วันอาทิตย์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา
1 พงศ์กษัตริย์ 19:19, 11-13; โรม 9:1-5; มธ 14:22-23
บทรำพึงที่ 1
เปรียบเทียบสองเรื่อง
การพยายามดำเนินชีวิตอย่างคริสตชนแท้ในปัจจุบันก็ไม่ต่างจากการพยายามเดินบนผิวน้ำ
เมื่อหลายปีก่อน โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ เป็นนักกรีฑาดาวรุ่งของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เขาเก่งมากจนครูฝึกของเขาเชื่อว่าเขาสามารถวิ่งระยะหนึ่งไมล์ได้ภายในสี่นาที ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์
โรเจอร์เองไม่มั่นใจเช่นนั้น แต่เพราะครูฝึกเชื่อมั่นในตัวเขา เขาจึงเริ่มเชื่อมั่นในตนเอง
เช้าวันที่ 8 พฤษภาคม 1954 มาถึง สิ่งแรกที่โรเจอร์ทำเมื่อตื่นนอนก็คือมองออกไปนอกหน้าต่าง วันนั้นอากาศหนาว และลมแรง ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมสำหรับกีฬาวิ่งแข่งเลย
โรเจอร์โทรศัพท์ไปหาบิดามารดา ผู้ตั้งใจว่าจะขับรถมาดูการแข่งขัน เขาบอกบิดามารดาว่า “อยู่กับบ้านเถอะครับ วันนี้อากาศแย่มาก ผมคงวิ่งได้ไม่เร็ว” แต่บิดามารดาของเขาก็มา
เมื่อถึงเวลาแข่งขัน มีคนเพียงกลุ่มเล็ก ๆ มาชม นักวิ่งเข้าแถวเตรียมพร้อม เสียงปืนดังขึ้น และเหตุการณ์ทั้งหมดก็ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์
อีกสามนาที 59 วินาทีต่อมา โรเจอร์ล้มฟุบข้ามเส้นชัย เขากลายเป็นมนุษย์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำลายสถิติวิ่งระยะทางหนึ่งไมล์ภายในสี่นาที
สิบเก้าวันต่อมา จอห์น แลนดี นักวิ่งชาวออสเตรเลีย เป็นมนุษย์คนที่สองที่ทำเช่นนี้ได้
เหตุการณ์นี้กลายเป็นเวทีสำหรับการแข่งขันในฝันระหว่างแบนนิสเตอร์และแลนดี อีกสองสามเดือนต่อมาในประเทศแคนาดา
ในการแข่งขันครั้งนั้น แลนดีวิ่งนำตลอดทางจนเกือบถึงเส้นชัย จากนั้น เขาได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่เขาไม่ควรทำ เขาเหลียวไปมองว่าแบนนิสเตอร์อยู่ห่างจากเขาเท่าไร นี่คือโอกาสที่แบนนิสเตอร์ต้องการ เขาวิ่งแซงแลนดีเข้าสู่เส้นชัย
มีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งระหว่างเรื่องของแบนนิสเตอร์และแลนดี และเรื่องในพระวรสารวันนี้
ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกให้เปโตรเดินบนน้ำไปหาพระองค์ เพราะเปโตรเชื่อมั่นในพระเยซูเจ้า เขาจึงก้าวลงจากเรือ และเดินไปบนน้ำ เปโตรพบว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพียงเพราะเขาเชื่อในพระเยซูเจ้า ถ้าพระเยซูเจ้าทรงเชื่อว่าเปโตรสามารถเดินบนน้ำได้ เปโตรก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน
ในทำนองเดียวกัน แบนนิสเตอร์ พบว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะครูฝึกของเขาเชื่อว่าเขาสามารถทำได้
ดังนั้น ความคล้ายคลึงกันประการแรกก็คือ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของบุคคลหนึ่งในตัวอีกบุคคลหนึ่ง
ความคล้ายคลึงประการที่สองก็คือ เมื่อเปโตรเดินบนน้ำไปหาพระเยซูเจ้า เขารู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างกะทันหัน ในชั่วพริบตานั้น เขาหันสายตาไปจากพระเยซูเจ้า และมองดูน้ำที่ปั่นป่วน นั่นเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงของเขา เขาเริ่มจมลงในน้ำ
ในทำนองเดียวกัน จอห์น แลนดี ก็เริ่มกลัวว่าแบนนิสเตอร์ จะวิ่งทันเขา ในชั่วพริบตาที่เขาละลายตาจากเส้นชัย และเหลียวมามองคู่ต่อสู้ นั่นเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงของเขา ทำให้เขาแพ้การแข่งขัน
ความคล้ายคลึงประการที่สองก็คือ บุคคลในทั้งสองเรื่องนี้เริ่มรู้สึกกลัว เขาละสายตาจากเป้าหมาย และสะดุด
เรื่องของแบนนิสเตอร์และแลนดี และเรื่องของเปโตรและพระเยซูเจ้า สำคัญสำหรับเราแต่ละคนในวัดนี้ และสอนสองบทเรียนแก่เรา
บทเรียนแรก - ทั้งสองเรื่องเน้นความสำคัญของความเชื่อในชีวิตของเรา เราก็เหมือนกับเปโตรในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ในโลกยุคศตวรรษที่ 20 การติดตามพระเยซูเจ้าในปัจจุบันแทบจะเหมือนกับการพยายามเดินบนน้ำ เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้
แต่พระเยซูเจ้าทรงเชื่อว่าเราสามารถทำได้ ดังนั้น เราก็ควรเชื่อว่าเราสามารถทำได้เหมือนกับที่เปโตรเชื่อ
บทเรียนที่สอง - ทั้งสองเรื่องเน้นความสำคัญของการเพ่งมองที่เป้าหมายของเราเสมอ
ขณะที่เปโตรเดินไปหาพระเยซูเจ้า ในทันใด เขารู้สึกกลัวลมที่กำลังพัดแรงและคลื่นสูง ภายในชั่วพริบตาที่เขาละสายตาจากพระเยซูเจ้า เขาเริ่มมองเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
และนั่นคือความผิดพลาดร้ายแรงของเขา ทำให้เขาเริ่มจมลง
เราก็คล้ายกับเปโตร บางครั้งเราเริ่มรู้สึกกลัวลมแรงและคลื่นสูงในการเป็นคริสตชนในโลกทุกวันนี้ และเช่นเดียวกับเปโตร เราละสายตาจากพระเยซูเจ้าไปชั่วพริบตาหนึ่ง และนั่นคือความผิดพลาดร้ายแรงของเรา ทำให้เราเริ่มจมลง
เราจึงควรถามตนเองว่า เราควรทำอย่างไรเมื่อเราพบว่าเราได้ละสายตาไปจากพระเยซูเจ้า เราควรทำอย่างไรเมื่อเราพบว่าชีวิตจิตของเรากำลังจมลง เหมือนกับที่เปโตรพบว่าร่างกายของเขากำลังจมลง
คำตอบชัดเจนมากจนเราแทบมองข้าม
เราควรทำเหมือนกับที่เปโตรทำ เราควรร้องเรียกพระเยซูเจ้า หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เราควรหันไปพึ่งพระเยซูเจ้าด้วยการภาวนา เมื่อเราหันไปพึ่งพระเยซูเจ้าในการภาวนา พระองค์จะทรง “ยื่นพระหัตถ์” และช่วยเราเหมือนกับที่ทรงช่วยเปโตร
และในนาทีที่พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ให้เราจับ เราเองก็จะรู้สึกได้เหมือนกับที่เปโตรรู้สึก เราจะสัมผัสพระเยซูเจ้า และรับรู้ว่าแท้จริงแล้วพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า
เราสามารถสรุปคำสั่งสอนในพระวรสารวันนี้ได้ว่า ถ้าเราต้องการติดตามพระเยซูเจ้าและเดินฝ่าโลกปัจจุบันที่เปรียบเสมือนทะเลที่ปั่นป่วน เราต้องเพ่งสายตาของเรามองไปที่พระองค์เสมอ
ถ้าเราละสายตาไปจากพระองค์ – ซึ่งเราคงทำเช่นนั้นเป็นครั้งคราว – เราก็ควรทำอย่างที่เปโตรทำ เราควรร้องเรียกให้พระเยซูเจ้าทรงช่วยเรา
และระหว่างที่พระองค์ทรงช่วยเราอยู่นั้น เราจะค้นพบเหมือนกับที่เปโตรค้นพบ เราจะค้นพบว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริง
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยข้อความจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับพระวรสารวันนี้
อิสราเอลเอ๋ย พระเจ้าผู้ทรงสร้างท่านตรัสว่า
“อย่ากลัวเลย ... เราได้เรียกเจ้าตามชื่อ เจ้าเป็นของเรา
เมื่อเจ้าลุยน้ำลึก เราจะอยู่กับเจ้า
ปัญหาของเจ้าจะไม่ท่วมเจ้า...
เพราะเราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเจ้า
พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ของอิสราเอล ผู้ทรงช่วยเจ้าให้รอดพ้น” (อสย 43:1-3)
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 14:22-33
(หลังจากทรงทวีขนมปังเลี้ยงประชาชนในถิ่นทุรกันดารแล้ว) พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้บรรดาศิษย์ลงเรือข้ามทะเลสาบล่วงหน้าพระองค์ไป ในขณะที่พระองค์ทรงจัดให้ประชาชนกลับ
ทำไมพระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ศิษย์ของพระองค์เดินทางล่วงหน้าไปก่อน ... ทำไมบัดนี้พระองค์จึงทรงบอกให้ประชาชนกลับไป หลังจากที่ทรงบอกว่าพวกเขาไม่จำเป็น “ต้องไปจากที่นี่” รายละเอียดเหล่านี้มีนัยสำคัญแน่นอน และต้องมีความหมายด้วย...
มัทธิว และมาระโกบันทึกไว้เช่นนี้ แต่ยอห์นเป็นคนเดียวที่อธิบายเหตุผล “การประทานขนมปังในถิ่นทุรกันดาร” แสดงให้ประชาชนเห็นว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์ และทำให้ประชาชนตื่นเต้นยินดี หลังจากที่พวกเขาเคยตื่นเต้นกับบุคคลที่อ้างตนเป็นพระเมสสิยาห์มาแล้วหลายคน ... พวกเขาต้องการลากพระองค์เข้ามาสู่การต่อสู้ทางการเมืองและศาสนา เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในดินแดนภายใต้การยึดครองของชาวโรมัน และทุกครั้งจบลงด้วยการปราบปรามอย่างนองเลือด ... “พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าคนเหล่านั้นจะใช้กำลังบังคับพระองค์ให้เป็นกษัตริย์ จึงเสด็จไปบนภูเขาตามลำพังอีกครั้งหนึ่ง” (ยน 6:14-15)...
พระเยซูเจ้าทรงรู้จักศิษย์ของพระองค์ดี ทรงรู้ว่าพวกเขากำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ที่เป็นผู้นำทางโลกเช่นกัน และเขาอาจคล้อยตามความคิดของประชาชนได้โดยง่าย พระองค์จึงทรงส่งพวกเขาไปให้ไกล...
ถูกแล้ว บางครั้ง พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับปัญหาประเภทนี้ตามลำพัง...
เมื่อทรงลาประชาชนแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่อทรงอธิษฐานภาวนาตามลำพัง
เราอาจพยายามนึกภาพในจินตนาการว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องปรามกลุ่มคนที่กระตือรือร้น และหัวรุนแรงที่สุด ที่ไม่ยอมจากไปอย่างไร “ไม่ได้ เราบอกท่านว่าเราไม่ได้มาเพื่อยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อาณาจักรของเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้ งานของเราไม่ใช่การหาอาหารให้พวกท่านกินทุกวัน ... อาหารฝ่ายโลกไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับท่าน” (เทียบ ยน 6:27)...
หลังจากทรงอธิบายจนเหนื่อยแล้ว พระเยซูเจ้าทรงอยู่ตามลำพังอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงรู้สึกว่าจำเป็นต้องอธิษฐานภาวนา บัดนี้ เรานึกถึงภาพว่าพระองค์กำลังปีนขึ้นไปตามทางเดินที่ขรุขระบนภูเขา บทอ่านที่หนึ่งของวันอาทิตย์สัปดาห์นี้เตือนเราว่า ในพระคัมภีร์ “ภูเขา” เป็นสถานที่พิเศษสำหรับ “พบกับพระเจ้า” (1 พกษ 9:9) อันที่จริง นี่คือหัวข้อที่มัทธิวชอบกล่าวถึง เช่น ภูเขาที่พระองค์ทรงเทศน์เรื่องความสุขแท้ (5:1) ... ภูเขาแห่งการประจญ (4:8) ... ภูเขาที่ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ (17:1) ... ภูเขาที่ทรงสำแดงพระองค์หลังจากกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (28:16)...
เมื่อเรามีโอกาสขึ้นไปบนเนินเขา เราใช้เวลานั้นอธิษฐานภาวนาตามลำพังท่ามกลางความเงียบบ้างหรือเปล่า...
ครั้นเวลาค่ำ พระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพียงพระองค์เดียว...
เราควรยอมให้ “ภาพ” นี้ซึมซาบเข้าสู่จิตใจของเรา ภาพของพระเยซูเจ้าบนยอดเขาท่ามกลางความมืด ทรงสนทนาอย่างเปิดอกกับพระบิดาตามลำพัง...
เราเดาได้ไม่ยากว่าพระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเรื่องอะไรในคืนนั้น ประชาชนพยายามชักนำพระองค์ให้หันเหจากพันธกิจของพระองค์ แต่พระองค์ทรงยึดมั่นในพันธกิจนี้โดยสัญชาตญาณ บทบาทของพระองค์คือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ แม้ว่าบทบาทนี้ย่อมมีผลกระทบทางโลกก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงต้องต่อสู้กับปีศาจผู้เสนอให้พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ผู้รักชาติอีกครั้งหนึ่ง มันเคย “สัญญาจะมอบอาณาจักรทั้งหลายบนโลกให้แก่พระองค์” (มธ 4:8-10) ... นี่คือการประจญที่น่ากลัว ไม่ยอมเลิกรา และเกิดขึ้นบ่อยครั้งในใจ ... ความเย้ายวนใจของความสำเร็จแบบทันใจ ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธอย่างกล้าหาญด้วยการอธิษฐานภาวนา พระองค์จะไม่ทรงยอมเป็น “กษัตริย์” ผู้ทรงเกียรติ แต่จะทรงเป็น “พระเมสสิยาห์” ผู้ยากจน ไม่มีใครรู้จัก และพ่ายแพ้ต่อความเจ็บปวด และความตาย มีแต่ผู้ที่เชื่อในพระองค์เท่านั้นที่เห็นชัยชนะแห่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์...
พระเยซูเจ้าคงอธิษฐานภาวนาเพื่อศิษย์ของพระองค์ ผู้ที่พระองค์ทรงส่งไปไกล ๆ พระองค์คงต้องคิดถึงพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงกำลังก่อตั้ง และการประจญให้พระศาสนจักรนี้ให้ความสำคัญสูงสุดแก่วิธีการของมนุษย์...
ส่วนข้าพเจ้าเล่า ... ข้าพเจ้าเชื่อในคุณค่าของการภาวนาหรือไม่ ... หรือข้าพเจ้าคิดว่าการภาวนาเป็นกิจกรรมที่เสียเวลาเปล่า ๆ เหมือนกับที่บางคนคิด ... ข้าพเจ้าปลีกตัวไปภาวนาตามลำพังเป็นครั้งคราวหรือเปล่า...
... ส่วนเรืออยู่ห่างจากฝั่งหลายร้อยเมตร กำลังแล่นโต้คลื่นอย่างหนัก เพราะทวนลม
มัทธิวหันจากภาพของพระเยซูเจ้าบนภูเขา มามองภาพของเรือในทะเล มัทธิวบอกเราว่าเรือ “กำลังแล่นโต้คลื่นอย่างหนัก” ในขณะที่มาระโกกล่าวว่าบรรดาศิษย์ต้อง “กรรเชียงเรืออย่างเหน็ดเหนื่อย” (มก 6:48) ผู้อธิบายพระคัมภีร์ทุกคนตั้งแต่ยุคของปิตาจารย์ของพระศาสนจักรมองว่า “เรือ” ลำนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระศาสนจักร ... อันที่จริง ในยุคของมัทธิว กลุ่มคริสตชนเป็นเพียงเรือที่บอบบางอย่างยิ่ง ที่กำลังโต้คลื่นท่ามกลางทะเลที่ปั่นป่วน คือ ศาสนาต่าง ๆ ในอาณาจักรโรมัน...
เมื่อถึงยามที่สี่ พระองค์ทรงดำเนินบนทะเลไปหาบรรดาศิษย์
ยามที่สี่ เป็นยามสุดท้ายของคืน ... ดังนั้น เหตุการณ์ที่บรรยายไว้ก่อนหน้านี้คือพระเยซูเจ้ากำลังอธิษฐานภาวนาบนภูเขา ... และเรือกำลังแล่นโต้คลื่นอย่างหนัก – จึงเป็นเหตุการณ์ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน!
หลายคนคิดว่า “การเดินบนน้ำ” ในเวลารุ่งอรุณ ดูเหมือนเทพนิยาย หรือตำนานอันน่าพิศวง ที่หลอกได้แต่เด็กและคนโง่ ... เราเข้าใจความหมายของการรักษาโรคอย่างอัศจรรย์ได้ทันที เพราะเรามองเห็นประโยชน์ของอัศจรรย์เหล่านั้น แต่เราไม่เข้าใจการกระทำที่ดูเหมือนไร้ความหมาย เช่น ทำไมพระเยซูเจ้าไม่เสด็จไปหามิตรสหายของพระองค์ทันที เพราะพระองค์ทรงทำเช่นนั้นได้แน่นอน ... แต่บ่อยครั้งเราลืมไปว่าอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำมีจุดประสงค์ให้เป็น “เครื่องหมาย” ก่อนอื่น อัศจรรย์เหล่านี้ต้องการสื่อสารบางอย่างแก่เรา ... นัยสำคัญของอัศจรรย์เหล่านี้คือสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรก แต่เราไม่ควรปฏิเสธว่าอัศจรรย์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีคุณค่า เห็นได้ชัดว่าผู้นิพนธ์พระวรสาร “อ่าน” เหตุการณ์นี้จากสามแง่มุม คือการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ... ธรรมประเพณีของพันธสัญญาเดิม ... และการตอบสนองความต้องการของกลุ่มคริสตชนที่จะเป็นผู้อ่านพระวรสาร...
ในพระคัมภีร์ “ทะเล” หมายถึงอำนาจของความชั่ว ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อมนุษย์ ชาวฮีบรูเป็นคนที่ทำมาหากินบนบก เขาได้รับสืบทอดความกลัวทะเลมาจากบรรพบุรุษของเขา และแสดงออกมาในรูปของสัตว์ประหลาดตามตำนาน คือ เลวีอาธาน และราหับ (สดด 104:5, 9, 26; 106:19; 74:13-14; อสย 51:9-10) ... มนุษย์ทุกชาติทุกภาษามองว่าลมพายุไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจชั่วร้าย ซึ่งแข็งแรงกว่ามนุษย์ ดังนั้น พระคัมภีร์จึงเสนอภาพของพระเจ้าว่าทรงเป็นผู้ “มีอำนาจเหนือน้ำ” และ “ทรงพระดำเนินบนทะเล” (โยบ 9:8; สดด 77:20; บสร 24:5; ฮบก 3:15) ... ดังนั้น การเดินบนน้ำของพระเยซูเจ้าจึงบอกเราว่า พระเยซูเจ้าทรงกระทำสิ่งที่พระเจ้าเท่านั้นสามารถทำได้ นี่คือ “การสำแดงพระองค์ของพระเจ้า” และเป็นภาพลักษณ์ของการกลับคืนพระชนมชีพ...
คริสตชนแต่ละคนในปัจจุบันจำเป็นต้องเพ่งพินิจพระเยซูเจ้า ผู้ทรงแสดงอำนาจเหนือความชั่วด้วยความเป็นพระเจ้าของพระองค์...
เมื่อบรรดาศิษย์เห็นพระองค์ทรงดำเนินอยู่บนทะเลดังนั้น ต่างตกใจมาก กล่าวว่า “ผีมา” และส่งเสียงอื้ออึงด้วยความกลัว ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “ทำใจให้ดี เราเอง อย่ากลัวเลย”
ประโยคที่ว่า “อย่ากลัวเลย” ทำให้เหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินอยู่บน “ทะเลลึกแห่งความตาย” นี้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ปัสกาเมื่อพระองค์ทรง “สำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง” (มธ 17:7) และ “ทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (มธ 28:5, 10)
ในพระคัมภีร์ ทุกครั้งที่มนุษย์เข้าใกล้พระเจ้า เราจะพบสองเหตุการณ์นี้ คือ มนุษย์รู้สึก “กลัว” และ “คำเชิญไม่ให้กลัว” ซึ่งพระเจ้าทรงย้ำทุกครั้ง (ปฐก 21:17; อสย 7:4; ดนล 10:19; ลก 1:13; กจ 18:8; วว 1:17)
มนุษย์ทุกคนเคยประสบกับมรสุมชีวิต บ่อยครั้งเพียงไรที่เราเบื่อหน่ายจนเราพร้อมจะตาย เราไม่ขอเลือกระหว่างทะเล และมรสุม ... ระหว่างพายุ และความมืดมน ... ระหว่างการประจญ และการทดลอง ... และเรากลัว!...
แต่เหมือนกับบรรดาศิษย์ในทะเลสาบกาลิลี เราได้ยินคำเชิญให้รับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าผู้ที่เรามองไม่เห็น ... พระเจ้าข้า พระองค์ประทับอยู่กับเรา เมื่อเราเผชิญกับมรสุมชีวิต และพระองค์ทรงย้ำแก่เราว่า “ทำใจให้ดี เราเอง อย่ากลัวเลย”...
เปโตรทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า ถ้าเป็นพระองค์ ก็จงสั่งให้ข้าพเจ้าเดินบนน้ำไปหาพระองค์เถิด” พระองค์ตรัสว่า “มาเถิด” เปโตรจึงลงจากเรือ เดินบนน้ำไปหาพระเยซูเจ้า...
พระวรสาร – โดยเฉพาะพระวรสารของมัทธิว – มักเสนอภาพของเปโตรว่าเป็นผู้นำ และผู้พูดแทนกลุ่มอัครสาวก (มธ 10:2, 15:15, 16:16-17, 17:24-27, 18:21)...
แต่เมื่อเห็นว่าลมแรง เขาก็กลัวและเริ่มจมลง แล้วร้องว่า “พระเจ้าข้า ช่วยข้าพเจ้าด้วย” ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าทรงยื่นพระหัตถ์จับเขาไว้ ตรัสว่า “ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง สงสัยทำไมเล่า”
มัทธิวย้ำหลายครั้งเรื่อง “ความเชื่อน้อย” (6:30, 8:26, 14:31, 16:8, 17:20) ... “ความเชื่อน้อย ... เริ่มมีความเชื่อ ... ความเชื่อที่ไม่สมบูรณ์” ... วลีเหล่านี้สะท้อนภาพของตัวเรา ... ความเชื่อไม่ใช่บางสิ่งที่ “สำเร็จรูป” ซึ่งได้มาครั้งหนึ่งแล้วก็ครอบครองได้ตลอดไป ... แต่ความเชื่อเป็นชีวิตที่เติบโตขึ้นได้ หรือเสื่อมถอยลงได้ ... เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ... เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคล...
พระเยซูเจ้าทรงยอมรับความเชื่อของเรา แม้ว่าจะ “น้อยเหลือเกิน” แต่ทรงเชิญชวนเราให้เพิ่มพูนความเชื่อนี้ และ “ความเชื่อน้อย” ของเรานี้ก็ถูกทดสอบ และฝึกฝน เมื่อเราประสบกับความทุกข์ยาก ... เมื่อเราพบกับมรสุมชีวิต...
พระวรสารตอนนี้เสนอเรื่องของความเชื่อ เสมือนว่าเป็นการต่อสู้กับความกลัวและความสงสัย “ผู้มีความเชื่ออันดับแรก” ไม่ได้มีความโดดเด่นเพราะคุณสมบัติส่วนตัวของเขา เราเห็นแล้วว่าเขาพลาด และเขาจะพลาดอีกในคืนที่เขาปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูเจ้า หลังจากที่เขาประกาศอย่างแข็งขันว่าเขาจะรักและซื่อสัตย์ต่อพระองค์ (มธ 26:35, 69, 75) ... แต่กระนั้น ขณะที่เขากำลังสงสัย และวุ่นวายใจ เขากลับวิงวอนพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า ช่วยข้าพเจ้าด้วย”...
ดังนั้น นี่จึงเป็นแบบแผนของความเชื่อของเราด้วย กล่าวคือ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราว่า “มาเถิด” ... เราเดินบนทะเลลึกด้วยความเชื่อโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ... แล้วความสงสัยก็ทำให้เราสะดุด ... และเราต้องยอมจำนนต่อพระองค์ผู้ทรงยื่นพระหัตถ์มาจับเราไว้...
เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นมาประทับในเรือพร้อมกับเปโตรแล้ว ลมก็สงบ
ถ้าอ่านแบบลวก ๆ ก็คงไม่เห็นความสำคัญของประโยคนี้...
แต่ถ้าผู้อ่านยอมให้ภาพลักษณ์เหล่านี้กระตุ้นความคิด จะเห็นว่านี่คือสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ บุคคลทั้งสองขึ้นไปบนเรือ ... แล้วลมก็สงบ ... พระเยซูเจ้า และเปโตร ช่วยให้เรือลำนี้รอดพ้น ทั้งที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่หายนะ...
คนที่อยู่ในเรือจึงเข้ามากราบนมัสการพระองค์ทูลว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริง”
นี่คือการประกาศยืนยันความเชื่อเป็นครั้งแรกในพระวรสารของมัทธิว เราต้องจดจำเหตุการณ์นี้ไว้เพื่อเตือนใจเราในยามที่เราประสบกับมรสุมครั้งต่อไป ... เปโตรจะจดจำประสบการณ์ครั้งนี้ไปจนตลอดชีวิตของเขา ... เมื่อเขาอยู่ในกรุงโรม เขาจะพบกับมรสุมที่หนักยิ่งกว่านี้มาก ... ในยุคของเนโร...