แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
1 พงศ์กษัตริย์ 3:5, 7-12; โรม 8:28-30; มัทธิว 13:44-52

บทรำพึงที่ 1
ตัวประกัน
พระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งทำงานประสานสานกัน จนกลายเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์

    เมื่อ ค.ศ. 1984 เจเรมีย์ เลวิน เป็นหัวหน้าสำนักงานข่าวเคเบิ้ล หรือ ซี.เอ็น.เอ็น. ประจำกรุงเบรุต วันพุธรับเถ้าในปีนั้นตรงกันวันที่ 7 มีนาคม นั่นเป็นวันที่เจเรมีย์จะไม่มีวันลืมจนตลอดชีวิต เพราะวันนั้น เขาถูกกลุ่มมุสลิมชีอะห์ลักพาตัว

    กลุ่มผู้ลักพาตัวจับเขาปิดตา และขับรถพาเขาไปกักขังในบ้านกลางหุบเขาเบกาที่ทั้งสกปรกและหนาวเย็น เขาถูกล่ามโซ่ติดกับกำแพง ในท่าที่ทำให้เขานั่งหรือนอนได้เท่านั้น เขาอยู่ในสภาพนั้นตลอดสี่สัปดาห์ต่อมา

    เจเรมีย์พยายามสร้างกำลังใจให้ตนเองด้วยการคิดในแง่บวก แต่ในไม่ช้าเขาก็พบว่าการคิดแง่บวกไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวของเขาหมดไป เขาอยากมีใครสักคนที่เขาสามารถพูดคุยด้วย ... ใครก็ได้!

    สถานการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้เจเรมีย์เริ่มคิดถึงพระเจ้า ความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับเขา เพราะเขาไม่เชื่อในพระเจ้า เขาเป็นผู้ประกาศตัวว่าไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า

    แต่ความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าก็ยังวนเวียนอยู่ และแวบเข้ามาในสมองของเขาบ่อยครั้งขึ้น วันหนึ่งก็มีคำถามหนึ่งผุดขึ้นในใจของเขาว่า “ผมจะพูดกับพระเจ้าได้ไหม”

    เจเรมีย์ผลักความคิดนี้ออกไปทันที เขาไม่มีทางพูดกับพระเจ้าได้ตราบใดที่เขาไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง เพราะถ้าเขาพยายามพูดกับพระองค์ เขาก็กำลังอยู่ในโลกที่เขาสร้างขึ้นมาหลอกตนเอง และถ้าเช่นนั้นก็แปลว่าเขากำลังเริ่มเสียสติ

    แต่ความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าก็ยังดำเนินต่อไป ในไม่ช้าเจเรมีย์ก็ได้แต่ครุ่นคิดเรื่องพระเจ้า ประโยคต่าง ๆ เช่น “พระเจ้ารักท่าน” และ “พระเจ้าอวยพรท่าน” ปรากฏขึ้นในความคิดของเขาตลอดเวลา เขาเขียนถึงเรื่องนี้ในเวลาต่อมาว่า

    “แม้แต่ข้อความสั้น ๆ ที่ผมเคยอ่านในพระคัมภีร์ก็หวนกลับมาในความทรงจำ ... ผมเหมือนกับคนกระหายน้ำที่อ้าปากรอรับหยดน้ำฝน ... ใจของผมใคร่ครวญทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเคยได้ยินมาเกี่ยวกับพระเจ้า และบุคคลที่ชื่อเยซู ที่เรียกกันว่าพระบุตรของพระองค์” (Guideposts, December 1986)

    ด้วยสภาพจิตใจเช่นนี้ เมื่อเจเรมีย์ตื่นขึ้นในตอนเช้าของวันอังคารที่ 10 เมษายน – ก่อนวันปัสกาเพียง 12 วัน – เจเรมีย์ ทำบางสิ่งบางอย่างที่เขาไม่เคยคิดฝันว่าเขาจะทำ เขาแสดงความเชื่อในพระเจ้า

    เขาได้กล่าวคำพูดประโยคแรกกับพระเจ้า และเป็นคำพูดซื่อ ๆ ว่า “ข้าแต่พระบิดา โปรดทรงดูแลภรรยาและครอบครัวของลูก โปรดให้เราได้กลับมาอยู่รวมกันพร้อมหน้าอีกครั้งหนึ่งเถิด”

    หลังจากนั้น เจเรมีย์ได้ทำอีกสิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยคิดฝันว่าเขาจะทำ เขาให้อภัยผู้ที่ลักพาตัวเขา และวอนขอพระเจ้าให้ทรงให้อภัยคนเหล่านั้นด้วย เขาบอกว่า “เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ผมรู้สึกว่าเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์”

    ระหว่างหลายเดือนต่อมา เจเรมีย์ถูกย้ายไปยังสถานที่อื่นอีกหลายแห่ง และผู้คุมเขาก็แสดงท่าทีเป็นมิตรมากขึ้น

    ก่อนวันฉลองคริสต์มาส ผู้คุมคนหนึ่งถามเขาว่า “นายอยากได้อะไรเป็นของขวัญวันคริสต์มาส” เจเรมีย์มองเขาอย่างไม่เชื่อหูตนเอง และโพล่งออกไปว่า “พระคัมภีร์”

    สองวันต่อมา เจเรมีย์ก็ได้รับพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ปกสีแดงเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่ง เขาประทับใจเป็นพิเศษกับพระวาจาของพระเยซูเจ้าว่า “ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอในการอธิษฐานภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้รับ แล้วท่านก็จะได้รับ” (มก 11:24) นับจากนาทีนั้นเป็นต้นมา เจเรมีย์ ก็ภาวนาขอให้เขามีโอกาสหลบหนี

    ในคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1985 สิบเอ็ดเดือนหลังจากถูกลักพาตัว โอกาสนั้นก็มาถึง ขณะที่ผู้คุมไม่ระวังตัว เจเรมีย์วิ่งหนีด้วยเท้าเปล่าออกจากบ้านลงมาตามภูเขาที่หนาวจัดจนปลอดภัย

    ต่อมา เจเรมีย์ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานข่าวซี.เอ็น.เอ็น. ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเขามีเวลาว่าง เขาเดินทางไปตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศ และแบ่งปันความเชื่อที่เขาได้พบอีกครั้งหนึ่งกับคนทั่วไป

    เจเรมีย์เหมือนกับกษัตริย์ซาโลมอนในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ เช่นเดียวกับซาโลมอน เขาวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และพระเจ้าทรงสดับฟังเขา

    เจเรมีย์เหมือนกับชายในพระวรสาร ผู้พบขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในทุ่งนาอีกด้วย เจเรมีย์ได้พบพระเจ้าในประเทศเลบานอน และได้เปลี่ยนชีวิตของเขาโดยสิ้นเชิง เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับความเชื่อใหม่ของเขา

    ในที่สุด เจเรมีย์ยังเหมือนกับคนทั้งหลายในบทอ่านที่สอง ที่นักบุญเปาโลพูดถึงว่า “พระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์”

    เราทุกคนสามารถคิดได้ว่านักบุญเปาโลกำลังพูดถึงเรา เราทุกคนเคยประสบกับเรื่องร้าย ๆ ในชีวิต และเราอดถามตนเองไม่ได้ว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้นกับเรา

    เจเรมีย์ เลวิน ตั้งคำถามเดียวกันระหว่างที่เขาถูกลักพาตัว และแม้ว่าเขาไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่เขาไม่เคยโกรธ หรือขมขื่นใจ
    ในที่สุด พระเจ้าทรงตอบคำถามของเจเรมีย์ และพระองค์ทรงตอบอย่างที่ทำให้ประสบการณ์การถูกลักพาตัวของเจเรมีย์กลายเป็นพระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะการลักพาตัวนี้ทำให้เขาพบกับพระเจ้าของเขา

    ประสบการณ์ของเจเรมีย์เชิญชวนเราให้ถามตนเองว่าเราตอบสนองต่อการทดลอง และประสบการณ์ร้าย ๆ ในชีวิตของเราอย่างไร เราโกรธหรือ เราโทษว่าพระเจ้าทรงทำให้มันเกิดขึ้น หรือว่าเรามองประสบการณ์เหล่านั้นอย่างปราศจากอคติ เหมือนกับที่เจเรมีย์มอง

    สารของนักบุญเปาโลในบทอ่านที่สองประจำวันนี้เป็นหนึ่งในสารสำคัญที่สุดที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม นี่คือข่าวดีที่บอกเราว่าสำหรับผู้ที่รักพระเจ้า เรื่องร้าย ๆ จะกลับเป็นประโยชน์สำหรับเขา

    การเปิดเผยนี้ฟังดูแปลก จนครั้งแรกที่ได้ยินเราอาจไม่อยากเชื่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นว่าข้อความนี้ได้รับการพิสูจน์ยืนยันเสมอมาด้วยชีวิตของคนทั้งหลายที่ยอมเปิดหัวใจ และชีวิตของเขาให้พระเจ้าเสด็จเข้ามา

    ดังนั้น บทอ่านจากพระคัมภีร์สำหรับวันนี้จึงเชิญชวนเราให้ทำเช่นเดียวกัน คือเชิญชวนไม่ให้เรายอมให้เหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิตทำร้ายเรา แต่เราควรปล่อยให้พระเจ้าเปลี่ยนเหตุการณ์ร้าย ๆ เหล่านั้นให้กลายเป็นพระพรสำหรับเรา

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอน ซึ่งเราคงเคยได้ยินมาก่อน แต่ควรได้ยินซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง

    สำหรับทุกความเจ็บปวดที่เราต้องยอมรับ
    สำหรับทุกภาระ ทุกความกังวลใจที่เราต้องแบก
    ทุกสิ่งย่อมมีเหตุผล

    สำหรับทุกความทุกข์ที่ทำให้เราโงหัวไม่ขึ้น
    สำหรับน้ำตาทุกหยดที่ไหลริน
    ทุกสิ่งย่อมมีเหตุผล

    สำหรับทุกครั้งที่เสียใจ ทุกความยากลำเค็ญ
    สำหรับทุกคืนที่เปล่าเปลี่ยว และเจ็บปวดแสนสาหัส
    ทุกสิ่งย่อมมีเหตุผล

    แต่ถ้าเราวางใจในพระเจ้าอย่างที่เราควรทำ
    ทุกความทุกข์จะกลับเป็นประโยชน์สำหรับเรา
    เพราะพระองค์ทรงรู้เหตุผล


บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 13:44-52

พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องทั้งหมดนี้แก่ประชาชนเป็นอุปมา...

    เช่นเดียวกับนักเล่านิทานในดินแดนตะวันออก พระเยซูเจ้าไม่ทรงสั่งสอนเป็นนามธรรม แต่ทรงเปรียบเทียบด้วยภาพลักษณ์อันสวยงาม ทรงใช้คำพูดที่มีความหมายเป็นสากล แต่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ ... คำพูดที่กระตุ้นให้คิดมากกว่าจะเสนอคำจำกัดความ เราจึงสามารถตีความได้หลายทาง ... และการกล่าวย้ำหลายครั้งก็ช่วยให้บทเรียนนั้น ๆ ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ...

    ผู้อ่านเรื่องอุปมาของพระเยซูเจ้าจะไม่มีวันลืมแม้ว่าได้อ่านเพียงครั้งเดียว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้วิธีเดียวกับรับบีทั้งหลายในยุคของพระองค์ คือ ให้ผู้ฟังจำข้อความสั้น ๆ จนขึ้นใจ ... วิธีนี้ทำได้ง่ายมาก ... ท่านอาจลองทำได้ด้วยการอ่านอุปมาเรื่องหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องนั้นจากความจำ...

อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในทุ่งนา คนที่พบก็ฝังซ่อนสมบัตินั้น”

    “ขุมทรัพย์” เราแต่ละคนเข้าใจความหมายของคำนี้ต่าง ๆ กัน มนุษย์ทั่วโลกในทุกอารยธรรมมีบางสิ่งบางอย่างที่เขาถือว่าเป็น “ขุมทรัพย์” ของเขา มีบางสิ่งที่น่าปรารถนา และเขาต้องการเป็นเจ้าของ

    ในดินแดนปาเลสไตน์ในยุคของพระเยซูเจ้า มีธนาคารเพียงไม่กี่แห่งที่ประชาชนสามารถฝากเงินออมของครอบครัวเพื่อเก็บรักษาให้ปลอดภัยได้ ดังนั้น ประชาชนจึงฝังเงินไว้ที่มุมหนึ่งของทุ่งนา บางครั้ง เจ้าของทรัพย์สินก็ตายไปโดยไม่สามารถเปิดเผยที่ซ่อนให้ใครรู้ได้ ... ต่อมา ใครก็ตามที่มาขุดดินก็อาจพบขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่นั้นโดยบังเอิญ...

    ชายที่พบขุมทรัพย์ ... เขาฝังมันไว้ตามเดิม...

    เป็นพฤติกรรมที่น่าประหลาดใจ ... และทำให้เราอยากรู้อยากเห็น ... เขาจะทำอย่างไรต่อไป

“และยินดีกลับไปขายทุกสิ่งที่มี นำเงินมาซื้อนาแปลงนั้น”

    เห็นได้ชัดว่านี่คือจุดสูงสุดของเรื่องอุปมา

    พระเยซูเจ้าทรงต้องการท้าทายเรา ท่านเห็นด้วยกับแผนการนี้หรือไม่ ... ถ้าท่านโชคดีแบบเดียวกัน ถ้าท่านอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ท่านจะทำเหมือนเขาหรือไม่...

    ในชีวิตของเรา เราสามารถยอมสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งที่เราต้องการสุดหัวใจ เช่นนักศึกษาที่เรียนโดยไม่ยอมพักผ่อนเพื่อปริญญา หรือเพื่อเข้าสอบที่ต้องแข่งขันกัน ... นักกีฬาที่ยอมสละสิ่งที่เขาชอบมากเพื่อความก้าวหน้าในกีฬาที่เขาชอบ และเพื่อทำลายสถิติ ... บิดามารดาผู้ยอมลำบากเพื่อบุตรของตน ... ผู้นำทางการเมือง และสหภาพแรงงานที่ใช้เวลาว่างทั้งหมด และมากกว่านั้นทำงานเพื่ออุดมการณ์ของตน...

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าคือความจริงอันล้ำค่า จนคุ้มค่าที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อค้นหาให้พบ และเข้าไปอยู่ในที่นั้น...

    เราสังเกตว่าพระเยซูเจ้าตรัสถึงความยินดี เรารับรู้ว่าชายที่พบขุมทรัพย์นี้มีความยินดีอย่างยิ่ง “และยินดีกลับไปขายทุกสิ่งที่มี...”

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าการเสียสละไม่ใช่เรื่องที่ควรเศร้าใจ...

“อาณาจักรสวรรค์ยังเปรียบได้อีกกับพ่อค้าที่แสวงหาไข่มุกเม็ดงาม เมื่อได้พบไข่มุกที่มีค่าสูง เขาจะไปขายทุกสิ่งที่มี นำเงินมาซื้อไข่มุกเม็ดนั้น”

    ข้อความนี้สอนบทเรียนเดียวกัน โดยย้ำประเด็นเดียวกัน...

    แต่มีนัยสำคัญเพิ่มขึ้นมาด้วย กล่าวคือ ชายที่ขุดดินในทุ่งนาค้นพบขุมทรัพย์โดยบังเอิญ – แต่พ่อค้าคนนี้ “แสวงหา” เหมือนกับนักสะสมที่ออกตามหาสิ่งของหายากชิ้นหนึ่ง...

    เราทุกคนแสวงหาความสุข ... แต่มนุษย์จำนวนมากสำคัญผิด และแสวงหาเพียงความสุขราคาถูก - หรือไข่มุกเทียมที่แวววาวคล้ายไข่มุกแท้ แต่ไม่มีคุณค่าแท้จริง - ที่สามารถชักนำให้คนโง่หลงทาง...

    แต่พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าอะไรคือความสุขแท้สำหรับเรา ... พระองค์ทรงเชิญชวนเราให้ยอมจ่ายราคา ให้เราทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อให้ได้ครอบครองความสุขนี้ ... ไม่มีความยินดีใดที่จริงแท้ และยั่งยืน นอกจากการสนิทเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเรา และพระเจ้า ... และนี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกว่า “อาณาจักรสวรรค์”

    แต่เพื่อให้ได้รับความสุขอันล้ำค่า และน่าพิศวงยิ่งนี้ ... เพื่อให้ได้ครอบครองไข่มุกเม็ดนี้ เราต้องทำอะไร...

“... ไปขายทุกสิ่งที่มี นำเงินมาซื้อไข่มุกเม็ดนั้น”

    ขอให้เราลองนึกถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงบอกเล่านี้ คนรอบข้างชายคนที่ “ขายทุกสิ่งที่มี” คงต้องพูดกันว่า “คนนี้เป็นบ้าไปแล้ว”

    แต่คนเหล่านั้นไม่รู้ความจริง ... ชายคนนี้รู้ดีว่าเมื่อเขาขายทุกสิ่งทุกอย่างที่มีแล้ว เขาจะไม่ขาดทุน เพราะเขารู้มูลค่าของไข่มุก “ของเขา”...

    เมื่อทรงเล่าเรื่องอุปมานี้ พระองค์ไม่ทำอะไรแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่กล้าตัดสินใจ ... พระองค์ทรงยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ พระองค์ทรงยอมจ่ายราคาสูงสุด เพื่อนำความสุขนั้นมาประทานแก่เรา ... และน่าชื่นชมที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีชายหญิงหลายคนที่ได้ยินเสียงเชิญให้มอบ “ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามี” และถวายทั้งชีวิตของเขาให้แก่อาณาจักรสวรรค์ ... ในชีวิตสงฆ์ หรือชีวิตนักบวช...

“อาณาจักรสวรรค์ยังเปรียบได้อีกกับอวนที่หย่อนลงในทะเล ติดปลาทุกชนิด เมื่ออวนเต็มแล้ว ชาวประมงจะลากขึ้นฝั่ง นั่งลงเลือกปลาดีใส่ตะกร้า ส่วนปลาเลวก็โยนทิ้งไป”

    พระเยซูเจ้าคงกำลังตรัสถึงชาวประมงบนฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส พระองค์ตรัสถึงพระเจ้าโดยใช้ภาษาและสถานการณ์ในชีวิตที่ผู้ฟังคุ้นเคย นี่คือแบบฉบับชั้นเยี่ยมสำหรับการสอนคำสอน และการสนทนาในแต่ละวันของเรา เราสามารถพูดถึงธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระเจ้าได้อย่างน่าเชื่อถือ เพียงเมื่อเราสนใจชีวิตแต่ละวันของบุคคลที่เราพูดด้วย

    อาณาจักรสวรรค์ ... มัทธิวใช้วลีนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการออกพระนามพระเจ้า เพราะเห็นแก่ผู้อ่านที่เป็นชาวยิว วลีนี้มีความหมายเหมือนกับ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ... อาณาจักรนี้ไม่ใช่ที่ชุมนุมของชายและหญิงที่ดีพร้อมไปทุกด้าน แต่เป็นที่รวมของคนหลากหลายประเภท – บางคนดี บางคนก็ไม่ดีนัก! ในอุปมาเรื่องนี้ เราพบแง่คิดเดียวกันกับอุปมาเรื่องข้าวละมานในทุ่งข้าวสาลี กล่าวคือ พระเจ้าทรงอดทนกับคนบาป ... และทรงให้เวลาเขา

    ก่อนอื่น พระเจ้าทรงอดทนกับ “ข้าพเจ้า” และทรงให้เวลาแก่ข้าพเจ้า แต่จงระวัง! เราไม่ควรคิดว่าเมื่อพระเจ้าทรงอดทนกับคนบาป เราก็นิ่งนอนใจและเพิกเฉยต่อไปได้ ... ขอให้เราฟังข้อความต่อจากนั้นเถิด...

“เมื่อถึงเวลาสิ้นโลกก็จะเป็นเช่นนี้ เมื่อถึงคราวสิ้นโลก ทูตสวรรค์จะมาแยกคนชั่วออกจากคนชอบธรรม ทิ้งคนชั่วลงในขุมไฟ ที่นั่นจะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง”

    นี่เป็นคำเตือนที่จริงจังมาก! ความดีของพระเจ้าไม่ใช่การสมรู้ร่วมคิดกับความชั่ว ... เมื่อครู่นี้ พระเยซูเจ้าตรัสถึงความยินดี ... บัดนี้ พระองค์ตรัสถึงน้ำตา ... และการขบฟัน! มัทธิวกล่าวคำขู่นี้ถึงหกครั้งในพระวรสารของเขา (8:12, 13:42, 13:50, 22:13, 24:51, 25:50)...

    เรามักลืมไปว่าจะต้องมีการพิพากษา การกระทำและพฤติกรรมของเราไม่มีทาง “เป็นกลาง” ได้ ... แต่เป็นการเตรียมเราสำหรับชะตากรรมนิรันดรของเรา พระเยซูเจ้าทรงบอกเราเช่นนี้ ... เราจำเป็นต้องกลับใจอย่างเร่งด่วน พระเยซูเจ้าทรงเข้มงวด เพราะทรงต้องการให้เราตื่นขึ้นจากการหลับใหล พระองค์ไม่ได้แสดงว่าทรงอยากเห็นมนุษย์เจ็บปวด เมื่อพระองค์ตรัสข้อความเหล่านี้ แต่ทรงแสดงความรัก เพราะทรงต้องการให้เราตระหนักว่ามีอะไรเป็นเดิมพันในชีวิตของเรา ... เมื่อศัลยแพทย์ใช้มีดกรีดแผลที่เป็นหนอง เขาไม่ได้โหดร้าย แต่เขาต้องการช่วยคนไข้ของเขา แม้ว่าเราไม่ตีความภาษาวิวรณ์เช่นนี้ตามตัวอักษร (“น้ำตา และการขบฟันด้วยความขุ่นเคือง” เป็นส่วนหนึ่งของลีลาการพูดในยุคนั้น) แต่เห็นได้ชัดว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องการกระตุ้นให้เราออกแรงแสวงหาความรอดพ้น...

“ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องทั้งหมดนี้หรือไม่”
    พระเจ้าไม่ทรงบีบบังคับ ... พระองค์ทรงเคารพเสรีภาพของมนุษย์ แต่ทรงขอให้เราเข้าใจ ... ท่านเข้าใจหรือไม่...

    คำว่า “เข้าใจ” เป็นหนึ่งในคำที่มัทธิวใช้บ่อยครั้งที่สุด (มัทธิว 12:7; 13:13, 14, 15, 19, 23, 51; 15:10, 17; 16:9, 11, 12; 17:13; 19:11, 12; 21:45, 46; 24:15, 32, 33, 43) ... มีคำถามเบื้องต้นที่เราควรถามตนเอง เช่น มีซอกมุมเล็ก ๆ มากมายในชีวิตของข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าอยากจะเจาะลึกเข้าไปภายในหรือเปล่า ... มีสถานการณ์ใดบ้างที่ข้าพเจ้าไม่อยากใคร่ครวญโดยเปรียบเทียบกับถ้อยคำจากพระวรสาร...

    พระเจ้าข้า โปรดเตือนเราบ่อย ๆ ด้วยคำถามว่า “ท่านเข้าใจหรือไม่”...

บรรดาศิษย์ทูลตอบว่า “เข้าใจแล้ว”

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะตอบว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจ” แผนการที่ทรงกำหนดไว้ให้ข้าพเจ้า ... แต่โปรดประทานพละกำลังให้ข้าพเจ้าปฏิบัติตามแผนการนี้ให้ดีที่สุดด้วยเถิด ... จนกว่าจะถึงเวลา “คัดแยก” เมื่อพระองค์จะทรงส่องสว่างให้ข้าพเจ้ามองเห็นทุกส่วนในชีวิตของข้าพเจ้าว่า “ส่วนใดดี” และ “ส่วนใดไร้ค่า”

พระองค์จึงตรัสว่า “ดังนั้น ธรรมาจารย์ทุกคนที่มาเป็นศิษย์แห่งอาณาจักรสวรรค์ก็เหมือนกับเจ้าบ้านที่นำทั้งของใหม่ และของเก่าออกจากคลังของตน”

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงดูแคลนความรู้ของธรรมาจารย์ ซึ่งหมายถึงผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมบัญญัติ ... แม้ว่าธรรมาจารย์หลายคนต่อต้านคำสอนใหม่ในพระวรสาร ... อันที่จริง เมื่อมัทธิวเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาเขียนในฐานะธรรมาจารย์คนหนึ่ง คือเป็นผู้เชี่ยวชาญธรรมประเพณีจากพันธสัญญาเดิม ... แต่เขาสามารถกลั่นกรองเอาคำสอนใหม่ ๆ ออกมาจากธรรมประเพณีเดิมเหล่านี้ได้...

    อุปมาสั้น ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายในชุดอุปมาที่เราอ่านระหว่างวันอาทิตย์สามสัปดาห์ที่ผ่านมา และสะท้อนปัญหาในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ ความขัดแย้งระหว่างคนโบราณและคนสมัยใหม่ ... การต่อสู้ระหว่างคนหัวอนุรักษ์ และคนหัวก้าวหน้า...

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า “พวกประเพณีนิยมแท้” ไม่สามารถเป็นเพียงคนที่ทำตามธรรมประเพณีเดิมโดยไม่คิด เราต้องเข้าใจธรรมประเพณีโดยพิจารณาวัฒนธรรมและภาษาในยุคของพระองค์ – และนำมาอธิบายและปรับให้เหมาะสมสำหรับยุคของเรา ในขณะที่เคารพความหมายที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ในธรรมประเพณีนั้น ๆ ... พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงประมวลกฎหมายใด ๆ เพราะ “พระเจ้าทรงเป็นบุคคลร่วมสมัยกับเราแต่ละคน” พระองค์ตรัสกับเราวันนี้ ... ธรรมประเพณีแท้ (“ของเดิม”) ที่ยังมีชีวิต ย่อมแตกหน่อใหม่ (“ของใหม่”) ... ความใหม่ที่แท้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาใหม่ ๆ ก็จะหาคำตอบใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาแท้ของคนทุกยุคสมัย...

    พระเจ้าข้า โปรดช่วยให้เราใส่ใจกับ “ของใหม่” ในพระศาสนจักรอัน “เก่าแก่” ของพระองค์ ... โปรดประทานพระหรรษทานให้เราซื่อสัตย์ด้วยเทอญ...