แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 18 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 55:1-3; โรม 8:35, 37-39; มัทธิว 14:13-21

บทรำพึงที่ 1
นักโทษชาวอาร์เจนตินา
บ่อยครั้ง พระเจ้าทรงใช้เรื่องเศร้า และการทดลองเพื่อสร้างเสริมให้เราเป็นคนดีกว่าเดิม

    เมื่อไม่นานมานี้ นักข่าวหญิงคนหนึ่งได้สัมภาษณ์ชายหนุ่มคนหนึ่งจากประเทศอาร์เจนตินา เขาถูกรัฐบาลทหารจำคุกเป็นเวลาหกปี โดยไม่มีการพิจารณาคดี

    ระหว่างที่ถูกจองจำ ชายหนุ่มคนนี้ถูกทรมานและถูกขังเดี่ยวเป็นเวลานาน ผู้สัมภาษณ์ถามเขาว่าเขารู้สึกโกรธหรือไม่ที่เขาต้องทนทุกข์ทรมาน และสูญเสียช่วงเวลาหกปีในชีวิตของเขา

    เขาทำให้เธอแปลกใจเมื่อเขาตอบว่า “ผมไม่ถือว่าเป็นหกปีที่สูญเปล่า ผมฉวยโอกาสนี้ปรับปรุงตนเองให้เข้มแข็ง และทำให้ความสัมพันธ์ของผมกับพระเจ้าลึกซึ้งมากขึ้น”

    ปฏิกิริยาของชายหนุ่มช่วยให้เราเข้าใจว่าเปาโลหมายถึงอะไรในบทอ่านที่สองประจำวันนี้ เมื่อเขาเขียนว่า “ใครจะพรากเราจากความรักของพระคริสตเจ้าได้ ความทุกข์ลำเค็ญหรือ ความคับแค้นใจหรือ การเบียดเบียนข่มเหงหรือ”

    แล้วเปาโลก็ตอบคำถามของเขาเองว่า “ไม่ว่าความตายหรือ ... ฤทธิ์อำนาจ ... ไม่มีสรรพสิ่งใด ๆ จะพรากเราได้จากความรักของพระเจ้า ซึ่งปรากฏในพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา”

    เปาโลชี้ประเด็นอย่างชัดเจน ไม่มีคุกใดในโลกที่แข็งแรงแน่นหนาจนความรักของพระเจ้าทะลวงเข้าไปไม่ได้ ไม่มีเรื่องเศร้าใด ๆ ในชีวิตที่หนักหนาจนความรักของพระเจ้าไม่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นประโยชน์ได้ ไม่มีความทุกข์ยากใดในโลกที่สาหัสจนความรักของพระเจ้าไม่สามารถใช้สร้างเสริมให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้

    อันที่จริง บ่อยครั้งที่พระเจ้าทรงใช้เรื่องเศร้า และการทดลองในชีวิตของเรา เป็นเครื่องมือเตรียมเราให้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่เราคงไม่สามารถทำได้ถ้าเราไม่เคยประสบกับการทดลองเหล่านี้มาก่อน

    พระบิดาสวรรค์ของเราไม่เคยพรากสิ่งใดไปจากเรา เว้นแต่ว่าด้วยการทำเช่นนั้น พระองค์สามารถประทานบางสิ่งที่ดีกว่าให้แก่เรา พระองค์ไม่เคยลบล้างบางสิ่งออกไปจากชีวิตของเรา เว้นแต่ว่าทรงต้องการจารึกบางสิ่งบางอย่างที่งดงามกว่า แทนที่สิ่งนั้น

    ผู้ผลิตไวโอลินที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเคยกล่าวว่า ไม้ที่ดีที่สุดสำหรับทำไวโอลิน มาจากไม้ด้านที่หันไปทางทิศเหนือ เพราะไม้ด้านนั้นต้องต้านลมเหนือที่หนาวเย็นจนเนื้อไม้แกร่ง และทำให้เกิดเสียงพิเศษอย่างที่ไม่มีไม้อื่นใดเลียนแบบได้

    นี่คือความจริงสำหรับมนุษย์เช่นกัน บางครั้ง เสียงดนตรีที่ไพเราะที่สุดในโลกของเรามาจากบุคคลที่ผ่านความทุกข์ทรมาน เหตุการณ์ร้าย ๆ และการทดลองต่าง ๆ เช่น แฮนเดิลประพันธ์เพลง Hallelujah Chorus ที่โด่งดังของเขาขณะที่เขายากจนมาก และกำลังเป็นอัมพาตที่แขนขวา และซีกขวาของร่างกาย

    บีโธเฟนเป็นบุตรของชายที่ติดสุรา เขาสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินเมื่ออายุ 28 ปี และเมื่อเขาควบคุมการบรรเลง ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเขาเป็นครั้งแรกนั้น เขาไม่ได้ยินเสียงดนตรีเลย และไม่ได้ยินเสียงปรบมือกึกก้องภายหลังการแสดงด้วย

    หรือลองนึกถึงจิตรกรชาวฝรั่งเศสชื่อมิเยท์ เมื่อเขาวาดภาพ Angelus เขาบันทึกว่า “เรามีเชื้อเพลิงเหลือพอใช้อีกเพียงสองสามวัน และเขาจะไม่ให้เราอีกแล้ว นอกจากเราจะรวบรวมเงินได้มากพอจ่าย” แต่มือที่หนาวจนแทบจับพู่กันไม่ได้นี้สามารถวาดภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งของโลก

    ตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง Little Big Man เป็นฉากที่น่าประทับใจมาก ชายชราอินเดียนแดงคนหนึ่งชื่อ Old Lodgeskins กำลังป่วย และตามองไม่เห็นแล้ว ขณะที่เขาเตรียมตัวตาย เขาภาวนาต่อพระเจ้าด้วยข้อความทำนองนี้ว่า

    “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบคุณพระองค์ที่ทรงสร้างข้าพเจ้าขึ้นมาให้เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ข้าพเจ้าขอบคุณพระองค์ที่ประทานชีวิตแก่ข้าพเจ้า และประทานดวงตาให้ข้าพเจ้ามองเห็น และชื่นชมโลกของพระองค์ แต่ข้าพเจ้าขอบคุณพระองค์มากที่สุดสำหรับการป่วย และตาที่มองไม่เห็นของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้มากกว่าจากสุขภาพ และสายตา”

    เราจะย้อนกลับมาหาชายหนุ่มในคุกที่อาร์เจนตินา เขาสามารถทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้าเจริญงอกงามได้ และทำให้ตัวเขาเองเจริญเติบโตในฐานะบุคคลหนึ่งอีกด้วย แม้ว่าเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัว เขาทำเช่นนี้ได้เพราะเขาเลือกที่จะเปิดใจของเขาต่อพระเจ้า และยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานแก่เขา

    และเขาทำเช่นนี้โดยไม่รู้สึกขมขื่น โดยไม่รู้สึกสงสารตนเอง หรือบ่น

    ถ้าพระเจ้าจะทรงใช้ความทุกข์ยาก และเรื่องเศร้าในชีวิตของเรา เพื่อช่วยให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์แน่นแฟ้นมากขึ้น และให้เราเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น เราก็ควรทำเหมือนกับชายหนุ่มคนนี้ เราต้องเปิดใจของเราอย่างสิ้นเชิงต่อพระเจ้า

    เราต้องทำอย่างที่บรรดาอัครสาวกทำในพระวรสารวันนี้ เราต้องมอบขนมปังห้าก้อน และปลาสองตัวของเราให้แก่พระองค์ และยอมให้พระองค์ทรงกระทำต่อสิ่งเหล่านี้ตามที่พระองค์ทรงต้องการ

    ถ้าเราทำได้เช่นนี้ เราย่อมมั่นใจได้ว่าพระองค์จะทรงทวีจำนวนสิ่งใดก็ตามที่เรามอบให้พระองค์ จนเกินจินตนาการของเรา
    สิ่งสำคัญคือหัวใจที่เปิดกว้าง
    สิ่งสำคัญคือหัวใจที่วางใจ
    สิ่งสำคัญคือหัวใจที่เชื่อ
    สิ่งสำคัญคือหัวใจที่รัก

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอนเก่าแก่ของนักประพันธ์นิรนามชื่อ “หน้ากระดาษที่พับไว้” ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่ามีข้อความดังนี้

    ในห้องใต้หลังคา ขณะที่ฝนตกเสียงดังเปาะแปะ
    ฉันนั่งพลิกตำราเรียนเล่มเก่า
    ที่ฝุ่นจับ ยับ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

    ฉันพลิกมาถึงหน้าหนึ่งที่พับไว้
    บนหน้ากระดาษมีลายมือเด็กบันทึกว่า
    “คุณครูบอกให้พักเรื่องนี้ไว้ก่อน
    เพราะเข้าใจยาก”

    ฉันเปิดหน้านั้น และอ่าน
    แล้วฉันก็ผงกศีรษะ และพูดว่า
    “คุณครูพูดถูก – บัดนี้ ฉันเข้าใจแล้ว”

    ในตำราชีวิต มีหลายหน้าที่เข้าใจยาก
    เราเพียงต้องพับหน้านั้นไว้ก่อน และบันทึกว่า
    “คุณครูบอกให้พักเรื่องนี้ไว้ก่อน
    เพราะเข้าใจยาก”

    แล้ววันหนึ่ง – บางทีอาจเป็นวันที่เราอยู่บนสวรรค์แล้ว –
    เราจะเปิดหน้านั้นออก และอ่าน และพูดว่า
    “คุณครูพูดถูก – บัดนี้ ฉันเข้าใจแล้ว”

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 14:13-21

เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบข่าวนี้ (ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ถูกประหารชีวิต) พระองค์เสด็จออกจากที่นั่น ลงเรือไปยังที่สงัดตามลำพัง

    บทอ่านวันนี้บอกเล่าเรื่องราวหลังจากการทวีขนมปัง ทำให้เรารู้บริบทของเหตุการณ์ คือพระเยซูเจ้าทรงเพิ่งถูกขับออกจากเมืองนาซาเร็ธ (มธ 13:53-58) และยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งเป็นญาติของพระองค์ได้ถูกเฮโรดสั่งประหารชีวิต (มธ 14:1-12)…

    เมื่อทรงได้ยินข่าวว่ายอห์นถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม พระเยซูเจ้าเสด็จออกไปยังถิ่นทุรกันดาร ระหว่างวันอาทิตย์อีกห้าสัปดาห์ต่อจากนี้ เราจะพบเห็นพระเยซูเจ้าทรงปลีกตัว และหลบหนีฝูงชนถึงสามครั้ง (มธ 14:13, 15:21, 16:13) ... เรามักคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพระเทวภาพของพระองค์ แต่ความจริง เราเห็นพระองค์เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่พระองค์ไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดขึ้น ... และปฏิกิริยาแรกของพระองค์ก็คือหลบหลีก ... ไปอยู่ตามลำพังเพื่ออธิษฐานภาวนา...

    “ไปยังที่สงัดตามลำพัง”...

    ข้อความนี้ควรมีความหมายพิเศษสำหรับเรา เพราะคริสตชนจำเป็นต้องปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังเป็นครั้งคราวมิใช่หรือ ... คริสตชนจะดำเนินชีวิตอย่างคริสตชนได้หรือ ถ้าเขาไม่มาชุมนุมกันเป็นครั้งคราวในวันอาทิตย์ ... เป็นไปได้หรือที่เราจะไม่ได้รับอิทธิพลจากโลกของคนต่างศาสนาและคนที่ไม่ยอมรับนับถือพระเจ้า ถ้าเราไม่ปลีกตัวออกจากโลกของคนเหล่านี้เลย

    พระเยซูเจ้าเสด็จออกไปอยู่ตามลำพังบ่อยครั้ง ... ไปประทับในที่สงัด...

เมื่อประชาชนรู้ ต่างก็เดินเท้าจากเมืองต่าง ๆ มาเฝ้าพระองค์ เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงเห็นประชาชนมากมาย...

    ถูกแล้ว ประชาชนตามหาพระองค์จนพบ ... พระองค์ไม่สามารถหาเวลาอยู่ตามลำพังได้ ยกเว้นช่วงเวลาที่ทรงนั่งเรือข้ามทะเลสาบ พระองค์ทรงจำเป็นต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชนอีกครั้งหนึ่ง...

    เราไม่ควรเลี่ยงที่จะไตร่ตรอง “ความจำเป็น” ของเราเอง เพราะการยอมรับสภาพแท้จริงของชีวิตก็เป็นการนบนอบต่อแผนการที่สุดจะหยั่งถึงได้ของเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายในชีวิตของเรา ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ใดที่ทำให้เราต้องยอมเปลี่ยนแผนการของเราอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการล้มป่วยอย่างกะทันหัน ความกังวลใจใหม่ ๆ ความรับผิดชอบที่ทำให้เราหนักใจ ... การเยี่ยมเยียนจากใครบางคน เสียงโทรศัพท์จากใครบางคน การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ร้องขอจากเรา การอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งทำให้เราทำอะไรตามใจตนเองไม่ได้ และฝูงชนที่เราอยากหลบไปให้ไกล...

... ก็ทรงสงสาร และทรงรักษาผู้เจ็บป่วยให้หายจากโรค

    เรารู้แล้วว่าคำว่า “สงสาร (compassion)” มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างไร ...

    “ความเมตตา” ไม่ได้หมายถึงความใจดี ที่รู้จักให้อภัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ความสงสาร” ซึ่งหมายถึงการร่วมทุกข์กับผู้อื่นด้วย ... พระเยซูเจ้าไม่อาจมองเห็นมนุษย์ทนทุกข์ทรมานโดยที่พระองค์ไม่สะเทือนใจ เหมือนกับมารดาสงสารบุตรของตน...

    ข้าพเจ้าใช้เวลาครู่หนึ่งเพ่งพินิจพระเยซูเจ้า “ทรงสงสาร” ... ข้าพเจ้านึกภาพพระเนตร พระพักตร์ น้ำเสียงของพระองค์ และกิริยาอ่อนโยนที่ทรงแสดงต่อผู้ป่วย...

    วันนี้ พระเยซูเจ้าก็ทรงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ต่อทุกคนที่กำลังเจ็บปวดทรมาน...

เมื่อถึงเวลาเย็น...

    มัทธิวใช้วลีเดียวกันนี้เกริ่นนำคำบอกเล่าเรื่องอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (มธ 26:20) และการฝังพระศพของพระเยซูเจ้า (มธ 27:57)...

    คริสตชนยุคแรกเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณในลักษณะของ “อาหารค่ำ”

    ดังนั้น เมื่อมองในระดับสัญลักษณ์ ศีลมหาสนิทจึงเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งถิ่นทุรกันดารของเรา” เป็นอาหารพิเศษที่พระเจ้าประทานแก่เราระหว่างการเดินทาง (นักบุญยอห์นอธิบายเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่าเป็น “มานนา” ที่ลงมาจากสวรรค์) ... นอกจากนี้ยังเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งค่ำคืนของเรา” เมื่อแสงอันเร้นลับส่องสว่างขับไล่ความมืดมนของเรา...

... บรรดาศิษย์เข้ามาทูลพระองค์ว่า “สถานที่นี้เป็นที่เปลี่ยว และเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ขอพระองค์ทรงอนุญาตให้ประชาชนไปตามหมู่บ้าน เพื่อซื้ออาหารเถิด”

    นี่คือวิธีแก้ปัญหาอย่างรอบคอบประสามนุษย์ ระหว่างที่ศิษย์เหล่านี้เร่ร่อนติดตามพระอาจารย์ของเขา พวกเขาย่อมคุ้นเคยกับการออกไปหาซื้ออาหารในเวลาเย็น เขาจึงเสนอทางออกนี้โดยไม่ต้องคิด ... แต่พระเยซูเจ้าทรงมองไกลกว่านั้น มีธรรมล้ำลึกซ่อนอยู่ใน “อาหารกลางถิ่นทุรกันดาร” มื้อนี้ เพราะการให้อาหารฝ่ายกายแก่ประชาชน แต่ปล่อยให้เขายังมีความหิวที่ลึกยิ่งกว่า ย่อมไม่พอ ... มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น! ... เมื่อคนเหล่านี้ตามหาพระเยซูเจ้า เขาไม่ได้ตามพระองค์มาเพื่อจะกินอาหารเท่านั้น แต่เพราะเขารู้สึกว่าพระองค์ทรงมีอำนาจเหนือธรรมชาติบางอย่าง พวกเขาหิวกระหายพระเจ้า ... เขาหิวกระหายพระเยซูเจ้า ... และไม่มีทางที่ขนมปังที่ซื้อหาจากหมู่บ้านจะทำให้พวกเขาอิ่มได้...

พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เขาไม่จำเป็นต้องไปจากที่นี่ ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด”

    ทางออกไม่ได้อยู่ “ห่างไกล” พระพระเยซูเจ้าเลย ... “การไปจากที่นี่” จะไม่ช่วยบรรเทาความหิวของประชาชน...

เขาทูลตอบว่า “ที่นี่เรามีขนมปังเพียงห้าก้อน กับปลาสองตัวเท่านั้น”

    บรรดาศิษย์มีเจตนาดี พวกเขารู้ว่าจะต้องทำอะไร แต่เขาไม่มีเครื่องมือที่จะใช้เผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ บ่อยครั้งเราก็เหมือนกับพวกเขา...

    สิ่งที่เขามีอยู่ในมือช่างน้อยเหลือเกิน ... เพียงขนมปังห้าก้อน และปลาสองตัว...

พระองค์จึงตรัสว่า “เอามาให้เราที่นี่เถิด”

    พระเจ้าทรงต้องการพึ่งพาอาศัยมนุษย์ ... พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าพระองค์กำลังจะทำอะไร และพระองค์ทรงสามารถทำได้ แม้ว่าไม่มีขนมปังอันต่ำต้อยเหล่านั้น...

    พระเจ้าทรงต้องการความช่วยเหลือจากข้าพเจ้า...

    พระเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าวางความรู้ ความสามารถ อันต่ำต้อยของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์เถิด ... ข้าพเจ้าเพ่งพินิจขนมปังห้าก้อน และปลาสองตัวในพระหัตถ์ของพระองค์...

พระองค์ทรงสั่งให้ประชาชนนั่งลงบนพื้นหญ้า
-    ทรงรับขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวมา
-    ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นมองท้องฟ้า
-    ทรงกล่าวถวายพระพร
-    ทรงบิขนมปัง
-    ส่งให้บรรดาศิษย์ไปแจกแก่ประชาชน...

    มัทธิวจะใช้ข้อความเดียวกันนี้บรรยายอาหารค่ำในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ (มธ 26:26) ไม่มีเหตุการณ์ใดในชีวิตของพระเยซูเจ้าที่สำคัญและมีความหมายมากเท่านี้ พระวรสารมีคำบอกเล่าการทวีขนมปังหกครั้ง (มธ 14:13-21 และ 16:32-39; มก 6:30-44 และ 8:1-9; ลก 9:10-17 และ ยน 6:1-15) เมื่อเรารู้ว่าพิธีบูชาขอบพระคุณสำคัญต่อชีวิตของกลุ่มคริสตชนยุคแรกมากเพียงไร เราจึงไม่แปลกใจที่พระวรสารเน้นย้ำเรื่องการทวีขนมปัง...

    ด้วยกิริยาเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงกระทำเสมือนว่าทรงเป็นบิดาของครอบครัวที่กำลังเป็นประธานของมื้ออาหาร ชาวยิวไม่กินอาหารโดยไม่ “ถวายพร” สำหรับอาหารนั้น ซึ่งเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า (คำว่า Eucharistia ในภาษากรีก แปลว่าขอบพระคุณ) ... ชาวยิวที่ศรัทธายังกล่าวคำถวายพรก่อนกินอาหารทุกมื้อว่า “ขอถวายพรพระองค์ผู้ประทานสสารแก่เรา และด้วยพระทัยดีของพระองค์ทรงโปรดให้เรามีชีวิต ... พระเจ้าข้า เราขอบพระคุณพระองค์ พระเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่เป็นนิรันดร ผู้ทรงเลี้ยงดูสิ่งสร้างทั้งปวงของพระองค์” อาหารที่เรากินเป็น “ผลผลิตจากแผ่นดิน และผลงานจากมือมนุษย์” แต่ก่อนอื่น อาหารของเราเป็น “ของประทานจากพระเจ้า” ... เมล็ดข้าวสาลีในดินจะไม่ออกผลเต็มรวง ถ้าพระเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้มันงอก...

    อารยธรรมของเราพึ่งพาวิชาการจนลืมความจริงขั้นมูลฐานข้อนี้ไปแล้ว แต่เรายังไม่เห็นเลยว่าทุกคนบนโลกนี้มีขนมปัง หรือข้าวเพียงพอ หรือธัญพืชอื่น ๆ ที่บรรเทาความหิวของแต่ละคนได้ ทุกวันนี้ เรากำลังเรียนรู้ว่าผลงานของมนุษย์ก็ยังไม่พอจะเลี้ยงดูมนุษย์ทุกคนได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมของเรายังอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กดขี่เพื่อนมนุษย์อย่างเห็นแก่ตัวได้ เพราะผู้นิยมวัตถุโดยไม่ยอมรับนับถือพระเจ้า และไม่เคยถวายพรแด่พระเจ้า ไม่ว่าในโลกตะวันตก หรือตะวันออก ยังเรียนรู้วิธีทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์ด้วย...

    เราจำเป็นต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของพระเยซูเจ้า ผู้ทรง “ถวายพระพรพระเจ้า” ที่ได้ประทานชีวิตแก่เราในแต่ละวัน และทรงขอให้เราภาวนาทุกวันเพื่อวอนขอ “อาหารประจำวัน”...

... ส่งให้บรรดาศิษย์ไปแจกแก่ประชาชน

    ผู้ศึกษาพระคัมภีร์ทุกคนชี้ให้เห็นบทบาทของศิษย์ในเหตุการณ์นี้ เพราะนี่คือคำบรรยายพิธีกรรมอย่างแท้จริง และอัครสาวกก็ทำหน้าที่มากกว่าเป็นผู้แจกจ่ายอาหาร พวกเขามีส่วนร่วมในงานของพระเยซูเจ้า และปฏิบัติเหมือนพระองค์ พวกเขาเป็นเสมือนคนกลางระหว่างพระเยซูเจ้าและประชาชน พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสถึงบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ในพระดำรัสระหว่างงานชุมนุมศีลมหาสนิทสากลที่เมืองลูร์ดส์ (1981) ว่า “พระสงฆ์ที่ได้รับศีลบรรพชาได้กลายเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นศีรษะของพระศาสนจักรของพระองค์ ท่ามกลางท่านทั้งหลาย งานอภิบาลอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์เป็นงานที่จะขาดเสียมิได้เพื่อแสดงออกว่าการบิปัง ซึ่งพระสงฆ์กระทำนั้นคือของประทานที่เขาได้รับมาจากพระคริสตเจ้า ซึ่งอยู่เหนืออำนาจของที่ชุมนุม”...

ทุกคนได้กินจนอิ่ม แล้วยังเก็บเศษที่เหลือได้ถึงสิบสองกระบุง จำนวนคนที่กินมีผู้ชายประมาณห้าพันคน ไม่นับผู้หญิง และเด็ก

    ปริมาณอันเหลือเฟือเช่นนี้เป็นหนึ่งในเครื่องหมายของยุคของพระเมสสิยาห์ที่ประกาศไว้ในพระคัมภีร์ (ลนต 6:11, สดด 132:15, อสย 65:10)

    บทอ่านจากพระวรสารควรตั้งคำถามและท้าทายเรา เพราะเรารู้ดีว่า ในวันที่พระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ด้วยความเมตตาเช่นนี้ พระองค์มิได้ทรงกำจัดความทุกข์อันเกิดจากความหิวให้หมดไปจากโลก ... ข้อความนี้ยังเน้นย้ำมิใช่แต่แง่มุมของเหตุการณ์ที่แปลกและมหัศจรรย์เท่านั้น แต่บอกเราด้วยว่านี่คือเครื่องหมายแสดงความห่วงใยด้วยความรักของพระเยซูเจ้า ผู้ทรง “เห็นประชาชนมากมายก็ทรงสงสาร”...

    ถูกแล้ว การร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณแต่ละครั้งของเรา ส่งเรากลับไปทำหน้าที่แบ่งปันฉันพี่น้อง เพราะพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นปังที่ถูกบิ และแบ่งปันกันสำหรับโลกใหม่!...