูกประจญให้สงบปากสงบคำ
และไม่ประณามความชั่ว
โปรดทรงเตือนเราให้ระลึกถึงคำสัญญาของพระองค์
ว่าผู้ใดยอมรับพระองค์ต่อหน้าผู้อื่น
พระองค์จะทรงยอมรับเขาเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์ด้วย
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 18:15-20
พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา”
บทอ่านจากพระวรสารวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำปราศรัยสำคัญครั้งที่สี่ของพระเยซูเจ้าในพระวรสารของมัทธิว เป็นคำเทศน์สอนเกี่ยวกับ “ชีวิตหมู่คณะ”
“หมู่คณะ” ในที่นี้ มัทธิวหมายถึงกลุ่มคริสตชนที่มาชุมนุมกันทุกวันอาทิตย์ในพิธีบูชาขอบพระคุณ ซึ่งกลายเป็น “พระศาสนจักรท้องถิ่น” เราเห็นได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงยอมรับความเป็นจริงมาตั้งแต่แรก “ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด” ... พระศาสนจักรไม่ใช่ชุมชน “นักบุญผู้ไร้ตำหนิ” แต่เป็นชุมชน “คนบาป” ... พระเยซูเจ้าทรงเล็งเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่าคริสตชนก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่น ๆ – ดังที่เราได้ยินบ่อย ๆ - พระศาสนจักรประกอบด้วยกลุ่มมนุษย์ผู้อ่อนแอ ไม่ต่างจากสังคมอื่น ๆ ทางโลก พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงฝันว่าพระศาสนจักรของพระองค์จะเป็นชุมชนที่ปราศจากปัญหา เพราะพระองค์จะทรงบอกวิธีแก้ปัญหาซึ่งจะต้องเกิดขึ้นวันใดวันหนึ่งในชุมชนมนุษย์...
พระดำรัสของพระเยซูเจ้าในที่นี้ เป็นคำสั่งสอนที่ใช้ได้กับทุกสภาพแวดล้อมในชีวิต คือ ทั้งในครอบครัว ทีมงาน สมาคม กลุ่มมิตรสหาย และเพื่อนร่วมอาชีพ ... ความตึงเครียด ความขัดแย้ง และการต่อสู้กันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อเริ่มต้น ทุกสิ่งทุกอย่างอาจดูเหมือนเรียบง่ายและราบรื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป และความกระปรี้กระเปร่าในตัวแต่ละคนเริ่มลดลง ย่อมมีความเสี่ยงที่กลุ่มบุคคลนั้นจะแตกแยก ถ้าไม่มีใครสนใจความสามัคคี และความสนิทสัมพันธ์...
ไม่มีกลุ่มบุคคลใดที่ได้รับการปกป้องให้พ้นจากบาป และจากความเลวทรามของมนุษย์ – แม้แต่พระศาสนจักรเอง! ... “ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด ...” ในกรณีนี้ เราควรทำอย่างไร...
“จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา”
สิ่งที่เราเห็นได้ทันทีจากข้อความเหล่านี้ มิใช่การตัดสินกัน แต่เป็นความรัก
น่าเสียดายที่มีบุคคลที่ทำตัวเป็น “ผู้แก้ไขสิ่งผิด” ที่เข้าไปจุ้นจ้านในทุกเรื่อง และพร้อมเสมอที่จะสอนบทเรียนให้ผู้อื่น โดยใช้วิธีวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นระบบ ... แต่การประณามคนบาป และทำให้เขาอับอาย ย่อมเป็นการกระทำที่บิดเบือนแนวคิดของพระเยซูเจ้า เพราะพระวรสารทั้งฉบับบอกเราในทางตรงกันข้าม ... อันที่จริง บริบทของ “คำเทศน์เกี่ยวกับชีวิตหมู่คณะ” นี้บอกให้เราคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น และแสดงความเมตตาต่อ “พี่น้อง” พระเยซูเจ้าทรงเพิ่งจะเล่าอุปมาเรื่องแกะที่พลัดหลง “จงอย่าดูแคลนคนต่ำต้อยเหล่านี้ ... จงทำตัวเหมือนคนเลี้ยงแกะที่ออกตามหาแกะตัวหนึ่งที่หลงทางนั้นเถิด ... พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ก็ไม่ทรงปรารถนาให้คนธรรมดา ๆ เหล่านี้แม้เพียงผู้เดียวต้องพินาศไป” (มธ 18:10-14) ... และหลังจากคำสั่งสอนเรื่อง “การตักเตือนกันฉันพี่น้อง” นี้ พระเยซูเจ้าจะทรงขอให้เปโตร “ยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” (มธ 18:21-22) หลังจากนั้น พระองค์ทรงประณามทัศนคติของ “ผู้รับใช้ที่ไร้เมตตา” ที่ไม่ยอมยกหนี้ให้เพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน (มธ 18:23-25)...
ดังนั้น ถ้าเราจะตักเตือนพี่น้อง ก็ต้องตักเตือนเขาด้วยความรัก เราไม่มีสิทธิพูดตักเตือนพี่น้องของเรา ยกเว้นเมื่อเรารักเขา ... พระวรสารแทบจะตะโกนบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเมตตากรุณาคนบาป...
“จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง” ... “ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา”...
เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงปรารถนาให้เราใช้วิธีนี้แก้ไขความขัดแย้งทุกครั้ง ... เมื่อมนุษย์คนหนึ่งได้พี่น้องกลับคืนมา สวรรค์จะลงมาอยู่บนแผ่นดิน ... นี่คือทางออกที่น่ายินดีอย่างยิ่ง...
“ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย คำพูดของพยานสองคน หรือสามคนจะได้จัดเรื่องราวให้เรียบร้อย”
“ถ้าเขาไม่ยอมฟังพยาน จงแจ้งให้หมู่คณะรู้”...
พระเยซูเจ้าทรงบอกวิธีจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก่อนอื่น ให้ตักเตือนกันอย่างเปิดอก แต่ให้พูดกันตามลำพังสองคน เพื่อว่าถ้าเป็นไปได้ ผู้อื่นจะไม่รู้เรื่องความผิดนั้น และผู้กระทำผิดจะรักษาเกียรติและชื่อเสียงไว้ได้ ... จากนั้น ให้ขอร้องพี่น้องคนอื่นให้เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเพื่อจะไม่ตัดสินอย่างมีอคติ และเพื่อหาเหตุผลโต้แย้งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ... และทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตร และเกิดความปรองดอง
แต่เมื่อการตักเตือนทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ผล เมื่อนั้น จึงต้องแจ้งให้ผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจทราบ
“ถ้าเขาไม่ยอมฟังหมู่คณะอีก จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนา หรือคนเก็บภาษีเถิด”
การลงโทษเช่นนี้น่าตกใจ เมื่อออกมาจากปากของบุคคลที่ประชาชนเรียกว่า “เพื่อนของคนเก็บภาษี และคนบาป” (มธ 11:19) ... ที่ต้องใช้วิธีลงโทษอย่างรุนแรงก็เพราะเราได้ทำทุกทางเท่าที่ทำได้แล้วเพื่อช่วยพี่น้องคนนี้ และไม่อาจทำอะไรมากกว่านี้ได้ ... อาจถึงกับกล่าวได้ว่าพี่น้องคนนี้ได้ตัดขาดตนเองจากหมู่คณะแล้วด้วยการไม่ยอมฟัง – ถึงสามครั้ง – เขาได้ปัดมือที่ยื่นไปช่วยเหลือเขา ... หลังจากได้ให้โอกาสเขาด้วยความอดทนแล้ว หมู่คณะต้องยอมรับว่าไม่สามารถทำอะไรอื่นได้อีกเพื่อพี่น้องคนนี้
แต่เราต้องเสริมว่า แม้แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดเช่นนี้ เราก็ยังไม่พ้นจากหน้าที่ที่ต้องรักคนบาปคนนั้น ... เพราะเราต้องรัก “แม้แต่ศัตรูของเรา” (มธ 5:43-48) ... ท้ายที่สุด ในบทอ่านที่สองของวันอาทิตย์นี้ นักบุญเปาโลเตือนใจเราว่า “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” (รม 13:8) – หนี้ความรักเป็นหนี้ที่ชดใช้ไม่มีวันหมด...
“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกในโลก จะผูกไว้ในสวรรค์ และทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในโลก ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเป็นเพียงผู้สั่งสอนหลักศีลธรรม นักปราชญ์ หรือผู้มีความเมตตากรุณา คำแนะนำที่เราได้ยินจนถึงจุดนี้เป็นหลักการของจิตวิทยาขั้นพื้นฐานที่นำมาใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์ของมนุษย์ ... แต่บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงเพิ่มเติมมิติทางเทววิทยาเข้าไปด้วย พระองค์ทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกที่ซ่อนอยู่ กล่าวคือ พระเจ้าทรงประทับอยู่ในความพยายามช่วยพี่น้องคนหนึ่งของเราให้รอดพ้น ... สวรรค์มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์!
เนื่องจากพระเจ้าไม่ทรงต้องการสูญเสียแกะแม้แต่ตัวเดียว การตักเตือนกันฉันพี่น้องจึงกลายเป็นช่องทางนำพระเมตตาของพระเจ้าลงมาสู่โลก ... มนุษย์หลายคนจะค้นพบ “การให้อภัยของพระเจ้า” (บนสวรรค์) เพียงเมื่อเขาค้นพบพี่น้อง (บนโลก) ผู้แสดงความรักต่อเขาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเขาให้ได้รับความรอดพ้น...
อำนาจใน “การผูก และการแก้” ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้แก่เปโตรเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ (มธ 16:198) บัดนี้ ทรงมอบหมายให้ทั้งหมู่คณะโดยใช้ถ้อยคำเดียวกัน (มธ 18:18) ... พระศาสนจักรเป็นสถานที่แสดงความเมตตาของพระเจ้า
มีความเห็นพ้องกันระหว่างโลกและสวรรค์ ... มีความเห็นพ้องกันระหว่างกาลเวลาและนิรันดรกาล...
นี่คือการเปิดเผยของพระเยซูเจ้า สิ่งใดที่เราผูก หรือแก้บนโลกนี้ในเวลานี้ ... จะถูกผูก หรือแก้ในพระเจ้าตลอดไป ... และมิใช่สำหรับเราเท่านั้น แต่สำหรับผู้อื่นด้วย...
พระศาสนจักรเป็นหมู่คณะ ซึ่งสมาชิกแต่ละคนต้องรับผิดชอบชีวิตความเชื่อของสมาชิกคนอื่น ๆ ... เราตระหนักหรือไม่ว่าเรามีความรับผิดชอบต่อกัน ระหว่างคู่สมรส ระหว่างบิดามารดา และบุตร เป็นต้น ... ตามปกติ เราค่อนข้างจะขี้ขลาด และไม่สนใจเรื่องความเชื่อของผู้อื่น...
เราจำเป็นต้องถามว่าบุตรจำนวนมากเท่าไรที่ละทิ้งความเชื่อของบิดามารดา...
พี่น้องจำนวนมากเท่าไรที่กำลังจะละทิ้งชุมชนแห่งความเชื่อ...
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะสิ้นหวังหรือ...
“เราบอกความจริงแก่ท่านอีกว่า ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้”
พระเยซูเจ้าตรัสโดยใช้สำนวนเดิมว่า “เราบอกความจริงแก่ท่าน” ซึ่งบ่อยครั้งเป็นข้อบ่งชี้ว่าข้อความต่อจากนั้นเป็นการเปิดเผยธรรมล้ำลึก ซึ่งซ่อนเร้นจากการสังเกตของมนุษย์ ... พระองค์ทรงย้อนกลับมาตรัสถึง “ความเห็นพ้อง” ระหว่างสวรรค์ และโลกอีกครั้งหนึ่ง...
เมื่อเราไม่เห็นผลของความพยายามของเราในการช่วยเหลือพี่น้องคนบาป ผู้ปฏิเสธกระแสเรียกของคริสตชนให้แสวงหาความศักดิ์สิทธิ์ เราควรสิ้นหวังหรือ พระเยซูเจ้าทรงตอบเราว่า “มิได้” ...
พระองค์ทรงบอกเราว่า พระศาสนจักรไม่ใช่สังคมเหมือนกับสังคมอื่น ๆ เพราะชุมชนแห่งความเชื่อนี้พึ่งพาอาศัยความพยายามของมนุษย์ (ซึ่งอาจจบลงด้วยความล้มเหลว) น้อยกว่าพึ่งพาอาศัยพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ ... พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราเชื่อในประสิทธิภาพของการภาวนา ประสิทธิภาพนี้ซ่อนอยู่ในสวรรค์ และมนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้...
การภาวนานี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย ... เนื่องจากเราได้ลองทุกทางมาแล้ว แต่นี่คือหนทางสุดท้าย ... และพระเยซูเจ้าทรงขอให้เราเชื่อว่าการภาวนามีประสิทธิภาพ สำหรับบิดามารดาหลายคน พระวาจาของพระเยซูเจ้าควรเป็นแสงสว่างสุดท้าย แม้ว่าเราไม่อาจพิสูจน์ยืนยันได้ก็ตาม “ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันภาวนา ... พระบิดาในสวรรค์จะทรงสดับฟังคำภาวนาของท่าน”...
“เพราะว่าที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา”
พระศาสนจักรเป็นชุมชนมนุษย์ที่เป็นคนบาปไม่ต่างจากมนุษย์อื่น ๆ แต่ไม่ใช่สังคมที่เหมือนกับสังคมอื่น ๆ เพราะพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ประทับอยู่ในชุมชนนี้พร้อมกับอำนาจพระเจ้าของพระองค์ พระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางกลุ่มบุคคลที่มาชุมนุมกันในพระนามของพระองค์...
เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไม่ได้ตรัสเพียงในแง่ของศีลธรรม สังคม หรือมนุษย์ ... เรากำลังพูดถึงความเชื่อ ... ความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรอยู่เหนือความขัดแย้งที่ทำให้มนุษย์แตกแยก ... เราต้องพยายามทุกทางที่จะคืนดีกัน แต่เมื่อเรายื่นมือออกไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ เราก็ยังเชื่อได้อีกว่า “สำหรับมนุษย์เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้” (มธ 17:20, 19:26; ลก 1:27)...
นี่คือความฝันที่ไร้สาระหรือ ... เป็นภาพลวงตาหรือ...
เปล่าเลย นี่คือเคล็ดลับของการมองโลกในแง่ดี จนถึงกับเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนใด หรือสถานการณ์ใดที่สายเกินกว่าจะแก้ไขได้ (1 คร 8:11)...
ข้าพเจ้าจะสิ้นหวังกับพี่น้องคนนี้ได้อย่างไรเมื่อ “เขาเป็นพี่น้อง ซึ่งพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเขา”